หน้าแรก ทำเนียบเจ้าหน้าที่ มาตรฐานข้อกำหนด ถาม-ตอบความปลอดภัย กฎหมายความปลอดภัย ชมรมความปลอดภัย อ่านคำแนะนำติชม
อัคคีภัย

Guideline for FIREDRILL PERMISSION



เราลองมาดูแนวทางการเขียนแผนและรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกซ้อมดับเพลิงและการฝึกซ้อมหนีไฟเพื่อขออนุญาต(ความเห็นชอบ)ต่ออธิบดี มีหลายๆ คำถามที่บริษัทสอบถามถึงการฝึกซ้อมดับเพลิงและการฝึกซ้อมหนีไฟเป็นประจำว่าเป็นอย่างไร มีกฎเกณฑ์อะไรบ้าง หลายๆแห่งก็ถูกผู้ไม่หวังดี(เอาแต่เงินค่าฝึกซ้อม) ซึ่งแต่ละครั้งเสียเงินเสียทองเป็นจำนวนมาก และยังไม่ถูกต้องตามกฎหมายอีก น่าเจ็บใจจริงๆ
สิ่งที่ต้องอธิบายกันก่อนเอาอะไรคือกฎเกณฑ์???
กฎเกณฑ์ที่ว่านี้คือประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานสำหรับลูกจ้าง(หน่วยงานที่ดูแลคือกองตรวจความปลอดภัย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) ข้อ 36 ที่กำหนดให้สถานประกอบการ(ที่เป็นนายจ้าง)จะต้องจัดให้มีการฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมหนีไฟเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง(จะฝึกปีละหลายๆครั้งก็ไม่ว่า เป็นผลดีต่อการเตรียมพร้อมของสถานประกอบการ) หากเราดูถ้อยคำของกฎหมายที่กำหนดไว้ในวรรคสองและสามจะเห็นว่าการฝึกซ้อมฯ นั้นสามารถทำได้ 3 กรณีกล่าวคือ
1. ขอให้หน่วยงานราชการ (ส่วนกลางคือกองบังคับการตำรวจดับเพลิง ส่วนภูมิภาคต่างจังหวัดคือเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีหน่วยป้องกันสาธารณภัย) เป็นผู้ดำเนินการฝึกซ้อมให้ ทั้งนี้จะต้องให้หน่วยงานดังกล่าวเป็นผู้ออกหนังสือรับรองจากองค์กรนั้นๆ (หมายความว่าผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงาน เช่นผู้บังคับการตำรวจดับเพลิง นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหรือผู้ที่มอบหมายปฏิบัติราชการแทนเป็นต้น มิใช่หัวหน้างานสาธารณภัย หรือผู้บังคับการสถานีตำรวจดับเพลิงหน่วยนั้นๆ) และเป็นหนังสือรับรองที่ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณที่มีเลขที่หนังสือ และรับรองสามารถใช้ยืนยันที่ระบุความชัดเจนการรับรองการฝึกซ้อมดับเพลิงหรือฝึกซ้อมหนีไฟ(โดยเจตนารมณ์ของการฝึกซ้อมจะต้องดำเนินการควบคู่พร้อมกัน คงไม่มีใครบ้าที่ว่าขณะเกิดเพลิงไหม้อยู่ แต่ระแวกใกล้เคียงกลับไม่รู้สึก หรือเฉยๆโดยไม่เตรียมการอพยพหนีเอาตนเองรอด)ตามประกาศกระทรวงฯ เรื่องใดในหัวข้อกฎหมายนั้นๆ เมื่อไร สถานที่ใด จำนวนเท่าไร
2. หน่วยงานเอกชนที่ได้รับรองจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตามประกาศกรมสวัสดิการฯ เรื่องหลักเกณฑ์การขอใบรับรองเป็นหน่วยงานฝึกซ้อมฯ ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ของเป็นหน่วยฝึกซ้อมฯ ประมาณ 53 แห่ง(ข้อมูล ณ 30 เมษายน 2544) ทั้งนี้อย่าลืมขอหนังสือรับรองของหน่วยงานเอกชนนั้นๆ เพื่อใช้แนบประกอบการรายงานผลการฝึกซ้อมๆ ตามแบบข้อ 36(แบบที่อธิบดีกำหนด) ด้วยเช่นเดียวกับหัวข้อแรก โดยให้นายจ้าง(ผู้มีอำนาจของนิติบุคคล)ลงนามและยื่นต่อพนักงานตรวจแรงงานท้องที่ที่สำนักงานนั้นตั้งอยู่ภายใน 30 วันนับแต่ฝึกซ้อมเสร็จ
3. หรือกรณีสุดท้ายที่ผมคิดว่าสถานประกอบการหรือนายจ้างรายใดที่มีความสามารถและพร้อมที่จะฝึกซ้อมเองก็ได้ ซึ่งสามารถประหยัด SAVE MONEY สำหรับ(การจ้าง)ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานตามข้อ 1 และ2 ที่กล่าวข้างต้นนั้นคือ การเขียนแผนและรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกซ้อมต่ออธิบดี (ส่วนกลางกรุงเทพฯ ยื่นต่อผู้อำนวยการกองตรวจความปลอดภัย ส่วนภูมิภาคต่างจังหวัดยื่นต่อสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนั้นๆ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจ)ให้การเห็นชอบ โดยต้องยื่นก่อนการฝึกซ้อมไม่น้อยกว่า 30 วัน และต้องได้รับหนังสือให้ความเห็นชอบก่อนจะฝึกฯ เพื่อใช้แนบประกอบการรายงานตามแบบข้อ 36 ทั้งนี้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการขอความเห็นชอบ แต่จะต้องเขียนแผนและรายละเอียดตามขั้นตอน ซึ่งมิได้มีความยุ่งยากแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้จะต้องครบตามหัวข้อ 7 หัวข้อใหญ่ 3 ข้อย่อยของการฝึกซ้อมดับเพลิง และ 5 หัวข้อใหญ่ 2 ข้อย่อยของการฝึกซ้อมหนีไฟ ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดดังต่อไปนี้



แนวทางการเขียนแผนและรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกซ้อมดับเพลิงและการฝึกซ้อมหนีไฟ
กรณีนายจ้างจัดให้มีการฝึกซ้อมเองตาม ปมท.ฯ ข้อ 36 วรรคสอง

1. แนวทางการเขียนแผนและรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกซ้อมดับเพลิง
การฝึกซ้อมดับเพลิง จะต้องมีองค์ประกอบในเรื่องต่อไปนี้
1.1 ข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอัคคีภัยในสถานประกอบการ
1.2 แผนผังของสถานประกอบการ (ทุกชั้น ทุกอาคาร และบริเวณทั้งหมด สถานที่ใกล้เคียง ทั้งสี่ด้านและเส้นทางเชื่อมถนนสายหลัก)
1.3 รายละเอียดและลำดับขั้นตอนการปฏิบัติของแผนการดับเพลิงในสถานประกอบการ
1.4 เหตุการณ์สมมุติ จุดจำลองเหตุการณ์ จำนวนผู้เข้าฝึกซ้อม วันเวลาที่ฝึกซ้อมและขั้นตอนในการฝึกซ้อมดับเพลิง โดยการฝึกซ้อมต้องอธิบายแผนการดับเพลิงแก่ผู้เข้ารับการฝึกและให้มีการแนะนำ การสาธิต การฝึกปฏิบัติจริงในเรื่องดังนี้
1.4.1 การใช้เครื่องดับเพลิงแบบมือถือ ตามประเภทของเชื้อเพลิงที่อาจเป็นสาเหตุในการก่อให้เกิดอัคคีภัยของสถานประกอบการ
1.4.2 การใช้สายส่งน้ำดับเพลิง ข้อต่อสายส่งน้ำดับเพลิง และหัวฉีดน้ำดับเพลิง
1.4.3 การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
1.5 อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกซ้อมดับเพลิง
1.6 ผู้ดำเนินการฝึกซ้อมดับเพลิง อย่างน้อยต้องผ่านการอบรมด้านอัคคีภัยหลักสูตรการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น จากหน่วยงานที่ทางราชการกำหนดหรือยอมรับ
1.7 วิธีการและหลักการประเมินผลหลังการฝึกซ้อมดับเพลิง

2. แนวทางการเขียนแผนและรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกซ้อมหนีไฟ
การฝึกซ้อมหนีไฟ จะต้องมีองค์ประกอบในเรื่องต่อไปนี้
2.1 แผนผังเส้นทางหนีไฟทั้งหมดของสถานประกอบการ (ทุกชั้น ทุกอาคาร จุดรวมพล)
2.2 รายละเอียดและลำดับขั้นตอนการปฏิบัติของแผนการอพยพหนีไฟในสถานประกอบการ
2.3 เหตุการณ์สมมุติ เส้นทางหนีไฟที่ใช้ในการฝึกซ้อม จำนวนผู้เข้าฝึกซ้อม วันเวลาที่ฝึกซ้อมและขั้นตอนในการฝึกซ้อมหนีไฟ โดยการฝึกซ้อมต้องอธิบายแผนการอพยพหนีไฟแก่ ผู้เข้ารับการฝึก และมีการฝึกปฏิบัติจริงในเรื่องดังนี้
2.3.1 การอพยพหนีไฟ
2.3.2 การช่วยเหลือและค้นหาผู้ประสบภัยเบื้องต้น
2.4 ผู้ดำเนินการฝึกซ้อมหนีไฟ อย่างน้อยต้องผ่านการอพยพด้านอัคคีภัยหลักสูตรการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น จากหน่วยงานที่ทางราชการกำหนดหรือยอมรับ
2.5 วิธีการและหลักการประเมินผลหลังการฝึกซ้อมหนีไฟ



ซึ่งผมได้กล่าวแนวทางมาพอสมควรแล้ว ต่อไปผมจะลงในรายละเอียดของแต่ละข้อทั้ง 2 แผนน่ะครับ

1. รายละเอียดขององค์ประกอบในการเขียนแผนและรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกซ้อมดับเพลิง
1.1 ข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอัคคีภัยในสถานประกอบการ
1.1.1 ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประเภทกิจการ จำนวนลูกจ้าง วัตถุดิบและกระบวนการผลิตโดยสังเขป
1.1.2 ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอัคคีภัยในสถานประกอบการ เช่น ปฏิกิริยาสารเคมี วัตถุไวไฟ การเชื่อม การตัดโลหะ เตาเผา อุปกรณ์ไฟฟ้า การจุดไฟ ไฟฟ้าสถิต เครื่องทำความร้อน การลุกไหม้ด้วยตนเอง ความเสียดทานของเครื่องจักร อุปกรณ์โลหะ ความร้อนจากผิววัตถุ ฯลฯ
1.2 แผนผังของสถานประกอบการ
1.2.1 แผนผังบริเวณรอบสถานประกอบการ
1.2.2 แผนผังภายในสถานประกอบการทุกชั้น
1.3 รายละเอียดและลำดับขั้นตอนการปฏิบัติของแผนการดับเพลิงในสถานประกอบการ
1.3.1 ลำดับขั้นตอนการปฏิบัติของแผนการดับเพลิงเมื่อพนักงานพบเหตุเพลิงไหม้ (ตัวอย่าง 1.3.1 ที่แนบ)
1.3.2 รายละเอียดแผนการดับเพลิง เพื่อระงับเหตุเพลิงไหม้ (ตัวอย่าง 1.3.2 ที่แนบ)
1.4 เหตุการณ์สมมุติ จุดจำลองเหตุการณ์ จำนวนผู้เข้าฝึกซ้อม วัน เวลา ที่ฝึกซ้อม และขั้นตอนในการฝึกซ้อม
1.4.1 เหตุการณ์สมมุติ
ตัวอย่าง 1.4.1
สมมุติให้เกิดเพลิงไหม้ที่แผนก………………………………..บริเวณ…………………………..
ต้นเหตุสมมุติของเพลิงไหม้คือ……………………………………………
1.4.2 ตัวอย่างขั้นตอนการฝึกซ้อม
ตัวอย่าง 1.4.2
เวลา………………..อธิบายแผนการดับเพลิงของสถานประกอบการแก่ผู้เข้ารับการฝึกซ้อม
เวลา………………..การแนะนำและสาธิต
- การใช้เครื่องดับเพลิงแบบมือถือ
- การใช้สายส่งน้ำดับเพลิง ข้อต่อสายส่งน้ำดับเพลิง และหัวฉีดดับเพลิง
- การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
เวลา………………..การฝึกปฏิบัติจริง
- การใช้เครื่องดับเพลิงแบบมือถือ
- การใช้สายส่งน้ำดับเพลิง ข้อต่อสายส่งน้ำดับเพลิงและหัวฉีดดับเพลิง
- การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
เวลา………………..เริ่มเหตุการณ์สมมุติ
เวลา………………..การฝึกซ้อมตามแผนปฏิบัติการระงับเหตุเพลิงไหม้ของสถานประกอบการ
1.5 อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกซ้อมดับเพลิง
ประกอบด้วย
1.5.1 เครื่องดับเพลิงแบบมือถือตามประเภทของเชื้อเพลิงที่อาจเป็นสาเหตุในการก่อให้เกิดอัคคีภัยของสถานประกอบการ
1.5.2 สายส่งน้ำดับเพลิง ข้อต่อสายส่งน้ำดับเพลิง หัวฉีดน้ำดับเพลิง
1.5.3 อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ใช้ในการดับเพลิง
1.6 ผู้ดำเนินการฝึกซ้อม
อย่างน้อยต้องผ่านการอบรมด้านอัคคีภัยหลักสูตรการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น จากหน่วยงานที่ทางราชการกำหนดหรือยอมรับ โดยพิจารณาจากวุฒิบัตรหรือหลักฐานแสดงการผ่านการฝึกอบรม
1.7 วิธีการและหลักการประเมินผลหลังการฝึกซ้อมดับเพลิง
1.7.1 วิธีการประเมิน โดยใช้แบบประเมินผลการฝึกซ้อม
1.7.2 แบบประเมิน (ตัวอย่าง 1.7.2 ที่แนบ)
1.7.3 ให้ส่งแบบประเมินผลการฝึกซ้อมพร้อมแบบรายงานผลการฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมหนีไฟ



2. รายละเอียดขององค์ประกอบในการเขียนแผนและรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกซ้อมหนีไฟ
2.1 แผนผังเส้นทางหนีไฟทั้งหมดของสถานประกอบการ
2.1.1 แผนผังบริเวณรอบสถานประกอบการ
2.1.2 แผนผังเส้นทางหนีไฟของสถานประกอบการ
2.2 รายละเอียดและโครงสร้างแผนการอพยพหนีไฟ
2.2.1 ลำดับขั้นตอนของแผนอพยพหนีไฟ (ตัวอย่าง 2.2.1 ที่แนบ)
2.2.2 รายละเอียดแผนการอพยพหนีไฟ (ตัวอย่าง 2.2.2 ที่แนบ)
2.3 เหตุการณ์สมมุติ เส้นทางหนีไฟที่ใช้ในการฝึกซ้อม จำนวนผู้เข้าฝึกซ้อม วันเวลาที่ฝึกซ้อม และ
ขั้นตอนในการฝึกซ้อมหนีไฟ
2.3.1 ตัวอย่างเหตุการณ์สมมุติ
ตัวอย่าง 2.3.1
สมมุติให้เกิดเพลิงไหม้ที่แผนก……………………………………บริเวณ………………………
ทิศทางเส้นทางที่ใช้ฝึกซ้อมหนีไฟ………………………มีผู้ติดค้างหรือไม่………………...
2.3.2 ขั้นตอนการฝึกซ้อม
ตัวอย่าง 2.3.2
เวลา….……………… อธิบายแผนการอพยพหนีไฟของสถานประกอบการ
เวลา…………………. อธิบายเส้นทางหนีไฟของสถานประกอบการและกำหนดเส้นทางหนีไฟที่ใช้ในการฝึกซ้อม
เวลา…………………. อธิบายวิธีการช่วยเหลือและค้นหาผู้ประสบภัย
เวลา…………………. สาธิตและฝึกปฏิบัติวิธีการช่วยเหลือและค้นหาผู้ประสบภัย
เวลา…………………. เริ่มเหตุการณ์สมมุติ
เวลา…………………. การฝึกซ้อมตามลำดับขั้นตอนและแผนปฏิบัติการอพยพหนีไฟ
2.4 ผู้ดำเนินการฝึกซ้อม
อย่างน้อยต้องผ่านการอบรมด้านอัคคีภัยหลักสูตรการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น จากหน่วยงานที่ทางราชการกำหนดหรือยอมรับ โดยพิจารณาจากวุฒิบัตรหรือหลักฐานแสดงการผ่านการฝึกอบรม
2.5 วิธีการและหลักการประเมินผลหลังจากฝึกซ้อมหนีไฟ
2.5.1 วิธีการประเมิน ใช้แบบประเมินผลการฝึกซ้อม
2.5.2 ตัวอย่างแบบประเมิน (ตัวอย่าง 2.5.2 ที่แนบ)
2.5.3 ให้ส่งแบบประเมินผลการฝึกซ้อมพร้อมแบบรายงานผลการฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมหนีไฟ



แผนที่เขียนนี้จะต้องขออนุญาต(ความเห็นชอบ) ปีต่อปีเท่านั้น
และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆเลย



By: www.thaisafety / ว.ลีลาวิมลวรรณ







เว็บไซต์แห่งถูกจัดทำขึ้นโดย สำนักงาน ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานพื้นที่ 2
550/10-11 ถ.พิชัยฯ ต.ปากเพรียว อ.เมือง จ.สระบุรี 18000
โทรศัพท์ 036-319214-6 แฟ็กซ์ 036-319217
Email [email protected]
1
Hosted by www.Geocities.ws

1