นกเงือกสีน้ำตาล

ชื่อภาษาอังกฤษ: Brown Hornbill
ชื่อทางวิทยาสาศตร์: Ptilolaemus tickelli

นกเงือกสีน้ำตาล พ่อนกจะมีผู้ช่วยอีก ๒-๓ ตัวช่วยนำอาหารมาป้อนให้นกที่อยู่ในรัง

ขนาด : ๗๕ เซนติเมตร
ลักษณะและอุปนิสัย :
เป็นนกเงือกที่มีขนาดใกล้เคียงกับนกแก๊ก จงอยปากสีขาวงาช้าง มีโหนกเป็นสันเล็กๆ ตัวผู้มีสีด้านบนของลำตัว หัว และท้ายทอย เป็นสีน้ำตาล ด้านใต้ลำตัวสีน้ำตาลแดง ปลายปีกมีสีขาว คางคอและด้านข้างของคมมีสีขาว ปลายขนหางมีสีขาวยกเว้นขนหางสองเส้นตรงกลางซึ่งมีสีน้ำตาลตลอด ตัวเมียมีด้านบนลำตัวน้ำตาลเข้ม เช่นเดียวกับหัว ส่วนด้านใต้ลำตัวมีสีน้ำตาลเทาออกคล้ำกว่าตัวผู้
  นกเงือกสีน้ำตาลมี ๒ ชนิดพันธุ์ย่อย (Subspeciees) คือนกเงือกสีน้ำตาลที่พบทางผืนป่าตะวันตก (P. tickelli tickelli) และบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (P. tickelli austeni) ตัวผู้มีลักษณะต่างกันเล็กน้อย ชนิดพันธุ์ย่อยที่พบแถบป่าตะวันตก มีขนใต้ลำคัวสีน้ำตาลแดง ส่วนชนิดพันธุ์ย่อยที่พบที่เขาใหญ่ มีขนบริเวณคาง คอ และด้านข้างคอเป็นสีขาว แต่ที่ต่างกันชัดเจนคือ นกเงือกสีน้ำตาลตัวเมียที่พบทางป่าตะวันตกมีปากสีดำ ส่วนที่เขาใหญ่ปากสีเดียวกับตัวผู้
  ปัจจุบันได้จัดชนิดพันธุ์ย่อยทั้งสองขึ้นเป็นสองชนิดพันธุ์ คือ Ptilolaemus tickelli tickelli เป็น Anorrhinus tickelli และ Ptilolaemus tickelli austeni เป็น  Anorrhinus austeni จึงทำให้ประเทศไทยมีนกเงือก ๑๓ ชนิด
  นอกฤดูผสมพันธ์นกเงือกสีน้ำตาลจะอยู่เป็นฝูงเล็กๆ ๘-๑๐ ตัว หรือมากกว่า เป็นนกที่ชอบร้องเอะอะโวยวายเหมือนนกแก๊ก แต่เสียงกรี๊ดมากกว่า เสียงร้องของนกเงือกสีน้ำตาลมีหลายเสียง เช่น แว๊ว ๆ ๆ กรี๊ด ๆ ๆ ต๊อ ๆ ๆ

อาหาร :
นกเงือกสีน้ำตาล ชอบกินผลไม้ได้แก่ผลไทร ตาเสีอ ยางโดน พิพวน หว้า ส้มโมง แต่เวลาเลี้ยงลูกจะป้อนอาหารพวกสัตว์เล็กๆ คือประมาณ ๔๐ % ของปริมาณอาหารทั้งหมด เช่น จิ้งเหลน จิ้งก่า กิ้งกือ ตะขาบ และแมลงที่ชอบมากได้แก่ จั่กจั่น นกเงือกสีน้ำตาลกินอาหารจำพวกสัตว์ มากกว่านกเงือกชนิดอื่นและที่แปลกอีกอย่างหนึ่งก็คือ
   ในฤดูทำรังจะมีตัวผู้ที่ไม่ได้จับคู่ ในฤดูผสมพันธ์นั้น มาช่วยเป็นพ่อเลี้ยง (co-operative breeding) เมื่อเวลาเข้าป้อนบรรดาพ่อเลี้ยงทั้งหลาย จะเรียงแถวกันคอยป้อนเป็นลำดับ เป็นภาพที่น่าดูมาก พ่อเลี้ยงเหล่านี้เชื่อว่าเป็นลูกของนกคู่ผัวเมีย 
ถิ่นอาศัย : นกเงือกสีน้ำตาลพบได้ทั้งป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าดงดิบเขา
หรือแม้แต่ป่าเต็งรัง ( A. tickelli) กระจายอยู่แถบภาคตะวันตกเรื่อยลงมาถึงบริเวณป่าจังหวัดชุมพร นกเงือกสีน้ำตาลที่พบบริเวณเขาใหญ่และทางตะวันตกจะมีลักษณะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย โดยที่นกเงือกสีน้ำตาลที่พบทางป่าตะวันตกนั้นตัวเมียมีปากสีดำ แต่ที่เขาใหญ่ ตัวเมียปากสีเดียวกับตัวผู้
   ในป่าทางภาคตะวันตกของประเทศไทย เช่น ป่าแก่งกระจาน หรือป่าห้วยขาแข้ง และในประเทศพม่า จะพบชนิดย่อยของนกเงือกสีน้ำตาล (Brown Hornbill) ซึ่งจะมีส่วนล่างลำตัวเป็นสีน้ำตาลแดงตลอด นักปักษีบางท่านจัดนกเงือกสีน้ำตาลชนิดย่อยนี้เป็นนกเงือกอีกชนิดหนึ่ง

การทำรังและเลี้ยงลูก :
ตัวเมียปิดขังตัวเองราวเดือนกุมภาพันธุ์-มีนาคม ลูกนกออกจากโพรงรังราวเดือนพฤษภาคม มักพบทำรังในต้นยาง (Dipterocarpus spp.) หว้า สีเสียดเทศ กะเพราต้น นอกจากพ่อนกแล้วยังมีตัวผู้ที่ไม่ได้จับคู่ในฤดูผสมพันธุ์นั้น มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงหรือนกผู้ช่วย (nest helper) จัดเป็นการเลี้ยงลูกแบบ cooperative care ซึ่งนกพี่เลี้ยงอาจมีจำนวน ๑-๕ ตัว เวลาเข้าป้อนอาหาร บรรดาพี่เลี้ยงทั้งหลายจะเรียงแถวกันคอยเข้าป้อนเป็นลำดับ เป็นภาพที่น่าดูมาก เชื่อว่าพี่เลี้ยงเหล่านี้เป็นลูกของนกคู่ผัวเมียในปีก่อนๆ


นกเงือกสีน้ำตาล ชนิด Anorrhinus tickelli ตัวเมีย

A. austeni
A. tickelli

แหล่งที่พบ : ชนิดแก้มขาว หน้าอกและท้องสีน้ำตาลเข้ม ปากค่อนข้างเหลือง จะพบในบริเวณภาคกลางและภาคเหนือตอนบน
ส่วนชนิดท้องสีน้ำตาลอมแดง ปากสีน้ำตาลจะพบบริเวณผืนป่าตะวันตกลงไปจนถึงจังหวัดชุมพร

 


เราสามารถพบเห็นนกชนิดนี้ได้ตามแหล่งดูนกสำคัญ ๆ ได้แก่
ชนิดแก้มขาว
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว
บริเวณผืนป่าภาคกลางอื่น ๆ
ชนิดท้องสีน้ำตาลอมแดง
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง
บริเวณผืนป่าตะวันตกอื่น ๆ


 

 


1
Hosted by www.Geocities.ws