ทำไมรถไฟยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร

     รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมอบหมายให้พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินรับผิดชอบ ซึ่งถือกันว่าเป็นบิดาของการรถไฟ ทรงมีพระบรมราโชบายให้รถไฟเป็น “เส้นเลือดใหญ่” ของการคมนาคมทางบก เพราะขนส่งได้ครั้งละเป็นจำนวนมาก และราคาถูก  ถึงกระนั้นก็ทรงวางแผนคิดอ่านให้รถไฟมี “รายได้เสริม” เพื่อจะได้ทำให้ต้นทุนต่ำลง จึงโปรดเกล้าฯให้ที่ดิน 2 ข้างทางรถไฟ ข้างละประมาณ 40 เส้นตามสภาพของพื้นที่ ให้เป็นของการรถไฟเพื่อให้หารายได้มาบำรุงกิจการ   ในช่วงเวลานั้น การคมนาคมทางบกแทบไม่มีรถยนต์ มีใช้เฉพาะในพื้นที่เมืองหลวงเท่านั้น และน้อยมาก พระราชวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่เท่านั้นจึงจะพอมีใช้ได้

     ก่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เริ่มบังคับใช้ปี 2504 เส้นทางรถไฟขยายตัวไปในสัดส่วนที่มากกว่าเส้นทางรถยนต์ และรถไฟก็เป็นหลักในการคมนาคมทางบก แต่หลังจากแผน 1 กำหนดให้ประเทศไทยปรับทิศไปเดินบนหนทางอุตสาหกรรมเต็มตัว ทำให้เกิดลัทธิพึ่งพาต่างชาติ ส่งผลให้การขยายตัวของเส้นทางรถไฟน้อยลง ในขณะที่เส้นทางรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเทียบสัดส่วนกันไม่ได้อีกต่อไป
     หลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 เส้นทางรถไฟแทบไม่พัฒนาอีกเลย ในขณะที่เส้นทางรถยนต์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว รถยนต์ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รถบรรทุกและรถกระบะเข้ารับบทบาทการขนส่งแทนรถไฟและการขนส่งทางน้ำภายในประเทศแทบจะสิ้นเชิง

     แน่นอนละว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของแผนการอันแยบยลที่สมคบกันระหว่างชนชั้นปกครองไทยกับนายทุนโรงงานรถยนต์เพื่อ”บอนไซ” รถไฟ-ขยายรถยนต์ ยิ่งผสมผสานเข้ากับการให้นายทหารเข้าไปเป็นประธานรถไฟ ดูแลรถไฟอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การคอรัปชั่นจึงเต็มขนาดขึ้นในรถไฟ ทั้งในด้านการจัดซื้อจัดจ้าง และบริหารทรัพย์สินคือที่ดินรถไฟ

     พอเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 รถไฟก็ทรุดลงอย่างเห็นได้ชัด มีผลขาดทุนมหาศาล รายได้จากการจัดการทรัพย์สินไม่คุ้มมูลค่าทรัพย์สิน มีการทุจริตในแทบทุกอณู การบริการด้อยคุณภาพ ความเร็วของรถไฟก็ช้าลง เหลือเพียง 60 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่านั้น

     แม้จะมีความคิดที่จะแก้ไขปัญหานี้โดยการกำหนดยุทธศาสตร์รถไฟใหม่ แยกการบริหารทรัพย์สินเป็นส่วนหนึ่ง บริหารโดยผู้เชี่ยวชาญ แยกการบริหารการเดินรถเหมือนกับการบินไทย แยกการบริหารเส้นทางรถไฟเหมือนกับการท่าอากาศยาน แยกบริการอาหาร-เครื่องดื่มบนรถไฟเหมือนกับครัวการบินไทย แยกการบริหารสถานีให้เป็นลักษณะศูนย์การค้าหรือเมืองใหม่ที่เป็นศูนย์กลางการค้าในท้องที่ต่าง ๆ ปรับปรุงขนาดของรางให้ใหญ่ขึ้นเป็นระบบมาตรฐาน เพื่อเพิ่มความเร็วของรถไฟ ปรับปรุงตู้โดยสารและบริการในตู้ให้ทันสมัย เพิ่มประเภทบริการรถไฟความเร็วสูงและเพิ่มเส้นทางคู่ ขยายเส้นทางรถไฟ จัดให้มีคลังสินค้าทุกสถานี ซึ่งจะอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนในการลดต้นทุน การผลิตและการขนส่ง เพิ่มประสิทธิภาพและรายได้ให้แก่การรถไฟเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ แต่ก็ไม่คืบหน้า

เพราะแรงขัดขวางถ่วงรั้งยังเป็นด้านหลัก แรงพัฒนาให้ก้าวรุดหน้ายังเป็นด้านรอง

     การรถไฟจะพลิกกลับมาเป็นด้านหลักของการคมนาคมขนส่งทางบกได้ ต้องแก้ไขกันทั้งระบบ เริ่มต้นตั้งแต่ฐานคิดว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ ตามมาด้วยระบบภาษี ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) กันใหม่หมด จะต้องตระหนักใน “ทุนทางสังคม” ที่ประเทศไทยต้องเสียไปแลกกับยุทธศาสตร์แปรประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมส่งออก ตั้งแต่สิ่งแวดล้อม ไล่มาจนถึงวิถีชีวิตดั้งเดิม  โดยเฉพาะจะต้องมองทะลุให้เห็นว่าเราแทบไม่ได้อะไรเลยจากอุตสาหกรรมรถยนต์ นอกจากค่าแรงคนงาน !

     จากนั้นก็มาพิจารณาโครงสร้างภาษีรถยนต์ ภาษีใช้ถนน รูปแบบต่าง ๆ และ ฯลฯ เพื่อนำรายได้ไปสร้างระบบขนส่งมวลชนที่มีรถไฟ (ทั้งบนดินและใต้ดิน) เป็นแกน


ที่มา : พายัพ วนาสุวรรณ

Hosted by www.Geocities.ws

1