วิชา PS 712 การมีส่วนร่วมของมหาชนในการเมืองไทย

Mass Participation in Thai Politics

นักรัฐศาสตร์ที่ดี จะต้องมีลักษณะ

1.Public Mind คือจะต้องมีจิตใจที่มุ่งถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ถือว่าเป็นคุณธรรมในวิชาชีพของนักรัฐศาสตร์

คุณธรรมจรรยาของวิชาชีพทำให้แต่ละอาชีพมีความแตกต่างกัน

(คำว่าวิชาชีพ Professional จะต่างจากคำว่าอาชีพ เพราะความเป็นวิชาชีพจะประกอบด้วยองค์ความรู้ หรือ Knowledge ขณะเดียวกันจะต้องมีMoral หรือ Ethics)

จริยธรรมของนักรัฐศาสตร์จะต่างจากจากจริยธรรมในวิชาชีพอื่น นักรัฐศาสตร์จะต้องมีความชิงขังในระบอบเผด็จการ มีจิตใจใฝ่ประชาธิปไตยและบูชาในเรื่องสิทธิเสรีภาพของคน วิชารัฐศาสตร์จะสอนให้เราสนใจเรื่องของประชาชน เรื่องของส่วนรวม โดยรัฐศาสตร์ไม่สอนให้พูดเรื่องเทคนิคเล็ก แต่จะมองไปที่ภาพใหญ่ของรัฐ ของโลก ของสังคม

2.มีการยอมรับความแตกต่าง ขณะที่สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ยอมรับความแตกต่าง เพราะมักจะมองว่าความแตกต่างนำมาซึ่งความแตกแยก แต่คนที่เป็นนักรัฐศาสตร์จะต้องยอมรับความแตกต่าง โดยเฉพาะความแตกต่างในทางความคิด

3.ยอมรับสิทธิของผู้อื่น ปัจจุบันเรื่องสิทธิเป็นเรื่องที่ขยายความได้อย่างกว้างขวาง เช่นสิทธิของคนพิการ สิทธิของคนเป็นโรคเอดส์ สิทธิของคนจน และแม้แต่สิทธิของสัตว์

การขยายตัวหรือการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยได้ก่อให้เกิดการขยายตัวหรือการเปลี่ยนแปลงอาณาบริเวณของอำนาจ ทำให้เราต้องพูดถึงประชาชน และองค์กร หรือสถาบันที่ไม่ใช่ของรัฐและของนายทุนพ่อค้า แต่เป็นการพูดไปถึงภาคประชาชน หรือประชาสังคม

ทั้งนี้การแบ่งอาณาบริเวณระหว่างรัฐกับสังคมในสังคมไทย เดิมนั้นจะมีแค่ 2 ส่วนที่ปะทะกันอยู่ ส่วนแรกคือภาครัฐ (State Sector) และภาคเอกชน (Private Sector) และภาครัฐโดยระบบราชการมีความสำคัญและเข้มแข็งมากจนกระทั่งสังคมไทยถูกเรียกจากนักวิชาการตะวันตก (โดยเฉพาะ เฟรด ริกส์)ว่าเป็นรัฐราชการ (Bureaucratic Polity) หรือเป็นสังคมอำมาตยธิปไตย


State Sector



Private Sector

รัฐหรือระบบราชการจะเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ในสังคมอย่างสำคัญ ขณะที่ภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจเป็นภาคที่มีความอ่อนแอ เป็นเบี้ยล่างของราชการ ขณะที่ภาคประชาชนชาวไร่ชาวนาถือว่าเป็น Powerless Group หรือกลุ่มที่ไร้พลังอำนาจโดยสิ้นเชิง

ความเป็นสังคมข้าราชการจะเป็นค่านิยมที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยในเวลานั้น โดยอำนาจของราชการครอบคลุมทุกตารางนิ้วของสังคม รัฐกับข้าราชการคือสิ่งเดียวกัน ชนชั้นข้าราชการเป็นชนชั้นที่มีอำนาจมากที่สุด

สภาพดังกล่าวดำรงอยู่นานมาก จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อำนาจของรัฐและราชการถูกสั่นคลอนและท้าทายด้วยพลังอำนาจใหม่ๆ ทำให้ความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจในสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไป

กลุ่มพลังอำนาจใหม่ เช่นนักศึกษา ที่เดิมไม่สนใจการเมือง กระบวนการนักศึกษาเป็นกระบวนการที่ไม่มีพลัง แต่ 14 ตุลา 16 เป็นชัยชนะของกระบวนการพลังประชาชน (แต่ยังไม่ถึงขนาดเป็นภาคประชาชนอย่างแท้จริง)

ภาพของความเป็นเผด็จการถูกเปลี่ยนไปบ้าง ความเป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นมากขึ้น แต่เวลานั้นเรามองว่าประชาธิปไตยคือการประท้วง บ้านเมืองเต็มไปด้วยเสรีโดยไร้ขอบเขต แต่พลังราชการที่ถูกขับไล่ไปในช่วงนั้นไม่ได้ออกไปถาวร และกลับมาอีกครั้งในปี 2519 และป้ายสีว่ากระบวนการนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์

ดังนั้นความเป็นสังคมการเมืองที่ประกอบด้วย 2 ส่วนคือรัฐ (ที่เข้มแข็ง)และภาคสังคม (อ่อนแอ) ก็ยังคงอยู่เรื่อยมาจนถึงยุคของพลเอกเปรม ประมาณปี 2525 เป็นช่วงที่กลุ่มนายทุนนักธุรกิจเริ่มเข้าสู่การเมืองมากขึ้น มีความเท่าเทียมกับภาครัฐมากขึ้น มีการตั้งพรรคการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้ง

เวลานั้นพลเอกเปรมมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างภาคราชการที่มีกองทัพและข้าราชการพลเรือนเป็นหลักกับภาคการเมือง เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงในทางการเมือง ซึ่งอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช เรียกว่า Semi Democracy หรือสังคมไทยเกิดสภาวะที่เรียกว่ากึ่งประชาธิปไตย

มีการเลือกตั้ง แต่หัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ก็ไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศได้ เพราะยังไม่มีใครที่สามารถรักษาดุลระหว่างกลุ่มพลังอำนาจทั้ง 2 ได้ ยุคนั้นนายกรัฐมนตรีของเราจึงไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ดังนั้นความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจของสังคมจึงมีแต่รัฐกับเอกชน และคำว่าเอกชนก็จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มของพ่อค้านายทุน นักการเมืองเท่านั้น ประชาชนยังไม่มีบทบาทใดๆ ดังนั้นในยุดนั้นจึงไม่มีคำว่าชุมชน ประชาสังคมเกิดขึ้น ยุคของพลเอกเปรมแม้ว่าภาคเอ็นจีโอมีมากขึ้นแต่ยังไม่มีบทบาทมากนัก

แต่ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจ หรืออาณาบริเวณของอำนาจของสังคมไทยอาจจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ



1.State Sector ภาครัฐ



2.Private Sector พ่อค้า นักธุรกิจ เอกชน


3.Popular Sector ภาคประชาชน

ความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ทำให้การวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจของ 3 ส่วนดังกล่าวคือรัฐ เอกชน และภาคประชาชน จึงมีความสำคัญ เพราะเราจะมองเห็นภาพถึงการปะทะกันในเชิงอำนาจของทั้ง 3 ส่วนที่กำลังเกิดขึ้น เช่นการแย่งชิงทรัพยากร ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐที่เกิดขึ้นจากนโยบายหรือโครงการของภาครัฐ

ปัจจุบันภาคประชาชนซึ่งถือว่าเป็นภาคที่ 3 ได้เข้ามาอยู่ในโครงสร้างอำนาจ และมีปฏิสัมพันธ์ในทางอำนาจด้วย เช่นโครงการโรงไฟฟ้าที่เวลานี่ยังไม่สามารถตัดสินใจได้เนื่องผลประโยชน์ระหว่างรัฐ เอกชน และภาคประชาชนไม่มีความลงตัว และเกิดการปะทะกันระหว่าง 3 ภาคดังกล่าว

และนับแต่นี้ไปความขัดแย้งในสังคมไทยก็จะอยู่ในกรอบของปฏิสัมพันธ์ของทั้ง 3 ภาคส่วนของสังคมดังกล่าว กล่าวคืออาจจะเป็นความขัดแย้งระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐ ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับเอกชน หรือระหว่างภาคประชาชนกับภาคเอกชน

นั่นคือในปัจจุบันการเมืองได้ขยายอาณาบริเวณโดยเพิ่มมิติและบทบาทของภาคประชาชน ปัจจุบันจะพูดถึงเพียงภาครัฐและเอกชนต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ทั้งนี้คำว่าภาคประชาชน อาจจะใช้คำว่าภาคพลเมือง ภาคที่ไม่ใช่รัฐ ประชาสังคม แต่สาระสำคัญก็คือการให้ความสำคัญและยอมรับพลังบทบาทของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น

การเพิ่มมมิติบทบาทอำนาจของประชาชาชนในยุคใหม่จึงทำให้การทำความเข้าใจกับประเด็นของการมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) จึงมีการเปลี่ยนแปลงไป การพูดถึงเพียงการเลือกตั้ง การไปหย่อนบัตร ไม่เพียงพอต่อไป แต่มีรูปแบบของการมีส่วนร่วมแบบใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย เช่นการที่คนมานอนหน้าทำเนียบเป็นเวลายาวนาน การประท้วงด้วยการเอามันสำปะหลังไปกองบนถนน เป็นต้น

ลักษณะดังกล่าวทำให้การศึกษาการมีส่วนร่วมทางการเมืองจึงเปลี่ยนไป และถ้านิยามว่าการเมืองคือกระบวนการเชิงอำนาจและการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่า และหากการกระจายและจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าไม่ทั่วถึงก็จะเกิดวิกฤติ เกิดความขัดแย้งทางการเมือง เกิดการนองเลือด

ถ้าเราถือว่านิยามการเมืองเป็นอย่างนี้ การเพิ่มภาคประชาชนเข้าไปก็คือการเปิดและการขยายหรือเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้กับกลุ่ม องค์กร หรือกลุ่มพลังทางการเมืองอื่นที่ไม่ใช่ภาครัฐและนายทุน ให้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง

เราเรียกส่วนนี้ว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างไม่เป็นทางการ Informal Politics เช่นการประท้วงรุนแรง การบีบบังคับ การใช้พลังมวลชน หรือบางครั้งเป็นการใช้กฎหมู่ การปิดถนนเพื่อบีบบังคับรัฐบาล เป็นเรื่องของมวลชน และมหาชนที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเมืองภาคประชาชน

ถ้ามองในสายตาของคนที่ไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ก็อาจจะมองว่าเป็นความยุ่งเหยิง วุ่นวายของบ้านเมือง

แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นความจำเป็นหากเรายอมรับว่าการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ 3 ภาคดังที่กล่าวไปข้างต้น ดังนั้นการประท้วงจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเพื่อเสนอข้อเรียกร้องและความต้องการต่างๆ

ดังนั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองในเวลานี้ จึงมี 2 รูปแบบ คือการมีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการและการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างไม่เป็นทางการ การมีส่วนร่วมอย่างไม่เป็นทางการจะไม่มีรูปแบบที่แน่นอน แต่เป็นการกระ ทำที่บอกว่าเขามีความต้องการอย่างไร

ขณะการมีส่วนร่วมแบบเป็นทางการ (Formal Politics) ที่สำคัญและมีความชัดเจนที่สุดคือการเลือกตั้ง (Voting) ซึ่งจะมีการระบุในกฎหมายว่าเป็นหน้าที่ของคนไทยที่ต้องไปเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตามการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เพราะส่วนหนึ่งการเลือกตั้งเองก็ยังไม่มีความโปร่งใส มีความทุจริต หรือกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรม (Legitimacy) ของนักการเมือง และพรรคการเมืองเท่านั้นโดยไม่มีความหมายที่ลึกซึ้งไปกว่าการได้รับการเลือกตั้ง กล่าวคือนักการเมืองก็ยังคงไม่มีคุณภาพ ไม่มีผลงาน เช่นเดิม

ดังนั้นระบบการเลือกตั้งจึงเป็นเพียงกลไกในการสร้างความชอบธรรมของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเอาไปอ้างในการได้มาซึ่งอำนาจรัฐเท่านั้นเอง

การเมืองไทยที่เน้นโครงสร้างการมีส่วนร่วมที่เป็นทางการจึงเป็นเพียงการเมืองของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองไม่ใช่การเมืองของพลเมือง ดังที่เราเห็นสภาพของชาวบ้านที่ถูกเกณฑ์ไปเลือกตั้ง เพื่อให้นักการเมืองไปนั่งในสภา

สำหรับโครงสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง ผ่านระบบพรรคการเมืองที่เป็นทางการจริงๆ จะต้องมีลักษณะที่ประชาชนทั่วไปกลุ่มต่างๆ เช่นชาวนา เกษตรกร กลุ่มแรงงาน ข้าราชการ นักวิชาการ รวมตัวกันเป็นกลุ่มผลประโยชน์ (Interest Group) เพื่อดูแลผลประโยชน์ของกลุ่ม เช่นอาจจะตั้งเป็นสมาพันธ์ชาวนา หรือสมาคมพ่อค้าข้า สมาคมโรงสีไทย เป็นต้น

จากกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่มก็จะขึ้นไปสู่พรรคการเมือง จึงจะเป็นระบบประชาธิปไตยแบบพหุนิยมจริงๆ เช่นอาจจะมีพรรคเกษตรกรที่เป็นตัวแทนของเกษตรกร

พรรคการเมือง

กลุ่มผลประโยชน์

ประชาชน

แต่สำหรับประเทศไทยกระบวนการในแบบดังกล่าวกลับไม่เกิดขึ้น เช่นประเทศไทยไม่มีพรรคของเกษตร ต่างจากเยอรมัน อังกฤษ หรืออเมริกาที่เกษตรกรของเขามีพลังอำนาจในการต่อรอง ส่วนนักธุรกิจในบ้านเราก็มีนายทุนเข้ามาสนับสนุนพรรคการเมือง โดยที่พรรคการเมืองในบ้านเราไม่มีอุดมการณ์ที่ชัดเจนว่าจะพิทักษ์ผลประโยชน์ของกลุ่มใดในสังคม ระบบพรรคการเมืองในบ้านเราจึงเป็นกลไกที่พึ่งพาไม่ได้

ดังนั้นถ้ามองว่าการเมืองคือการมีส่วนร่วมทางการเมือง จึงจำเป็นต้องแบ่งโครงสร้างการมีส่วนร่วมออกเป็น 2 โครงสร้างคือการมีส่วนร่วมที่เป็นทางการ คือมีการเลือกตั้งมีระบบพรรคการเมืองรองรับ ซึ่งคนยากไร้ คนที่ไม่มีพลังอำนาจต่อรองก็จะไม่มีโอกาสที่จะใช้กลไกพรรคการเมืองมาเป็นสถาบันในการตาอสู้ แต่จะถูกนายทุนนำเอาไปเป็นกลไกในการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง

สำหรับกลไกของการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเป็นทางการ ยังมีรัฐบาล รัฐสภา กลุ่มผลประโยชน์ กระบวนการเลือกตั้ง

แต่เราจำเป็นต้องมีกลไกการมีส่วนร่วมไม่เป็นทางการควบคู่ไปด้วยเพื่อรองรับการขยายตัวของการเมืองภาคพลเมือง ซึ่งกลไกการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ไม่เป็นทางการ เช่น

กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม Social Movement องค์กรเอ็นจีโอ เวทีภาคประชาชน กระบวนการประชาพิจารณ์ การแสดงออกของมติมหาชนในรูปแบบต่างๆ กลุ่มพลังที่มาต่อต้านอำนาจรัฐ

การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ไม่เป็นทางการจะเป็นประเด็นหลักที่อาจารย์จำนำเสนอในสัปดาห์นี้ โดยมีสมมุติฐานที่ตรงกัน ว่า ณ เวลานี้การเมืองได้เพิ่มอาณาบริเวณของภาคประชาชนในสังคมการเมือง ซึ่งส่งผลเนื้อหาสาระของความเป็นการเมืองขยายมิติที่กว้างขวางขึ้น

เราเรียกการเมืองที่ขยายบทบาทและพลังการเมืองของประชาชนว่าเป็น การเมืองใหม่ (New Politics) ที่จะบอกว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของรัฐธรรมนูญ เรื่องการเลือกตั้ง เรื่องของพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว

การเมืองใหม่ (New Politics)

การเมืองใหม่ หรือการเมืองภาคประชาชน (Civil Politics) เป็นการเมืองที่ไม่ได้เน้นบทบาทของนักการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่เน้นถึงกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ การเมืองเป็น The Politics of Civil Movement หรือ The Politics of Social Movement

การเมืองจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะโครงสร้างที่เป็นทางการ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคนในสังคม เป็นการขยายพรมแดนทางการเมืองเข้าไปทุกทิศทางไม่มีขอบเขตจำกัด

การเมืองใหม่ทำให้เนื้อหาหรือประเด็นทางการเมืองมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะการปกครอง อำนาจรัฐ หรือระบบราชการเท่านั้น แต่ครอบคลุมประเด็นสาธารณะ หรือ Public Issue มากขึ้น เป็นการเมืองเรื่องสาธารณะมติ (Public Opinion) เช่น

-ประเด็นสิทธิมนุษยชน หรือกระบวนการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน

-อำนาจและสิทธิชุมชน ก็เป็นประเด็นใหม่ที่มีการพูดถึงมากขึ้น

-สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ตรงนี้จะเป็นประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องถ้ามีความขัดแย้งในเรื่องเหล่านี้

การเมืองใหม่จะมีกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆเข้ามาต่อสู้ในทางการเมืองมากขึ้น เช่นในเยอรมันจะมีการเมืองสีเขียวที่เคลื่อนไหวในการอนุรักษ์ธรรมชาติ จนกระทั่งจัดตั้งเป็นพรรคกรีน (Green Party)

ดังนั้นประเด็นและเนื้อหาการเมืองใหม่จึงขยายกว้างมากขึ้น ครอบคลุมในทุกมิติของสาธารณะ

นอกจากนี้การเมืองใหม่เน้นพลังบทบาทของภาคเอกชนและประชาชนมากกว่าภาคราชการ แต่เสนอให้ลดบทบาทของภาครัฐให้มากที่สุด ดังที่เวลานี้กรมต่างๆเริ่มเปลี่ยนชื่อมากขึ้น ดังเช่นที่กรมการปกครองเองก็พยายามจะเปลี่ยนชื่อ เพราะคำว่าปกครองเป็นคำเก่า เพราะเวลานี้ประชาชนไม่ต้องการการปกครองต่อไป

เวลานี้จะพบว่านายอำเภอถูกลดบทบาทมาก เพราะอาจจะเป็นเพียงผู้ประสานราชการ

อำนาจของราชการที่เคยเป็นผู้ควบคุม ปกครองจะมีแนวโน้มมาเป็นFacilitator การบริหารงานจะเป็นไปในแบบปรึกษาหารือแทนการสั่งการ

การเมืองใหม่เน้นความสำคัญของชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก เช่นการที่เราพูดว่าทุกอย่างควรจะริเริ่มมากจากระดับรากหญ้า แทนที่จะถามว่ารัฐจะมีนโยบายอะไรก็ต้องเปลี่ยนไปถามว่าประชาชนต้องการอะไร เน้นความต้องการของชุมชนท้องถิ่นมากกว่าการสั่งการโดยอำนาจรัฐ การเมืองใหม่จึงเป็น Local Politics เป็นการเมืองของชุมชนท้องถิ่น ที่สะท้อนความต้องการที่หลากหลาย และเน้นการกระจายอำนาจ

(การตั้งประชาคมจังหวัด ซึ่งถือว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเพราะเป็นเรื่องที่ข้าราชการเข้าไปชี้นำเช่นเดิม)

นอกจากนี้การเมืองใหม่ยังเน้นความสำคัญของบทบาทและความเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อย ซึ่งในอดีตเคยเป็นกลุ่มที่ด้อยพลังอำนาจด้วย เช่นคนพิการ คนป่วย เด็ก เช่นการพูดถึงสิทธิเด็ก คนที่อยู่ในชายขอบของสังคม เช่นกลุ่มชาวเขา กะเหรี่ยง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการเคารพในสิทธิของตนเอง รวมทั้งกลุ่มคนที่มีแบบแผน หรือรสนิยมในการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกับคนทั่วไป เช่นกลุ่มรักร่วมเพศ เกย์ เลสเบี้ยน ซึ่งในหลายประเทศให้การยอมรับและมีกฎหมายรับรองในสิทธิต่างๆ ทั้งในเยอรมัน สวีเดน เดนมาร์ก

การเมืองใหม่ทำให้ชนชั้นใหม่ๆที่จะมีบทบาทในทางการเมืองมาก เช่นชนชั้นกลาง นักธุรกิจในเมือง คนที่มีความรู้ความสามารถ รวมทั้งคนจนในเมือง คนจนในชนบท นั่นคือการเมืองใหม่จะพูดถึงบทบาทของกลุ่มที่หลากหลาย การเมืองใหม่จะไม่ละเลยชนชั้นใหม่ของสังคม

นอกจากนี้ในการเมืองใหม่จะมีเวทีและช่องทางในการแสดงออกทางการเมือง (Political Articulation) จะมีการเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ใช้ช่องทางโดยประชาชนรวมกันเป็นกลุ่มและจัดตั้งเป็นองค์กรที่เป็นทางการ และอาจจะเข้าไปสู่พรรคการเมือง

กลุ่มองค์กรที่เกิดขึ้นจะมีกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และอื่นๆ แม้แต่ความเชื่อทางศาสนา เช่นกลุ่มธรรมกาย ก็จะต้องปล่อยให้ดำรงอยู่หากเราเชื่อในเรื่องการเมืองภาคประชาชน นั่นคือต้องเปิดโอกาสให้ชาวพุทธเลือกที่จะนับถือและปฏิบัติกิจทางศาสนาในแนวที่ตนเองเชื่อถือ (ยกเว้นแต่ทำผิดกฎหมายก็ต้องเข้าไปจัดการ) ไม่ใช่ปิดกั้นว่าแนวทางของศาสนาจะมีเพียงแนวทางเดียว

ประชาธิปไตยแบบใหม่

เมื่อสังคมการเมืองไทย เกิดการปะทะกันด้วยพลังอำนาจทางการเมืองของ 3 ภาค และทำให้เนื้อหาการเมืองกลายเป็นการเมืองใหม่ เกิดกลุ่มต่างๆมากมาย ทำให้เนื้อหาและความหมายของประชาธิปไตยไปด้วย

กล่าวคือจากเดิมที่เน้นประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน (Representative Democracy) ที่เน้นการเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชน และกลายเป็นช่องโหว่ที่ทำให้นักการเมืองใช้อ้างความชอบธรรม รวมทั้งใช้การรับการเลือกตั้งหลายๆครั้งหรืออยู่ในวงการเมืองมานานมาเป็นเครื่องมือให้รับการยอมรับในเรื่องของบารมี กลายเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ซึ่งถือว่าเป็นคุณค่าเก่าๆของสังคม

เนื้อหาระบบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนจึงมีจุดอ่อน ตรงที่ประชาชนถูกกันให้ออกไปจากการเมือง นอกเหนือไปจากการลงเลือกตั้ง ซึ่งเนื้อหาประชาธิปไตยแบบนี้เกิดคำถามว่าจะอธิบายการเมืองไทยในปัจจุบันได้หรือไม่

ประชาธิปไตยแบบใหม่ที่ต้องการคือประชาธิปไตยแบบตรงจสอบที่เน้นการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายการเมืองโดยกลุ่มพลังและกระบวนการนอกสภา

อย่างไรก็ตามระบบตัวแทนก็ยังมีต่อไป แต่ต้องมีเนื้อหาของประชาธิปไตยว่าตัวแทนที่ประชาชนเลือกเข้าไปจะต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น เช่นคนที่จะรับตำแหน่งทางการเมืองอาจจะถูกตั้งคำถามว่ามีความสามารถหรือไม่ แทนที่จะถามว่าได้รับการเลือกตั้งมาแล้วกี่ครั้ง หรือส่งเงินบำรุงพรรคเท่าไหร่

เวลานี้เราจึงต้องการประชาธิปไตยที่มีเนื้อหาใหม่มาเพิ่มเติมประชาธิปไตยในแนวเดิม โดยประชาธิปไตยแบบใหม่จะเป็นประชาธิปไตยแบบตรวจสอบที่เรียกว่า Monitoring Democracy

ดังนั้นประชาธิปไตยแบบใหม่ การเมืองเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้เพราะการเมืองเป็นอำนาจสาธารณะ

ดังนั้นประชาธิปไตยจึงต้องเพิ่มการตรวจสอบมากขึ้น จึงพบว่าได้เกิดองค์กรอิสระใหม่มากมาย เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปปช. ปปง.ขณะเดียวกันองค์กรเหล่านี้ก็ถูกตรวจสอบด้วยเช่นกัน เช่นเวลาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนกำลังถูกตรวจสอบเนื่องจากไปทานข้าวกับจำเลย หรือการที่ คณะกรรมการ ปปง.ที่เอาตนเองเป็นเครื่องมือของบางฝ่ายก็กำลังถูกตรวจสอบเช่นกัน

ดังนั้นเวลานี้การเมืองเป็นยุคของความโปร่งใส ที่นักการเมืองจะถูกตรงสอบจากสื่อมวลชนและองค์กรประชาชนที่เข้มแข็งมากขึ้น

วาทะกรรมใหม่ (Discourse) ในสังคมไทย

การขยายอาณาบริเวณทางการเมืองมาสู่ภาคประชาชน ยังทำให้นอกวาทะกรรม (Discourse) หรือประเด็นในทางการเมืองในสังคมที่มีการถกเถียง พูดคุยกันก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่นเวลานี้เราจะพูดเรื่องพรรคการเมือง การเลือกตั้ง น้อยลง แต่ประเด็นที่สังคมกำลังพูดคุย ถกเถียง จะเป็นเรื่องของสิทธิชุมชน การพัฒนายั่งยืน ท้องถิ่น พูดเรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิของการไม่เชื่อฟังรัฐ สิทธิในการต่อต้าน อำนาจรัฐ(หรือสิทธิในการดื้อแพ่ง) เช่นการที่รัฐจะสร้างเขื่อนแต่เราจะต่อต้านไม่ต้องการ เป็นต้น

ดังนั้นถ้าจะวิเคราะห์บทบาทของพลังอำนาจ 3 ฝ่ายอาจกล่าวได้ว่าขณะที่บทบาทภาครัฐต้องจัดระเบียบ วางคำสั่ง และบังคับใช้ ภาคเอกชนจะสนใจการอยู่รอดของธุรกิจ การเติบโตของเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่งร่ำรวย พัฒนาอาชีพ การลงทุน จ้างงาน ภาคประชาสังคมต้องมีบทบาทเพื่อร่วมรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะพลเมือง ตรวจสอบอำนาจรัฐและนายทุน พัฒนาคุณภาพชีวิตและแสวงหาความร่วมมือกับฝ่ายประชาชน เช่นเมื่อมีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้ง ก็ต้องมี P.net ด้วย เป็นต้น โดยคนที่เข้ามาทำงานตรงนี้จะสนใจการปกป้องประโยชน์ของส่วนรวม สนใจค่าตอบแทนและความมั่นคงในชีวิตแบบราชการน้อย

ประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน (Representative Democracy) หมายถึง

-การเมืองที่เป็นทางการในรัฐสภา จริง ๆ แล้วในตัวมันเองไม่ใช่เรื่องผิดหรือเรื่องเลวร้าย ทุกประเทศต้องการการเมืองที่เป็นทางการ

-การเมืองของพรรคและนักการเมือง มีพรรคการเมืองและนักการเมืองเป็นตัวแสดงที่สำคัญในการเสนอแนวนโยบายให้ประชาชนเลือกเพื่อจะได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐและแปลงนโยบายที่หาเสียงไปสู่การปฏิบัติ

-การเมืองเพื่อชนะการเลือกตั้ง การเมืองไทยมักเป็นเช่นนี้ไม่ได้มุ่งเอาชนะเพื่อจะเป็นทางเลือกให้ประชาชน แต่ต้องการชนะการเลือกตั้งเพื่อมีอำนาจต่อรองในการจัดตั้งรัฐบาล จึงไม่เห็นภาพนักการเมืองที่มีอุดมการอย่างแท้จริง มีแต่พรรคการเมืองของนายทุน

-กลุ่มกดดันหรือมุ้งในพรรคการเมือง (Cliques) เป็นลักษณะเฉพาะอีกอันหนึ่งของการเมืองไทย บางครั้งมุ้งในพรรคการเมืองจะมีอำนาจมาก

จึงกล่าวได้ว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนควรมีลักษณะอย่างอื่นเข้ามาช่วยให้กลไกที่เป็นทางการทำงานได้ต่อไป

ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) หมายถึง

-การเมืองเรื่องสาธารณะ หมายความว่าขอบเขตของการเมืองไม่ควรอยู่ที่พรรคการเมืองและนักการเมืองเท่านั้น ในขณะที่ประชาชนถูกกันออกมาเป็นตัวประกอบ การเมืองน่าจะเป็นเรื่องของคนทุกคน อะไรก็ตามที่กระทบกับคนส่วนใหญ่นั่นคือการเมือง การเมืองไม่ใช่เรื่องของครอบครัวหรือเรื่องส่วนตัวของใคร

-การเมืองเป็นเรื่องของกลุ่มและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เวทีทางการเมืองจะต้องเปิดโอกาสให้แต่ละกลุ่มแต่ละขบวนการมีโอกาสเสนอข้อเรียกร้องได้อย่างอิสระ เพื่อแสดงให้เห็นว่ากลุ่มตนก็มีผลประโยชน์เฉพาะ

-การเมืองเป็นเรื่องของชาวบ้านและชุมชน ประชาชนในชนบทน่าจะได้รับการเอาใจใส่มากที่สุดเพราะไร้ซึ่งอำนาจเศรษฐกิจ อำนาจทุน และการต่อรองใด ๆ การเมืองจึงควรเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ได้มีโอกาสแสดงความต้องการ

-การกระจายอำนาจ ระบบราชการต้องลดบทบาทในการควบคุมบังคับ แล้วกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นและชุมชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

-การเมืองต้องเสริมให้ทุกคนตระหนักในสิทธิและคุณธรรมของพลเมือง (Civic Virtue)

เห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างประชาธิปไตยแบบเก่ากับแบบใหม่ ซึ่งแบบเก่าไม่ใช่เรื่องเลวร้ายแต่เมื่อมาใช้ในประเทศไทยแล้วกลับกลายเป็นสิ่งสกปรกทำให้ประชาชนไม่อยากเข้าไปยุ่ง

กระแสโลกและการท้าทายใหม่ ๆ ในศตวรรษที่ 21 (ปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองและสังคมไทย) เป็น New Context หมายถึงบริบทแวดล้อมทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมที่เข้ามาล้อมสังคมไทยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมืองไทย

-ในแง่เศรษฐกิจทุนนิยมเสรีเป็นบริบทสำคัญในเวลานี้ สังคมไทยอยู่ในโครงสร้างของทุนนิยมโลกซึ่งเน้นเรื่องเสรีนิยม เน้นทุนข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่โตจึงมีการขับเคลื่อนของทุน ปัญหาเศรษฐกิจไทยเป็นผลมาจากการอยู่ภายในกรอบของทุนนิยมโลก ไทยจึงต้องได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ตลาดหุ้น Wall Street เป็นต้น

-การแพร่กระจายของวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่เข้ามาปะทะกับวัฒนธรรมท้องถิ่น Global ปะทะกับ Local ไทยจึงตกอยู่ในสภาวะที่ถูกดึงไปทางโน้นทีทางนี้ทีกลายเป็นสภาพที่ก้ำกึ่ง คนไทยจึงดำรงชีวิตอย่างลำบาก อย่างไรก็ตามจะถอยกลับไปอยู่ในถ้ำนุ่งผ้าทอแล้วไม่ยุ่งกับโลกเลยก็ไม่ได้แม้ว่าจะประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไรก็ตาม การตัดสินใจนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก การจะเป็นนิกส์ก็ทำไม่ได้อีกแล้วทุกอย่างล่มสลายหมด การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาเป็นภาพลวงที่เกิดจากการปั่นกลายเป็นเศรษฐกิจฟองสบู่ (Bubble Economy) การสร้างงานไม่ได้เกิดขึ้นจริงกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เศรษฐกิจไม่ได้เกิดกับ Real Sector ไม่ได้มีการลงทุนแล้วสร้างงานให้ประชาชนทุกส่วนเกิดรายได้จริง

-ประชาธิปไตยแบบตรวจสอบ เริ่มเป็นแนวคิดใหม่ที่จะทำให้การเมืองไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง

-ความเข้มแข็งของภาคประชาชน

-กระแสความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา เราจะได้ยินคำว่า การเมืองสีเขียว เศรษฐศาสตร์สีเขียว ฯลฯ หมายความว่าทุก ๆ เรื่องในสังคมต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา เป็นจิตสำนึกของสังคมสมัยใหม่

สิ่งแวดล้อมกับนิเวศวิทยามีความหมายคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน สิ่งแวดล้อมหมายถึงอะไรก็ได้ที่อยู่รอบ ๆ ตัว เช่น ต้นไม้ มนุษย์ด้วยกันเอง แม่น้ำลำคลอง แต่นิเวศวิทยาเป็นเรื่องของระบบชีวิตจึงใหญ่กว่าสิ่งแวดล้อม หมายถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นวิถีชีวิตเป็นองค์รวมทั้งระบบ

-เทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ ซึ่งกลายมาเป็นวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันไปแล้ว แต่คนไทยยังไม่ค่อยคำนึงถึงเนื้อหาสาระเห็นได้จากการใช้มือถือของคนไทยที่ใช้พูดคุยกันมากกว่าคุยธุระ โดยเฉพาะวัยรุ่นที่มีกันแทบทุกคน ดังนั้นจึงต้องระวังเรื่องพิษภัยจากเทคโนโลยีด้วย เช่น คอมพิวเตอร์ที่อำนวยความสะดวกได้มากแต่ก็ทำลายความเป็นมนุษย์ลงไปด้วย

-อำนาจบรรษัทข้ามชาติและองค์กรเหนือชาติ เป็นองค์กรที่มีบทบาทมากในตอนนี้ ประเทศไทยกำลังตกอยู่ภายใต้องค์กรเหล่านี้ที่เข้ามาในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ องค์การการค้าโลกที่ทำหน้าที่จัดระบบเศรษฐกิจโลกให้เป็นระบบเดียวกัน แต่เบื้องหลังมีมหาอำนาจควบคุมอยู่แล้วออกกฎระเบียบมาบังคับประเทศเล็ก ๆ ที่เป็นสมาชิกให้ปฏิบัติตาม เช่น ต้องจดสิทธิบัตร ต้องไม่ใช้แรงงานเด็ก ทั้ง ๆ ที่บางครั้งประเทศเล็กถูกปล้นทรัพยากรไปด้วยซ้ำ อย่างกรณีข้าวหอมมะลิหรือสมุนไพรบางตัวที่ถูกสหรัฐอเมริกาจดสิทธิบัตรไปก่อนแล้วเพราะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า ประเทศเล็ก ๆ จึงต้องถูกบังคับทางอ้อมให้เกิด International Division of Labor ในรูปแบบใหม่ที่เอาเปรียบอย่างมาก ไทยมีหน้าที่เพียงปลูกพืชสมุนไพรส่งให้สหรัฐฯสกัดเป็นตัวยามาขาย เห็นได้ว่ามหาอำนาจได้เปรียบประเทศเล็ก ๆ อย่างมหาศาล

-เทคโนโลยีชีวภาพ หมายถึงการดัดแปลงสายพันธ์พืช สัตว์ เช่น การโคลนนิ่ง พืช GMO มีการดัดแปลงสายพันธุ์ให้ทนขึ้น ลูกใหญ่ขึ้น ในต่างประเทศสินค้า GMO จะมีฉลากติดไว้ให้ผู้บริโภคทราบก่อนตัดสินใจซื้อ

-สิทธิของคนกลุ่มน้อยที่ถูกเบียดเบียนโดยคนส่วนใหญ่ สิทธิของคนด้อยโอกาสและอยู่ชายขอบของสังคม เช่น สตรี เด็ก ชนเผ่า กลุ่มศาสนา กลุ่มความเชื่อ เหล่านี้จะต้องเติบโตขึ้นมาในสังคมที่หลากหลายที่มีประชาชนหลั่งไหลข้ามไปข้ามมา เช่นในออสเตรเลียที่มีคนไทย จีน เวียดนาม อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก คนออสเตรเลียเองก็ไม่อยากเห็นคนผิวเหลืองมากมายในประเทศของตน ทำให้ลัทธิเหยียดผิวจะกลับมาอีกเช่นขบวนการนีโอนาซีในเยอรมัน คนหนุ่มสาวสมัยใหม่ในเยอรมันกลับเชื่อมั่นและศรัทธาในตัวฮิตเลอร์ สารคดีเกี่ยวกับฮิตเลอร์มีออกอากาศทุกวัน เป็นการสร้างอุดมการให้เกิดความยึดมั่นซึ่งถ้าไม่ป้องกันจะลุกลามและฝังหัวในเด็กยุคใหม่อันจะก่อปัญหาให้กับเยอรมันได้ ในยุคนี้เราจะอยู่ลำพังไม่ได้ ดังนั้นความคิดรังเกียจต่างชาติจึงไม่มีควรมี คนเยอรมันก็ไม่ได้รังเกียจคนต่างชาติเพราะงานชั้นต่ำต้องใช้คนต่างชาติทำทั้งนั้น เช่น ชาวรัสเซีย โปแลนด์ เชค เติร์ก ยิว ลัทธิกีดกันผิว ศาสนาเป็นสิ่งที่ไม่ถูกกับยุคสมัย

บริบทเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายสังคมไทย ดังนั้นในการวางเป็นพัฒนาประเทศต้องนำสิ่งเหล่านี้มาคิดด้วยว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างไร

กลไกการตรวจสอบต้องทำในทุกระดับ ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นรวมทั้งกลไกการตรวจสอบโดยสังคมและสื่อมวลชน กลไกอย่างเป็นทางการอาจทำไม่ได้ทั่วถึงกลไกอื่นจึงต้องร่วมมือด้วยที่สำคัญคือกลไกตรวจสอบโดยสังคม (Social Sanction) จะได้ผลที่สุด อบต.ตอนนี้มีแต่ฝ่ายบริหารทำให้งบประมาณรั่วไหล ต่อไปต้องทำให้เหมือน กทม.คือมีฝ่ายนิติบัญญัติด้วยเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน (Check and Balance) อบต.หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นในยุคแรก ๆ เป็นช่วงของการลองผิดลองถูก อาจารย์มองว่าเทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารงานที่เป็นรูปธรรมที่สุด

การตรวจสอบโดยสังคมเป็นสิ่งที่นักการเมืองกลัวที่สุด จึงต้องทำทั้งสองส่วนทั้งกลไกที่เป็นทางการโดยหลัก Check and Balance และการตรวจสอบจากภาคสังคมที่มีสื่อมวลชนเป็นตัวแสดงสำคัญจะได้ผลมาก

 

 

 

 

 

 

Hosted by www.Geocities.ws

1