สรุป

PS 713 เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ( International Political Economy) ผศ.ธนียา หรยางกูร

องค์การระหว่างประเทศ (International Organization)

องค์การระหว่างประเทศจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ

1.องค์การระหว่างประเทศระดับสากล (Universal Level) จะมีสมาชิกจำนวนมากมาจากส่วนต่างๆของโลกและมีขอบเขตและขอบข่ายการปฏิบัติงานกว้างขวาง

องค์การระดับสากลยังแบ่งออกเป็น 2 พวก คือ

-องค์การที่มีวัตถุประสงค์กว้าง หมายถึงองค์การที่ทำหน้าที่ทุกอย่างทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน เช่นองค์การสหประชาชาติ (United Nation หรือ UN) สันนิบาติชาติ

-องค์การที่มีวัตถุประสงค์แคบ เป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ด้านใดด้านหนึ่งเป็นสำคัญ เช่นองค์การที่ทำหน้าที่ด้านเศรษฐกิจ เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สถาบันเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา (IBRD)

2.องค์การระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค (Regional Level) จะเป็นองค์การระหว่างประเทศที่สมาชิกจะมาจากส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นสำคัญ แต่อาจจะมีสมาชิกมาจากนอกภูมิภาคได้ เช่น ซีโต้(SEATO)จะเป็นองค์การในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ แต่มีสหรัฐ ฝรั่งเศส และอังกฤษเป็นสมาชิกด้วย

องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization) สมาชิกก็จะมาจากหลายภูมิภาคซึ่งเป็นองค์การความร่วมมือทางการทหารและความมั่นคงของประเทศสังคมนิยม และใช้องค์การนี้เข้าไปแทรกแซงประเทศสังคมนิยมที่ตีตัวออกห่าง

-องค์การระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์กว้าง เช่น องค์การเอกภาพอัฟริกา (OAU) องค์การนานารัฐอเมริกัน (OAS) สันนิบาติอาหรับ (League of Arab-LA) องค์การเหล่านี้จะทำหน้าที่ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง เพราะองค์การเหล่านี้จัดตั้งขึ้นมาในภูมิภาคที่ตกเป็นอาณานิคมยาวนานเมื่อได้เอกราชจึงพยายามจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือกัน

-องค์การที่มีวัตถุประสงค์แคบ เช่น

**องค์การความร่วมมือทางการทหาร เช่นองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติดเหนือหรือ นาโต้ (NATO)นอกจากนี้ยังมีองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอร์ ซีโต้ เซนโต้ (ยังมีอยู่ในปัจจุบัน)

**องค์การทางเศรษฐกิจ เช่นอียู (EU) อาเซียน (ASEAN)

สำหรับองค์การระหว่างประเทศที่อาจารย์จะเน้นก็คือ WTO ,IMF ,IBRD (โดยอาจารย์จะใช้คำเรียก 3 องค์การนี้ว่า แฝด 3 สยามสยอง) และส่วนนี้จะออกเป็นข้อสอบ

ทั้งนี้ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ International Relation สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราจะต้องทำความเข้าใจคือตัวแสดง หรือ Actors ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยตัวแสดงที่สำคัญมากที่สุดคือรัฐ ที่สำคัญรองลงมาคือองค์การระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีองค์การข้ามชาติ เช่นบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งหมายถึงบริษัทที่อาจจะมีสัญชาติใดสัญญชาติหนึ่งหรือมีหลายชาติรวมตัวกันไปลงทุนในดินแดนอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีบรรษัทเงินทุนข้ามชาติ หรือเรียกว่าทุนข้ามชาติ

ทุนข้ามชาติจะต่างจากบรรษัทข้ามชาติที่บรรษัทเงินทุนจะไม่ลงทุนอุตสาหกรรมแต่จะลงทุนเก็งกำไร เช่นลงทุนในตลาดหุ้น ลงทุนในตลาดการเงิน เช่นการค้าเงินตราระหว่างประเทศ หรือการลงทุนในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน การลงทุนในตราสารต่างๆ

บรรษัทเงินทุนข้ามชาติจะเป็นการลงทุนในระยะสั้น ซึ่งการที่ประเทศไทยเปิดเสรีให้บรรษัทเงินทุนข้ามชาติเหล่านี้เข้ามาลงทุนและถอนทุนออกไประยะสั้นทำให้เราต้องถูกโจมตีค่าเงินบาท

นอกจากนี้ยังมีขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ องค์การศาสนาข้ามชาติ เอ็นจีโอก็เป็น Actors ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และรัฐก็จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับตัวแสดงทุกตัวปัจจุบันแทบจะไม่มีรัฐใดที่ไม่เป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศ WTO IMF และ IBRD เป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีส่วนในการดึงให้บรรษัทข้ามชาติให้เข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ

IBRD นั้นตั้งขึ้นมาเพื่อปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศที่สูญเสียจากสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตามพบว่าหลังจากตั้งมา 10 ปีประเทศในยุโรปกลับไม่ได้กู้จาก IBRD มากนัก เพราะยุโรปจะหันไปขอความช่วยเหลือจากอเมริกาตามแผนการมาร์แชล

IBRD ได้ปล่อยเงินกู้ไปเพียง 500 US ดอลลาร์ จึงหันมาปล่อยกู้ในประเทศเอเชียโดยเข้ามาทำการศึกษาให้คำปรึกษาในการพัฒนาประเทศและปล่อยเงินกู้ตามโครงการพัฒนาที่เขียนขึ้นมาตามแผนพัฒนา ประเทศกำลังพัฒนา จะพ้นจากความยากจน จะต้องพัฒนาประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมจากต่างประเทศอันส่งผลให้ประเทศเหล่านี้ขาดดุลทางการค้า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่นถนน ไฟฟ้า ประปา เขื่อน

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการกู้ยืมเงินจำนวนมหาศาลของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีเป้าหมายเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะต้องเป็นประเทศอุตสาหกรรมให้ได้ ดังนั้นเมื่อแต่ละประเทศกู้เงินจาก IBRD ทำให้ประเทศต่างๆเป็นหนี้ต่างประเทศมหาศาล ในช่วงที่เศรษฐกิจบูมก็มีการลงทุนมากมายจนเกิดภาวะฟองสบู่ เมื่อฟองสบู่แตก IMF ก็จะเข้ามาแทรกแซง ส่วน WTO ก็เข้ามาแทรกแซงในเรื่องของการค้า

จึงเรียก WTO IMF และ IBRD ว่าแฝด 3 สยามสยอง เพราะเข้ามาเมืองไทยแล้วทำให้เมืองไทยย่อยยับ รวมทั้งที่เคยเกิดปัญหามาแล้วในลาติอเมริกา และเอเชียอื่นๆ

ทั้งนี้ประเทศไทยนั้นนับว่าให้ความสนใจศึกษาเรื่องของต่างประเทศน้อยมาก โดยเฉพาะประสบการณ์ของลาติอเมริกาที่มีปัญหาจากการเข้าสู่โครงการของ IMF ก่อนประเทศไทย ถ้าเราเข้าใจอย่างถ่องแท้เราจะได้รู้และตัดสินใจว่าควรจะเข้าไปขอความช่วยเหลือจาก IMF หรือไม่

ความสำคัญขององค์การระหว่างประเทศ

1.องค์การระหว่างประเทศเป็นที่รวมของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นองค์การระหว่างประเทศในระดับสากลและระดับภูมิภาคทำให้เกิดเป็นที่รวมของนโยบาย รวมวัตถุประสงค์ รวมผลประโยชน์ และเป็นที่มาของความเห็นร่วม (Consensus)ของสมาชิก

2.องค์การระหว่างประเทศเป็นผู้ประสานให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐ หรือเป็นผู้ประสานประโยชน์ในด้านต่างๆตามแต่วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์การ

3.องค์การระหว่างประเทศเป็นผู้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างสมาชิกขององค์การ ซึ่งการแก้ปัญหานั้นจะมีความยุติธรรม เป็นธรรมหรือไม่ขึ้นอยู่กับกำลังความสามารถของสมาชิกด้วย เพราะในความเป็นจริงประเทศที่มีกำลังอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและการทหารก็มักจะได้รับความยุติธรรมมากกว่า

4.องค์การระหว่างประเทศมีสถานภาพที่สูงกว่ารัฐ ทั้งนี้เนื่องจากองค์การระหว่างประเทศมีธรรมนูญที่เหนือว่าสนธิสัญญาอื่นๆ หรือแม้แต่รัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ ซึ่งทำให้สถานภาพขององค์การระหว่างประเทศมีสูง

5.องค์การระหว่างประเทศเป็นการเพิ่มความสามารถของรัฐในการเพิ่มทรัพยากร ทรัพยากรในที่นี้จะกินความหมายกว้างทั้งบุคคล เทคโนโลยี ทุน ความรู้ความสามารถและอื่นๆ

วัตถุประสงค์ขององค์การระหว่างประเทศ จะมีต่างๆหลายหลาย เช่นเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิทธิมนุษยชน ปัจจุบันสิทธิมนุษยชนกลายเป็นประเด็นที่ถูกนำมาใช้ในการกีดกันทางการค้า การกีดกันทางการค้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการทำลายสิ่งแวดล้อม มาตรฐานสินค้าหรือ ISO

ข้อกีดกันทางการค้าเหล่านี้ถือว่าเป็นข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non Tariff Barrier)

สมาชิกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนานั้นจะเสียเปรียบประเทศพัฒนาแล้วเสมอในองค์การระหว่างประเทศ ดังนั้นการจะแสวงหาและรักษาผลประโยชน์ของชาติจะทำได้มากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถแห่งรัฐ (Capability)

ความสามารถของรัฐหรือพลังอำนาจของรัฐแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

-พลังอำนาจที่เป็นรูปธรรม เช่นที่ตั้ง ขนาด กำลังทหาร กำลังในทางเศรษฐกิจ

-พลังอำนาจของรัฐที่เป็นนามธรรม ลักษณะนิสัยประจำชาติซึ่งมีความสำคัญมาก

สรุป องค์การระหว่างประเทศในฐานะตัวแสดงมีบทบาทเป็นที่รวมของรัฐ เป็นผู้ประสานทำให้เกิดความร่วมมือ เป็นผู้แก้ไขหรือขจัดความขัดแย้ง

ในเรื่องของการมีอำนาจเหนือรัฐขององค์การระหว่างประเทศ เพราะธรรมนูญขององค์การระหว่างประเทศที่สมาชิกเข้าไปให้สัตยาบันนั้นมีศักดิ์และศรีเหนือกว่าสนธิสัญญาระหว่างประเทศโดยทั่วไป เช่น กฎบัตรสหประชาชาติย่อมมีศักดิ์และศรีเหนือกว่าสนธิสัญญาสองฝ่าย หรือสนธิสัญญาหลายฝ่ายที่ประเทศสมาชิกทำกัน และที่สำคัญธรรมนูญขององค์การระหว่างประเทศนี้ยังเหนือกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศสมาชิกด้วย

ดังนั้นการจะเข้าเป็นภาคีขององค์การระหว่างประเทศองค์การใดองค์การหนึ่งจึงต้องศึกษาให้ละเอียดว่า ในธรรมนูญขององค์การนั้นมีรายละเอียดอะไร จะส่งผลกระทบอะไรต่อการเมือง เศรษฐกิจ สังคมภายในประเทศอย่างไร เพราะถ้าเข้าไปแล้วข้อผูกมัดขององค์การระหว่างประเทศจะอยู่เหนือกฎหมายสูงสุดของประเทศสมาชิก

นอกจากนี้ต้องศึกษาความพร้อมของประเทศของเราด้วยว่ามีความพร้อมแค่ไหน จะเข้าไปโดยมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง มีเงื่อนไขใดที่จะใช้ป้องกันตัวเองได้ ในยุคหลังจากไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนรวมทั้งภาคประชาชนของไทยค่อนข้างสังวรณ์มากขึ้น รู้จักเตือนภัยให้ตนเอง เพราะวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาเกิดขึ้นเพราะไทยไม่มีสัญญาณเตือนภัย ไม่มีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาจึงต้องตั้งระบบสัญญาณเตือนภัยอันเป็นการระมัดระวังตัวมากขึ้น

นอกเหนือจากเรื่องธรรมนูญขององค์กรระหว่างประเทศแล้ว สิ่งที่ต้องระวังอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การรวมทรัพยากร ประเทศกำลังพัฒนาจะพยายามรวมตัวกันที่เรียกว่า “รวมทรัพยากร” เพื่อความสามารถในการแข่งขัน ทรัพยากรในที่นี้หมายรวมถึงกำลังคนด้วย การพัฒนาประเทศมิติใหม่ไม่คิดว่าคนเป็นปัจจัยหนึ่งในการพัฒนา แต่คิดว่าคนเป็นเป้าหมายของการพัฒนา หมายความว่าต้องใช้ทรัพยากรทั้งหมดเพื่อความสำเร็จ ความสมบูรณ์ ความสุขของคน โดยคนยังเป็นปัจจัยหนึ่งของการพัฒนา

ตลอดระยะเวลาแห่งการพัฒนาที่ผ่านมาของไทยดูแค่ตัวเลข เช่น รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น ทำให้ไปตีความกันว่าประชาชนรวยขึ้นกินดีอยู่ดีขึ้น ตัวเลขนี้เป็นการคิดตามแนวตะวันตก ซึ่งในความจริงแล้วตัวเลขซึ่งบ่งชี้ความเจริญทางเศรษฐกิจกับความสุขของคนไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แนวคิดในการพัฒนาประเทศของไทยจึงเปลี่ยนไป

การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ มี 4 กระแสคือ

1. กระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจาก การล่มสลายของอุดมการคอมมิวนิสต์

โครงสร้างอำนาจโลกเปลี่ยนจากระบบสองขั้วมาเป็นหลายขั้ว กล่าวคือ เปลี่ยนจากขั้วสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต มาเป็นสหรัฐฯกับขั้วอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน ยุโรป การเปลี่ยนนี้ก็เกิดจากการล่มสลายของอุดมการคอมมิวนิสต์และการสิ้นสุดยุคสงครามเย็นนั่นเอง

2. กระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

-การจัดระเบียบการเมืองเริ่มทุเลาเบาบางลงแต่หันมาในเรื่องของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจัดระเบียบการค้าโลกให้เป็นการค้าเสรี

การลงทุน โดยบรรษัทข้ามชาติและบรรษัททุนข้ามชาติ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญรองจากการค้า เกี่ยวข้องกับ

-เงินทุน นำมาซื้อหุ้นหรือเก็งกำไรในส่วนต่างของอัตราการแลกเปลี่ยน

-การลงทุนในกิจการ

ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนแบบใดประเทศมหาอำนาจต่างเรียกร้องให้ทำได้อย่างเสรี แต่จริง ๆ แล้วความเสรีนั้นยากจะเกิดขึ้น เพราะประเทศใหญ่ ๆ เองทำให้การค้าไม่เสรี โดยการใช้มาตรการทางภาษี (Tariff Barrier) เช่น กรณีเหล็กกล้าระหว่างสหรัฐฯกับยุโรปและญี่ปุ่น มาตรการที่ใช้มากขึ้นในปัจจุบันคือมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non Tariff Barrier) ซึ่งเป็นมาตรการที่หนักมาก เป็นนามธรรมที่มองไม่เห็น เป็นการยกขึ้นมากล่าวอ้างตามมาตรฐานของประเทศนั้น ๆ เอง เช่น ความเป็นประชาธิปไตย สหรัฐฯบอกว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ดีที่สุด ประเทศใดที่ไม่เป็นประชาธิปไตยย่อมเป็นประเทศที่ไม่ดีพอที่จะได้รับการปฏิบัติที่ดีจากสหรัฐฯ ตัวอย่างเรื่องประชาธิปไตยนี้เห็นได้ชัดในกรณีพม่า

คำว่าเสรีนี้จะมีอยู่ในเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่ถูกประเทศใหญ่บังคับทุกวิถีทางให้เปิดเสรี แต่ตัวประเทศใหญ่เองไม่เคยมีคำนี้เลย นำมาตรการทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษีมาใช้อยู่ตลอดเวลา เช่น สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม เมื่อประเทศกำลังพัฒนาผลิตอะไรได้เหมือนประเทศพัฒนาแล้ว ๆ ก็จะนำประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาอ้างแล้วห้ามผลิต ดังนั้นประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะประเทศไทยไม่ควรวิ่งตามเทคโนโลยีของฝรั่ง เพราะไม่มีวันตามทัน แต่ควรใช้เทคโนโลยีในขนาดพอสมควรที่จะสร้างงานอันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วพัฒนาเทคโนโลยีและภูมิปัญญานั้นให้เป็นประโยชน์ อันเป็นทางออกที่สำคัญของประเทศไทย เป็นที่น่ายินดีว่าตอนนี้ประเทศไทยเน้นเรื่องชุมชนมากขึ้น ให้คนเป็นศูนย์กลางเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนา การลงไปสู่ชุมชนทำให้คนจำนวนมากของประเทศได้รับการดูแลเอาใจใส่ เป็นการกระตุ้นให้ชุมชนได้มองตัวเองมากขึ้น ว่ากลุ่มตนมีความสามารถอะไร ขยันหรือไม่ โดยตัวอย่างความสำเร็จในชุมชนอื่น ๆ จะเป็นแรงจูงใจที่ดีให้เกิดการปฏิบัติตาม

-กระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอีกอันหนึ่งคือ มีการปรากฏตัวของเศรษฐกิจเกิดใหม่กลายเป็นหน่วยเศรษฐกิจหน่วยใหม่ กล่าวคือภูมิภาคต่าง ๆ พยายามที่จะรวมตัวกันเพื่อการแข่งขันมากขึ้น เช่น กลุ่มที่หลบซ่อนอยู่ในระบอบคอมมิวนิสต์ ที่แต่เดิมระบบเศรษฐกิจต้องผ่านการวางแผนจากส่วนกลาง ไม่มีอิสระในการดำเนินกิจกรรมด้วยตนเอง ได้แก่ กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก รัสเซีย เวียดนาม จีน อีกกลุ่มหนึ่งคือประเทศที่เคยมีปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจภายใน เช่น มีปัญหาชนกลุ่มน้อย ความแตกต่างทางเชื้อชาติ กลุ่มประเทศเหล่านี้เริ่มจัดการกับปัญหาภายในได้บ้างแล้ว จึงออกมาสู่โลกภายนอกร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ตัวอย่างประเทศในกลุ่มนี้ได้แก่ ศรีลังกา บังคลาเทศ ปากีสถาน พม่า กลุ่มประเทศในละตินอเมริกา และแอฟริกา กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้คือ Regional Cooperation หรือ Regional Organization

-เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจเรียกว่า Integration ส่วนความร่วมมือเรียกว่า Cooperation สองคำนี้มีระดับความเข้มข้นแตกต่างกัน ความร่วมมือนั้นเป็นระดับทั่วไป แต่ Integration อยู่ในระดับสูงขึ้น เป็นความร่วมมือที่หนักแน่นเอาจริงเอาจัง

-การปกป้องทางการค้า (Protectionism) เป็นการกีดกันสินค้าของประเทศอื่นที่จะเข้ามาในประเทศของตน เพื่อให้สินค้าตัวเดียวกันได้เจริญเติบโต เรียกว่า Infant Industry การปกป้องทางการค้านี้มีทั้งมาตรการที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี

มาตรการทางภาษี มีทั้งขึ้นภาษี กำหนดโควต้า เช่น กรณีเหล็กกล้าที่สหรัฐฯไม่ให้เหล็กกล้าเข้าประเทศ ถ้านำเข้าก็ต้องเสียภาษีสูงลิ่ว หรือการกำหนดโควต้าสิ่งทอที่สหรัฐฯลดโควต้าการส่งออกสิ่งทอของไทย เพราะช่วงเวลาเพียงไม่นานสิ่งทอสหรัฐฯถูกไทยตีตลาดย่อยยับ จึงปล่อยปละละเลยต่อไปไม่ได้ต้องใช้โควต้าควบคุม

มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะนับแต่นี้ต่อไปมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีจะก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจอีกมากมายในเวทีการค้าระหว่างประเทศ

***การปฏิรูปการค้าให้เสรีขอให้นักศึกษาจำไว้เพียงเรื่องเดียวคือ การเข้าเป็นสมาชิก WTO ของจีน สิ่งนี้บอกให้ทราบว่าจีนกำลังปรับตัวเองครั้งใหญ่ คือปรับทั้งการเมืองภายใน การเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจภายใน เศรษฐกิจระหว่างประเทศ***

-ความไร้ระเบียบในระบบการเงินโลก ระบบเบรตันวูดส์ได้สร้างไว้ดีแล้ว แต่ในทศวรรษ 1970 สหรัฐฯได้ยกเลิกระบบการแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์ที่แต่เดิมแลกเปลี่ยนเป็นทองคำได้ตลอดเวลา แต่เนื่องจากสหรัฐฯปล่อยเงินดอลลาร์ในกิจการน้ำมันมาก ประเทศตะวันออกกลางจึงนำเงินดอลลาร์มาแลกเป็นทองคำทำให้ทองคำในสหรัฐฯเกือบหมดคลัง จนต้องเลิกระบบนี้ไป

ความไร้ระเบียบทางการเงินส่งผลกระทบมาถึงไทยโดยถูกโจมตีจากกองทุนเก็งกำไรค่าเงิน ประเทศในเอเชียเริ่มเจอวิกฤต

3. กระแสการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี

เทคโนโลยีเป็นตัวแปรของความก้าวหน้าและเป็นตัวเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลง พัฒนาการของเทคโนโลยีที่สำคัญคือ

-เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในชีวิตของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาอย่างมาก ทำให้ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์มีรายได้อย่างมหาศาล

-เทคโนโลยีโทรคมนาคม

-เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ผสานกับเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม

-เทคโนโลยีชีวภาพ ความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบันต้องนึกถึง GMO ซึ่งเป็นการตัดต่อพันธุกรรมพืช ส่วนคนและสัตว์ใช้วิธีโคลนนิ่ง

GMO มีบทบาทกับการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของประเทศกำลังพัฒนาอย่างมากในปัจจุบัน

GMO มีทั้งส่วนดีและไม่ดี ส่วนดีคือสามารถขยายพันธุ์พืชได้เป็นจำนวนมากในเวลารวดเร็ว แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคหรือไม่ เช่น ถั่วเหลืองที่บริโภคในประเทศไทยเป็นถั่วเหลือง GMO แต่ก็ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างไร ส่วนเรื่องฝ้ายบีทีมีข้อดีคือแมลงไม่ทำลาย ดังนั้นการจะสรุปว่า GMO ดีหรือไม่ดีก็ต้องดูว่าสินค้านั้นนำไปทำอะไร ถ้าไม่ได้นำไปบริโภคอย่างกรณีฝ้ายบีที GMO ก็น่าจะเป็นผลดีมากกว่า

สรุปว่า ในปัจจุบันความรู้เรื่อง GMO ของประชาชนมีน้อยมาก จึงไม่ทราบว่า GMO จะส่งผลต่อผู้บริโภคอย่างไร ทำให้ยังตัดสินไม่ได้ว่าสินค้า GMO ดีหรือไม่ดีอย่างไร แม้จะมีการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่ผลการวิจัยก็ยังไม่แพร่หลาย อีกทั้งผู้วิจัยก็คือประเทศพัฒนาแล้วเพราะฉะนั้นย่อมเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ส่งผลดีต่อประเทศตน ผลการวิจัยที่ไม่ดีก็เก็บเงียบไว้ ประเทศกำลังพัฒนาจึงรับรู้ได้เฉพาะสิ่งที่บอกเล่ากันมาจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ GMO สิ่งที่ต้องให้ความสนใจคือ

1. เทคโนโลยี GMO ผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีนี้คือเจ้าของบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งเป็นบรรษัทใหญ่ในธุรกิจการเกษตรของสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองใหญ่ของสหรัฐฯจึงเป็นบรรษัทที่มีอิทธิพลมาก

สหรัฐฯต้องปกป้องผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติในทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะด้วยกฎหมายภายใน นโยบายต่างประเทศ นโยบายเศรษฐกิจภายใน นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นโยบายการเมืองการทหารระหว่างประเทศ สหรัฐฯใช้ทุกเครื่องมือที่มีปกป้องผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติ

การลงทุนจากต่างประเทศจึงไม่ใช่ของดีทั้งหมด แต่ถ้ามีความจำเป็นก็ต้องให้ต่างชาติมาลงทุนเพื่อไทยจะได้ผลพวงจากการต่อยอดอุตสาหกรรม หรือสนับสนุนขั้นตอนที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ แก่ปัญหาผลผลิตตกต่ำ ไม่ใช่ปล่อยให้บรรษัทสั่งเข้าจากต่างประเทศทุกอย่าง

2. การผูกขาด การผูกขาดนี้เป็นของที่คู่กับประเทศพัฒนาแล้ว เพราะการผูกขาดจะยืนยันถึงความได้เปรียบ หมายความว่า พืช GMO ที่สหรัฐฯคิดได้ก็ต้องจดลิขสิทธิ์เอาไว้

***ญี่ปุ่นเป็นผู้เชี่ยวชาญในการต่อยอดเทคโนโลยีของฝรั่ง ฝรั่งคิดวิทยุขนาดใหญ่โตแบบหลอดต้องวางอยู่กับที่นำไปฟังติดตัวไม่ได้ แต่ญี่ปุ่นทำวิทยุทรานซิสเตอร์ขนาดเล็กพกพาไปไหนได้สะดวก***

3. ความหลากหลายทางชีวภาพ สำคัญที่สุดและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา โดยเฉพาะห่วงโซ่อาหาร ในยุคหนึ่งไทยซื้อยาฆ่าแมลงที่มีส่วนผสมดีดีทีจากสหรัฐฯ ทำให้นกและแมลงบางชนิดสูญพันธุ์ไป เพราะเป็นการตัดห่วงโซ่อาหาร รวมทั้งผลกระทบด้านสุขภาพอนามัยจากการบริโภคพืช GMO ด้วย จึงเป็นเรื่องที่คนไทยต้องพึงสังวรไว้ให้มาก

4. กระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

เป็นเรื่องสำคัญที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เป็นผลมาจากการบริโภคของคนไทยเอง สาเหตุเนื่องมาจาก

4.1 การขยายตัวของสังคมข่าวสารและสังคมแห่งความรู้ ทำให้ต้องเจอกับการขยายตัวของการค้า การเงิน การลงทุน ดังนั้นต้องมีความสามารถในการบริหารข้อมูลข่าวสาร

4.2 การขยายตัวของลัทธิบริโภคนิยม อันมีที่มาจากลัทธิการค้าของต่างชาติที่อยากค้าขายให้ได้มากและมีกำไร จึงต้องทำให้ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาเกิดความอยากบริโภค ซึ่งลัทธิบริโภคนิยมนี้เติบโตควบคู่มากับสังคมของประเทศกำลังพัฒนา

4.3 การขยายตัวของสังคมเมือง ทำให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น

4.4 การปรับปรุงสู่มาตรฐานสากล เป็นเรื่องสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับความสามารถในการแข่งขัน เช่น การกำหนดมาตรฐาน ISO ทำให้ธุรกิจท้องถิ่นไม่สามารถสู้ได้ จึงต้องหาพันธมิตรเพื่อร่วมทุนกลายเป็นความร่วมมือในระดับต่าง ๆ

เสรีนิยมกับเสรีนิยมใหม่ (Liberalism and Neo-liberalism)

เสรีนิยม (Liberalism) คือพวกที่นิยมความเสรีของปัจเจกชน เสรีนิยมแบบเดิมเป็นความเสรีของปัจเจกชนที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพทางการเมือง

เสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) เป็นเสรีนิยมของตลาดไม่ใช่ของปัจเจกชนอีกต่อไป เมื่อเอาตลาดเป็นตัวตั้งปัจเจกชนก็ต้องหลบไป เมื่อใดก็ตามที่เสรีนิยมของปัจเจกชนไปขัดแย้งกับเสรีนิยมของตลาด เมื่อนั้นเสรีนิยมใหม่ต้องชนะเสมอ

Neo-liberalism แบ่งออกเป็น 3 ช่วง

คลื่นลูกที่ 1 เป็นยุคล่าอาณานิคมของตะวันตก

คลื่นลูกที่ 2 ยุคเมืองขึ้นได้รับเอกราช

คลื่นลูกที่ 3 ยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization)

Globalization เป็นคลื่นลูกที่ 3 ของ Neo-liberalism อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับองค์การระหว่างประเทศด้วย เพราะในยุคของ Globalization องค์การระหว่างประเทศได้รับการสร้างพลังให้แข็งแกร่ง เพื่อสามารถปฏิบัติงานตามที่ประเทศใหญ่ ๆ จัดตั้งได้ โดยเฉพาะ IMF, IBRD, WTO การเสริมสร้างพลังความแข็งแกร่งให้องค์การเหล่านี้เพื่อว่าประเทศพัฒนาแล้วจะได้ได้เปรียบในทางเศรษฐกิจ

WTO นั้นถือว่าทุกประเทศต้องมีความเท่าเทียมกันทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วไม่เท่า อาจจะมีการผ่อนผันให้บ้างในระยะแรก ๆ เท่านั้น ในที่สุดแล้วทุกประเทศที่เป็นสมาชิกต้องเท่าเทียมกัน เห็นได้ว่าแค่หลักการนี้ประเทศพัฒนาแล้วก็เอาเปรียบประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย

นอกจาการค้าแล้วยังมีการลงทุนจากต่างประเทศโดยบรรษัทข้ามชาติและบรรษัททุนที่อาศัยเงินเข้าไปหากำไรในกิจการเก็งกำไร เช่น หุ้น ส่วนต่างในอัตราแลกเปลี่ยน (ค่าเงิน) รวมทั้งการเข้าไปเกี่ยวข้องกับระเบียบแบบแผนทางเศรษฐกิจของโลก การตั้งกฎเกณฑ์ในอัตราการแลกเปลี่ยนว่าจะเป็นแบบคงที่หรือลอยตัว เงินสกุลใดบ้างที่จะใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ปัจจุบันใช้ทองคำและเงินสกุลหลัก (Key Currency) อันเป็นสกุลเงินของประเทศที่พัฒนาแล้วและเป็นที่ยอมรับ ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐฯ เงินยูโร

ปัญหาที่ยุ่งยากของไทยคือการเข้าไปเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศในองค์การระหว่างประเทศสามองค์การคือ IMF, IBRD และ WTO

แนวคิดกระแสหลักกล่าวว่า Globalization มีแนวคิดสำคัญอยู่ 4 ประการ

1. กระแสโลกาภิวัตน์จะนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่รุ่งโรจน์และยิ่งใหญ่

2. แนวตลาดเสรีคือยุทธศาสตร์โลกที่จะนำความเจริญก้าวหน้าสู่ระบบโลกและสังคมทุกแห่งหน

3. กระแสโลกาภิวัตน์ได้ก่อให้เกิดอารยธรรมโลกใหม่ที่สวยสด นั่นคือสังคมข่าวสาร สังคมแห่งความรู้

4. ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นไปโลกจะก้าวสู่ยุคแห่งความรุ่งเรืองครั้งใหม่ ยิ่งปี 2000 เป็นต้นไปอนาคตที่สดใสจะปรากฏให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น

แนวคิดกระแสหลักนี้มีชาติตะวันตกเป็นเจ้าลัทธิ และได้มอบแนวคิดนี้ให้กับชาวโลกว่าเป็นอนาคตที่สดใส ถ้า Globalization แล้วเจริญรุ่งเรืองอย่างที่กล่าวไว้จริง ๆ ก็ย่อมไม่มีประเทศใดเลยที่จะต่อต้าน

แนวคิดกระแสทวน

1. ก่อนยุคโลกาภิวัตน์มีรัฐชาติที่มีอธิปไตยสูงสุดเป็นสมบัติของตัวเอง พอถึงยุคโลกาภิวัตน์รัฐชาติจะถูกลดอำนาจลงและหมดความหมายลงไปเรื่อย ๆ คนที่มีอำนาจเหนือรัฐคือนักค้าเงิน นักลงทุนระดับโลก จะมีการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจระดับชาติมากขึ้น จะมีการสร้างสถาบันการปกครองระดับใหม่ แต่เดิมการสร้างความมั่นคงระดับโลกต้องมีองค์การแบบสหประชาชาติทำหน้าที่นี้ แต่ในปัจจุบันการสร้างสถาบันการปกครองระดับโลกกลายเป็นกลุ่ม G7+1 รวมทั้งบรรษัทลงทุนข้ามชาติ (ประเทศมหาอำนาจทางอุตสาหกรรม 7 ประเทศ+รัสเซีย) โดยมี IMF, WTO เป็นศูนย์กลาง จะมีอำนาจเหนือบรรษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง ทำให้แนวโน้มการสร้างความมั่นคงเปลี่ยนไปเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจขึ้นมาแทน

ในแอฟริกา ละตินอเมริกาจะเห็นการพังทลายของรัฐชาติได้ชัดเจน เพราะประเทศเหล่านี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

2. ตลาดเสรีเป็นเรื่องที่นำมาอ้างเพื่อส่งเสริมการค้าโลกและลดการกีดกันทางการค้า ทั้ง ๆ ที่สหรัฐฯและประเทศในยุโรป ยืนยันการค้าเสรี แต่ตนเองกลับสร้างเงื่อนไขและสร้างค่ายทางเศรษฐกิจ เช่น NAFTA, EU ซึ่งเป็นการกีดกันทางการค้าเช่นเดียวกัน

3. การเป็นสังคมข่าวสาร สังคมแห่งความรู้ โลกาภิวัตน์ได้ก่อให้เกิดระบบอารยธรรมใหม่คือสังคมข่าวสาร สังคมความรู้ ความจริงแล้วเป็นเพียงระบบสารสนเทศไร้พรมแดน เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการที่จะเข้าแสวงหาประโยชน์ของทุนใหญ่ต่างชาติ เพราะสังคมข่าวสารสังคมความรู้ไม่ใช่สังคมของชาวบ้านทั่วไปในประเทศกำลังพัฒนา แต่เป็นสังคมของผู้มีอำนาจ เพราะฉะนั้นกลุ่มทุนไร้พรมแดนที่กุมอำนาจเหนือข่าวสารโลก เช่น หนังสือพิมพ์ วารสาร ทีวี วิทยุ พวกนี้ต่างหากที่กลายเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจชี้ผิดชี้ถูกในสังคม และสามารถสร้างกระแสในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้เกิดขึ้นในสังคมนั้น

4. Globalization นำไปสู่ยุคของความรุ่งเรืองที่ยิ่งใหญ่ ต้นศตวรรษที่ 20 แม้เอเชียจะมีเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองแต่เป็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ตรงกันข้ามกับตลาดเสรี รัฐเข้าไปมีบทบาทโดยตรงในการกำหนดทิศทางทางเศรษฐกิจ สนับสนุนและแทรกแซงการลงทุนของเอกชนไม่ว่าต่างชาติหรือในประเทศ

แต่วิกฤตเศรษฐกิจเอเชียที่เกิดขึ้นใน พ.ศ.2540 ทำให้เห็นภาพของโลกาภิวัตน์และตลาดเสรีได้อย่างชัดเจน เพราะประเทศเอเชียทั้งหลายได้เข้าไปร่วมในตลาดทุน ตลาดเงิน ตลาดการค้า ทำให้ในที่สุดต้องประสบกับความพังพินาศของเศรษฐกิจที่เคยรุ่งเรืองมั่นคง แสดงว่าโลกาภิวัตน์ไม่ได้นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองจริง ๆ

สำหรับประเทศไทยนั้น วิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ.2540 ที่ถือว่าเป็นยุคของ Globalization ทำให้ IMF เข้ามาช่วยแก้วิกฤต แล้วตั้งเงื่อนไขเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ ติดตามมาด้วยทุนต่างชาติ ทั้งนี้เป็นเพราะสาเหตุใหญ่คือ

1. ผู้มีอำนาจในการตัดสินชะตากรรมของชาติและประชาชนขาดวิสัยทัศน์ ไม่สามารถมองเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดเสรีทางการเงิน เปิดตลาดการค้า เปิดหลาย ๆ อย่างพร้อมกันและเปิดค่อนข้างมาก ทั้งยังไม่มีวิธีการแก้ไข ทำให้ไทยต้องทำตามคำบัญชาของ IMF เห็นได้จากหนังสือแสดงเจตจำนงทั้ง 8 ฉบับ ถ้าดูเนื้อหาโดยรวมแล้วก็คือต้องการให้ไทยเปิดเสรีทางการค้า การเงิน และการลงทุน ซึ่งการเปิดเสรีในสามด้านนี้ ถือเป็นปัจจัยในการเข้ายึดครองเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ

2. ผู้มีอำนาจขาดจุดยืน ไม่ได้คิดถึงว่าต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์และความอยู่รอดของชาติและประชาชน แต่กลับดูแลคนกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งเป็นนักธุรกิจนายทุนใหญ่ จนต้องทุ่มเงินเป็นหมื่น ๆ ล้านเข้าช่วยเหลือ ตอนที่หุ้นตกรัฐบาลต้องทุ่มเงินลงไปถึงหมื่นกว่าล้าน

3. ผู้มีอำนาจขาดกรอบคิดที่ถูกต้องในการวิเคราะห์เหตุปัจจัยของปัญหาที่เกิดขึ้น หมายความว่าการถือประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญนั้นทุกประเทศยอมได้แม้ต้องเป็นศัตรูกัน คนไทยจึงต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ประเทศพัฒนาแล้วย่อมจะต้องรักษาผลประโยชน์ของตนไว้ ต้องดูแลตัวเองให้พ้นจากภัยพิบัติทั้งหลายให้ได้ โดยออกกฎหมายคุ้มครองสมุนไพรและภูมิปัญญาไทยให้ได้ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

4. ผู้มีอำนาจขาดทักษะ ระบบคิดค้านการบริหารจัดการ เชื่อในแนวคิดบริหารจัดการที่เป็นของฝรั่งแล้วเชื่อว่าถูกต้อง ควรคิดหาวิธีบริหารจัดการแบบของไทยบ้าง ที่สำคัญคือการแก้ปัญหาไม่ควรกระทำไปโดยอาศัยสามัญสำนึก แต่ต้องอาศัยหลักการที่ถูกต้องกับสภาพของประเทศ ไม่ใช่ใช้หลักการของฝรั่งตลอดเวลา

นักวิชาการบางคนมอง Globalization ว่าเป็นลัทธิการครองโลก หมายถึงการใช้ความเหนือกว่าของทุน เทคโนโลยี การบริหารจัดการ และอิทธิพลทางการเมืองและการทหารผ่านกลไกขององค์การระหว่างประเทศ มาบีบบังคับให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและกลยุทธ์ของความเสรี โดยต้องยอมให้ทุนข้ามชาติ บรรษัทข้ามชาติมีสิทธิเท่าเทียมกับธุรกิจของประเทศตนเอง เช่น มีสิทธิในการถือครองที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ถือครองหุ้นธนาคาร บริษัทประกันภัย หุ้นรัฐวิสาหกิจ การจดลิขสิทธิ์พันธุ์พืช การเข้ามีส่วนร่วมในงานวิจัยพันธุ์พืชพื้นเมือง ยกเลิกการสนับสนุน คุ้มครองอุตสาหกรรมภายในชาติ (Protectionism) ยกเลิกการประกันราคา ยอมให้บรรษัทส่งสินค้าเข้ามาตีตลาดได้อย่างเสรี สินค้าที่ส่งมานั้นจะรัฐบาลไทยต้องยอมว่าแม้จะเป็นอันตรายในการใช้

ภัยของ Globalization

ในการครอบโลกทางวัฒนธรรมเป็นความเลวร้ายที่เข้ามาผ่านสื่อ สื่อต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้วัฒนธรรมที่ไม่ดีของต่างชาติเข้ามาทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นการทำลายสังคมและชาติลงในที่สุด

วัฒนธรรมที่เข้ามาครอบนี้เรียกว่า “วัฒนธรรมจำแลง” สามารถเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศกำลังพัฒนาได้อย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นชีวิตครอบครัว ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญาพื้นบ้านล้วนถูกทำลายลงจนหมดสิ้น

การครองโลกด้านเศรษฐกิจ

Globalization คือการครอบโลกทางเศรษฐกิจโดยมีอาวุธสำคัญ 5 อย่างคือ

1. องค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ IMF ธนาคารโลกซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญในด้านแนวคิดในการพัฒนาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากธนาคารโลกไม่ประสบความสำเร็จในการให้ยุโรปกู้เงินเพื่อไปพัฒนาบูรณะประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทำอยู่ 10 ปีมีประเทศในยุโรปกู้ไปแค่ 500 ล้านเหรียญ ผู้ที่ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารโลกจึงต้องหายุทธศาสตร์แสวงหากำไรด้านดอกเบี้ยต่อไป จึงมาเจอประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ธนาคารโลกจึงกลายเป็นหัวหอกในการสร้างแผนพัฒนาประเทศ

แผนพัฒนาประเทศนี้จะเน้นอยู่สองอย่างคือ

-การสร้างอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนสินค้านำเข้า

-สร้างอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก

ซึ่งการจะพัฒนาอุตสาหกรรมต้องมีสาธารณูปโภคเป็นพื้นฐาน สิ่งนี้ต้องใช้เงินมหาศาลอันได้มาจากการกู้จากธนาคารโลกนั่นเอง ธนาคารโลกจึงประสบความสำเร็จหลังจากที่ยุโรปไม่สนใจเพราะเลือกแผนการมาร์แชลซึ่งให้เงินฟรี

ประเทศกำลังพัฒนาที่เพลิดเพลินกับการกู้เงินธนาคารโลก เมื่อไม่มีเงินใช้คืนธนาคารโลกจึงต้องส่ง IMF เข้าไป เพราะฉะนั้น IMF จึงมีหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือประเทศที่เป็นหนี้ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหนี้จาก IMF สถาบันการเงิน หรือหนี้จากประเทศอื่น IMF ช่วยหมด ในที่สุด IMF จึงมีแผน Structural Adjustment Program :SAP ซึ่งบีบให้ประเทศลูกหนี้เปิดเสรีทางการเงิน การค้า และวัฒนธรรม บีบให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจ เหมือน Washington Consensus

Washington Consensus อันเป็นความห่วงใยจากวอชิงตันถึงประเทศละตินอาเมริกาและนำไปใช้กับประเทศอื่น ๆ ด้วย ว่ามีหนี้สินพะรุงพะรังเลยให้นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังเขียนโปรแกรมที่เรียกว่าใบสั่งยาให้ประเทศที่ป่วยทางเศรษฐกิจทั้งหลาย มีหลักการ 10 ประการที่สำคัญคือ

-บีบให้ลดค่าเงิน

-ใช้นโยบายเงินฝืด

-ขึ้นภาษีโดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม

-ขึ้นดอกเบี้ยให้สูง ดอกเบี้ยไทยในช่วงวิกฤตสูงถึงร้อยละ 19-25 เรียกว่าดอกเบี้ยยุค IMF ซึ่งสูงมาก

-กดราคาทรัพย์สินราคาหุ้น เพื่อเข้าครอบครองและแสวงหากำไรในที่สุด

-ใช้นโยบายเปิดการค้าการลงทุนเสรี

-ใช้นโยบายบีบให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีกำไร

-บีบให้ลดบทบาทของรัฐให้เล็กลง โดยใช้ข้ออ้างว่ารัฐขาดการบริหารจัดการที่ดี ไม่มีความโปร่งใส ไม่มี Good Governance

-ต้องยกเลิกพรมแดนทางการเมืองหันมาใช้พรมแดนทางการค้าแทน พรมแดนทางการเมืองคืออาณาเขตของอธิปไตยต้องยกเลิกไปเพราะเป็นอุปสรรคต่อต้นทุนในการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต การที่รัฐลดบทบาทลงก็หมายความว่ารัฐไม่สามารถเข้าไปควบคุมการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้ เพราะพรมแดนทางการเมืองหมดไปแล้ว การตักตวงกำไรก็เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุนต่างชาติเข้ามามีอำนาจเหนือรัฐและจะควบคุมวิถีชีวิตของประชาชนในทุกระดับ

องค์การระหว่างประเทศที่สำคัญอีกองค์การหนึ่งคือ WTO มีสนธิสัญญาการค้าและการลงทุน และธรรมนูญของ WTO มาบีบบังคับประเทศสมาชิก ทำให้ต้องยอมเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

***สิ่งที่ต้องจำไว้คือ Globalization เป็นคลื่นลูกที่ 3 ของ Neo-liberalism มีลักษณะอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และที่สำคัญคือ Globalization เกี่ยวข้องโดยตรงกับ IMF, ธนาคารโลก และ WTO ในทุกขั้นตอนกระบวนการ ขอให้นักศึกษาจำไว้ให้ดี อาจารย์เน้นย้ำมาก***

ยุค Globalization อันเป็นคลื่นลูกที่ 3 ของ Neo-liberalism เป็นยุคที่องค์การระหว่างประเทศได้รับการสร้างเสริมอำนาจให้แข็งแกร่งขึ้นมา ในขณะที่บทบาทอำนาจรัฐของประเทศกำลังพัฒนาลดลง เพราะการกำหนดนโยบายการค้า การเงิน การคลัง การลงทุนของชาติไม่สามารถดำเนินไปได้ถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบขององค์การระหว่างประเทศ

Washington Consensus คือความห่วงใยที่สหรัฐอเมริกามีต่อกลุ่มประเทศละตินอเมริกาที่มีปัญหาเศรษฐกิจ จึงให้นายจอห์น วิลเลียมสัน เป็นผู้คิดแนวนโยบายที่จะช่วยเยียวยาเศรษฐกิจของประเทศละตินอเมริกา เป็นหลักการที่ IMF ยึดมั่นเหนียวแน่นในการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ ตลอดมา บางครั้งเรียกว่า “ใบสั่งยา” ใบสั่งยานี้มียา 10 ขนานเอก

1. การจัดงบประมาณประจำปีต้องไม่ให้เกินดุล เพื่อมิให้รัฐบาลต้องพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้มากขึ้น อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้เกิดเงินเฟ้อ

2. การจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณประจำปีต้องเป็นไปตามความจำเป็นอย่างแท้จริง ไม่ให้การเมือง กองทัพ หรือกลุ่มผลประโยชน์มามีอำนาจเหนือ ทั้งนี้ก็เพื่อความโปร่งใส

3. ปฏิรูปการเก็บภาษีอากร โดยเฉพาะภาษีที่ดิน ภาษีมรดก แต่ให้ลดภาษีสินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค

4. ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวโดยขึ้นอยู่กับกลไกตลาด

5. ปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินลอยตัวตามกลไกตลาด

6. ยกเลิกระบบโควต้า ระบบภาษีศุลกากรที่ใช้เพื่อการปกป้องอุตสาหกรรมภายใน อันจะเป็นผลดีเพราะอุตสาหกรรมจะได้แข่งขันกับอุตสาหกรรมภายนอกได้ ช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพ (แต่ในประเทศพัฒนาแล้วมีการใช้ Protectionism เสมอ)

7. ยกเลิกการกีดกันการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะเป็นหัวใจในการควบคุมและครอบครองเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา หมายความว่าให้สิทธิเท่าเทียมกันระหว่างทุนภายในกับทุนต่างประเทศ

ในประเด็นนี้เห็นได้ว่าทุนภายในประเทศกับทุนต่างชาตินั้นเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย ดูง่าย ๆ คือธุรกิจค้าปลีก โลตัส คาร์ฟูร์ เบ่งบานมาก ในรัฐบาลที่แล้วโลตัสขออนุญาตเปิดสาขา 18 สาขาในกรุงเทพฯ พร้อมกัน

8. โอนกิจการของรัฐและรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ รัฐวิสาหกิจขายให้ต่างชาติได้ยิ่งดี

9. ยกเลิกกฎหมายที่เป็นปฏิปักษ์กับการลงทุนของต่างชาติทุกประการ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพและการแข่งขันอย่างเสรี

10. ปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการถือครองที่ดินเพื่อเป็นหลักประกันว่า ประชาชนพื้นฐานจะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดินไม่แพ้กลุ่มทุนขนาดใหญ่

นี่คือยา 10 ขนานที่เกิดจาก Washington Consensus ที่ IMF ใช้เป็นประจำ

แนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศไทย ต้องปฏิรูปทุกอย่างแล้วจะดีเองดังนี้

1. ปฏิรูปการเมืองอันจะก่อให้เกิดความแข็งแกร่ง ก่อให้เกิดประชาธิปไตย ฝรั่งจะชอบให้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เพราะหลักแห่งประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ง่ายที่ประเทศพัฒนาแล้วจะเข้ามาแสวงหาประโยชน์ ตัวอย่าง ในการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเรื่องที่กว้างก่อให้เกิดการแทรกแซงได้ทุกขณะ เช่น การแทรกแซงของ NGO บางกลุ่มที่มีต่างชาติอยู่เบื้องหลัง

นอกจากนี้ประเทศพัฒนาแล้วยังนำประชาธิปไตยมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ซื้อของ โดยอ้างว่าประเทศนั้นยังไม่เป็นประชาธิปไตย

2. ปฏิรูปการศึกษา การที่ IMF ต้องการให้มหาวิทยาลัยก็ต้องออกนอกระบบเพราะถือว่าการศึกษาเป็นบริการอย่างหนึ่งเหมือนการค้า ที่ต้องมีการแข่งขันอย่างเข้มข้นในวันข้างหน้า ดังนั้นมหาวิทยาลัยไทยจึงต้องออกนอกระบบด้วยความระมัดระวัง แต่ต้องทำอย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นแล้วจะถูกฝรั่งตีย่อยยับในเรื่องการศึกษา เห็นได้ว่าตอนนี้ฝรั่งสอนระดับปริญญาตรี โท กันทางอินเตอร์เน็ต ต่อไปถ้าเข้ามาแข่งได้ก็คงเปิดมหาวิทยาลัยแข่งกับไทย หรือเป็นอินเตอร์ตั้งแต่ระดับอนุบาล

3. ปฏิรูปสังคม สังคมเป็นสิ่งที่เกิดมานานแล้วและฝังรากลึกยากต่อการแก้ไข แต่ฝรั่งบอกว่าไม่ต้องแก้ไขเพราะต่อไปจะกลายเป็นสังคมข่าวสาร สังคมแห่งความรู้

4. ปฏิรูปสื่อมวลชนให้เป็นสื่อที่ดีทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ

5. ปฏิรูปเศรษฐกิจโดยใช้เศรษฐกิจพอเพียง

6. ปฏิรูปกฎหมาย

ฯลฯ

วิสัยทัศน์ทางรอดของชาติ

1. ธนาคารคนจนถือว่าเป็นทางออกที่ดี

2. การขุดคอคอดกระ จะเป็นทางรอดของชาติอีกทางหนึ่ง เพราะจะสร้างรายได้มหาศาล ทำแล้วมีลูกค้าแน่ แต่ทำแล้วจะเกิดผลลบกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยากที่จะเกิด บางยุคอ้างเหตุผลทางความมั่นคงเป็นอันดับหนึ่ง บางยุคอ้างว่าไม่มีเงิน มีข่าวลือว่าเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศเพื่อนบ้านของเราที่ต้องการทำทุกวิถีทางไม่ให้มีการขุดคอคอดกระ เหมือนกับที่ทำมาแล้วเรื่องสนามบินสุวรรณภูมิ

3. เหล้าเสรี เป็นการเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจชุมชน แต่ต้องมีเงื่อนไข มีการบริหารจัดการและการควบคุมที่ดี ไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นพิษเป็นภัย เหล้าที่คุณภาพไม่ดีส่งผลร้ายต่อผู้ดื่มอย่างมาก

4. ส่งเสริมสินค้าทางปัญญา เพราะจะเป็นบ่อเกิดของการเติบโตทางเศรษฐกิจ

5. สนับสนุนการท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ การท่องเที่ยวนี้เป็นการหาเงินที่ดีมาก เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวอันเป็นวัตถุดิบอยู่แล้วเพียงแต่ดูแลดำรงรักษาตกแต่งให้ดีเท่านั้น รายได้จากการท่องเที่ยวไม่เหมือนกับรายได้จากการส่งออกสินค้าบางชนิดที่มีรายได้สองแสนล้านบาทต่อปี แต่ต้นทุนปาเข้าไปหนึ่งแสนแปดหมื่นล้านบาท เพราะวัตถุดิบเครื่องมือเครื่องจักรเทคโนโลยีต้องซื้อจากต่างประเทศทั้งหมด

การแก้ปัญหาของประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยปัญหาที่เกิดขึ้นถึงแม้จะหนัก ทำให้เสียขวัญทางเศรษฐกิจไปมาก แต่ประเทศอื่นโดยเฉพาะในละตินอเมริกายังโดนหนักกว่าไทย เช่น มีการเก็บภาษีหนักกว่าไทย ภาษีมูลค่าเพิ่มเก็บอย่างต่ำ 15% บีบบังคับให้เปิดเสรีการเงิน ควบคุมเรื่องสถาบันการเงินอย่าเข้มงวด สภาพแวดล้อมถูกทำลาย สังคมเสื่อมโทรม ในละตินอเมริกามีการก่อกบฏโดยชาวนา ในอาร์เจนติน่าเกิดสงครามกลางเมือง สถาบันสังคมถูกทำลาย เป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยในละตินอเมริกา

ประเทศไทยยังมีจุดเด่นที่สำคัญ ๆ เช่น

-เกษตรกรรม เป็นความได้เปรียบของไทย แต่ต้องปรับปรุงทำให้ดีขึ้นและต้องทำอย่างจริงจัง

-ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ยังมีอยู่มากในประเทศไทย

-ภูมิปัญญาไทยที่เกี่ยวพันกับวิถีการผลิตแบบพึ่งตนเองและวัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญาไทยเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งเพราะประเทศไทยมีภูมิปัญญาหลากหลายทุกสาขา

สามประการนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก เป็นสมบัติอันมหาศาลของไทย สภาพสังคมไทยช่วยไม่ให้เกิดปัญหาสังคมรุนแรงเหมือนอาร์เจนติน่า แต่จุดเด่นทั้งสามจะแก้ปัญหาได้ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลและผู้นำประเทศว่าจะกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชนบทได้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง โดยวางจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ให้ชุมชนชนบท เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นจะเป็นฐานของปัจจัยพื้นฐานของปัจจัย 4 โดยเฉพาะด้านอาหาร ให้กับชุมชนเมืองต่อไป

การเกษตรกรรมต้องเป็นฐานของอุตสาหกรรม และรองรับการพึ่งพิงตนเองทางเศรษฐกิจมากกว่าการแสวงหาความมั่งคั่งและเงินตรา อันเป็นแนวทางการพัฒนาแบบเดิม จึงสามารถพูดได้ว่าทางรอดของประเทศคือการกำหนดยุทธศาสตร์เศรษฐกิจบนฐานการพัฒนาชุมชนชนบทนั่นเอง ไม่มีทางอื่นที่จะดีไปกว่านี้ หากชุมชนชนบทได้รับการดูแล มีการพัฒนาไปในทางที่ถูกต้อง ปัญหาของประเทศชาติก็จะบรรเทาเบาบางลง

ยุทธศาสตร์การพัฒนาชนบท

1. สร้างวงจรทุนอันเป็นทางรอดของชุมชนและสังคมไทย เพราะการสร้างทุนในชุมชนให้มั่นคงเข้มแข็งเป็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมได้ จริง ๆ เรื่องนี้ก็ทำกันมานานแล้ว เช่น สหกรณ์ คนแรกที่เสนอแนวคิดนี้คือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เสนอในสมุดปกเหลือง แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบเท่าที่ควรเพราะผู้มีอำนาจในตอนนั้นคิดว่าเหมือนคอมมิวนิสต์จึงปฏิเสธไป ตัวอย่างอื่น ๆ เช่น ศูนย์สาธิตการตลาดและกลุ่มออมทรัพย์ของหมู่บ้าน

การสร้างวงจรทุนยังไม่สำเร็จเท่าที่ควรเพราะ

-เป็นการยัดเยียดให้ชุมชนเนื่องจากชุมชนยังไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่แท้จริง ยังไม่ได้มีความต้องการนั่นเอง ชุมชนยังไม่พร้อมและบางครั้งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และที่สำคัญคือประชาชนยังไม่มีจิตสำนึกและตระหนักในความเป็นเจ้าของ

-ปัญหาเกี่ยวกับกฎระเบียบทางการเงิน หลักการดำเนินการไม่ง่าย ทำให้ชาวบ้านเกิดความยุ่งยาก ไม่เข้าใจ บางครั้งกฎระเบียบนี้ก็ไม่เหมาะสมกับสภาพของชุมชนนั้น ๆ

-กลุ่มออมทรัพย์เป็นเพียงเครื่องมือของธนาคารในการระดมเงินออม ไม่มีสิทธิบริหารเงินออมของกลุ่มอย่างอิสระ

-ผู้นำชุมชนที่ทางการตั้งขึ้น หรือเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาดูแลมักไม่โปร่งใส มีการทุจริตอยู่เสมอ ๆ

การสร้างวงจรทุนของชุมชน

1. ทุนเงินตรา เช่น กลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารหมู่บ้าน มีความสำคัญมาก

2. ทุนธุรกิจการค้า เช่น สหกรณ์ร้านค้า ศูนย์สาธิตการตลาด กองทุนน้ำมัน กลุ่มซื้อขายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

สองอย่างนี้มีความสำคัญมาก ถ้าสำเร็จก็จะพัฒนาไปจนครบวงจรทุนของชุมชน ทำให้พ้นปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันได้

วงจรทุนอื่น ๆ ของชุมชน เช่น

-ทุนแห่งชีวิต เช่น กลุ่มเลี้ยงปลา ธนาคารข้าว กลุ่มเลี้ยงไหม ธนาคารโคกระบือ

-ทุนแรงงานฝีมือ เช่น กลุ่มจักสาน กลุ่มทอผ้า กลุ่มแกะสลัก

-ทุนสวัสดิการชีวิต เช่น กลุ่มฌาปนกิจ กองทุนยา ธนาคารชีวิต ธนาคารสุขภาพ

-ทุนรวมแรงงาน หรือกลุ่มลงแขก กลุ่มแรงงานรับจ้าง

-ทุนอุตสาหกรรมชุมชน

การพัฒนาธุรกิจชุมชนจะนำไปสู่ความคิดหรือยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมชุมชนได้ในที่สุด ถ้าทำได้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายและสร้างรากฐานต่าง ๆ ได้ทั้งหมด สุดท้ายชุมชนทั้งหลายจะกลายเป็นประเทศ ดังนั้นการพัฒนาชุมชนชนบทเป็นยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาของชาติอย่างแท้จริง

ทางออกของประเทศกำลังพัฒนา

-การกลับคืนสู่ชนบท (Localization) คือการสร้างเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง เช่น การผลิตและบริโภคสินค้าท้องถิ่น สินค้าชุมชน สินค้าภายในประเทศ

-สร้างประชาสังคมและชุมชนเล็ก สร้างหรือรักษาศิลปวัฒนธรรมของตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเสพวัฒนธรรมจำแลงจากต่างชาติ

-สร้างงานเพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานกันเอง

ทั้งนี้เพื่อปลีกตัวให้พ้นจากการครอบงำของระบบตลาดและการเงินโลก ถ้าหลีกไม่ได้ก็เข้าไปเกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด

-ออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิบัตรต่าง ๆ รวมทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ แพทย์แผนโบราณ ที่สำคัญคือทบทวนกฎหมาย 11 ฉบับ

ทางแก้ของ Globalization

-Localization ปัจจุบันได้มีความพยายามทำกันอยู่

-Regionalization การรวมพลังของภูมิภาคหรือของประเทศกำลังพัฒนา เพื่อสร้างพลังและตลาดอันยิ่งใหญ่ ผลิตกันเองบริโภคกันเองเหมือน Localization แต่เป็นการทำในระดับต่างประเทศ ซึ่งกำลังทำอยู่เช่นเดียวกัน

ถ้ามองเอเชียในส่วนรวม Regionalization ก็สามารถเป็น Localization ได้โดยเป็น Localization ของเอเชีย ซึ่งคำว่า Localization สามารถใช้ได้ในทุกระดับตั้งแต่ตำบลไปจนถึงระหว่างประเทศ

 

Hosted by www.Geocities.ws

1