ทางรถไฟสายมรณะ

     ทางรถไฟสายนี้เป็นเส้นทางที่สำคัญมาก กองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑเชลยศึกพันธมิตรและกรรมกรชาวเอเชียจำนวน 275,000 คน มาสร้างทางรถไฟสายนี้เพื่อลำเลียงเสบียงไปยังประเทศพม่า มีความยาวทั้งหมด 415 กิโลเมตร โดยเริ่มต้นจากสถานีรถไฟหนองปลาดุก ผ่านจังหวัดกาญจนบุรีที่สะพานข้ามแม่น้ำแควใหญ่ และเส้นทางรถไฟจะขนานไปตามแม่น้ำแควน้อยข้ามชายแดนเข้าสู่ประเทศพม่า ที่ด่านเจดีย์สามองค์ และตัดผ่านไปทางทิศเหนือเชื่อมกับเครือข่ายเส้นทางรถไฟของพม่าที่สถานีทันบูยาซายัท
     การก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ต้องผ่านป่าดงดิบในเมืองกาญจนบุรีทำให้เชลยศึกต้องทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำเพื่อให้ทันเสร็จตามกำหนดของกองทัพญี่ปุ่น ทำให้เชลยศึกนับหมื่นต้องเสียชีวิตลง ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตเพราะโรคภัยไข้เจ็บและไม่มียารักษาเพียงพอ
     ทางรถไฟที่สร้างลำบากที่สุดตอนหนึ่งคือ บริเวณสะพานถ้ำกระแซ การก่อสร้างทางรถไฟในช่วงนี้มีเทือกเขาสูงชันติดกับลำน้ำแควน้อย วิศวกรญี่ปุ่นจำเป็นต้องสร้างเลียบลำน้ำ ทางรถไฟจะลัดเลาะไปตามภูเขา ยาว 400 เมตร ซึ่งเป็นช่วงที่เชลยศึกต้องเสียชีวิตมากที่สุด คือประมาณ1,000 กว่าคน
     การสร้างทางรถไฟเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ.1943 ใช้เวลาทั้งหมด 17 เดือน ทางรถไฟสายนี้ได้ใช้งานเพียง 1 ปีเท่านั้น จนถึง วันที่ 15 สิงหาคม ปี ค.ศ 1945 ญี่ปุ่นก็แพ้สงคราม ทางรถไฟจึงตกเป็นของรัฐบาลอังกฤษ ทางรัฐบาลไทยจึงได้ขอซื้อทางรถไฟสายนี้ในราคา 1,250,000 ปอนด์สเตอร์ลิง และได้ทำการรื้อรางออกไปบางส่วน บริเวณรอยต่อชายแดนไทยพม่า
     เมื่อทางรัฐบาลไทยได้ซื้อทางรถไฟสายนี้แล้ว จึงทำการซ่อมแซมทางรถไฟจนถึงสถานีน้ำตกเท่านั้น เพราะเส้นทางที่เหลือรัฐบาลไม่มีงบประมาณพอ ที่ทำการซ่อมแซม ทำให้เส้นทางที่เหลือซึ่งก่อสร้างด้วยวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน ต้องทรุดโทรมอย่างหนักจนปัจจุบันทางรถไฟที่เหลือจึงกลายเป็นป่าปกคลุมตลอดทาง
ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเดินรถบนเส้นทางสายนี้ทุกวัน และจัดขบวนรถพิเศษสายกรุงเทพ - น้ำตก ทุกวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 223-7010 และ 223-7020


ที่มา : สงครามมหาเอเชียบูรพา กาญจนบุรี : ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวุธ สุวรรณฤทธิ์

Hosted by www.Geocities.ws

1