PS713 เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ

(International Political Economy ) รศ.ดร.พงษ์ศานต์ พันธุลาภ

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม จะพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้

-ความสัมพันธ์ของนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ขาย ผู้บริโภค ดูว่ามีความยุติธรรมหรือไม่ นายจ้างต้องการกำไรสูงสุดกับทุนที่ลงไป ในขณะที่ลูกจ้างก็อยากได้ค่าจ้างมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทำอย่างไรที่จะให้ทั้งสองฝ่ายมาพบกันครึ่งทาง ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างนี้ในท้ายที่สุดแล้วจะต้องมีสหภาพแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้อง

ในส่วนของผู้ขายกับบริโภค ผู้ขายย่อมต้องการกำไรมากในขณะที่ผู้บริโภคก็อยากได้ของดีราคาถูก หรือบางครั้งสินค้าราคาแพงแต่มีคุณภาพดีผู้บริโภคก็ไม่เกี่ยง ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายยังเสียเปรียบประเทศพัฒนาแล้วที่มีสหภาพแรงงานและองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่ทำการคุ้มครองเป็นอย่างดี

การคุ้มครองผู้บริโภคนั้นประเทศตะวันตกและสหรัฐอเมริกาจะคุ้มครองผู้บริโภคของตนมาก นานมาแล้วสหรัฐฯมีปัญหาเรื่องรถฟอร์ดพินโต้ ขับไปดี ๆ แล้วเกิดไฟไหม้จึงมีการเรียกร้องบริษัทฟอร์ดให้จ่ายค่าชดเชยเป็นจำนวนมหาศาล เช่นเดียวกับกรณียางไฟร์สโตนที่มีการปริที่ขอบยางได้ง่าย ทำให้ยางแตกยางระเบิดเกิดอุบัติเหตุเป็นประจำ ก็มีการเรียกร้องค่าชดเชยจำนวนมหาศาลด้วยเช่นกัน หรือเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ฟ้องร้องค่าชดเชยจำนวนหลายล้านดอลลาร์จากบริษัทบุหรี่ที่ทำให้คนต้องเสียชีวิต ที่ทำได้เพราะสหรัฐฯเห็นว่าคุณค่าของชีวิตมนุษย์นั้นมีมากกว่าค่าของทรัพย์สิน สิ่งเหล่านี้บ้านเรายังไม่ได้สนใจมากนักแต่ก็เริ่มมีให้เห็นบ้างแล้ว

-การแข่งขันหรือความร่วมมือ การเมืองกับเศรษฐกิจก็ไม่แตกต่างกันนั่นคือต้องมีการแข่งขันและความร่วมมือ เช่น ปั๊มน้ำมันราคาจะเหมือนหรือใกล้เคียงกันมากเพราะร่วมมือกันทำการค้าไม่ได้แข่งขันกัน เห็นได้ว่าปั๊มคาลเท็กซ์ เชลล์ เอสโซ่ ราคาจะเหมือนกัน ปตท.อาจจะต่างกันเล็กน้อย บางจากอาจจะต่างมาอีกนิดหน่อย กล่าวได้ว่าตลาดน้ำมันเป็นตลาดผูกขาดไม่ต่างกับการเมืองที่แข่งขันกันอย่างรุนแรงตอนเลือกตั้ง แต่เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วกลับร่วมมือกันเพราะต่างคนต่างก็อยากเป็นรัฐบาล ดังนั้นเศรษฐกิจกับการเมืองเป็นคนละด้านของเหรียญ

-เท่าเทียมหรือไม่เท่าเทียม สัจธรรมของทุนนิยมคือความไม่เท่าเทียมกัน ปลาใหญ่ต้องกินปลาเล็ก เห็นได้จากร้านโชห่วยหายไปเพราะพ่ายแก่ร้าน 7-11 เมื่อเทียบกับการเมืองคือพรรคใหญ่กินพรรคเล็ก ผู้มีอิทธิพลมากกว่าทางการเมืองย่อมครอบงำผู้ที่มีอิทธิพลน้อยกว่า

ระบบทุนนิยมนั้นไม่เคยให้ความเสมอภาค เปรียบเทียบได้กับนิ้วมือคนเราที่ยังไม่เท่ากัน แล้วจะหาความเสมอภาคจากระบบทุนนิยมได้อย่างไร

-ประชาธิปไตยหรืออำนาจนิยม ระบบทุนนิยมปัจจุบันเน้นประชาธิปไตย แต่ในยุคสงครามเย็นไม่ได้เน้นประชาธิปไตย ไม่สนใจระบบการปกครองด้วยซ้ำ คิดเพียงว่าที่ใดที่ระบบการปกครองมีเสถียรภาพที่นั้นเหมาะสมกับการลงทุน เพราะการเมืองที่มีเสถียรภาพจะทำให้สามารถคาดการณ์ได้ถึงผลกำไรจากทุนที่ลงไปแล้ว

การเมืองที่ไร้เสถียรภาพในตอนนี้ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อาร์เจนติน่า ไม่มีใครอยากไปลงทุน สำหรับเมืองไทยนั้นนักลงทุนยังไม่ตัดสินใจว่าจะมาลงทุนดีหรือไม่ เพราะต้องเปรียบเทียบว่าที่ใดลงทุนแล้วจะได้ผลกำไรมากที่สุด ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับนายกฯว่าจะนำเสนอประเทศไทยแก่นักลงทุนในภาพอย่างไร คู่เปรียบเทียบของไทยที่น่ากลัวคือ เวียดนามที่มาแรงมากในตอนนี้ มาเลเซีย จีน

น่าภูมิใจว่า นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ดีพอสมควร ผู้นำยุคใหม่ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก ตัวอย่าง อินเดียเป็นประเทศที่พัฒนาเรื่องคอมพิวเตอร์อย่างมาก นายกฯทักษิณก็บุกอินเดียเพื่อเจรจาตกลงต่อรองแลกเปลี่ยนกับอินเดียทันทีเรียกว่าทันเกมสหรัฐฯ ตลอดเวลา ตกลงว่าไทยจะช่วยสร้างถนนให้อินเดียช่วยสอนคอมพิวเตอร์ให้ จากนั้นไม่นานไปสหรัฐฯจนสหรัฐฯให้ไทยเป็นศูนย์ผลิตยางรถยนต์ทุกชนิดรวมทั้งล้อเครื่องบินด้วย การที่นายกฯทำงานได้รวดเร็วเพราะเคยเป็นนักธุรกิจมาก่อน จึงจับกระแสโลกได้อย่างรวดเร็ว ประเทศไทยถ้าจะอยู่รอดในระบบทุนนิยมจะมัวช้าอืดอาดเหมือนในอดีตไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

นับตั้งแต่เศรษฐกิจฟองสบู่แตกเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2540 การแข่งขันช่วงชิงอำนาจทางการเมืองยังไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมือง ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะเน้นเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
-ส่วนรวมหรือส่วนตัว ในระบบทุนนิยมจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Private Interest ผลประโยชน์ส่วนตัวอันหมายถึงผลประโยชน์ขององค์กร บริษัท ผลประโยชน์ส่วนรวม (Public Interest) เป็นเรื่องของภาครัฐที่ต้องทำให้มวลชน ซึ่งผลประโยชน์สองส่วนนี้ขัดกัน แต่ปัจจุบันมีกระแสเรียกร้องจากมวลชนทำให้บริษัทเอกชนหลายแห่งเริ่มมองถึงการคืนกำไรสู่สังคม เพราะยิ่งกอบโกยมากความผุกร่อนของสังคมก็ยิ่งมีมาก ทำให้ผู้บริโภคมีกำไรซื้อน้อยผู้ผลิตเองที่จะได้กำไรน้อยในภายหลัง

ตลาดระบบทุนนิยม กล่าวได้ว่าตลาดเป็นหัวใจอีกห้องหนึ่งของระบบทุนนิยม ทุนนิยมปราศจากตลาดไม่ได้ประกอบด้วย

-ระบบตลาดทำงานอย่างไร ดูขนาดของตลาดว่าใหญ่ กลาง หรือเล็ก ระบบการทำงานเป็นระบบผูกขาดหรือเปิดโอกาสให้ทุนเล็กเข้ามาแข่งขันได้

-มีปัจจัยใดเป็นตัวกำหนด เช่น ราคา อุปสงค์ อุปทาน กฎเกณฑ์ที่รัฐกำหนด เช่น Protectionism การกำหนดมาตรฐาน ISO ซึ่งอาจารย์เห็นว่าเป็นการหักหัวคิวข้ามชาติ ต่างชาติฉลาด เมื่อการแข่งขันใดที่ประเทศตนสู้ไม่ได้ก็จะสร้างกฎเกณฑ์การแข่งขันขึ้นมาใหม่ คนเอเชียไม่เคยคิดอะไรเองแต่จะรับและเชื่อในสิ่งที่ฝรั่งพูด

-กำไรและค่าจ้าง

-เทคโนโลยีการผลิตแบบไหน ปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูงในเรื่องเทคโนโลยี ตัวอย่างคือ ประเทศอินเดียไม่ค่อยใช้สินค้าฟุ่มเฟือยมากแต่จะเลือกใช้ที่เหมาะสมกับบ้านเมืองของตน รวมทั้งคิดเทคโนโลยีเองด้วย บังกาลอร์เป็นสุดยอดของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ประธานาธิบดีบิล คลินตันมาเห็นแล้วก็ต้องยกนิ้วให้ (ที่สหรัฐฯอยู่ที่ Silicon Valley บุคลากรส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติมากกว่าคนอเมริกัน) ตอนนี้บังการลอร์นำหน้า Silicon Valley เพราะราคาถูกกว่า ทุนนิยมชอบของถูกจึงส่งข้อมูลมาวิเคราะห์ที่บังกาลอร์เพราะทั้งถูกทั้งรวดเร็ว เหลือราคาประมาณ 1 ใน 3 ของบริษัทที่ปรึกษาในสหรัฐอเมริกา

การที่ประเทศตะวันตกประสบความสำเร็จเป็นมหาอำนาจได้นั้น สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือความรักชาติ คนอเมริกันเป็นตัวอย่างของความรักชาติที่ดี กล่าวคือ หลังเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน ปีที่แล้ว นับเป็นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามอย่างเป็นทางการหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสงครามต่อต้านการก่อการร้าย สื่อมวลชนได้เชิญอัล กอร์ให้ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องการประกาศสงครามแล้วถล่มอัฟกานิสถานของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช อัล กอร์ตอบว่า ถ้าตนเป็นประธานาธิบดีก็คงมีนโยบายที่แตกต่างกันออกไปบ้างเพราะพรรคเดโมแครตมีนโยบายแตกต่างจากพรรครีพับลิกัน แต่ในฐานะที่เป็นอเมริกันชน ตนขอสนับสนุนนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯทุกประการ แน่นอนว่าปรากฏการณ์เช่นนี้ย่อมไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย

สำหรับเทคโนโลยีที่ใช้นั้นไม่จำเป็นต้องทันสมัยเหมือนโลกตะวันตก เช่น สมัยหนึ่งเคยมีความคิดว่าโรงเรียนต้องทันสมัยโดยต้องมีคอมพิวเตอร์ทุกโรงเรียน แม้แต่โรงเรียนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ บางโรงเรียนมีคอมพิวเตอร์ก็จริงแต่ไม่มีใครใช้เป็น ดังนั้นการเลือกใช้เทคโนโลยีต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม

ลักษณะของตลาดทุนนิยม

-ความไม่เท่าเทียมกันด้านค่าจ้าง ก่อให้เกิดพลังผลักดันในการแข่งขันสูง และในขณะเดียวกันยังเป็นพลังผลักดันในการปิดตลาด สร้างนโยบายกีดกันทางการค้า ตัวอย่าง ประเทศไทยผลิตข้าวส่งขายตลาดโลกเมื่อขายไม่ได้จำต้องระบายสินค้าออก การระบายออกนี้ประเทศไทยทำในระบบทุนนิยม ในขณะที่มหาอำนาจระบายสินค้าออกภายใต้ระบบจักรวรรดินิยม โดยการใช้อำนาจบังคับ สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาเอง

-ผลกระทบต่อสังคม

-ปัจจัยที่มีอิทธิพล ตลาดจะขยายตัวหรือไม่ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภค การขนส่ง สื่อที่กระตุ้นความอยากของผู้บริโภค

มิติของทุนนิยม

-แข่งขัน มีแน่นอนในระบบทุนนิยมแต่ทุนใหญ่มักกลืนทุนเล็ก

-ควบคุม เมื่อทุนใหญ่กลืนทุนเล็กแล้วก็สามารถควบคุมได้

-เปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเกิดจากการเปลี่ยนวิธีการผลิต วิถีการบริโภค

เห็นได้ว่าระบบเศรษฐกิจก็ไม่แตกต่างกันเลยกับระบบการเมือง

ลักษณะของระบบเศรษฐกิจที่ดี

-ต้องมีประสิทธิภาพ ใช้ต้นทุนในการผลิตน้อยแต่ได้ผลผลิตสูง การเกษตรในปัจจุบันใช้วิธีเร่งปลูก เร่งเก็บแล้วนำมาบ่มเพื่อจะขายได้เร็ว ทำให้ผลผลิตรสชาติไม่ดีเหมือนก่อน อีกทั้งขนาดรูปร่างยังผิดธรรมชาติด้วยซึ่งอาจส่งผลต่อผู้บริโภคด้วย

-ความยุติธรรม ในตลาดย่อมมีการแข่งขันสูงทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้ยากเพราะทุนใหญ่จะกลืนทุนเล็ก ทำให้ต้องมีนโยบาย SME ออกมาเพื่อต้านทุนใหญ่ อันจะช่วยให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้เมื่อรัฐเข้ามาแทรกแซงและกำหนดกฎเกณฑ์ในการแข่งขัน จะปล่อยให้เป็นตลาดเสรีเพียงอย่างเดียวไม่ได้

-ต้องเป็นประชาธิปไตย คือต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาท ผู้บริโภคต้องมีสิทธิมีเสียงในการมีส่วนร่วม นอกจากนั้นควรมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการควบคุมวิถีการผลิตในบางส่วน โดยเฉพาะคุณภาพของสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความยุติธรรม

เห็นได้ว่าการเมืองกับเศรษฐกิจนั้นแยกส่วนออกจากกันไม่ได้เพราะการเมืองเป็นตัวกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ

บทบาทของรัฐภายใต้ระบบทุนนิยม

-รัฐบาลไม่สามารถควบคุมการผูกขาดได้ เห็นได้จากรัฐบาลไม่มีอำนาจบังคับบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลของรัฐกำลังพัฒนาทั้งหลาย ตัวอย่างง่าย ๆ กรณีการขึ้นราคาทางด่วนที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้

สำหรับประเทศมหาอำนาจนั้นรัฐบาลสามารถควบคุมได้ ตัวอย่าง สหรัฐอเมริกาใช้เวลาเป็นปีกว่าจะควบคุมการผูกขาดของบริษัทไมโครซอฟท์ เพราะบริษัทนี้ครอบงำธุรกิจคอมพิวเตอร์

***(บิล เกตส์ เจ้าของไมโครซอฟท์เป็นอภิมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกถึงสามปีซ้อน ก่อนจะถูกชิงตำแหน่งเมื่อปีที่แล้วโดยนายแซม วอลสัน เจ้าของวอลมาร์ท บิล เกตส์ให้เงินสนับสนุนด้านการศึกษาแก่สหประชาชาติเป็นจำนวนมาก) ***

หรืออย่างบริษัทโค้กที่มีอยู่ทั่วโลกรัฐบาลประเทศเล็ก ๆ ก็ไม่สามารถควบคุมได้ การผลิตของโค้กทำโดยนำหัวน้ำเชื้อจากบริษัทไปผลิตยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยไม่มีประเทศใดสามารถล่วงรู้ถึงสูตรของหัวน้ำเชื้อนี้เพราะกลัวการลอกเลียนแบบ เป็นการเสียเปรียบของรัฐกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจขนาดเล็กซึ่งไม่ได้แตกต่างจากการเมืองระหว่างประเทศ

-รัฐนำรายได้ภาษีไปอุดหนุนบรรษัทยักษ์ใหญ่ อุดหนุนโดยการลดภาษีบ้าง เอื้อประโยชน์ในการสั่งวัตถุดิบ เครื่องจักรบ้าง ซึ่งบริษัทเล็ก ๆ จะไม่ได้รับผลประโยชน์เหล่านี้

-รัฐสร้างตลาดให้บรรษัทยักษ์ใหญ่ Capital Accumulation ทุกรัฐเดี๋ยวนี้ทำเหมือนกันหมดคือวิ่งแข่งกันหาตลาดระบายสินค้าของตน สินค้าที่ระบายให้เป็นสินค้าของบรรษัทใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น เป็นการมองที่ยุทธศาสตร์ทางการค้าและเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องการเมือง

ขั้นตอนในการพัฒนาระบบทุนนิยม

ทุนนิยมขั้นที่ 1

1. วิสาหกิจเล็ก ๆ เช่น โรงน้ำแข็ง โรงเลื่อย โรงสี

2. วิสาหกิจยังจำกัดอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

3. สัดส่วนการลงทุนนำไปซื้อวัตถุดิบและแรงงาน

4. การตลาด การขายอยู่ในแวดวงที่จำกัด นายทุนยังไม่ตกเป็นทาสของ “ตลาด” ความเป็นกันเองและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ยังมีอยู่มาก

เกิดคำถามว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในขั้นตอนนี้ นั่นคือการขนส่งที่เจริญมากขึ้น ทำให้การขยายตัวของระบบทุนนิยมเป็นไปอย่างรวดเร็ว

ทุนนิยมขั้นที่ 2

  1. สลายวิสาหกิจอิสระเล็ก ๆ ทุนใหญ่เริ่มเข้ามามีบทบาท ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์ การเกษตร บรรษัทข้ามชาติก็ได้เข้ามามีบทบาท
  2. “เครื่องมือการผลิต” ได้ถูกรวมศูนย์อยู่กับนายทุน
  3. นายทุนเข้าไปควบคุม “ตลาด”

ขั้นตอนนี้ทำให้เกิดลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism) เจ เอ. ฮ็อบสัน เขียนถึงจักรวรรดินิยมใน ค.ศ.1902 ทำให้เลนินชื่นชมแนวความคิดของฮ็อบสันมาก นำแนวคิดไปประยุกต์โดยเขียนหนังสือชื่อ Imperialism ; The Highest Stage of Capitalism ในค.ศ.1917 สรุปแนวคิดของฮ้อบสันกล่าวถึง

-การกระจุกตัวของการออม อยู่ในอุ้งมือคนกลุ่มน้อยของสังคมที่มีอำนาจทางการเงิน ทำให้เงินสะพัดไปน้อย คนส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจซื้อทำให้การบริโภคน้อย (Under Consumption) ก่อให้เกิดการผลิตล้นเกิน (Over Production) รวมทั้งทุนก็ล้นเกินด้วย (Surplus Capital) จึงต้องหาทางระบายสิ่งที่ล้นเกินเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นแล้วธุรกิจต้องล่มจม จึงต้องเทสินค้าไปยังดินแดนโพ้นทะเลเพื่อหาตลาดระบายสินค้า โดยการช่วยเหลือของรัฐบาลส่งกองทัพไปคุ้มครอง ประชาชนเสียภาษีให้แก่กองทัพ ผู้ที่ได้ประโยชน์คือบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย

ผลที่ได้คือสามารถหาตลาดระบายสินค้าที่ล้นเกินได้ ทำให้ได้ผลกำไรเพิ่มขึ้น ได้ตลาด ได้แรงงานราคาถูกรวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบ ซึ่งกลุ่มนายทุนและผู้กุมอำนาจรัฐได้ประโยชน์ ประชาชนเป็นเพียงผู้เสียภาษี เหตุการณ์นี้ฮ้อบสันเขียนไว้ตั้งแต่ ค.ศ.1902 แต่ปัจจุบันก็ยังคงสภาพนี้อยู่เพียงแต่ต่างมิติกัน ในอดีตมีกองทัพเข้าไปคุ้มครองแต่ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องใช้กองทัพใช้เพียงสื่อ E-business, E-mail, E-commerce บางครั้งมีการใช้วิธี Cartel โดยร่วมมือกันกำหนดวิธีและจำนวนการผลิต กำหนดราคา กำหนดพื้นที่ เช่น โอเปค

ทุนนิยมขั้นที่ 3 ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960

1. การผลิตระบบอัตโนมัติมากขึ้น ทำให้ผลิตได้จำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือและมีทักษะเพิ่มมากขึ้น ทำให้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การว่างงานเพิ่มสูงขึ้นด้วยในประเทศกำลังพัฒนาเพราะไปใช้เครื่องจักรมากกว่า

2. “ทุน” ถูกรวมศูนย์ รัฐได้ช่วยเหลือลงทุนให้วิสาหกิจในโครงการพื้นฐานต่าง ๆ ทุนอยู่ในมือนายทุนใหญ่หรือบรรษัทข้ามชาติ โครงการพื้นฐานนี้นำมาซึ่งความมั่งคั่งให้แก่คนกลุ่มน้อยอีกเช่นกัน

3. แรงงานต้องเป็นแรงงานที่มีความรู้

ในกระบวนการทุนนิยมขั้นที่ 3 นี้ก่อให้เกิด

-ชนชั้นกรรมกรใหม่ ได้แก่ พวกทำงานนั่งโต๊ะที่ต้องใช้สมองเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน

-สหภาพกรรมกรรวมกลุ่มกันต่อต้านและเรียกร้องเรื่องค่าแรง

ทุนนิยมขั้นที่ 4

1. ทุนนิยมพัฒนาขึ้นเป็น “ทุนนิยมโลก”

2. ทุนการเงินมีความสำคัญเหนือทุนการผลิต ทุนการเงินเป็นทุนการพนัน (Casino Economy) เกิดในตลาดหุ้น จะว่าไปแล้วตลาดหุ้นก็คือบ่อนการพนันที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นทุนการผลิตที่แท้จริง แต่ถูกนำมารวมว่าเป็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทุนการผลิตที่แท้จริงคือทุนด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทุนเหล่านี้ให้กำไรน้อยและช้าสู้นำเงินมาเล่นหุ้นในตลาดหุ้นไม่ได้

3. ตลาดการเงินไร้เสถียรภาพ เพราะอัตราการแลกเปลี่ยนผกผัน และมีนักเก็งกำไรข้ามชาติอย่างจอร์จ โซรอส และทุนเก็งกำไรอื่น ๆ อีกมากมายที่คอยโจมตีตลาดการเงินเพื่อสร้างกำไร

4. มายาของเครดิต (สินเชื่อ) ปัจจุบันแทบทุกคนมีบัตรเครดิตพกติดกระเป๋า เป็นสิ่งที่ทุนนิยมต้องการอย่างยิ่งคือต้องการให้ประชาชนเป็นหนี้เพราะใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอยู่ได้ ระบบทุนนิยมสร้างวัตถุขึ้นมาเพื่อให้พัง เพราะถ้าสร้างแบบคงทนถาวรทุนนิยมก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน

5. เศรษฐกิจใหม่ (New Economy) องค์ประกอบมี 4 ส่วน ได้แก่

-เทคโนโลยีสารสนเทศ

-ทรัพย์สินทางปัญญา

-ห้องสมุดอิเล็คทรอนิกส์

-เทคโนโลยีชีวภาพ (GMO)

ทุนนิยมขั้นที่ 4 นี้ก่อให้เกิดโลกาภิวัตน์ แต่ก็มีการต่อต้านในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

1. การก่อการร้าย ตัวอย่าง กรณีเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ บางคนมองว่าเป็นการถล่มศูนย์ทุนนิยมโลก เพราะไม่สามารถดำเนินการตามกระบวนการและรูปแบบที่เป็นทางการหรือเล่นการเมืองในระบบได้ จึงต้องใช้การก่อการร้ายมาเป็นเครื่องมือในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่กลุ่มตนเห็นว่าเสียเปรียบและไม่ได้ประโยชน์

ในทัศนะของอาจารย์ต่อกรณีถล่มเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และการก่อการร้าย อาจารย์คิดว่า วี ไอ เลนิน ได้ให้ความหมายของการก่อการร้ายได้กระชับมาก โดยกล่าวว่า การก่อการร้ายคือการสร้างความน่าสะพึงกลัวให้แก่สาธารณชน

อาจารย์เชื่อว่าการก่อการร้ายจะดำรงอยู่คู่สังคมชุมชนระหว่างประเทศ ตราบใดที่ยังมีมนุษย์อยู่ การก่อการร้ายจะหมดสิ้นก็ต่อเมื่อสังคมชุมชนระหว่างประเทศไม่มีมนุษย์อยู่อีกแล้ว

2. การปฏิรูปทุนนิยม 4 ประการ

2.1 ความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม รัฐบาลเกือบทุกรัฐบาลพยามที่จะสร้างความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เพื่อให้เกิดความยุติธรรมขึ้น แต่ก็อาจเป็นไปได้เฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น สำหรับในประเทศกำลังพัฒนาคงต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้
2.2 เสรีภาพที่จะกระทำ รัฐบาลจะสร้างกฎเกณฑ์ข้อบังคับมาช่วยส่งเสริม

2.3 การเมืองความร่วมมือ ลดความขัดแย้งและการแก่งแย่งผลประโยชน์ลงเพื่อให้ระบบทุนนิยมพัฒนาไปได้ และสร้างความเป็นปึกแผ่นพร้อมทั้งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

2.4 ประชาชนจะต้องเรียนรู้ว่า สิทธิและความรับผิดชอบเป็นของคู่กัน ไม่ใช่จะเรียกร้องแต่สิทธิอย่างเดียวแต่ไม่รู้ว่ามีหน้าที่ใดบ้างที่ต้องรับผิดชอบ ถ้าทุกคนมีแต่สิทธิความขัดแย้งโกลาหลจะเกิดขึ้นในทุกสังคม

3. เกิดขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์จากประชาชนระดับรากหญ้า การแก้ไขจำต้องสร้างภูมิปัญญาให้กับสังคมทั่วโลกเกี่ยวกับขบวนการต่าง ๆ ของทุนนิยม

4. เศรษฐกิจชุมชน เน้นเรื่องชุมชนมากขึ้น เพื่อต่อต้านการเข้ามาครอบงำของระบบทุนนิยม

5. เศรษฐกิจพอเพียงและยั่งยืน การผลิตต้องทำไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

6. บรรษัทข้ามชาติผูกขาดการค้าโลก เช่น โค้ก แมคโคร เทสโก้โลตัส รถยนต์ฟอร์ดครอบครองวอลโว่ ไครส์เลอร์ครอบครองเบ๊นซ์ รถญี่ปุ่นโดนรถสหรัฐฯครอบ บัตรเครดิต วีซ่า ซิตี้แบงค์ อเมริกันเอ๊กซเพรส มาสเตอร์การ์ด ไดเนอรส์คลับ

7. องค์กรเหนือรัฐ เช่น ไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก เป็นเครื่องมือของโลกตะวันตก

8. การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เช่น นาฟต้า อียู มีผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ก่อให้เกิดสงครามการค้า ถ้าไทยเตรียมตัวไม่พร้อมย่อมมีปัญหาแน่นอน ตอนนี้มีอาเซียน + 3 คืออาเซียนบวกกับจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ถ้าร่วมมือกันได้อย่างจริงจังอาจารย์เชื่อว่าไม่ต้องติดต่อใครเลยในโลกนี้ก็สามารถอยู่ได้อย่างสบาย และถ้าเป็นเช่นนี้จริง ๆ โลกตะวันตกจะเข้ามาเคาะประตูเอง แต่ข้อเสียคือคนเอเชียไม่มีความจริงใจต่อกัน จะจริงใจเฉพาะกับคนผิวขาวเท่านั้น

9. ทุนนิยมกับประชาธิปไตย เกิดปัญหาคือระบบปัจจุบันจะทำให้เกิดการต่อสู้นอกสภามากขึ้น การต่อสู้ที่ไม่เป็นทางการเพิ่มสูงขึ้น มีกระบวนการต่าง ๆ ที่เรียกร้องสิทธิมากขึ้น องค์กรพัฒนาเอกชนจะมีเพิ่มมากขึ้นเพื่อทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของชุมชน ดังนั้นความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ภายใต้ระบบทุนนิยมและประชาธิปไตย

10. วิกฤตทางจริยธรรมและศีลธรรม เพราะความทันสมัยและความเป็นตะวันตกนั้นสวนทางกับศีลธรรม

ทุนนิยมเป็นสิ่งที่มีทั้งบวกและลบในตัวมันเองขึ้นอยู่กับว่าการมอง ๆ ในมิติใด อาจารย์นำทฤษฎีกระแสทวนมาวิพากษ์ระบบทุนนิยม ดังนี้

1. ความขัดแย้งและการขูดรีด เป็นมรดกทางความคิดของมาร์กซ นายทุนขูดรีดเอารัดเอาเปรียบแรงงานในเรื่องค่าจ้าง แล้วได้กำไรส่วนเกินไป ดังนั้นการขูดรีดจึงดำรงอยู่คู่กับระบบทุนนิยมตลอดไปตามทัศนะของมาร์กซ สิ่งที่จะทำได้คือรัฐต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือและควบคุม

2. นายทุนและแรงงานมีความสัมพันธ์ในเชิงการค้าและสินค้า กล่าวคือ แรงงานเป็นเรื่องของการขายเพราะเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง ไม่ได้มองว่าเป็นพลังของมนุษย์ ในที่สุดทำให้

3. มนุษย์กลายเป็นสินค้า ในโลกตะวันตกจะถามเลยว่า “What is your price?” คุณราคาเท่าใด มนุษย์เปลี่ยนสภาพเป็นสินค้าไปแล้ว

4. การว่างงาน เดิมมีการว่างงานตามฤดูกาล แต่ปัจจุบันมีการว่างงานเพราะเปลี่ยนวิธีการผลิต นั่นคือมีการนำเครื่องจักรและหุ่นยนต์มาใช้แทนแรงงานคน

5. ความสัมพันธ์ ปัจจุบันเริ่มเป็นความสัมพันธ์ด้านการค้า ความเอื้ออาทรและเมตตากรุณาต่อกันเริ่มลดน้อยลง แม้แต่การแต่งงานก็ต้องดูทรัพย์สินเป็นหลัก

6. ระบบทุนนิยมนำมาซึ่งกระบวนการผลิตที่สร้างความเครียด ต้องตรงตามเวลาที่กำหนด เกาหลีใต้ต้องล่มสลายเพราะไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามใบสั่งเนื่องมาจากในประเทศมีการเดินขบวนกันบ่อยครั้ง

7. ก่อให้เกิดความแปลกแยก (Alienation) เนื่องจากมีความเครียดมากจำต้องปลีกไปหาความสุขส่วนตัวกับเครื่องบันเทิงที่เป็นวัตถุ ในที่สุดเกิดความว้าเหว่มากจนทำให้จิตวิปริต เห็นได้จากประเทศที่พัฒนาแล้วทางอุตสาหกรรมมักมีอัตราการฆ่าตัวตายของประชาชนในประเทศสูงมาก ญี่ปุ่นมีการฆ่าตัวตายสูงและลัทธิประหลาด ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น โอมชินริเกียว ในสหรัฐฯก็มีเหตุการณ์เช่นนี้มากเช่นกัน

8. ในระบบทุนนิยมประชาชนตกเป็นเหยื่อของการโฆษณา ภายใต้กระแสบริโภคนิยมและวัตถุนิยม

9. ภายใต้ระบบทุนนิยมนั้นกำไรเป็นสิ่งที่แสวงหาสูงสุดหาได้โดยการครอบงำผู้บริโภคผ่านสื่อ

10. มนุษย์ต้องแสวงหาความอยู่รอดโดยการขายแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก สตรี คนชรา

11. สถาบันการศึกษาก็มีส่วนช่วยส่งเสริมให้ทุนนิยมเจริญเติบโต เพราะแบ่งการศึกษาเป็นความชำนาญเฉพาะด้านอันจะส่งเสริมระบบทุนนิยม เช่น ในช่วงที่ขาดช่างเทคนิคหรือวิศวกรสถาบันการศึกษาก็เร่งผลิตคนกลุ่มนี้ออกมา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

12. ยิ่งพัฒนาทางอุตสาหกรรมยิ่งทำให้สิ่งแวดล้อมเลวร้ายลงมากเท่านั้น เพราะการพัฒนาในระบบทุนนิยมเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง

เห็นได้ว่าถ้ามองในมิตินี้ระบบทุนนิยมจะสร้างความแปดเปื้อนให้กับสังคมอย่างมาก แต่อย่างไรก็ดีต้องรู้จักประยุกต์ใช้และเดินทางสายกลาง อย่าสุดโต่งไปกับการบูชาวัตถุหรือบริโภคนิยม สิ่งที่จะแก้ไขปัญหาของระบบทุนนิยมได้คือเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจยั่งยืน ทรัพยากรธรรมชาติเมื่อใช้แล้วต้องทดแทน

State + Globalization

Globalization Processes (กระบวนการการครอบโลก) มี 4 มิติ

1. Mobility การเคลื่อนย้ายถ่ายเท ทำได้อย่างรวดเร็ว การครอบโลกคือการทำให้โลกเป็นหนึ่งเดียว การอพยพเคลื่อนย้ายถ่ายเทนี้เป็นไปในหลายรูปแบบ เช่น ทุน แรงงาน

2. Simultaneity ปรากฏการณ์หรือสิ่งต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นได้พร้อม ๆ กันในโลก ไม่ว่าจะเป็นปรากฎการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เช่น ภาพยนตร์เรื่องไททานิคฉายพร้อมกันทั่วโลก ในประเทศไทยโกยเงินได้ถึง 200 ล้าน ผู้ชมส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาว่าเป็นเรื่องราวความรักที่ยิ่งใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ตำนานที่ลึกซึ้งของไทยก็มีเหมือนกัน เช่น ขวัญเรียม ตำนานของไทยยาวนานกว่าเพราะดำรงความเป็นชาติมานานกว่า สหรัฐฯเพิ่งเป็นชาติมาเมื่อ 200 ปีเศษนี่เอง แต่พยายามขยายประวัติศาสตร์เล็ก ๆ แห่งชาติตนครอบให้คนทั้งโลกเชื่อและคล้อยตาม โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

3. By-pass การลดขั้นตอนในการผลิต การติดต่อสื่อสาร การลงทุน การสั่งการ การทำธุรกิจ การแก้ไขปัญหาทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจควบคู่กันไป การลดขั้นตอนจะช่วยลดปัญหา เช่น ถ้าผู้นำกับผู้นำสามารถยกหูโทรศัพท์คุยติดต่อกันได้ หรือติดต่อผ่านอีเมล์ย่อมลดปัญหาและค่าใช้จ่ายทั้งหลายทั้งปวงลงได้

4. Pluralism ความหลากหลาย ซึ่งนำมาทั้งความขัดแย้งและความร่วมมือ ในสังคมชุมชนระหว่างประเทศเต็มไปด้วยความหลากหลายแต่ก็มีความร่วมมือมากกว่าความขัดแย้ง ทั้ง ๆ ที่ดูเสมือนว่ามีความขัดแย้งมากกว่าความร่วมมือ

Susan Strange (ซูซาน สเตรนจ์) พูดถึง

1. บทบาทของรัฐในยุคโลกาภิวัตน์ กล่าวว่า บรรษัทข้ามชาติ (Multination Cooperation : MNCs) มีบทบาทและอิทธิพลสูงกว่ารัฐ รัฐปัจจุบันทำหน้าที่แสวงหาตลาดให้กับบรรษัทข้ามชาติ ดังนั้นรัฐจึงกลายเป็นเครื่องมือของบรรษัทข้ามชาติทางด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรม การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต การยักย้ายถ่ายเทศูนย์การผลิต ที่ใดการผลิตได้กำไรสูงบรรษัทข้ามชาติก็จะย้ายไปที่นั่น ถ้ามีแรงงานราคาถูก ตลาดที่ทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำ และทรัพยากรธรรมชาติมีมาก

เห็นได้จากโรงงานผลิตลูกอมเมนทอสเดิมเคยอยู่ในเมืองไทยแต่ตอนนี้ย้ายไปเวียดนามแล้ว หรือถ้าพม่าเปิดประเทศเมื่อใดรับรองว่าบรรษัทข้ามชาติต้องแห่ไปอยู่พม่า เพราะยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์อีกมาก ลาวก็เช่นเดียวกันเพียงแต่ลาวฉลาดไม่ยอมเปิดประเทศ

2. Licensing, Franchising อันหมายถึงลิขสิทธิ์ทรัพย์สิน เช่น แมคโดนัลด์ขายลิขสิทธิ์ให้คนไทยผลิต แต่คนไทยได้แค่ค่าแรงเท่านั้น วัตถุดิบในการผลิตถูกกว่ามากเพราะไทยผลิตสินค้าเกษตรแต่ขายในราคาเดียวกัน ต้นทุนการผลิตเบอร์เกอร์หนึ่งชิ้นอาจแค่ 10 กว่าบาทแต่ต้องขายในราคา 50 กว่าบาทเพราะต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ให้กับบริษัทแม่ บริษัทแม่ลงทุนแค่เอาป้ายมาให้แล้วเก็บค่าลิขสิทธิ์เป็นเสือนอนกิน

3. ธุรกิจการค้าใช้กลยุทธ์การร่วมทุน (Partnership) มากยิ่งขึ้น และเป็นธุรกิจหลายชาติ เช่น รถยนต์หนึ่งคันต้องร่วมกันไม่น้อยกว่า 5 ประเทศ ส่วนประกอบนำมาจากประเทศต่าง ๆ เป็นการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Alliances) การบินไทยก็มีพันธมิตรกับประเทศอื่น เพราะการทำธุรกิจตัวคนเดียวย่อมอยู่ไม่ได้

การสร้างพันธมิตรทางการค้าระหว่างประเทศก่อให้เกิด

-Emerging Technology Technopoles ศูนย์เทคโนโลยีจะรวมตัวกันอยู่ในรัฐที่พัฒนาแล้วทางอุตสาหกรรม มีการผลิตแนวใหม่ที่เรียกว่า Automation โดยการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ หุ่นยนต์

-ตลาดเริ่มมีบทบาทมากกว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตย

-การครอบโลกนำมาซึ่งการแทรกแซงจากภายนอก (Interpenetration) ปัจจัยภายนอกเริ่มมีอิทธิพลมากกว่าปัจจัยภายในประเทศทำให้เกิด Industrial Relocation การย้ายฐานการผลิต

-สังคมกลายเป็นสังคมไร้พรมแดน (Borderless Society)

-ในอดีตการผลิตเป็นแบบ Economy of Scale คือการผลิตขนานใหญ่เพื่อมวลชน ต้นทุนต่ำ แต่ปัจจุบันเป็น Economy of Scope การผลิตแบบแบ่งส่วน ต้องมีความเชี่ยวชาญที่ยืดหยุ่น (Flexible Specialization) สามารถปรับเปลี่ยนได้

-ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) นำไปสู่การปะทะกันทางอารยธรรม (Cultural Confrontation) แซมมวล พี ฮันติงตัน เขียนถึงการปะทะกันระหว่างอารยธรรม ตอนนี้คืออารยธรรมตะเกียบ (จีน) กำลังสู้กับอารยธรรมช้อนส้อม (โลกตะวันตกและสหรัฐฯ) ตอนที่เกิดเหตุการณ์เวิลด์เทรดใหม่ ๆ ได้ระบุว่า จะมีการปะทะกันระหว่างอารยธรรมมุสลิมกับคริสเตียน สงครามครูเสดจะกลับมา แต่ฮันติงตันกลับออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นจริง

การปะทะกันนี้เกิดจากการพัฒนาด้านวัตถุ ลัทธิบริโภคนิยม ศาสนา ชนกลุ่มน้อย บุคคลสองคนที่สมควรกล่าวถึงคือ นายลี กวน ยู และ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ได้พูดว่า คนเอเชียต้องหันกลับมาดูภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของเอเชีย แล้วรวมพลังกันสู้และแข่งขันกับโลกตะวันตก ซึ่งอาจารย์คิดว่าความเป็นจริงจะเป็นไปได้หรือไม่นั้นต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะวิถีเอเชียเป็นวิถีที่ไม่ยอมกัน นิยมเป็นทาสของตะวันตก

เครื่องมือของการครอบโลก

1. ใช้ IMF และธนาคารโลกเป็นหัวหอกในด้านแนวทางและความคิด ตัวอย่าง ประเทศไทยไม่ได้วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจด้วยตัวเอง แต่มีธนาคารโลกเป็นผู้วางแผนให้ ซึ่งโลกตะวันตกภายใต้การนำของสหรัฐฯเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการวางแผนนั้น

2. ใช้สนธิสัญญาการค้าและการลงทุน รวมทั้งองค์การการค้าโลก (WTO) มาเป็นเครื่องมือในการครอบ การเป็นสมาชิกของ IMF หรือ WTO เท่ากับยกอำนาจอธิปไตยให้กับองค์กรเหล่านี้ไปแล้ว เพราะกฎเกณฑ์ขององค์กรนี้อยู่เหนือรัฐธรรมนูญแห่งรัฐ การที่ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์จะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกในเดือนกันยายนนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้ประเทศไทยใหญ่ขึ้น เพราะต้องวางตัวเป็นกลางดำเนินงานด้วยความยุติธรรม ประเทศไทยทำอะไรในสังคมชุมชนระหว่างประเทศหวังเพียงแต่หน้าตาเท่านั้นเอง ในขณะที่ผลประโยชน์ที่แท้จริงถูกประเทศอื่นคว้าไปกินหมด คนไทยจึงต้องหยุดทะเลาะกันเสียที

3. ใช้นโยบายการเปิดการค้าและการลงทุนอย่างเสรีมาเป็นข้ออ้าง ตลาดเสรีไม่มีอยู่จริง โลกตะวันตกเป็นผู้นำความคิดเรื่องตลาดการค้าเสรีมานำเสนอประเทศกำลังพัฒนา แต่ถ้าเมื่อใดที่แข่งขันสู้ไม่ได้ตะวันตกจะใช้นโยบายกีดกันทางการค้าทันที แล้วอ้างว่าเป็นการค้าที่ยุติธรรมที่ตะวันตกจะต้องได้เปรียบทางการค้า เช่น การตั้งมาตรฐาน ISO

4. ใช้นโยบายบีบให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีกำไร (Privatization) IMF ใช้นโยบายนี้ในทุกประเทศ สำหรับประเทศไทย IMF ไม่ได้สนใจแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน เช่น การรถไฟ ข.ส.ม.ก. แต่ให้แปรรูปการบินไทยซึ่งมีกำไร

5. บีบให้ลดบทบาทของรัฐให้เล็กลง โดยใช้ข้ออ้างว่า “รัฐขาดธรรมการ” ทั้งนี้เพราะบรรษัทข้ามชาติกลัวรัฐที่เข้มแข็ง รัฐที่เข้มแข็งจะสามารถควบคุมบรรษัทข้ามชาติได้ จึงต้องทำให้รัฐอ่อนแอโดยหลอกมวลชนว่า Good Governance (ธรรมรัฐ) คนไทยก็หลงเชื่อทะเลาะกันเองแล้วตำหนิรัฐบาลว่าคอร์รัปชั่น โกงบ้านโกงเมือง ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านี้ในประเทศตะวันตกก็มี แต่เขามาหลอกคนไทยได้สำเร็จ หลอกให้คนไทยคิดอยู่แต่เรื่องนี้ในขณะที่ตะวันตกคิดเรื่องเศรษฐกิจเพื่อมาเล่นงานคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อทะเลาะกันเรื่องการเมืองมาโดยตลอด

ถ้าจะให้ประเทศไทยอยู่รอดได้จะต้อง

  1. มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
  2. มีระบบการบริหารจัดการที่ดี
  3. มีจุดยืนที่แน่นอน เน้นเรื่องผลประโยชน์ของชาติ

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

1. รายรับในอดีต ตั้งอยู่บนพื้นฐานของตัวเลขการส่งออกอย่างเดียว ซึ่งก็ถูกฝรั่งหลอกอีกคือหลอกให้เชื่อว่าตัวเลข GNP และ Per Capita Income เป็นของจริง และการนำตัวเลขการส่งออกมาวัดว่าถ้าตัวเลขการส่งออกมากแสดงว่าประเทศเจริญทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็ไม่ใช่ความจริงอีกเพราะการส่งออกมากแสดงถึงการลงทุนของต่างชาติในประเทศมาก ต่างชาติเหล่านี้จะได้รับการยกเว้นภาษีในการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักร เมื่อส่งสินค้าออกขายต่างประเทศยอดตัวเลขส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นจริง แต่ผู้ที่ได้รับรายได้ตรงนี้คือบรรษัทข้ามชาติ คนไทยได้แค่ค่าจ้างแรงงานกับมลพิษที่เพิ่มขึ้นเป็นโบนัส ซึ่งไม่สามารถทำได้ในประเทศพัฒนาแล้ว

ยุทธศาสตร์ใหม่

1. ลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออาวุธลง ซื้อเฉพาะที่จำเป็นและต้องใช้ ในอดีตประเทศแถบนี้ถูกล้างสมองให้เกลียดกันเองแล้วต้องแข่งกันสะสมอาวุธ จึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่

2. รายจ่ายด้านการศึกษาของนักเรียนนักศึกษาที่ออกไปเรียนในต่างประเทศเป็นรายจ่ายที่สูงมาก รามคำแหงเองก็มีสถาบันนานาชาติสอนถึงระดับปริญญาเอก คุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศแต่ราคาถูกกว่ามาก การเข้ามาศึกษาในสถาบันภายในประเทศเช่นนี้จะช่วยประหยัดให้ประเทศชาติได้มาก

3. ด้านการบริโภค ต้องแก้ค่านิยมใหม่อย่ายึดติดกับแบรนด์เนม เสื้อผ้าแบรนด์เนมทั้งหลายในโลกนี้ประมาณ 30% ตัดเย็บจากประเทศไทยแล้วส่งไปต่างประเทศ คนไทยจึงต้องเปลี่ยนนิสัย และส่งเสริมมาตรฐานการผลิตสินค้าตัวนั้น ๆ ให้ได้มาตรฐานและคุณภาพระดับโลก

การเพิ่มรายรับเงินตราต่างประเทศ ทำได้โดย

1. การขุดคอคอดกระ

2. การท่องเที่ยว

3. ส่งเสริมชาวบ้านผลิตของชำร่วยที่มีมาตรฐานสากลและมีลักษณะสากล

4. พัฒนาเป็นบ่อนพนันนานาชาติ

การขุดคอคอดกระมีประโยชน์คือ จะช่วยย่นระยะทางได้ไม่น้อยกว่า 780 กิโลเมตร หลายประเทศต้องเปลี่ยนมาใช้เส้นทางนี้ ไทยจะเก็บค่าผ่านทางได้เป็นเงินจำนวนมหาศาล ในสมัยก่อนไม่อยากให้มีการขุดเพราะเหตุผลทางยุทธศาสตร์ ว่าจะเป็นการแบ่งแยกประเทศ อาจจะเป็นเพราะโดนฝรั่งครอบงำก็เป็นได้ ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องกล้าตัดสินใจทำโครงการใหญ่ขนาดนี้ แต่อย่าทำโดยอาศัยทุนต่างชาติต้องระดมทุนของคนไทย

สำหรับเรื่องบ่อนการพนันนั้นมีผลการวิจัยออกมาชัดเจนว่าเงินนอกระบบในประเทศไทยมีจำนวนมหาศาล จึงควรทำบ่อนการพนันให้เข้าระบบเพื่อเก็บภาษีมาพัฒนาประเทศได้ นอกจากนี้ตนขอเสนอเรื่องโสเภณีเสรีด้วย ไม่ต้องปิดบังอีกต่อไป เปิดเผยเพื่อจะได้เก็บภาษีได้อย่างถูกต้องเช่นเดียวกับบ่อนการพนัน

ในเรื่องรายได้เข้ารัฐนี้ควรแก้ระบบภาษีด้วย คือให้เสียภาษีอัตราก้าวหน้า เพราะตอนนี้คนจนเสียภาษีเท่ากับคนรวย ดังนั้นถ้าแก้ไขใน 4 ประเด็นนี้ได้จะสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศได้มาก

เรื่องบ่อนการพนันและโสเภณีถึงเวลาที่ต้องยอมรับความจริงกันเสียที เพราะเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าธุรกิจแบบนี้มีเงินสะพัดนอกระบบมากมายมหาศาลไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้าน

3 ประการหลักของการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ในสังคมชุมชนระหว่างประเทศก็คือ สันติภาพ สงคราม และความมั่งคั่ง

ระบบทุนนิยม (Capitalism)

ระบบทุนนิยมมีหัวใจอยู่เงินและการแสวงหากำไร การมีเงินนำไปสู่การลงทุนการลงทุนทำให้เกิดการผลิตการผลิตนำไปสู่การจ้างงาน การจ้างงานนำไปสู่การมีอำนาจซื้อเมื่อมีอำนาจซื้อก็จะไปกระตุ้นให้เกิดการผลิตมากขึ้น การบริโภคมากขึ้นก็จะนำมาสู่การเพิ่มพูนของกำไร กำไรก็จะนำไปสู่การลงทุนที่เพิ่มขึ้น

ระบบทุนนิยมมีผลต่อความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของคนในสังคม ปัจจุบันวิถีการดำเนินชีวิตของคนเราตกอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยม เช่นเราต้องมีวัตถุต่างๆ เป็นเครื่องประกอบในการดำรงชีวิต โดยมีสื่อเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความอยากในการบริโภควัตถุ เช่นเราอยากมีกระเป๋าแพงๆ มีนาฬิกาหรูๆ

นอกจากนี้ระบบทุนนิยมยังหล่อหลอมให้สถาบันในสังคมมีบทบาทเอื้อต่อระบบทุนนิยม เช่นโรงเรียนก็จะมีบทบาทในการปลูกฝัง หรือสอนให้คนติดอยู่ในระบบทุนนิยม

ระบบทุนนิยมจึงเป็นระบบทางวัฒนธรรมใหม่เข้ามาแทนที่วัฒนธรรมเก่า เช่นเรามีค่านิยมในแบบบริโภคนิยมแทนค่านิยมในแบบพอมีพอกิน หรือบริโภคอาหารตะวันตกแทนอาหารพื้นบ้านที่มีประโยชน์มากกว่า ทุนนิยมได้สร้างความคิด ความเชื่อ ที่เอื้อต่อระบบทุนนิยม

แม้ว่าศาสนาทุกศาสนาในโลกจะสอนให้คนไม่โลภไม่โกรธไม่หลง แต่ยังไม่มีศาสนาใดที่ต้านระบบทุนนิยมได้ ยกเว้นเสียแต่ว่าศาสนาจะกลับมามีบทบาทในการต่อต้านการกับอำนาจของระบบทุนนิยม

ดังนั้นระบบทุนนิยมจึงมีอิทธิพลมากมายและสังคมทุกสังคมเวลานี้ล้วนอยู่ภายใต้กระแสทุนนิยมทั้งสิ้น แม้กระทั่งประเทศสังคมนิยมที่ยังคงหลงเหลืออยู่ไม่กี่ประเทศ นั่นคือเมื่อใดก็ตามที่ความทันสมัยก้าวไปสู่สังคมใด จริยธรรม และคุณธรรมอันเป็นหลักการของศาสนาก็จะลดลง

สำหรับรากเหง้าดั้งเดิมนั้นโลกตะวันออกจะให้ความสนใจกับสิ่งที่เป็นนามธรรมและปรัชญา ศีลธรรม จริยธรรม แต่โลกตะวันตกพูดถึงวัตถุ สิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ ทั้ง 2 สิ่งนี้จะต้องอยู่ร่วมกันปะปนกัน เหมือนกับหยินและ

หยาง

ระบบทุนนิยมเกี่ยวข้องกับวัตถุและเทคโนโลยี นั่นคือนวัตกรรมใหม่ๆทำให้การผลิตมีความรวดเร็ว มีจำนวนมากขึ้นทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลง การสะสมกำไรจึงมีมากขึ้น เมื่อวัตถุมีมากขึ้นนำไปสู่การหลงไหลวัตถุ ติดยึดกับวัตถุ

อย่างไรก็ตามการผลิตจำนวนมหาศาลของระบบทุนนิยมทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นการทำลายมนุษยชาติ นั่นคือการทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เช่นการปล่อยน้ำเสีย อากาศเสียของโรงงาน

และยิ่งมีการพัฒนาในระบบของทุนนิยมยิ่งทำให้เกิดการมือบอดทางจิตวิญญาณ นั่นคือเมื่อคนหลงไหลและยึดติดกับวัตถุก็จะทำให้แข่งขันกันเพื่อให้ได้มาเพื่อวัตถุ จนทำให้ลืมความเป็นคน ลืมการเอาใจใส่ดูแลกัน ดังจะพบว่าคนที่อยู่ในเมืองที่พรั่งพร้อมไปด้วยวัตถุผู้คนจะมีความห่างเหินกันมากกว่าคนในชนบท และสุดท้ายยิ่งพัฒนาทางวัตถุมากขึ้นเท่าไหร่ ความยากจนก็เพิ่มขึ้นมากเท่านั้น

ดังนั้นในการดำรงชีวิตเราจะทิ้งศาสนาไม่ได้ขณะเดียวกันเราก็จะสลัดหลุดออกจากทุนนิยมได้ยากเช่นกัน แต่กระแสที่มนุษย์เรากำลังหันสู่ศาสนามามีมากขึ้น และระบบทุนนิยมอาจจะอ่อนล้าลง ลดบทบาทลงได้หากบทบาทของศาสนากลับมาเข้มแข็งมากขึ้น

นักพยากรณ์ศาสตร์อย่างอัลวิน ทอฟเลอร์ จอห์น ไนสบิต ทำนายเอาไว้ว่ามนุษย์จะหวนกลับไปสู่ศาสนามากขึ้นในศตวรรษที่ 21 การที่มนุษย์หันเข้าสู่ศาสนามากขึ้นก็เพราะโลกของเรากำลังเผชิญกับหายนะมากขึ้นกับปรากฎการณ์ธรรมชาติต่างๆ เช่นน้ำท่วม พายุ ปรากฏการณ์เอนินโย แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด

ปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่มีเทคโนโลยีใดที่สกัดกั้นได้ ทำให้ในที่มนุษย์ต้องหันหน้าเข้าสู่ศาสนา ซึ่งต้องรอพิสูจน์ในโอกาสต่อไปว่าจะเป็นจริงหรือไม่

อาจารย์มองว่าทฤษฎีที่น่าจะใช้กับสังคมไทยได้คือทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) ซึ่งอาจารย์ใช้คำว่าทฤษฎีมั่วซั่ว

การที่เรามองว่าฝรั่งเก่งไม่ใช้เพราะฝรั่งคิดอะไรได้เอง แต่ฝรั่งมีความสามารถในการจัดระบบระเบียบ ต่างจากคนเอเชียที่มีความเก่ง มีความสามารถ แต่ขาดระเบียบวินัย

ดังเราจะพบว่าแนวคิดปรัชญาต่างๆในโลกของเราล้วนมาจากตะวันตกทั้งสิ้น เช่นศาสนาทุกศาสนาเกิดในโลกตะวันออกทั้งสิ้น

ทั้งนี้ทฤษฎีเคออสที่นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งค้นพบเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมาและได้รับความสนใจใน 10 ปีที่ผ่านมา โดยอธิบายถึงการแตกตัวอย่างไร้ระเบียบท่ามกลางการมีระเบียบของอะตอมนั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ของเราพูดมานานแล้ว นั่นคือการพูดถึงอนิจจังและอนัตตา รวมทั้งเรื่องของหยินหยางก็เป็นเรื่องของความไร้ระเบียบทั้งสิ้น

**สุดยอดของการศึกษาคือการศึกษาที่จะรู้จักตัวเราเอง**

มิตรแท้

-มิตรอุปการะ เพื่อประมาทช่วยป้องภัย เพื่อมีภัยช่วยปกป้อง และเพื่อนมีงานช่วยเหลือ

-มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข รักษาความลับของเพื่อน มีภัยร่วมอยู่

-มิตรเอื้อประโยชน์ ทำชั่วห้าม ทำดีสนับสนุน บอกในสิ่งที่เพื่อนไม่รู้

-มิตรรัก ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ติเมื่อผิด สนับสนุนเมื่อทำดี

มิตรแท้เป็นจริยธรรรมที่คนไทย สังคมไทย และสังคมโลกควรจะพึงมี

มิตรเทียม

-คนปอกลอก คบเพื่อนเพราะได้ประโยชน์

-คนดีแต่พูด

-คนหัวประจบ เห็นด้วยหมดทั้งเพื่อนทำดีและทำชั่ว ต่อหน้ายกย่องลับหลังนินทา

-คนชวนเพื่อเสีย ชวนเที่ยวเตร่ เล่นการพนัน

เรื่องของมิตรแท้และมิตรเทียมนอกจากจะนำมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระดับปัจเจกชนแล้ว ยังสามารถนำมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย หรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำ

เมื่อพิจารณาจากระดับของการพัฒนาเศรษฐกิจสามารถแบ่งระบบเศรษฐกิจการเมืองของโลกออกเป็น 3 กลุ่มคือ

1.กลุ่มประเทศโลกที่ 1

2.กลุ่มประเทศโลกที่ 2

3.กลุ่มประเทศโลกที่ 3

กลุ่มประเทศโลกที่ 1

กลุ่มโลกที่ 1 มองว่าการพัฒนาอุตสาหกรรม และการพัฒนาประเทศเป็นพื้นฐานของอำนาจและช่วยเสริมสร้างอำนาจในการต่อรองในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ เพราะการต่อรองจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการมีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ดังนั้นเศรษฐกิจและการเมืองเป็นสิ่งที่ควบคู่กัน

อำนาจทางเศรษฐกิจหมายถึงความมั่งคั่งของชาติและความกินดีอยู่ดีของประชาชน ขณะอำนาจทางการเมืองหมายถึงความมั่นคงของชาติ

ทั้งความมั่งและความมั่นคงจึงเป็นสิ่งที่คู่กัน และจะทำให้อำนาจของชาติมีความสมบูรณ์ และกลุ่มประเทศโลกที่ 1 เป็นกลุ่มที่ได้เปรียบในเรื่องพลังอำนาจของชาติ

ทำให้กลุ่มโลกที่ 1 สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ ระเบียบต่างๆที่มีอยู่ในโลก เป็นเสมือนคณะกรรมการบริหารของบริษัทโลก

สำหรับกลไกที่ประเทศโลกที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารสังคมชุมชนระหว่างประเทศก็คือองค์การระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ ธนาคารโลก องค์การค้าระหว่างประเทศ และแม้กระทั่งศาลโลกก็เป็นเครื่องมือของประเทศในกลุ่มโลกที่ 1

ดังจะพบว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้นำของอังกฤษ (วิสตัน เชอร์ชิล) ผู้นำสหรัฐ (ประธานาธิบดีรุสเวลส์) และผู้นำสหภาพโซเวียต (สตาลิน) ได้หารือร่วมกันและกำหนดเขตอิทธิพลและเขตผลประโยชน์ของแต่ละประเทศ และตามมาด้วยการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศต่างๆในระยะต่อมาทั้ง UN ธนาคารโลก ITO (องค์การการค้าโลกในระยะเริ่มต้น)

องค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้เป็นเครื่องมือของประเทศโลกที่ 1 ในการบริหารสังคมทั้งด้าน การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา อันเป็นผลพวงทำให้ประเทศโลกที่ 1 มีอำนาจในการบงการและชี้นำพฤติกรรมและนโยบายในสังคมชุมชนระหว่างประเทศ

ในทัศนะของประเทศกลุ่มโลกที่ 1 มองว่าสภาพที่เป็นอยู่ในสังคมชุมชนระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่ถูกต้องและยุติธรรมดีแล้วสมควรที่จะดำรงสภาพเช่นนี้เอาไว้ต่อไป เพราะประเทศกลุ่มโลกที่ 1 ได้ประโยชน์จากระบบความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่

ฮันจ์ เจ. มอร์แกนทอร์ นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกล่าวว่านโยบายต่างประเทศโดยภาพรวมมี 3 นโยบาย

อันแรกคือนโยบายรักษาสภาพเดิมถ้าได้ประโยชน์จากนโยบายนั้น

นโยบายที่ 2 คือนโยบายที่ต้องการสร้างศักดิศรีให้ตนเองเพื่อเรียกร้องความสนใจในระหว่างประเทศ เช่นครั้งหนึ่งที่อินโดนีเซียมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้นำในอาเซียนเนื่องจากเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุด แต่ความต้องการของอินโดนีเซียไม่สามารถเป็นจริงได้ เพราะเกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจและปัญหาทางการเมือง

นโยบายที่ 3 คือนโยบายจักรวรรดินิยม คือการขยายอิทธิพลไปครอบงำประเทศอื่นๆ

การที่ประเทศโลกที่ 1 ได้เปรียบเพราะมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับที่ค่อนข้างสูงกว่าประเทศกลุ่มโลกที่ 2 และ 3

สาเหตุของความได้เปรียบของประเทศโลกที่ 1

1.การที่ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งเสริมให้ผลผลิตมีสูงขึ้นจากหลักการแบ่งงานกันทำตามความถนัดและนำมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อให้เกิดการได้เปรียบเชิงเปรียบ ตามหลักการ The Law of Comparative Advantage แต่ในทางปฏิบัติประเทศโลกที่ 3 ไม่ได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบตามหลักการดังกล่าว เพราะกลุ่มประเทศโลกที่ 1 เป็นผู้กำหนดราคาให้สินค้าอุตสาหกรรมของตนเองมีราคาสูงกว่าราคาสินค้าเกษตรกรรมที่ผลิตจากประเทศโลกที่ 3

ปลายทศวรรษที่ 1990 ความยิ่งใหญ่ของสหรัฐกลับมาอีกครั้ง ปัจจุบันกล่าวได้ว่าสหรัฐมีอำนาจมากกว่าองค์การระหว่างประเทศ เช่นสหรัฐจะประกาศสงครามก็สามารถทำได้โดยไม่มีใครคัดค้าน สหรัฐออกกฎหมายที่ให้สามารถจับกุมคุมขังได้โดยไม่ต้องสอบสวน (กรณีที่คาดว่าจะเป็นผู้ก่อการร้าย)

การออกกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสหรัฐไม่สนใจเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐเองเป็นคนพร่ำพูดและกดดันให้นานาชาติกระทำตาม

2.ปัจจุบันระบบทุนนิยมมีแรงจูงใจให้การผลิตสูง เพราะสามารถคาดคะเนผลกำไรได้

3.ระบบทุนนิยมโลกในปัจจุบันมีความเชื่อว่าการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงในปัจจุบันมีน้อยลง เพราะเชื่อว่าระบบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เสรีนิยมนั้นจะทำให้ผู้คนใฝ่สันติ ละสงคราม

อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ก็น่าตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป เช่นอินเดียนั้นเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยในระดับที่สูง แต่เวลานี้ก็กำลัง

ก่อสงครามกับปากีสถาน

อินเดียเป็นมหาอำนาจทางศีลธรรมแต่เวลานี้กำลังทำลายภาพนี้เพราะอินเดียกำลังก้าวสู่สงคราม

หลังจากสงครามอัฟกานิสถานจะทำให้อินเดียและปากีสถานกับอินเดียทะเลาะกันและคนที่ได้ประโยชน์ก็คือโลกตะวันตก และหากตะวันตกยั่วยุให้จีนเข้ามามีส่วนร่วมได้ตะวันตกก็จะยิ่งได้ประโยชน์ แต่จีนเองก็รู้เท่าทันจึงทำตนในลักษณะคุมเชิงมากกว่า

ข้อบกพร่องของระบบการค้าเสรี

1.รัฐแต่ละรัฐมีความสามารถในการควบคุมระบบเศรษฐกิจของตนเองน้อยลง เช่นประเทศไทยเรามีปัญหามากในการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินตราเนื่องจากเราดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางการเงิน

2.การค้า การลงทุน การเคลื่อนย้ายทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วมีผลกระทบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของชาติ

เช่นประสบการณ์ของประเทศไทยการเข้ามาลงทุนของต่างชาติเนื่องจากอาศัยความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่สูงกว่านอกประเทศ ทำให้เงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาแสวงหากำไรส่วนนี้จำนวนมาก แต่เมื่อมีการถอนทุนออกไปประเทศไทยก็พบกับหายนะ นั่นคือการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

3.การค้าเสรีมีผลกระทบต่อความเป็นอธิปไตยของรัฐมากขึ้น เช่นเราจะพบว่าบรรษัทข้ามชาติมีบทบาทเหนือรัฐ ซ้ำยังสามารถควบคุมให้รัฐออกกฎระเบียบที่เอื้อต่อการแสวงหาประโยชน์กับบรรษัทข้ามชาติด้วย

นั่นคือสภาพปัญหาของระบบทุนนิยมเสรีที่เป็นอยู่ ซึ่งในทัศนะของกลุ่มประเทศโลกที่ 1 ก็มองว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยม เสรีนิยม และประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดีแและต้องดำรงรักษาสภาพการณ์นี้ให้ดำรงต่อไป

อย่างไรก็ตามทัศนะของอาจารย์มองว่าประชาธิปไตยอยู่บนพื้นฐานของความขัดแย้งและความแตกแยก เช่นการเลือกตั้งแต่ละครั้งนำมาซึ่งปัญหาความแตกแยก

แต่คนไทยกลับมัวเมา ลุ่มหลงในอุดมการณ์ประชาธิปไตยเพราะตะวันตกโฆษณาชวนเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดี โดยเราไม่เคยคิดว่าดีจริงหรือไม่ เหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่ แต่เรานำหลักการประชาธิปไตยมาใช้อย่างไม่ลืมหูลืมตา และในที่สุดบ้านเมืองของเราก็มีความวุ่นวาย

ประเทศไทยเองก็มีสิ่งที่ดีที่จะนำมาสร้างการต่อรองได้ ทั้งนี้เครื่องมือที่จะเป็นฐานอำนาจในการต่อรองของประเทศไทยที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ยาเสพติด ทั้งนี้เพราะประเทศไทยเป็นทางผ่านในการส่งออกยาเสพติดไปสู่โลกภายนอก นั่นคือเราต้องประกาศว่าถ้าไม่สนใจประเทศไทยเราจะปล่อยให้ยาเสพติดออกไปให้ระบาดทั่วโลก เพราะโลกตะวันตกเป็นโลกที่นิยมเสพยาเสพติดอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ก็เป็นระเบิดเวลาที่จะทำลายสังคมไทยได้เช่นกันถ้าไม่รู้จักเลือกใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะเวลานี้เยาวชนไทยติดยาเสพติดกันจำนวนมาก

ดังนั้นเครื่องมือตัวนี้จะต้องรู้จักใช้ขณะเดียวกันต้องรู้จักควบคุมได้

นอกจากนี้การรวมตัวกันของผู้ผลิตสินค้าเกษตรก็จะเป็นพลังอำนาจต่อรองอย่างหนึ่งของประเทศโลกที่ 3 ที่มีต่อประเทศตะวันตก อย่างไรก็ตามเวลานี้การรวมตัวกันยังไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ นอกจากนี้พบว่าตะวันตกเองก็ใช้นโยบายแบ่งแยกและปกครองจึงยากที่จะทำให้โลกที่ 3 รวมตัวกันติด แม้กระทั่งกลุ่มโอเปกที่นับว่าเป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองสูง แต่ก็ยังถูกบ่อนเซาะโดยตะวันตกเสมอ

ทั้งนี้โดยภาพรวมคนผิวขาวมักจะมองว่าตนเองยิ่งใหญ่เหนือคนชนชาติอื่นๆ และมักจะรวมตัวกันถล่มชนชาติอื่นๆให้จมดินเสมอ ที่สำคัญคนทั่วโลกถูกสอนให้เชื่อว่าคนผิวขาวเท่านั้นที่ดีเลิศ สมควรเป็นผู้ปกครองโลก แม้กระทั่งญี่ปุ่นเองก็ถูกตะวันตกโจมตีและควบคุมได้เสมอ

ญี่ปุ่นถูกบีบบังคับให้จ่ายค่าทำสงครามอ่าวเปอร์เชียวันละ 5 แสนดอลลาร์

ดังนั้นถ้าเรายินดีที่จะอยู่ภายใต้การบงการของโลกตะวันตกเราก็จะเสียเปรียบต่อไป และถ้าตะวันตกสามารถครอบงำระบบต่างๆได้ทั้งโลกในที่สุด ก็จะยิ่งสร้างปัญหา

เช่นในอนาคตตะวันตกอาจจะกำหนดราคาสินค้าให้เท่ากันฃนทั่วโลกซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งเนื่องจากรายได้ของคนทั้งโลกมีไม่เท่ากัน

ดังนั้นเราจะต้องเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมชุมชนระหว่างประเทศ และปรับตัวให้อยู่ได้ในสังคมนี้อย่างชาญฉลาด

กลุ่มประเทศโลกที่ 2

กลุ่มประเทศโลกที่ 2 เป็นกลุ่มประเทศที่เป็นสังคมนิยม กลุ่มนี้จะมองในแนวทางของมาร์กซิส มองว่าระบบทุนนิยมระหว่างประเทศนั้นมีสภาพไม่ต่างจากระบบทุนนิยมภายในประเทศ นั่นคือมีสภาพของทุนใหญ่กินทุนเล็ก หรือปลาใหญ่กินปลาเล็ก

แนวคิดสังคมนิยมมองว่าสังคมทุกสังคมมีระบบชนชั้นดำรงอยู่ในลักษณะปิระมิด คือคนชั้นสูงในสังคมจะมีจำนวนน้อย ขณะที่ชนชั้นต่ำจะมีจำนวนมากที่เป็นฐานของสังคม ขณะที่ประเทศร่ำรวยอาจจะมีชนชั้นกลางจำนวนมาก แต่ประเทศที่ยากจนจะมีชนชั้นกลางจำนวนน้อย

ในช่วงปี 1940-1947 ผู้วางแผนเศรษฐกิจระหว่างประเทศไม่ใช้ต้องการให้เกิดโลกที่ 2 ขึ้นมาแต่อย่างใด แต่เนื่องจากปี 1917 รัสเซียได้นำเอาลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์มาใช้ ทำให้เกิดความหวาดกลัวว่าจะขยายไปสู่ประเทศอื่นๆทำให้เกิดความวาดกลัวจึงเกิดการต่อต้านรัสเซียทำให้รัสเซียแยกตัวออกมาเป็นกลุ่มโลกที่ 2 หรือกลุ่มโลกตะวันออก

เมื่อเกิดความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์และมีการแยกตัวออกมาเป็นกลุ่มสหภาพโซเวียตจึงได้จัดตั้งสภาความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ (Council for Mutual Economic Assistance) โดยมีเป้าหมาย 4 ประการ

1.เผยแพร่อุดมการณ์ปฏิวัติและลัทธิคอมมิวนิสต์ไปทั่วโลก การกระทำของสหภาพโซเวียตตรงนี้ คนแทบจะทั่วโลกและคนไทยถูกตะวันตกโฆษณาให้เชื่อว่าเป็นความก้าวร้าวของสหภาพโซเวียต ทำให้เราคิดว่าสหภาพโซเวียตต้องการเปลี่ยนโลกและครองโลก

ทั้งๆที่พฤติกรรมของโลกกลุ่มที่ 1 หรือโลกตะวันตกก็เป็นการเปลี่ยนโลกและครองโลกเช่นเดียวกัน นั่นคือโลกตะวันตกก็ต้องการเปลี่ยนโลกให้เป็นโลกประชาธิปไตย

เวลานั้นจะพบว่าคนไทยและคนอีกหลายประเทศไม่มีโอกาสรับข่าวสารจากฝ่ายรัสเซียเลย แต่ฝ่ายที่ครอบครองสื่อสามารถสร้างความคิด ความเชื่อ และมองรัสเซียเป็นซาตาน ขณะมองอเมริกาเป็นนักบุญ

2.เพื่อสามารถบ่อนทำลายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของโลกตะวันตก

3.เป็นการป้องกันไม่ให้เยอรมันหรือมหาอำนาจตะวันตกทั้งหลายที่จะเข้ามาครอบครองและอิทธิพลเหนือยุโรปตะวันออก ซึ่งจะเป็นทางผ่านในการรุกรานโซเวียต

ทั้งนี้ในอดีตรัสเซียถูกรุกรานจากหลายๆประเทศไม่ว่าจะเป็นมองโกล (ซึ่งเคยปกครองรัสเซียมาเป็นเวลาถึง 300 ปี) สวีเดน อังกฤษ เยอรมันแม้กระทั่งอเมริกา

4.โซเวียตต้องการจะได้ทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบและทุนจากยุโรปตะวันออก เพื่อฟื้นฟูสหภาพโซเวียตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ทั้งนี้ประเทศที่เข้าสู่สงครามมักจะพบกับความหายนะไม่ว่าจะเป็นผู้แพ้หรือชนะ เช่นรัสเซียมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน ยกเว้นอเมริกาเท่านั้นที่ไม่เคยประสบปัญหานี้เพราะไม่เคยทำสงครามในประเทศตนเอง

อย่างไรก็ตามแม้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายคืออเมริกาและสหภาพโซเวียตจะต่อสู้กันบนเวทีการเมืองโลก แต่ในทางเศรษฐกิจทั้ง 2 ฝ่ายยังเป็นคู่ค้าต่อกัน เพราะการค้าขายกับโลกตะวันตกนำมาซึ่งความเจริญให้กับโซเวียตและประเทศบริวาร เพราะการค้าขายกันระหว่างประเทศสังคมนิยมด้วยกันมักจะเป็นการค้าขายในระบบแลกเปลี่ยนหรือ G-G หรือการค้าขายกันระหว่างรัฐ

ขณะที่ประเทศไทยของเราปฏิเสธที่จะค้าขายกับโลกสังคมนิยมโดยสิ้นเชิงและนั่นคือการสูญเสียที่สำคัญของเรา

นอกจากนี้รัสเซียต้องค้าขายกับโลกตะวันตกเพื่อต้องการพัฒนาความสามารถทางวิทยาศาสตร์ที่นอกเหนือไปจากกิจการทางการทหาร และความสัมพันธ์ทางการค้าจะช่วยส่งเสริมการใช้แรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพในการผลิตและการใช้แรงงาน

**การที่สหภาพโซเวียตเปิดประตูการค้ากับโลกตะวันตกในเวลาต่อมาส่งผลต่อการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมา เพราะในระยะหลังสภาพของสังคมของรัสเซียมีลักษณะที่คนบางกลุ่มเช่นนักวิทยาศาสตร์ ทหาร สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าประชาชน มีวิถีชีวิตแบบโลกตะวันตก ขณะประชาชนส่วนใหญ่อดอยาก ต้องซื้อของราคาแพง

กล่าวคือท่ามกลางอุดมการณ์แห่งความทัดเทียมกัน แต่ยังมีช่องว่างทางด้านความเป็นอยู่

เมื่อกอร์บาชอพขึ้นมาเป็นผู้นำของสหภาพโซเวียตยิ่งจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วให้เกิดขึ้นในสหภาพโซเวียต เพราะการนำนโยบายกลาสนอสต์และเปเรสทรอยก้า โดยที่ตะวันตกไม่ต้องลงมือทำลาย แต่ทำให้คนรัสเซียทำลายกันเองจนกระทั่งปัจจุบันยุโรปตะวันออกและอดีตสหภาพโซเวียตได้ถูกดูดกลืนให้เข้ามาอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมอย่างเต็มตัว และทุกวันนี้ค่านิยมแบบทุนนิยมในรัสเซียจึงแผ่กระจายไปทั่ว

กลุ่มประเทศโลกที่ 3

ทัศนะของประเทศโลกที่ 3 มองว่าระบบเศรษฐกิจการเมืองในสังคมชุมชนระหว่างประเทศว่าเป็นระบบที่เอื้อต่อประเทศที่พัฒนาแล้วทางด้านอุตสาหกรรม เนื่องจากระเบียบทางด้านเศรษฐกิจการเมืองโลกนั้นเป็นระเบียบที่ประเทศโลกที่ 1 กำหนดขึ้นมา จึงกำหนดระเบียบที่เอื้อต่อการรักษาประโยชน์ของตนเอง ทำให้ไม่มีความยุติธรรมในความสัมพันธ์ในสังคมชุมชนระหว่างประเทศ

สภาวะการณ์ที่ดำรงอยู่ทำให้ประเทศโลกที่ 3 ตกอยู่ภายใต้การควบคุมการกลุ่มโลกที่ 1 เช่นในเรื่องของการประเมินค่าของเงินตราที่เงินตราของประเทศโลกที่ 3 มักจะถูกประเมินราคาถูกกว่าเงินของประเทศโลก ที่ 1

นอกจากนี้กลุ่มประเทศโลกที่ 3 ยังถูกเอารัดเอาเปรียบในข้อตกลงทางด้านการค้า โดยเฉพาะในสินค้าเกษตร ซึ่งประเทศโลกที่ 1 มักจะออกมาตรการที่สร้างความเสียเปรียบให้กับประเทศโลกที่ 3 เสมอไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรฐานในด้านคุณภาพสินค้าสูงกว่าปกติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเอามาตรฐาน ISO มาใช้เป็นมาตรฐานในการผลิตสินค้าที่จะทำให้ต้นทุนในการผลิตของประเทศโลกที่ 3 มีมากขึ้นยิ่งส่งผลต่อการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของประเทศโลกที่ 3

สาเหตุที่โลกที่ 3 มีมุมมองว่าประเทศโลกที่ 1 เอาเปรียบโลกที่ 3 มาจากสาเหตุดังนี้

1.การที่ประเทศโลกที่ 3 มีประสบการณ์ในการตกเป็นอาณานิคมของประเทศโลกตะวันตก

2.เกิดจากความทรงจำของผู้นำในเรืองราวทางประวัติศาสตร์

3.โลกตะวันตกให้ความสนใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในโลกที่ 3 น้อยมาก แต่กติกา ระเบียบกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศที่กำหนดขึ้นมานั้นเอื้อต่อการพัฒนาประชากรในประเทศของตนเองมากกว่า

4.องค์กรสำคัญๆในระบบโลกมักจะถูกควบคุมด้วยกลุ่มประเทศในโลกที่ 1 และองค์กรเหล่านี้เป็นเครื่องมือหรือเป็นกลไกในการบริหารระบบเศรษฐกิจ การเงิน การค้า การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เป็นไปตามเงื่อนไขของโลกตะวันตก

เช่นเวลานี้สหรัฐกำลังออกมาตรการให้การคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กกล้าภายในประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นยื่นฟ้องต่อ WTO เนื่องจากเป็นการกระทำที่จัดกับหลักการการค้าเสรี แต่เอาเข้าจริงแล้วอาจารย์มองว่า WTO ไม่สามารถทำอะไรอเมริกาได้มากนัก

นอกจากนี้มุมมองของประเทศโลกที่ 3 ที่มองประเทศโลกที่ 1 ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือ มองว่ากลุ่มรัฐในโลกที่ 1 มีความเข้มงวดในการให้เงินช่วยเหลือ จนดูเหมือนว่ารัฐโลกที่ 1 ขาดความจริงใจในการให้การช่วยเหลือ หรือกล่าวว่าการให้การช่วยเหลือทางการเงินของประเทศกลุ่มโลกที่ 1 ต่อรัฐในกลุ่มโลกที่ 3 เกิดขึ้นเพราะโลกที่ 1 มีประโยชน์จากการให้การช่วยเหลือนั้นๆ

นอกจากนี้พบว่าประเทศโลกที่ 1 ยังผูกขาดในเรื่องการค้า และควบคุมกลไกทางการค้า เช่นการกำหนดราคาสินค้าเกษตรที่ประเทศโลกที่ 1 เป็นผู้กำหนดแทนที่จะเป็นประเทศผู้ผลิต

จากปัญหาความไม่เป็นธรรมดังกล่าวทำให้ประเทศโลกที่ 3 รวมตัวกันในนามกลุ่ม 77 เพื่อเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบทางเศรษฐกิจของโลกใหม่ โดยเน้นให้เจ้าของรัฐมีความสามารถในการควบคุมกรรมสิทธิในทรัพย์สินภายในรัฐของตนเอง

เพราะปัจจุบันประเทศโลกที่ 1 เข้าไปครอบงำการใช้ทรัพยากรและทรัพย์สินของประเทศในโลกที่ 3

ทั้งนี้ข้อเสนอของกลุ่ม 77 ประกอบด้วย

-การเสนอให้มีการใช้ GSP กับโลกที่ 3 เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันทางการค้า

-เสนอโครงการชำระหนี้โดยให้ประเทศโลกที่ 3 มีความสามารถในการชำระโดยไม่สร้างปัญหาให้มากจนเกินไป เช่นอาจจะทำในรูปแบบการลดหนี้ การลดดอกเบี้ย การยืดระยะเวลาชำระหนี้ เนื่องจากประเทศโลกที่ 3 ส่วนใหญ่เป็นหนี้

-เสนอให้มีการกำหนดราคาสินค้าเกษตรให้มีราคาเพิ่มสูงขึ้น มีการประกันราคาสินค้า แต่โลกที่ 1 ไม่ยินยอมเนื่องจากจะทำให้ประเทศโลกที่ 1 เสียเปรียบ

ดังนั้นกล่าวได้ว่าผลประโยชน์ เป็นตัวการสำคัญในการกำหนด บทบาทและพฤติกรรมระหว่างรัฐในโลกที่ 1 โลกที่ 2 และประเทศในโลกที่ 3

ทางออกของประเทศกำลังพัฒนา

1.นำเอาระบบคืนกลับสู่ชุมชนมาใช้ (Localization) และสร้างเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองขึ้นมาเพื่อเป็นฐานรากในการสร้างอำนาจต่อรอง เพราะถ้าชุมชนเข้มแข็งก็จะไม่กระทบกระเทือนมากนักหากมีปัญหาทางเศรษฐกิจ

ดังที่เราพบว่าเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบ แต่ธุรกิจขนาดย่อยของเรายังดำรงอยู่ได้ เช่นร้านก๊วยเตี๋ยว

ซึ่งแนวคิดนี้คลินตันเองก็นำไปใช้ในสหรัฐนั่นคือส่งเสริมให้เกิดธุรกิจขนาดเล็กในชุมชน เพื่อรองรับสภาวะฟองสบู่ที่อาจะแตกตัวในสหรัฐ

2.การนำเอาแนวคิดแบบชุมชนพึ่งตนเองมาใช้อาจจะเป็นไปโดยไม่ง่ายดายนัก เพราะอาจจะถูกต่อต้านโดยนักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เพราะทุกวันนี้คนเราหลงเชื่อในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก และนำเอากระแสหลักนี้มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศต่อไป

การที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเชื่อในการหลักการการค้าเสรีก็เพราะไปศึกษามาจากโลกตะวันตกและยึดติดกับหลักการของโลกตะวันตก

3.การออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิบัตร นั่นคือจะต้องเลือกออกกฎหมายในบางตัวที่เราได้ประโยชน์เท่านั้น ไม่ใช่ออกกฎหมายทุกตัวที่มหาอำนาจเรียกร้อง แต่ในบางเรื่องเราต้องมีข้อยกเว้นที่จะไม่ทำตามบ้างหากข้อยกเว้นนั้นมีประโยชน์ต่อประเทศไทย

4.การออกกฎหมายในการเก็บภาษี เช่นหากเงินทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในระยะสั้นจะต้องเก็บภาษีในอัตราที่สูง และเก็บให้ถูกลงสำหรับการลงทุนในระยะยาว เป็นต้น

5.การออกกฎหมายถ่วงเวลาในการปฏิบัติตามเงื่อนไขขององค์กรการค้าโลก

ทางออกทุกอย่างเราจะทำได้ต่อเมื่อคนไทยให้ความร่วมมือ

จากคำพูดของประธานาธิบดีเคเนดี้ ที่กล่าวว่า “จงอย่าถามว่าสหรัฐให้อะไรกับท่าน แต่จงถามว่าท่านให้อะไรกับสหรัฐบ้าง” และคำพูดของประธานาธิบดีลินคอน จอห์นสัน ที่ประกาศนโยบายทำสงครามเต็มรูปแบบเพื่อขจัดความยากไร้ให้ในสหรัฐ

-การเดินทางไปเยือนอังกฤษของนายกทักษิณครั้งล่าสุด นายกของเราไปเจรจาในเรื่อง การลดค่าใช้จ่ายของประเทศในเรื่องของอาวุธ และหากจำเป็นต้องซื้อจะใช้วิธีการแลกเปลี่ยนกับสินค้าเกษตร ซึ่งอาจารย์มองว่าเป็นความเฉลียวฉลาดมากทีเดียว แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้

การที่ผู้นำของเราค่อนข้างจะรู้เท่าทันโลกทำให้สิงคโปร์ไม่ค่อยจะชอบรัฐบาลของเรานัก เพราะกำลังมองว่าจะนำประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นคู่แข่งของสิงคโปร์ ขณะนโยบายของรับบาลชุดปัจจุบันเน้นเศรษฐกิจภายในประเทศขณะเดียวกันก็ยังเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศด้วย

QUIZ-

1.ถ้าท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านจะนำนโยบายใดมาปฏิบัติและใช้ในการบริหารประเทศ และจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในสังคมชุมชนระหว่างประเทศ ท่านคิดว่า ประเทศไทยควรจะดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างไร

2.ถ้าท่านเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ในสภาวะการณ์ปัจจุบันท่านจะดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างไร

Hosted by www.Geocities.ws

1