รถไฟสายปากน้ำ

     ทางรถไฟสายปากน้ำสร้างขึ้นโดยเอกชน ชาวเดนมาร์ก ที่ตั้งขึ้นในรูปของบริษัทที่ชื่อว่า "บริษัทรถไฟปากน้ำ"   ได้ทำสัญญาการสร้างทางรถไฟเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2429 และได้ลงมือก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2434  ตามจดหมายเหตุได้บันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

     "เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๐ เวลาเช้าโมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงรถพระที่นั่งจากเกยหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พร้อมด้วยกระบวนตำรวจทหารแห่นำตามเสด็จ ออกทางประตูวิเศษไชยศร ไปเลี้ยวป้อมเผด็จดัสกรลงไปตามถนนท้องสนามไชย แล้วเลี้ยวลงถนนเจริญกรุง ตรงไปถึงสามแยกบางรัก เลี้ยวลงถนนสีลมทางแยกที่จะไปทุ่งสระปทุมวัน เวลาเช้า ๒ โมง รถพระที่นั่งถึงที่ประทับชายทุ่งสระปทุมวันด้านตะวันตก เสด็จลงจากรถพระที่นั่ง ทรงพระดำเนินไปยังพลับพลาที่ประทับริมชายทุ่งซึ่งปลูกสรวมต้นทางรถไฟแลตรงหน้าพลับพลาออกไปทางกลางทุ่งนั้นปักเสาทำเป็นประตูซุ้ม อันประดับประดาล้วนไปด้วยธงผ้าสีต่างๆทั้งสองข้างซึ่งกำหนดเป็นทางรถไฟ ก็แสไสวไปด้วยธงเทียวอันงดงามทั้งสิ้น อนึ่ง คนต่างประเทศทั้งชายแลหญิงบรรดาซึ่งได้มีความยินดีรับเข้าส่วนเป็นกอมปนีนั้น ได้มาประชุมพร้อมกันเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ในที่นั้นเป็นอันมากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสปราศรัยด้วยคนต่างประเทศทั้งปวงตามสมควรแล้ว พระยาชลยุทธโยธินจึงนำเอาเครื่องขุดดินมาทูลเกล้าฯถวาย แล้วพระเจ้าอยู่หัวทรงแซะพื้นดินในที่ซึ่งได้กำหนดเป็นทางรถไฟเป็นพระฤกษ์พอสังเขปแล้วพนักงานประโคมแลทหารแตรจึ่งประโคมแลทำแตรสรรเสริญพระบารมี เสียงกึกก้องเอิกเกริกขึ้นพร้อมกัน แล้วพวกจีนซึ่งกอมปนีได้จ้างมาทำในการนี้นั้น จึงได้ลงมือขุดพื้นที่ดินตามที่ซึ่งกำหนดกะเป็นทางรถไฟนั้นต่อไป"

ตัวรถจักรสมัยแรก รถรางไฟฟ้า

     เมื่อสร้างทางรถไฟเสร็จแล้ว พระยาชลยุทธโยธินซึ่งเป็นผู้จัดการในบริษัทรถไฟปากน้ำ ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินเปิดทางรถไฟเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2436 ค่ารถไฟในสมัยนั้น ไปกลับ 1 บาท มี 10 สถานี สถานีละ 1 เฟื้อง สถานีต้นทางคือสถานีหัวลำโพง รถจะหยุดรับส่งคนโดยสารที่ ศาลาแดง บ้านกล้วย พระโขนง บางนา สำโรง ศีรษะจระเข้(หัวตะเข้) บ้านนางเกรง มหาวง แล้วก็ถึงปากน้ำ รถไฟสายนี้มีความยาว 21 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย

     ตามสัญญาครบกำหนด 50 ปี เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2479 จากนั้นรัฐบาลได้ซื้อทรัพย์สินของรถไฟสายนี้ตลอดจนการเดินรถรางไฟฟ้าด้วย ต่อมายกเลิกทางรถไฟสายนี้ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2503 แล้วขยายถนนพระราม4 ให้กว้างเต็มที่

* กอมปนี - company


ที่มา : หนังสือรถไฟไทย โดย ส.พลายน้อย

Hosted by www.Geocities.ws

1