สรุป

คำบรรยายวิชา PS 714 การเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

International Relation in South East Asia

รศ.สุรพันธ์ ทับสุวรรณ

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia)

ปัจจุบันประเทศที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี 11 ประเทศ โดยประเทศล่าสุดที่เป็นสมาชิกของภูมิภาคนี้คือสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ตะวันออก ซึ่งสถาปนาประเทศเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 ที่ผ่านมา

ติมอร์ตะวันออกเดิมถูกผนวกเป็นจังหวัดที่ 27 ของอินโดนีเซีย หลังจากติมอร์ได้รับเอกราชจากโปรตุเกส แต่ชาวติมอร์ได้ต่อสู้เรียกร้องเอกราชเป็นเวลานานจนกระทั่งมีการลงประชามติเมื่อ 30 สิงหาคม 2542 ให้ติมอร์แยกตัวเป็นเอกราชจากอินโดนีเซีย และกลายเป็นประเทศที่ 11 ของภูมิภาคนี้

สหประชาชาติซึ่งเป็นองค์กรที่เข้าไปดูแลติมอร์ตะวันออกตั้งแต่การลงประชามติ การจัดกองกำลังเพื่อฟื้นฟูพัฒนาติมอร์ตะวันออก จนกระทั่งจัดการเลือกตั้ง เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญให้ติมอร์ตะวันออกและกำหนดรูปแบบการปกครองของติมอร์ให้เป็นแบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา (Semi President and Semi Parliamentary System) โดยผู้นำคนแรกของติมอร์ตะวันออกคือประธานาธิบดีซานนานา กูสเมาว์ (ผู้นำในการเรียกร้องเอกราช) เวลานี้ประธานาธิบดีกูดเมาว์กำลังเดินทางเยือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญของติมอร์ได้กำหนดให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน

รัฐสภาของติมอร์มีสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกรัฐสภามีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปี

ปัจจุบันประเทศติมอร์ตะวันออกมีประชากร 7 แสนกว่าคน ยังเป็นประเทศยากจน และในเดือนกันยายนปีนี้ติมอร์ตะวันออกก็จะสมัครเป็นสมาชิกรายล่าสุดของ UN คือสมาชิกลำดับที่ 192 (สมาชิกล่าสุดคือสวิสเซอร์แลนด์ซึ่งเพิ่งผ่านการลงมติจากประชาชนให้เป็นสมาชิก UNได้ หลังจากในอดีตสวิสเซอร์แลนด์มองว่าการเข้าเป็นสมาชิก UN จะทำให้สูญเสียความเป็นกลาง)

ในอนาคตคาดว่าติมอร์ตะวันออกจะเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน ซึ่งจะทำให้

อาเซียนขยายสมาชิกเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีสมาชิก 10 ประเทศ หรือเรียกว่า ASEAN Ten

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ต่อตั้งเมื่อ 8 สิงหาคม 1967 ปัจจุบันมีอายุครบ 35 ปี ในช่วงที่มีอายุครบ 30 ปี ได้ขยายสมาชิกจาก 6 ประเทศเป็น 10 ประเทศ และหากติมอร์ตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนจะเป็นองค์การที่มีสมาชิกครอบคลุมทั้งภูมิภาค

อาเซียนจะเป็นองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งด้าน เศรษฐกิจ

วัฒนธรรม สังคม และการเมือง โดยไม่เกี่ยวข้องกับด้านการทหาร

เดิมสมาคมอาเซียนนั้นจัดตั้งในนามอาสา โดยมี 3 ประเทศก่อตั้งคือไทย มาลายา (มาเลเซีย) และฟิลิปปินส์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก จนกระทั่งอินโดนีเซียและสิงคโปร์เข้ามาร่วมทำให้ตั้งเป็นอาเซียน

ภูมิภาคเอเชียในปัจจุบันจึงประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย

บรูไน พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม และติมอร์ตะวันออก

สำหรับสิงคโปร์นั้นเป็นประเทศที่แยกตัวออกมาจากมาเลเซีย เนื่องจากมาเลเซียดำเนินนโยบายภูมิบุตรา ซึ่งเป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับคนเชื้อสายมาเลย์มากกว่าคนเชื้อสายจีนและอินเดียที่มีอยู่จำนวนมากในมาเลเซีย ทำให้คนจีนส่วนใหญ่ไม่พอใจทำให้ต้องการแยกตัวมาตั้งประเทศใหม่ โดยมีผู้นำคนสำคัญคือลีกวนยู ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของสิงคโปร์

การเปลี่ยนแปลงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดขึ้น

เมื่อชาติตะวันตกได้ยึดเอาดินแดนส่วนใหญ่ของภูมิภาคนี้เป็นอาณานิคมในกลางศตวรรษที่ 19 ( ประมาณ ค.ศ.1850) กล่าวคือ

1.เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจจากระบบเกษตรกรรมที่มีการผลิตเพื่อเลี้ยงตนเอง มาเป็นการผลิตเพื่อการค้าขายและการส่งออก

2.เปลี่ยนระบบค่านิยมของคน เดิมคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเดิมจะค่านิยมในการยึดถือความสัมพันธ์แบบเจ้านายกับลูกน้องหรือความสัมพันธ์ในแบบอุปถัมภ์ (Patron-Client Relationship) ที่เน้นการช่วยเหลือดูแล และเป็นความสัมพันธ์โดยยึดถือจิตใจ มาเป็นความสัมพันธ์ตามสัญญาหรือความสัมพันธ์ที่เป็นทางการ (Contractual Relationship)

3.เปลี่ยนจากระบบการยึดตัวบุคคลมาเป็นการยึดหลักกฎหมาย ยึดความเป็นระบบ

การเปลี่ยนแปลงตรงนี้ทำให้ประเทศอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ หรือสนธิสัญญาต่างๆ

อย่างไรก็ตามค่านิยมแบบอุปถัมภ์และการยึดถือในตัวบุคคลยังเป็นสิ่งที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน

4.เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับรัฐและอำนาจรัฐ กล่าวคือเดิมประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้จะไม่มีอาณาเขตดินแดนหรือรัฐที่แน่นอน แต่จะเป็นอาณาจักรต่างๆเมื่อตะวันตกเข้ามาก็นำเอาแนวคิดเรื่องรัฐ รัฐบาล อำนาจอธิปไตย เรื่องความเป็นพลเมือง เรื่องสัญชาติเข้ามาเผยแพร่

แนวคิดเรื่องรัฐทำให้มีการแบ่งอาณาเขตของประเทศ เกิดเป็นประเทศต่างๆอย่างปัจจุบัน เช่นลาวเดิมนั้นอาจจะรวมอยู่ในอาณาจักรของไทยแต่ฝรั่งเศสมาจัดทำแผนที่และให้ไทยกับลาวแยกออกจากกันโดยมีแม่น้ำโขงเป็นแนวเขต

แนวคิดในเรื่องรัฐ การเป็นพลเมือง ทำให้เกิดปัญหาความกระทบกระทั่งระหว่างประเทศในปัจจุบัน เช่นความขัดแย้งในเรื่องพรมแดนระหว่างประเทศไทยและเพื่อนบ้าน รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มต่างๆที่ถูกรวมเข้ากันเป็นประเทศ

แนวความคิดเหล่านี้ประเทศตะวันตกเข้ามาบังคับให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องดำเนินการ

5.ประเทศเจ้าอาณานิคมได้นิยมได้นำเอาแนวความคิดทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การแพทย์ หรือรวมเรียกว่าวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาเผยแพร่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านวัตถุ เช่นการตัดถนน การทำเขื่อน

ประเด็นนี้สามารถมองได้ทั้งในแง่ของการมาเอาประโยชน์จากประเทศอาณานิคม ในบางมุมก็มองได้ว่าประเทศตะวันตกมาเอาประโยชน์จากประเทศอาณานิคม เช่นตัดถนนเพื่อทำให้เขาสามารถส่งวัตถุดิบหรือทรัพยากรออกไปประเทศตนเองได้มากขึ้น เพราะในดินแดนที่ไม่ค่อยจะมีทรัพยากรธรรมชาติก็ไม่ได้รับความสนใจมากนัก

ประเด็นนี้จึงเป็นคำถามว่าฝรั่งนั้นเข้ามา Give หรือเข้ามา Take กันแน่

6.เกิดความคิดเกี่ยวกับลัทธิชาตินิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ตกเป็นอาณานิคม

ทั้งนี้ มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

บรูไนนั้นถือว่าอยู่ในสถานะรัฐอารักขาไม่ใช่เป็นอาณานิคม เพราะสุลต่านของ บรูไนเชิญอังกฤษให้ช่วยคุ้มครอง เพราะเวลานั้นมีความขัดแย้งระหว่างสุลต่านของบรูไนกับสุลต่านของมาลายา

เดิมมาลายานั้นจะมีหลายรัฐแต่ละรัฐจะมีสุลต่านเป็นของตนเอง แต่เมื่อรวมกันเข้าเป็นมาลายา และเป็นมาเลเซียในเวลาต่อมาก็มีการรวมเอารัฐต่างๆมาเป็นลักษณะสมาพันธรัฐ หรือรัฐรวม

ปัจจุบันมาเลเซียมี 13 รัฐ แต่มีเพียง 9 รัฐที่มีสุลต่านเป็นประมุข ที่เหลือจะมีผู้ว่าการรัฐ (สุลต่านของรัฐต่างๆจะผลัดกันเป็นประมุขของประเทศ)

แนวคิดในเรื่องรูปแบบของรัฐก็เป็นแนวคิดของฝรั่งเช่นเดียวกัน ถ้าเป็นรัฐรวมหมายถึงหมายถึงแต่ละรัฐจะมีอำนาจในการบริหารภายในรัฐของตนเอง ส่วนรัฐบาลกลางจะมีอำนาจบางอย่างเช่นเรื่องของการเงิน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ส่วนรัฐเดี่ยวก็จะมีรัฐบาลจะมีอำนาจในการปกครองทั้งประเทศ กฎหมายต่างๆออกมาแล้วจะใช้บังคับทั่วประเทศ ในเรื่องการกระจายอำนาจจะไม่มีลักษณะของรัฐบาลท้องถิ่น หรือท้องถิ่นไม่มีความเป็นอิสระ

ส่วนอินโดนีเซียนั้นตกเป็นเมืองขึ้นของเนเธอร์แลนด์ และรวมเอาเมืองตามหมู่เกาะต่างๆมาเป็นประเทศอินโดนีเซียทำให้เวลานี้อินโดนีเซียยังมีความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติสูง มีความพยายามในการแยกตัวของหลายเกาะ

สำหรับฟิลิปปินส์นั้นถูกยึดครองโดยสเปนประมาณ 300 กว่าปี ก่อนจะถูกส่งมอบให้เป็นอาณานิคมของอเมริกา

ส่วน 3 ประเทศในอินโดจีนคือ ลาว กัมพูชา และเวียดนามถูกยึดครองโดยฝรั่งเศส

ประเทศต่างๆที่ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศตะวันตกเหล่านี้ได้เกิดลัทธิชาตินิยมและขบวนการชาตินิยมเพื่อต่อต้านเจ้าอาณานิคม ยกเว้นในบรูไนและมาเลเซียเท่านั้นที่ขบวนการชาตินิยมไม่ค่อยจะรุนแรงมากนัก เนื่องจากการยึดครองของอังกฤษเป็นไปในลักษณะการเชื้อเชิญให้เข้าไปดูแล

ขบวนการชาตินิยมที่เข้มแข็งและผ่านการต่อสู้เพื่อเอกราชที่รุนแรงมากก็คือเวียดนามที่มีผู้นำอย่างโฮจิมินส์ ที่ต้องการปลดปล่อยตนเองจากฝรั่งเศส โดยได้ประกาศนโยบายมหาอำนาจอินโดจีน

สำหรับประเทศไทยถือว่ามีแนวคิดในเรื่องชาตินิยมน้อยที่สุด เนื่องจากเราไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้น แต่ลักษณะชาตินิยมของเราเกิดในสมัยจอมพลป. แต่ไม่ใช่ชาตินิยมที่ต่อต้านฝรั่ง แต่เป็นการต่อต้านชาวจีนและเพื่อนบ้านมากกว่า

รูปแบบการเมืองการปกครองของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อฝรั่งเข้ามายึดครองประเทศในภูมิภาคนี้ก็ได้ขายแนวความคิดเกี่ยวกับรูปแบบการเมืองการปกครองให้กับประเทศต่างๆ ปัจจุบันรูปแบบการปกครองของประเทศในภูมิภาคนี้มี 2 แบบคือ แบบประชาธิปไตยและแบบสังคมนิยม

ประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะแบ่งออกเป็น 2 ระบบคือระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดี

ประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามี 4 ประเทศคือ

1.ไทย รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของประเทศไทยคือรัฐธรรมนูญ ปี 1997 (2540)

2.สิงคโปร์ รัฐธรรมนูญปัจจุบันของสิงคโปร์คือฉบับปี 1965

3.มาเลเซีย รัฐธรรมนูญปัจจุบันคือฉบับปี 1957

4.กัมพูชา รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นฉบับปี 1993

ประเทศที่ปกครองในระบบประธานาธิบดี ประกอบด้วย

1.อินโดนีเซีย รัฐธรรมนูญ 1945

2.ฟิลิปปินส์ รัฐธรรมนูญ 1987

ประเทศที่ปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ หรือระบอบเผด็จการอำนาจนิยม (Dictatorship/Authoritarian) คือเวียดนาม (รัฐธรรมนูญ 1980 แก้ไข 1992) และลาว

ประเทศที่ปกครองในระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์ หรือ Absolute Monarchy (ระบบกษัตริย์) คือประเทศบรูไน โดยสุลต่านของบรูไนจะเป็นประมุขของประเทศ (Head of State) และประมุขทางการบริหาร หรือหัวหน้ารัฐบาล (Head of Government) และดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกหลายตำแหน่ง

เช่นประเทศไทยจะมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็น Head of State ซึ่งมีบทบาทเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ แต่ไม่มีบทบาททางการเมืองและการ

บริหาร

ปัจจุบันประเทศที่ปกครองโดยระบบกษัตริย์มีเหลือไม่กี่ประเทศ สำหรับบรูไนนั้นจะไม่มีการเลือกตั้ง แม้ว่าจะมีพรรคการเมืองที่รัฐบาลอนุญาติมให้มีการจัดตั้งได้แต่ไม่ได้มีบทบาทแบบพรรคการเมืองในประเทศอื่นๆ

ส่วนประแด็นคำถามว่าคนบรูไนต้องการเรียกร้องสิทธิในทางการเมืองหรือไม่นั้น พบว่าประชาชนไม่มีความสนใจมากนัก เนื่องจากองค์สุลต่านบริหารประเทศโดยประชาชนอยู่อย่างมีความสุข มีระบบสวัสดิการที่เข้มแข็ง ประชาชนไม่ต้องเสียภาษีและทุกอย่างรัฐบาลบริการฟรีหมดไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การรักษาพยาบาล ปัญหาทางการเมืองจึงยังไม่เกิดขึ้น

ส่วนพม่าเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบเผด็จการทหาร โดยรัฐบาลของพม่าคือรัฐบาลที่ชื่อว่าสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือ SPDC โดยมีพลเอกตันฉ่วยเป็นผู้นำรัฐบาล

การเมืองการปกครองของมาเลเซีย

มาเลเซียมีรูปแบบของรัฐ (Form of State) เป็นรัฐรวม โดยรัฐธรรมนูญของมาเลเซียนั้นอังกฤษเป็นผู้ช่วยเหลือในการร่าง และทำให้มาเลเซียมีระบบรัฐสภาที่เข้มแข็งมากจนกระทั่งได้รับการยอมรับว่าเป็นตู้โชว์ของระบบรัฐสภาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับมาเลเซียนั้นมีระบบพรรคการเมืองที่เรียกว่าระบบพรรคเด่นพรรคเดียว นั่นคือพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (National Front Party) จะเป็นพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งทุกครั้ง

พรรคแนวร่วมแห่งชาตินั้นจะเป็นการรวมพรรคการเมือง ถึง 14 พรรคด้วยกันโดยมีพรรคอัมโนเป็นแกนนำ และมีข้อตกลงว่าถ้าพรรคแนวร่วมแห่งชาติได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งจะต้องให้หัวหน้าพรรคอัมโนเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาหัวหน้าพรรคอัมโนจึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเรื่อยมา เนื่องจากพรรคแนวร่วมแห่งชาติได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งมาตลอดตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อ 31 สิงหาคม 1957

ทั้งนี้พรรคอัมโนนั้นเดิมเป็นขบวนการอัมโนที่ต่อสู่เพื่อเรียกร้องเอกราชการจากอังกฤษ ก่อนจะพัฒนามาเป็นพรรคการเมือง และนายรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียคือตวนกู อับดุล รามาน (มีแม่เป็นคนไทย เรียนหนังสือที่

เทพศิรินทร์) ส่วนมหาเธร์นั้นดำรงตำแหน่งมายาวนานถึง 24 ปี

ล่าสุดนายกรัฐมนตรี มหาธีร์ โมฮัมหมัด ประกาศจากลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่ง โดยจะให้นายอับดุลลา บาดาวีรองนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นทายาททางการเมืองของมหาธีร์สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

สำหรับประมุขของประเทศมาเลเซียนั้นคือสมเด็จพระราชาธิบดี หรือเรียกว่ายังดีเปอตวนอากง โดยตำแหน่งนี้จะมาจากการเลือกตั้งขององค์สุลต่านจากรัฐทั้ง 9 รัฐ โดยทุกๆ 5 ปี จะมีการเลือกให้สุลต่านจากรัฐใดๆรัฐหนึ่งขึ้นมาเป็นยังดีเปอตวนอากง

รัฐสภาของมาเลเซียจะมี 2 สภาคือสภาผู้แทนราษฎร มี 139 คนมาจากการเลือกตั้งในระบบการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี ส่วนวุฒิสภา มี 69 คน มาจากการแต่งตั้งรัฐละ 2 คนและที่เหลือจะมาจากการแต่งตั้งจากผู้ทรงวุฒวุฒิ ดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในมาเลเซียจะต้องมีอายุ 21 ปี และผู้รับสมัครเลือกตั้งต้องมีอายุ 25 ปีขึ้นไป

ส่วนฝ่ายบริหารจะมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ

การเมืองการปกครองของราชอาณาจักรกัมพูชา

รัฐธรรมนูญของกัมพูชาปี 1993 กำหนดให้กัมพูชามีรูปแบบรัฐเป็นรัฐเดี่ยว มีรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อันเป็นไปตามการตกลงของเขมร 3 ฝ่ายตามสนธิสัญญาเจนีวา 1954

เขมร 3 ฝ่ายประกอบด้วยฝ่ายของสีหนุ ฝ่ายของเฮงสัมริน และเขมรแดง ซึ่งมีความขัดแย้งและเกิดการสู้รบกันเป็นระยะเวลายาวนาน จนสหประชาชาติต้องเข้ามาไกล่เกลี่ยและจัดการเลือกตั้งในกัมพูชา

รัฐบาลไทยเองก็มีบทบาทอย่างยิ่งในการเจรจาระหว่างทั้ง 3 ฝ่ายด้วยการประกาศนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า

รัฐธรรมนูญของกัมพูชาฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญในลักษณะประนีประนอมเช่นกำหนดให้มีนายกรัฐมนตรี 2 คน มีรัฐมนตรีของแต่ละกระทรวง 2 คน ทำให้หลังการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากมีสนธิสัญญากัมพูชาจึงมีนายกรัฐมนตรี 2 คน คือเจ้านโรดม รณฤทธิ์และสมเด็จฮุนเซ็น

อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 รัฐบาลของกัมพูชามีนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวคือสมเด็จฮุนเซน เพราะพรรคประชาชนกัมพูชาของฮุนเซนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง โดยมีเจ้ารณฤทธิ์เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่เจียซิง ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาชนดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ส่วนเจ้านโรดม สีหนุเป็นประมุขของประเทศ

รัฐสภาของเขมรมี 2 สภาคือสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 122 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบบบัญชีรายชื่อ (Party List) ส่วนวุฒิสภามีจำนวน 61 คนแต่งตั้งจากตัวแทนของพรรคการเมืองเป็นไปตามสัดส่วน

ประมุขของกัมพูชาคือพระมหากษัตริย์ โดยเจ้านโรดม สีหนุ

การเมืองการปกครองของสิงคโปร์

รัฐธรรมนูญ ปี 1965 กำหนดให้สิงคโปร์มีการปกครองในระบบรัฐสภา มีรูปแบบรัฐเป็นรัฐเดียว ตั้งแต่มีการแยกตัวออกจากมาเลเซียตั้งปี 1965 สำหรับประมุขของประเทศคือประธานาธิบดีมาจากการการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนดำรงตำแหน่ง 6 ปี

ปกตินั้นในระบบรัฐสภาหากมีประธานาธิบดีเป็นประมุขนั้นจะไม่ได้มาจาการเลือกตั้ง แต่สำหรับสิงคโปร์นั้นเพิ่งจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประมุขของประเทศมาจากการเลือกตั้ง จากเดิมจะมาจากการแต่งตั้งของรัฐสภา ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ เอส อาร์ นาธาน

สิงคโปร์มีสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฏร มีจำนวน ส.ส.จำนวน 84 คนมาจากการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว 9 คน แบบแบ่งเขตเรียงเบอร์

เขตละ 3-6 คนจำนวน 75 คน ส.ส.ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี

ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุ 21 ปี ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีอายุ 25 ปีขึ้นไป

สำหรับฝ่ายบริหารนั้นมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่ในการบริหารประเทศนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของสิงคโปร์คือนายโก๊ะ จ๊ก ตง ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ที่สืบทอดตำแหน่งจากนายลี กวน ยู

พรรคการเมืองของสิงคโปร์ที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งมาตลอดในสิงคโปร์คือพรรค People Action Party (PAP) หรือพรรคกิจประชาชน ทำให้ระบบพรรคการเมืองในสิงคโปร์เป็นระบบพรรคเด่นพรรคเดียว โดยพรรคฝ่ายค้านในสิงคโปร์แทบไม่มีบทบาทในทางการเมืองเลย และบางครั้งพรรคฝ่ายค้านไม่ได้รับการเลือกตั้งแม้คนเดียว จนกระทั่งต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีที่นั่งของฝ่ายค้านในสภาบ้าง

การเมืองการปกครองขอราชอาณาจักรไทย

ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว รัฐธรรมนูญปี 1997 กำหนดให้ประเทศไทยมีระบบการปกครองแบบรัฐสภา มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

รัฐสภาของไทยมี 2 สภาคือสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนจำนวน 500 คน 400 คนมาจากการเลือกตั้งระบบเขตเดียวเบอร์เดียว และอีก 100 คนเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ และวุฒิสภาสมาชิกมาจากการเลือกตั้งของประชาชนใช้ระบบเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

สมาชิกสภาผู้แทนดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี ส่วน ส.ว.ดำรงตำแหน่งวาระละ 6 ปี

สำหรับผู้สิทธิเลือกตั้งคือคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปส่วนผู้มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้งนั้นต้องมีอายุ 25 ปีขึ้นไป

การเมืองการปกครองของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์

ฟิลิปปินส์ได้รับเอกราชจากอเมริกาในวันที่ 4 กรกฎาคม 1946 (วันชาติอเมริกา) หลังจากตกเป็นเมืองขึ้นของสเปน 300 ปีและเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอีก 65 ปี ทำให้ฟิลิปปินส์ได้รับการถ่ายทอดการปกครองในระบบประธานาธิบดีจากอเมริกาและมีการเมืองที่เข้มแข็งและได้รับฉายาว่าเป็นตู้โชว์ของระบบประธานาธิบดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (แต่ในสมัยของมาร์กอสสมญานามนี้ก็ถูกกระทบกระเทือนเพราะมาร์กอสใช้แนวคิดแบบเผด็จการเข้ามาปกครองประเทศ)

ปัจจุบันรัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์คือรัฐธรรมนูญ ปี 1987 (11 กุมภาพันธ์)

ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์จะทำหน้าที่ทั้งหัวหน้าฝ่ายบริหารและประมุขของประเทศดำรงตำแหน่งวาระละ 6 ปีและเป็นได้เพียงสมัยเดียวเท่านั้น ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือประธานาธิบดี กลอเรีย มาเกาปาเกา อาโรโย่ เป็นลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีมาเกาปาเกา

รัฐสภาของฟิลิปปินส์ มี 2 สภาคือสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวนไม่เกิน 250 คน มาจากการเลือกตั้งตามระบบบัญชีรายชื่อดำรงตำแหน่งวาระละ 3 ปีและดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 3 สมัย

ส่วนส.ว. มี 24 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนและดำรงตำแหน่งวาระละ 6 ปี

ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป

การเมืองการปกครองของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียได้รับเอกราชจากเนเธอร์แลนด์เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 1949 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือฉบับปี 1945 รูปแบของประเทศเป็นรัฐเดี่ยว

อินโดนีเซียใช้ระบบประธานาธิบดี แต่ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งของสภาสมัชชาที่ปรึกษาสูงสุด หรือสภา MPR ซึ่งมีสมาชิก 695 คนที่มาจากการเลือกตั้งประชาชน ประธานิบดีของอินโดนีเซียจึงมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมต่างจากประเทศที่มีการปกครองในระบบประธาธิบดีอื่นๆ โดยประธานาธิบดีของอินโดนีเซียจะเป็นทั้งประมุขของฝ่ายบริหารและประมุขของประเทศด้วย และวาระในการดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี คนปัจจุบันคือนางเมกาวาตี ซูการ์โน บุตรี ลูกสาวของบิดาแห่งอินโดนีเซียคือประธานาธิบดีซูการ์โน

รัฐสภาของอินโดนีเซียนั้นมีเพียงสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฎรที่เรียกว่าสภา DPR มีสมาชิกจำนวน 500 คน โดย 462 มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบบบัญชีรายชื่ออีก 38 คนมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี โดยจะแต่งตั้งทหารเข้ามาเป็นสมาชิ

สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะมีอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไป นับว่าเป็นประเทศที่มีการขยายสิทธิในการเลือกตั้งค่อนข้างจะกว้างขวาง

การเมืองการปกครองของสหภาพพม่า

พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 4 มกราคม 1948 มีรูปแบบรัฐเป็นรัฐเดี่ยว ใช้กฎอัยการศึกในการปกครองประเทศในระบอบเผด็จการทหาร

ในช่วงที่เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษผู้นำในการเรียกร้องเอกราชเวลานั้นคือนายพลอองซาน (บิดาของอองซาน ซูจี) ได้ทำการตกลงกับชนกลุ่มน้อยต่างๆว่าจะเปิดโอกาสให้ชนกลุ่มน้อยเข้ามาร่วมปกครองประเทศโดยทำสัญญาที่เรียกว่าสัญญาปางหลวง แต่นายพลอองซานถูกยิงเสียชีวิต รัฐบาลพม่าที่เข้ามาปกครองก็เบี้ยวสัญญาทำให้พม่ามีความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยมาจนถึงปัจจุบัน

เวลานี้มีการเรียกร้องให้มีการประชุม 3 ฝ่ายเพื่อแก้ปัญหานี้คือชนกลุ่มน้อย รัฐบาลทหารพม่า และฝ่ายของนางอองซานซูจี

ปัจจุบันรัฐบาลพม่าเรียกกันในนามสภาเพื่อสันติภาพและการฟื้นฟู หรือ SPDC จากเดิมที่เรียกว่า SLORC ซึ่งเป็นรัฐบาลทหารพม่าที่เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของนายพลเนวินเมื่อวันที่ 18 กันยายน 1988

ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นเจ้าภาพประชุม ACD (Asia Cooperation Dialogue) ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่มองว่ากลุ่มประเทศในเอเชียด้วยกันเองยังมีการเรียนรู้และความเข้าใจระหว่างกันไม่มากนัก ทั้ง ๆ ที่ประเทศแถบเอเชียนั้นจะมีศักยภาพมากถ้าร่วมมือกันได้ พลเมืองของเอเชียประมาณ 3,000 ล้านคนซึ่งเท่ากับครึ่งโลก (ประชากรโลกประมาณ 6,000 ล้านคน) ในขณะที่ประเทศที่เป็นผู้นำโลกตอนนี้อย่างสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปยังมีประชากรไม่มากเท่านี้ ดังนั้นประเทศในเอเชียจึงควรร่วมมือกันเพื่อพัฒนาศักยภาพและเพิ่มพลังการต่อรอง ในปีหน้าจะมีการประชุม ACD อีกครั้งที่จังหวัดเชียงราย

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนี้มี 11 ประเทศ ประเทศใหม่ล่าสุดคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ตะวันออก (Democratic Republic of East Timor) สำหรับความเป็นมาของประวัติการเมืองการปกครอง การจัดโครงสร้างทางการเมืองการปกครองของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องย้อนกลับไปถึงประมาณ ค.ศ. 1850 ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่กันอย่างเป็นธรรมชาติ มีอารยธรรมที่รุ่งเรืองโดยได้รับอิทธิพลมาจากจีนและอินเดีย การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดเมื่อมหาอำนาจตะวันตกเข้ามาล่าอาณานิคม (Colonialism)ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น

-เปลี่ยนแปลงแนวความคิดเกี่ยวกับการเป็นรัฐ (State) กล่าวคือ รัฐต้องมีประชากร ดินแดนที่เป็นอาณาเขตแน่นอน มีตัวบทกฎหมาย มีรัฐบาล มีอำนาจอธิปไตย

-เกิดแนวคิดเรื่องชาตินิยมทำให้มีประเทศใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกประเทศยกเว้นประเทศไทยต้องตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก สำหรับประเทศไทยที่รอดพ้นมาได้นั้นเพราะพระมหากษัตริย์ทรงเข้าใจสภาพการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกจึงวางนโยบายต่างประเทศที่เหมาะสม พัฒนาปฏิรูปประเทศอย่างทันท่วงที ทำให้ฝรั่งไม่สามารถอ้างได้ว่าจะมาช่วยสร้างอารยธรรมให้กับคนไทย

รูปแบบการปกครองของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วย

-ประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา 4 ประเทศ

-ประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี 2 ประเทศ

-ประชาธิปไตยกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี 1 ประเทศ คือติมอร์ตะวันออก มีประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งคือนายซานานา กุสเมา

-เผด็จการสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ 2 ประเทศ คือลาวและเวียดนาม

-เผด็จการทหาร 1 ประเทศ

-สมบูรณาญาสิทธิราชย์ 1 ประเทศ

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

  1. รูปแบบของประเทศ รัฐเดี่ยว

2. รัฐธรรมนูญ ค.ศ.1991 กำหนดการปกครองในระบอบเผด็จการหรืออำนาจนิยมคอมมิวนิสต์ โดยมีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 99 คน เมื่อร่างเสร็จสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญก็เปลี่ยนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปัจจุบันมีจำนวน 109 คน

ประเทศลาวเดิมเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสโดยได้รับเอกราชตามสนธิสัญญาเจนีวา ค.ศ.1954

3. ประมุขของรัฐ ประธานประเทศเป็นประมุขของรัฐเทียบได้กับประธานาธิบดี ประธานประเทศคนปัจจุบันคือพลเอกคำไต สีพันดอน ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ที่ชื่อว่าพรรคปฏิวัติประชาชนลาวด้วย (นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือบุญยัง วรจิตร)

4. ที่มาของรัฐบาล โดยการแต่งตั้งจากพรรคคอมมิวนิสต์และผ่านความเห็นชอบจากสมัชชาแห่งชาติ

5. ฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐสภาประกอบด้วยสภาเดียวคือสมัชชาแห่งชาติจำนวน 109 คน

-ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

-ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องผ่านการกลั่นกรองและเห็นชอบในตัวบุคคลจากพรรคคอมมิวนิสต์ หมายความว่าผู้สมัครต้องเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ หากต้องการสมัครอิสระต้องผ่านการเห็นชอบจากพรรคคอมมิวนิสต์ก่อน

เห็นได้ว่าระบบการเลือกตั้งในประเทศคอมมิวนิสต์นั้นไม่ได้เป็นการเลือกรัฐบาล แต่เลือกเพื่อสนับสนุนหรือสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลว่ามีผู้แทนประชาชนให้ความเห็นชอบ การตั้งรัฐบาล ประธานประเทศ หรือนายกรัฐมนตรีต้องเริ่มต้นจากพรรคคอมมิวนิสต์ประชุมกำหนดตัวบุคคล แล้วนำเสนอสมัชชาแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบ

6. วาระ ประธานประเทศมีวาระ 5 ปี

7. ฝ่ายบริหาร ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

8. ฝ่ายตุลาการ เป็นไปตามระบบราชการประจำ ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีต่าง ๆ

สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

1. รูปแบบรัฐ รัฐเดี่ยว

2. รัฐธรรมนูญ ค.ศ.1980 แก้ไขเพิ่มเติม 1992 กำหนดการปกครองในระบอบเผด็จการหรืออำนาจนิยมคอมมิวนิสต์ เดิมเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส โฮจิมินห์ได้ต่อสู้เพื่อเอกราชจนได้รับเอกราชตามสนธิสัญญาเจนีวา ค.ศ.1954 (ลาว เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งฝรั่งเศสเรียกว่าประเทศอินโดจีนได้รับเอกราชตามสนธิสัญญาเจนีวาใน ค.ศ.1954 ทั้งสามประเทศ)

3. ประมุขของรัฐ ประธานาธิบดี ปัจจุบันคือประธานาธิบดีซัน ดึ๊ก เลือง

4. ที่มาของรัฐบาล โดยการแต่งตั้งจากพรรคคอมมิวนิสต์และผ่านความเห็นชอบจากสมัชชาแห่งชาติ (เวียดนามกับลาวจะมีรูปแบบการปกครองเหมือนกัน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จะมีอำนาจมาก เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนปัจจุบันคือนายนง ดึ๊บ มาน)

5. ฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วยสภาเดียวคือสมัชชาแห่งชาติหรือสภาแห่งชาติจำนวน 498 คน

-ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปีขึ้นไป

-ผู้สมัครต้องผ่านการกลั่นกรองเห็นชอบในตัวบุคคลจากพรรคคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกับลาว

นักวิชาการได้ศึกษาวิเคราะห์ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกประมาณเกือบ 200 ประเทศ สรุปได้ว่าระบอบการปกครอง (Regime/Form of Government) ในโลกนี้มีสองรูปแบบคือ

  1. ระบอบประชาธิปไตย (Democracy)
  2. ระบอบเผด็จการ (Dictatorship) หรืออำนาจนิยม (Authoritarian)

(คำว่าระบอบการปกครองหมายถึงหลักการเรื่องอำนาจในการปกครองประเทศ เช่น หลักการปกครองที่บอกว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เรียกว่าประชาธิปไตย แต่ถ้าหลักการปกครองบอกว่าอำนาจเป็นอธิปไตยเป็นของพรรคการเมืองเรียกว่าเผด็จการ)

ทั้งระบอบประชาธิปไตยและเผด็จการนั้นไม่มีระบอบใดดีกว่ากัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละประเทศ ประเทศไทยในช่วง พ.ศ.2500 มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรีโดยการยึดอำนาจ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เท่ากับว่าเป็นการปกครองในระบอบเผด็จการแต่คนไทยยุคนั้นก็มองว่าเผด็จการเป็นการปกครองที่ดี

ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาตลอดจนถึงปัจจุบันคนไทยมองว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ดีแต่เผด็จการนั้นไม่ดี สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีระบอบการปกครองทุกรูปแบบจากทั่วโลก ในการเจริญสัมพันธไมตรีทุกประเทศจึงเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศเสียใหม่โดยเป็นมิตรกับทุกประเทศแม้ว่าจะมีลัทธิหรืออุดมการทางการเมืองที่แตกต่างกันก็ตาม ทำให้สามารถรวมตัวกันเป็นอาเซียนได้

(เมื่อ พ.ศ.2518 สมัยม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้เปลี่ยนนโยบายต่างประเทศโดยเป็นมิตรกับทุกประเทศไม่ยึดถืออุดมการทางการเมืองว่าจะแตกต่างกันหรือไม่ จึงเปิดความสัมพันธ์กับประเทศจีนทำให้การค้าขายระหว่างสองประเทศเจริญรุ่งเรือง)

ระบบการเมือง (Political System)

เมื่อใช้คำว่า “ระบบการเมือง” หมายความว่า การเมืองเป็นเรื่องของกิจกรรม วิธีการดำเนินการ ระบบการเมืองจึงหมายถึงวิธีการในการจัดการทางการเมือง เช่น ระบอบประชาธิปไตยจะมีระบบการเมืองใหญ่ ๆ แยกย่อยได้ 3 ระบบคือ

  1. ระบบรัฐสภา อังกฤษเป็นแม่แบบของระบบรัฐสภา
  2. ระบบประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกาเป็นแม่แบบ
  3. ระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา ฝรั่งเศสเป็นแม่แบบ

การได้เอกราชของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มต้นที่ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกที่ได้รับเอกราชจากสหรัฐอเมริกา ขณะนี้ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 11 ประเทศได้รับเอกราชทั้งหมดแล้ว ปัญหาคือตอนที่อยู่ภายใต้อาณานิคมของตะวันตกประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับมีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยเพราะมีประเทศเมืองแม่คอยคุ้มครองดูแลอยู่ ไม่ต้องกลัวศัตรูมารุกราน แต่เมื่อได้รับเอกราชครบทุกประเทศทำให้ความคิดของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มเปลี่ยนไป เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงไม่ปลอดภัยมาแทน เพราะไม่มีใครคอยดูแลเหมือนเดิม จึงมี 3 แนวทางเพื่อบรรเทาความรู้สึกนี้คือ

1. การหาพันธมิตร (Alliance)

2. ไม่ต้องหาพันธมิตรแต่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-alliance)

3. ไม่เอาพันธมิตร ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่สร้างองค์กรด้านความร่วมมือเพื่อสร้างความมั่นคงร่วมกัน (Regional Security Organization หรือ Regional Co-operation)

1. การหาพันธมิตร

ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ่งที่ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยก็เพราะหลังสงครามโลกได้เกิดสงครามเย็น (Cold War) ระหว่าง ค.ศ.1947-1991 เป็นสงครามที่ไม่ได้รบกันด้วยกำลังอาวุธแต่เป็นการต่อต้านอุดมการฝ่ายตรงข้าม โลกแบ่งเป็นสองค่ายคือค่ายคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียต กับค่ายโลกเสรีนำโดยสหรัฐอเมริกา (เลนินปฏิวัติรัสเซียเป็นคอมมิวนิสต์ใน ค.ศ.1917 มีพรรคคอมมิวนิสต์ชื่อพรรคบอลเชวิคโค่นล้มพระเจ้าซาร์ซึ่งปกครองรัสเซียโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์)

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดใหม่ ๆ สหรัฐฯกับโซเวียตยังเป็นพันธมิตรกันอยู่ แต่อุดมการของคอมมิวนิสต์เชื่อว่าประเทศจะเป็นคอมมิวนิสต์ได้ต้องปฏิวัติทั้งโลกให้เป็นคอมมิวนิสต์ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้สหภาพโซเวียตโดยเลนินจึงสนับสนุนให้ประเทศทั้งหลายปฏิวัติเป็นคอมมิวนิสต์โดยตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในแต่ละประเทศขึ้น ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีพรรคคอมมิวนิสต์ในทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทย

ค.ศ.1949 จีนปฏิวัติเป็นคอมมิวนิสต์ขึ้นมาอีกประเทศหนึ่งนำโดยเหมา เจ๋อ ตง ทั้งจีนและโซเวียตเป็นประเทศใหญ่จึงเป็นอภิมหาอำนาจมีศักยภาพสูงด้วยกันทั้งคู่จึงต้องการที่จะเป็นผู้นำของโลกคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนี้ทั้งสองประเทศจึงสนับสนุนประเทศทั้งหลายให้จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อทำการปฏิวัติ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังสงคราม เมื่อแนวคิดนี้เผยแพร่เข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้ประเทศในแถบนี้เกิดความกลัว ประเทศไทยเองต้องออกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์แต่ยกเลิกไปแล้วในปัจจุบัน

ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำของโลกเสรี ประธานาธิบดีทรูแมนประกาศ Truman Doctrine (ลัทธิทรูแมน) ใน ค.ศ.1947 เพื่อสกัดกั้นการแผ่ขยายอำนาจของคอมมิวนิสต์โซเวียต เพราะคอมมิวนิสต์ต้องการจะปฏิวัติทั้งโลกผู้นำโลกเสรีจึงต้องสกัดกั้น แม้แต่ปัจจุบันเมื่อวันชาติสหรัฐฯที่ผ่านมาประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุชเองก็บอกว่าจะต่อต้านการก่อการร้ายเพื่อรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพของประชาชนทั่วทั้งโลก สะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯยังต้องการเป็นผู้นำของโลกเสรีประชาธิปไตยอยู่

การสกัดกั้นลัทธิคอมมิวนิสต์ของประธานาธิบดีทรูแมนทำโดยการหาพันธมิตรแล้วปิดล้อมการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ เช่น ตั้ง SEATO ขึ้นในปี 1954 มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อปิดล้อมคอมมิวนิสต์ไม่ให้แพร่ขยายมาในภูมิภาคนี้

สงครามเย็นสิ้นสุดลงในปี 1991 เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายโดยนายมิคาอิล กอร์บาชอฟเป็นประธานาธิบดีคนสุดท้าย กลายเป็นประเทศสหพันธรัฐรัสเซียมีประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซินเป็นประธานาธิบดีคนแรก การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเนื่องจากกอร์บาชอฟเปลี่ยนมาใช้นโยบายกราสน้อตและเปเรสทรอยก้าเพื่อเปิดประเทศและปรับระบบเศรษฐกิจของโซเวียตเสียใหม่

การแสวงหาความมั่นคงโดยการหาพันธมิตรของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีวิธีการดังนี้

1. อิงโลกเสรีภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนามใต้ มลายา(มาเลเซีย) สิงคโปร์ บรูไน โดยกองทัพสหรัฐฯจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามใต้ ส่วนมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไนนั้นมีอังกฤษช่วยดูแลให้เรียกว่า กลุ่ม FPDA : Five Power Defense Arrangement ประกอบด้วยอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ปัจจุบันกลุ่มทางทหารนี้ยังมีอยู่

2. อิงค่ายคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของสหภาพโซเวียต ได้แก่ COMECON และ Warsaw Pact โดยเวียดนามได้เข้าร่วมกับ COMECON ใน ค.ศ.1968

2. ไม่ต้องหาพันธมิตรแต่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-alliance)

เป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อไม่เข้ากับฝ่ายใด ประกอบด้วย พม่า อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว มีการประชุมกันที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซียในเดือนเมษายน ค.ศ.1955 เพื่อตั้งกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมีผู้นำจากหลายประเทศเข้าร่วมประชุม เช่น นายพลอูนุนายกรัฐมนตรีพม่า ประธานาธิบดีซูการ์โนแห่งอินโดนีเซีย สมเด็จเจ้าสีหนุจากกัมพูชา เจ้าสุวรรณภูมานายกรัฐมนตรีลาว ประเทศไทยในตอนนั้นมีจอมพล ป.เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งไม่ได้เข้าร่วมประชุมแต่ส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคือพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ไปร่วมประชุมแทน นอกจากนี้ยังมีผู้นำจากประเทศอื่น ๆ ไปร่วมประชุมด้วยอาทิ นายรัฐมนตรีโจวเอินไหลจากจีน (นายโจวเอินไหลนี้ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่าเป็นนักการทูตที่มีความสามารถมาก) ประธานาธิบดีนัสเซอร์จากอียิปต์ ฯลฯ

เนื้อหาสาระการประชุมก็เพื่อต้องการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากนั้นได้มีการประชุมกันอีกที่กรุงเบลเกรด ประเทศยูโกสลาเวียใน ค.ศ.1960 การประชุมครั้งนี้ทำให้สามารถตั้งกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดขึ้นมาได้ (Non-Aligned Movement : NAM) และดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน

3. ไม่เอาพันธมิตร ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่สร้างองค์กรด้านความร่วมมือเพื่อสร้างความมั่นคงร่วมกัน (Regional Security Organization หรือ Regional Co-operation)

เป็นการสร้างกลุ่มความร่วมมือในภูมิภาคเน้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมเป็นหลัก ได้แก่

-ASA ตั้งขึ้นใน ค.ศ.1961 มีสมาชิก 3 ประเทศคือ ไทย ฟิลิปปินส์ มลายาซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นมาเลเซียใน ค.ศ.1963 โดยผนวกเอาสิงคโปร์ ซาบาห์ และซาราวักเข้าด้วยกัน ASA ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเพราะสมาชิกมีน้อย ประเทศใหญ่อย่างอินโดนีเซียไม่เข้าร่วมทำให้องค์การนี้ต้องยกเลิกไปในที่สุด

-ASEAN ตั้งใน ค.ศ.1967 มีประเทศไทยเป็นผู้นำในการจัดตั้งโดยมีนายถนัด คอมันต์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้นำในการจัดตั้ง ระยะแรกมีสมาชิกคือไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย (เสียงหายไป) อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ปัจจุบันสำนักงานเลขาธิการอาเซียนอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย การประชุมครั้งแรกจัดที่บาหลี อินโดนีเซีย และต่อมาอาเซียนก็ได้ขยายความร่วมมือมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันมีสมาชิก 10 ประเทศและในอนาคตอาจมีติมอร์เป็นสมาชิกลำดับที่ 11 เมื่อนั้นอาเซียนก็จะมีสมาชิกครบทุกประเทศ

จนถึงปัจจุบันการแสวงหาความร่วมมือในกลุ่มประเทศเอเชียเพื่อความมั่นคงปลอดภัยก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปเห็นได้จากการประชุม ACD ที่ผ่านมา

การพัฒนาการเมืองสู่ความเป็นประชาธิปไตย (The Political Development to Democracy)

เป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกทำให้เกิดปัญหาคือ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้มีแนวคิดและวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยมาก่อน การเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยจึงมีปัญหาและอุปสรรคมากมาย

เมื่อพูดคำว่าการพัฒนาการเมืองมักหมายถึงการทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตย แต่มีหลายประเทศโต้แย้งว่าการพัฒนาการเมืองไม่น่าจะหมายความถึงประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว ควรจะเน้นเรื่องประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาปากท้องให้ประชาชนมากกว่าหลักการของระบอบประชาธิปไตย

1. ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนจึงเป็นผู้ปกครองประเทศ ซึ่งสวนทางกับแนวความคิดแบบเดิมที่มองว่าผู้นำต้องเป็นผู้ปกครอง การเลือกตั้งจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมการพัฒนาการเมือง รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยจึงต้องมาจาการเลือกตั้งของประชาชนในขณะเดียวกันการเลือกตั้งก็ต้องเป็นแบบประชาธิปไตย มีพรรคการเมืองหลายพรรคที่เสนอแนวทางการแก้ปัญหาของประเทศแตกต่างกัน ไม่ผูกขาดครอบงำโดยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวอย่างในประเทศคอมมิวนิสต์

การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยจะต้องมีมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ไม่สะดุดลงด้วยการยึดอำนาจรัฐประหาร (Coup d’Etat อ่านว่า คูเดอต้า) อันเป็นอุปสรรคของประชาธิปไตย เห็นได้จากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียหลังจากที่ได้รับเอกราชมีการเลือกตั้งแล้วไม่เคยมีการยึดอำนาจปฏิวัติรัฐประหารจากทหารเลย การเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องนี้จะช่วยในด้านการเรียนรู้ทางการเมืองของประชาชนให้เข้าใจว่าควรจะเลือกผู้แทนแบบใด ผู้แทนที่เลือกไปแล้วมีบทบาทมากน้อยแค่ไหน มาเลเซียจึงได้ฉายาว่า “ตู้โชว์ของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา”

สำหรับประเทศไทยนั้นหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองมีรัฐประหารถึง 9 ครั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งจนรัฐธรรมนูญไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประชาธิปไตย

การรัฐประหาร หมายถึง การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยการใช้กำลัง ส่วนใหญ่กระทำโดยทหารเพราะมีอาวุธอยู่ในมือ ทำการยึดอำนาจแล้วเข้ามาเป็นรัฐบาลเสียเองโดยโครงสร้างอื่น ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง การรัฐประหารครั้งล่าสุดคือ เหตุการณ์ รสช.โดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ พ.ศ.2534ยึดอำนาจจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณนายกรัฐมนตรี

การรัฐประหารถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทำให้ทุกครั้งที่ทำรัฐประหารจึงต้องฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง เท่ากับว่าไม่มีกฎหมายผู้กระทำรัฐประหารก็ย่อมไม่มีความผิด อันเป็นแนวคิดตามหลักนิติศาสตร์ หลังจากนั้นก็ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา ทำให้ประเทศไทยต้องมีรัฐธรรมนูญมากมายถึง 16 ฉบับ

การปฏิวัติ หมายถึง การเปลี่ยนรัฐบาลที่มีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ทำให้ประชาชนพึงพอใจกับการปฏิวัติ เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ของประเทศ เช่น โครงสร้างทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ เช่น ในพม่าสมัยนายพลเนวินยึดอำนาจจากรัฐบาลประชาธิปไตยของนายพลอูนุแล้วเปลี่ยนโครงสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่หันมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม หรือการปฏิวัติจีนใน ค.ศ.1949 เปลี่ยนจากการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยรัฐบาลเจียง ไค เช็คเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ โครงสร้างสังคมที่เคยเป็นสังคมเปิดกลายเป็นสังคมปิด เศรษฐกิจที่เป็นแบบเสรีก็ต้องใช้ระบบสังคมนิยมแทน

2. หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ต้องมีกฎหมายให้หลักประกันแก่ประชาชนในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค

3. หลักการปกครองโดยกฎหมาย

4. หลักเสียงข้างมากโดยคำนึงถึงเสียงข้างน้อย เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง

สาเหตุจูงใจให้มีการนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

1. การเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตกของชนชั้นนำที่ได้ไปศึกษาต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรป เช่น มาเลเซีย นายกรัฐมนตรีคนแรกคือตนกู อับดุล ราห์มานซึ่งเป็นผู้นำขบวนการอัมโน (UMNO) เคยศึกษาในประเทศอังกฤษแล้วเห็นความเจริญของยุโรปจึงอยากให้มาเลเซียเป็นประชาธิปไตยอย่างนั้นบ้าง

สิงคโปร์ ประธานาธิบดีคนแรกคือนายลี กวน ยู หัวหน้าพรรค PAP ก็เคยไปเรียนที่อังกฤษแล้วเห็นความเจริญของอังกฤษจึงอยากนำแนวคิดประชาธิปไตยมาใช้ในสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน

ประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ร.ศ.103 (พ.ศ.2428) ลัทธิล่าอาณานิคมได้เข้ามาสู่ประเทศไทยแล้ว โดยอังกฤษและฝรั่งเศสต้องการยึดเอาประเทศไทยเป็นเมืองขึ้น ร.5 ทรงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลเล็งเห็นว่าประเทศไทยจะรอดพ้นจากเงื้อมมือของมหาอำนาจต้องปฏิรูปประเทศ โดยเริ่มต้นที่การปฏิรูปบุคคลผ่านการศึกษา พระองค์จึงส่งพระราชโอรสและขุนนางไปเรียนหนังสือที่ยุโรป ปัญญาชนเหล่านี้เห็นความเจริญต่าง ๆ จึงอยากพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าเช่นนั้นบ้าง โดยทำหนังสือกราบบังคมทูลต่อ ร.5 ว่า การที่ประเทศยุโรปเจริญได้นั้นเพราะหลักการสองประการคือ

-Constitution (รัฐธรรมนูญ)

-Parliament (รัฐสภา)

ซึ่งสองสิ่งนี้ก็คือการปกครองโดยกฎหมาย และประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยซึ่งก็คือการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง

เห็นได้ว่าไม่ได้มีการกราบบังคมทูลโดยตรงว่าต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง และ ร.5 ก็ทรงเข้าพระทัยในทันทีไม่ถือโทษต่อปัญญาชนกลุ่มนี้ นอกจากนี้พระองค์ยังมีหนังสือตอบไปว่า ประเทศไทยมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมจากตะวันตก ประเทศตะวันตกนั้นเจริญได้เพราะประชาชนช่วยกันคิดและช่วยกันพัฒนาประเทศ แต่เมืองไทยการพัฒนาประเทศจะทำได้ต้องอาศัยผู้นำ ฉะนั้นความเห็นเรื่อง Constitution และ Parliament พระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริที่จะพระราชทานให้แก่คนไทยเช่นกัน เพียงแต่คนไทยยังไม่พร้อมจึงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ให้คนไทยได้รับการอบรมสั่งสอนในเรื่องนี้เสียก่อน

การเป็นอาณานิคมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนได้รู้จักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังเช่นกรณีมาเลเซียเป็นอาณานิคมของอังกฤษจึงได้รับการอบรมฝึกฝนเรื่องประชาธิปไตย เพราะอังกฤษมีทัศนคติที่ดีต่อสุลต่านมาเลเซียเมื่อยึดเป็นอาณานิคมก็ช่วยพัฒนาประชาธิปไตย แต่พม่าซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษเหมือนกันแต่อังกฤษไม่ส่งเสริมเรื่องประชาธิปไตย เพราะพม่ามีแนวคิดว่าพระเจ้าแผ่นดินพม่าและมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นเมืองหลวงคือศูนย์กลางของโลกและจักรวาลที่ประเทศทั้งหลายต้องเข้ามาสวามิภักด์

แนวคิดนี้ของพม่าเหมือนกับแนวคิดเรื่องฮ่องเต้ของจีน ทำให้พม่าไม่สนใจฝรั่ง ไม่เปิดประเทศดูว่าอังกฤษมีความเจริญก้าวหน้าและอาวุธที่ทันสมัยเพียงใด เมื่ออังกฤษเข้ามาพม่าก็รบกับอังกฤษเพราะคิดว่าตนเองเก่งทำให้ต้องพ่ายแพ้เสียเมืองให้แก่อังกฤษ และเมื่ออังกฤษขึ้นปกครองก็ทำลายหลาย ๆ อย่างของพม่าลง ไม่ให้การเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยแก่ชาวพม่า ชาวพม่าเองก็ต่อต้านอังกฤษ นอกจากนี้พม่ามีชนกลุ่มน้อยมากมายทำให้มีปัญหาเรื่องการปกครองมาโดยตลอด

ในฟิลิปปินส์นั้นสหรัฐอเมริกาได้นำรูปแบบการปกครองของสหรัฐฯมาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์ โดยจำลองแบบรัฐสภาของสหรัฐฯมาไว้ทำให้ฟิลิปปินส์ได้รับการพัฒนาทางการเมืองอย่างดี ยกเว้นในสมัยรัฐบาลมาร์กอสเท่านั้น

2. ความคุ้นเคยของรูปแบบการปกครองในสมัยอาณานิคม

มาเลเซีย สิงคโปร์เป็นอาณานิคมของอังกฤษจึงนำระบบรัฐสภาของอังกฤษมาใช้ ฟิลิปปินส์ก็นำระบบของสหรัฐฯมาใช้ สำหรับอินโดนีเซียนั้นมีเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศเจ้าอาณานิคมโดยกอบโกยผลประโยชน์จากอินโดนีเซียไปจำนวนมหาศาล ทำให้คนอินโดนีเซียต่อต้านเนเธอร์แลนด์และสถาปนารูปแบบการปกครองใหม่ขึ้น ภายใต้การนำของซูการ์โน

ในระยะแรกหลังได้รับเอกราชอินโดนีเซียใช้ระบบรัฐสภา ต่อมาซูการ์โนจัดการปกครองแบบใหม่ที่เรียกว่า Guided Democracy : ประชาธิปไตยแบบนำวิถี/แบบมีผู้นำ เป็นการเลือกประธานาธิบดีทางอ้อม ให้สมัชชาที่ปรึกษาสูงสุดของประชาชนทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดีทุก ๆ 5 ปี ทำให้คนที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งได้อย่างยาวนาน

ส่วนในลาว เวียดนามจะต่อต้านประชาธิปไตยโดยนำระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์มาใช้ปกครองประเทศแทน

3. หลายประเทศคิดว่าประชาธิปไตยจะเป็นทางลัดที่จะนำประเทศไปสู่ความเจริญทัดเทียมกับประเทศที่เจริญแล้ว

ประชาธิปไตยแบ่งเป็นรูปแบบโครงสร้างและเนื้อหาสาระ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักจะนำมาเฉพาะรูปแบบ เช่น มีรัฐธรรมนูญ รัฐสภา รัฐบาล พรรคการเมือง การเลือกตั้ง เห็นได้จากประเทศไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีเกิดขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่เนื้อหาสาระนั้นไม่ได้นำมาด้วยทำให้ประชาธิปไตยไทยต้องล้มลุกคลุกคลานมานานพอสมควร

ปัญหาและอุปสรรคในการนำประชาธิปไตยมาใช้ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

1. ปัญหาวัฒนธรรมที่แตกต่างกันระหว่างคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับคนตะวันตก

2. ปัญหาสถาบันการเมืองแบบตะวันตกและแบบตะวันออก การขาดประสบการณ์ในการปกครองแบบประชาธิปไตยในบางประเทศ เช่น ไม่เข้าใจว่าผู้แทนต้องทำหน้าที่อะไร

3. ปัญหาความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติของประชาชนที่ต้องการผู้นำที่เข้มแข็งเพื่อเผชิญและแก้ปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังยอมรับสถาบันทหารที่มีความรวดเร็วในการตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ ประชาธิปไตยนั้นช้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างทันท่วงที

4. ในบางประเทศระบบพรรคการเมืองยังไม่สามารถใช้เป็นสถาบันการเมืองที่เป็นหลักของประเทศได้ ประเทศไทยก็ประสบปัญหานี้เห็นได้จากประชาชนนิยมเลือกตัวบุคคลมากกว่าเลือกพรรค ทำให้ต้องแก้ปัญหาด้วยการมีรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมระบบพรรคการเมือง

แต่บางประเทศก็ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ เช่น พรรคอัมโนของมาเลเซียที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

5. ปัญหาความไม่เข้าใจและเห็นความสำคัญในกลไกการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่เข้าใจเรื่องการเลือกตั้ง ไม่รู้ว่าเลือกไปเพื่ออะไร รัฐธรรมนูญใหม่ของไทยก็บังคับให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่เพราะต้องการให้คนไทยคุ้นเคยกับการเลือกตั้ง

6. ปัญหาบทบาทและการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมืองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกรัฐสภา หรือผู้มีตำแหน่งในการบริหารบ้านเมือง

ตารางเปรียบเทียบปัญหาและอุปสรรคในการนำประชาธิปไตยมาใช้ในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สังคมประชาธิปไตย

สังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

-หลักการยอมรับประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจการปกครองเป็นของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน

-อำนาจการปกครองเป็นนของชนชั้นสูง

-ยึดถือกฎหมายเป็นหลักในการปกครอง

-ยึดถือระบบอุปถัมภ์ เจ้านายลูกน้อง การจะเปลี่ยนค่านิยมทำได้ยากมาก

-หลักการเทิดทูนสิทธิ เสรีภาพทางการเมืองของประชาชนจนถึงเอาชีวิตเข้าแลกกับเสรีภาพทางการเมือง (ทั้งนี้เพราะฐานะทางสังคมของคนไม่ยากจนข้นแค้น)

-เรื่องปากท้องสำคัญกว่าเสรีภาพ เพราะประชาชนยากจนข้นแค้น สิทธิเสรีภาพจึงยังไม่ใช่สิ่งจำเป็น

-หลักการยอมรับสถาบันรัฐสภา พรรคการเมือง การเลือกตั้ง นักการเมืองว่าสามารถแก้ปัญหาให้กับประเทศได้

-ยอมรับสถาบันทหารและข้าราชการว่าเป็นที่พึ่งของประชาชน ทำให้ประเทศอยู่รอดปลอดภัย

***การบ้าน*** ฝากอ่านเพื่อเตรียมสอบ

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาการพัฒนาการเมืองที่จะไปสู่การเป็นประชาธิปไตยต้องมีหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยที่เอื้ออำนวยและปัจจัยที่เป็นอุปสรรค ให้นักศึกษาวิเคราะห์และอธิบายโดยยกตัวอย่างประเทศใดประเทศหนึ่งยกเว้นประเทศไทย

ตัวอย่างปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยที่เป็นอุปสรรค เช่น

-การเป็นอาณานิคม อังกฤษจะมีส่วนอย่างมากในการช่วยส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศอาณานิคม

-รัฐธรรมนูญ

-วัฒนธรรมทางการเมืองและค่านิยม

-ผู้นำประเทศ นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียคือตนกูอับดุลราห์มานเป็นผู้นำของขบวนการอัมโน เป็นผู้นำที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศมาเลเซีย ในขณะที่ประธานาธิบดีมาร์กอสของฟิลิปปินส์เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศเพราะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรวบอำนาจไว้ในมือจนกลายเป็นเผด็จการ แต่ผู้นำฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนมากกว่าเป็นอุปสรรค เป็นต้น ***

**คาดว่าตรงนี้จะเป็นข้อสอบ โดยอาจารย์ให้ไปเตรียมตัวในการเขียนเลยว่าจะเลือกประเทศใด และประเทศนั้นมีปัจจัยที่อะไรที่ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยและปัจจัยอะไรที่เป็นอุปสรรคบ้าง***กุ้ง

********************

จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 11 ประเทศ สามารถแบ่งโครงสร้างรูปแบบการเมืองการปกครองออกเป็น

-ระบบรัฐสภา 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา และประเทศไทย

-ระบบประธานาธิบดี 2 ประเทศคือฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

-ระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา 1 ประเทศ คือติมอร์ตะวันออก

-ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ 2 ประเทศคือลาว และเวียดนาม

-ระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์ 1 ประเทศคือบรูไน

-ระบอบเผด็จการทหาร 1 ประเทศคือ เมียนมาร์

กรณีของพม่านั้น ทหารที่เข้ามาปกครองประเทศนั้น ในวันที่ 18 กันยายน 1988 พลเอกซอหม่องได้กำลังทหารยึดอำนาจจากนายพลเนวิน และตั้งคณะผู้บริหารใหม่คือสลอร์ค ต่อมาพลเอกตันฉ่วยขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำและเปลี่ยนชื่อคณะผู้บริหารเป็น SPDC ในปี 1997 โดยมีพลเอกขิ่นยุ่นและพลเอกหม่องเองมีตำแหน่งรองลงมา

ระบบรัฐสภา (Parliamentary System)

หลักการของระบบรัฐสภาก็คือเป็นการรวมอำนาจนิติบัญญัติและบริหารรวมอยู่ในมือของคณะบุคคลเดียวกัน นั่นคืออำนาจอธิปไตยมีการแบ่งแยกออกเป็น 3 ฝ่ายคือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ แต่ไม่มีการแบ่งแยกแบบไม่เด็ดขาด แต่มีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน

ภายใต้ระบบนี้รัฐสภาจะเป็นองค์กรที่สำคัญที่สุดในฐานะองค์กรที่แสดงถึงเจตนารมย์ของประชาชน ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลจะมาจากการแต่งตั้งของฝ่ายนิติบัญญัติ การบริหารของรัฐบาลจะต้องอยู่ภายใจใต้ความไว้วางใจจากสภา

ขณะเดียวกันก็มีการถ่วงดุลระหว่างรัฐสภาและรัฐบาล นั่นคือรัฐสภามีสิทธิที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางในรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจในการยุบสภา

สำหรับตำแหน่งต่างๆในระบบรัฐสภาประกอบด้วย

- ตำแหน่งประมุขของรัฐ หรือ Head of State จะไม่มีอำนาจทางการเมือง แต่จะเป็นประมุขในทางพิธีการ โดยไม่มีอำนาจทางการเมือง แต่จะต้องเป็นกลางทางการเมือง มีบทบาทในลักษณะการเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ

การเรียกชื่อประมุขของรัฐอาจจะต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่นมาเลเซียจะเรียกว่าพระราชาธิบดี หรือยังดีเปอตวนอากง และที่มาของประมุขจะใช้การเลือกจากสุลต่านของรัฐต่างๆทั้ง 9 รัฐ โดยดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี

สำหรับตำแหน่งประมุขของรัฐของไทย คือพระมหากษัตริย์ ซึ่งใช้วิธีการสืบสันติวงค์ในการสืบทอดตำแหน่ง เช่นเดียวกับกัมพูชา องค์ปัจจุบันคือเจ้าสีหนุ

สิงคโปร์นั้นประมุขของรัฐคือตำแหน่งประธานาธิบดี ปัจจุบันกำหนดให้มาจากการเลือกตั้งและมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 6 ปี

-ตำแหน่งประมุขหรือหัวหน้าฝ่ายบริหารจะเป็นคนละคนกับประมุขของรัฐ ใน 4 ประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภาคือนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของมาเลเซียคือ ดร.มหาเธร์ (มีวาระในการดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี) ของไทยคือนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร (วาระละ 4 ปี ) ของกัมพูชาคือสมเด็จฮุนเซน (วาระละ 4 ปี) และนายโก๊ะจ๊กตงของสิงคโปร์ (ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี)

นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ในทางการเมือง กำหนดนโยบาย จัดสรรงบประมาณ และบริหารราชการแผ่นดิน

-รัฐสภา มาเลเซียนั้นมี 2 สภา สิงคโปร์มีสภาเดียว ไทยมี 2 สภา และกัมพูชาก็มี 2 สภา เดิมมีสภาเดียวแต่เพิ่งมาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี 2 สภา

-ระบบพรรคการเมืองในมาเลเซียและสิงคโปร์นั้นเป็นระบบพรคคเด่นพรรคเดียว โดยในมาเลเซียพรรคที่ได้เป็นรัฐบาลมาตลอดคือพรรคแนวร่วมแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยพรรคต่างๆถึง 14 พรรคและมีพรรคอัมโนเป็นแกนนำ ขณะที่สิงคโปร์นั้นพรรคที่ครองอำนาจมาตลอดคือพรรค PAP-People Action Party

ส่วนในกัมพูชาและประเทศไทยเป็นระบบหลายพรรค โดยในกัมพูชาพรรครัฐบาลผสมที่สำคัญคือพรรคประชาชนกัมพูชาและพรรคฟุนซินเป็ก ส่วนของประเทศไทยคือพรรคไทยรักไทย พรรคชาติ พรรคชาติพัฒนา

ระบบประธานาธิบดี (Presidential System)

หลักการของระบบประธานาธิบดี จะเป็นระบบที่มีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกจากกันโดยเด็ดขาด หรือ Separation Power ระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

ฝ่ายบริหารจะมีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้า ประธานาธิบดีจะมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนจะเป็นการเลือกตั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ได้ ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภาจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเช่นกัน ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายมีอิสระต่อกันไม่ก้าวก่ายกัน

สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นแม่แบบของระบบประธานาธิบดีการเลือกตั้งประธานาธิบดีก็อาจจะกล่าวว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมเนื่องจากมีคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Vote) ทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดี ด้วยและเสียงของคณะผู้เลือกตั้งจะเป็นเสียงที่ตัดสินว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี แม้ว่าเสียงมหาชนจะเป็นไปอีกทางก็ตาม

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่รับเอามรดกนี้มาจากอเมริกาแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีในฟิลิปปินส์จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน นอกจากนี้ตำแหน่งรองประธานาธิบดีอาจจะมาจากคนละพรรคกับประธานาธิบดีได้จากอเมริกาที่ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะอยู่พรรคเดียวกัน

ระบบประธานาธิบดีนั้นประธานาธิบดีจะทำหน้าที่ประมุขของรัฐและประมุขของรัฐบาลด้วย (จะไม่มีนายกรัฐมนตรี) ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ดำรงตำแหน่งได้เพียงสมัยเดียว 6 ปี

รัฐสภาในระบอบประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์นั้นมี 2 สภาคือสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 250 คนดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี และมีวุฒิสภาจำนวน 24 คน ถ้าประธานาธิบดีทำงานผิดพลาดหรือมีความผิดร้ายแรงรัฐสภามีอำนาจในการถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือ Impeachment ได้

ขณะเดียวกันประธานาธิบดีก็มีอำนาจที่จะไม่ลงนามในกฎหมายที่รัฐสภาออกมาหากประธานาธิบดีไม่เห็นชอบด้วย

ส่วนระบบประธานาธิบดีของอินโดนีเซียนั้นประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมกล่าวคือมาจากการเลือกตั้งของสภา MPR และสภาของ

อินโดนีเซียมีเพียงสภาเดียว

ระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา (Semi Presidential and Semi Parliamentary System)

เป็นระบบการเมืองที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส เป็นการนำเอาข้อดีของระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดีมาใช้ร่วมกัน แต่เน้นอำนาจของฝ่ายบริหารคือประธานาธิบดี หรือเป็นระบบที่สร้างความเข้มแข็งให้ประธานาธิบดี

การเกิดขึ้นของการเมืองในระบบนี้เนื่องจากในช่วงสาธารณรัฐที่ 4 ของฝรั่งเศสคือก่อนปี 1958 นั้นระบบรัฐสภาที่ฝรั่งเศสใช้อยู่มีความอ่อนแอมาก ทำให้ฝรั่งเศสมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้งมากเนื่องจากฝรั่งเศสมีพรรคการเมืองหลายพรรค รัฐบาลเป็นรัฐบาลผสมที่ขาดเสถียรภาพ กล่าวคือช่วงเวลา 14 ปีของสาธารณะที่ 4 มีรัฐบาลถึง 25 รัฐบาล เฉลี่ยแล้วรัฐบาลมีอายุเพียง 6-8 เดือนเท่านั้น

ฝรั่งเศสจึงมีการปฏิรูปการเมืองในสมัยของนายพลเดอโกล และก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีตามระบบใหม่เป็นคนแรก พร้อมกับจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภานั้นประชาชนจะเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาโดยตรง ต่อจากนั้นประธานาธิบดีก็ไปแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีขึ้นมาเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร แต่การบริหารงานเป็นไปภายใต้ประธานาธิบดี และต้องได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา

กล่าวคือถ้านายกรัฐมนตรีทำงานผิดพลาดประธานาธิบดีมีสิทธิปลดนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งได้ ขณะเดียวกันรัฐสภาก็มีอำนาจไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ด้วย นายกรัฐมนตรีต้องทำงานตอบสนองต่อนโยบายของประธานาธิบดี

นายกรัฐมนตรีในระบบกึ่งประธานาธิบดีจึงเหมือนกับมีเจ้านาย 2 คนคือประธานาธิบดีและรัฐสภา ระบบนี้ต้องการให้ประธานาธิบดีมีอำนาจและมีเสถียรภาพ โดยรัฐสภาไม่สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีได้

ติมอร์ตะวันออกได้นำระบบนี้มาใช้และประชาชนชาวติมอร์ได้เลือกเอาประธานาธิบดีซานนานา กูสเมาว์เป็นประมุขของรัฐ รัฐสภาของติมอร์ตะวันออกมีเพียงสภาเดียว

ฟิลิปปินส์เองเคยนำระบบกึ่งรัฐสภามาใช้ในสมัยของประธานาธิบดีมาร์กอสเนื่องจากมาร์กอสต้องการดำรงตำแหน่งอีกสมัย จึงแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากระบบประธานาธิบดีให้เป็นระบบกึ่งประธานาธิบดี แต่ต่อมาก็ถูกประชาชนขับไล่ลงจากตำแหน่งเพราะมัวเมาในอำนาจ คอรัปชั่น หลังจากพ้นยุคมาร์กอสฟิลิปปินส์ก็เข้าสู่ระบบประธานาธิบดีเช่นเดิม

กัมพูชาเองก็เคยนำเอาระบบกึ่งประธานาธิบดีมาใช้หลังจากได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส

กัมพูชาองก็เคยผ่านการปกครองมาแล้วทุกรูปแบบทั้งระบบสมบูรณายาสิทธิราชย์ ต่อมาเมื่อได้เอกราชจากฝรั่งเศสเจ้าสีหนุต้องการเล่นการเมืองจึงสละราชสมบัติมาตั้งพรรคการเมืองและลงสมัครรับเลือกและเป็นนายกรัฐมนตรีในระบอบรัฐสภา โดยให้บิดาขึ้นเป็นกษัตริย์แทน ต่อมาเมื่อบิดาเสียชีวิตเจ้าสีหนุก็ขึ้นเป็นกษัตริย์อีกครั้งแต่ยังต้องการเล่นการเมืองจึงสถาปนาระบบกึ่งประธานาธิบดีขึ้นมา

ต่อมาเมื่อนายพลลอนนอนปฎิวัติขยึดอำนาจจากสีหนุลอนนอนก็ได้นำระบบประธานาธิบดีมาใช้ จากนั้นเขมรแดงก็ยึดอำนาจจากลอนนอนและนำเอาระบอบคอมมิวนิสต์มาใช้ จนกระทั่งปัจจุบันกัมพูชาหวนกลับมาใช้ระบบรัฐสภาที่มีกษัตริย์เป็นประมุขอีกครั้ง

นั่นคือรูปแบบการปกครองในระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดีซึ่งเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีการปกครองระบบอื่นๆด้วย คือระบบสมบูรณายาสิทธิราชย์ในบรูไน ระบอบสังคมนิยมในลาวและเวียดนาม และระบอบเผด็จการทหารในพม่า

Hosted by www.Geocities.ws

1