อุโมงค์รถไฟขุนตาล

     อุโมงค์ขุนตาน เป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในเมืองไทย มีความยาวทั้งสิ้น 1,362.05 เมตรใช้เวลาสร้างถึง 14 ปี ในสามรัชกาล เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2450 สมัยรัชกาลที่ 5ตัวอุโมงค์สร้างเสร็จในรัชกาลที่ 6 และเปิดให้ขบวนรถไฟแล่นผ่านได้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2465 ซึ่งเป็นรัชกาลที่ 7
     ปีพ.ศ. 2448 ได้มีการสำรวจเทือกเขาขุนตานที่อยู่ระหว่างจังหวัดลำปาง กับลำพูน ใช้เวลาสำรวจนาน 2 ปี จึงเริ่มการก่อสร้างโดยมีมิสเตอร์ อีมิลไอเซ่นโฮเฟ่อร์ เป็นผู้คุมการก่อสร้าง
     สมัยก่อนบริเวณที่ก่อสร้างยังเป็นถิ่นทุรกันดาร เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ภูมิประเทศก็เต็มไปด้วยป่าทึบ และโขดเขาสูง การก่อสร้างจึงต้องใช้ความอุสาหะพากเพียรอย่างยิ่งเครื่องมือ และสัมภาระต่างๆที่ใช้ก่อสร้างต้องใช้ช้าง และเกวียนบรรทุกไป พอถึงที่ที่เป็นภูเขาต้องใช้วิธีชักรอกขึ้นเขา ลงเขา อย่างทุลักทุเลคนงานที่มาก่อสร้าง แบ่งเป็น 3 พวกใหญ่ๆ พวกหนึ่งเป็นคนร่อนเร่เผชิญโชคอีกพวกเป็นกรรมกรขี้เหล้า และสุดท้ายเป็นพวกขี้ยา กล่าวกันว่าพวกขี้ยานี้ทำงานดีที่สุดขี้ยาก็คือพวกที่ติดฝิ่น (ฝิ่นเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง สมัยก่อนสูบฝิ่นได้ไม่ผิดกฎหมาย) คนงานจะได้ค่าแรงเป็นเงินส่วนหนึ่ง และเป็นฝิ่นส่วนหนึ่ง ขี้ยาพวกนี้จะทำงานด้วยความขยันขันแข็งเพราะถ้าไม่ทำงานก็ไม่มีฝิ่นสูบ สูบฝิ่นเข้าไปแล้วต่อให้ฝอมโกงโก้อย่างไรก็ยังทำงานได้ มิหนำซ้ำยิ่งซูบผอมเท่าไหร่ยิ่งดี ไม่เปลืองอากาศหายใจ (เชื่อกันอย่างนั้น)
     กรรมวิธีในการขุดเจาะอุโมงค์นั้น เริ่มด้วยการเจาะรูเล็กๆ โดยใช้สว่าน หรือใช้แรงคนตอกสกัด เมื่อมีรูลึกเข้าไปจึงเอาดินระเบิด ไดนาไมต์ ฝังเข้าไปในรูนั้น เพื่อระเบิดให้เป็นอุโมงค์ใหญ่ถ้าหินก้อนใหญ่มากไม่สะดวในการระเบิดให้แตกเป็นก้อนเล็กๆ ก็ใช้วิธีสุมไฟให้ก้อนหินร้อนจัดแล้วราดน้ำลงไป หินนั้นก็จะแตกเป็นเสี่ยงๆ การขนดิน และหินออกจากอุโมงค์ก็ใช้คนงานขนออกมาการขุดเจาะเริ่มจากปลายอุโมงค์ทั้ง 2 ข้าง เข้ามาบรรจบกันตรงกลาง ใช้เวลาทั้งสิ้น 8 ปี อุโมงค์จึงทะลุถึงกันได้ และใช้เวลาอีก 3 ปีเพื่อผูกเหล็ก เทคอนกรีต ทำผนัง และหลังคาเพื่อความแข็งแรง และป้องกันน้ำรั่วซึมเมื่ออุโมงค์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ยังวางรางรถไฟจากลำปางไปยังปากอุโมงค์ไม่ได้เพราะระหว่างทางต้องผ่านเหวลึกถึงสามแห่งไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้จึงต้องใช้วิธีทำสะพานทอดข้ามระยะทาง 8 ก.ม.การสร้างสะพานข้างเหวไม่ใช่เรื่องง่ายจึงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่รถไฟจะไปถึงเชียงใหม่ได้


ที่มา : www.everykid.com/worldnews2/twin libdex.html

Hosted by www.Geocities.ws

1