ชายฝั่งทะเลของประเทศไทย

ความหมายของชายฝั่งทะเล

             ชายฝั่งทะเล ( COAST )  คือแถบแผ่นดินนับจากแนวชายทะเลขึ้นไปบนบก จนถึงบริเวณที่มีลักษณะภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด จึงมีความกว้างกำหนดไม่ได้แน่นอนชายฝั่งทะเลของประเทศไทยมีความยาวทั้งสิ้น  2,614  กิโลเมตร  แบ่งออกเป็นชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย  1,660  กิโลเมตร ชายฝั่งด้านทะเลอันดามัน 954 กิโลเมตร และครอบคลุมพื้นที่ 24 จังหวัด  เมื่อพิจารณาสภาพภูมิศาสตร์หรือลักษณะการกำเนิดของชายฝั่งทะเล 

สามารถแบ่งได้เป็น  5  ประเภท คือ

1. ชายฝั่งทะเลยุบจม (Submerged Shoreline )

2. ชายฝั่งทะเลยกตัว ( Emerged Shoreline )

3. ชายฝั่งทะเลคงระดับ ( Neutral Shoreline )

4. ชายฝั่งทะเลรอยเลื่อน ( Fault Shoreline )

5. ชายฝั่งทะเลแบบผสม ( Compounded Shoreline )


1. ชายฝั่งทะเลยุบจม ( Submerged Shoreline )

               เกิดจากการที่เปลือกโลกบริเวณริมฝั่งทะเลยุบจมลง หรือการที่น้ำทะเลยกระดับขึ้นทำให้บริเวณที่เคยโผล่พ้นระดับน้ำทะเลกลับจมอยู่ใต้ผิวน้ำ  ปรากฏเป็นหน้าผาชันไม่ค่อยมีที่ราบชายฝั่ง แนวชายฝั่งเว้าแหว่งมาก  หากภูมิประเทศเดิมเป็นภูเขาและเมื่อเกิดการยุบจมขึ้นแล้ว มักก่อให้เกิดเกาะต่างๆ บริเวณชายฝั่ง เช่น ชายฝั่งทะเลบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกหรือฝั่งทะเลอันดา มันแถบจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรังและสตูล

 

2. ชายฝั่งทะเลยกตัว ( Emerged Shoreline )

               เกิดจากการที่เปลือกโลกยกตัวขึ้นหรือการที่น้ำทะเลลดระดับลง ทำให้บริเวณที่เคยจมอยู่ใต้ระดับน้ำทะเลกลับโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมา  หากแผ่นดินเดิมที่เคยจมอยู่ใต้ระดับน้ำทะเลเป็นบริเวณที่มีตะกอน กรวด ทราย ตกทับถมกันมาเป็นเวลานานแล้ว จะทำให้เกิดที่ราบชายฝั่งที่มีบริเวณกว้าง แนวชายฝั่งเรียบตรงไม่เว้าแหว่งมาก เช่น ชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันออกหรือฝั่งอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดชุมพร ถึงจังหวัดนราธิวาส  ชายฝั่งทะเลยกตัวบางแห่งมีฝั่งชันเป็นภูเขา เนื่องจากภูมิประเทศเดิมที่อยู่ใต้ทะเลมีความลาดชันมาก เช่น ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก บริเวณอ่าวพัทยา อำเภอสัตหีบ และอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นต้น

 

3. ชายฝั่งทะเลคงระดับ ( Neutral Shoreline )

               หมายถึงชายฝั่งทะเลที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ระหว่างระดับน้ำทะเลและบริเวณชายฝั่งของทวีป แต่ยังคงมีการทับถมของตะกอนต่างๆ  เกิดขึ้น ลักษณะชายฝั่งทะเลประเภทนี้ได้แก่ ชายฝั่งดิน ตะกอนรูปพัด ชายฝั่งดินดอนสามเหลี่ยม ชายฝั่งภูเขาไฟ ชายฝั่งแนวหินปะการัง ชายฝั่งหินปะการังแนวขวาง   ชายฝั่งปะการังรูปวงแหวน

 

4. ชายฝั่งทะเลรอยเลี่อน ( Fault Shoreline )

               เกิดจากการเลื่อนตัวของเปลือกโลกตามบริเวณชายฝั่ง ถ้ารอยเลื่อนมีแนวเลื่อนลงไปทางทะเลจะทำให้ระดับของทะเลลึกลงไปหรือถ้ารอยเลื่อนมีแนวเลื่อนลึกลงไปทางพื้นดินจะทำให้น้ำทะเลไหลเข้ามาในบริเวณพื้นดิน

 

5. ชายฝั่งทะเลแบบผสม ( Compounded Shoreline )

               เป็นชายฝั่งทะเลที่เกิดจากหลายๆ ลักษณะที่กล่าวมาแล้วปะปนกัน   ชายฝั่งทะเลประเภทต่างๆ ดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั้งในรูปแบบของการกัดเซาะและการทับถม โดยมีตัวการที่สำคัญคือ คลื่น ลม และกระแสน้ำทำให้เกิดเป็นลักษณะภูมิประเทศชายฝั่งที่แตกต่างกันออกไป เช่น ลักษณะเป็นชายหาด (Beach Shore ) ซึ่งอาจปรากฏเป็นหาดหิน หาดโคลน หาดทราย  นอกจากนี้อาจมีลักษณะเป็นสันทรายหรือสันหาด (Berm) สันดอน (Bar) ทะเลสาบน้ำเค็ม (Lagoon) หน้าผาสูงชันริมทะเล (Sea Cliff) เว้าทะเล (Sea Notch) ถ้ำทะเล (Marine Cave) สะพานหินธรรมชาติ (Natural Bridge) ชะวากทะเล (Estuary) และเกาะต่างๆ เป็นต้น

ลักษณะภูมิประเทศชายฝั่งทะเล

               ชายฝั่งทะเลประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั้งในรูปแบบของการกัดเซาะ และการทับถม โดยมีตัวการที่สำคัญ คือ คลื่น ลม และกระแสน้ำ ทำให้เกิดเป็นลักษณะภูมิประเทศชายฝั่งที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้คือ

        ภูมิประเทศที่เกิดจากการตกตะกอนทับถม

            มักจะเกิดขึ้นในบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีน้ำตื้น ลักษณะชายฝั่งราบเรียบและลาดเทลงไปสู่ก้นทะเล   ทำให้ความเร็วของคลื่นและกระแสน้ำลดลงเมื่อเคลื่อนตัวเข้าสู่ฝั่ง การกระทำจึงเป็นในรูปแบบของการตกตะกอนทับถมเกิดเป็นภูมิประเทศลักษณะต่าง ๆ เช่น สันทราย (Bar) และทะเลสาบที่มีน้ำไหลเข้าออกได้ (Lagoon) เป็นต้น

        ภูมิประเทศที่เกิดจากการกัดเซาะ

              มักจะเกิดขึ้นในบริเวณชายฝั่งทะเลน้ำลึก ลักษณะชายฝั่งลาดชันลงสู่ท้องทะเล ทำให้การกัดเซาะของคลื่นและกระแสน้ำเป็นไปอย่างรุนแรง เกิดเป็นภูมิประเทศลักษณะต่าง ๆ เช่น หน้าผาชันริมทะเล (Sea Cliff) เว้าทะเล (Sea Notch) ถ้ำทะเล (Sea Cave) เกาะทะลุ (Sea Arch) สะพานหินธรรมชาติ(Natural Bridge) และชะวากทะเล (Estuary) เป็นต้น

ลักษณะชายฝั่งทะเลที่เกิดจากการกัดเซาะ และทับถมของคลื่น ลม และกระแสน้ำ

หาด (Beach Shore)

              คือ พื้นที่ระหว่างขอบฝั่งกับแนวน้ำลงเต็มที่มีลักษณะเป็นแถบยาวไปตามริมฝั่ง เกิดขึ้นเนื่องจากการกระทำของคลื่น และกระแสน้ำในทะเลหรือทะเลสาบ หรือแม่น้ำ หาดโดยทั่วไปจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

              ลักษณะของหาดที่พบมีอยู่ 3 ประเภท คือ หาดหน้ากว้างหาดหน้าแคบ และหาดสองชั้นโดยมีรายละเอียดแสดงในตารางที่ 1-1

              เนื่องจากหาดแต่ละแห่งจะมีวัตถุที่มาตกทับถมแตกต่างไป จึงเรียกชื่อหาดตามประเภทของวัตถุที่พบบนหาดนั้น ๆ คือ หาดหิน หรือหาดโคลน เป็นหาดที่ประกอบด้วยหินหรือกรวดขนาดใหญ่เกิดจากการทับถมของเศษหินซึ่งถูกคลื่นซัดขัดสีกันและกันจนแบนเรียบและมน หาดทราย มักพบอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีหินเปลือกโลกเป็นหินทรายหรือ หินแกรนิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหินแกรนิต เมื่อสลายตัวจะให้ทรายเม็ดกลมมนมีสีขาวทำให้เกิดหาดทรายที่สวยงาม และหาดโคลน มักพบอยู่ตามบริเวณใกล้ปากแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ที่มีโคลนตะกอนจากแม่น้ำพัดพามาเป็นจำนวนมาก มีลักษณะเป็นลานปริ่มน้ำ เวลาน้ำขึ้นน้ำจะท่วมมิดลานนั้น และเวลาน้ำลงลานจะโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมา โดยรายละเอียดแสดงในตารางที่ 1-2

สันทรายหรือสันหาด (Berm)

               เป็นสันทรายขนาดเล็กมีลักษณะคล้ายที่ราบเป็นชั้นที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำ และเปลี่ยนแปลงได้ เกิดจากดินหรือทรายที่พังลงจากของฝั่งหรือเป็นทรายที่ถูกคลื่นและนำพาไปกองรวมบนหาดเป็นแนวยาวขนานไปกับชายฝั่ง เมื่อเกิดขึ้นรวมกันหลาย ๆ แนวบนหาดจะทำให้บริเวณด้านในของหาดมีลักษณะเป็นสันสูงขึ้น มักเป็นที่สูงพ้นจากระดับคลื่นซัดท่วมถึงในยามปกติ

ตารางที่ 1-1 แสดงรายละเอียดของหาดที่พบ

ลักษณะของหาด

รายละเอียด

หาดหน้ากว้าง

        เป็นหาดเรียบ มีทั้งหาดส่วนหลังและหาดส่วนหน้าลักษณะหาดมีความชันน้อย คลื่น มักจะซัดขึ้นมาไม่ถึงหาดส่วนหลัง หาดแบบนี้มีบริเวณกว้างขวาง เหมาะแก่การเป็นสถานที่พักตากอากาศ เช่น ชายหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

หาดหน้าแคบ

        เป็นหาดเรียบตั้งแต่ขอบฝั่งลงไปจนถึงแนวน้ำลงมีแต่หาดส่วนหน้าโดยไม่มีหาดส่วนหลัง ลักษณะของหาดมีความชันไม่มากนัก

หาดสองชั้น

        เป็นหาดไม่สู้เรียบนัก มีทั้งหาดส่วนหลังและส่วนหน้าและมีที่ราบเป็นชานยื่นออกไปเป็นชั้น บางชั้นก็จะอยู่เหนือแนวน้ำลงเต็มที่ ลักษณะหาดจะค่อนข้างชัน หาดแบบนี้เหมาะแก่การเป็นสถานที่พักตากอากาศ เช่นกัน

 

ตารางที่ 1-2 แสดงรายละเอียดการเรียกชื่อหาดตามประเภทของวัตถุที่พบบนหาด

ลักษณะของหาด

รายละเอียด

หาดหินหรือหาดกรวด

(Shingle Beach)

        เป็นหาดที่ประกอบด้วยหินหรือกรวดขนาดใหญ่ เกิดจากการทับถมของเศษหินซึ่งถูกคลื่นซัดขัดสีกันและกันจนแบนเรียบและมน เช่น หาดที่เกาะหินงาม อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล

หาดทราย (Sand Beach)

        มักพบอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีหินเปลือกโลกเป็นหินทรายหรือหินแกรนิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหินแกรนิต เมื่อสลายตัวจะให้ทรายเม็ดกลมมน มีสีขาวทำให้เกิดหาดทรายที่สวยงาม เช่น หาดต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต หาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหาดสมิหรา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นต้น

หาดโคลน (Mud Flat)

        มักพบอยู่บริเวณใกล้ปากแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ที่มีโคลนตะกอนจากแม่น้ำพัดพามาเป็นจำนวนมาก มีลักษณะเป็นลานปริ่มน้ำ เวลาน้ำขึ้นน้ำจะท่วมมิดลานนั้น และเวลาน้ำลงลานจะโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมา เช่น บริเวณดอนหอยหลอดปากแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ถ้าหากหาดโคลนนั้นมีขนาดใหญ่ และมีตะกอนสะสมมากจนโผล่พ้นระดับน้ำขึ้นมา เรียกว่า ที่ราบลุ่มชายเลน ซึ่งมักจะมีพืชบางชนิด เช่นต้นแสม และต้นโกงกางขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น จึงมักเรียกว่า ป่าชายเลน หรือป่าเลนน้ำเค็ม เช่น ป่าชายเลนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล เป็นต้น

 

 

สันดอน (Bar)

              หมายถึง พืดสันทรายหรือตะกอนอื่น ๆ ที่กระแสน้ำพัดพามาตกทับถมสะสมไว้มากจนเกิดเป็นสันหรือพืดยื่นขวางหรือปิดปากน้ำทางเข้าท่าเรือและปากอ่าว ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งกีดขวางต่อการเดินเรือได้ สันดอนอาจแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามรูปร่าง และสถานที่เกิดดังนี้ คือ สันดอนที่เกิดจากตะกอนทับถมบริเวณก้นอ่าว หรือปากอ่าว หรือเป็นแนวยาวใกล้ปากอ่าว โดยรายละเอียดแสดงในตารางที่ 1-3

 

ทะเลสาบน้ำเค็ม (Lagoon)

               เกิดขึ้นทั้งในทะเลและบริเวณชายฝั่งทะเล ซึ่งลักษณะการเกิดและรายละเอียด แสดงในตารางที่ 1-4

 

หน้าผาสูงชันริมทะเล (Sea Cliff)

               หมายถึง หน้าผาสูงชันที่อยู่ริมฝั่งทะเลและหันออกไปทางทะเล มักเกิดขึ้นในบริเวณชายฝั่งทะเลยุบจมที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาติดทะเล หรือเป็นชายฝั่งที่ชั้นหินวางตัวในแนวเอียงเท หรือในแนวตั้ง คลื่นจะกัดเซาะฝั่ง ทำให้เกิดเป็นหน้าผาริมทะเล

 

เว้าทะเล (Sea Notch)

               หมายถึง รอยเว้าที่มีลักษณะเป็นแนวยาวเกิดขึ้นบริเวณฐานของหน้าผาชันริมทะเล ตอนที่อยู่ในแนวระดับน้ำขึ้นน้ำลง เกิดจากการกัดเซาะของคลื่นและการชะละลายของหินปูน เป็นหลักฐานแสดงถึงระดับน้ำทะเลในอดีต

 

  ตารางที่ 1-3  แสดงรายละเอียดของลักษณะสันดอน

ลักษณะของสันดอน

รายละเอียด

สันดอนก้นอ่าว (Bay-Head Bar)         เป็นสันดอนที่เกิดจากตะกอนทับถมอยู่ในบริเวณก้นอ่าว

สันดอนปากอ่าว (Bay-Mouth Bar)

        เป็นสันดอนที่เกิดจากตะกอนทับถมอยู่ในบริเวณปากอ่าว

สันดอนจะงอยปากอ่าว (Bay Mouth Spit)         เป็นสันดอนที่เกิดจากตะกอนทับถมเป็นแนวยาว อยู่ใกล้ปากอ่าว ปลายด้านหนึ่งติดกับฝั่ง อีกด้านหนึ่งยื่นขวางปากอ่าวตอนปลายจะงอโค้งเป็นจะงอยตามอิทธิพลของกระแสน้ำ และคลื่นสันดอนจะงอยปากอ่าวที่มีขนาดใหญ่ในประเทศไทยมี 2 แห่ง คือแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และแหลมตาซี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

สันดอนเชื่อมเกาะ (Tomboio)

        เป็นสันดอนที่เชื่อมเกาะขนาดเล็กเข้ากับชายฝั่ง ตัวอย่าง สันดอนประเภทนี้ได้แก่ สันดอนเชื่อมเกาะบริเวณอ่าวคุ้งกระเบน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และสันดอนเชื่อมเกาะยกในบริเวณ ทะเลสาบสงขลา

 

  ตารางที่ 1-4   แสดงลักษณะของทะเลสาบน้ำเค็ม

ลักษณะของทะเลสาบน้ำเค็ม

รายละเอียด

  ทะเลสาบน้ำเค็มในทะเล

        เกิดจากการปิดกั้นของปะการัง โดยมากมักเป็นรูปวงกลม มีทางน้ำแคบ ๆ เข้าออกได้

  ทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่งทะเล         เกิดจากการปิดกั้นของสันดอนบริเวณปากอ่าว แต่ยังมีทางออก ให้น้ำไหลผ่านได้ ในประเทศไทยพบทะเลสาบน้ำเค็ม ชายฝั่งทะเลเพียงแห่งเดียว คือ ทะเลสาบสงขลา ซึ่งเกิดจากการงอกของสันดอนมาปิดล้อมบริเวณที่เป็นอ่าวอยู่แต่เดิม ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ภายในแผ่นดินขึ้น สันทรายที่งอกยื่นยาวมาปิดกั้นทะเลสาบสงขลานั้น มีความยาวจากเหนือไปใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร

 

 

โพรงหินชายฝั่ง (Grotto) หรือถ้ำทะเล (Sea Cave, Marine Cave)

             หมายถึง ถ้ำที่เกิดขึ้นตามบริเวณชายฝั่งทะเล ซึ่งอาจเป็นชายฝั่งของผืนแผ่นดินใหญ่ หรือชายฝั่งของเกาะต่าง ๆ ก็ได้ ถ้ำชนิดนี้เกิดจากการกัดเซาะของคลื่นที่หินผาชายฝั่ง ทำให้เป็นช่องหรือเป็นโพรงลึกเข้าไปในช่วงแรกอาจเป็นเพียงช่องหรือโพรงขนาดเล็ก (Grotto) แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปนาน ๆ ก็กลายเป็นช่องหรือโพรงขนาดใหญ่มากขึ้น (Cave) ถ้าหากเป็นบริเวณหินปูนจะทำให้เกิดเป็นถ้ำขนาดใหญ่ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีการกระทำของน้ำฝนและน้ำใต้ดินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ปากถ้ำทะเลมักอยู่ตรงบริเวณที่มีน้ำขึ้นน้ำลงสูงสุดและต่ำสุด เพราะเป็นช่วงที่คลื่นสามารถกัดเซาะหินชายฝั่งได้ แต่ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลอันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก หรือเหตุอื่นใดก็ตามอาจทำให้บริเวณปากถ้ำอยู่สูง หรือต่ำกว่าระดับน้ำทะเลในปัจจุบันได้

 

ถ้ำลอด (Sea Arch)

                หมายถึง โพรงหรือถ้ำ อกทะเล ทั้งสองด้าน ถ้ำลอดที่มีชื่อเสียงเป็นแหล่งท่องเที่ยวของไทย คือ ถ้ำลอดที่เกาะทะลุในอ่าวพังงา และเขาช่องกระจก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 

สะพานหินธรรมชาติ (Natural Bridge)

               เป็นโพงหินชายฝั่ง ที่ทะลุออกทางทะเลทั้งสองด้าน คล้ายคลึงกับถ้ำลอดที่เกิดขึ้นบนเกาะ แต่สะพานหินธรรมราชจะเกิดบริเวณหัวแหลม ซึ่งมีการกัดเซาะทั้งสองด้านพร้อมกัน จนโพรงนั้นทะลุถึงก้น โดยหินส่วนที่เหลืออยู่เหนือโพรงจะมีลักษณะคล้ายสะพาน ตัวอย่างของสะพานหินธรรมชาติที่มีความสวยงามากแห่งหนึ่ง คือที่เกาะไข่ในอุทยานแห่งชาติทางทะเลหมู่เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล และเกาะทะลุปากน้ำชุมพร

 

เกาะหินโด่ง หรือเกาะหินชะลูด (Stack)

               หมายถึง เกาะโขดหินขนาดเล็กที่แยกออกจากผืนแผ่นดินใหญ่ หรือเกาะที่อยู่ใกล้เคียง เกิดจากแหลมหินที่ยื่นออกไปในทะเล และถูกคลื่นเซาะทั้ง 2 ข้างจนส่วนปลายแหลมที่ตัดออกเป็นเกาะลักษณะเหมือนปล่องเรือเรียงราย ตัวอย่างเกาะหินโด่งที่รู้จักกันดี คือ เขาตะปู ในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา

 

ชะวากทะเล (Estuary)

               คือ บริเวณส่วนล่างของปากแม่น้ำที่มีความกว้างมากกว่าปกติ จนมีลักษณะคล้ายอ่าว เป็นบริเวณที่มีการผสมกันระหว่างน้ำจืดกับน้ำทะเล เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเล ชะวากทะเลเป็นลักษณะหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเป็นชายฝั่งทะเลยุบจม ตัวอย่างชะวากทะเลของไทย คือ บริเวณปากแม่น้ำกระบุรี จังหวัดระยอง ปากแม่น้ำเวฬุ จังหวัดจันทบุรี และปากแม่น้ำชุมพร ซึ่งมีลักษณะของชะวากทะเลที่เด่นชัดคือ ปากน้ำกว้างและสอบแหลมเป็นรูปกรวยเกิดจากพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำยุบตัวลง

 

เกาะ (Island)

              หมายถึง ส่วนของแผ่นดินที่มีน้ำล้อมกรอบโดยตลอดและมีขนาดเล็กกว่าแผ่นดินที่เป็นทวีป อาจเกิดขึ้นจากการเกาะซัดของคลื่น และกระแสน้ำจนทำให้แผ่นดินบางส่วนถูกตัดขาดออกจากแผ่นดินใหญ่ เกิดจากการกระทำของภูเขาไฟในทะเล เกิดจากการดันของเปลือกโลกให้สูงพื้นน้ำ หรือเกิดจากการก่อตัวของปะการัง ถ้าจำแนกตามสถานที่ตั้งแล้ว เกาะจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

 

                   1.    เกาะริมทวีป (Continental Island) เป็นเกาะที่ตั้งอยู่ตามชายฝั่งทะเล หรือไม่ไกลจากแผ่นดินมากนัก เกาะริมทวีปส่วนใหญ่จะมีลักษณะทางธรณีวิทยาคล้ายคลึงกับแผ่นดินใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียง เนื่องจากเดิมเคยเป็นแผ่นดินเดียวกัน ต่อมาภายหลังจึงถูกตัดขาดแยกออกไปเพราะการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกหรือการกัดเซาะของคลื่นและกระแสน้ำ เช่น เกาะภูเก็ตและเกาะภูเขาหินปูนในอ่าวพังงา ซึ่งมีหลักฐานทางธรณีวิทยาบ่งชี้ว่าในอดีตเคยเป็นผืนแผ่นดินเดียวกับจังหวัดพังงา แต่ต่อมาถูกน้ำทะเลตัดขาดออกไป เกาะในประเทศไทยทั้งหมดจัดอยู่ในประเภทนี้ทั้งสิ้น

                   2.     เกาะกลางมหาสมุทร (Oceanic Island) เป็นเกาะที่ตั้งห่างจากทวีปมาก ๆ และโดยทั่วไปจะอยู่ในมหาสมุทร เกาะประเภทนี้จะถือ กำเนิดตามลำพังไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผืนแผ่นดินใหญ่ ได้แก่


ความสำคัญของชายฝั่งทะเล

          ชายฝั่งทะเลมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ามากมายต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมและนิเวศวิทยา อาทิ ป่าชายเลน ชายหาด ปะการังหญ้าทะเล สัตว์ทะเล และทรัพยากรประมงอื่นๆ ปัจจุบันพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ครอบคลุม 24  จังหวัดของประเทศไทยได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบต่าง ๆ กัน เช่น ใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ป่าไม้และป่าชายเลนพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ว่างเปล่าและพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่ได้จำแนกหมวดหมู่ไว้ลักษณะการใช้ที่ดินเหล่านี้ เป็นดัชนีหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพื้นฐานผลิตทางด้านเศรษฐกิจของพื้นที่ชายฝั่งทะเล ตัวอย่างเช่น พื้นที่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรกรรมมากจะส่งผลให้การเกษตรกรรมคือกิจกรรมเศรษฐกิจที่สำคัญ

          การใช้ที่ดินของพื้นที่ชายฝั่งทะเล มีลักษณะคล้ายพื้นที่บนบกกล่าวคือ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามแนวโน้มของการพัฒนาพื้นที่ตัวอย่างเช่น พื้นที่ชายฝั่งทะเลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มักจะมีการขยายตัวของชุมชนสูงและมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคส่งผลให้การใช้ที่ดินเปลี่ยนจากเดิมเป็นพื้นที่ชุมชน ที่อยู่อาศัย หรือพื้นที่พาณิชย์กรรม นอกจากนี้แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงที่ดินอื่น ๆ ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น การสร้างคอนโดมิเนียม บังกะโล บ้านพักตากอากาศ บ้านพักอาศัยตลอดจนการพัฒนาขบวนการขนส่งทางน้ำ เช่น การสร้างท่าเรือน้ำลึก ท่าเรือประมง เป็นต้น

          การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอันเนื่องมาจากการพัฒนาต่าง ๆ ดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดการบุกรุก และหากมีการใช้ประโยชน์ที่ดินผิดประเภท อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ชายฝั่งอย่างมากมายและต่อเนื่องจากได้


ปัญหาที่เกิดกับชายฝั่งทะเลของประเทศไทย

          ความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินชายฝั่งทะเลและเกิดการขยายตัวด้านโครงสร้างพื้นฐาน  อาทิ โครงการถมทะเลเพื่อพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลเป็นแหล่งท่องเที่ยว การแปรสภาพป่าชายเลนมาเป็นนากุ้งหรือนาเกลือ การสร้างบ้านพักอาศัย การสร้างท่าเทียบเรือ ต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่ทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศตามธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม บริเวณชายฝั่ง กล่าวคือ ส่งผลให้คุณภาพน้ำชายฝั่งทะเลเสื่อมโทรมลง ทรัพยากรสัตว์น้ำเริ่มมีปริมาณลดลงเนื่องจากการทำประมงผิดวิธี สภาพป่าชายเลนเสื่อมโทรมหรือถูกทำลายโดยผู้บุกรุก ปะการังถูกทำลาย เป็นต้น

          นอกจากนี้โครงการพัฒนาหรือการขยายตัวด้านโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว อาจทำให้สูญเสียดุลยภาพตามธรรมชาติของชายฝั่งด้วยอิทธิพลของกระแสน้ำ คลื่น ลม ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละฤดูกาล กล่าวคือ ส่งผลให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลบางบริเวณถูกกัดเซาะซึ่งอาจเป็นพื้นที่ชายหาด  แหล่งท่องเที่ยว หรือสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่ในทางตรงข้ามบางพื้นที่อาจเกิดการตกตะกอนดินทราย ทับถม ก่อให้เกิดการตื้นเขินหรือมีพื้นที่งอกออกมา ทำให้เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ และรัฐต้องเสียงบประมาณหรือค่าใช้จ่ายจำนวนมากในแต่ละปีในการขุดลอกบำรุงรักษาร่องน้ำ การก่อสร้างป้องกันและฟื้นฟูที่ชายฝั่งทะเลที่ถูกกัดเซาะ ตลอดจนแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการทำลายเศรษฐกิจของสังคมโดยส่วนรวม

          ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลได้ปรากฏอย่างเด่นชัดในบริเวณอ่าวไทยตอนบนครอบคลุมพื้นที่เป็นระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยองโดยมีระยะการกัดเซาะชายฝั่งเข้ามา ประมาณ 100 เมตรจากการสำรวจและตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ชายฝั่งทะเล บริเวณจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โดยความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่กรมอุทกศาสตร์และเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าระหว่างวันที่ 20-22 ตุลาคม 2541ที่ผ่านมานี้ พบว่าพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดเพชรบุรี บริเวณหาดชะอำ หาดเจ้าสำราญ แหลมผักเบี้ย และพื้นที่ชายทะเลหัวหินบริเวณหาดทรายใหญ่ และพระราชวังไกลกังวล ได้ประสบปัญหาการกัดเซาะอย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณแหลมผักเบี้ยมีสภาพของป่าชายเลนเสื่อมโทรมลงมาก ส่วนบริเวณพระราชนิเวศน์มฤคทายวันมีความแตกต่างไปจากเดิมคือ ขณะนี้มีการตกตะกอนทรายทับถมจนปรากฏเป็นพื้นที่งอกออกมาตลอดแนวชายฝั่งด้านหน้าของพระราชนิเวศน์ฯ มิได้ถูกกัดเซาะดังที่เคยปรากฏ  ดังนั้น ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของสภาพชายฝั่งเหล่านี้จึงมีความสำคัญและจำเป็นต้องทำการสำรวจ/ตรวจสอบ/ศึกษา/วิเคราะห์/วิจัย ถึงสาเหตุต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องทั้งด้านสมุทรศาสตร์ และด้านวิศวกรรมชายฝั่ง เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน


มาตรการแก้ไขปัญหา

          มาตรการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิศาสตร์หรือลักษณะของชายฝั่งทะเล และอิทธิพลของลมมรสุมประจำท้องถิ่น โดยทั่วไปอาจแบ่งมาตรการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลได้เป็น 2 แบบคือ

1. การจัดการทรัพยากรชายฝั่งที่เหมาะสม

               เป็นวิธใช้กับบริเวณชายฝั่งที่มีชุมชนไม่หนาแน่น และมีปัญหาการกัดเซาะไม่รุนแรง โดยการนำตะกอนทรายจากแหล่งอื่นมาถมที่ชายหาดเพื่อเสริมส่วนที่ถูกกัดเซาะไปให้มึสภาพเดิม ( Beach Nourishment ) และปลูกหญ้าหรือต้นไม้ขนาดเล็กชนิดที่มีรากยาวให้ช่วยยึดเกาะพื้นทรายให้แน่นขึ้นหรืออาจเสริมขนาดสันทรายริมชายฝั่งให้กว้างขึ้น และควบคุมสิ่งปลูกสร้างไม่ให้ชิดของฝั่งมากเกินไป

2. การแก้ไขปัญหาด้านวิศวกรรม

               เป็นการควบคุมปัญหาด้วยการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งในลักษณะต่างกัน ( Structurat Control ) เช่น กำแพงกัน คลื่นขนานกับฝั่ง ( Sea Wall ) การปูพื้นหาดด้วยหินหรือคอนกรีต ( Revetment ) แนวหินหัวหาดขนานกับชายฝั่ง ( Headland ) กำแพงกันคลื่นนอกชายฝั่ง ( Breakwater ) รอดักทรายตั้งฉากกับชายฝั่ง ( Groyne ) เป็นต้น

               อย่างไรก็ตาม การกำหนดมาตรการหรือแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับชายฝั่งทะเล จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจและความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายทั้งภาครัฐบาลและเอกชนในการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเหล่านี้อย่างจริงจัง  เพื่อกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการระดับชาติ อันจะส่งผลทำให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนสำหรับประเทศไทยสืบต่อไป


บรรณานุกรม

1. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่ง พ.ศ.2532
2. สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม.รายงานสถานการณ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลของประเทศไทย พ.ศ.2539-2540.
3. กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม. รายงานสรุปโครงการศึกษาสำรวจออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน  พ.ศ. 2539
Hosted by www.Geocities.ws

1