โครงการเขื่อนกั้นน้ำเค็มทะเลสาบสงขลา

ทะเลสาบสงขลา
ระบบของทะเลสาบสงขลา จัดเป็นระบบนิเวศแบบเปิด ประกอบด้วย
(1) ทะเลน้อย ซึ่งอยู่บนส่วนเหนือสุด ติดต่อกับพรุควนเคร็ง
(2) ทะเลหลวง
(3) ทะเลสาบ
(4) ทะเลสาบสงขลาซึ่งติดต่อกับอ่าวไทยโดยมีพื้นที่ผิวน้ำ เท่ากับ 27.2 ตารางกิโลเมตร 469.9 ตารางกิโลเมตร 359.7 ตารางกิโลเมตร และ 185.8 ตารางกิโลเมตร ตามลำดับ ในสภาพปัจจุบัน ทะเลน้อยมีสภาพเป็นน้ำจืด แต่น้ำเค็มรุกเข้ามาในฤดูแล้ง ทะเลสาบมีสภาพเป็นน้ำ กร่อย ส่วนทะเลสาบสงขลามีสภาพน้ำเค็ม

ความเป็นมาของโครงการ

พ.ศ. 2514 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลไทย โดยให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา NEDECO ทำการศึกษาเบื้องต้น โครงการคันกั้นน้ำเค็มทะเลสาบสงขลา โดยไม่มีการศึกษาสิ่งแวดล้อม โดยได้เสนอคันกั้นน้ำที่ เกาะใหญ่ (Site A) เกาะโคป - ปากพะยูน (Site B) และปากรอ (Site C) พ.ศ. 2527 - 2528 สำนักคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา JOHN TAYLOR & SONS ศึกษาวางแผนหลัก และศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งผลการศึกษาสรุปว่า Site A เหมาะสมที่สุด รองลงมาคือ Site C ส่วน Site B มีความเหมาะสมน้อยที่สุด พ.ศ. 2530 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2530 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้บริษัท REDECON ศึกษาเปรียบเทียบรายละเอียดการก่อสร้างระหว่าง Site A และ Site C โดยผลการศึกษาสรุปว่า Site A ดีกว่า Site C และดีกว่าการไม่ก่อสร้างคันกั้นน้ำ แต่เนื่องจากมีปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศ และการกระจายผลประโยชน์ให้พื้นที่ต่างๆ ยังไม่เหมาะสม เป็นผลให้ต้องศึกษาเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2535 คณะรัฐมนตรี มีมติให้กรมชลประทานทบทวนการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดคันกั้นน้ำเค็ม ที่ Site A และ C กรมชลประทานได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เทสโก้ จำกัด ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และพอล คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการดังกล่าวโดยมีระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน และมีกำหนดแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2537

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ผลกระทบต่อทรัพยากรกายภาพ
1. การระเหยจากผิวน้ำและจากวัชพืช สุทธิจากอ่างรายปี เฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น 18.4 และ31.7 ลูกบาตศ์เมตรต่อปี สำหรับการสร้างคันน้ำเค็มที่ Site A และ C ตามลำดับ
2. น้ำในอ่างจะไม่แตกต่างจากสภาพปัจจุบันมากนัก สำหรับปริมาณน้ำท่าด้านท้ายน้ำเมื่อมีโครงการจะน้อยลง 1,028 และ 1,086 ลูกบาตศ์เมตร ที่ Site A และ C
3. ทำให้น้ำในทะเลสาบด้านท้ายน้ำของ Site A และ C มีความเค็มเพิ่มขึ้น 2- 4 ppt ในช่วงฤดูแล้ง และมีความเค็มเช่นเดิมเหมือนปัจจุบันในฤดูฝน
4. การกัดเซาะของหน้าดิน และการตกตะกอนจะไม่แตกต่างจากสภาพปัจจุบันมากนักเพราะในฤดูฝน ตะกอนแขวนลอยจะลอยออกไปทางท้ายน้ำออกสู่ทะเลประมาณว่าใน 50 ปี จะมีตะกอนสะสมในอ่างที่ Site A และ C ราว 23 และ30 ล้านลูกบาตศ์เมตร
5. ปริมาณน้ำเสียจากชุมชน โรงงาน นากุ้ง และสารเคมีจากสารปราบศัตรูพืชเพิ่มขึ้นมีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ
ผลกระทบต่อทรัพยากรชีวภาพ
1. ทำให้วัชพืชน้ำ อย่างผักตบชวาเพิ่มมากขึ้น
2. ขวางกั้นการเดินทางของสัตว์น้ำเฉพาะในฤดูแล้งสำหรับ Site A ในขณะที่ Site C มีผลกระทบมากกว่า
3. ระบบนิเวศป่าชายเลนเหนือน้ำเปลี่ยนแปลงเป็นน้ำจืด
4. กรณี Site A ความเค็มของน้ำที่เพิ่มขึ้น 2 - 4 ppt ในฤดูแล้ง ทำให้มีผลกระทบต่อปริมาณวัชพืชน้ำจืด ซึ่งเป็นที่อยู่ของนกน้ำ แต่ในฤดูฝนน้ำจะล้นคันกั้นน้ำ ทำให้ความเค็มเข้าสู่สภาพปรกติ และวัชพืชจะฟื้นตัว ผลกระทบดังกล่าวจึงมีไม่มากนัก สำหรับ Site C ไม่มีผลกระทบเพราะน้ำบริเวณคูขุดเป็นน้ำจืดเป็นผลดีต่อวัชพืช และนกน้ำทำให้ประชากรนกมากขึ้น
ผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ของมนุษย์
1. ทำให้กุ้งก้ามกรามสูญพันธุ์ หากกุ้งก้ามกรามไม่สามารถใช้บันไดปลาเดินทางอพยพระหว่างเหนือน้ำและท้ายน้ำ
2. มีผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย กรณีก่อสร้างคันกั้นน้ำที่ Site A จะไม่มีผลต่อการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ แต่หากสร้างที่ Site C น้ำในทะเลสาบจะเป็นน้ำจืดทำให้ไม่สามารถเลี้ยงกุ้งกุลาดำ
3. ระดับน้ำท่วมท้ายน้ำไม่แตกต่างจากสภาพปัจจุบันหรือสูงขึ้นราว 1 - 2 เซนติเมตร หากสร้างที่ Site A และสูงขึ้น 5 - 10 เซนติเมตร หากสร้างที่ Site C
4. เกิดความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์จากการใช้น้ำ และการต่อต้านคัดค้านโครงการ
5. ทำให้เรือประมงขนาดใหญ่ไม่สามารถผ่านไปมาหากไม่มีการสร้างประตูเรือ
ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต
1. มีผลกระทบต่ออาชีพของชาวประมงน้ำกร่อย ซึ่งต้องเปลี่ยนเป็นประมงน้ำจืดหรือย้ายถิ่นฐาน หรือโยกย้ายชั่วคราวลงทางท้ายน้ำ เพื่อทำการประมงน้ำกร่อย สำหรับกรณี Site C ผู้ที่เลี้ยงกุ้งกุลาดำอยู่เหนือคันน้ำเค็ม จะไม่สามารถเลี้ยงกุ้งกุลาดำได้ แต่ผลกระทบไม่มากนัก เพราะปรกติการเลี้ยงกุ้งกุลาดำไม่ค่อยได้ผลเนื่องจากน้ำกร่อยน้อย
2. อ่างเก็บน้ำอาจจะทำให้พาหะกลางของโรคพยาธิใบไม้ตับ แพร่ขยายพันธุ์มากขึ้น

Hosted by www.Geocities.ws

1