ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

International Relation in Southeast Asia

ผศ.ดร.อัษฎากร เอกแสงศรี

อาจารย์บอกว่าเนื้อหาช่วงนี้จะออกข้อสอบ

สงครามเวียดนามที่ยืดเยื้อยาวนานทำให้เวียดนามต้องพึ่งพาสหภาพโซเวียตมากมาย และความช่วยเหลือที่สหภาพโซเวียตให้ก็ไม่ได้ให้เปล่ามีการทำข้อตกลงว่าเวียดนามต้องชดใช้ ยิ่งรบนานเวียดนามก็ยิ่งจน ทำให้ต้องส่งแรงงานไปทำงานใช้หนี้ในโซเวียต ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ความช่วยเหลือที่โซเวียตมีให้กับเวียดนามได้แผ่ขยายมาถึงลาวและกัมพูชาด้วย ทำให้จีนวิตกกังวลมากขึ้น

การเข้ามาของโซเวียตในลาวจึงเห็นโอกาสที่จะเข้าไปตักตวงทรัพยากรในลาวมากขึ้น ส่วนในเวียดนามโซเวียตก็ได้ส่งทหารเข้าไปยันกับกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ สหรัฐฯให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มม้งที่อพยพมาจากลาว กลายเป็นการกระทบกระทั่งกันเรื่อยมา เวียดนามกระทบกระทั่งกับเขมรสามฝ่ายมาตลอดโดยเฉพาะทางด้านตะวันตกของกัมพูชาทำให้เกิดการรุกล้ำพรมแดนเพื่อโจมตีกัน จนเกิดเหตุการณ์โนนหมากมุ่นเมื่อต้นทศวรรษ 1980

จากกรณีนี้ทำให้จีนคิดที่จะควบคุมเวียดนามมากขึ้นโดยพูดถึงการทำสงครามสั่งสอนเวียดนามเป็นครั้งที่สอง จีนมองไทยเหมือนเพื่อนจึงพยายามจะปรับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น จุดนี้นับว่าช่วยปรามเวียดนามลงไปได้ในระดับหนึ่ง เวียดนามนั้นเศรษฐกิจก็แย่อยู่แล้วถ้ามารุกล้ำประเทศเพื่อนบ้านมากเกินไปอาจโดนจีนรุกรานได้

สหรัฐฯนั้นงานที่ทำส่วนใหญ่เป็นงานลับในกลุ่มผู้อพยพทั้งลาวและกัมพูชา แต่กรณีโนนหมากมุ่นทำให้กลุ่มอาเซียนมีความร่วมมือกันทางทหารมากขึ้นทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นจุดประสงค์หลักของอาเซียน กล่าวคือ เครื่องบินรบฟิลิปปินส์เข้ามาเตรียมพร้อมอยู่ที่มาเลเซียและสิงคโปร์ เครื่องบินรบสิงคโปร์ก็เข้ามาอยู่ในไทย ส่วนทหารไทยก็เข้าประชิดป้องกันแนวชายแดนมากขึ้น ออสเตรเลียก็ส่งเครื่องบินรบเข้ามาในสิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นเหมือนกับปราการที่จะป้องกันไทย จีนส่งปืนใหญ่เข้ามาไทยเพื่อยิงกับเวียดนาม สหรัฐฯก็ส่งรถถังเข้ามา (แต่เป็นรถถังเก่าเพราะสหรัฐฯหวังจะขายอะไหล่)

1983 สหรัฐฯมุ่งทำสงครามแบบพัฒนาเทคโนโลยีโดยเฉพาะโครงการ Star Wars ช่วงนั้นอยู่ในสมัยของประธานาธิบดีเรแกนที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะเศรษฐกิจทำให้สหรัฐฯละเลยภูมิภาคนี้ไป ทางโซเวียตเองก็ต้องผลักดันโครงการ Star Peace มาสู้กับสหรัฐฯ จึงต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล เศรษฐกิจของโซเวียตก็อ่อนแอลง จึงต้องลดความช่วยเหลือแก่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะใน ค.ศ. 1985 โซเวียตลดความช่วยเหลือแก่ลาวและกัมพูชาลงอย่างเห็นได้ชัด

จีนนั้น ค.ศ. 1984 เริ่มประกาศนโยบาย 4 ทันสมัย โดยนำระบบทุนนิยมมาใช้ เปลี่ยนระบบการค้าการลงทุนในจีน ทำ Eastern Seaboard จากเซี่ยงไฮ้ไปยังพื้นที่ตอนบนของจีน การหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผู้นำจีนกล่าวว่า เพื่อสร้างแรงกดดันให้แก่ชนชั้นกรรมาชีพของจีนให้มีจิตสำนึก

ค.ศ. 1985 โซเวียตเริ่มพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยมีนโยบายกราสนอต

ค.ศ. 1986 โซเวียตมีนโยบายเปเรสทรอยก้าตามมา และประกาศสองนี้ที่วลาดิวอสต๊อก พร้อมทั้งพูดถึงปัญหาระหว่างจีนกับโซเวียต ในเรื่องที่จีนกล่าวว่าโซเวียตต้องบีบบังคับให้เวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชา รวมทั้งปัญหาชายแดนจีนกับโซเวียต

สรุปได้ว่า สัญญาณเตือนภัยให้โซเวียตถอนตัวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วหันมาประนีประนอมกับจีนมากขึ้นได้แก่

-นโยบายกราสนอตและเปเรสทรอยก้า

-ปัญหาที่จีนขอให้รัสเซียบีบบังคับเวียดนามให้ถอนทหารออกจากกัมพูชา

-ปัญชายแดนจีนกับโซเวียตในมองโกเลีย

-ปัญหาอัฟกานิสถานที่โซเวียตกำลังเพลี่ยงพล้ำ

ค.ศ. 1989 สหรัฐฯมองเห็นความสำคัญของญี่ปุ่นกับจีน จึงเริ่มจัดตั้ง APEC ขึ้นโดยมีออสเตรเลียเปรียบเสมือนนายหน้าคอยประสานงานให้กับสหรัฐฯ มีญี่ปุ่นเป็นกำลังหลักทางด้านการเงินเพราะญี่ปุ่นกำลังรุ่งโรจน์เต็มที่ เข้าไปลงทุนมากมายในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯยังไม่ฟื้นตัว

ทางด้านเวียดนามเมื่อโซเวียตหมดเงินสนับสนุนจึงจำเป็นต้องถอนทหารออกจากกัมพูชาตั้งแต่ ค.ศ. 1987 แต่กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลกัมพูชายังติดขัดอยู่บ้าง ไทยเองก็เข้าไปมีส่วนในการจัดตั้งรัฐบาลกัมพูชาแทนอินโดนีเซีย ซึ่งนโยบายไทยแต่เดิมเป็นการพยายามกันกลุ่มต่าง ๆ ออกมา เพื่อจะเข้าไปค้าขายบริเวณชายแดน ในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชายได้พูดถึงนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เพราะต้องการเปลี่ยนขั้วการค้า ทำให้ประเทศต่าง ๆ อาทิ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ต่างกระโดดเข้าสู่ไทยเพื่อเป็นทางผ่านไปค้าขายในอินโดจีน ในขณะที่โซเวียตลดบทบาทลงไปและล่มสลายไปใน ค.ศ. 1990

สภาพการณ์ของโลกในตอนต้นทศวรรษ 1990 เริ่มแปรเปลี่ยนสหรัฐฯก้าวผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก เป็น “เอกอภิมหาอำนาจ” สหรัฐฯจึงเริ่มเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการต่อประเทศอื่น เช่น นำกรณีเทียน อัน เหมินมาบีบบังคับในการทำการค้ากับจีน ขู่จะตัด GSP ฯลฯ เพราะต้องการให้จีนล่มสลายเหมือนสหภาพโซเวียต

อีกจุดหนึ่งคือพม่า กรณีนางออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งแต่ฝ่ายทหารไม่ยอมลงจากอำนาจ สหรัฐฯจึงนำประเด็นนี้มาโจมตีพม่าว่าไม่เป็นประชาธิปไตย โดยสหรัฐฯหวังว่าจุดนี้จะเป็นการสร้างความแตกแยกในพม่า เพราะที่ผ่านมาสหรัฐฯก็พยายามเข้าไปสนับสนุนชนกลุ่มน้อยอยู่แล้ว นอกจากนี้สหรัฐฯยังพยามยามทำให้ไทยและอาเซียนบอยคอตพม่า เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย

ค.ศ. 1991 เกิดเหตุการณ์ รสช.ในไทยและสงครามอ่าวเปอร์เซีย สหรัฐฯเข้ามาใช้ฐานทัพไทยที่สัตหีบและเรียกร้องให้ไทยและมาเลเซียส่งกำลังไปช่วยปลดปล่อยคูเวต โดยเป็นการดำเนินการภายใต้มติของ UN

กรณีพม่าไทยไม่ได้ฟังสหรัฐฯมากนัก การค้าระหว่างไทยกับพม่าดำเนินไปด้วยดี และพยายามดึงพม่าให้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนด้วย รวมทั้งดึงเวียดนาม ลาว กัมพูชา เพื่อความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน โดยเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกใน ค.ศ. 1994

ค.ศ. 1992 การเจรจาการค้ารอบอุรุกวัยส่อเค้าว่าจะสำเร็จ นายกฯอานันท์จึงเกิดแนวความคิดเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มอาเซียนในการที่จะต้านทานกับสหรัฐฯและ EU โดยสร้างความเข้าใจกับอินโดนีเซียว่าจะไม่เสียเปรียบใครถ้าตั้ง AFTA ขึ้นมาได้

ตั้งแต่ ค.ศ. 1994 เป็นต้นมาอาเซียนเริ่มมีการประชุมระดับผู้นำบ่อยครั้งขึ้น รวมทั้งเชิญประเทศผู้เจรจาเข้าร่วมประชุม อาเซียนจึงเป็นเวทีใหญ่ขึ้นทำให้มหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับอาเซียน ซึ่งสหรัฐฯเข้ามาแทรกแซงโดยอ้างกรณีอาเซียนดึงพม่าเข้าเป็นสมาชิก

ค.ศ. 1997 อาเซียนมีแถลงการณ์รับลาว กัมพูชา และพม่าเข้าเป็นสมาชิก แต่กัมพูชายังมีปัญหาภายในจึงชะลอไปก่อน การรับสามประเทศนี้เป็นสมาชิกทำให้สหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงโดยอ้างเรื่องประชาธิปไตย เพราะจอร์จ บุช ได้พูดถึง New World Order ใน ค.ศ. 1991 ที่ประกอบด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ทำให้สหรัฐฯนำเรื่องนี้มาแทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่นตลอดเวลา

ตั้งแต่ ค.ศ. 1990 เป็นต้นมาสหรัฐฯหมดปัญหาเรื่องละตินอเมริกา เพราะนำ IMF เข้าไปจัดการหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก เวเนซูเอล่า โคลัมเบีย เปรู ชิลี เนื่องจากสหรัฐฯเข้าไปผลักดันให้ประเทศพวกนี้เป็นประชาธิปไตย ในที่สุดเศรษฐกิจก็ล้มเพราะประชาธิปไตยนั้นทำให้สหรัฐฯแทรกแซงได้ง่าย สหรัฐฯจึงใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการครอบงำประเทศกำลังพัฒนา

สหรัฐฯเล็งเห็นแล้วว่าการทำสงครามนั้นได้ไม่คุ้มเสีย สู้เข้าครอบงำทางเศรษฐกิจไม่ได้ เมื่อละตินอเมริกาสหรัฐฯจัดการได้หมดแล้วจึงหันไปมองภูมิภาคอื่น ญี่ปุ่นตอนนั้นก็เติบโตมากแล้ว จีนก็ไม่ฟังสหรัฐฯ สหรัฐฯจึงนำประชาธิปไตยมาแทรกแซงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นได้ว่าสหรัฐฯพยายามพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอเมื่อจะเข้ามาแทรกแซงไทย มาเลเซีย ในกัมพูชานั้นสหรัฐฯก็พยายามจะเข้าไปจัดการกับกลุ่มของพล พต และเขียว สัมพัน

ในการครอบงำเศรษฐกิจเอเชียของสหรัฐฯนับว่าจีนและญี่ปุ่นเป็นกว้างขวางคออยู่ สหรัฐฯจึงพยายามหาจุดอ่อนที่จะโจมตีทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ซึ่งก็คือ 5 เสือแห่งเอเชีย สหรัฐฯหวังจะสร้างปัญหาเศรษฐกิจในเกาหลีใต้และไทยเพื่อจะกระทบต่อไปยังญี่ปุ่นและจีน (ซึ่งสหรัฐฯแค้นมากเพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นดีวันดีคืนแซงหน้าสหรัฐฯ และญี่ปุ่นยังมีบทบาทมากใน APEC เพราะรวยกว่า)

กลยุทธ์ของสหรัฐฯคือใช้เศรษฐกิจและ New World Order เป็นเครื่องมือนำมาโจมตีจุดอ่อนของเอเชีย เข้าจังหวะพอดีกับเศรษฐกิจไทยที่ฟองสบู่เริ่มแตก อินโดนีเซียก็เช่นเดียวกัน มาเลเซีย สิงคโปร์ก็แข็งข้อกับสหรัฐฯ สหรัฐฯจึงต้องจัดการบริเวณนี้ให้ราบคาบ เพราะเป็นตลาดหลักของจีนและเป็นแหล่งวัตถุดิบ เศรษฐกิจของจีนจะดีหรือไม่ไม่ได้อยู่ที่สหรัฐฯ แต่อยู่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐฯจึงเริ่มโจมตีตลาดหุ้นในที่ต่าง ๆ ยกเว้นญี่ปุ่นเพราะตลาดใหญ่เกินไปโจมตีไม่ได้ แต่โจมตีตลาดหุ้นฮ่องกงได้ทั้ง ๆ ที่เป็นตลาดที่เข้มแข็งมาก แต่เนื่องจากฮ่องกงกำลังจะรวมกับจีนทำให้ตลาดหุ้นเริ่มอ่อนตัว

ระบบการค้าเสรีของ WTO ทำให้การโจมตีของสหรัฐฯทำได้ง่ายขึ้น เพราะเงินจากต่างประเทศไหลเข้าออกได้อย่างสะดวก รัฐบาลไทยสมัยนายกฯชวน เปิดเสรีทางการเงิน BIBF เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคนี้ ทำให้การปั่นหุ้นทำได้ง่าย เข้าแผนของสหรัฐฯที่จะเข้ามาครอบงำทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อจะได้คุมเศรษฐกิจของจีนและญี่ปุ่นอีกต่อหนึ่ง

เมื่อเศรษฐกิจซวนเซก็เริ่มมีการโจมตีค่าเงินตามมา เห็นได้ว่าการทำสงครามยุคนี้ไม่ได้กระทำโดยใช้อาวุธเหมือนในอดีต แต่จะให้การสนับสนุนชนกลุ่มน้อยให้เกิดความแตกแยก หรือใช้ยาเสพติดทำลายชาติเป้าหมายทีละเล็กละน้อย เป็นแผนทำลายโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม สหรัฐฯจึงเริ่มสร้างแนวคิดนิยมตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ เป็นการวางแผนระยะยาวตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว เห็นได้ว่าหนังฮอลลีวู้ดจะมีอิทธิพลไปทั่วโลก เป็นแผนการครอบงำทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง

หน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทในช่วงนี้คือสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน ที่ใช้สื่อบั่นทอนความน่าเชื่อถือของประเทศเป้าหมาย ค.ศ. 1997 ตลาดหุ้นไทยล้มครืนลงการแทรกแซงตามแผนการสหรัฐฯเริ่มประสบผลสำเร็จ แต่มีสิ่งที่สหรัฐฯไม่คาดคิดมาก่อนเพราะเหตุการณ์นี้ไม่เกิดตอนที่โจมตีเศรษฐกิจละตินอเมริกา ก็คือผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจไม่มีผลต่อประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบปิดอย่างจีน ลาว เวียดนาม มีผลเฉพาะประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดเท่านั้น เช่น ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย แต่มาเลเซียเศรษฐกิจแข็ง เงินสำรองเยอะทำให้การโจมตีค่าเงินทำได้ไม่เต็มที่ สิงคโปร์ก็ไม่ได้รับผลมากนักเพราะเศรษฐกิจแข็ง จุดอ่อนจริง ๆ คืออินโดนีเซีย ฮ่องกงก็ซวนเซ แต่เกาหลีใต้หนักกว่า ทำให้ต้องล้มระเนระนาดกันเป็นชุดรวมทั้งญี่ปุ่นด้วย และที่หนักกว่านั้นคือการที่เศรษฐกิจในเอเชียล้มส่งผลถึงยุโรปด้วย เพราะประเทศยุโรปมาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากมาย ทำให้ตลาดหุ้นในที่อื่น ๆ ล้มไปด้วยรวมทั้งตลาดหุ้นสหรัฐฯ

สหรัฐฯยังไม่หนำใจในที่สุดก็บีบบังคับให้ไทย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ เข้ารับการช่วยเหลือจาก IMF ในไทยนั้นสหรัฐฯเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล รัฐบาลชวน 2 จึงต้องเชื่อฟังสหรัฐฯในการครอบงำเศรษฐกิจไทยแล้วตักตวงผลกำไรไปมากมาย

เกาหลีใต้นั้นไม่ยอมรับเงื่อนไข IMF ขอรับแต่เงินกู้อย่างเดียว ยิ่งมาเลเซียยิ่งไม่กู้เงินจาก IMF เลย ทำให้สองประเทศนี้ฟื้นตัวได้เร็วแตกต่างจากไทย

เมื่อสหรัฐฯคุมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แล้ว สหรัฐฯจึงเริ่มพุ่งเป้าไปที่จีน โดยบริษัทแควนตัมนำเงินสองแสนล้านเหรียญเข้าไปตีตลาดหุ้นฮ่องกง ฮ่องกงมีทุนสำรองแปดหมื่นล้านเหรียญเมื่อรวมกับจีนก็สู้กันไปสู้กันมา ทำให้แควนตัมไม่ได้กำไรเหมือนที่ทำกับไทยจนแควนตัมต้องเจ๊งเอง แต่จีนซวดเซไปเล็กน้อย

นอกเหนือจากการครอบงำทางเศรษฐกิจ บทบาทของสหรัฐฯในช่วงนี้จึงเป็นการเข้ามาในไทยเพื่อแทรกแซงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สนับสนุนกลุ่มม้งให้ไปก่อกวนในลาว สนับสนุนกระเหรี่ยงให้ต่อต้านรัฐบาลพม่า การก่อการร้ายบริเวณชายแดนไทยจึงมีมากในช่วงนี้ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐฯ สหรัฐฯพยายามแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองทั้งสิ้น เห็นได้จากหลังความขัดแย้งระหว่างไทยกับพม่าทำให้ต้องปิดด่านพรมแดน การค้าของสหรัฐฯกับพม่าที่เคยอยู่ในอันดับ 6 กลับพุ่งพรวดไปอยู่อันดับ 3

กลุ่มที่เข้ามายันกับสหรัฐฯในเอเชียคือ EU โดยพยายามสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเอเชีย-ยุโรป (ASEM) เพื่อถ่วงดุลกับ APEC อย่างไรก็ตาม ASEM และ APEC ก็ประสานกันโดยเล่นเกมกับเอเชียเช่นเดิม เช่น ทั้ง ASEM และ APEC ต่างรังเกียจพม่าไม่ให้เข้ามารวมกลุ่ม ทั้ง ๆ ที่ประเทศอาเซียนไม่รังเกียจเพราะต้องการให้ประเทศในเอเชียเป็นปึกแผ่น

สหรัฐฯวางแผนการแทรกแซงไว้เรียบร้อยแล้วเพียงแต่หาเหตุที่จะจุดชนวนการแทรกแซงให้ได้ เหตุการณ์ถล่มตึกเวิลด์เทรดเมื่อวันที่ 11 กันยายนปีที่แล้วเป็นชนวนเหตุให้สหรัฐฯสามารถเข้าไปแทรกแซงประเทศต่าง ๆ ได้ทั่วโลก มีนักวิชาการกล่าวว่า นับแต่ปี 1997 เป็นต้นมาสหรัรฐฯจะใช้กลยุทธ์การทำสงครามกับขบวนการก่อการร้ายและสงครามกับประเทศเล็ก ๆเท่านั้น เพราะสงครามกับประเทศใหญ่ ๆ ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป เพราะต้นทุนสูงมากทำให้สิ้นเปลือง

การจะต้านทานอิทธิพลของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกระทำได้ก็ต้องรวมพลังกันในนามอาเซียน เช่น มติจากการประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2544 ณ กรุงบันดาเสรีเบกาวัน บรูไน มีแถลงการณ์ร่วมเรื่องการก่อการร้าย เป็นการป้องกันไม่ให้สหรัฐฯนำข้ออ้างกรณีเวิล์ดเทรดมาโจมตีประเทศอาเซียนคือมาเลเซีย และอินโดนีเซีย หรือความร่วมมือที่เรียกว่า ASEAN+3 โดยอาเซียนรวมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้เพื่อป้องกันการโจมตีทางเศรษฐกิจจากบรรษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน

จีนและญี่ปุ่นพูดถึงความพร้อมที่จะให้เงินสนับสนุนแก่ ASEAN+3 อย่างไม่จำกัดจำนวนเพื่อป้องกันการโจมตีค่าเงิน สหรัฐฯจึงพยายามคัดค้านกองทุนนี้อย่างเต็มที่โดยอ้างว่ามี IMF อยู่แล้ว

กิจกรรมของอาเซียนอีกอันหนึ่งที่พยายามดึงชาติมหาอำนาจเข้ามาร่วมประชุมเพื่อขยายความร่วมมือ กล่าวคือตั้งแต่ ค.ศ. 1994 มีการประชุม ARF (ASEAN Regional Forum) โดยดึงสหรัฐฯ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย EU แต่ละประเทศเป็นมหาอำนาจทั้งสิ้น ทำให้สามารถคุยกันในที่ประชุมได้ว่าประเทศใดมีบทบาทมากเกินไป

กล่าวได้ว่าการปรับตัวของประเทศอาเซียนกรณีการแทรกแซงจากต่างชาติไม่ได้กระทำโดยดันต่างชาติออกไปอย่างเดียว แต่ยังดึงเข้ามาพูดคุยกันในฐานะองค์รวมด้วย อย่างไรก็ตามมีหลายประเทศอาเซียนไม่ให้ด้วยที่จะกระทำการในนามกลุ่มอื่น ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจึงมีแนวคิด ASEAN Minus X หมายความว่า ในการสถาปนาความร่วมมืออื่นประเทศใดพร้อมก็ทำก่อน ประเทศใดไม่พร้อมก็ยังไม่ต้องทำ ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสามัคคีของอาเซียน

ก่อนจะมีแนวคิด ASEAN- Minus X ได้มีแนวคิดเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน อันจะทำให้จีนมีอิทธิพลกับอาเซียนมากขึ้น ญี่ปุ่นมองว่าตนเองยังไม่พร้อมจึงไปร่วมมือกับสิงคโปร์แทนเพื่อส่งสินค้าเข้าอาเซียนตามข้อตกลง AFTA ทำให้สหรัฐฯพยายามอย่างยิ่งที่จะเข้าไทยเพื่อต้านอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนและญี่ปุ่น ไทยก็พยายามตั้งเขตการค้าระหว่างไทยกับอินเดีย อินเดียจึงกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ของเอเชีย ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของอินเดียอยู่แล้ว

สรุป ประเด็นในการเข้ามาแทรกแซงของมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ก็คือเป็นการเข้ามาแทรกแซงของสหรัฐ ทางเศรษฐกิจที่ต้องการจะกันอิทธิพลของจีนออกไปและไม่ให้เอเซียรวมตัวกันติดเพื่อจะได้แทรกได้ง่าย การแทรกแซงยุคใหม่จะใช้เครื่งอมือทางเศรษฐกิจ และการทำสงครามของชนกลุ่มน้อย พร้อมทั้ง เงื่อนไข ของ New World Order หรือระเบียบโลกให่ซึ่งก็คือประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การทำสงครามก่อการร้าย เป็นต้น

 

 

 

 

 

Hosted by www.Geocities.ws

1