โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่

     กิจการรถไฟหลวงของไทย เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2439 อันเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จทรงกระทำพิธีพระฤกษ์ตรึงหมุดในพระราชพิธีเปิดการเดินรถครั้งแรก จากกรุงเทพ - อยุธยา ระยะทาง 71 กม. นับแต่นั้นเป็นต้นมา จึงถือเอาวันที่ 26 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสถาปนากิจการรถไฟหลวง
     ต่อจากนั้นมา การก่อสร้างขยายเส้นทางรถไฟหลวงก็ได้ดำเนินการเพิ่มเติมเรื่อยมา เมื่อแล้วเสร็จก็เปิดให้การบริการแก่ประชาชนเป็นลำดับ ส่วนใหญ่แล้วก็เพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจและการคมนาคมให้ดีขึ้น การก่อสร้างขยายเส้นทางรถไฟนี้ ได้มีการวางโครงข่ายทางรถไฟทั่วประเทศแล้วลงมือก่อสร้างสายที่สำคัญที่สุดก่อน แล้วทยอยก่อสร้างเพิ่มเติมตามลำดับความสำคัญเป็นสายๆไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ
     แต่มีหลายโครงการที่ไม่อาจดำเนินการให้เสร็จได้เนื่องจากผลกระทบในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านยุทธศาสตร์ และด้านความมั่นคง
ในปี 2484 อันเป็นปีที่กิจการรถไฟหลวงได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 44 ในขณะนั้นมีฐานะเป้นกรมรถไฟหลวงมีโครงการก่อสร้างใหม่รวม 10 สาย ได้แก่
      สายลพบุรี - บัวใหญ่
      สายกุมภวาปี - สกลนคร - นครพนม
      สายบัวใหญ่ - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร
      สายแก่งคอย - เชียงคาน - ปากลาย
      สายเด่นชัย - แพร่ - น่าน - เชียงราย - เชียงแสนหลวง
      สายพิษณุโลก - เลย - กุมภวาปี
      สายแปดริ้ว - จันทบุรี
      สายพิษณุโลก - ตาก - แม่สอด
      สายอุดรธานี - หนองคาย
      ทางคู่ต่อจากบ้านภาชี - ลพบุรี
     โดยที่ในปีพศ 2482 นั้น กรมรถไฟหลวงมีทางรถไฟที่กำลังก่อสร้างอยู่ คือ สายสุราษฎร์ธานี - พังงา - ท่านุ่น ระยะทาง 161 กม. กับทางคู่ช่วงบางประอิน - อยุธยา ระยะทาง 14 กม.
     เวลาได้ล่วงเลยมาอีก 62 ปี ถึงปี 2546 อันเป็นปีที่ครบรอบ 106 ปีของการสถาปนากิจการรถไฟหลวง ทางรถไฟสายต่างๆ บางสายก็ได้มีการก่อสร้าง แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีการก่อสร้างเลย โดยเส้นทางที่ได้มีการก่อสร้างและเปิดการเดินรถแล้วได้แก่สาย อุดรธานี - หนองคาย แต่บางสายมีการก่อสร้างเป็นบางส่วน คือสายแปดริ้ว - จันทบุรี ได้มีการก่อสร้างไปถึงนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด - จังหวัดระยอง บางสาย แม้ไม่มีการก่อสร้างแต่ก็มีการก่อสร้างสายใหม่แทน เช่น สายลพบุรี - บัวใหญ่กับสาย แก่งคอย - เชียงคาน - ปากลาย ได้ก่อสร้างเป็นสายแก่งคอย - บัวใหญ่แทน นอกจากนี้ทางรถไฟสายสุราษฎร์ธานี - พังงา - ท่านุ่น ก็ได้มีการก่อสร้างไปถึงคีรีรัฐนิคมเท่านั้น
     ระยะเวลา 62 ปีที่ผ่านมา โครงการก่อสร้างทางรถไฟได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบันจึงยังคงมีโครงการก่อสร้างทางรถไฟที่การรถไฟ กำลังดำเนินการอยู่ ดังนี้

     1. โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟชานเมือง ระยะทาง 234 กม. ประกอบด้วย
      ช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน - นครปฐม ระยะทาง 55 กม.
      ช่วงรังสิต - ชุมทางบ้านภาชี(ก่อสร้างทางสาม) ระยะทาง 61 กม.
      ช่วงชุมทางบ้านภาชี - ลพบุรี ระยะทาง 43 กม.
      ช่วงชุมทางบ้านภาชี - มาบกะเบา ระยะทาง 44 กม.
      ช่วงหัวหมาก - ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 45 กม.
     การก่อสร้างทางสามช่วงรังสิต - บ้านภาชี ได้เสร็จสิ้นแล้วและเปิดการเดินรถแล้วตั้งแต่ต้นปี 2543 ส่วนทางคู่ช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ก็ได้เสร็จลงแล้วแต่ยังไม่ได้เปิดทำการเดินรถ และทั้ง 2 ช่วงก็อยู่ในการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ สำหรับทางคู่ที่เหลือทั้งหมด ได้ทำการก่อสร้างเสร็จสิ้นหมดทุกสายแล้ว เหลือเพียงแต่ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณเท่านั้น

     สำหรับงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณฯมีความคืบหน้า ดังนี้
1. อาณัติสัญญาณทางสามช่วงรังสิต - ชุมทางบ้านภาชี และทางคู่ช่วงชุมทางบางซื่อ - ชุมทางตลิ่งชัน
กลุ่มบริษัท Jasmine - LG Consortium เริ่มดำเนินการ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2544 ขณะนี้กำลังดำเนินงานสรุป ตำแหน่ง เพื่อติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณฯ งานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณที่เชียงราก, งานหล่อฐานเสาอาณัติสัญญาณ
และฐานตู้ควบคุม, งานก่อสร้างอาคารโรงงานและอาคารฝึกอบรมที่เชียงราก และงานโยธาต่าง ๆ ฯลฯ
2. อาณัติสัญญาณทางคู่ช่วงชุมทางบ้านภาชี - ลพบุรี, ชุมทางบ้านภาชี - มาบกะเบา และชุมทางตลิ่งชัน - นครปฐม รับซองประกวดราคาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2544 การพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิคแล้วเสร็จ และเปิดซองราคาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2544 และได้เจรจาต่อรองกับกลุ่มบริษัท Westing house ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดเสร็จเรียบร้อยและได้รายงาน เสนอขออนุมัติให้ว่าจ้างต่อ คณะกรรมการรถไฟฯ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาแล้วมีมติให้ทบทวน ผลการประกวดราคาใหม่ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาทบทวนของคณะกรรมการรถไฟฯ
3. อาณัติสัญญาณทางคู่ช่วงหัวหมาก - ฉะเชิงเทรา รับซองประกวดราคาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2544 พิจารณา
ข้อเสนอทางเทคนิคแล้วเสร็จ เปิดซองเสนอราคาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545 ซึ่งกลุ่มบริษัท Westing house เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ได้เจรจาต่อรองราคาเสร็จเรียบร้อย และได้รายงานเสนอขออนุมัติให้ว่าจ้างต่อคณะกรรมการรถไฟฯซึ่งคณะกรรมการ พิจารณาแล้วมีมติให้ทบทวนผลการประกวดราคาใหม่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาทบทวนของคณะกรรมการรถไฟฯ
     คาดว่าจะสามารถเริ่มงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณทางคู่ตามข้อ 2 และ 3 ได้ประมาณ กลางปี 2546
และแล้วเสร็จสมบูรณ์ทุกเส้นทางในปี 2548

     2. โครงการก่อสร้างทางสายใหม่  ในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสำรวจออกแบบรายละเอียดด้านวิศวกรรมและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้แก่
      สายเด่นชัย – เชียงราย (246 กม.) วงเงินลงทุนก่อสร้าง 21,106 ล้านบาท
      สายสุราษฎร์ธานี – พังงา (ท่านุ่น) (163 กม.) วงเงินลงทุนก่อสร้าง 12,810 ล้านบาท
      สายมาบตาพุด – ระยอง (24 กม.) วงเงินลงทุนก่อสร้าง 3,674 ล้านบาท
      สายบัวใหญ่ – ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร – นครพนม (368 กม.) วงเงินลงทุนก่อสร้าง 25,009 ล้านบาท

     โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ 3 เส้นทางแรก ได้สำรวจออกแบบรายละเอียดไว้เรียบร้อยแล้วเมื่อ ปี พ.ศ. 2541 ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการพิจารณาทบทวนแนวทางการลงทุนก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ อันเนื่องมาจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ คณะกรรมการพิจารณาจัดหาเงินทุนสำหรับก่อสร้างทางรถไฟได้จัดลำดับความสำคัญของโครงการโดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ และได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมให้ใช้เป็นแนวนโยบายในการดำเนินงาน เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2542 สรุปได้ว่า
(1) โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย–เชียงราย ได้รับการคัดเลือกเป็นโครงการสำคัญและมี ความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะพิจารณาจัดหาเงินลงทุนดำเนินการในระยะแรก โดยจะใช้เงินกู้ต่างประเทศที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนและมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เนื่องจากมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี
(2) ส่วนโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ทีเหลืออีก 3 เส้นทาง ได้รับการจัดลำดับให้ดำเนินการในระยะที่ 3 โดยใน ส่วนของโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบัวใหญ่–นครพนม ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะเชื่อมพื้นที่ตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้ากับโครงข่ายทางรถไฟปัจจุบัน และมีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยนั้น ให้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาลมาทำการสำรวจออกแบบรายละเอียดฯเพื่อให้ทราบแนวเส้นทางและวงเงินค่าก่อสร้างที่ชัดเจนก่อนแล้วจึงพิจารณา หาแหล่งเงินทุน ที่เหมาะสมต่อไป
(3) แนวทางการลงทุนแต่ละเส้นทางมี่อยู่ 3 ทางเลือก คือ
ทางเลือกที่ 1 เงินกู้ต่างประเทศ + เงินบาทสมทบ
ทางเลือกที่ 2 เงินงบประมาณแผ่นดิน + เงินกู้ในประเทศ
ทางเลือกที่ 3 เอกชนลงทุน + รัฐรับภาระบางส่วน

     ปัจจุบันโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ ได้ดำเนินการดังนี้
     การขอออกพระราชกฤษฏีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน
     การรถไฟฯ ได้ดำเนินการขอออกพระราชกฤษฏีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน สำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย – เชียงราย และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2544 โดยได้ประกาศใช้บังคับในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2544 ส่วนสายสุราษฎร์ธานี – พังงา (ท่านุ่น) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 และประกาศใช้บังคับในราชกิจจา นุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2544
      การขอรับการจัดสรรงบประมาณ
     การรถไฟฯ เคยได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2544 เฉพาะค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ส่วนหนึ่งของ โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายสุราษฎร์ธานี – พังงา (ท่านุ่น) เป็นเงิน 72 ล้านบาท แต่ต้องจัดสรรคืนเงินงบประมาณดังกล่าวเพื่อ นำไปดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนและสำคัญที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และได้ขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อ เป็นค่าเวนคืนที่ดินทั้ง 2 โครงการข้างต้นในปีต่อๆ มาอีก แต่ไม่ได้รับการพิจารณาจัดสรร
      การพิจารณาทบทวนแนวทางการลงทุนและขออนุมัติโครงการ
     - สายเด่นชัย – เชียงราย
     การรถไฟฯ ได้รายงานคณะกรรมการรถไฟฯ เพื่อขอนุมัติดำเนินการโครงการโดยได้ขอรับความเห็นชอบ
แนวทางการลงทุนเพิ่มเติมโดยให้เอกชนดำเนินการให้ก่อน (Turnkey) และรัฐบาลไทยจ่ายค่า ก่อสร้างคืนด้วยวิธี Countertrade สินค้าผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ ตามที่บริษัท China Railway Communication (CRC) ได้เสนอมาและได้รับความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2544 จึงรายงานขออนุมัติโครงการต่อกระทรวงคมนาคม ซึ่งสำนักนโยบายและแผนการขนส่งกระทรวงคมนาคมเสนอความเห็นให้ทบทวนการศึกษาความเหมาะสมของโครงการใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ต่อมา การรถไฟฯ ได้พิจารณาปรับปรุงวงเงินโครงการใหม่ตามค่าเงินเฟ้อ (Inflation) และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ต่างประเทศ
ในปัจจุบันเป็นวงเงิน 24,161 ล้านบาท แยกเป็น :
- ค่าเวนคืนที่ดิน 1,804 ล้านบาท
- ค่าจ้างที่ปรึกษา 1,014 ล้านบาท
- ค่าก่อสร้าง/ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ 21,343 ล้านบาท
และรายงานเสนอกระทรวงคมนาคมอีกครั้งเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2544 เพื่อรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ วันที่ 9 ตุลาคม 2544 รับทราบความก้าวหน้าโครงการ แต่เนื่องจากโครงการนี้ต้องใช้วงเงินลงทุนที่สูงมาก ควรต้องพิจารณาถึงความจำเป็นในระยะยาวและความคุ้มทุน จึงมอบให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกระทรวงการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงบประมาณ, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมป่าไม้) กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนโครงการนี้อีกครั้ง ซึ่งขณะนี้การรถไฟฯ กำลังพิจารณาว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อมาศึกษา ทบทวนความเหมาะสมของโครงการ และจะได้นำผลการศึกษาเสนอเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตามมติ ครม.ข้างต้นต่อไป
      - สายสุราษฎร์ธานี – พังงา (ท่านุ่น)
     การรถไฟฯ ได้รายงานเสนอคณะกรรมการรถไฟฯ เพื่อขอรับความเห็นชอบในการดำเนินโครงการในวงเงิน ลงทุน 12,810 ล้านบาท และขอรับความเห็นชอบแนวทางการลงทุนในการใช้เงินกู้ต่างประเทศลักษณะ Soft Loan ที่เป็นเงินกู้ลักษณะ G to G หรือการให้เอกชนดำเนินการก่อสร้างให้ก่อนและรัฐบาลจ่ายคืนด้วยวิธี Countertrade สินค้าผลิตภัณธ์ภายในประเทศเช่นเดียวกับสายเด่นชัย–เชียงราย ซึ่งคณะกรรมการรถไฟฯมีมติเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2544 ให้การรถไฟฯนำเสนอสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมพิจารณาอนุมัติในเรื่องการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อน แล้วจึงนำเสนอคณะกรรมการรถไฟฯพิจารณาอีกครั้ง
     สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายมาบตาพุด – ระยอง ซึ่งเป็นอีกโครงการที่ออกแบบแล้วเสร็จ การรถไฟฯได้ชะลอการดำเนินการไว้ก่อนเพราะผลตอบแทนฯ ไม่เป็นที่จูงใจ ส่วนโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบัวใหญ่–ร้อยเอ็ด–มุกดาหาร–นครพนม ซึ่งมีเพียงผลการศึกษาความเหมาะสมฯ (Feasibility Study) ของโครงการเมื่อปี 2538 จะต้องทำการศึกษาความเหมาะสมฯ ใหม่ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจสังคมและสิ่ง แวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไป แต่ขณะนี้ได้ชะลอการดำเนินการไว้ก่อนเช่นกัน


ที่มา : การรถไฟแห่งประเทศไทย www.thailandrailway.com

Hosted by www.Geocities.ws

1