เวลา:->

 

กฎกระทรวง

ฉบับที่ ๓๕ (พ.ศ. ๒๕๑๖)

ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗

___________________________


          อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ และมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
          ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๔๙๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร
พ.ศ. ๒๔๙๗
          ข้อ ๒ การรับบุคคลเข้าเป็นทหารกองประจำการโดยวิธีอื่น ให้กระทำโดยวิธีร้องขอ และบุคคลที่จะร้องขอต้องมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์และยังไม่ถึงสามสิบปีบริบูรณ์
          ข้อ ๓ การรับบุคคลเข้าเป็นทหารกองประจำการโดยวิธีร้องขอตามข้อ ๒ ให้กระทำได้ดังนี้
              (๑) การร้องขอเข้าเป็นทหารกองประจำการในวันตรวจเลือก ให้ผู้ซึ่งถูกเรียกร้องขอต่อ คณะกรรมการ
ตรวจเลือกก่อนการกำหนดตัวบุคคลเข้ากองประจำการ เมื่อคณะกรรมการตรวจเลือกพิจารณารับผู้ใด ผู้นั้นมีสิทธิเลือก
เข้ารับราชการทหารกองประจำการเป็นทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ หรือตำรวจ แล้วแต่กรณี
              (๒) การร้องขอเข้าเป็นทหารกองประจำการ ก่อนวันตรวจเลือก ให้ผู้ซึ่งถูกเรียกร้องขอต่อเจ้าหน้าที่กรมกอง
ที่ผู้นั้นประสงค์จะเข้าเป็นทหารกองประจำการเมื่อเจ้าหน้าที่ดังกล่าวพิจารณารับผู้ใด ให้นำผู้นั้นขึ้นทะเบียนกองประจำการ
ในปีที่ถูกเรียกให้เสร็จก่อนวันตรวจเลือก
              (3) การร้องขอเข้าเป็นทหารกองประจำการโดยผู้ซึ่งยังไม่ถูกเรียกเข้าเป็นทหารกองประจำการ
หรือผู้ซึ่งเคยถูกเรียกเข้าเป็นทหารกองประจำการแล้ว แต่ไม่ถูกเข้ากองประจำการ ให้บุคคลดังกล่าวร้องขอต่อเจ้าหน้าที่
กรมกองฝ่ายทหารหรือฝ่ายตรวจที่บุคคลนั้นประสงค์จะเข้ารับราชการกองประจำการ เมื่อเจ้าหน้าที่ดังกล่าว
พิจารณารับบุคคลใด ให้นำบุคคลนั้นขึ้นทะเบียน กองประจำการ การที่กรมกองฝ่ายทหารหรือฝ่ายตำรวจจะรับผู้ร้องขอ
เข้าในสังกัดหรือเหล่าใด ให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
           ข้อ ๔ การรับบุคคลเข้าเป็นทหารกองประจำการตามข้อ ๓ (๑) หรือ (๒) ให้กรมกองฝ่ายทหารหรือฝ่ายตำรวจรับ
ได้เฉพาะบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาทหารอยู่ในท้องที่ที่มีการเรียกบุคคลเข้าเป็นทหารกองประจำการไม่เกินจำนวนเฉลี่ยของ
อำเภอท้องที่ที่ทำการตรวจเลือก เว้นแต่
               (๑) การรับบุคคลเข้าเป็นทหารกองประจำการในกองทัพเรือ ให้รับบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาทหาร
อยู่ในท้องที่กรุงเทพมหานครได้ด้วย
               (๒) การรับบุคคลเข้าเป็นทหารกองประจำการตามข้อ ๓ (๒) ในกรณีที่ผู้ซึ่งถูกเรียกเป็นผู้สำเร็จ
การศึกษาชั้นอุดมศึกษาในประเทศไทย หรือจากต่างประเทศที่กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีหน้าที่รับรองวิทยฐานะเทียบ
ได้ไม่ต่ำกว่าชั้นอุดมศึกษา ให้รับได้โดยไม่จำกัดภูมิลำเนาทหาร ทั้งนี้ ให้ผู้นั้นร้องขอต่อกองทัพบก กองทัพเรือ หรือกองทัพอากาศ แล้วแต่กรณี ก่อนวันตรวจเลือกไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
           ข้อ ๕ การรับบุคคลเข้าเป็นทหารกองประจำการตามข้อ ๓ (๓) และการรับบุคคลเข้าเป็นนักเรียน ในโรงเรียนทหาร ให้รับได้โดยไม่จำกัดภูมิลำเนาทหาร


                               ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๖

                                                      จอมพล ถ. กิตติขจร

                                               รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม


                                                      พลเอก ป. จารุเสถียร

                                              รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย


(๙๐ ร.จ. ๑ ตอนที่ ๓๐ (ฉบับพิเศษ) ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๑๖)


กฎกระทรวง

ฉบับที่ ๓๖ (พ.ศ. ๒๕๑๖)

ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗

____________________________


         อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๒๖ ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ และมาตรา ๕๑ แห่ง
พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
           ข้อ ๑ การเรียกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการนั้น
               (๑) สำหรับทหารกองเกินซึ่งมีอายุย่างเข้ายี่สิบเอ็ดปีในพุทธศักราชใดตามที่ปรากฏรายชื่อ
ในบัญชีทหารกองเกิน ให้นายอำเภอออกหมายเรียกเข้ารับราชการทหารตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป
               (๒) สำหรับทหารกองเกินซึ่งมีอายุเกินกว่ายี่สิบเอ็ดปีบริบูรณ์ขึ้นไปที่อยู่ในกำหนดเรียกมาตรวจเลือกตาม (๒)
ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๔๙๘)ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗
ตามที่ปรากฏรายชื่อในบัญชีทหารกองเกินและบัญชีเรียกทหารกองเกินเข้ากองประจำการที่ได้ทำการตรวจเลือก
ครั้งสุดท้ายเมื่อเสร็จการตรวจเลือกแล้ว ให้นายอำเภอออกหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร โดยจะส่งหมายเรียกให้
หรือจะเรียกให้มารับที่อำเภอท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารของผู้นั้นก็ได้
           ข้อ ๒ ในกรณีที่ทหารกองเกินไปขอรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหารด้วยตนเองที่อำเภอท้องที่ที่เป็น
ภูมิลำเนาทหาร หากไม่สามารถไปรับหมายเรียกด้วยตนเองได้ ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและพอเชื่อถือได้ไปรับแทน ให้เจ้าหน้าที่สอบสวนและให้บุคคลดังกล่าวให้คำรับรองในการสอบสวนว่าจะมอบหมายเรียกให้แก่ทหารกองเกินผู้นั้นได้
           ข้อ ๓ ในกรณีที่ทหารกองเกินซึ่งได้รับหมายเรียกเข้ารับราชการทหารแล้วย้ายภูมิลำเนาทหาร ให้นายอำเภอท้องที่ใหม่เรียกหมายเรียกคืนจากทหารกองเกินนั้นและออกหมายเรียกให้ใหม่พร้อมกับออกใบรับแจ้ง
การย้ายภูมิลำเนาทหาร
           ข้อ ๔ หมายเรียกเข้ารับราชการทหารและบัญชีเรียกทหารกองเกินเข้ากองประจำการ ให้เป็นไป
ตามแบบ สด. ๓๕ และ สด. ๑๖ ท้ายกฎกระทรวงนี้


                                  ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๖

                                                           จอมพล ถ. กิตติขจร

                                                    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

                                                           พลเอก ป. จารุเสถียร

                                                    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย


กฎกระทรวง

ฉบับที่ ๓๗ (พ.ศ. ๒๕๑๖)

ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗

_________________________


          อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๘ ทวิ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๐๐ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
           ข้อ ๑ ให้ยกเลิก
              (๑) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๔๙๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗
              (๒) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๗ (พ.ศ. ๒๕๑๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗
           ข้อ ๒ ให้คณะกรรมการตรวจเลือกมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการตรวจเลือกโดยแยกหน้าที่กันกระทำดังต่อไปนี้
              (๑) ประธานกรรมการตรวจเลือก มีหน้าที่อำนวยการและควบคุมการตรวจเลือกให้ดำเนิน
ไปด้วยความเรียบร้อย และออกเสียงชี้ขาดในกรณีที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติเมื่อคณะกรรมการตรวจเลือก
ไม่อาจตกลงกันโดยเสียงข้างมากได้ กับให้มีหน้าที่ตรวจสอบการปล่อยทหารกองเกิน พร้อมกับมอบใบรับรองผล
การตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการตามแบบ สด. ๔๓ ท้ายกฎกระทรวงนี้
ให้ทหารกองเกินรับไปเป็นหลักฐาน
              (๒) กรรมการนายทหารสัญญาบัตร มีหน้าที่
                  (ก) เรียกชื่อทหารกองเกินซึ่งถูกเรียกมาตรวจเลือก จัดดูแลทหารกองเกินซึ่ง ตรวจเลือกแล้วให้รวม
อยู่เป็นจำพวก ป้องกันมิให้ทหารกองเกินซึ่งตรวจเลือกแล้วปะปนกับทหารกองเกินซึ่งยังไม่ได้ตรวจเลือก
และรับทหารกองเกินซึ่งคณะกรรมการตรวจเลือกกำหนดให้เข้ากองประจำการเพื่อนำขึ้นทะเบียนหรือนำตัวส่งนายอำเภอ
เพื่อออกหมายนัด
                  (ข) วัดขนาด เก็บยอดเป็นจำพวก ตรวจสอบจำนวนสลาก ควบคุมการทำสลากและอ่านสลาก
ในระหว่างการจับสลาก
              (๓) กรรมการสัสดีจังหวัด มีหน้าที่บันทึกผลการตรวจเลือกในบัญชีเรียกรับเรื่องราวขอในเหตุต่าง ๆ
ซึ่งนายอำเภอได้สอบสวนแล้ว เตรียมทำสลากบันทึกผลการจับสลาก และรวบรวมสลากที่จับแล้วไว้เป็นหลักฐาน
ตรวจสอบขึ้นทะเบียน และทำบัญชีคนที่ส่งเข้ากองประจำการ
              (๔) กรรมการซึ่งเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ แผนปัจจุบันชั้น ๑ สาขาเวชกรรมมีหน้าที่ตรวจร่างกาย ผู้ที่ถูกเรียกมาตรวจเลือกและออกใบสำคัญให้แก่คนจำพวกที่ ๓ และคนจำพวกที่ ๔ รวมทั้งควบคุมการจับสลาก
           ข้อ ๓ ในการตรวจร่างกาย ให้คณะกรรมการแบ่งคนที่ได้ตรวจเลือกออกเป็น ๔ จำพวก  
              จำพวกที่ ๑ ได้แก่คนซึ่งมีร่างกายสมบูรณ์ดีไม่มีอวัยวะพิการหรือผิดส่วนแต่อย่างใด
              จำพวกที่ ๒ ได้แก่คนซึ่งมีร่างกายที่เห็นได้ชัดว่าไม่สมบูรณ์ดีเหมือนคนจำพวกที่ ๑ แต่ไม่ถึงทุพพลภาพ คือ
               (๑) ตาหรือหนังตาผิดปกติจนปรากฏชัดอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ แม้เพียงข้างเดียว
                    (ก) ตาเหล่ (Squint)
                    (ข) ลูกตาสั่น (Nystagmus)
                    (ค) แก้วตาขุ่น (Cataract)
                    (ง) กระจกตาขุ่น (Opacity of Cornea)
                    (จ) หนังตาตก (Ptosis)
                    (ฉ) หนังตาม้วนเข้า (Entropion)
                    (ช) หนังตาม้วนออก (Ectropion)
                    (ซ) ช่องหนังตา (Palpebral Fissure) ทั้งสองข้างกว้างไม่เท่ากันจนดูน่าเกลียด
               (๒) หูผิดปกติอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้แม้เพียงข้างเดียว
                    (ก) ใบหูผิดรูปหรือผิดขนาดปรากฏชัดเจนจนดูน่าเกลียด เช่น ลีบหรือเล็ก หรือใหญ่ หรือบี้
                    (ข) ช่องหูมีหนองเรื้อรังและทั้งแก้วหูทะลุ
               (๓) จมูกผิดรูปจนดูน่าเกลียดเช่นบี้หรือแหว่ง
               (๔) ปากผิดรูปจนดูน่าเกลียด เช่น แหว่งหรือผิดรูปจนพูดไม่ชัด
               (๕) ช่องปากผิดรูป หรือผิดปกติจนพูดไม่ชัด
               (๖) หน้าผิดปกติจนดูน่าเกลียดอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
                    (ก) อัมพาต (Facial Paralysis)
                    (ข) เนื้อกระตุก (Tics)
                    (ค) แผลเป็นหรือปานที่หน้า มีเนื้อที่ตั้งแต่ ๑/๔ ของหน้าขึ้นไป หรือยาวมาก
                    (ง) เนื้องอก (Benign Tumour)
                (๗) คอพอก (Simple Goitre)
                (๘) ซอกคอหรือซอกรักแร้ติดกัน
                (๙) อวัยวะเคลื่อนไหวผิดปกติอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ แม้เพียงข้างเดียว
                    (ก) ข้อติด (Ankytosis) หรือหลวมหลุดง่ายหรือเคลื่อนไหวไม่สะดวก จนทำงานไม่ถนัด
                    (ข) นิ้วมือหรือนิ้วเท้ามีจำนวนหรือขนาดของนิ้วผิดปกติจนดูน่าเกลียด หรือนิ้วบิดเกจนดูน่าเกลียดหรือ
จนทำงานไม่ถนัด หรือช่องนิ้วติดกันหรือนิ้วมือด้วนถึงโคนเล็บ
                    (ค) มือหรือแขนลีบหรือบิดเก
                    (ง) เท้าหรือขาลีบหรือบิดเก
               (๑๐) กระดูกชิ้นใหญ่ผิดรูปจนทำให้อวัยวะนั้นทำงานไม่สะดวกหรือจนดูน่าเกลียด
               (๑๑) ไส้เลื่อนลงถุง
         จำพวกที่ ๓ ได้แก่คนซึ่งมีร่างกายยังไม่แข็งแรงพอที่จะรับราชการทหารในขณะนั้นได้ เพราะป่วยซึ่ง
จะบำบัดให้หายภายในกำหนด ๓๐ วันไม่ได้
         จำพวกที่ ๔ ได้แก่คนพิการทุพพลภาพ หรือมีโรคที่ไม่สามารถจะรับราชการทหารได้ตามกฎกระทรวง
ที่ออกตามมาตรา ๔๑ การวินิจฉัยลักษณะพิการและโรคต่าง ๆ นั้น ถ้าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ตรวจยังมีความสงสัย
ก็ให้คณะกรรมการตรวจเลือกจัดเข้าไว้ในคนจำพวกที่ ๑ ก่อนใบสำคัญที่จะออกให้แก่คนจำพวกที่ ๓ และคนจำพวกที่ ๔
ให้เป็นไปตามแบบ สด. ๔ และแบบ สด. ๕ ท้ายกฎกระทรวงนี้ เมื่อคณะกรรมการตรวจเลือกลงชื่อแล้วมอบให้
กรรมการสัสดีจังหวัดไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินการตามระเบียบต่อไปบุคคลซึ่งคณะกรรมการ
ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าเข้าอยู่ในคนจำพวกที่ ๒ จำพวกที่ ๓ หรือจำพวกที่ ๔ ถ้ากรรมการ
ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมมีความเห็นแย้งรวมกันสองคน ให้ส่งตัวบุคคลนั้นเข้าตรวจเลือกร่วมกับคน
ในจำพวกเดียวกันตามความเห็นแย้งของกรรมการซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ถ้าบุคคลนั้นต้องเข้า
กองประจำการก็ให้กรรมการซึ่งมีความเห็นแย้งกันนั้นต่างฝ่ายต่างทำคำชี้แจงยื่นต่อกรรมการชั้นสูงภาย
ในเจ็ดวันนับแต่วันเสร็จการตรวจเลือกในจังหวัดนั้น
          ข้อ ๔ บุคคลซึ่งจะเข้ารับราชการทหารกองประจำการนั้นต้องมีขนาดรอบตัวตั้งแต่เจ็ดสิบหกเซนติเมตรขึ้นไป
ในเวลาหายใจออกและสูงตั้งแต่หนึ่งเมตรสี่สิบหกเซนติเมตรขึ้นไปวิธีวัดขนาดนั้น ให้กระทำดังนี้ คือ ให้ยืนตั้งตัวตรงส้นเท้าชิดกัน ขนาดสูงให้วัดตั้งแต่ส้นเท้าจนสุดศีรษะขนาดรอบตัวให้คล้องแถบเมตรรอบตัว
ให้ริมล่างของแถบได้ระดับราวนมโดยรอบ วัดเมื่อหายใจออกเต็มที่หนึ่งครั้งและหายใจเข้าเต็มที่หนึ่งครั้ง
           ข้อ ๕ วิธีคัดเลือกนั้นให้เลือกคนจำพวกที่ ๑ ซึ่งมีขนาดสูงตั้งแต่หนึ่งเมตรหกสิบเซนติเมตรขึ้นไปก่อน
ถ้ามีจำนวนมากกว่าจำนวนที่ต้องการก็ให้จับสลากถ้าคนจำพวกที่ ๑ ซึ่งมีขนาดสูงตั้งแต่หนึ่งเมตรหกสิบเซนติเมตรขึ้นไป
มีไม่พอกับจำนวนที่ต้องการให้เลือกขนาดสูงถัดรองลงมาตามลำดับจนพอกับความต้องการ ถ้าเลือกถึงขนาดใด
เกินจำนวนต้องการ ให้จับสลากเฉพาะขนาดนั้นถ้าคนจำพวกที่ ๑ มีไม่พอกับจำนวนที่ต้องการ
ให้เลือกจากคนจำพวกที่ ๒ ถ้ายังไม่พออีก ก็ให้เลือกจากคนที่จะได้รับการผ่อนผันโดยวิธีเดียวกับที่กล่าวในวรรคหนึ่ง
และวรรคสองคนจำพวกที่ ๓ ให้เรียกมาตรวจเลือกในคราวถัดไป เมื่อคณะกรรมการตรวจเลือกได้ตรวจเลือกแล้ว
ยังคงเป็นคนจำพวกที่ ๓ อยู่รวม ๓ ครั้ง ให้งดเรียก
           ข้อ ๖ การตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการกองประจำการนั้นถ้ามีจำนวนมากกว่าจำนวนที่ต้องการก็
ให้จับสลากผู้ใดจับสลากเป็นแผนกทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ หรือตำรวจ ให้ส่งเข้ากองประจำการแผนกนั้น สลากนั้นให้มีเท่าจำนวนทหารกองเกินที่จะต้องจับสลากแบ่งเป็นเครื่องหมายสีแดงอย่างหนึ่งสีดำอย่างหนึ่ง
สีแดงให้มีเท่ากับจำนวนที่ต้องการรับเข้ากองประจำการ นอกนั้นเป็นสีดำ ถ้าในแห่งเดียวกันนั้นจะต้องส่งทหารกองเกิน
เข้ากองประจำการหลายแผนก ให้เขียนนามแผนกนั้น ๆ ในสลากเครื่องหมายสีแดงตามจำนวนที่ต้องการ


                           ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๖

                                                          จอมพล ถ. กิตติขจร

                                                   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม


                                                          พลเอก ป. จารุเสถียร

                                                  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย


(๙๐ ร.จ. ๙ ตอนที่ ๓๐ (ฉบับพิเศษ) ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๑๖ ความในข้อ ๓ นี้ ถูกยกเลิกและใช้ความใหม่แทนแล้ว
โดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ฯ ตาม ๙๒ ร.จ. ๘ ตอนที่ ๒๓๗ (ฉบับพิเศษ) ลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๘)


กลับหน้าแรก

 

Hosted by www.Geocities.ws

1