บทนำ

บทที่ 1

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

จากสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศชาติในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผลกระทบด้านความยากจนของประชาชนในชนบทและชุมชนเมือง ซึ่งความยากจนของประชาชนในชนบทและชุมชนเมือง คือ การไม่มีทุนและขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อนำมาพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย ตลอดจนบรรเทาเหตุฉุกเฉินและความจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาล (ซึ่งนำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี) จึงมีเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขปัญหาความยากจน โดยได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนในการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สำหรับเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งเพื่อให้ท้องถิ่นมีขีดความสามารถในการจัดระบบและบริหารจัดการเงินกองทุนของตนเอง เพื่อสร้างศักยภาพในการสร้างเสริมความเข้มแข็งของสังคม และด้านเศรษฐกิจของประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนเมืองสู่การพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนอันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศรวมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต (สำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ, 2544)

การประเมินกระบวนการปฏิบัติและติดตามงาน (Monitoring and Implementation on Evaluation) ในโครงการนับว่ามีส่วนสำคัญยิ่งที่จะช่วยให้ผลงานของโครงการประสบผลสำเร็จ การดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านตามนโยบายรัฐบาล เริ่มดำเนินงานและอนุมัติเงินกู้ในปี 2544 และยังมีหลายหมู่บ้านที่ยังไม่ผ่านการประเมินความพร้อม จึงยังไม่ได้ดำเนินงาน ฉะนั้นการดำเนินงานนโยบายกองทุนเป็นโครงการที่น่าจะได้มีการประเมินผลเพื่อใช้ในการพัฒนาและตัดสินใจดำเนินการต่อหรือแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นขณะดำเนินงาน ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ผู้ศึกษาสนใจที่จะศึกษาการประเมินความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ : กรณีศึกษานโยบายกองทุนหมู่บ้าน ครั้งนี้ขึ้น

วัตถุประสงค์ของการศึกษา

วัตถุประสงค์ทั่วไป

เพื่อประเมินความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนที่ดำเนินงานนโยบายกองทุนหมู่บ้านในช่วงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

วัตถุประสงค์เฉพาะ

1. เพื่อศึกษาสถานะของกองทุนหมู่บ้าน ในด้านเงินทุนที่อนุมัติให้กู้และ

เงินทุนที่เบิกจ่าย ลักษณะโครงการหรือกิจกรรมที่อนุมัติ วงเงินให้กู้ ระยะเวลาเริ่มกู้ ระยะเวลากำหนดชำระคืน

2. เพื่อศึกษาระดับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนที่

ดำเนินงานกองทุนหมู่บ้าน

3. เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกองทุนต่อการดำเนินงาน

กองทุน

ขอบเขตของการศึกษา

ในการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือในจังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และมุกดาหาร การประเมินความคิดเห็นของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านโดยการสัมภาษณ์ของคณะผู้ศึกษาหลังการดำเนินงานตามนโยบายกองทุนหมู่บ้านของรัฐบาล

 

 

 

นิยามศัพท์

กองทุน หมายถึง กองทุนหมู่บ้านตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดให้เป็นหมู่บ้านตามระเบียบสำนักนายกรัฐานตรีว่าด้วยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2544

คณะกรรมการกองทุนระดับหมู่บ้าน หมายถึง กลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการกองทุนให้บรรลวัตถุประสงค์ที่ได้มาจากการคัดเลือกของประชาชนในหมู่บ้านมีประมาณ 9-15 คน ต่อหมู่บ้าน

ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจชุมชน หมายถึง ความสามารถในการสร้างรายได้ให้สามารถดำเนินชีวิตได้โดยไม่เดือดร้อนหรือดีขึ้นกว่าเดิม ในการศึกษาครั้งนี้ หมายถึง ความเข้มแข็งในการเพิ่มรายได้/ลดรายจ่าย การเพิ่มอาชีพ การสร้างงานในชุมชนของสมาชิกกองทุนที่ได้จากการประเมินของคณะกรรมการกองทุน

ความเข้มแข็งทางสังคมชุมชน หมายถึง ความสามารถในการจัดระบบสังคมตนเองให้สมาชิกสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข ในการศึกษาครั้งนี้ หมายถึงความเข้มแข็งในการบริหารจัดการกองทุนของคณะกรรมการ การพึ่งตนเอง การสร้างระบบคุณธรรมและการแก้ไขปัญหาของสมาชิกกองทุนที่ได้จากการประเมินของคณะกรรมการกองทุน

ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ หมายถึง ภาวะหรือช่วงระยะเวลาที่มีความยากในการหารายได้แต่ยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายหรือค่าใช้จ่ายมีค่าหรือราคาที่สูงขึ้น

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1. เพื่อทราบสถานะกองทุนหมู่บ้านที่ดำเนินงานนโยบายกองทุนหมู่บ้าน

2. เพื่อทราบระดับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน ในหมู่บ้านที่ดำเนินงานนโยบายกองทุนหมู่บ้าน

3. เพื่อทราบข้อเสนอแนะของกรรมการกองทุน ในการดำเนินงานกองทุน

หมู่บ้าน

4. ใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนากองทุนหมู่บ้าน การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในโอกาสต่อไป

Hosted by www.Geocities.ws

1