ทางรถไฟสายแม่กลอง

     นอกจากสถานีรถไฟต้นทางใหญ่อย่างกรุงเทพและบางกอกน้อยแล้ว ทางฝั่งธนฯ ก็ยังมีสถานีต้นทางอีกแห่งหนึ่ง ที่มีประวัติยาวนานไม่แพ้กันคือ สถานีวงเวียนใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน
     รถไฟสายแม่กลองนั้น แรกเริ่มทีเดียวเป็นการร่วมงานระหว่างบริษัทเอกชน 2 บริษัทด้วยกัน และแบ่งกันรับผิดชอบคนละช่วงทางอีกต่างหาก คือ ทางตอนระหว่างคลองสาน จ. ธนบุรี (สมัยก่อนยังไม่ได้รวมเข้ากับกรุงเทพฯ) กับ มหาชัย จ. สมุทรสาคร ระยะทาง 33.1 กม. หรือ ทางรถไฟสายท่าจีนนั้น ยกสัมปทานให้กับบริษัทรถไฟท่าจีนทุน จำกัด ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2444 ส่วนอีกช่วงเป็นทางตอนระหว่าง บ้านแหลม จ. สมุทรสาคร กับ แม่กลอง จ. สมุทรสงคราม ระยะทาง 33.8 กม. หรือ ทางรถไฟสายแม่กลอง ก็ยกสัมปทานให้ บริษัทแม่กลองทุน จำกัด แล้วระหว่างมหาชัยกับบ้านแหลม ก็เปลี่ยนบรรยากาศมานั่งเรือข้ามฟาก แม่น้ำท่าจีนไปกัน
     สาเหตุที่ไม่สร้างสะพานเชื่อมรถไฟสายมหาชัยและแม่กลองเข้าด้วยกันก็เพราะชาวเรือโวยวายว่าสะพานรถไฟเตี้ยไป ขวางเรือจนไปไม่ได้ และสมัยนั้นเทคโนโลยีการก่อสร้างยังโบราณมาก ที่ทำได้อย่างกรณีรถไฟสายใต้นั้นก็กินทุนไปเยอะบริษัทเลยไม่กล้าลงทุน
     การดำเนินงานช่วงนั้นทั้ง 2 บริษัท ต่างก็ทำงานไปโดยเอกเทศ เรียกว่างานใครงานมัน จะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกันบ้างก็ตรงที่มีจุดหมายปลางทางขนส่งเชื่อมต่อกันที่ท่าเรือข้ามฟากเท่านั้น แต่ก็ทำงานแยกกันอยู่ไม่ได้นาน เมื่อวันที่ 12 กรกฏาคม 2450 ทั้ง 2 บริษัทนี้ก็รวมกิจการเป็นบริษัทเดียวกัน และได้รับพระบรมราชานุมัติเป็นทางการ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2451 ใช้ชี่อเดียวว่า "บริษัทแม่กลองทุน" จำกัด ดำเนินการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารรวมทั้งหมด 2 ช่วงต่อไป กิจการก็นับได้ว่าเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งวันที่ 23 พฤศจิกายน 2485 สัมปทานตอนแรกช่วงคลองสาน กับ มหาชัยก็หมดลง แล้วจากนั้น 3 ปี วันที่ 14 สิงหาคม 2488 สัมปทานช่วงบ้านแหลม กับ แม่กลอง ก็สิ้นสุดไปด้วย ทีนี้รัฐบาลก็เซ้งกิจการทั้งหมดในราคา 2 ล้านบาท เอามาทำต่อเอง ตามหนังสือสัญญาซื้อขายทรัพย์สิน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2489 ซื้อมาแล้วช่วงแรกๆ นี้ก็ยังดำเนินการบริหารงานแบบเดิมของบริษัท ถึงแม้ว่าจะมีสถานะเป็น "องค์การรถไฟสายแม่กลอง" ขึ้นตรงกับกรมรถไฟแล้วก็ตาม จนอีก 6 ปีต่อมา เมี่อกรมรถไฟเปลี่ยนฐานะเป็น "การรถไฟแห่งประเทศไทย" จากนั้นกระทรวงคมนาคมถึงได้มีคำสั่งให้องค์การรถไฟสายแม่กลองรวมกับการรถไฟฯ และมีฐานะเป็น "สำนักงานรถไฟสายแม่กลอง" ตั้งแต่ 1 กรกฏาคม 2495 เป็นต้นไป แต่ถึงจะรวมกันแล้ว แต่ก็เป็นการรวมกันแค่หลักการเท่านั้น ส่วนวิธีบริหาร ก็ใช้แบบเดิมไปก่อน จนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2498 กระทรวงจึงได้สั่งให้สำนักงานนี้รวมกิจการรถไฟทุกอย่างเต็มตัว
     ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เส้นทางสายนี้เริ่มมาจากสถานีคลองสาน แต่เหตุใด จึงเปลี่ยนต้นทางมาเป็นสถานีวงเวียนใหญ่ ข้อนี้มีสาเหตุดังนี้ เนื่องจาก ฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัธต์ นายกรฐมนตรีในขณะนั้น ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิการยน 2502 ว่า ควรจะยุบสถานีคลองสาน แล้วไปเริ่มต้นทางอยู่ที่วัดสิงห์ หรือ ตลาดพลู แทน ซึ่งเหตุผลที่ต้องการให้ย้ายจริงๆ นี่ก็ไม่ทราบแน่ชัด รู้แต่ว่าพอมีแนวคิดนี้ออกมา ทางเทศบาลนครธนบุรีสมัยนั้นก็ยื่นโครงการขอสร้างถนนรถยนต์โดยใช้แนวทางรถไฟเดิมทันที ทางกระทรวงมหาดไทยก็รับเรื่องเห็นดีเห็นงามเหมือนกัน แม้ ทางรถไฟจะชี้แจงชักแม่น้ำทั้งห้าให้เห็นข้อเสียที่จะเกิดขึ้น ว่าหากต้องย้ายสถานีไปไว้ที่อื่นนั้น ปัญหาจะตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลำเลียงรถจักร ล้อเลื่อนอุปกรณ์ต่างๆ ของรถไฟไปเข้าโรงซ่อมที่มักกะสัน ซึ่งเราทำได้ทางเดียวคือ ขนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปโดยแพขนานยนต์ รวมถึงความไม่สะดวกที่ส่งผลกระทบไปถึงผู้โดยสารที่ใช้บริการอยู่เป็นประจำถึงปีละ 3 ล้านคน ยังไม่นับถึงสินค้ามากมายโดยเฉพาะอาหารทะเล ที่อาศัยการขนส่งต่อเนื่องไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยการข้ามฟากจากสถานีคลองสานอีกเช่นกัน ในที่สุดการพยายามต่อรองของรถไฟก็มาสิ้นสุดลงตรงที่ ไม่เอาทั้งวัดสิงห์หรือทั้งตลาดพลูนั่นแหละ แต่ขอเปลี่ยเนป็นที่วงเวียนใหญ่ได้ไหม เพราะอย่างน้อยๆ ประชาชนที่เดินทางมากับรถไฟก็ยังพอต่อรถประจำทางได้สะดวกมากกว่า 2 แห่งให้เลือกนั่น ส่วนวิธีแก้ปัญหาเรื่องการลำเลียงรถจักร ก็ให้ใช้วิธีการวางรางรถไฟไว้กลางถนนที่เทศบาลแล้ว ใช้หินผสม แอสฟัลท์เทปิดให้เรียบถนนกว้าง 2 เมตร เวลาจะใช้งานก็เจาะให้เป็นร่องให้รถจักรและล้อเลื่อนไปมาได้ เสร็จงานแล้วค่อยเทปิดไว้อย่างเดิม ซึ่งก็ต้องลำบากไม่น้อย ดังนั้น ทางรถไฟสายนี้จึงได้เปลี่ยนต้นทางมาเป็นสถานีวงเวียนใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2504 เป็นต้นมา
     หลังจากยุบเลิกสถานีคลองตันไปเรียบร้อย จากนั้นเพียง 2 เดือน ก็มีมติ ครม. ลงวันที่ 21 มีนาคม 2504 แจ้งให้เจ้าของเรื่องร่วมกับกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเปลี่ยนทางรถไฟสายมหาชัยให้เป็นถนนรถยนต์ตามที่ราษฎรขอมา ดีแต่ว่าคราวนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามได้ร้องขอให้รัฐบาลสงวนทางรถไฟสายแม่กลองนี้ เพราะเป็นเส้นชีวิตของสมุทรสงคราม ประชาชนมีความนิยม และได้รับความสะดวกสะบาย สะดวกใจที่จะได้รับบริการจากรถไฟสายนี้ตลอดไป รวมกับเหตุผลอีกนานับประการที่การรถไฟฯ ทำหนังสือยื่นไปถึงกระทรวงคมนาคมก่อนหน้านี้อีกเป็นปึก ในที่สุด ครม. ก็ระงับความคิดนี้ไปเมื่อ 2 กรกฏาคม 2506 แต่ก็ยังไม่วายกำชับทิ้งไว้ว่าต่อไปนี้ป์นภาระหน้าที่ ที่การรถไฟฯ จะต้องพิจารณาหาหนทางพัฒนากิจการรถไฟสายนี้ เพื่อสนองความต้องการของประชาชน ผู้โดยสาร ให้ดี และสะดวกยิ่งขึ้น ที่สำคัญรายได้ต้องอยู่ในระดับดีด้วย
     17 พฤษภาคม 2544 ทางรถไฟสายแม่กลองมีอายุครบรอบ 100 ปี บริบูรณ์แล้ว ความรุ่งเรืองในอดีตที่ยิ่งใหญ่ กำลังเริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา ความเจริญและการทุ่มเทพัฒนาประเทศในหน่วยงานด้านอื่นๆ อย่างไม่ทัดเทียมกัน เริ่มทำให้ทางรถไฟสายนี้กำลังตกอยู่ในสภาพที่เหมือนว่าจะถูกทอดทิ้งเอาไว้ในอีกโลกหนึ่ง..แต่เพียงเดียวดาย ลำพังถ้าหากจะอาศัยแค่งบประมาณของรถไฟแต่เพียงอย่างเดียวต่อไปเรื่อยๆ เราก็คงทำได้แค่เพียงถนอมเส้นทางสายนี้ จะยังยืนหยัดรับใช้พี่น้องต่อไปให้ได้นานที่สุด เท่าที่กำลังเราจะพอไหว แต่ถ้าหันมามองกันในแง่ของความสำคัญ แง่การขนส่งราคาย่อมเยา แง่การกระจายความเจริญให้กับ ประชาชนทุกระดับชั้น รวมถึงแง่ของความยิ่งใหญ่ที่เคยมีในอดีต ดังจะเห็นได้จากประวัติศาตร์หน้าหนึ่งของไทยเรา เมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดถนนถวาย ที่เมืองสมุทรสาคร ซึ่งมีบันทึกไว้ว่า "เมื่อวันที่ 18 มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก 124 เวลาเช้า 2 โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถพระที่นั่งแต่วังสวนดุสิต ไปเสด็จลงเรือพระที่นั่งกลไฟที่ท่าราชวรดิษฐ์ ล่องลงไปเที่ยบที่ท่าสเตชั่นรถไฟ ท่าจีนใต้ ปากคลองสาน เสด็จประทับรถไฟใช้จักรออกจากรุงเทพฯ ไปหยุดรถพระที่นั่งที่สเตชั่นสมุทรสาคร เสด็จพระราชดำเนินลงประเรือไฟข้ามไปขึ้นที่ท่าบ้านตลาดท่าฉลอม แล้ว" เชื่อว่าคงต้องอาศัยน้ำใจจากรัฐบาลนั่นแหละ ยื่นมือมาช่วยกันโอบอุ้มเส้นทางสายนี้ ให้มีศักยภาพพร้อมมากพอที่จะรับใช้คนไทยไปอีกนานเท่านาน....


ที่มา : การรถไฟแห่งประเทศไทย www.thailandrailway.com

Hosted by www.Geocities.ws

1