หน้าแรก ทำเนียบเจ้าหน้าที่ มาตรฐานข้อกำหนด ถาม-ตอบความปลอดภัย กฎหมายความปลอดภัย ชมรมความปลอดภัย อ่านคำแนะนำติชม

Safety Management System in Construction




ระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง(Safety Management System in Construction)ที่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุในงานก่อสร้างของรัฐ

๑. ระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง(Safety Management System in Construction)

๒. มาตรการป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุในงานก่อสร้างของรัฐ ตามมติ ครม.

๓. แนวทางการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง

๑. ระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง(Safety Management System in Construction)

ระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงาน หรือกระบวนการบริหารการวางแผนความปลอดภัยในการทำงานอย่างมีระบบ เป็นแนวความคิดของการบริหารความปลอดภัยสมัยใหม่(MSM, Modern Safety Management) ที่มีการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน มีมาตรฐานของกิจกรรม และมีระบบการตรวจสอบติดตามที่เชื่อถือได้ โดยเน้นการใช้ระบบการบริหารในการควบคุมอุบัติเหตุและความสูญเสียเป็นหลัก เพื่อป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุอันตรายของลูกจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กรและบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในหน่วยงานก่อสร้าง ซึ่งเชื่อกันว่าหากหน่วยงานก่อสร้างใดขาดการบริหารจัดการที่ดีด้านความปลอดภัยแล้ว จะเป็นสาเหตุสำคัญของความไม่ปลอดภัยในการทำงาน เพราะหัวใจสำคัญของปัญหาสาเหตุของอุบัติเหตุอันตรายคือ ต้องมีระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

ขั้นตอนในการดำเนินการ ควรคำนึงถึงองค์ประกอบดังนี้

๑. การทบทวนสถานะเริ่มต้น Review

-ข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัย และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

-ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของทรัพยากรที่มีอยู่

-ข้อปฏิบัติและการดำเนินการที่ดี ที่หน่วยงานเคยดำเนินการมาแล้ว หรือหน่วยงานอื่นได้จัดทำเอาไว้

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำมาใช้ในการพิจารณากำหนดนโยบาย และกระบวนการจัดทำระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพ

๒. การวางแผน Planning

การจัดทำแผนงานความปลอดภัยในการทำงาน เป็นช่วงของการวางแผนตามขั้นตอนในการก่อสร้าง โดยคำนึงถึงมาตรการป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุในงานก่อสร้าง ผนวกเข้าด้วยกันกับการดำเนินการก่อสร้างและให้สอดคล้องกับระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง เพื่อให้มั่นใจว่าได้มีการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ผลในช่วงระยะเวลาของการก่อสร้าง โดยจะต้องคำนึงถึง

-สอดคล้องกับนโยบายความปลอดภัยฯ ของหน่วยงาน (Safety and Health Policy)

-สามารถปฏิบัติได้และต้องได้รับความร่วมมือจากลูกจ้างทุกระดับ

-มีความเหมาะสมกับเวลาและโอกาส

-ไม่ขัดกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

-คน วัสดุ เครื่องมือ อุปกรณ์ และงบประมาณ

-ลำดับความสำคัญก่อนหลังของเรื่องที่จะดำเนินการ

๓. การนำไปใช้และปฏิบัติตาม Implementation and operation

เป็นเรื่องที่หน่วยงานก่อสร้างจะต้องพิจารณากำหนดโครงสร้างงานด้านความปลอดภัยและบทบาทหน้าที่ของลูกจ้างทุกระดับให้ชัดเจน รวมทั้งคุณสมบัติที่เหมาะสมของลูกจ้างด้วย โดยเฉพาะผู้บริหารต้องเป็นผู้นำที่ดีในงานนี้ Leadership เพื่อให้บรรลุตามแผนงานความปลอดภัยฯ ที่กำหนด และมีการรายงานผลการปฏิบัติงานเป็นระยะๆ โดยจะต้องคำนึงถึง

-ใช้คนจำนวนเท่าไร มีคุณสมบัติอย่างไร

-ใช้เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ จำนวนเท่าไร ชนิดใด

-ใช้ช่วงเวลาใด เริ่มเมื่อใด และจะเสร็จสิ้นเมื่อใด

-ลงมือปฏิบัติการบริเวณไหน เมื่อใด และใครรับผิดชอบ

-ใช้วิธีการอย่างไรในการตรวจสอบและควบคุม

๔. การตรวจสอบและการแก้ไข Checking and corrective action

เป็นการติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยฯ ทั้งเชิงรุกเชิงรับ และสิ่งที่ได้รับรายงานผลการปฏิบัติงานต่อผู้บริหารที่รับผิดชอบ เพื่อให้บรรลุผลตามนโยบายและการเตรียมการที่วางไว้ และสามารถนำไปปรับปรุง แก้ไข สภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย(Unsafe Conditions) และการกระทำที่ไม่ปลอดภัย(Unsafe Acts) หรือการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งนำไปใช้ในการทบทวนระบบการจัดการความปลอดภัยฯ อย่างสม่ำเสมอ สิ่งที่จะต้องคำนึงถึง

-เป็นไปตามแผนงานความปลอดภัยฯ ที่กำหนดหรือไม่

-กิจกรรมที่ใส่เข้าไปมีประสิทธิภาพ หรือเพียงพอหรือไม่

-สามารถวัดผลสำเร็จ ได้หรือไม่

๒. มาตรการป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุในงานก่อสร้างของรัฐ ตามมติ ครม.

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐทุกแห่งถือปฏิบัติตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร. ๐๒๕๐/๗๘๗๗ ลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๕ ซึ่งประกอบด้วย

๑. อนุมัติหลักการให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ กำหนดให้มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง ในโครงการก่อสร้างของรัฐ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงานแก่ลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในโครงการของรัฐ โดยมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

๒. กำหนดให้ผู้รับเหมาก่อสร้างที่จะยื่นซองประกวดราคา จัดทำเอกสารแนบท้ายเอกสารประกวดราคาเกี่ยวกับ ระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง ตามข้อ ๑. เพื่อป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น ตามมาตรฐานความปลอดภัย ฯ ของกระทรวงแรงงาน และกฎหมายอื่น ฯ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้กำหนดเฉพาะประเภทของงานก่อสร้าง คือ

 




- งานอาคารขนาดใหญ่ ที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน ๒,๐๐๐ ตารางเมตร หรืออาคารที่มีความสูงตั้งแต่ ๑๕.๐๐ เมตร ขึ้นไปและมีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน ๑,๐๐๐ ตารางเมตร แต่ไม่เกิน ๒,๐๐๐ ตารางเมตร

- งานสะพานที่มีความยาวช่วงเกิน ๓๐.๐๐ เมตร หรืองานสะพานข้ามทางแยก หรือทางยกระดับ หรือสะพานกลับรถยนต์ หรือทางแยกทางระดับ

- งานขุด หรือซ่อมแซม หรือรื้อถอนระบบสาธารณูปโภค ที่ลึกเกิน ๓.๐๐ เมตร

- งานอุโมงค์ หรือ ทางลอด

- งานก่อสร้างที่มีงบประมาณค่าก่อสร้างเกิน ๓๐๐ ล้านบาท

๓. กำหนดให้ผู้รับจ้าง หรือผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้าง ตามข้อ ๒. จัดทำแผนปฏิบัติงานความปลอดภัยในการทำงานอย่างละเอียดและชัดเจน ให้สอดคล้องกับระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง แล้วยื่นต่อผู้ว่าจ้าง หรือเจ้าของโครงการ ฯ ก่อนการดำเนินการก่อสร้างภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันเริ่มทำสัญญาว่าจ้าง

๔. กำหนดให้ผู้คุมงานของผู้ว่าจ้าง หรือเจ้าของโครงการ ฯ เป็นผู้ควบคุมดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานในหน่วยงานก่อสร้าง โดยให้ผู้รับจ้างปฏิบัติตามแผนปฏิบัติงานความปลอดภัย ฯ ตามข้อ ๓. หรือผู้ว่าจ้างสามารถดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาที่มีความสามารถ ควบคุม ดูแลรับผิดชอบงานความปลอดภัย ฯ ในการทำงานก่อสร้างโดยตรง

๕. กำหนดให้ผู้รับจ้าง หรือผู้รับเหมาก่อสร้าง ต้องปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติงานดังกล่าว ตามข้อ ๓. อย่างเคร่งครัด และสอดคล้องกับกฎหมาย และระเบียบที่กำหนดไว้ พร้อมรายงานผลการดำเนินงานตามแผนการปฏิบัติงานความปลอดภัย ฯ ดังกล่าว ให้ผู้ว่าจ้าง หรือเจ้าของโครงการ ฯ รับทราบอย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง

 


แผนผังขั้นตอนหลักของการดำเนินการเจ้าของโครงการ / เจ้าของงาน / ผู้ว่าจ้าง

ข้อแนะนำขั้นตอนและวิธีการในการดำเนินการ (เจ้าของโครงการ, เจ้าของงาน, ผู้ว่าจ้าง)

ขั้นตอนที่ ๑. การเตรียมการ

๑.๑ เจ้าของโครงการ ฯ หรือผู้ประสงค์จะว่าจ้าง ต้องประมาณการคำนวณราคากลางในงานก่อสร้างให้ครอบคลุม ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุ และโรคเนื่องจากการทำงานที่อาจจะเกิดขึ้นในหน่วยงานก่อสร้างตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้างและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโดยคณะกรรมการควบคุมราคากลางต่อไป

๑.๒ เจ้าของโครงการ ฯ ต้องแจ้งรายละเอียดประกอบเอกสารประกวดราคาแก่ผู้เสนอราคาให้ทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับการเสนอราคาค่าก่อสร้างให้คำนวณปริมาณงานในงานก่อสร้างดังกล่าว ตามข้อที่ ๑.๑ ด้วย

๑.๓ เจ้าของโครงการ ฯ จัดหาบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการควบคุมดูแล และติดตามตรวจสอบงานความปลอดภัย ฯ ให้เป็นไปตาม มติ ครม.

ขั้นตอนที่ ๒. การประกวดราคาจ้างเหมา

๒.๑ เจ้าของโครงการ ฯ ต้องกำหนดรายละเอียดในเอกสารประกวดราคา ให้ผู้เสนอราคาที่จะยื่นซองประกวดราคา จัดทำเอกสารแนบท้ายเอกสารประกวดราคาเกี่ยวกับ “ระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง” เพื่อประกอบการพิจารณา

๒.๒ เจ้าของโครงการ ฯ กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ตรวจสอบเอกสารประกวดราคาเกี่ยวกับ ระบบการจัดการ ฯ ดังกล่าวที่ผู้เสนอราคายื่นพร้อมซองประกวดราคา ตามข้อ ๒.๑

๒.๓ เจ้าของโครงการ ฯ ต้องแจ้งให้ผู้เสนอราคารับทราบว่า เมื่อผู้เสนอราคารายใดได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ ฯ แล้วต้องเตรียมจัดทำแผนปฏิบัติงานความปลอดภัย ฯ อย่างละเอียดและชัดเจน ยื่นต่อผู้ว่าจ้างก่อนการดำเนินการก่อสร้าง ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันเริ่มทำสัญญาว่าจ้าง

ขั้นตอนที่ ๓. การทำสัญญาจ้าง

๓.๑ เจ้าของโครงการ ฯ ต้องเพิ่มเติมข้อกำหนดในแบบสัญญาจ้างเกี่ยวกับงานความปลอดภัยในการทำงาน ดังนี้

ข้อ…...การบริหารการจัดการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง

ผู้รับจ้างจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติงานความปลอดภัยในการทำงานอย่างละเอียดและชัดเจน ให้สอดคล้องกับระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง แล้วยื่นต่อผู้ว่าจ้างก่อนการดำเนินการก่อสร้าง ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันเริ่มทำสัญญาว่าจ้าง ผู้รับจ้าง ต้องปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติงานดังกล่าวอย่างเคร่งครัดให้สอดคล้องกับสัญญาว่าจ้าง พร้อมรายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติงานความปลอดภัย ฯ ให้ผู้ว่าจ้างรับทราบอย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง

๓.๒ เจ้าของโครงการ ฯ ต้องเตือนผู้รับจ้างให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาประกวดราคาจ้างเหมา ตามข้อ ๒.๓ หรือจะกำหนดวันแล้วเสร็จที่จะต้องยื่นต่อผู้ว่าจ้าง เพื่อตรวจสอบตามความเหมาะสม

ขั้นตอนที่ ๔. การตรวจสอบและติดตามผล

๔.๑ ผู้ว่าจ้าง ต้องกำหนดหน้าที่บทบาทของบุคลากรที่จะทำหน้าที่ควบคุมดูแล และตรวจสอบการปฏิบัติงานความปลอดภัยตามแผนปฏิบัติงานความปลอดภัย ฯ ที่ผู้รับจ้างได้แจ้งไว้ตามสัญญาจ้าง

๔.๒ ผู้ว่าจ้าง ต้องตรวจสอบการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย ฯ ของผู้รับจ้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้รับจ้างได้ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง

ขั้นตอนที่ ๕. การรายงานผล

๕.๑ ผู้ว่าจ้าง กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องรายผลการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติงานความปลอดภัย ฯ อย่างต่อเนื่องและชัดเจน อย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง

๕.๒ ผู้ว่าจ้าง ควรกำหนดหน้าที่บทบาทให้ชัดเจนสำหรับคณะกรรมการตรวจสอบการจ้าง เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย ฯ ของผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างด้วย

 




แผนผังขั้นตอนหลักของการดำเนินการผู้เสนอราคา / ผู้รับเหมา / ผู้รับจ้าง

ข้อแนะนำขั้นตอนและวิธีการดำเนินการ (ผู้เสนอราคา, ผู้รับเหมา, ผู้รับจ้าง)

ขั้นตอนที่ ๑. การเตรียมการ

๑.๑ ผู้เสนอราคา ต้องคำนวณปริมาณงานค่าก่อสร้างให้ครอบคลุม ค่าใช่จ่ายเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุ และโรคเนื่องจากการทำงานที่อาจเกิดขึ้นในหน่วยงานก่อสร้างตามมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้างและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

๑.๒ ผู้เสนอราคา ต้องเตรียมบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุ อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นให้เพียงพอและเหมาะสม เพื่อดำเนินการตามสัญญาว่าจ้าง

๑.๓ ผู้เสนอราคา ต้องเตรียมจัดทำเอกสารรายละเอียดเป็นภาษาไทยเกี่ยวกับ “ระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง” สำหรับโครงการก่อสร้างที่จะยื่นเสนอราคา ตามระเบียบหรือเงื่อนไขที่เจ้าของโครงการกำหนด และสามารถปฏิบัติงานได้จริง โดยมีข้อกำหนดที่สำคัญ ๆประกอบด้วย

๑. กำหนดนโยบายความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน

๒. การจัดองค์กรความปลอดภัย ฯ ในงานก่อสร้าง และหน้าที่ความรับผิดชอบ

๓. กฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

๔. การฝึกอบรม

๕. กำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุ

๖. การตรวจความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง

๗. กำหนดกฎความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง

๘. การควบคุม ดูแลความปลอดภัย ฯ ของผู้รับเหมาช่วง

๙. การตรวจสอบและการติดตามผลความปลอดภัย ฯ

๑๐. การรายงานอุบัติเหตุ และการสอบสวน วิเคราะห์อุบัติเหตุ

๑๑. การรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัย ฯ

๑๒. การปฐมพยาบาล

๑๓. การวางแผนฉุกเฉิน

๑๔. การจัดเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้อง

๑๕. อื่น ๆ

ขั้นตอนที่ ๒. การเสนอราคา

๒.๑ ผู้เสนอราคา ต้องแนบเอกสารประกวดราคา ตามข้อ ๑.๓ พร้อมกับเอกสารอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ ในการยื่นซองประกวดราคา เพื่อประกอบการพิจารณา

๒.๒ ผู้เสนอราคา ต้องศึกษาเอกสารดังกล่าว ตามข้อ ๒.๑ ให้เข้าใจ สำหรับชี้แจงตอบข้อซักถามของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา

ขั้นตอนที่ ๓. การทำสัญญาจ้าง

๓.๑ ผู้รับจ้าง ต้องเตรียมรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่จะต้องมากำหนดกระบวนการของการวางแผนให้สอดคล้องและครอบคลุมหัวข้อหลัก ๆ ของระบบการจัดการความปลอดภัย ฯ ที่กำหนดไว้ ตามข้อ ๑.๓

๓.๒ ผู้รับจ้าง ต้องศึกษากฎหมาย และข้อกำหนดต่าง ๆ รวมทั้งขั้นตอนและวิธีการก่อสร้างโครงการดังกล่าวอย่างละเอียด เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติงานความปลอดภัย ฯ อย่างเป็นรูปธรรมและสามารถปฏิบัติได้จริง ยื่นต่อผู้ว่าจ้างตามที่กำหนดไว้

๓.๓ ผู้รับจ้าง ต้องจัดบุคลากรที่เตรียมไว้ ตามข้อ ๑.๒ เพื่อกำหนดโครงสร้างและหน้าที่บทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัย ฯ ให้ชัดเจน

ขั้นตอนที่ ๔. การดำเนินการก่อสร้าง

๔.๑ ผู้รับจ้าง ต้องส่งแผนปฏิบัติงานความปลอดภัย ฯ อย่างละเอียดและชัดเจน ให้ผู้ว่าจ้างตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ก่อนการดำเนินการก่อสร้างให้เรียบร้อย

๔.๒ ผู้รับจ้าง ต้องปฏิบัติตามระเบียบ หรือเงื่อนไขสัญญาจ้างที่ผู้ว่าจ้างกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

๔.๓ ผู้รับจ้าง ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวกับความปลอดภัย และสุขภาพอนามัยในการทำงานอย่างเคร่งครัด

๔.๔ ผู้รับจ้าง ต้องตรวจสอบติดตามวิธีการทำงานและสภาพการทำงานในหน่วยงานก่อสร้างให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน ตามแผนปฏิบัติงานความปลอดภัย ฯ ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด พร้อมปรับปรุงแก้ไขให้ เหมาะสม และสามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ขั้นตอนที่ ๕. การรายงานผล

๕.๑ ผู้รับจ้าง ต้องรายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานความปลอดภัย ฯ ให้ผู้ว่าจ้างทราบเป็นระยะ ๆ ตามที่ระบุไว้ตามสัญญาจ้างอย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง

๕.๒ ผู้รับจ้าง ต้องประเมินผลความสำเร็จ หรือความล้มเหลวของกิจกรรม ที่วางแผนไว้ เพื่อนำมาปรับปรุง และแก้ไขในการบริหารการจัดการในงานก่อสร้างให้ดีขึ้น

๓. แนวทางการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง

สำหรับรายละเอียดการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง นั้นคงไม่กล่าวในรายละเอียดทั้งนี้หากท่านใดสนใจสามารถดูจากหนังสือแนวทางการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง ตามมติ ครม. เรื่องมาตรการป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุในงานก่อสร้างของรัฐ, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

 

Created by : ว. ลีลาวิมลวรรณ

ที่มา : แนวทางการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง ตามมติ ครม. เรื่องมาตรการป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุในงานก่อสร้างของรัฐ







เว็บไซต์แห่งถูกจัดทำขึ้นโดย สำนักงาน ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานพื้นที่ 2
550/10-11 ถ.พิชัยฯ ต.ปากเพรียว อ.เมือง จ.สระบุรี 18000
โทรศัพท์ 036-319214-6 แฟ็กซ์ 036-319217
Email [email protected]
1
Hosted by www.Geocities.ws

1