บทที่ 2

การทบทวนวรรณกรรม

ในการศึกษาครั้งนี้ได้ศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. แนวคิดทฤษฎีการประเมินโครงการ

2. การดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านตามนโยบายรัฐบาล

3. งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

1. แนวคิดทฤษฎีการประเมินโครงการ

การบริหารโครงการซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ คือ การวางแผน การปฏิบัติตามแผนและการประเมินผล ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เพราะจะทำให้การปฏิบัติโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในการปฏิบัติโครงการทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการหรือเอกชน จะต้องมีการกำหนดเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ไว้เพื่อเป็นการคาดหวังผลได้ที่พึงจะเกิดขึ้นได้ภายหลังการสิ้นสุดระยะเวลาปฏิบัติงานตามที่กำหนดไว้ จึงจำเป็นต้องหามาตรการที่จะทำให้การปฏิบัติโครงการนั้น บรรลุตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาศัยวิธีการที่มีระบบของการประเมินโครงการ

การประเมินโครงการมาจากคำประสม 2 คำ คือคำว่า การประเมินผลและโครงการ การประเมินผลมาจากคำในภาษาอังกฤษที่ว่า Evaluation ซึ่งหมายถึง กระบวนการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจดำเนินการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้คำจำกัดความของโครงการว่า หมายถึง แผนหรือเค้าโครงที่กำหนดไว้ โครงการเป็นศัพท์ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “Project” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งและระดับหนึ่งของแผน (Plan) และในบางตำราถือว่ามีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “Project” ซึ่งหมายถึงแผนงานที่มีรายละเอียดในการปฏิบัติงานชัดเจน

 

 

ความหมายของการประเมินโครงการ

ความหมายของ “การประเมินโครงการ” ได้มีผู้ให้ความหมายและคำจำกัดความต่างๆ ดังนี้

สมหวัง (2524) ได้ให้ความหมายไว้ว่าเป็นมาตรการที่จะศึกษาความเป็นมา ความแปรผันระหว่างทิศทางและเป้าหมายที่กำหนดไว้กับทิศทางและสถานภาพผลของการปฏิบัติจริงมีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด เพื่อหาวิธีการที่จะควบคุมปรับปรุงแก้ไข ให้ความคาดหวังกับการปฏิบัติจริงนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันให้จงได้

Tyler (1942) ได้ให้ความหมายไว้ว่าเป็นกระบวนการเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้จากพฤติกรรมการกระทำ กับข้อมูลที่กำหนดไว้เป็นวัตถุประสงค์

Stufflebeam (1985) กล่าวถึงความหมายของการประเมินว่า เป็นกระบวนการวิเคราะห์ รวบรวมและการอำนวยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับทางเลือกต่างๆ

Chusman (1987 อ้างใน สมหวัง. 2535) กล่าวว่าการประเมินเป็นการเปรียบเทียบผลการปฏิบัติงานจริง (Actual Results) กับผลที่คาดว่าจะได้รับ (Expected Results) ซึ่งเป็นการวัดความสำเร็จ จากการดำเนินงานโดยพิจารณาจุดมุ่งหมายและเป็นการศึกษาพิจารณาเกี่ยวกับผลลัพธ์ ซึ่งเกิดจากกิจกรรมบางประเภทที่มุ่งให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามต้องการ

จากความหมายดังกล่าวแล้ว อาจสรุปได้ว่า การประเมินโครงการ หมายถึง กระบวนการในการเก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลของการดำเนินตามโครงการและพิจารณาจุดเด่นจุดด้อยของโครงการอย่างมีระบบ เพื่อตัดสินใจว่าจะปรับปรุงโครงการ ดำเนินการต่อหรือยกเลิกโครงการนั้นเสีย

ความสำคัญและประโยชน์ของการประเมินโครงการ มีดังนี้

1. การประเมินจะช่วยให้การกำหนดวัตถุประสงค์และมาตรฐานของการดำเนินงานมีความชัดเจนขึ้น กล่าวคือ ก่อนที่โครงการจะได้รับการสนับสนุนให้นำเข้าไปใช้ ย่อมจะได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดจากผู้บริหารและผู้ประเมิน ส่วนใดที่ไม่ชัดเจน เช่น วัตถุประสงค์หรือมาตรฐานในการดำเนินงาน หากขาดความแน่นอนหรือเด่นชัดจะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้มีความถูกต้องชัดเจนเสียก่อน ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การประเมินโครงการมีส่วนช่วยให้โครงการชัดเจนและสามารถที่จะนำไปปฏิบัติได้อย่างได้ผลมากกว่าโครงการที่ไม่ได้ประเมินผล

2. การประเมินโครงการช่วยให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างคุ้มค่า

หรือเกิดประโยชน์เต็มที่ ทั้งนี้เพราะการประเมินโครงการ จะต้องวิเคราะห์ทุกส่วนของโครงการ ข้อมูลใดหรือปัจจัยที่มีปัญหาจะได้รับการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้สามารถปฏิบัติงาน หรือใช้ในการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า ทรัพยากรทุกชนิดจะได้รับการจัดสรรให้อยู่ในจำนวนหรือปริมาณที่เหมาะสม เพียงพอแก่การดำเนินงาน ทรัพยากรที่มีมากเกินไปจะได้รับการตัดทอน และทรัพยากรที่ขาดจะได้รับการจัดหาเพิ่มเติม ฉะนั้นการประเมินโครงการจึงมีส่วนให้การใช้ทรัพยากรของโครงการเป็นไปอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ

3. การประเมินโครงการช่วยให้แผนงานบรรลุวัตถุประสงค์ ดังที่กล่าวแล้วว่าโครงการเป็นส่วนหนึ่งของแผน ดังนั้นเมื่อโครงการได้รับการตรวจสอบ วิเคราะห์ ปรับปรุงแก้ไขให้ดำเนินการไปด้วยดีและบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ หากโครงการใดโครงการหนึ่งมีปัญหาในการนำไปปฏิบัติย่อมกระทบกระเทือนต่อแผนงานทั้งหมดโดยส่วนรวม ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าหากการประเมินโครงการมีส่วนช่วยให้โครงการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมหมายถึงการประเมินโครงการมีส่วนช่วยให้แผนงานบรรลุวัตถุประสงค์ และดำเนินงานไปด้วยดีเช่นเดียวกัน

4. การประเมินโครงการมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาอันเกิดจากผลกระทบ (Impact) ของโครงการและทำให้โครงการเกิดข้อเสียหายลดน้อยลง

5. การประเมินโครงการมีส่วนช่วยอย่างสำคัญ ในการควบคุมคุณภาพผลงานดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การประเมินโครงการเป็นการตรวจสอบควบคุมชนิดหนึ่ง ดำเนินการอย่างเป็นระบบและเป็นวิทยาศาสตร์อย่างมาก ทุกส่วนของโครงการและปัจจัยทุกชนิดที่ใช้ในการดำเนินการจะได้รับการวิเคราะห์อย่างละเอียด กล่าวคือ ผลนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) และผลงาน (Output) จะได้รับการตรวจสอบประเมินทุกขั้นตอนส่วนใดที่ไม่เป็นปัญหา หรือไม่คุณภาพจะได้รับการพิจารณาย้อนกลับ (Feedback) เพื่อให้มีการดำเนินงานใหม่จนกว่าจะเป็นมาตรฐานหรือบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้นจึงถือว่าการประเมินผลเป็นการควบคุมคุณภาพของโครงการ

6. การประเมินโครงการ มีส่วนสร้างขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน

ตามโครงการ เพราะการประเมินโครงการไม่ใช้การควบคุมบังคับบัญชา หรือสั่งการ แต่เป็นการศึกษาวิเคราะห์เพื่อการปรับปรุงแก้ไขและเสนอแนะวิธีใหม่ๆ เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติโครงการอันย่อมจะนำมาซึ่งโครงการที่ดี เป็นที่ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งปวง ซึ่งลักษณะนี้ย่อมทำให้ผู้ปฏิบัติมีกำลังใจมีความพึงพอใจและมีความตั้งใจกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติงานต่อไปและมากขึ้น ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า การประเมินโครงการมีส่วนสำคัญในการสร้างขวัญและกำลังใจ และความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน

7. การประเมินโครงการช่วยในการตัดสินใจในการบริหารโครงการ กล่าวคือ การประเมินโครงการจะทำให้ผู้บริหารได้ทราบถึงอุปสรรค ข้อดี ข้อเสีย ความเป็นไปได้และแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินโครงการ โดยข้อมูลดังกล่าวแล้วช่วยทำให้ผู้บริหารตัดสินใจว่าจะดำเนินโครงการนั้นต่อไป หรือจะยุติโครงการนั้นเสีย นอกจากนั้นผลของการประเมินโครงการอาจเป็นข้อมูลอย่างสำคัญ ในการวางแผนหรือการกำหนดนโยบายของผู้บริหารและฝ่ายการเมือง

โดยความหมายและการประเมินโครงการ มีความสำคัญดังกล่าวอาจวิเคราะห์ได้ว่าการประเมินโครงการเป็นงานที่มีความละเอียดละออมากกว่าการวางแผน กล่าวคือ ในขณะที่การวางแผนเป็นการคาดคะเนไว้ แต่การประเมินโครงการเป็นการเสาะแสวงหาข้อเท็จจริง จะต้องแสวงหาทั้งที่มองเห็น จับต้องได้ และสิ่งที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ ฉะนั้นการประเมินโครงการ จึงมีความยากลำบาอยู่ในตัว ที่ผู้ประเมินจะต้องพยายามเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงเหล่านั้นให้ได้ ข้อมูลที่เป็นจริงมากที่สุด ทั้งนี้เพื่อจะได้นำไปตัดสินใจบริหารโครงการให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ การประเมินโครงการจะต้องกระทำกันอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องจึงจะทำให้โครงการที่กำหนดไว้ บรรลุถึงเป้าหมายและตัดสินใจดำเนินงานที่มีความถูกต้องสมดังคำกล่าวที่ว่า การประเมินโครงการ เป็นการวิเคราะห์การดำเนินงานอย่างมีระบบที่ไม่เพียงแต่นำข้อมูลที่วิเคราะห์แล้วนั้น ไปใช้ตัดสินใจหลังจากโครงการนั้นสิ้นสุดลง แต่ยังสามารถนำไปใช้ตัดสินใจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนโครงการตลอดไปด้วย

 

แบบของการประเมินโครงการ

การประเมินผลสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 แบบ คือ

1. การประเมินผลแบบ System Approach คือ การประเมินผลทั้งระบบของโครงการ เกณฑ์พิจารณาที่เชื่อว่าจะสามารถครอบคลุมโครงการได้ทุกแง่ทุกมุมและสนับสนุนการประเมินผลระบบ System Approach Model ให้พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ 5 ประการ คือ

1. ประสิทธิภาพ (Efficiency) คือการวัดประสิทธิภาพ และสมรรถภาพในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระหว่างดำเนินงาน และเมื่อโครงการเสร็จสิ้นแล้ว

2. คุณภาพ (Quality) คือ การประเมินเกี่ยวกับคุณภาพของการปฏิบัติงานและผลที่ได้รับจากโครงการว่าตรงตามมาตรฐานที่ต้องการหรือไม่

3. ค่าทางเศรษฐกิจและการเงิน (Economic and Financial Assessment) คือ การพิจารณาว่า โครงการไหนจะให้ผลคุ้มกับการลงทุน โดยพิจารณาผลที่ได้รับมาเปรียบเทียบกับทุนที่ได้ลงไป ซึ่งการประเมินในแง่นี้จะเป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายในระหว่างดำเนินการ

4. การบรรลุจุดหมาย (Goal Attainment) คือ การพิจารณาถึงผลของโครงการว่าได้แก้ปัญหาที่ต้องการมากน้อยเพียงใด และเป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้หรือไม่

5. ความสำคัญ (Significant) คือ การพิจารณาถึงผลกระทบต่างๆ โดยทางตรง และทางอ้อมอันอาจเกิดขึ้นในขณะดำเนินการ และเมื่อโครงการเสร็จสิ้นไปแล้ว ผลกระทบเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็ได้

2. การประเมินผลแบบ Goal Attainment Model คือ การประเมินผลโครงการพิจารณาเฉพาะวัตถุประสงค์ของโครงการ ว่าได้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่ การประเมินผลแบบนี้จึงเป็นเพียงการวัดผลสำเร็จของการดำเนินงานว่าสามารถส่งผลให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ได้คาดการณ์ไว้เพียงใดหากไม่เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ มีผลเนื่องมาจากสาเหตุใด มีปัญหาหรืออุปสรรคใดที่ทำให้การดำเนินงานไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายนั้นได้

ขอบข่ายของการพิจารณาในการประเมินผลแบบ Goal Attainment Model นั้น สามารถพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ 2 ประการ คือ

1. การประเมินผล โดยพิจารณาถึงผลที่เกิดขึ้นโดยตรง (First Approach Evaluation) อันเนื่องมาจากโครงการ โดยมีสมมติฐานแห่งความสัมพันธ์ (Linkage Hypothesis) ของปัจจัยที่ลงทุนไป (Input) กับผลที่ต้องการ (Output) ตัวอย่างเช่น โครงการสร้างระบบชลประทาน ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ ผลโดยตรงที่ปรากฏคือ พื้นที่เกษตรกรรมได้รับน้ำจากระบบชลประทานนั้น

2. การประเมินผลสืบเนื่องหรือผลกระทบต่อพฤติกรรมทางสังคมโดย

ทางอ้อม (Socio-Psychogical Evaluation) คือ พิจารณาให้ลึกซึ้งลงไปอีก นอกเหนือจากผลประโยชน์โดยตรงของโครงการ เช่น เมื่อระบบชลประทานเสร็จสมบูรณ์สามารถส่งน้ำไปเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี ก็จะมีผลกระทบทางอ้อมทำให้เกษตรกรส่วนมากสามารถเพาะปลูกข้าวได้ผลผลิตสูงขึ้น อันเป็นผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นก็ถือได้ว่าเป็นผลที่ได้รับทางอ้อมจากโครงการชลประทานนั้น เป็นต้น

ช่วงเวลาของการประเมินโครงการ

1. การประเมินผลก่อนเริ่มโครงการ (Pre-Evaluation) เป็นการประเมินผลเพื่อพิจารณาตัดสินใจเลือกโครงการที่ดี และเหมาะสมที่สุดไปดำเนินงานอาจจะเป็นการศึกษาถึงความเป็นไปได้ของแนวทาง และวิธีปฏิบัติในลักษณะทางเลือก (Alternatives) ต่างๆ การประเมินค่าของผลการลงทุนและประโยชน์ที่จะได้รับ การตรวจสอบคุณภาพของโครงการในลักษณะต่างๆ อาทิ ความเป็นไปได้ของผลกระทบที่มีต่อระบบเศรษฐกิจสังคม

2. การประเมินผลระหว่างดำเนินงาน (On-going Project Evaluation) คือ การประเมินผลระหว่างดำเนินการ ของโครงการในช่วงใดช่วงหนึ่ง ซึ่งฝ่ายบริหารเห็นว่าเหมาะสมที่จะทำการติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน การประเมินผลในลักษณะเช่นนี้จะช่วยให้ทราบถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานว่ามีผลสำเร็จเพียงไร เมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมาย หากมีความล่าช้าจะมีสาเหตุมาจากอะไร สมควรที่จะได้รับการแก้ไขด้วยวิธีการใด เพื่อให้โครงการดังกล่าวลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย นอกจากนี้การประเมินผลระหว่างดำเนินงานยังเป็นเครื่องชี้ว่า แผนงานหรือโครงการมีความสมบูรณ์ถูกต้องใกล้เคียงความจริงมากน้อยเพียงใด เมื่อได้ข้อมูลในเรื่องนี้ ผู้รับผิดชอบโครงการก็อาจปรับแผนงานหรือโครงการให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้ ดังนั้นการประเมินผลในลักษณะนี้จึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในระบบการบริหารโครงการในปัจจุบัน

3. การประเมินผลเมื่อผลเสร็จสิ้นโครงการ(Post Evaluation) คือ การประเมินผลเมื่อโครงการเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อหาข้อสรุปว่ามีการดำเนินงานตามโครงการได้ผลประการใด คุ้มกับการลงทุนหรือไม่ โครงการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างไร และเป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่ได้กำหนดไว้เบื้องต้นอย่างไร การประเมินในขั้นตอนนี้จะมีผลช่วยในการตัดสินใจ สำหรับโครงการใหม่ๆ ซึ่งมีลักษณะเหมือนหรือใกล้เคียงกับโครงการที่ได้ทำการประเมินผลนี้ตามเป้าหมายแล้ว ผลงาน (Output) ตามเป้าหมายดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือเปล่า การวัดผลการบรรลุเป้าหมาย (Target Achievement) นั้น อาจพิจารณาในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. ผลิตผล (Production) ที่เสร็จแล้วของโครงการ

2. กิจกรรม (Activity) ที่ผู้รับบริการใช้เนื่องจากโครงการนั้น

3. ภาระหนักเบาในการให้ประโยชน์ของโครงการ

4. ผลิตผลที่ได้เปรียบเทียบกับปัจจัยการผลิต

5. ประสิทธิผลของโครงการ

เกณฑ์พิจารณาในการประเมินโครงการ

ในการประเมินผลโครงการโดยทั่วๆ ไปที่ปฏิบัติกันอยู่นั้นมักจะทำให้รูปของการศึกษาพิจารณาเพียงว่า โครงการนั้นปฏิบัติเสร็จตามเป้าหมาย (Target) ที่กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งเป็นการพิจารณาดูเพียงผลงาน (Output) ของโครงการเท่านั้น ความจริงแล้วการพิจารณาเพียงเป้าหมายหรือผลงานของโครงการเพียงอย่างเดียว เป็นการศึกษาโครงการอย่างผิวเผินเท่านั้น และการที่จะเอาส่วนย่อยเพียงเล็กน้อยมาสรุปว่าเป็นภาพของส่วนรวม (Total Picture) แล้ว ก็ไม่น่าจะสมเหตุสมผลนัก

เพื่อประโยชน์ที่จะให้ได้ผลการประเมินที่สมเหตุสมผล และมองเห็นสภาพของโครงการได้อย่างชัดเจน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจว่า ควรทำโครงการนั้นต่อไปหรือไม่ ควรจะปรับปรุงวิธีการดำเนินงาน ตลอดจนทิศทางในการดำเนินงานอย่างไร จึงจะบรรลุตามเป้าหมาย หรือว่าควรจะต้องมีโครงการอื่นใดเพิ่มเติมขึ้นมาอีก เพื่อช่วยสนับสนุนหรือแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากโครงการนั้น นักวิชาการทั้งหลายจึงพยายามคิดหาเกณฑ์ (Criteria) พิจารณาโครงการเพื่อให้มองเห็นภาพรวมขึ้น เกณฑ์ดังกล่าวพอสรุปได้ 8 ประการ ดังนี้

1. เกณฑ์พิจารณาด้านการบรรลุเป้าหมาย (Target Achievement) เป็นการพิจารณาในเรื่องนี้ก็คือ การมองดูแผนการหรือโครงการสวนขึ้นไปว่า โครงการหรือแผนงานนั้นได้กำหนดอะไรไว้บ้าง โดยปกติแผน หรือโครงการจะกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ กล่าวคือ โครงการจะระบุว่าต้องการอะไร มีประมาณเท่าไร ซึ่งถือเป็นเป้าหมายของโครงการเมื่อสำเร็จ ความเป็นไปได้ของระบบบริหาร (Management System) ความพร้อมเพรียงของปัจจัยต่างๆ การประเมินผลก่อนเริ่มโครงการโดยปกติจะใช้กับโครงการใหญ่ๆ ที่ไม่เคยดำเนินการมาก่อนและจะมีผลกระทบถึงความเป็นอยู่ของประชาชน สังคมและใช้เงินงบประมาณสูง นอกจากนี้อาจจะนำข้อมูลต่างๆ ของโครงการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และได้เคยดำเนินการมาแล้ว มาศึกษาวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ และความเหมาะสมของโครงการมีความสมบูรณ์พร้อมที่จะดำเนินการในขั้น Implementation ได้

2. เกณฑ์พิจารณาด้านเศรษฐกิจ (Economic Justification) โดยอาจพิจารณาจากกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจในด้านต่างๆ เช่น การผลิตเพิ่มขึ้น การบริโภคมากขึ้น การแจกจ่ายทั่วถึงของรายได้และการตอบสนองความต้องการของประชาชนโดยส่วนรวม เป็นต้น

3. เกณฑ์พิจารณาด้านสังคม (Social Objectives) เป็นการพิจารณาดูว่า โครงการนั้นได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม ตามวัตถุประสงค์กำหนดไว้หรือไม่ เป็นโครงการที่ไปขัดกับความเชื่อประเพณีและวัฒนธรรม ตลอดจนค่านิยมและทัศนคติของประชาชนในเขตนั้น หรือไม่เพียงใด เช่น โครงการด้านการเกษตร อาจมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานตามโครงการนี้ ชาวบ้านอาจไม่ยอมรับเทคนิคตลอดจนพืชพันธุ์ใหม่ๆ เกิดการต่อต้าน ทำให้โครงการต้องล้มเหลวไป เป็นต้น

4. เกณฑ์พิจารณาด้านการเมือง (Political Criterion) คือ การพิจารณาผลกระทบทางด้านการเมืองที่มีต่อโครงการ และผลของโครงการที่มีต่อการเมือง อาจพิจารณาได้ 2 ประเด็น คือ

ก. External Political Environment ได้แก่

- ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

- การรับและให้ความช่วยเหลือ

- การรักษาผลประโยชน์ระหว่างประเทศ

- ความมั่นคงของชาติ

ข. Internal Political Environment ได้แก่

- โครงการก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มผล

ประโยชน์ใดหรือไม่ หรือก่อให้เกิดการขัดแย้งระหว่างกลุ่มหรือไม่ เช่น ความขัดแย้งระหว่างชาวชนบทกับในเมือง หรือข้าราชการกับประชาชน เป็นต้น

- โครงการมีผลต่อประสิทธิภาพ ทางการปกครอง

หรือการบริหารของรัฐหรือไม่

5. เกณฑ์พิจารณาด้านการเงิน (Financial Analysis) เป็นการวิเคราะห์ดูว่า โครงการได้ใช้จ่ายเงินไปคุ้มค่ากับผลประโยชน์ที่ได้หรือไม่ ตลอดจนใช้จ่ายเงินและปัญหาด้านการเงินต่างๆ

การวิเคราะห์ด้านการเงินอาจพิจารณาวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

- แหล่งเงิน คือดูว่าโครงการได้เงินมาจากแหล่งใด เพียงพอหรือไม่ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

- Benefit/Cost Ratio เป็นการวิเคราะห์ดูผลประโยชน์ของโครงการเปรียบเทียบกับทุนที่ใช้จ่ายไป

- Cost Effectiveness เป็นการวิเคราะห์ถึงการใช้เงินให้ได้รับประโยชน์สูงสุด

- ปัญหาด้านการเงินอื่นๆ เช่น ปัญหาค่าของเงินเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตสูง

6. เกณฑ์พิจารณาด้านเทคนิค (Technical Soundness) คือการพิจารณาประเมินดูเทคนิคการดำเนินการตามโครงการว่าถูกต้องหรือไม่ ผลของงานมีลักษณะตรงตามกำหนดไว้หรือไม่

7. เกณฑ์พิจารณาด้านการบริหาร (Managerial Capability) คือ การพิจารณาถึงกระบวนการบริหารงานว่า โครงการนั้นได้มีระบบการบริหารที่เกื้อกูลหรือเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของโครงการนั้นมากน้อยเพียงใด การพิจารณาอาจจะยึดหลักและแนวทางในการบริหารโครงการมาพิจารณาก็ได้ นอกจากนี้ควรพิจารณาในด้านต่างๆ อีก เช่น

- การวางแผน

- การร่วมมือประสานงาน

- การบริหารงานบุคคล การใช้คน ขวัญและกำลังใจใน

การปฏิบัติงาน ฯลฯ

- การจัดองค์กร

- การจัดหน่วยงาน หรือโครงการที่ต่อเนื่อง หรือ

สนับสนุนโครงการ เป็นต้น

8. เกณฑ์พิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Study) เป็นการศึกษาดูว่าโครงการนั้นจะมีผลสภาพแวดล้อม หรือสิ่งแวดล้อมในชุมชนหรือในสังคมมากน้อยเพียงใด เช่น ภาวะอากาศเป็นพิษ ควันพิษ น้ำเน่า หรือเกิดสารพิษ เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แผนภูมิที่ 1 เกณฑ์พิจารณาในการประเมินโครงการ









 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

2. การดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านตามนโยบายรัฐบาล

2.1 บทนำ

นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งได้แถลงต่อรัฐสภาในการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งละ 1 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการลงทุนสร้างอาชีพและรายได้ ให้แก่ประชาชนในชุมชน และวิสาหกิจขนาดเล็กในครัวเรือน

นโยบายดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ควรประกอบด้วยหลักสำคัญ 4 ประการ คือ

1. ความพร้อมของหมู่บ้านและชุมชนเมือง ทั้งความพร้อมของคนและครัวเรือน การควบคุม ดูแลกันเองในหมู่บ้านและชุมชน ประสบการณ์ในการบริหารจัดการกองทุนสังคมของหมู่บ้านและชุมชนเมืองเอง เช่น กลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารหมู่บ้านกองทุนอาชีพ กองทุนสวัสดิการ ฯลฯ

2. การบริหารจัดการเงินกองทุนหมุนเวียนของหมู่บ้าน ทั้งในส่วนเงินอุดหนุนจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกับกองทุนทางสังคมของชุมชนและกองทุนที่หน่วยราชการจัดตั้งขึ้น เพื่อให้กองทุนดังกล่าวมีการบริหารจัดการให้สอดรับและเกื้อกูลกัน

3. การปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน ตามแนวทางให้หมู่บ้าน/ชุมชนเมืองเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา การพัฒนาเป็นของหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยส่วนราชการเป็นผู้สนับสนุนในด้านวิชาการและจัดการกองทุน

4. การติดตามและประเมินผล โดยมีตัวชี้วัดประสิทธิภาพของ

กองทุน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพึ่งพาตนเอง เพื่อความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ

กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง คือ กองทุนที่เกิดขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลโดยรัฐบาลได้จัดสรรเงินอุหนุนให้แก่หมู่บ้านและชุมชนเมือง ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนภายในหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยแบ่งออกเป็น 2 ระดับกองทุน คือ

1. กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เป็นกองทุนรวมใน

ระดับชาติเพื่อจัดสรรให้แก่หมู่บ้านและชุมชนเมือง

2. กองทุนหมู่บ้านและกองทุนชุมชนเมือง คือ กองทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านและชุมชนเมืองเมื่อเริ่มก่อตั้งจะได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ หมู่บ้านและชุมชนเมืองละประมาณ 1 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนเมืองบริหารจัดการกันเอง

วัตถุประสงค์กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง คือ

1. เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านและชุมชนเมืองสำหรับการลงทุน

เพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้หรือเพิ่มรายได้ การลดรายจ่าย การบรรเทาเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน และสำหรับการนำไปสู่การสร้างกองทุนสวัสดิการที่ดีแก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชน

2. ส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีขีดความสามารถในการจัดระบบ และบริหารจัดการเงินทุนของตนเอง

3. เสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตัวเองของหมู่บ้านและชุมชนเมือง ในด้านการเรียนรู้ การสร้างและพัฒนาความคิดริเริ่ม เพื่อการแก้ไขปัญหา และเสริมสร้างศักยภาพ และส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้านและชุมชนเมือง

4. กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศ รวมทั้งเสริมสร้าง

ภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต

5. เสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม

ของประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง

2.2 ระเบียบที่เกี่ยวข้อง

1. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2544

2. ระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2544

 

 

2.3 กลไกในการบริหารกองทุน

2.3.1 ระดับชาติ

1. คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

(กทบช.) มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย แผนการดำเนินงาน

2. สำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ

3. คณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้าน

และชุมชนเมืองประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และตัวแทนประชาชนเป็นองค์ประกอบ มีหน้าที่ในการปฏิรูประบบราชการ บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะอนุกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านระดับจังหวัด และคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและคณะกรรมการชุมชนเมือง

2.3.2 ระดับจังหวัด

มีคณะอนุกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านระดับจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบผลการประเมินความพร้อมของกองทุน ซึ่งผ่านการประเมินของคณะอนุกรรมการระดับอำเภอ และสนับสนุนการเตรียมความพร้อม ติดตาม ตรวจสอบ สนับสนุนด้านวิชาการ และการจัดการแก่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและคณะกรรมการกองทุนชุมชนเมือง พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับอำเภอ

2.3.3 คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

ประกอบด้วยตัวแทนของกลุ่ม องค์กรประชาชน และประชาชนในหมู่บ้าน หรือชุมชน ซึ่งได้มาโดยวิธีชาวบ้านเลือกกันเองในหมู่บ้าน หรือชุมชน จำนวน 15 คน

 

 

 

แผนภูมิที่ 2 โครงสร้างกลไกในการบริหารกองทุน









 





 

2.4 แนวทางการดำเนินงานตามภารกิจของคณะกรรมการสนับสนุนและติด

ตามการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านระดับจังหวัด

2.4.1 เตรียมกลไกในระดับจังหวัด

คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัด อาศัยความตามข้อ 14 ของระเบียบคณะกรรมการว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2544 (ในภาคผนวก ก.) จัดตั้งอนุกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านระดับจังหวัด และอาจจัดตั้งศูนย์ประสานงานคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัด เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะอนุกรรมการ

อาศัยความตามข้อ 15 ให้คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัดแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับอำเภอ แต่งตั้งคณะทำงานเครือข่ายชุมชนระดับอำเภอ และแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัด

2.4.2 การประชาสัมพันธ์และเตรียมประชาชน

คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัด และอำเภอ ประชาสัมพันธ์โดยสื่อในจังหวัดและอำเภอรวมทั้งการประชุมชี้แจงผู้นำหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้เข้าใจเกี่ยวกับการจัดตั้งและบริหารกองทุนตามระเบียบของคณะกรรมการกำหนด

2.4.3 การจัดตั้งคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและคณะกรรมการกองทุนชุมชนเมือง

ในการเปิดเวทีชาวบ้าน เพื่อการดำเนินการเลือกสรรคณะกรรมการกองทุน อาศัยความตามข้อ 41 ของระเบียบคณะกรรมการให้คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัด และระดับอำเภอทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำตลอดจนสนับสนุนในการเลือกสรรให้ดำเนินไปด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม พร้อมทั้งติดตามเกณฑ์การณ์คัดเลือกคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและคณะกรรมการกองทุนชุมชนเมือง

 

 

2.4.4 การขึ้นทะเบียนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัด ต้องรับขึ้นทะเบียนกองทุนตามระเบียบและวิธีการปฏิบัติที่คณะกรรมการกำหนด ดังนี้

(1) คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัด มอบหมายให้ธนาคารสาขาทำหน้าที่แทนในการรับขึ้นทะเบียนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

(2) คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน หรือคณะกรรมการกองทุนชุมชนเมือง ยื่นแบบคำขอขึ้นทะเบียน และประเมินความพร้อมกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง

(3) ธนาคารสาขาที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทน รับขึ้นทะเบียนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง แล้วรวบรวมเป็นทะเบียนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ส่งให้ธนาคารสาขาจังหวัดเพื่อส่งต่อคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัด และส่งให้ธนาคารสำนักงานใหญ่ เพื่อส่งต่อคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

(4) คณะกรรมการ พิจารณาแล้วมีประกาศรับรองสถานภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ขึ้นทะเบียน พร้อมบัญชีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแนบท้ายประกาศ

2.4.5 การประเมินความพร้อมกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

(1) มอบหมายให้ธนาคารสาขา รวบรวมแบบคำขอขึ้นทะเบียนและประเมินความพร้อมของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง พร้อมตรวจสอบข้อมูล ตามหัวข้อการประเมินข้อที่ 4 ระเบียบข้อบังคับในการดำเนินงานกองทุน ข้อที่ 6 การปฏิบัติตามระเบียบของสมาชิกและข้อที่ 7 การเปิดบัญชีเงินฝากของกองทุน ตามแนวทางและวิธีการประเมินความพร้อมตามที่คณะกรรมการกำหนด แล้วนำส่งให้คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับอำเภอ

(2) คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับอำเภอ ประเมินความพร้อมกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ร่วมกับชุมชนในส่วนหัวข้อการประเมินที่เหลือตามแนวทางและวิธีการประเมินความพร้อมตามที่คณะกรรมการกำหนด แล้วสรุปผลการประเมินความพร้อมกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และจำนวนประเภทของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

(3) คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับอำเภอ แจ้งผลการประเมินโดยจำแนกประเภทตามแบบสรุปผลการประเมินความพร้อมจำแนกประเภทของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัด เพื่อให้ความเห็นผลการประเมินความพร้อมของกองทุน พร้อมแจ้งสรุปผลการประเมินความพร้อมของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและคณะกรรมการกองทุนชุมชนเมืองทราบ

(4) คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัด แจ้งผลการประเมินความพร้อมกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่พิจารณาความเห็นผลการประเมินความพร้อมของกองทุนแล้ว แบบสรุปผลการประเมินความพร้อมจำแนกประเภทกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแก่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

(5) คณะกรรมการพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบ การอุดหนุนเงินกองทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านและกองทุนชุมชนเมือง ประกาศพร้อมแจ้งให้ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่เพื่อโอนเงินและคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัดทราบ

(6) คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัด แจ้งผลอนุมัติแก่กองทุนหมู่บ้านและกองทุนชุมชนเมือง ติดต่อธนาคารเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการทำหลักฐานการรับเงินอุดหนุน

2.4.6 การเตรียมความพร้อมกองทุนหมู่บ้านและกองทุนชุมชนเมือง ในกลุ่มที่ยังไม่ผ่าน การประเมินความพร้อม

(1) การเตรียมความพร้อมตามองค์ประกอบตัวชี้วัดการประเมินความพร้อมซึ่งมีกระบวนการเตรียมความพร้อมตามแผนภูมิ ดังนี้

 

 

 

 

 

 

 

แผนภูมิที่ 3 กระบวนการเตรียมความพร้อมของกองทุนหมู่บ้าน



กลุ่มที่มีความพร้อม กลุ่มที่ต้องปรับปรุง กลุ่มที่ต้องติดตาม

ดูแลใกล้ชิด

เตรียมความพร้อม เตรียมความพร้อม















เริ่มดำเนินกิจกรรม

พิจารณาให้กู้แก่สมาชิก

(2) การเตรียมความพร้อมตามองค์ประกอบอื่นๆ เช่น แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองกับการพัฒนาสินค้าและการตลาด ทั้งที่เป็นสินค้าประเภทผลิตผลและผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้านชุมชน การสร้างงาน สร้างรายได้ และสวัสดิการสังคมของหมู่บ้าน และชุมชน รวมทั้งการขยายความร่วมมือในลักษณะเครือข่ายของการพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

(3) การเตรียมความพร้อมตามองค์ประกอบ (1) และ (2) เตรียมความพร้อมโดย

(3.1) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเตรียมเอง

(3.2) เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

(3.3) ภาคราชการ

(3.4) ภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน

(3.5) ผสมผสานการสนับสนุนทั้ง (3.1) – (3.4)

(4) วิธีการเตรียมความพร้อม

(4.1) สร้างกระบวนการเรียนรู้ และเครือข่ายกระบวนการเรียนรู้ ระหว่างกลุ่มที่มีความพร้อมกับกลุ่มที่จะต้องเตรียมความพร้อม

(4.2) การฝึกอบรมทางด้านวิชาการและการจัดการ

(4.3) สร้างเครือข่ายกิจกรรมระหว่างกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และส่วนราชการเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ต้องติดตามดูแลใกล้ชิด

2.4.7 การรับรองกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ผ่านกระบวนการ

เตรียมความพร้อม เมื่อคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับอำเภอ ได้รับแจ้งจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ได้เตรียมความพร้อมแล้วให้ดำเนินการตรวจสอบแล้วรายงานตามลำดับขั้นต่อไป

2.4.8 การติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่ได้รับเงินอุดหนุนแล้ว เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการ ว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2544 โดยให้มีการติดตาม ตรวจสอบ และรายงานคณะกรรมการ โดยมีประเด็นในการติดตาม ตรวจสอบ ดังนี้

(1) การจัดการองค์กรและแผนการดำเนินงาน กิจกรรมของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

(2) ความโปร่งใสในการบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

(3) ปัญหาด้านวิชาการ และการจัดการ

2.4.9 สำหรับหมู่บ้านที่ต้องการรับการช่วยเหลือเพื่อเตรียมความพร้อมและขอรับการสนับสนุนด้านวิชาการ และการจัดการ ให้คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัดและอำเภอ นำข้อมูลจากการติดตามตรวจสอบ และความต้องการสนับสนุนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง มาจัดทำแผนสนับสนุนวิชาการและการจัดการโดย

(1) บูรณาการระบบการทำงาน แผนงานโครงการ กิจกรรมและงบประมาณทั้งในส่วนของทางราชการ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อสนับสนุนกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองตามสภาพปัญหา ศักยภาพ และความต้องการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

(2) ใช้ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรชุมชน ซึ่งเป็นโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีตลอดจนศูนย์เรียนรู้ชุมชนอื่นๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่เป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนวิชาการและการจัดการ

(3) เสนอระบบการทำงานแผนงานโครงการ กิจกรรม และงบประมาณในส่วนที่เกินขีดความสามารถในการบูรณาการภายในจังหวัด แก่คณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ผ่านสำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเพื่อพิจารณาสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพ และขีดความสามารถของคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัด ในการทำหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านวิชาการ และการจัดการแก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ

2.4.10 การประชาสัมพันธ์ ให้คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัดและอำเภอดำเนินการโดยมีแนวทางการประชาสัมพันธ์ ดังนี้

(1) การประชาสัมพันธ์ ในแนวกว้าง เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงนโยบายหลักสำคัญของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตลอดจนการสร้างจิตสำนึกของประชาชน

(2) การประชาสัมพันธ์ในแนวลึก เกี่ยวกับเนื้อหาของระเบียบที่เกี่ยวข้องขั้นตอนและความก้าวหน้าในการดำเนินงาน

(3) การประชาสัมพันธ์เพื่อกระบวนการเรียนรู้ในช่วงที่มีการ

เตรียมความพร้อมและการดำเนินงานบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

(4) การประชาสัมพันธ์เพื่อการติดตามประเมินผลและผลสัมฤทธิ์ตามนโยบาย

แผนภูมิที่ 4 สรุปขั้นตอนตามแนวทางการดำเนินงานตามภารกิจของคณะอนุกรรมการ

สนับสนุนและติดตามการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านระดับจังหวัด


3. งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

อภิชัย พันธเสน และดวงมณี เลาวกุล (2537) ทำการศึกษาเรื่องคุณภาพชีวิตคนไทยในคริสต์ศตวรรษหน้า ได้เสนอปัจจัยที่ใช้ประกอบการพิจารณาคุณภาพชีวิตของคนไทย 8 ประการ คือ

1. ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ความสามารถในการผลิต

2. ปัจจัยความมั่นคงทางการเมือง ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนแก้ไขปัญหาของเขาเอง

3. ปัจจัยทางด้านโครงสร้างประชากร ได้แก่ การกระจายรายได้ (เศรษฐกิจ และสังคม)

4. ปัจจัยด้านความเป็นเมือง ได้แก่ การขยายตัวเมือง

5. ปัจจัยด้านความพร้อมในการตั้งรับ และปรับตัวต่อสภาพการเปลี่ยนแปลง

6. ปัจจัยด้านปริมาณและคุณภาพทรัพยากร

7. ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

8. ปัจจัยด้านปริมาณและคุณภาพของการศึกษา

ภูมิธรรม เวชยชัย (2527) ทำการศึกษาบทบาทขององค์การอาสาสมัครเอกชนในการสร้างสถาบันเกษตรเพื่อการพัฒนา : ศึกษากรณีการสร้างกลุ่มธนาคารข้าวขององค์การอนุเคราะห์เด็กเปรียบเทียบอ้างอิงการสร้างกลุ่มธนาคารข้าวของกรรมการพัฒนาชุมชน พบว่า ความสามัคคีและเอกภาพในการทำงานของผู้นำ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ระบบการทำงานแบบกระจายอำนาจ แบ่งงานกันทำและไม่ก้าวก่ายกัน ทำให้ทีมงานมีประสิทธิภาพ ความเชื่อมั่นในความสามารถของผู้นำแต่ละคน การประชุมสม่ำเสมอ รู้จักประยุกต์ และอาศัยกลไกของชุมชนใช้ให้เป็นประโยชน์มีผลให้กลุ่มเจริญก้าวหน้า

Keawcasit (1985) ทำการศึกษาเรื่องบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการชุมชนในสลัมที่กำลังยกระดับในกรุงเทพมหานคร พบว่า บทบาทหน้าที่ของกรรมการชุมชนในฐานองค์กรประชาชนสรุปได้ 5 ประการ คือ การกระจายข่าสารภายในชุมชน การนำเสนอปัญหาและแก้ไขปัญหาของชุมชน ชักจูงให้ประชาชนมีส่วนร่วม สอบถามความคิดเห็นประชาชนและประสานงานหน่วยงานภายนอก

พิมาน วงศ์อภัย (2533) ทำการศึกษาเรื่องปัจจัยส่งเสริมให้องค์กรประชาชนสามารถพึ่งตนเอง : กรณีศูนย์บริการสมาชิกนิคมสร้างตนเองโนนสังข์ อำเภอโนนสังข์ จังหวัดอุดรธานี พบว่า คณะกรรมการบริหารศูนย์บริการสมาชิกนิคมสร้างตนเองโนนสังข์ ได้พยายามปรับปรุงกิจกรรมหลายอย่าง เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในชุมชนโดยจัดตั้งกองทุนปุ๋ย ข้าว โรงสีข้าว และร้านค้าประจำหมู่บ้านทำให้จำนวนสมาชิกที่ไปกู้ยืมเบงินทุนจากพ่อค้า และบุคคลภายนอกลดน้อยลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในศูนย์บริการนิคมสร้างตนเองโนนสังข์ขึ้นอยู่กับความพร้อม อำนาจการตัดสินใจ และบทบาทในการดำเนินงานของคณะกรรมการ ได้แก่ การใช้ข้อมูลข่าวสาร การออกเยี่ยมสมาชิกในหมู่บ้าน การเป็นที่ปรึกษาแก่สมาชิก การติดต่อประสานงานกับสังคมภายนอก การชักนำ หรือการโน้มน้าวให้ผู้อื่นมาร่วมกันทำงานเพื่อส่วนรวมเป็นสำคัญ

จากการทบทวนเอกสารและการศึกษาที่เกี่ยวข้องจะเห็นได้ว่าการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านตามนโยบายรัฐบาล มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้หรือเพิ่มรายได้ การลดรายจ่าย การบรรเทาเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน และนำไปสู่การสร้างกองทุนสวัสดิภาพที่ดีแก่ประชาชนในหมู่บ้าน ส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านให้มีขีดความสามารถในการจัดระบบ และบริหารจัดการการเงินทุนของตนเอง เสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตัวเองของหมู่บ้าน ในด้านการเรียนรู้ การสร้างและพัฒนาความคิดริเริ่มเพื่อแก้ไขปัญหา และเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้าน ตลอดจนความเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในหมู่บ้านและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศ รวมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต ซึ่งกลไกในการบริหารกองทุนมีทั้งระดับชาติ โดยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบช.) สำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับจังหวัด โดยคณะอนุกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านระดับจังหวัด และคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จึงถือว่าเป็นโครงการที่ใหญ่ในระดับชาติที่ประกอบด้วยปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดคุณภาพชีวิตของคนไทยได้ คือปัจจัยทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ความสามารถในการผลิต ปัจจัยความมั่นคงทางการเมือง ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนแก้ไขปัญหาของเขาเอง ปัจจัยทางด้านโครงสร้างประชากร ได้แก่ การกระจายรายได้ (อภิชัย พันธเสน และ ดวงมณี เลาวกุล, 2537)

การดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านตามนโยบายรัฐบาล หากได้มีการนำกระบวนการในการเก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลของการดำเนินตามวัตถุประสงค์โครงการอย่างมีระบบเพื่อตัดสินใจว่าจะปรับปรุงโครงการ ดำเนินการต่อ หรือยกเลิกโครงการหรือไม่ น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้อง ฉะนั้นคณะนักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยาบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดอำนาจเจริญ จึงได้ประเมินการตอบสนองวัตถุประสงค์การดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านด้านความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมชุมชนครั้งนี้ขึ้น โดยมีกรอบแนวคิดในการศึกษา ดังแผนภูมิที่ 5

แผนภูมิที่ 5 กรอบแนวคิดในการศึกษา

ตัวแปรตาม

ตัวแปรต้น




 

Hosted by www.Geocities.ws

1