การแก้ไขปัญหายาเสพติดในโครงสร้างสังคมไทย

ร.ต.อ. อภิรัฐ พุ่มกุมาร*

ปัจจุบัน สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพราะผลจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ซึ่งมุ่งเน้นการแข่งขัน เพื่อสร้างความมั่นคงในด้านรายได้ ทำให้คนไทยมีความเป็นวัตถุนิยมมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมของคนในสังคม คือ การย่อหย่อนในศีลธรรม จริยธรรม ขาดระเบียบวินัย เกิดการเอารัดเอาเปรียบ จนส่งผลให้วิถีชีวิตและค่านิยมดั้งเดิมที่ดีงามในโครงสร้างสังคมไทยเริ่มจางหายไป พร้อม ๆ กับการล่มสลายของสถาบันครอบครัว ชุมชน และวัฒนธรรมท้องถิ่น กลายเป็นประเทศที่มีความเจริญทางวัตถุ แต่เกิดความเสื่อมทางจิตใจและค่านิยม ซึ่งผลจากการพัฒนาประเทศที่ขาดความสมดุลในลักษณะ “เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน” ดังกล่าว ทำให้ภูมิคุ้มกันด่านแรกที่จะต้านทานกับปัญหายาเสพติดขาดความมั่นคง การขยายตัวของปัญหาจึง เป็นไปอย่างรวดเร็วและทวีความรุนแรงมากขึ้น กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวงจรของปัญหา คือ ผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้เสพยาเสพติด เพิ่มขึ้นทั้งในแง่ของจำนวนและความหลากหลาย กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มของปัญหาสังคมที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยในขณะนี้

ปัญหายาเสพติด ถือเป็นปัญหาร้ายแรงซึ่งบั่นทอนเสถียรภาพของประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง เพราะนอกจากจะทำลายสุขภาพอนามัยของผู้เสพแล้ว ยังมีผลทำให้ประเทศต้องสูญเสียทรัพยากรและกำลังบุคคลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งก่อให้เกิดอาชญากรรม ตลอดจนทำลายวัฒนธรรมอันดีงามของสังคม จึงนับได้ว่า ยาเสพติดเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจากข้อมูลที่ได้มีการติดตามประเมินผลทำให้ทราบว่า ผู้ติดยาเสพติดเดิมที่ได้รับการรักษาหายแล้วมักจะหวนกลับมาเสพยาเสพติดซ้ำ สมทบกับผู้เสพรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีสิ้นสุด ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีผู้ติดยาเสพติดเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เป็นที่ทราบว่า ที่ผ่านมาปัญหายาเสพติดได้กระจายตัว และสร้างความเดือดร้อนอย่างกว้างขวางทั้งต่อส่วนรวมและส่วนบุคคล โดยต่อส่วนรวม ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอันเป็นการบ่อนทำลายทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้บั่นทอนประสิทธิภาพในการผลิต สูญเสียแรงงานโดยไร้ประโยชน์ เกิดผลกระทบต่อ

-----------------------------------

* นักศึกษาปริญญาเอก สาขาบริหารสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รายได้ของบุคคลและประเทศชาติ ความเสียหายที่เกิดแก่สังคม ได้แก่ การเกิดอาชญากรรมต่าง ๆ และ

ความไม่สงบภายในประเทศ ส่วนผลร้ายต่อร่างกายของผู้เสพ สร้างผลกระทบใน 2 ด้าน คือ ผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ทำให้ร่างกายทรุดโทรม สูญเสียบุคลิกภาพและเกิดโรคติดต่อที่ร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา ส่วนผลกระทบอีกด้านหนึ่งจะทำลายผู้เสพให้กลายเป็นคนไร้สมรรถภาพ ทำลายโอกาสในการพัฒนาตนเองเพื่อที่จะทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมและสังคม รวมทั้งยังเป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคมที่จะต้องดูแล นับเป็นการสร้างความสูญเสียเพิ่มมากขึ้นจากเดิมให้แก่ประเทศชาติ

ปัญหายาเสพติดนั้น ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาที่เกิดมานานแล้ว และเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เนื่องจากผลของปัญหายาเสพติดจะส่งผลต่อเนื่องกับปัญหาอาชญากรรมด้านอื่น ๆ ที่กระทบถึงกันเป็นลูกโซ่ โดยลักษณะของปัญหาจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งชนิดของสารและลักษณะของประชากรที่เสพติด ซึ่งจากอดีตที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาได้เพิ่มพูนความสลับซับซ้อนมากขึ้น และแม้ว่าการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจะมีสถิติผู้ถูกจับกุมสูง แต่เป็นเพียงผู้ค้ายารายย่อยและผู้เสพยา บุคคลกลุ่มนี้เมื่อถูกจับกุมก็มักจะถูกลงโทษจำคุก 6 เดือนบ้าง 9 เดือนบ้าง และเมื่อออกจากเรือนจำแล้วต่างก็กลับมาใช้ยาเสพติดอีก แล้วไม่ช้า ก็ถูกจับมาอีก วนเวียนเช่นนี้เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด กลายเป็นปัญหาสังคมที่ยากจะแก้ไข

ยาเสพติดก่อให้เกิดปัญหาสังคมที่เห็นได้ชัดเจน คือ ด้านสุขภาพอนามัยของผู้ที่เสพยาเสพติดเพราะผลของยาเสพติดจะมีฤทธิ์ทำให้ผู้เสพมีสุขภาพที่เสื่อมโทรม ไม่มีกำลังกาย กำลังความคิดที่จะ ทำมาหากินอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม ครอบครัว และต่อตนเอง กลับกลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่ไร้คุณค่า นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดปัญหาด้านอาชญากรรม กรณีเมื่อมีความต้องการยาเสพติดมาเสพ แต่ไม่มีเงินทองที่จะไปซื้อหามาได้ ก็จะคิดประกอบอาชญากรรมประเภทประทุษร้ายต่อทรัพย์ เพื่อให้ได้เงินมาใช้ในการซื้อหามาเสพสนองความต้องการ และปัญหาทางด้านสังคมอีกประการหนึ่ง คือ ผู้เสพยาเสพติดที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนตามสถานศึกษาต่าง ๆ ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะไม่สนใจในการศึกษาเพราะฤทธิ์ของยาเสพติดจะบั่นทอนกำลังกายและกำลังความคิดในการศึกษาหาความรู้ และสุดท้ายก็จะไม่ต้องการที่จะเรียนหนังสืออีกต่อไป กลายเป็นทรัพยากรบุคคลของชาติในอนาคตที่ไร้คุณค่า

นอกจากยาเสพติดจะเป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและเยาวชนของชาติแล้ว ยังก่อให้เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากความเสื่อมประสิทธิภาพของผู้ติดยาที่ไม่สามารถทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติได้เท่าที่ควร ซ้ำยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมส่วนรวมในรูปของอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น และความสูญเสียเงินตราในรูปของงบประมาณที่สังคมต้องสูญเปล่าไปเพื่อปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดและอาชญากร รวมทั้งเพื่อบำบัดรักษาผู้ติดยา นอกจากนี้ ยังมีความสูญเสียของสังคมในรูปของการจ่ายเงินสินบนแก่เจ้าหน้าที่ เพื่อให้ธุรกิจดังกล่าวดำเนินไปได้ซึ่งการทำความเข้าใจและยอมรับปัญหาในโครงสร้างสังคมไทยในประเด็นหลังนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเข้าใจถึงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรบุคคลของสังคมเพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด

ปัญหายาเสพติดนี้ ได้รุกเข้าไปคุกคามถึงในครอบครัว สถานที่ทำงาน และสถาบันการศึกษาดังที่กล่าวมา ยังผลร้ายต่อบรรดาปัจเจกบุคคลทุกวัยและทุกชั้น นอกเหนือจากการทำลายล้างผลาญมนุษยชาติ อันมีสาเหตุจากการตกอยู่ภายใต้การครอบงำของยาเสพติด แล้วยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อค่านิยมดั้งเดิม ต่อแบบแผนของชีวิต และเศรษฐกิจของประเทศ ยาเสพติดได้กลืนกินสิ่งสำคัญยิ่งของสังคมไปแล้ว นั่นคือ สถาบันครอบครัว ที่นับวันจะมีความอ่อนแอไม่สามารถต้านทานภัยใด ๆ ได้

ภัยจากยาเสพติด จึงกลายเป็นภัยร้ายแรงที่มิใช่จะเกิดภายในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นปัญหาซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกที่ และความเจริญด้านวัตถุ เทคโนโลยี ไม่สามารถจะหยุดยั้งการแพร่กระจายของปัญหานี้ได้ อีกทั้ง การปราบปรามก็เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งไม่อาจทำลายเครือข่ายขบวนการค้ายาเสพติดได้อย่างถาวร แหล่งบริโภคที่แสดงความต้องการในแบบของอุปสงค์ (Demand) ก่อให้เกิดการสนองตอบด้วยการผลิตในแบบของอุปทาน (Supply) ที่ไม่มีวันสิ้นสุด การแพร่ระบาดของปัญหายาเสพติดจึงได้กระจายไปสู่กลุ่มบุคคลทุกพื้นที่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกร พ่อค้า ประชาชน ตลอดจนนิสิตนักศึกษาที่มีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น และขบวนการค้ายาเสพติดได้มีการพัฒนารูปแบบการขายผ่านระบบเครือข่ายของผู้ค้าเอง ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้มีความเข้มแข็ง มีการปรับกลยุทธ์อยู่ตลอดเวลา ทั้งยังมีสมาชิกมากขึ้นในทุกระดับ รวมไปถึงผู้นำท้องถิ่น จนถึงนักการเมืองระดับประเทศ ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลธรรมดา พวกเขาเหล่านี้จะทำการค้าสิ่งผิดกฎหมาย โดยใช้กลยุทธ์เชิงรุกในการเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ในระดับของบุคคล ที่แตกต่างกันไปด้วยความรวดเร็ว จนอาจกล่าวได้ว่า ขบวนการค้ายาเสพติดที่เกิดขึ้นในสังคมไทยจะไม่สามารถเอาชนะได้ด้วยสายการบังคับบัญชา และโครงสร้างระบบราชการไทยในปัจจุบัน ที่การทำงานไม่มีความยืดหยุ่น และล่าช้า การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดส่วนใหญ่ถูกดำเนินการโดยปัจเจกบุคคลที่ทำงานเพื่อหวังตำแหน่งราชการ หรือเนื่องจากได้รับคำสั่ง นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาขาดความต่อเนื่องในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะถูกโอนย้ายไปรับตำแหน่งใหม่เสมอ

ปัญหายาเสพติดจึงเป็นปัญหาร่วมของหลายปัญหา ดังนั้น จึงต้องการแผนงานด้านการป้องกันซึ่งมีลักษณะร่วม ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมที่แตกต่างกัน หรือจากองค์การต่าง ๆ ในสังคม การป้องกันยาเสพติดที่มีประสิทธิผลต้องอาศัยการให้การศึกษาเป็นหลักสำคัญ ทั้งยังต้องการกิจกรรมต่าง ๆ ที่กว้างขวาง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้กลวิธีทั้งหมด หรือจากกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เข้าใจและมองเห็นได้ดียิ่งขึ้น คำว่า“การป้องกัน” ย่อมต้องการแนวความคิดที่จะนำไปสู่กลวิธีของการปฏิบัติ รวมทั้งกิจกรรมนานาประการที่ภาครัฐบาลและเอกชนจะต้องร่วมมือกันดำเนินการ ซึ่งผู้เขียนขอให้ความหมายของนโยบายการป้องกันในกรณีของปัญหายาเสพติดว่า ต้องเป็นนโยบายที่ช่วยผดุงให้ประชากรมีสุขภาพที่ดี และกระตุ้นเร่งเร้าชุมชนให้พัฒนาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และเปลี่ยนแปลงสภาพต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งจะช่วยให้ปัจเจกบุคคลสามารถแก้ไขปรับปรุงเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

การป้องกันยาเสพติด จึงไม่ควรให้เป็นหน้าที่รับผิดชอบขององค์การใดองค์การหนึ่งโดยลำพัง มิใช่ภาครัฐบาลหรือภาคเอกชนทำไปอย่างโดดเดี่ยว หากแต่ต้องการความเชื่อมโยงในการประสานการปฏิบัติและขอบข่ายที่แข็งแกร่ง งานนี้ต้องการความร่วมมือร่วมใจและการมีส่วนร่วมเข้าเคียงข้าง ระหว่างองค์การต่าง ๆ กลุ่มประชาชนในชุมชน บิดามารดา ผู้ปกครอง และเยาวชน ซึ่งการจะหยุดยั้งปัญหายาเสพติดได้นั้น จำต้องใช้พลังทั้งมวลที่มีอยู่ในสังคมเข้าไปพัฒนาสถาบันพื้นฐานทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันครอบครัวและชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถต้านทานการแพร่ระบาดของยาเสพติด รวมทั้งการสร้างและปลูกฝังจิตสำนึกและอุดมการณ์ของบุคคล หน่วยงาน และองค์กร ให้หันกลับมาร่วมรับผิดชอบต่อสังคมที่กำลังถูกบ่อนทำลาย ควบคู่กับการผนึกกำลังทั้งภาครัฐและประชาชน เข้าทำลายโครงสร้างเครือข่ายอิทธิพลและผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ผลิตและผู้ค้ายาเสพติดให้หมดสิ้นไปในที่สุด ทั้งนี้ แม้ว่าปัญหายาเสพติดจะเป็นปัญหาที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ตามกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่ก็น่าจะเป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขให้บรรเทาเบาบางลงได้ ถ้าทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันทำอย่างเป็นกระบวนการทุกขั้นตอนที่ต่อเนื่องเป็นระบบ

ยาเสพติด จึงต้องเปรียบเสมือนเป็นเชื้อโรคร้ายแรงชนิดหนึ่ง ที่ทำลายคุณภาพชีวิตของคนในสังคม แต่หากว่าคนและชุมชนมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง เชื้อโรคร้ายแรงนี้ก็ไม่สามารถทำอันตราย หรือก่อปัญหาให้เกิดขึ้นได้ และในที่สุดมันก็จะพ่ายแพ้สูญสลายไปเอง ดังนั้น การส่งเสริมให้คนและชุมชน “รู้จักคิดเป็น ตระหนักร่วม” เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตนเองหรือกลุ่ม ในอันที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้พอเพียง ก็จะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ถูกต้องในแบบของบูรณาการนั่นเอง

การบริหารงานสังคมด้วยนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้โครงสร้างสังคมไทยในปัจจุบัน จึงมีจุดกำเนิดมาจากแนวคิดนี้ เมื่อรัฐเริ่มเล็งเห็นว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ในสังคม ที่กัดกร่อนสังคมจากภายในประเทศ เป็นปัจจัยภายในที่มีส่วนทำลายความมั่นคงของชาติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากร โดยเฉพาะทรัพยากรบุคคลซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ผู้มีอำนาจตัดสินใจกำหนดนโยบาย ได้ตระหนักถึงสภาพปัญหาจากภัยร้ายแรงของยาเสพติด ซึ่งแพร่กระจายและก่อให้เกิดปัญหาสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม อันเนื่องมาจากผลกระทบเป็นลูกโซ่จากการกระทำของ ผู้เสพ ผู้ค้า และผู้ผลิต ที่รุมล้อมทำร้ายองค์ประกอบรวม ของโครงสร้างสังคมทั้งระบบ แนวทางและวิธีสู่การปฏิบัติจึงถูกเลือกสรรกำหนดขึ้นเป็นยุทธศาสตร์ เพื่อแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาไม่ให้ลุกลามรุนแรงมากขึ้นไปกว่าปัจจุบัน หรือลดน้อยลงไป จนกว่าจะสามารถควบคุมการแผ่ขยายของยาเสพติดให้อยู่ในกรอบที่ต้องการ หรือสูญสลายไป ดังนี้ ภาครัฐจึงได้ปรับแนวคิด ทัศนคติ โดยถือว่า ประชาชน ชุมชน เป็นศูนย์กลาง และรัฐจะเข้าไปมีบทบาทในการสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดการคิด การตัดสินใจ เพื่อหาวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของประชาชนในชุมชนนั้น ๆ ได้ด้วยตนเอง

ภาครัฐและองค์การพัฒนาเอกชน จึงต้องมีบทบาทกระตุ้นให้ชุมชนตระหนักในความสำคัญถึงผลกระทบของปัญหา และจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ด้วยการสนับสนุนสิ่งที่ขาดแคลน และปฏิบัติร่วมในมาตรการทางกฎหมาย การให้ความรู้ และเทคนิคเฉพาะด้าน เพื่อเปิดโลกทัศน์ในมุมมอง ที่กว้างให้แก่ประชาชน ชุมชน ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด นอกจากนี้ คน ชุมชน ซึ่งเป็นผู้รับปัญหาโดยตรง จะต้องมีบทบาทในการเป็นเจ้าของปัญหา ผู้แก้ไขปัญหา ผู้ประสานความร่วมมือ และสามารถมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผลความสำเร็จได้ด้วยตนเอง คือ จะต้องมีสำนึกในการพึ่งตนเองด้วยอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจะทำให้แนวทางการดำเนินงานด้วยวิธีการนี้ประสบความสำเร็จ

ในการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนนั้น จะต้องเริ่มตั้งแต่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามารับรู้ถึงปัญหา และหาวิธีการ แนวทาง แก้ไข โดยร่วมกันตัดสินใจ วางแผน จนถึงขั้นตอนการปฏิบัติตามโครงการ กิจกรรม ต่าง ๆ รวมทั้งการติดตามประเมินผล ดังนี้ จะเห็นได้ว่าแนวคิดเรื่องการรวมตัวกันของประชาชนในสังคมเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งมีผลต่อตนเอง ครอบครัว กลุ่ม ชุมชน สังคม และประเทศชาติ จะเป็นพลังสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาไปสู่เป้าหมาย สถาบันทางสังคมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะครอบครัว วัด โรงเรียน สื่อมวลชน จึงต้องมีบทบาทสนับสนุนชุมชน รวมทั้งเป็นผู้กระตุ้น ติดตาม ตรวจสอบการทำงานร่วมกัน ซึ่งผู้เขียนขอสรุปประเด็นการดำเนินงานตามแนวทางนี้เป็น 2 ระบบ คือ

1. การใช้ระบบการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

โดยสร้างความเข้มแข็ง และส่งเสริมบทบาทของสถาบันในสังคม โดยเฉพาะสถาบันทางศาสนา การศึกษา ครอบครัว และชุมชน ให้ตระหนักถึงปัญหา การมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดภายใต้พื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม มีการประสานและผนึกกำลังระหว่างองค์การภาครัฐ องค์การภาคเอกชน องค์การพัฒนาภาคเอกชน และองค์การประชาชนในการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของสมาชิกในองค์การต่าง ๆ ให้มีการเรียนรู้ร่วมกันถึงปัญหา และร่วมกันดำเนินกิจกรรมที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งของการดำเนินงานในสถานศึกษา ด้วยรูปแบบที่ผสมผสานความร่วมมือของบุคลากรทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา เร่งรัดและขยายการดำเนินงานปราบปรามยาเสพติดของหน่วยงานปราบปรามให้ครอบคลุมทั้งผู้ค้ารายใหญ่และผู้ค้ารายย่อย พัฒนาระบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ ระบบสมัครใจ ระบบต้องโทษ และระบบบังคับบำบัด โดยเน้นที่คุณภาพบริการ และการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชนในการป้องกันการติดยาเสพติดซ้ำ ส่งเสริมให้สมาชิกในสังคมได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา ตลอดจนรับรู้ถึงการดำเนินงาน ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงการเชื่อมโยงระหว่างสถานการณ์ สภาพปัญหา และการแก้ไขปัญหาในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

2. การปรับระบบการบริหารจัดการเพื่อให้มีการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล

โดยปรับกระบวนการวางแผน ด้วยการกระจายการมีส่วนร่วมในการวางแผนลงไปในระดับภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชน เพื่อให้มีการวางแผนที่สอดคล้องกับปัญหา ความต้องการ และศักยภาพของแต่ละพื้นที่ชุมชน พัฒนากระบวนการและกลไก กฎระเบียบต่างๆ ให้ส่งเสริมและสนับสนุน การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดขององค์การพัฒนาภาคเอกชน องค์การเอกชน และองค์การประชาชน พัฒนาระบบการบริหารจัดการที่สามารถประสานและสนับสนุนการดำเนินงานในลักษณะแผนงานร่วมของฝ่ายต่าง ๆ ให้สามารถผนึกกำลังการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับบุคลากร ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยสนับสนุนในด้านขวัญและกำลังใจในการทำงาน

การดำเนินงานป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามแนวทางบูรณาการปัญหาดังกล่าว ซึ่งปฏิบัติตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 141/2541 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 เรื่องนโยบายดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา แม้ว่าจะประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่หากพิจารณาโดยภาพรวมกลับดูเหมือนว่านอกจากปัญหาจะไม่มีแนวโน้มลดลงแล้ว ยังกลับปรากฏว่าปัญหายาเสพติดมีการขยายตัวรุนแรงมากขึ้น บางปัญหาก็เป็นปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นในลักษณะของผลกระทบจากการดำเนินงาน บางปัญหาเป็นผลพวงมาจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือความเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมที่ทำให้คนรู้สึกขาดที่พึ่งพิง เมื่อเกิดปัญหาหาทางออกไม่ได้จึงหันไปใช้ยาเสพติด หรือแม้แต่ระบบการเมืองและกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้เกิดช่องว่างในการแสวงหาผลประโยชน์จากกระบวนการค้ายาเสพติด ตลอดจนการใช้อิทธิพลในทางที่ผิด

แนวคิดในการบูรณาการปัญหาด้วยการแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่ายดังกล่าว ดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่มีโครงสร้างเข้มแข็ง เพราะแม้แต่รัฐบาลชุดปัจจุบัน ฯพณฯ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ยังได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 119/2544 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 เรื่องแนวทางการใช้พลังแผ่นดินเพื่อเอาชนะยาเสพติด เพื่อกำกับการปฏิบัติระดับประเทศอีกครั้ง ซึ่งได้กำหนดนโยบายสำคัญเร่งด่วนในการแก้ปัญหายาเสพติดโดยใช้หลักการป้องกันนำหน้าการปราบปราม โดยผู้เสพต้องได้รับการบำบัดรักษา ผู้ค้าต้องได้รับการลงโทษอย่างเด็ดขาดรวมทั้ง ได้มีการระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยวิธีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ระดมความคิดเพื่อกำหนดแนวทางในการเอาชนะยาเสพติด ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานการณ์ปัจจุบันจะต้อง คิดใหม่ ทำใหม่ โดยทุกองคาพยพในสังคมจะต้องผนึกกำลังร่วมกันให้เป็นพลังแผ่นดินเพื่อเอาชนะยาเสพติดให้ได้โดยเร็ว การดำเนินงานตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนองตอบตามนโยบายรัฐบาล จึงทำให้มีการประสานการทำงานระหว่างหน่วยงาน ในทุกขั้นตอนกระบวนการจนเกิดความสอดคล้องก่อให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมในด้านหนึ่ง

นโยบายการบริหารงานสังคมด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแนวทางของรัฐบาลยุคปัจจุบันจึงมีรูปแบบการดำเนินงานที่ต้องยึดพื้นที่เป็นหลักในปฏิบัติการต่าง ๆ โดยเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และสนับสนุนให้ทุกฝ่ายเข้ามามีบทบาทในการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง และให้ความสำคัญแก่การป้องกัน โดยเน้นการสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชน เพื่อลดอุปสงค์ด้านยาเสพติด ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยา และการปราบปรามอย่างเฉียบขาดจริงจัง เพื่อลดอุปทานไปพร้อมกัน ดังนั้น การป้องกัน จึงดีกว่าการรักษาและการป้องกันไม่ควรจะเป็นวิธีการที่ใช้โดยลำพังอย่างเดียว แต่ควรจะดำเนินงานควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์การบำบัดรักษาและฟื้นฟูจิตใจด้วย

การดำเนินงานในพื้นที่เป้าหมายด้วยวิธีการดังกล่าว จึงถือเป็นยุทธวิธีสำคัญในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งการที่จะได้ผลการปฏิบัติทั้งหมดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญ เข้าใจในตัวปัญหา และทราบถึงสาเหตุ รวมถึง วิธีการป้องกันแก้ไขตลอดจนเทคนิคต่าง ๆ ที่จำเป็นในการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์สอดคล้องเป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ จะต้องมีข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ วางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหา มีการติดตามงานและมีเครื่องชี้วัดความสำเร็จ ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรและการพัฒนาระบบข้อมูล จึงเป็นมาตรการเสริมสำคัญประการหนึ่งที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ควบคู่ไปกับมาตรการหลักในการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับชนทุกหมู่เหล่าในสังคม

ชุมชนบำบัดในรูปแบบของการช่วยตนเอง หรือลักษณะคนช่วยคนเพื่อให้เขาช่วยตนเองได้ จึงทำหน้าที่เป็นตัวกลางสำหรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม ซึ่งแนวคิดนี้ครอบคลุมไปถึงหลักมนุษยธรรมขั้นพื้นฐาน เช่น ความรัก ความหวัง ความเห็นอกเห็นใจ และความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ติดยาเสพติดที่ถือเป็นคนป่วยได้กลับเข้าสู่สังคมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเคารพและเชื่อมั่นในตนเอง และจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความพร้อมเพรียงในการสนองความต้องการของกลุ่มชุมชน และปณิธานที่เกี่ยวข้องทางสังคม

สำหรับบทสรุป และข้อเสนอแนะ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในโครงสร้างสังคมไทย ตามหัวข้อบทความนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกองค์การภายในประเทศจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการแก้ไข ป้องกัน สร้างภูมิคุ้มกัน และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดที่ถือเป็นยุทธศาสตร์ ที่จะต้องดำเนินงานให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในแบบบูรณาการ การใช้ทรัพยากรชุมชนให้เกิดประโยชน์ ควรมีการจัดตั้งเครือข่ายและจุดเชื่อมโยงในกลุ่มทรัพยากรชุมชนให้มีการบริหารทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ และทิศทางของการแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนาคตจะต้องมีความสอดคล้อง เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ดังนี้

1. ระดับมหภาค

 

1.1 ต้องมีการจำแนกเป็นประเด็นไป ต้องมีวิธีการแก้ไขเฉพาะกลุ่ม และในอนาคตต้องพิจารณาวางแผนแก้ไขปัญหายาเสพติดแต่ละประเภท โดยเจาะลึกไปว่า แผนการแก้ไขปัญหายาเสพติดประเภทใด กลุ่มไหน จะทำอย่างไร

1.2 ระดมความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การประชาชน เข้าแก้ไขปัญหา ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องทำงานสอดคล้องประสานสัมพันธ์กัน ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างทำ และรัฐจะต้องให้การสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชน และกระตุ้นให้องค์การประชาชนเกิดการรวมตัวกันเป็นรูปแบบที่ถาวรและต่อเนื่อง

1.3 ส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากสถาบันทางสังคม

1.4 ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ

2. ระดับจุลภาค

เน้นการแก้ไขปัญหาของแต่ละตัวบุคคล ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง คือ

2.1 สถาบันครอบครัว

2.2 สถาบันทางสังคม ได้แก่ ชุมชน โรงเรียน ศาสนา สถานประกอบการ และอื่น ๆ

2.3 องค์การภาคเอกชน

2.4 อาสาสมัคร ซึ่งควรให้มีการอบรมจิตสำนึก

2.5 สื่อมวลชน

 

นอกจากนี้ การดำเนินงานของทุกกลุ่มควรใช้หลักวิชาการ และร่วมมือกันทุกงานทุกฝ่ายในลักษณะ Social Integration และการดำเนินงานแบบสหวิชาชีพ คือ ร่วมแก้ไขปัญหากันเป็นกลุ่มในหลายระดับ ทั้งการวางแผนงานและระดับนโยบาย โดยสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและประเมินผล ดังนั้น การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนาคต จึงสมควรที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Solidarity) ในการทำงานอย่างจริงจัง จริงใจ และต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานเพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดสัมฤทธิ์ผลบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้

 

 


 

บรรณานุกรม

 

กำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน, กอง. กองบัญชาการตำรวจนครบาล. การจัดสภาแวดล้อมเพื่อ

ป้องกันอาชญากรรม และยาเสพติดในสถานศึกษา. กรุงเทพมหานคร, 2543.

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 119/2544 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 เรื่อง แนวทางการใช้พลัง

แผ่นดินเพื่อเอาชนะยาเสพติด. (อัดสำเนา)

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 141/2541 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 เรื่อง นโยบายดำเนินงาน

ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด. (อัดสำเนา)

ชวลิต ยอดมณี และคนอื่น ๆ. รายงานการวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ของการติดยาเสพติดกับการก่อ

อาชญากรรม. กรุงเทพมหานคร : สำนักงาน ป.ป.ส., 2534.

ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ กุสุมา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา. สิ่งแวดล้อมกับความมั่นคง : ความมั่นคงของรัฐ

กับความไม่มั่นคงของราษฎร. สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : บริษัท พี เพรส จำกัด, 2535.

ตำรวจ, กรม. แผนป้องกันปราบปรามยาเสพติด. กรุงเทพมหานคร : กองบัญชาการตำรวจปราบปราม

ยาเสพติด, 2540.

 

บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด, กอง. ยาบ้า ยาอี อันตราย. กรุงเทพมหานคร : กองบัญชาการ

ตำรวจปราบปรามยาเสพติด, 2540.

แผนกรมตำรวจแม่บท ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2540-2544). สำนักงานแผนงานและงบประมาณ กรมตำรวจ

(30 กันยายน 2539) : 126-136.

แผนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (พ.ศ.2530-2534), (พ.ศ.2535-2539),

(พ.ศ.2540-2544). คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด.

วิเคราะห์วัตถุเสพติด, กอง. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. สถานการณ์ยาม้าใน

สถานศึกษา (ตุลาคม 2538-กุมภาพันธ์ 2539). กรุงเทพมหานคร, 2540.

สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. สถานการณ์ยาเสพติดและการลดความ

ต้องการยาเสพติดในประเทศไทย. กรุงสยามพริ้นติ้ง กรุ๊พ, 2538.

อัมมาร สยามวาลา และ ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์. “บทบาทของการลักลอบค้ายาเสพติดใน

เศรษฐกิจไทย,” วารสารเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ 10 (มีนาคม 2535) : 5-40.

อำนวย อินทุภูติ. สภาสังคมสงเคราะห์ ฯ กับการแก้ไขปัญหายาเสพติด. สภาสังคมสงเคราะห์ ฯ

ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2544.

 

 

BACK

 

Hosted by www.Geocities.ws

1