สุชีพ ปุญญานุภาพ

ประวัติและความเป็นมา


         ท่านอาจารย์เกิด ณ บ้านในตลาดบางไทรป่า ตำบลบางไทรป่า อำเภอบางปลา
( ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอบางเลน ) จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2460
มารดาชื่อทองคำ บิดาชื่ออ่วม แต่เดิมเป็นชาวสวนภายหลังเปลี่ยนอาชีพไปประกอบการ
ค้าขายผ้าและของใช้ที่จำเป็นสำหรับชาวชนบท ณ ตลาดบางไทรป่า ตำบลบางไทรป่า อำเภอบางปลา
จังหวัดนครปฐม ท่านอาจารย์มีพี่น้องร่วมบิดามารดาจำนวน 12 คน ท่านเป็นคนที่ 11
เหลือรอดแต่เพียงท่านคนเดียว นอกนั้นถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย ท่านจึงได้ชื่อว่า “บุญรอด”
เมื่ออายุเข้าเกณฑ์เรียนหนังสือ ท่านได้รับโรงเรียนประชาบาลวัดโพธิ์ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับตลาดบางไทรป่า เรียนจนจบชั้นประถมปีที่ 1 แล้วย้ายไปเรียนชั้นประถมปีที่ 2 เมื่ออายุ 9 ขวบ ที่โรงเรียนประชาบาล
วัดสัมปทวน ตำบลวัดแค อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยเป็นศิษย์วัดอยู่ในปกครองของเจ้า
พระคุณพระปฐมนคราจารย์ (วงศ์ โอทาตวณฺโณ ) เจ้าอาวาสวัดสัมปทวนและเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม
จนจบชั้นประถมปีที่ 5 เมื่ออายุ 12 ขวบ

ร่มกาสาวพัสตร์

  ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาดังข้างต้นแล้ว
ท่านเจ้าคุณฯ เจ้าอาวาสวัดสัมปทวน ได้นำไปฝากอยู่ที่วัดกันมาตุยาราม อำเภอสัมพันธวงศ์
จังหวัดพระนคร เพื่อเรียนภาษาบาลี แล้วกลับไปบรรพชาที่วัดสัมปทวน โดยท่านเจ้าคุณ
พระปฐมนคราจารย์ผู้เป็นอาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์ ค่ำของวันก่อนที่จะบวชหนึ่งวัน
ด้วยสายใยแห่งความรัก ความผูกพันและความกตัญญูต่อมารดา ท่านลงไปนอนค้างคืน
ในเรือที่มารดาของท่านใช้เป็นพาหนะเดินทางมาจากตลาดบางไทรป่าเนื่องในพิธีบวชเณร
ที่วัดสัมปทวน โดยอาศัยจอดเรือพักแรมอยู่ริมตลิ่งข้างวัด วันรุ่งขึ้นจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ท่านเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อายุ 13 ปี เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2473 แล้วเดินทางกลับมาศึกษาภาษาบาลีตามเดิม และอยู่จำพรรษา ณ วัดกันมาตุยารามตั้งแต่นั้นมา

สามเณรบุญรอด

           การศึกษาของสามเณรบุญรอดได้ผลเป็นอย่างดี สอบบาลีเปรียญธรรม 3 ประโยคได้ในปี
พ.ศ. 2475 อายุเพิ่งจะย่าง 16 ปีเท่านั้น และสามารถสอบประโยคเปรียญธรรม 4 -5 -6 -7 ได้
( พ.ศ. 2476 – 2479) โดยลำดับไม่ตกเลย

           เมื่ออายุครบบวช ท่านได้อุปสมบท ณ อุโบสถวัดกันมาตุยาราม เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 โดยเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( เจริญ ญาณวโร ) วัดเทพศิรินทราวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปฐมนคราจารย์ (วงศ์ โอทาตวณฺโณ ) วัดสัมปทวน จังหวัดนครปฐม เป็นกรรมวาจาจารย์ และพระครูธรรมานุกูล ( กลิ้ง เกสโร ) วัดกัมาตุยาราม เป็นอนุสาวนาจารย์ มีนามฉายาว่า “สุชีโว” ได้รับมอบหมาย งาน และตำแหน่งในขณะอุปสมบทสรุปได้คือ
     ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่จัดทำนิตยสาร ธรรมจักษุ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2482 และได้ปฎิบัติงานในฐานะเจ้าหน้าที่ธรรมจักษุ จนกระทั่งได้ลาสิกขาในปีพ.ศ. 2495 รวมเวลา 13 ปี
     พ.ศ. 2484 ( พรรษา 5 ) ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสัคสภาตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ปีพ.ศ. 2484
     ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระศรีวิสุทธิญาณ ) ปีพ.ศ. 2489 ( พรรษา 10 )
     พ.ศ. 2486 – 2487 ( โดยประมาณ ) เริ่มคิดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์และได้ทำการทดลอง
เปิดสอนวิชาการสมัยใหม่ขึ้นที่วัดกันมาตุยาราม โดยเปิดสอนภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ ภาษาสันสกฤต และวิชาคำนวณ แด่พระสงฆ์กลุ่มหนึ่ง เห็นว่าน่าจะเป็นไปได้ จึงเสนอโครงการตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้น เมื่อคณะสงฆ์เห็นชอบด้วย จึงมีคำสั่งตั้งสภาการศึกษามหากุฎราชวิทยาลัยในปีพ.ศ. 2488
    สภาการศึกษาฯได้เปิดการศึกษาในรูปมหาวิทยาลัยเป็นรุ่นแรก ในปีพ.ศ. 2489 สุชีโว ภิกขุ ได้รับหน้าที่เป็นเลขาธิการสภาการศึกษาเป็นรูปแรก และปฎิบัติหน้าที่จนกระทั่งถึงเวลาลาสิกขาเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2475
    ในช่วงปีพ.ศ. 2491 ได้เป็นกำลังหนุน ให้เกิดคณะยุวพุทธิกะ เพื่อเป็นสิ่งดึงดูดเยาวชนได้เข้ามาสนใจใน
พระพุทธศาสนา จนกระทั่งได้มีการก่อตั้งคณะยุวพุทธิกะขึ้นในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2491 และได้เป็นผลให้เกิด ยุวพุทธิสมาคมและสภายุวพุทธิกะขึ้นในกาลเวลาต่อมา

เมื่อครั้งยังเป็นสามเณรบุญรอด

            ในพรรษาแรกที่อุปสมบท ท่านเข้าสอบบาลีประโยคเปรียญธรรม 8 แต่ไม่ผ่านทราบว่าเหตุ
หนึ่ง เพราะท่านทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนภาษาอังกฤษและภาษาสันสกฤตควบคู่กันไป ทำให้ไม่มีเวลาพอที่จะดูหนังสือ แต่อย่างไรก็ดี พรรษาที่ 2 อายุ 22 ปี
ท่านก็สอบประโยคเปรียญธรรม 8 ได้ในพ.ศ. 2481 และในพรรษาที่ 3 อายุ 23 ปี สอบประโยคเปรียญธรรม 9 ได้ในพ.ศ. 2482 ได้ติดต่อกันอีก ทั้งนี้โดยสังกัดสำนักเรียนวัดเทพศิรินทราวาส

สนองงานพระพุทธศาสนา
ความสามารถพิเศษขณะดำรงสมณเพศ

           เป็นผู้ริเริ่มการแต่งจินตนิยายอิงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา โดยอาศัยหลักฐานในพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาสเป็นคนแรก ทำให้การเผยแพร่พระพุทธศาสนาในรูป
จินตนิยายเริ่มแพร่หลาย             เป็นผู้แทนคณะสงฆ์ไทยไปร่วมประชุมองค์การทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญระดับประเทศ เช่น ไปร่วมประชุมการจัดตั้งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ( พ.ส.ล.) ในประเทศศรีลังกาเมื่อ 25 พฤษภาคม ถึง 6 มิถุนายน พ.ศ. 2493
           เป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่สามารถแสดงพระธรรมเทศนาเป็นภาษาอังกฤษแก่ชาวต่างประเทศ ฯลฯ

ครอบครัว

           เมื่ออาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้ลาสิกขาและตั้งหลักทางฆราวาสเป็นที่มั่นคงอยู่ในบ้าน
กรุงเทพฯ พร้อมกับมารดา ( คุณแม่ทองคำ ปุญญานุภาพ ) และน้าไล้ น้าชายของท่านอย่างสงบสุข
เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ต่อมาท่านได้สมรสกับคุณเพ็ญสุข ศิวดิตถ์ ชาวกรุงเทพมหานคร มีบุตรธิดา
รวม 4 คน เป็นหญิง 2 คน ชาย 2 คนตามลำดับ

งานทางราชการการเมือง

- เป็นเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เริ่มปีพ.ศ. 2495 -2501 ในขณะดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ หลายตำแหน่ง อาทิเช่น
- กรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ
- กรรมการสภาวัฒนธรรมทางจิตใจ
งานรัฐวิสาหกิจ

- ได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งในองค์การส่งเสริมทางท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และได้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ดังนี้
- 1 เมษายน 2507 เป็นที่ปรึกษาผู้อำนวยการอ.ส.ท. ในกิจการ
เกี่ยวกับศาสนา วัฒนธรรม ภาษาไทย และการเผยแพร่ภาษาในประเทศ และการรักษาการณ์ในหน้าที่ฝ่ายสารบรรณ ซึ่งเป็นฝ่ายธุรการอีกตำแหน่งหนึ่ง
- 1 เมษายน 2508 รักษาการณ์ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายธุรการ
- 17 กันยายน 2510 ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายธุรการ
- 13 ธันวาคม 2519 รองผู้อำนวยการ อ.ส.ท. ฝ่ายการส่งเสริม
จนครบเกษียณอายุ เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2520 รวมเวลาทำงานในอ.ส.ท. เป็นเวลา 14 ปี 8 เดือน ในระหว่างปฎิบัติงานอยู่ในอ.ส.ท. ได้ปฎิบัติหน้าที่พิเศษที่สำคัญ อาทิเช่น

- เป็นผู้จัดการทั่วไปและเป็นที่ปรึกษาโรงแรมบางแสน
- กรรมการในคณะทำงานร่างกฏหมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
- เป็นวิทยากรบรรยาย แก่ผู้เข้ารับการอบรมมัคคุเทศก์ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องวัฒนธรรมไทย และประเพณีไทยให้แก่ยุวกสิกรอเมริกัน ที่เดินทางมาศึกษา ณ ประเทศไทย เมื่อเดือนมิถุนายน 2512
- เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประเทศไทยแก่พลประจำเรือ ซึ่งจะเดินทางไปรับมอบเรือรบหลวงตาปี
- เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง บทบาทและหน้าที่ของอ.ส.ท. ในการอบรมพระสงฆ์หน่วยพัฒนาการทางจิต ณ จิตรพวันวิทยาลัย
- เป็นวิทยากรบรรยายให้แก่ผู้รับการอบรมหลักสูตรผู้ช่วยหัวหน้าเขตกทม.
- ในปี 2520 เป็นหัวหน้าคณะผู้แทน Thai Tourism Goodwill Mission เดินทางไปแถลงชี้แจงสถานการณ์ของประเทศไทย ทางด้านการท่องเที่ยว แก่วงการธุรกิจประเทศญี่ปุ่น และประเทศสหรัฐอเมริกา
- รับผิดชอบในการตรวจนิตยสาร อ.ส.ท. ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ฯลฯ

งานพิเศษด้านการสอน

- เป็นอาจารย์สอนและเป็นที่ปรึกษา ในสภาการศึกษาในมหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์
- เป็นอาจารย์พิเศษวิชา ศาสนาเปรียบเทียบในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ในบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- เป็นอาจารย์พิเศษในคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เป็นอาจารย์ตรวจวิทยานิพนธ์ชั้นปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- เป็นประธานคณะกรรมการตำราและวิชาการ มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์
- เป็นผู้บรรยายพิเศษในโรงเรียนสงครามจิตวิทยา กรมเสนาธิการกลาโหม กระทรวงกลาโหม- เป็นอาจารย์บรรยายวิชา “การศาสนาพุทธ” แก่นักศึกษาวิทยาลัยการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ

งานด้านได้รับเชิญเป็นกรรมการและอนุกรรมการในหน่วยงานของรัฐ

- ประธานอนุกรรมการ กำหนดหลักวิชารัฐศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ สำนักกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
- ประธานกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ ศาสนาสากล และพจนานุกรมศัพท์พระไตรปิฏกของราชบัณฑิตสถาน
- กรรมการฝึกอบรมพระธรรมทูต ไปต่างประเทศ ( The Training Institute for Dhammaduta Bhikkhus Going Abroad ) ตั้งอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
- เป็นวิทยากรบรรยาย “พระพุทธศาสนาที่พระธรรมทูตควรทราบ” ตลอดหลักสูตรปี 2512 และในปีต่อมาที่มีการฝึกอบรม ได้รับเชิญไปบรรยายถวายเป็นคราว ๆ ( ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 – 2540 )
- กรรมการที่ปรึกษาในการจัดทำ Anthology of Asean Literatures. ของกรรมการฝ่ายไทยของสมาคมอาเชี่ยน
- กรรมการการศึกษา การศาสนาและวัฒนธรรมกระทรวงศึกษาธิการ ( ศศว.ศธ. )
- คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ( อ.ก.ค. เฉพาะกิจ ) กระทรวงศึกษาธิการ
- เป็นอนุกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี หลายสาขา
- อนุกรรมการจัดทำเอาสารภาษาอังกฤษ
- อนุกรรมการส่งเสริมศาสนาและวัฒนธรรม
- อนุกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อจัดทำหนังสือ ( คำถามคำตอบ
เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา )

การสนองงานในองค์การพุทธศาสนาระดับโลก

- ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์
แห่งโลก ( พ.ส.ล. ) เมื่อ 1 ธันวาคม 2523
- เป็นกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการของ พ.ส.ล.
เกียรติคุณที่ได้รับ
จากผลงานทางด้านการศึกษา ของอาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพ ดังกล่าวแล้วข้างต้น ทำให้สถาบันการศึกษาชั้นสูงมองเห็นผลงานของท่าน อันจะอำนวยประโยชน์แก่ชาติ และพระศาสนา เป็นส่วนรวม สมควรยกย่องเกียรติคุณให้ปรากฏว่าเป็นปราชญ์ทางปรัชญา และศาสนาโดยแท้ จึงได้มอบปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในแต่ละสาขาวิชา คือ
- สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง มีมติมอบปริญญาดุษฏีบัณฑิต
กิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญา ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ประจำปีการศึกษา 2525/2526 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2525
- สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมติเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม
2539 มอบปริญญา ศิลปะศาสตร์ดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
ประจำปีการศึกษา 2539 เมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม พ.ศ. 2539
- สภามหาวิทยาลัย มหามกุฎราชวิทยาลัยได้ อนุมัติปริญญาศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เป็นคนแรก ในสมัยประสาทปริญญา สมัยที่ 33/2542 ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อวันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2542
- มูลนิธิธารน้ำใจ ได้คัดเลือก นายสุชีพ ปุญญานุภาพ ให้เป็นคนไทยตัวอย่าง ประจำปี พ.ศ. 2540 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมาร
ี ในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2540

         ท่านได้ถึงแก่กรรมลง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 เวลา 15.51 น.
สิริอายุ 83 ปี 21 วัน นับได้ว่าวงการพุทธศาสนาได้สูญเสียนักปราชญ์ในทางศาสนาผู้ยิ่งใหญ่
ผู้ได้ฉายาว่านักปราชญ์สามัญชนผู้พรั่งพร้อมทั้งวิชาและจรณะไปอย่างสุดแสนอาลัยยิ่ง

(เรียบเรียงจากหนังสืออนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ)


 
Hosted by www.Geocities.ws

1