บทที่ 5

สรุป อภิปรายผลและข้อเสนอแนะ

ในการศึกษาการประเมินความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ : กรณีศึกษานโยบายกองทุนหมู่บ้านครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงพรรณา (Descriptive Research) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานะกองทุนหมู่บ้าน ระดับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน และข้อเสนอแนะของกรรมการกองทุนต่อการดำเนินงานกองทุน โดยศึกษากองทุนหมู่บ้าน จำนวน 52 หมู่บ้าน และคณะกรรมการกองทุน 554 คน จาก 5 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มุกดาหาร ด้วยการสัมภาษณ์คณะกรรมการกองทุน จากนั้นนำข้อมูลเชิงปริมาณมาลงรหัสและกรอกข้อมูลในคอมพิวเตอร์ และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS-PC+ (Statistical Package for the Social Science Personal Plus) สถิติที่ใช้ คือ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Pecentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ส่วนข้อมูลที่เป็นข้อคำถามปลายเปิดวิเคราะห์โดยคณะผู้ศึกษารวบรวม เรียบเรียงประมวลผล และสรุปเพื่อนำเสนอ จากผลการศึกษา สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะได้ดังนี้

สรุปผลการศึกษา

1. สถานะกองทุนหมู่บ้าน จากการศึกษา 52 หมู่บ้าน ผลการศึกษาสรุปในแต่ละด้าน ได้ดังนี้

1.1 เงินที่อนุมัติให้กู้เงินและทุนที่เบิก พบว่า มี 2 หมู่บ้านหรือร้อยละ 3.8 ที่ยังไม่อนุมัติให้สมาชิกกู้และยังไม่มีการเบิกจ่ายงบประมาณ และมี 29 หมู่บ้าน หรือร้อยละ 55.8 ได้อนุมัติเงินกู้หมดทั้ง 1 ล้านบาท และเบิกจ่ายหมดทั้ง 1 ล้านบาท 13 หมู่บ้าน หรือร้อยละ 25.0 รองลงมา อนุมัติให้กู้และเบิกจ่ายในวงเงิน 900,001-999,999 บาท 12 และ 19 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 23.1 และ 36.5 ตามลำดับ

1.2 ลักษณะโครงการหรือกิจกรรมที่อนุมัติและวงเงินให้กู้ พบว่า หมู่บ้านหลายหมู่บ้านอนุมัติให้สมาชิกกู้หลายลักษณะโครงการหรือกิจกรรมโดยอนุมัติให้สมาชิกกู้เงินเป็นโครงการหรือกิจกรรมด้านเกษตรกรรมเป็นส่วนมาก คือ ร้อยละ 92.3 (48 หมู่บ้าน) รองลงมาเป็นโครงการหรือกิจกรรมด้านค้าขาย และอุตสาหกรรม ร้อยละ 67.3 (35 หมู่บ้าน) และ 50.0 (26 หมู่บ้าน) สำหรับวงเงินให้กู้ในแต่ละลักษณะโครงการหรือกิจกรรม พบว่า อนุมัติให้กู้จำนวนเงินรวมมากที่สุด จะเป็นโครงการหรือกิจกรรมด้านเกษตรกรรมเป็นส่วนมาก คือ ร้อยละ 43.6 ของกองทุนหมู่บ้าน (21 หมู่บ้าน) โดยได้อนุมัติให้กู้เงินในวงเงินช่วง 300,001-600,000 บาท และร้อยละ 29.2 (14 หมู่บ้าน) กู้ในวงเงินช่วง 600,001-900,000 บาท ส่วนโครงการหรือกิจกรรมด้านอื่นๆ จะกู้เงินในวงเงินน้อยกว่าและเท่ากับ 300,000 บาท เป็นส่วนมาก โดยเฉพาะด้านช่าง และด้านฉุกเฉินพบว่า ร้อยละ 100 ของกองทุนหมู่บ้านที่อนุมัติให้กู้ในโครงการหรือกิจกรรมเหล่านี้ (18, 8 และ 6 หมู่บ้านตามลำดับ)

1.3 ระยะเวลาเริ่มกู้และระยะเวลากำหนดชำระคืน พบว่า ส่วนมากหมู่บ้านที่ดำเนินงานกองทุนอนุมัติให้สมาชิกเริ่มกู้ในช่วงปี 2544 ร้อยละ 73.1 (38 หมู่บ้าน) ให้กู้ในปี 2545 ร้อยละ 23.1 (12 หมู่บ้าน) ยังไม่อนุมัติให้กู้ ร้อยละ 3.8 (2 หมู่บ้าน) ส่วนระยะเวลากำหนดชำระคืน พบว่า ส่วนมากกำหนดให้ชำระคืนภายในระยะเวลา 1 ปี ที่กำหนดให้ชำระคืนเร็วกว่า 1 ปี เช่น ภายใน 8 เดือน 5 เดือน และ 3 เดือน จะเป็นการกู้ลักษณะกู้ฉุกเฉิน

2. ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมชุมชน จากการศึกษา 52 หมู่บ้าน โดยสัมภาษณ์คณะกรรมการกองทุน จำนวน 554 คน ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้

2.1 ข้อมูลภูมิหลังของคณะกรรมการกองทุน พบว่า ส่วนมากอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ร้อยละ 25.5 (141 คน) รองลงมาอยู่ในจังหวัดอำนาจเจริญ และมุกดาหาร ร้อยละ 23.8 (132 คน) และ 21.3 (118 คน) ตามลำดับ เป็นเพศชาย ร้อยละ 56.7 (314 คน) มีอายุอยู่ในช่วง 41-50 ปี ร้อยละ 38.4 (213 คน) รองลงมาอยู่ในช่วง 31-40 ปี ร้อยละ 30.7 (170 คน) จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้นและต่ำกว่า ร้อยละ 78.2 (433 คน) รองลงมาจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 11.9 (66 คน) มีรายได้จากอาชีพหลักอยู่ในช่วง 1,501-3,000 บาท/เดือน ร้อยละ 44.8 (248 คน) รองลงมาต่ำกว่า 1,501 บาท/เดือน ร้อยละ 16.4 (91 คน) ตำแหน่งในปัจจุบันเป็นกรรมการกองทุน ร้อยละ 64.6 (358 คน) นอกนั้นเป็นกรรมการกองทุนและทำหน้าที่อื่นด้วย เช่น เป็นกลุ่มแม่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุข ร้อยละ 26.0 (144 คน)

2.2 ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจชุมชน พบว่า หมู่บ้านที่ดำเนินงานกองทุนที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจชุมชนโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง มีคะแนนเฉลี่ย 2.92 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน .42 เมื่อพิจารณารายด้านทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านการเพิ่มรายได้/ลดรายจ่าย ด้านการเพิ่มอาชีพ ด้านการสร้างงานในชุมชน อยู่ในระดับปานกลาง โดยมีคะแนนเฉลี่ย 2.95, 2.83 และ 2.98 มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน .43, .66 และ .52 ตามลำดับ และเมื่อพิจารณารายกิจกรรมของแต่ละด้าน พบว่า ทุกด้านมีความเข้มแข็งในระดับปานกลาง

2.3 ความเข้มแข็งทางสังคมชุมชน พบว่า หมู่บ้านที่ดำเนินงานกองทุนมีความเข้มแข็งทางสังคมชุมชนโดยรวมอยู่ในระดับสูง มีคะแนนเฉลี่ย 3.01 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน .39 เมื่อพิจารณารายด้านทั้ง 4 ด้าน พบว่า ด้านการพึ่งตนเองมีความเข้มแข็งในระดับสูง มีคะแนนเฉลี่ย 3.11 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน .44 ส่วนด้านอื่น คือ การบริหารจัดการกองทุน การสร้างระบบคุณธรรม การแก้ปัญหาสมาชิก มีระดับความเข้มแข็งปานกลาง และเมื่อพิจารณารายกิจกรรมของแต่ละด้าน พบว่า ด้านการบริหารจัดการกองทุนมีกิจกรรมที่มีความเข้มแข็งในระดับสูง คือ การพิจารณาให้กู้คำนึงถึงความจำเป็นของผู้กู้ มีคะแนนเฉลี่ย 3.05 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน .63 กรรมการกองทุนมีความสามารถจัดการกองทุนได้ดี มีคะแนนเฉลี่ย 3.08 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน .54 และกรรมการกองทุนกำหนดระเบียบกองทุนได้ดี มีคะแนนเฉลี่ย 3.09 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน .52 ด้านการพึ่งตนเองมีกิจกรรมที่มีความเข้มแข็งในระดับสูง คือ ผู้กู้มีความสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น มีคะแนนเฉลี่ย 3.02 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน .55 การสะสมดอกเบี้ยจากกองทุนช่วยตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการให้กับหมู่บ้านได้ในอนาคตมีคะแนนเฉลี่ย 3.24 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน .59 และการให้กู้เงินช่วยให้หมู่บ้านไม่ต้องพึ่งแหล่งทุนจากภายนอก มีคะแนนเฉลี่ย 3.06 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน .65 ด้านการสร้างระบบคุณธรรม มีกิจกรรมที่มีความเข้มแข็งระดับสูง คือ กรรมการกองทุนมีความเป็นธรรมในการอนุมัติให้กู้ มีคะแนนเฉลี่ย 3.11 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน .53 และด้านการแก้ปัญหาสมาชิก มีกิจกรรมที่มีความเข้มแข็งในระดับสูง คือ การได้เงินกู้มาช่วยบรรเทาเหตุฉุกเฉินได้ มีคะแนนเฉลี่ย 3.14 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน .56

3. ข้อเสนอแนะอื่นๆ ในการดำเนินงานกองทุนของคณะกรรมการกองทุน ผลการศึกษา พบว่า คณะกรรมการกองทุนมีความคิดเห็นต่อการดำเนินงานกองทุนเกี่ยวกับการอนุมัติโครงการส่วนมากกองทุนได้อนุมัติโครงการให้กู้โดยพิจารณาลักษณะของโครงการหรือกิจกรรมสามารถดำเนินงานได้จริงหรือไม่ ประวัติผู้กู้สามารถดำเนินงานตามโครงการหรือกิจกรรมที่ขออนุมัติได้ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป ความจำเป็นเร่งด่วนของผู้กู้ และจะอนุมัติให้กู้เงินในวงเงินที่เหมาะสมกับโครงการที่ขอ และบางกองทุนจะต้องเป็นสมาชิกกลุ่มสัจจะที่ถือหุ้นในกองทุนจึงจะมีสิทธิกู้เงินได้ แต่มีบางกองทุนที่คณะกรรมการกองทุนให้ข้อคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า คณะกรรมการบางกลุ่มจะอนุมัติโครงการง่ายในรายที่เป็นญาติของคณะกรรมการหรือตัวกรรมการเอง ส่วนข้อคิดเห็นอื่นๆ พบว่า คณะกรรมการกองทุนส่วนมากเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี สามารถช่วยให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้

สำหรับข้อเสนอแนะในการดำเนินงานกองทุน พบว่า คณะกรรมการกองทุนให้ข้อเสนอแนะว่างบประมาณอุดหนุนโครงการควรมากกว่านี้ และในหมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่ควรได้มากกว่าหมู่บ้านขนาดเล็กเพราะงบประมาณที่ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการนำไปพัฒนาและเสริมสร้างอาชีพของประชาชน ควรขยายเวลาในการชำระคืนให้นานกว่านี้เป็น 2 หรือ 3 ปี เพราะระยะเวลาเพียง 1 ปี การลงทุนบางโครงการยังไม่เห็นผลอะไร เช่น การเลี้ยงวัว ในระยะเวลา 1 ปี วัวที่เลี้ยงยังไม่ขยายพันธ์ หรือควรให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยในช่วงปีแรก ในการการดำเนินงานโครงการของผู้กู้คณะกรรมการกองทุนควรมีการติดตามเป็นระยะอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงตามเป้าหมายการจัดตั้งกองทุน และคณะกรรมการระดับจังหวัดควรมีการติดตามงานของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านข้อเสนอแนะคณะกรรมการกองทุนบางหมู่บ้าน พบว่า การจัดทำบัญชียังไม่เป็นปัจจุบัน และบางหมู่บ้านยังไม่สามารถอนุมัติเงินกู้ได้ ควรมีการติดตามชี้แนะจากคณะกรรมการระดับจังหวัด

อภิปรายผล

จากการศึกษาการประเมินความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ : กรณีศึกษานโยบายกองทุนหมู่บ้านครั้งนี้ พบว่า กองทุนส่วนมากได้อนุมัติเงินกู้ทั้ง 1 ล้านบาทให้แก่สมาชิก และรองลงมาได้อนุมัติในวงเงิน 900,001 บาท ขึ้นไปโดยโครงการหรือกิจกรรมที่อนุมัติกู้เป็นโครงการหรือกิจกรรมด้านการเกษตร เป็นการแสดงให้เห็นว่าการสนับสนุนเงินอุดหนุนกองทุนให้แก่ประชาชนเป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชนในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่ประเทศไทยประสบอยู่ในช่วงนี้อย่างแท้จริง และการศึกษาครั้งนี้ยังพบว่า คณะกรรมการกองทุนมีความเห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี สามารถช่วยให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ และยังพบว่าหมู่บ้านที่ดำเนินงานกองทุนมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจชุมชนในระดับปานกลางมีความเข้มแข็งทางสังคมชุมชนในระดับสูง โดยเฉพาะการพึ่งตนเอง ทั้งนี้อาจเนื่องจากชุมชนได้เรียนรู้การจัดทำโครงการหรือกิจกรรมที่จะสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ตนเองด้วยการจัดทำโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขออนุมัติกู้เงินกองทุน และการจัดระบบชำระเงินคืน ภายใต้การควบคุมกำกับของคณะกรรมการกองทุน ซึ่งอยู่ในชุมชนเดียวกันและมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน รวมทั้งใช้กระบวนการทางสังคมชุมชนเป็นตัวควบคุมกำกับ ซึ่งน่าจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่าชุมชนมีความเข้มแข็งในกิจกรรมการบริหารจัดการกองทุนเกี่ยวกับการพิจารณาให้กู้คำนึงถึงความจำเป็นของผู้กู้ กรรมการมีความสามารถจัดการกองทุนได้ดีและกำหนดระเบียบกองทุนได้ดี การพึ่งตนเองนอกจากจะพบว่าผู้กู้สามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น ยังพบว่าการสะสมดอกเบี้ยจากกองทุนช่วยจัดตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการให้กับหมู่บ้านได้ในอนาคต และผู้กู้ไม่ต้องพึ่งแหล่งทุนจากภายนอก มีระบบคุณธรรมเกิดขึ้นโดยกรรมการกองทุนมีความเป็นธรรมในการอนุมัติให้กู้ และเมื่อสมาชิกมีเหตุฉุกเฉินด้านการเงินกองทุนสามารถช่วยบรรเทาได้ แต่อย่างไรก็ตามคณะกรรมการกองทุนยังเห็นว่า กองทุนบางแห่งยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากงบประมาณอุดหนุนโครงการยังไม่พอโดยเฉพาะหมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งควรสนับสนุนมากกว่าหมู่บ้านขนาดเล็ก การกำหนดชำระคืนภายในระยะเวลา 1 ปี ไม่เหมาะสมกับโครงการหรือกิจกรรมที่กู้ เนื่องจากในระยะเวลา 1 ปี การลงทุนยังไม่เกิดผลประโยชน์พอที่จะคืนทุนได้ และการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านควรมีการติดตามการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมของสมาชิกที่กู้เป็นระยะอย่างจริงจัง คณะกรรมการจังหวัดควรมีการติดตามชี้แนะคณะกรรมการหมู่บ้านเช่นกัน ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าชุมชนได้เกิดการเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการและพัฒนาองค์กรชุมชนของตนเอง นำกฎข้อกำหนดต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการตกลงร่วมกันมาบริหารจัดการชุมชน อันจะส่งผลให้เกิดการจัดระบบ ระเบียบสังคมชุมชนตามมา ซึ่งเป็นผลกระทบทางอ้อมของการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านในครั้งนี้ อันจะส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมและพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง

ข้อเสนอแนะ

1. ข้อเสนอแนะในการนำผลการศึกษาไปใช้

1.1 ควรดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านในหมู่บ้านที่มีความพร้อมซึ่งสามารถ

ช่วยแก้ปัญหาในชุมชนได้

1.2 ผู้ที่เกี่ยวข้องควรพิจารณางบประมาณสนับสนุนโครงการให้เหมาะสมกับขนาดหมู่บ้าน และการชำระคืนอาจขยายเวลาตามความเหมาะสมของโครงการหรือกิจกรรม

1.3 คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องควรมีระบบการติดตามการดำเนินงานเป็น

ระยะ อย่างจริงจัง คือ คณะกรรมการกองทุนระดับหมู่บ้านควรมีระบบการติดตามการดำเนินงานโครงการหรือกิจกรรมของสมาชิกผู้กู้ คณะกรรมการกองทุนระดับจังหวัดควรมีระบบการติดตามงานของคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน

2. ข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งต่อไป

2.1 ควรมีการศึกษาการประเมินผลความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม

ชุมชนในเชิงคุณภาพเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก

2.2 ควรมีการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม

ชุมชนของหมู่บ้านที่ดำเนินงานกองทุน

2.3 ควรมีการศึกษาการประเมินการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านถึงปัจจัย

นำเข้า กระบวนการดำเนินงาน ผลลัพธ์ที่ได้ รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นในชุมชน

2.4 ควรมีการศึกษากิจกรรมกองทุนหมู่บ้านในระยะยาวหลังดำเนินโครงการประมาณ 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี

Hosted by www.Geocities.ws

1