7 บุญราศี
แห่งประเทศไทย

บุญราศีทั้งเจ็ดแห่งประเทศไทย
ครูฟิลิป สีฟอง อ่อนพิทักษ์
ภคินีอักแนส พิลา (สุภีร์) ทิพย์สุข
ภคินีลูซีอา คำบาง (สีคำพอง)
นางอากาทา พุดทา ว่องไว
นางสาวเซซีลีอา บุดสี ว่องไว
นางสาวบีบีอานา คำไพ ว่องไว
เด็กหญิงมารีอา พร ว่องไว

เส้นทางสู่บุญราศี
  • ปี 2424 คุณพ่อกองสตังต์ ยัง บัปติสต์ โปรดม และคุณพ่อฟรังซิส มารี ซาเวียร์ เกโก รับคำสั่ง ให้เดินทางมาเผยแพร่ศาสนาในภาคอีสาน (มิสซังลาว) โดยพระคุณเจ้าเวย์ พระสังฆราชมิสซังไทย ในสมัยนั้น ผู้ออกคำสั่งได้กำหนดเอาจังหวัดอุบลราชธานี เป็นจุดหมายปลายทางของคณะธรรมฑูต
  • ปี 2430 ขุนอินทร์ (ขุนไทย) อพยพผู้คนมาตั้งหลักแหล่ง ทางตอนใต้ของแนวฝั่งโขง และตั้งหมู่บ้านสองคอน (ตามคำบอกเล่า คุณพ่อซาเวียร์ เกโก ซึ่งเข้ามาบุกเบิกศาสนาในปีนี้ด้วย)
  • ปี 2442 พระสันตะปาปาเลโอที่ 13 แต่งตั้งมิสซังลาว (รวมภาคอีสานของไทย และเขต ส่วนใหญ่ของประเทศลาว) และแต่งตั้ง ฯพณฯ มารี ยอแซฟ กืออาส เป็นประมุของค์แรก
  • ปี 2450 บ้านสองคอนมีคริสตังประมาณ 200 คน มีโรงสวดกลางหมู่บ้าน
  • ปี 2452-2490 อยู่ในช่วงที่พระคุณเจ้าเรอเน แปร์รอส ปกครองมิสซังไทย (อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน) สมัยนั้นประเทศไทยมี 2 มิสซัง และ 1 อนุมิสซัง คือ มิสซังไทย มิสซังอีสาน และอนุมิสซังราชบุรี
  • ปี 2467 นางสาวพิลา ทิพย์สุข (ซิสเตอร์อักแนส) เข้าอารามที่เชียงหวาง ประเทศลาว
  • ปี 2468 คุณพ่อเปาโล ฟิเก ชาวฝรั่งเศส ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส วัดแม่พระไถ่ทาส สองคอน สมัยนั้นพระคุณเจ้าแกว๊ง เป็นประมุขมิสซังลาว
  • ปี 2475 ซิสเตอร์อักแนส พิลา ทิพย์สุข มาประจำที่บ้านสองคอน
  • ปี 2481 ซิสเตอร์ลูซีอา คำบาง มาประจำที่บ้านสองคอน
  • ปี 2482 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างฝ่ายอักษะ (เยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น) กับฝ่ายสัมพันธมิตร (ฝรั่งเศส สหรัฐ อังกฤษ ออสเตรีย ฯลฯ รัฐบาลไทยในสมัยนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เข้ากับฝ่ายอักษะ)
  • เดือนสิงหาคม ปี 2483 พลตำรวจลือ เมืองโคตร และพรรคพวกรวม 6 คน มาประจำที่บ้านสองคอน
  • 28 พฤศจิกายน 2483 เครื่องบินของฝรั่งเศสล่วงล้ำน่านฟ้าไทย และทิ้งระเบิดสถานีตำรวจ จังหวัดนครพนม พลตำรวจตรีอดุล เดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ มีคำสั่งให้ขับไล่ชาว ฝรั่งเศส ออกนอกอาณาจักรไทย
  • 29 พฤศจิกายน 2483 คุณพ่อเปาโล ฟิเก ถูกขับไล่ออกจากบ้านสองคอน ท่านเดินทางออกนอกประเทศโดยทางเรือ ไปขึ้นฝั่งที่ท่าแขกประเทศลาว
  • 16 ธันวาคม 2483 ตำรวจลือ ลวงครูสีฟอง อ่อนพิทักษ์ไปฆ่าที่ห้อยตุ้มนก บ้านพาลุกา ห่างจากบ้านสองคอนไปทางใต้ 15-17 กม.
  • ต่อมาไม่นาน มีคนมาส่งข่าวการตายของครูสีฟอง ให้ชาวบ้านทราบ หลังจากนั้น ชาวบ้าน หลายคนเริ่มท้อถอย เพราะขาดผู้นำ ไม่กล้าแสดงตนว่าเป็นคริสตัง แต่ยังมีชาวบ้านกลุ่มใหญ่ ยังคง ยืนหยัดในความเชื่อ ภายใต้การนำของซิสเตอร์อักแนส
  • บ่ายวันที่ 22 ธันวาคม 2483 ตำรวจลือเรียกซิสเตอร์ทั้งสองเข้าพบ ขู่ให้ละทิ้งศาสนา เมื่อไม่ได้ผล จึงหลอกให้ ซิสเตอร์ถอดชุดนักบวช โดยสัญญาว่าจะเลิกเบียดเบียนศาสนา ซิสเตอร์ทั้งสองหลงเชื่อ ยอมถอดชุดนักบวช (ตำรวจลือเข้าใจว่าการถอดชุดนักบวชหมายถึงการสึก)
  • 23 ธันวาคม 2483 ตำรวจลือเรียกประชุมชาวบ้าน บริเวณหน้าวัด บังคับให้ทุกคนทิ้งศาสนา หากใครไม่ทิ้งจะถูกฆ่า
  • 24 ธันวาคม 2483 ชาวบ้านและซิสเตอร์เตรียมฉลองคริสต์มาส ซิสเตอร์ให้บุดสีและ สุวรรณ ไปเอาชุดนักบวช ซึ่งเอาไปซ่อนไว้ในยุ้งข้าวของนางเทพ (มารดาของบุดสี) กลับมาสวมอีกครั้ง เนื่องจากตำรวจไม่รักษาสัจจะ (ตำรวจลือสัญญาจะเลิกเบียดเบียน หากซิสเตอร์ยอมถอด ชุด)
  • 25 ธันวาคม 2483 ชาวบ้านฉลองคริสต์มาส ซิสเตอร์อักแนสให้ทุกคนจับฉลากรับความตาย และตกลงใจเขียนจดหมายถึงตำรวจลือ
  • ตอนเช้าของวันที่ 26 ธันวาคม 2483 บุดสีและนายจี อาสานำจดหมายไปให้ตำรวจลือ บ่ายวันเดียวกัน หลังรับจดหมายแล้ว ตำรวจลือเรียกซิสเตอร์และคณะ (มีซิสเตอร์อักแนส ซิสเตอร์ลูซีอา คำบาง แม่พุดทา บุดสี คำสอน พร และสุวรรณ รวม 8 คน) มาพบข้างวัด หวังจะสังหาร บริเวณริมแม่น้ำโขง เพื่อหาข้ออ้างว่า บุคคลทั้ง 8 จะหลบหนีไปฝั่งลาว แต่ซิสเตอร์อักแนส ขอเปลี่ยนสถานที่เป็นสุสาน ระหว่างทางจากวัดไปยังสุสาน (ประมาณ 500 เมตร) พ่อของสุวรรณ ได้มาฉุดตัวสุวรรณกลับบ้าน จึงเหลือเพียง 7 คน ที่ไปคุกเข่าหน้าขอนไม้ในสุสาน ตำรวจลือยิงปืนใส่คนทั้ง 7 มีผู้เสียชีวิตเพียง 6 คน ส่วนนางสอนไม่ถูกกระสุน เนื่องจากตกใจ จึงหนีกลับบ้าน
  • เดือนมิถุนายน 2484 มีการสับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ ตำรวจลือและพรรคพวก ถูกย้ายไปประจำที่ อ.มุกดาหาร (ปัจจุบันเป็นจังหวัดแล้ว) ตำรวจเหม็น บริบูรณ์ มาประจำการแทน
  • 9 มีนาคม 2486 พระคุณเจ้ากาเยตาโน ปาซอตตี ผู้รักษาการมิสซังตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) แห่งประเทศไทย มอบหมายให้คุณพ่อการ์โล กาเซตตา (สงฆ์คณะซาเลเซียน) ทำการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ( เมื่อ 26 ธันวาคม 2483)
  • คุณพ่อการ์โลได้ทำการสอบสวนอย่างละเอียด และได้หลักฐานสำคัญคือ จดหมายที่ ซิสเตอร์อักแนสเขียนถึงตำรวจลือ (นางพาดี ขาวดีเดช เก็บเอาไว้)
  • ปี 2490 พระคุณเจ้าเกลาดีโอ บาเยต์ (สมัยนั้นเป็นวีการีโอ อาโปสตอลีโก แห่งมิสซัง ลาว) ได้นำจดหมายของซิสเตอร์อักแนส ไปปรึกษาทนายความที่กรุงโรม ทนายความกล่าวว่าเป็น หลักฐานพิสูจน์ได้ อย่างไม่มีข้อสงสัย ต่อมาพระคุณเจ้าบาเยต์ ได้เริ่มกระบวนการในการสถาปนาขึ้น โดยมีพระสังฆราชรุ่นต่อมาทำการสานต่อ
  • ในปี 2502 คุณพ่อยัง เซน ขุดกระดูกครูสีฟอง มาฝังรวมกันที่สุสานบ้านสองคอน (ศพของครูสีฟอง ถูกฝังที่ บ้านพาลุกา) และในปีเดียวกันนี้ มิสซังท่าแร่-หนองแสง ได้เลื่อนฐานะเป็นอัครสังฆมณฑล
  • ในปี 2503 พระคุณเจ้าเกี้ยน เสมอพิทักษ์ พระอัครสังฆราช แห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่- หนองแสง ได้รับอนุญาตจากทางกรุงโรม ให้ขุดศพทั้ง 3 หลุม (ตำรวจให้ฝังหลุมละ 2 คน) และได้พิสูจน์ศพทั้ง 6 โดยอาศัยพยานที่แน่นอน และนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • ต่อมาในสมัยของพระคุณเจ้าคายน์ แสนพลอ่อน ท่านได้เสนอให้รวมกระบวนการของครูสีฟอง อ่อนพิทักษ์ เข้ากับกระบวนการของมรณสักขีทั้ง 6 ท่าน เป็นกระบวนการเดียว (แต่เดิม ทางประเทศไทยเสนอรายชื่อไปเพียง 6 คน) และได้สานต่อเจตนารมณ์ของผู้ริเริ่มขั้น ตอนต่อไป
  • 1 กันยายน 2531 สมณกระทรวงเพื่อการแต่งตั้งนักบุญ ได้ดำเนินการกระบวนการอัคร สาวก (ต่อจากนั้นนำเรื่องเข้าเสนอสมเด็จพระสันตะปาปา)
  • 4 มีนาคม 2532 ทางวาติกัน มีจดหมายกำหนดวันสถาปนาบุญราศีทั้ง 7 แห่งประเทศไทย
  • ต่อมาพระศาสนจักรคาทอลิก โดยสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ได้ประกาศเทิดเกียรติมรณสักขี ทั้ง 7 ท่านนี้ ขึ้นเป็น "บุญราศี" อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2532 ที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ กรุงโรม
  • สภาพระสังฆราชแห่งประเทศไทย จึงได้กำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันฉลองของบุญราศี ทั้ง 7 ของประเทศไทย
บุญราศี ครูฟิลิป สีฟอง อ่อนพิทักษ์

ครูฟิลิป สีฟอง อ่อนพิทักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1907/ พ.ศ. 2450 เกิดที่วัดนักบุญอันนา (หนองแสง) อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม บิดาชื่อนาย อินตอง เป็นครูโรงเรียนวัดหนองแสง มารดาชื่อนางเพ็ง มาจากซำเหนือ ประเทศลาว ครูสีฟองได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนหนองแสง เมื่อจบได้เข้าศึกษาต่อที่บ้านเณรเล็ก บางนกแขวก ราชบุรี ขณะนั้นอายุได้ประมาณ 12-13 ปี เป็นเณรอยู่ประมาณ 3-4 ปี ก็ล้มเจ็บลง ต้องมารับการรักษาที่กรุงเทพ ขณะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ครูคนหนึ่งมาเยี่ยม เห็นสีฟองเหงาจึงชวนไปชมภาพยนตร์ ซิสเตอร์ที่โรงพยาบาลตรวจพบว่าเณรสีฟองหนีออกไปชมภาพยนตร์ ได้รายงานผ่านคุณพ่อโชแรง ซึ่งเป็นเหรัญญิกของมิสซังกรุงเทพ ไปถึงคุณพ่ออธิการบ้านเณร คือคุณพ่อการ์ดอง เณรสีฟองจึงถูกสั่งให้พ้นสภาพเณรและส่งตัวกลับบ้าน
เมื่อกลับมาอยู่ที่วัดหนองแสง นครพนม สีฟองได้เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย โรงเรียนประจำจังหวัด นครพนม จนจบชั้นมัธยม 1 ทางมิสซังขาดครูจึงได้ขอให้สีฟองมาเป็นครูของมิสซัง สีฟองจึงลาออกจากโรงเรียนมาเป็นครู มิสซังให้มาสอนที่โรงเรียนสองคอน ครูสีฟองจึงได้ออกเดินทางมาทางเรือ ซึ่งสะดวกที่สุดสมัยนั้น ล่องลงตามลุ่มแม่นํ้าโขงมาประจำสอนอยู่ที่วัดสองคอน ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1926 ครูสีฟองแต่งงานกับมารีอาทอง ชาวบ้านเชียงยืน เมื่อปี ค.ศ. 1931/พ.ศ.2474 มีบุตรธิดารวม 5 คน
ท่านถูกสังหารเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 1940 ขณะนั้นอายุ 33 ปี ครูสีฟองได้แสดงความเชื่อมั่นคงในพระศาสนจักร คาทอลิกอย่างกล้าหาญ เป็นแบบอย่างและเป็นผู้นำผู้อื่นให้มั่นคงในความเชื่อ อันเป็นสาเหตุให้ท่านจบชีวิตด้วยความโหดร้าย นับเป็นวีรกรรมสูงส่งที่ควรยกย่อง สรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง
ครูสีฟอง ได้รับการแต่งตั้งเป็น บุญราศีแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2532
บุญราศี ซิสเตอร์อักแนส พิลา (สุภีร์) ทิพย์สุข
ฉลอง 16 ธันวาคม
ซิสเตอร์อักแนส พิลา (สุภีร์) ทิพย์สุข  เกิด เมื่อปี ค.ศ.1909 / พ.ศ.2452 ที่บ้านนาฮี บิดาชื่อโยอากิมสอน มารดาชื่ออันนาจูม เมื่อเยาว์วัยบิดามารดาได้ย้าย ภูมิลำเนาหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายย้ายมาอยู่ที่บ้านเวียงคุก จังหวัดหนองคาย เมื่อพิลา (สุภีร์) อายุ 6 ขวบ ครอบครัวนายสอนได้กลับใจ มานับถือศาสนาคาทอลิกทุกคน
เมื่ออายุได้ 15 ปี ได้สมัครใจเข้าเป็นซิสเตอร์ฝึกหัด คณะรักกางเขนที่อารามเชียงหวาง ประเทศลาว ถวายตัวเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ.1932/ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา แม้ท่านจะเป็นคาทอลิกใหม่ แต่ท่านเป็นผู้มีความเชื่อมั่นคงศรัทธา ขยันขันแข็งในหน้าที่การงาน นอกจากช่วยงานวัดสอนหนังสือและสอนคำสอน แล้ว ท่านยังช่วยทำนาทำไร่ด้วย
ท่านถูกสังหาร ในวันที่ 26 ธันวาคม 1940 ขณะอายุ 31 ปี  ได้รับการแต่งตั้งเป็น บุญราศีแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2532.
บุญราศี ซิสเตอร์ลูซีอา คำบาง (สีลำพอง)
ฉลอง 16 ธันวาคม
เกิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ.1917/ พ.ศ.2460 ที่บ้านเวียงคุก จังหวัดหนองคาย บิดาชื่อยากอบคำ มารดาชื่อมักดาเลนา(หรือลี) ถวายตัวเป็นซิสเตอร์ที่อารามเชียงหวาง เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ.1939/ พ.ศ.2480 และมาปฏิบัติหน้าที่ที่สองคอน เมื่อปี ค.ศ.1938 ซิสเตอร์ลูซีอา คำบาง(หรือชื่อ สีคำพอง) เป็นผู้มีนิสัยเรียบร้อย สงบเสงี่ยม เยือกเย็น น่ารัก พูดน้อย มีความมั่นคงเลื่อมใสศรัทธาในพระศาสนา ถือระเบียบวินัยเคร่งครัด มีความเข็มแข็ง และกล้าหาญ
ท่านถูกสังหารในวันที่ 26 ธันวาคม 1940 ขณะมีอายุ 23 ปี ได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศีแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2532.


คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง
บุญราศีองค์ต่อไป ...?

ภูมิหลัง

ตามที่ได้มีการกล่าวขวัญกันตลอดมา ถึงคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ว่าเป็นพระสงฆ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ อุทิศตนทำงานประกาศความเชื่อ ในพระคริสตเจ้า ด้วยความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ ทั้งสิ้น แม้จะต้องเผชิญกับความตาย ทั้งนี้เพื่อช่วยมนุษย์ ให้พบหนทางแห่งความรอด สภาสงฆ์แห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จึงพิจารณาขอให้มีการสืบประวัติ ของคุณพ่อ เพื่อเสนอขอแต่งตั้งเป็นบุญราศีต่อไป

ประวัติคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง

คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เกิดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1895 รับศีลล้างบาปวันที่ 5 มีนาคม 1895 ที่วัดนักบุญเปโตร สามพราน นครปฐม เมื่อเติบโตขึ้น ก็ได้รับการศึกษาและการฝึกอบรมมาอย่างดี ทั้งจากบ้านเณรเล็กที่บางช้าง จังหวัดสมุทรสงคราม และจากบ้านเณรใหญ่ที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย คุณพ่อจึงได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ เมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1926 ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ และได้รับมอบหมาย ให้ปฎิบัติหน้าที่สงฆ์ ในหลายท้องที่
  • เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสที่วัดบางนกแขวก ระหว่าง ค.ศ. 1926 - 1928
  • เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสที่วัดพิษณุโลกระหว่าง ค.ศ. 1928-1930
  • ร่วมบุกเบิกงานแพร่ธรรมที่ลำปาง และเชียงใหม่ ระหว่าง ค.ศ. 1930-1936
  • เป็นผู้ดูแลวัดบางเชือกหนังเป็นเวลา 3 เดือน ในปี ค.ศ. 1933
  • เป็นเจ้าอาวาสวัดแม่พระเมืองลูร์ดโคราช ระหว่าง ค.ศ. 1937- 1938
  • เป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญเทเรซาโนนแก้ว ตั้งแต่ ค.ศ. 1938
ในระหว่างที่คุณพ่อเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่โนนแก้ว ก็เริ่มเหตุการณ์เบียดเบียนศาสนาคริสต์ จนถึงขั้นที่มีการจับกุม คุณพ่อและคริสตชนอีก 9 คนในปีค.ศ. 1941 ขณะที่ไปหาเพื่อนพระสงฆ์ ที่วัดบ้านหัน คุณพ่อถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 15 ปี ด้วยข้อหาแนวที่ห้า ขณะที่อยู่ในเรือนจำบางขวางนั้น คุณพ่อก็ยังได้ทำงานแพร่ธรรมอย่างแข็งขัน แม้ว่าจะเผชิญกับอุปสรรค และความยากลำบากต่างๆ ซึ่งที่สุด คุณพ่อก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ จนถึงวันรับอิสรภาพ คุณพ่อได้ถึงแก่มรณภาพเสียก่อนในปี ค.ศ. 1944

การดำเนินเรื่องแต่งตั้งคุณพ่อเป็นบุญราศี

ด้วยคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง มีชีวประวัติที่น่าสนใจมาก จึงสมควรที่จะค้นคว้าให้ลึกลงไปในรายละเอียด ทั้งนี้เพื่อนำมาเป็นตัวอย่างสำหรับคริสตชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสงฆ์ ในการดำรงชีวิต และปฎิบัติหน้าที่ของตน ที่ยึดมั่นในความเชื่อศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า อย่างไม่สั่นคลอน และในความรักปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์อย่างจริงใจ ขณะเดียวกัน ก็เพื่อนำมาเสนอขอดำเนินเรื่อง แต่งตั้งคุณพ่อเป็นบุญราศี ให้เป็นเกียรติและเป็นที่เคารพยกย่องกันต่อไป
เพื่อให้สำเร็จลุล่วงไปตามจุดมุ่งหมายดังกล่าว อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง ดำเนินการค้นคว้าหาพยาน และเอกสารต่างๆ เพื่อใช้เป็นหลักฐาน ประกอบการดำเนินเรื่อง และเสนอขอความเห็นจากสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทยต่อไป

ขอข้อมูล

ขอประกาศมายังบรรดาพระสงฆ์ นักบวช และพี่น้องสัตบุรุษคริสตชน ให้ทราบโดยทั่วกันว่า หากมีใครที่สามารถให้ข้อมูลรายละเอียด เกี่ยวกับคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ไม่ว่าจะเป็นความจริงด้านใดก็ตาม ขอให้ส่งมอบแก่คณะทำงานด้วย ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจน และสมบูรณ์ของพยานหลักฐาน
อนึ่ง ในระหว่างที่ดำเนินเรื่อง ขอแต่งตั้งคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เป็นบุญราศีอยู่นี้ ห้ามมิให้ประกอบพิธีกรรมอย่างสาธารณะ ที่ยกย่องคุณพ่อประหนึ่งว่าเป็นบุญราศีแล้ว แต่ไม่ห้ามที่จะสวดภาวนาถึงคุณพ่อ ในแบบส่วนตัว

(ประกาศอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 1994)

บุญราศี คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง

สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ได้ประกาศรับรองความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน
เมื่อ วันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 2000 และมีพิธีแต่งตั้งเป็นบุญราศี ในวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 2000
ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม

ขอขอบคุณ ที่มาของข้อมูล : Catholic Thai  อุดมสาร, อุดมศานต์ ตุลาคม 1998, ปฏิทินคาทอลิก 1999   Back Page   

bCentral Counter  

Send mail to [email protected] with question or comments about this web.
Copyright @ 1995-2000 Data Computer's House. 2123-2125 Suebsiri Rd. Muang,
Nakorn-Rachasima.30000 Thailand.   Last  

 

1