รถดีเซลราง

     ประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๐ การรถไฟไทยได้นำเอารถโดยสารโบกี้ขับเคลื่อนด้วยตนเองโดยใช้เครื่องกลไอน้ำ เรียกว่ารถโบกี้กลไฟมาใช้การเป็นรถที่สร้างโดยบริษัทบอล์ดวิน แห่งสหรัฐอเมริกา มีลักษณะคล้ายคลึงกับรถจักรไอน้ำ แต่ บรรทุกคนโดยสารได้ด้วย รถชนิดนี้กล่าวได้ว่าเป็นการแผ้วทางในการนำเอารถโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยตนเองมาใช้การ คือ รถดีเซลรางแบบดีเซลไฟฟ้า ซึ่งนำมาใช้การใน พ.ศ. ๒๔๗๕ และต่อมาจนถึงปัจจุบันเป็นรถดีเซลรางและดีเซล ไฮดรอลิค รถดีเซลรางเหล่านี้เดิมที่นำมาใช้เดินรับส่งคนโดยสารในระยะทางใกล้ๆ โดยหยุดรับส่งคนโดยสารตามรายทาง ภายหลังต่อมาได้ใช้การเป็นขบวนรถชานเมือง โดยให้หยุดทุกสถานี และให้เป็นขบวนรถที่เดินทางในระยะไกลปาน กลางระหว่างเมือง (inter city) อีกด้วย
     รถดีเซลรางที่ใช้การในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นรถที่เรียกกันว่า ๒ คันชุด คือประกอบไปด้วยรถกำลัง ๑ คัน ขับเคลื่อนด้วยระบบดีเซลไฟฟ้า ซึ่งติดตั้งอยู่บนรถส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นห้องคนโดยสารและมีห้องขับอยู่ ตอนหัวรถที่นำทาง และพ่วงตามด้วยรถโดยสารอีก ๑ คัน ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ รถดีเซลรางได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น ทำให้มีสมรรถนะสูง และมีความคล่องตัวในการใช้งาน สามารถที่จะวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงกว่า ๘๐ กม./ชม. และสามารถที่จะเร่งความเร็วให้ถึงอัตราเร็วสูงสุดนี้ได้ในระยะเวลาอันสั้น ตัวรถสามารถสร้างให้มีน้ำหนักเบาแต่มีกำลังเครื่องยนต์สูง นอกจากนี้รถดีเซลรางยังมีระบบห้ามล้อประสิทธิภาพสูง จึงทำให้สามารถห้ามล้อ เพื่อหยุดได้ในเวลารวดเร็วเป็นการช่วยให้มีความคล่องตัวเพิ่มขึ้นอีก โดยปกติเรานำเอารถดีเซลรางมาพ่วงต่อกันเข้าเป็นขบวนสำหรับวิ่งรับส่งผู้โดยสารในระยะใกล้ และหยุดรับส่งผู้โดยสารทุกสถานี มีบางคราวที่นำไปใช้วิ่ง บริการในระยะไกลปานกลางแทนขบวนรถโดยสารซึ่งลากจูงโดยรถจักร


ที่มา : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 4 เรื่องรถไฟ

Hosted by www.Geocities.ws

1