บรมครูชีวกโมารภัจจ์

ประวัติและความเป็นมา

หมอชีวกโกมารภัจจ์

               เกิดที่ปะเทศอินเดียในสมัยพุทธกาล เป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าชายอภัยราชกุมาร พระราชนัดดาของพระเจ้าพิมพิสาร แห่งแคว้นมคธ ได้ไปเรียนวิชาแพทย์ที่สำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ณ เมืองตักศิลา โดยได้คำนึงว่า วิชาแพทย์เป็นวิชาที่สามารถช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้ ตามปกติจะต้องใช้เวลาศึกษา 16 ปี จึงจะสำเร็จ แต่ท่านศึกษาอยู่เพียง 7 ปี ก็สำเร็จการศึกษา แล้วจึงกลับกรุงราชคฤห์ ส่วนอาจารย์ของท่านได้เดินทางไปเผยแพร่วิชาแพทย์ที่ประเทศจีนต่อไป
พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงแต่งตั้งให้หมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นแพทย์หลวงและเป็นหมอประจำตัวของพระพุทธเจ้า ท่านได้รักษาโรคให้แก่ผู้คนเป็นจำนวนมาก โดยไม่เลือกชั้นวรรณะทั้งด้วยยาและการผ่าตัด
หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้รจนาตำราวิชาแพทย์ไว้มากมาย อันเป็นคุณต่อชนรุ่นหลังเป็นอันมาก คนไทยนับถือท่าน ชีวกโกมารภัจจ์เป็นครูแพทย์ไทยท่านหนึ่ง ท่านได้รับการยกย่อง เอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้เลื่อมใสในบุคคล

กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์

               ในพระนครราชคฤห์ มีกุมารีชื่อสาลวดีเป็นสตรีทรงโฉมสคราญตาน่าเสน่หา ประกอบด้วยผิวพรรณเฉิดฉายยิ่ง จึงพวกคนมีทรัพย์ชาวพระนครราชคฤห์ ได้คัดเลือกกุมารีสาลวดี เป็นหญิงงามเมือง
ครั้นนางกุมารีสาลวดี(สาสวดี)ได้รับเลือกเป็นหญิงงามเมืองแล้ว ไม่ช้านานเท่าไรนัก ก็ได้เป็นผู้ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้องบรรเลงเครื่องดนตรี ราคาตัวคืนละ 100 กษาปณ์
ครั้นมิช้ามินาน นางสาลวดีหญิงงามเมืองก็ตั้งครรภ์ นางมีความคิดเห็นว่า ธรรมดาสตรีมีครรภ์ไม่เป็นที่พอใจของพวกบุรุษ ถ้าใครๆ ทราบว่า เรามีครรภ์ ลาภผลของเราจักเสื่อมหมด
หลังจากนั้น อาศัยความแก่แห่งครรภ์นั้น นางได้คลอดบุตรเป็นชาย และสั่งกำชับทาสีว่า “แม่สาวใช้จงวางทารกนี้ลงบนกระด้งเก่าๆ แล้วนำออกไปทิ้งที่กองหยากเยื่อ(กองขยะ)”
ก็ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า เจ้าชายอภัย กำลังเสด็จเข้าสู่พระราชวัง ได้ทอดพระเนตร เห็นทารกนั้นอันฝูงกาห้อมล้อมอยู่ ครั้นแล้วได้ถามมหาดเล็กว่า “พนายนั่นอะไร ฝูงการุมกันตอม”
มหาดเล็ก. “ทารก พ่ะย่ะค่ะ “
เจ้าชายอภัย “ยังเป็นอยู่หรือ พนาย“
มหาดเล็ก “ยังเป็นอยู่ พ่ะย่ะค่ะ“
เจ้าชายนำทารกนั้นไปวังและมอบแก่นางนม อาศัยคำว่า “ยังเป็นอยู่“เขาจึงขนานนามทารกนั้นว่า ชีวก (ยังมีชีวิตอยู่) ได้ตั้งนามสกุลว่าโกมารภัจจ์ ต่อมาไม่นานนัก ชีวกโกมารภัจจ์ก็รู้เดียงสา จึงเข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้แด่เจ้าชายอภัยว่า
“ใครเป็นมารดาของเกล้ากระหม่อม ใครเป็นบิดาของเกล้ากระหม่อม พ่ะย่ะค่ะ“
เจ้าชายรับสั่งว่า “พ่อชีวก แม้ถึงตัวเราก็ไม่รู้จักมารดาของเจ้า ก็แต่ว่าเราเป็นบิดาของเจ้า เพราะเราได้ให้เลี้ยงเจ้าไว้“ ชีวกโกมารภัจจ์ มีความคิดเห็นว่า ราชสกุลเหล่านี้แล คนที่ไม่มีศิลปะ จะเข้าพึ่งพระบารมี ทำไม่ได้ง่าย ถ้ากระไร เราควรเรียนวิชาแพทย์ไว้.

เรียนศิลปะทางแพทย์

            ชีวกโกมารภัจจ์พออายุได้ 16 ปี ทราบว่า นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ตั้งสำนักอยู่ ณ เมืองตักกสิลา จึงตัดสินใจเดินทางไปเรียนแพทย์กับนายแพทย์ทิศาปาโมกข์ โดยไม่ทูลลาเจ้าชายอภัย ลอบเดินทางไปเมืองตักกสิลา เดินรอนแรมไปโดยลำดับ ถึงเมืองตักกสิลา ครั้งนั้นชีวกโกมารภัจจ์ เรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย และวิชาที่เรียนได้แล้วก็ไม่ลืม.
ครั้นล่วงมาได้ 7 ปี ชีวกโกมารภัจจ์คิดว่า เรียนมาได้ 7 ปีแล้ว ยังไม่สำเร็จศิลปะนี้ เมื่อไร จักสำเร็จสักที จึงเข้าไปหานายแพทย์ผู้นั้นแล้วได้เรียนถามว่า “ท่านอาจารย์ กระผมเรียนวิชาได้มากเรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย ทั้งวิชาที่เรียนได้แล้วก็ไม่ลืม และกระผมได้เรียนมาเป็นเวลา 7 ปีก็ยังไม่สำเร็จ เมื่อไรจักสำเร็จสักทีเล่า ขอรับ“
นายแพทย์ตอบว่า “พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้นเธอจงถือเสียม เที่ยวไปรอบเมืองตักกสิลา ระยะทาง 1 โยชน์ ตรวจดูสิ่งใดไม่ใช่ตัวยา จงขุดสิ่งนั้นมา“ ชีวกโกมารภัจจ์รับคำอาจารย์ ถือเสียมเดินไปรอบเมืองตักกสิลาระยะทาง 1 โยชน์ มิได้เห็นสิ่งใดที่ไม่เป็นตัวยาสักอย่างหนึ่งจึงเดินทางกลับ เข้าไปหานายแพทย์ และได้กราบเรียนคำนี้ต่อนายแพทย์ว่า
“ท่านอาจารย์กระผมเดินไปรอบเมืองตักกสิลาระยะทาง 1 โยชน์แล้ว มิได้เห็นสิ่งที่ไม่เป็นยา
สักอย่างหนึ่ง” นายแพทย์บอกว่า “พ่อชีวก เธอศึกษาสำเร็จแล้ว เท่านี้ก็พอที่เธอจะครองชีพได้แล้ว“

ถวายการรักษาพระผู้มีพระภาคเจ้า

            สมัยนั้นแล พระกายของพระผู้มีพระภาคหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จึงพระผู้มีพระภาค
รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า “ดูกรอานนท์ กายของตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ ตถาคตต้องการจะฉันยาถ่าย” พระอานนท์จึงเดินไปหาชีวกโกมารภัจจ์ “ท่านชีวก พระกายของพระตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ พระตถาคต ต้องการจะเสวยพระโอสถถ่าย”
ชีวกโกมารภัจจ์ ได้เดินทางเข้าเฝ้าทำการรักษา ถวายการรักษาด้วยการอบก้านอุบล 3 ก้านด้วยยาต่างๆ แล้วทูลถวายพระตถาคต” พระภาคจงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ 1 ทำให้ถ่ายถึง 10 ครั้ง แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ 2 และก้านที่ 3 แต่ละครั้งเป็นผลให้ทรงถ่าย รวม 30 ครั้ง ทำให้ของหมกหมมในพระวรกายของพระพุทธเจ้าออกจากพระวรกายจนหมดสิ้น พระองค์ทรงสดชื่นหายจากอาการประชวร
           ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสรงน้ำอุ่น ชีวกโกมารภัจจ์ได้กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคว่า
“พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคไม่ควรเสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยน้ำต้มผัก ต่างๆ จนกว่าจะมีพระกายเป็นปกติ” ต่อมาไม่นานนัก พระกายของพระผู้มีพระภาคได้เป็นปกติแล้ว.
ในเวลาต่อมา เมื่อชีวกโกมารภัจจ์ ได้ถวายการรักษาพระเจ้าจันทร์ปัทโชติหายจากอาการประชวร พระองค์ได้ส่งผ้าสิไวยกะมาพระราชทานให้แก่หมอชีวกโกมารภัจจ์ ท่านได้นำผ้าไวยกะไปในพุทธสำนัก แล้วถวายบังคม พระผู้มีพระภาค ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคและพระสงฆ์ทรงถือผ้าบังสุกุลเป็นปกติอยู่ ผ้าสิไวยกะของข้าพระพุทธเจ้าคู่นี้ พระเจ้าปัชโชติ ทรงส่งมาพระราชทาน เป็นผ้าเนื้อดีเลิศ ประเสริฐมีชื่อเสียงเด่นอุดม และเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมาก ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงพระกรุณาโปรดรับผ้าคู่สิไวยกะของข้าพระพุทธเจ้า และขอจงทรงพระพุทธานุญาตคหบดีจีวรแก่พระสงฆ์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับผ้าคู่สิไวยกะแล้ว ครั้นแล้วทรงชี้แจงให้ชีวกโกมารภัจจ์ เห็นแจ้ง สมาทาน อาด้วยธรรมีกถา เสร็จแล้ว ชีวกได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณกลับไป.

หมอชีวกบรรลุโสดาบัน

          หมอชีวกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะไปเฝ้า
วันละ 2-3 ครั้ง เห็นว่า พระเวฬุวันไกลเกินไปจึงสร้างวัดถวายในอัมพวันคือ สวนมะม่วงของตน
เรียกกันว่า ชีวกัมพวัน (อัมพวัน ของหมอชีวก) เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเริ่มน้อมพระทัยมาทางศาสนา
หมอชีวกก็เป็นผู้แนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุที่หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำ
คณะสงฆ์และเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลพระสงฆ์มาก

อนุญาตให้สงฆ์รับคหบดีจีวร

          หมอชีวกได้ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าอนุญาตให้สงฆ์รับคหบดีจีวรเป็นครั้งแรก. ทูลเสนออนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นที่บริหารกายช่วยรักษาสุขภาพ
ของภิกษุทั้งหลาย. ในกาลต่อมา หมอชีวกได้รับพระดำรัสยกย่องเป็น เอตทัคคะ
ในบรรดาอุบาสกผู้เลื่อมใสในบุคคล.


 
Hosted by www.Geocities.ws

1