ประวัติรถจักรไอน้ำ "การัตต์"

     เมื่อปี พ.ศ. 2432 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในเมืองไทย แต่การรถไฟมีความจำเป็นต้องหารถจักรไอน้ำที่เหมาะสมสำหรับลากจูงขบวนรถสินค้าที่มีน้ำหนักมาก ในทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในทางตอนลาดชันมากระยะทาง 55 กิโลเมตร ช่วงระหว่างแก่งคอยกับปากช่อง รถจักรไอน้ำที่เหมาะสมที่สุดในขณะนั้นคือแบบ "การ์แรตต์" ซึ่งเป็นรถจักรไอน้ำแฝดสองหัวมีเครื่องจักรทั้งหัวและท้าย เดินหน้าและถอยหลังได้ มีกำลังและความเร็วเท่ากัน แต่รถแบบนี้มีราคาสูงมาก จึงเกิดปัญหาที่จะซื้อมาในสภาพเศรษฐกิจเช่นนั้น
     การตัดสินใจซื้อรถจักรไอน้ำแบบ "การ์แรตต์ 2-8-2+2-8-2" มาใช้ 6 คัน ในปี 2478 เป็นการตัดสินใจอย่างกล้าหาญของการรถไฟ เพราะในขณะนั้นเป็นรถจักรที่ใหญ่และทรงพลังที่สุดสำหรับใช้ในราง 1 เมตร แต่ก็มีราคาแพงที่สุดด้วย การตัดสินใจคิดถึงประโยชน์ส่วนตัวหรือผิดพลาด ย่อมเป็นผลร้ายอย่างยิ่ง เพราะหลังจากนั้นไม่กี่ปีก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ยังให้การรถไฟสั่งซื้อรถจักรแบบการ์แรตต์แบบใหม่ที่ใหญ่และมีราคาแพงขึ้นมาเพิ่มอีก 2 คัน
รถจักรไอน้ำทั้ง 8 คันได้ใช้งานในการลากจูงรถสินค้าอย่างได้ผลดีอยู่หลายสิบปี จนกระทั่งถูกปลดระวางเมื่อรถไฟเข้าสู่ยุคใหม่ที่ใช้รถจักรดีเซลเมื่อเกือบ 30 ปี ก่อน รถจักรไอน้ำการ์แรตต์ที่เหลือคันสุดท้าย หมายเลข 457 ถูกลากไปซุกไว้ในพงไม้ย่านช่างกลบางซื่อ จนกระทั่งการรถไฟฯ ใช้นโยบายใหม่ "จากอดีตที่ยิ่งใหญ่ สู่ยุครถไฟพัฒนา" เกียรติภูมิของรถจักรไอน้ำสำคัญดันนี้จึงได้เป็นที่เปิดเผยตอนต้นปี 2533
     การรถไฟในยุคพัฒนาได้ลากรถจักรไอน้ำการ์แรตต์หมายเลข 457 ออกจากที่ซุกซ่อนมาทำความสะอาดที่ย่านรถไฟบางซื่อค้างเคียงรถจักรฮาโนแม็กรุ่นราวคราวเดียวกัน
     ชมรม "เรารักรถไฟ" ได้พบหลักฐานว่า การ์แรตต์แบบ 2-8-2+2-8-2 เป็นรถจักรไอน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก สำหรับราง 1 เมตรที่ใช้อยู่ในสมัย 60 ปีก่อน เป็นคันเดียวที่ยังเหลือในไทยและอาจเป็นในโลกด้วย
     หลังจากที่นำไปตกแต่งซ่อมบำรุงภายนอกเพื่อให้เรียบร้อยสง่างามสมศักดิ์ศรีแล้ว การรถไฟฯ ให้นำรถจักรการ์แรตต์หมายเลข 457 ไปตั้งแสดงไว้ที่ "อุทยานไอน้ำ" ซึ่งจัดทำขึ้นในบริเวณสถานีรถไฟกาญจนบุรี
     การรถไฟฯ ร่วมกับชมรม "เรารักรถไฟ" กำลังดำเนินการเพื่อให้อุทยานไอน้ำกาญจนบุรี เป็นจุดสนใจสำหรับนักท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรี โดยประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทางราชการจังหวัด


ที่มา : ชมรมเรารักรถไฟ

Hosted by www.Geocities.ws

1