การพัฒนาหลักสูตรในระดับโรงเรียน

วันเพ็ญ จันทร์เจริญ*

การจัดการศึกษานอกจากจะต้องสอดคล้องกับหลักสูตรระดับชาติแล้ว ยังจะต้องสอดคล้องกับสภาพ ปัญหา และความต้องการของท้องถิ่นด้วย เพื่อให้ผู้เรียนมีความรัก ความผูกพัน ความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน ดำรงชีวิตในท้องถิ่นได้อย่างมีความสุข ช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นของตนให้เจริญได้ แต่เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นมีอาชีพ สภาพภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม ประเพณี เศรษฐกิจ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ รวมทั้งปัญหาและความต้องการของคนในท้องถิ่นที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในแต่ละชุมชนหรือท้องถิ่น ต่อการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่นของตน เพื่อช่วยเสริมเพิ่มเติมความสมบูรณ์ของการเรียนรู้ในส่วนที่หลักสูตรแม่บทมิอาจกระทำได้ ดังที่ได้กำหนดไว้ใน มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ว่า “…ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตร…ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ” การพัฒนาหลักสูตรในระดับโรงเรียนมีหลักการและวิธีดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้

ความหมายของการพัฒนาหลักสูตร

เซเลอร์และอเลกซานเดอร์ (Saylor and Alexander 1974 : 7) ได้ให้ความหมายของการพัฒนาหลักสูตร (curriculum development)ว่าหมายถึง การจัดทำหลักสูตรเดิมที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น หรือเป็นการจัดทำหลักสูตรใหม่โดยไม่มีหลักสูตรเดิมอยู่ก่อน การพัฒนาหลักสูตรอาจหมายรวมถึงการสร้างเอกสารอื่น ๆสำหรับนักเรียนด้วย

คำว่า การพัฒนาหลักสูตร นอกจากจะใช้คำภาษาอังกฤษว่า curriculum development แล้วยังใช้คำอื่น ๆอีก ดังนี้

curriculum improvement การปรับปรุงหลักสูตร

curriculum change การเปลี่ยนแปลงหลักสูตร

 

-----------------------------------

* อาจารย์โปรแกรมวิชาการประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏสกลนคร

curriculum revision การแก้ไขปรับปรุงหลักสูตร

curriculum construction การสร้างหลักสูตร

curriculum design การออกแบบหลักสูตร

คำศัพท์ข้างต้นนี้ อาจมีความหมายแตกต่างกันเล็กน้อยในรายละเอียด แต่โดยส่วนรวมแล้ว การพัฒนาหลักสูตร จะมีความหมายกว้างกว่าคำอื่น ๆ ตรงที่ การพัฒนาหลักสูตรนั้น เน้นการจัดทำหลักสูตรให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นหรือเป็นการจัดทำหลักสูตรขึ้นมาใหม่โดยไม่มีหลักสูตรเดิมมาก่อนก็ได้

ระดับของหลักสูตร

หลักสูตรมีหลายระดับ โดยทั่วไปแล้วแบ่งได้ 3 ระดับ ดังนี้

1. หลักสูตรระดับชาติหรือหลักสูตรแม่บท หลักสูตรระดับชาติเป็นหลักสูตรที่จัดทำขึ้นเพื่อให้สถานศึกษาต่าง ๆ ใช้ร่วมกันทั้งประเทศ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความเจริญงอกงาม มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับวัย ระดับการศึกษา สร้างความมั่นคงและความเป็นปึกแผ่นร่วมกันของคนในชาติ องค์ประกอบต่าง ๆ ของหลักสูตรระดับชาติจึงจัดทำไว้อย่างกว้าง ๆ เพื่อความสะดวกในการนำไปใช้ โดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้จัดทำขึ้น

2. หลักสูตรระดับท้องถิ่น เป็นหลักสูตรที่ปรับปรุงมาจากหลักสูตรแม่บทเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพ ความจำเป็น หรือความต้องการของท้องถิ่น หน่วยงานที่มีบทบาทในการพัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่น ได้แก่ เขตการศึกษาต่าง ๆ จังหวัด อำเภอ กลุ่มโรงเรียน เป็นต้น

3. หลักสูตรระดับโรงเรียน เป็นหลักสูตรที่นำหลักสูตรแม่บทและหลักสูตรระดับท้องถิ่น มาพิจารณาเลือกสรรและปรับให้เหมาะกับสภาพโรงเรียน ผู้จัดทำหลักสูตรระดับนี้ ได้แก่ ผู้บริหารและครูในโรงเรียน หลักสูตรระดับโรงเรียนจะบรรลุตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรได้ดีเพียงใด ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนที่จะสามารถพัฒนาแผนการเรียนการสอนได้มากน้อย เพียงใด

เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องพัฒนาหลักสูตรระดับโรงเรียน

แม้ว่าจะมีหลักสูตรแม่บทและหลักสูตรระดับท้องถิ่นแล้ว แต่ก็ยังต้องพัฒนาหลักสูตรระดับโรงเรียนขึ้น โดยมีเหตุผลและความจำเป็น ดังนี้

1. หลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรท้องถิ่น ได้กำหนดจุดหมาย เนื้อหาสาระ และกิจกรรมอย่างกว้าง ๆ เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้คล้ายคลึงกัน ทำให้กระบวนการเรียนการสอนมุ่งเนื้อหาสาระและประสบการณ์ที่เป็นหลักการทั่ว ๆไป ไม่สามารถประมวลรายละเอียดเกี่ยวกับสาระความรู้ตามสภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ ปัญหา และความต้องการของท้องถิ่นในแต่ละโรงเรียนได้ทั้งหมด จึงต้องพัฒนาหลักสูตรระดับโรงเรียนขึ้น

2. การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีผลกระทบต่อทรรศนะและวิถีชีวิตของคนไทยทั้งในเมืองและในชนบท จึงต้องมีหลักสูตรระดับโรงเรียนขึ้นเพื่อปรับสภาพของผู้เรียนให้สามารถรับกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ดังกล่าวได้ สามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปพัฒนาตน ครอบครัว ชุมชน รวมทั้งสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในท้องถิ่นของตนอย่างมีความสุข

3. การเรียนรู้ที่ดีควรเรียนรู้จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวไปหาสิ่งที่อยู่ไกลตัว เพราะเป็นกระบวนการเรียนรู้

ที่ผู้เรียนสามารถดูดซับได้รวดเร็วกว่า ดังนั้น จึงควรมีหลักสูตรระดับโรงเรียนเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ชีวิตจริงตามสภาพของท้องถิ่นตน แทนที่จะเรียนรู้เรื่องไกลตัวซึ่งทำให้ผู้เรียนไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้จักชีวิต ไม่เข้าใจ และไม่มีความรู้สึกที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเอง นอกจากนี้ การพัฒนาหลักสูตรระดับโรงเรียนจะช่วยปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความรัก ความผูกพัน รวมทั้งภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน

4. ทรัพยากรท้องถิ่นโดยเฉพาะภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้านของไทย มีอยู่มากมาย มีคุณค่า บ่งบอกถึงความเจริญและความเฉลียวฉลาดของคนไทย หลักสูตรแม่บทไม่สามารถนำทรัพยากรท้องถิ่นดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ได้ แต่หลักสูตรระดับท้องถิ่นและระดับโรงเรียนสามารถบูรณาการทรัพยากรท้องถิ่นและภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ในการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นด้านอาชีพ หัตถกรรม เกษตรกรรม ศิลปกรรม ดนตรีนาฏศิลป์ วรรณกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ ซึ่งมีผลทำให้ผู้เรียนได้รู้จักท้องถิ่นของตน เกิดความรัก ความผูกพันกับท้องถิ่นของตน และสามารถใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นในการประกอบอาชีพได้

ลักษณะของการพัฒนาหลักสูตรในระดับโรงเรียน

วัลลภ กันทรัพย์ (2539 : 18-19) ได้กล่าวถึงการพัฒนาหลักสูตรหรือการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องและสนองความต้องการของท้องถิ่น หรือโรงเรียนว่ามีความหมายและทางเลือกในการปฏิบัติต่าง ๆ กัน ดังนี้

1. การจัดทำรายวิชา หรือจัดการเรียนการสอนในเรื่องที่เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนงานอาชีพต่าง ๆในท้องถิ่น

2. การจัดทำรายวิชาหรือจัดการเรียนการสอนในสิ่งที่จะไปเสริม หรือพัฒนางานอาชีพเดิมในท้องถิ่น หรือสร้างงานอาชีพใหม่ ๆ ที่อาจจะเก่าจากที่อื่นแต่จะมาเสริมได้อย่างเหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นได้

3. การจัดทำรายวิชาหรือจัดการเรียนการสอน ในสิ่งที่เป็นความก้าวหน้าใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรืองานอาชีพ ที่เหมาะสมสอดรับกับแผนพัฒนาในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก รัฐบาลพัฒนาเป็นย่านอุตสาหกรรมปิโตรเลียม รายวิชาหรือเนื้อหาสาระใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมในย่านนี้จะเหมาะสมมาก และผู้เรียนในย่านนี้อาจเรียนวิชาการใหม่ ๆ บางเรื่องที่ก้าวหน้ากว่าผู้เรียนในกรุงเทพ แต่ก็เหมาะกับท้องถิ่นของตนโดยเฉพาะ

4. การสอดแทรกการจัดการเรียนการสอนรายวิชาต่าง ๆ ที่มีอยู่ในหลักสูตรแกนกลาง โดยใช้สื่อการสอน เอกสาร วัสดุสิ่งของ สถานที่ เรื่องราว ศิลปวัฒนธรรม งานฝีมือของท้องถิ่นเข้าไปเป็นพื้นฐานหรือเสริม รวมถึงการพยายามใช้ความรู้ แนวคิด หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้วิทยากรหรือผู้รู้ในท้องถิ่นที่เหมาะสมกับจุดประสงค์และเนื้อหาสาระของแต่ละรายวิชา ทางเลือกนี้ทำได้กว้างขวางและทำได้ทุกท้องถิ่น

โรงเรียนหรือท้องถิ่นใดจะเลือกทำตามทางเลือกใดก็แล้วแต่สภาพความพร้อมและความต้องการของผู้เรียน หรือจะใช้หลาย ๆทางเลือกคละกันก็ย่อมทำได้

ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรในระดับโรงเรียน

การพัฒนาหลักสูตรในระดับโรงเรียน เป็นหน้าที่โดยตรงของครูและผู้บริหารโรงเรียน โดยการศึกษาหลักสูตรแม่บทและหลักสูตรท้องถิ่น แล้วนำมาปรับเป็นแผนการสอนให้สอดคล้องกับสภาพของโรงเรียนและผู้เรียน นอกจากผู้บริหารโรงเรียนแล้ว ผู้ปกครอง และบุคลากรอื่น ๆ ในชุมชน ก็สามารถช่วยพัฒนาหลักสูตรได้ถ้าเป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับสภาพ ปัญหา และความต้องการของชุมชนเป็นอย่างดีทำให้รู้ข้อเท็จจริงว่า หลักสูตรที่ใช้อยู่ในโรงเรียนมีจุดอ่อนที่ควรแก้ไขอย่างไรบ้าง การพัฒนาหลักสูตรในระดับโรงเรียนมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังแผนภูมิต่อไปนี้ (ระวิวรรณ ศรีคร้ามครัน 2525 : 266)

wpe5.jpg (24111 bytes)

 

 

แผนภูมิที่ 1 แสดงลำดับขั้นในการพัฒนาหลักสูตรระดับโรงเรียน

 

ที่มา : ดัดแปลงจาก ระวิวรรณ ศรีคร้ามครัน 2525 : 266

จากแผนภูมิข้างต้นจะเห็นว่า การพัฒนาหลักสูตรระดับโรงเรียนมีขั้นตอน 6 ขั้น ดังนี้

ขั้นที่ 1 ตั้งคณะกรรมการในระดับโรงเรียน คือ ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอน

ขั้นที่ 2 คณะกรรมการจะศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหาของโรงเรียน รวมทั้งชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ ตลอดจนสภาพแวดล้อมและสภาพความเป็นอยู่ของนักเรียน ในขั้นนี้คณะกรรมการอาจหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากกลุ่มผู้ปกครองและนักเรียนได้อีกด้วย นอกจากนั้นยังต้องศึกษาหลักสูตรแม่บทและหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนพัฒนาหลักสูตรระดับโรงเรียนต่อไป โดยมีแนวทางในการพัฒนาหลักสูตร ดังนี้

    1. เปิดโอกาสและสนับสนุนผู้สอนให้ได้ศึกษานักเรียนในโรงเรียนของตน เพื่อให้ทราบถึงปัญหา ความต้องการ และความสามารถเฉพาะของผู้เรียน
    2. การจัดการเรียนการสอน ควรให้โอกาสผู้เรียนได้เรียนอย่างเสมอภาคและทั่วถึงกัน
    3. การกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร ควรสอดคล้องกับนโยบายการจัดการศึกษาของชาติและของท้องถิ่น
    4. จัดงาน โครงการ หรือกิจกรรมต่าง ๆเพื่อสนับสนุนให้นักเรียนได้ศึกษาอยู่ในโรงเรียนอย่างอบอุ่น สามารถอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกับเพื่อน ๆได้ มีความรักและเจตคติที่ดีต่อโรงเรียน
    5. จัดหรือวางแผนการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสรู้จักกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนฝึกนิสัยให้ผู้เรียนสามารถปรับตนเองให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมประชาธิปไตยได้
    6. สนับสนุนและจัดประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้มีประสบการณ์ในการเรียนรู้อย่างเต็มตามศักยภาพของตน
    7. สนับสนุนให้ครูจัดการเรียนการสอน ที่จะเป็นการพัฒนาความรู้ และความสามารถโดยเฉพาะของเด็ก
    8. จัดวางแผนโปรแกรมการศึกษาในโรงเรียน ให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และสังคมปัจจุบันได้
    9. สนับสนุนให้ผู้เรียนมีโอกาสทำงานร่วมกัน รู้จักเคารพสิทธิ เสรีภาพของแต่ละบุคคล
    10. จัดวางแผนงาน เพื่อเป็นการสนับสนุน ให้ครูได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ และให้สามารถใช้ความรู้ในการวางแผนพัฒนาความสามารถของนักเรียน

 

ขั้นที่ 3 การกำหนดจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม การกำหนดจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม จะช่วยให้ครูผู้สอนทราบขีดความสามารถของนักเรียนที่ครูคาดหวัง ซึ่งใช้เป็นเกณฑ์ประเมินว่านักเรียนเกิดการเรียนรู้หรือไม่ ดังนั้น ครูจำเป็นจะต้องรู้และสามารถเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมของวิชาที่สอนในแต่ละคาบได้ เพื่อสามารถเตรียมและจัดการเรียนการสอนได้สัมพันธ์ สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตร การเขียนจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม มีหลักการเขียน ดังนี้

    1. ระบุพฤติกรรมของผู้เรียน ที่จะสามารถแสดงออกได้อย่างชัดเจนเมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอน
    2. กำหนดว่าพฤติกรรมที่ผู้เรียนแสดงออกมานั้น จะต้องแสดงออกในสถานการณ์ใด หรือภายใต้เงื่อนไขอย่างไร

3. กำหนดเกณฑ์สำหรับวัดพฤติกรรมที่แสดงออกว่า ต้องกระทำได้ มาก น้อยแค่ไหน เพียงใด จึงจะยอมรับว่าเกิดการเรียนรู้แล้ว

 

ขั้นที่ 4 การจัดเตรียมการสอน อาคารเรียน อุปกรณ์การสอน และบุคลากร เมื่อกำหนดจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมแล้วก็มาถึงขั้นการจัดเตรียมการสอน ซึ่งครูเป็นผู้เลือกรวบรวมเนื้อหาวิชาตามที่หลักสูตรกำหนด การจัดเตรียมการสอนนี้ อาจอยู่ในรูปของการให้ความรู้ การฝึกทักษะ การให้รู้จักคุณค่าต่าง ๆ การเลือกเนื้อหาจะต้องสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนการสอนและสอดคล้องกับจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมด้วย การเลือกเนื้อหาครูจะต้องคำนึงถึงหลัก ดังนี้

    1. มีความถูกต้อง
    2. มีความสำคัญ
    3. เป็นสิ่งที่น่าสนใจ
    4. ผู้เรียนสามารถเรียนได้

นอกจากการจัดเตรียมการสอนแล้ว อาคารเรียน และอุปกรณ์การสอนก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดบรรยากาศที่ดี ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ อาคารเรียน สิ่งก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในด้านการพัฒนาหลักสูตรในระดับโรงเรียนก่อนที่จะประดิษฐ์หรือสร้างขึ้นควรจะได้รับการพิจารณาในแนวทาง ดังนี้

    1. ปรัชญาการศึกษา และจุดมุ่งหมายของการใช้งานในโรงเรียน
    2. ประโยชน์ของการใช้สอย ที่จะสามารถนำไปประยุกต์กับความเป็นอยู่ของชุมชนนั้นๆด้วย
    3. การมีข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนเด็ก และอายุของผู้เรียน ที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์นั้น ๆ เพื่อประกอบการเรียนการสอน
    4. ระบุชนิด หรือประเภทของอุปกรณ์การสอน ที่จะต้องใช้ประกอบการสอนในแต่ละเรื่องอย่างถูกต้อง
    5. คำนึงถึงประโยชน์ ในการใช้สอยของอุปกรณ์และอาคารเรียน ซึ่งจะนำมาใช้ร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ใช้สอยได้หลาย ๆทาง

ส่วนการจัดเตรียมบุคลากรในโรงเรียนนั้น ในการดำเนินงานพัฒนาหลักสูตร จำเป็นต้องจัดอบรม ครู ให้รู้จักแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อเป็นการเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการสอนของครู การอบรมควรดำเนินการในหัวข้อต่อไปนี้

    1. ปรัชญาและจุดมุ่งหมายของการศึกษา ซึ่งเป็นขั้นต้นของการพัฒนาหลักสูตร
    2. ลักษณะพัฒนาการของเด็ก การเลือกเนื้อหาความรู้ให้เหมาะสมกับวัยของผู้เรียนในแต่ละวัยที่แตกต่างกัน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาหลักสูตรในระดับโรงเรียน
    3. ทฤษฎีการเรียนรู้ เพื่อเป็นแนวทางให้ครูได้ศึกษาเพื่อวางแผนงานในการจัดโปรแกรมการเรียนการสอนให้แก่ผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม
    4. เนื้อหาความรู้ ครูต้องมีความรู้ และเข้าใจเนื้อหาความรู้ที่สอนเด็กอย่างชัดเจนและถูกต้อง
    5. การวางแผนการจัดการศึกษา เพื่อเป็นพื้นฐานในการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษา และปรัชญาการศึกษาของชาติ
    6. การวัดและประเมินผล เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงหลักสูตร และการดำเนินงานพัฒนาหลักสูตรต่อไป

สำหรับรูปแบบการอบรมครู อาจทำได้หลาย ๆ วิธี ดังนี้

    1. จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการเสมอ ๆ โดยเชิญวิทยากร ในสาขานั้น ๆ มาบรรยาย อภิปราย หรือให้ความรู้
    2. จัดประชุมครู เพื่อศึกษาปัญหาต่าง ๆร่วมกัน
    3. จัดโครงการเยี่ยมเยียนโรงเรียน หรือสถาบันอื่น ๆที่มีผลงานดีเด่น เพื่อนำมาเป็นแบบอย่างในการปรับปรุงโรงเรียนของตน
    4. สนับสนุนให้ครูได้ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง จากการอ่านเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตร ผู้บริหารอาจทำเอกสารมาไว้บริการในโรงเรียน
    5. ให้ครูมีโอกาสได้รับการศึกษาต่อในวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย

 

ขั้นที่ 5 การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ในขั้นนี้ ครูผู้สอนจะต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เหมาะสม และสอดคล้องกับเนื้อหาวิชาที่จะใช้สอน ดังนั้น ครูจึงต้องเตรียมการสอนล่วงหน้า จะได้จัดเตรียมอุปกรณ์ สื่อ วิธีสอน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ให้พร้อม ถ้าหากครูได้เตรียมบทเรียนไว้อย่างดี มีกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลาย สอดคล้องกับเนื้อหาและจุดประสงค์ ก็จะเสริมสร้างบรรยากาศ ในการเรียนรู้แก่ผู้เรียนได้ดียิ่งขึ้น เด็กจะเรียนด้วยความสนุกสนาน เชื่อว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนก็จะดีตามไปด้วย

ขั้นที่ 6 การวัดผลและประเมินผล การวัดผลและประเมินผลการเรียนการสอน อาจทำได้หลายรูปแบบ เช่น

    1. การทดสอบผู้เรียนเป็นระยะๆ หรือทดสอบประจำภาคเรียนเพื่อจะได้ทราบความก้าวหน้าในการเรียนของผู้เรียนตลอดเวลา
    2. การสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียน
    3. การมอบหมายงานให้ทำ เช่น การสำรวจอาชีพที่มีในท้องถิ่น
    4. การแสดงออกต่าง ๆของผู้เรียน เช่น การแสดงความสามารถหน้าชั้นเรียน
    5. ตรวจผลงานที่นักเรียนปฏิบัติ เช่น งานด้านฝีมือ งานดนตรี วาดภาพ เป็นต้น

ข้อมูลย้อนกลับจากการประเมินผลการเรียนการสอน ทั้งจากตัวผู้เรียน และตัวผู้สอนจะทำให้ทราบข้อมูลเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป

ต่อไปนี้ จะนำเสนอตัวอย่างหลักสูตรระดับโรงเรียน เพื่อเสริมความเข้าใจให้ชัดเจน

ยิ่งขึ้น ซึ่งผู้เขียนได้ปรับปรุงและดัดแปลงขึ้นจากโครงงานของโรงเรียนบ้านทุ่งมนธาตุวิทยา จังหวัดสกลนคร ดังนี้ (โรงเรียนบ้านทุ่งมนธาตุวิทยา. 2543)

ตัวอย่างหลักสูตรระดับโรงเรียน กลุ่มการงานและพื้นฐานอาชีพ

 

หลักสูตรการทอผ้าไหม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

โรงเรียนบ้านทุ่งมนธาตุวิทยา สปอ. เจริญศิลป์ สปจ. สกลนคร

ความเป็นมาของหลักสูตร

โรงเรียนบ้านทุ่งมนธาตุวิทยา ตั้งขึ้นเมื่อปี 2502 ณ หมู่ที่ 7 บ้านทุ่งมน ตำบลทุ่งแก อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร เปิดสอนเป็น 2 ระดับ คือ ระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษา ในปีการศึกษา 2543 มีนักเรียน 224 คน ครู 12 คน นักการ 1 คน

เมื่อปีการศึกษา 2542 โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการ โรงเรียนเพื่อนเด็ก ขององค์การยูนิเซฟ การจัดการเรียนการสอนจะเน้นสิทธิเด็กเป็นสำคัญ ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง และสนองความต้องการของนักเรียนเป็นหลัก

โดยที่ชุมชนอันเป็นที่ตั้งของโรงเรียน ประกอบด้วยผู้ปกครองซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะค่อนข้างยากจน หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะประกอบอาชีพหารายได้เสริมจากการทอผ้าไหมซึ่งเป็นหัตถกรรมพื้นบ้าน แต่จะมีนักเรียนส่วนน้อยที่มีประสบการณ์พื้นฐานในการทอผ้าไหมมาจากครอบครัว โรงเรียนจึงได้จัดทำหลักสูตร เรื่อง การทอผ้าไหมขึ้น เพื่อให้นักเรียนสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นมิให้สูญหายไป มีรายได้ระหว่างเรียนจากการจำหน่ายผลงาน และฝึกการทำงานร่วมกัน

หลักการและความสำคัญของหลักสูตร

การทอผ้าไหมเป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านในภาคอีสาน ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานาน นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ พัฒนา และส่งเสริมหลักสูตรเรื่อง การทอผ้าไหม จัดทำขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนวิชาการงานและพื้นฐานอาชีพ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ผู้เรียนจะเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริงเป็นกลุ่ม เริ่มจากการคัดเลือกเส้นไหม การฟอกไหม การย้อมสี การปั่นเส้นไหม และการทอผ้าไหมออกมาเป็นผืนผ้า เป็นการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอน สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา ฝึกความพยายาม ความอดทน และนิสัยที่ดีในการทำงานอันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการทำงานทุกชนิด ช่วยให้ผู้เรียนมีรายได้เสริมระหว่างเรียน สามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ในชีวิตประจำวันและเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพต่อไป

จุดมุ่งหมาย

1. เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริม พัฒนาและเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับการทอผ้าไหม

2. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ในการทำงาน มีนิสัยและเจตคติที่ดีต่อการทำงาน ด้วยการทอผ้าไหม

3. เพื่อให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองของนักเรียน

4. เพื่อเป็นพื้นฐานหรือเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต

สาระความรู้และประสบการณ์

การศึกษาจะเริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือกเส้นไหมที่เหมาะสมกับการทอ การย้อมสีเส้นไหม การปั่นเส้นไหม การทอผ้าไหมออกมาเป็นชิ้นงานหรือผ้าสะไบ และการขิดไขว้ลายที่เชิงผ้าสะไบ

เวลาในการศึกษา

ประมาณ 50 ชั่วโมง

 

สื่อการสอน/อุปกรณ์ในการทอผ้าไหม

1. เส้นไหมน้ำหนัก 1.5 ก.ก.

2. ด่างฟอกไหม 2 ซอง (100 กรัม)

3. กะละมัง

4. น้ำ

5. ห่วงใส่ปอยไหม

6. สีย้อมไหม

7. เชื้อเพลิง (ใช้ต้ม)

8. อุปกรณ์ในการทอ เช่น ฟืม, กระสวย, หลอด, กี่ ฯลฯ

ขั้นตอนในการทำงาน

1. คัดเลือกเส้นไหม คือ ใช้เส้นเล็กเรียบเป็นเส้นยืน ส่วนเส้นพุ่งเป็นเส้นหนาโตกว่า

2. เมื่อได้เส้นไหมตามต้องการแล้ว นำมาฟอก โดยมีขั้นตอนดังนี้

2.1 ต้มน้ำในกะละมังให้เดือด เติมด่างปริมาณ 50 กรัม ต่อเส้นไหม 1 ก.ก.

    1. นำปอยไหมมาชุบน้ำให้เปียกจนทั่ว แล้วนำลงต้มในน้ำเดือด ประมาณ 20 นาที หมั่นกลับเส้นไหมไปมา
    2. ล้างเส้นไหมในน้ำสะอาด 2 ครั้ง แล้วบิดหมาด ๆ แล้วนำไปย้อมสีตามต้องการ

3. การย้อมสี หลังจากฟอกเส้นไหม ล้างให้สะอาดแล้ว นำน้ำใส่กะละมังตั้งไฟต้มจนอุ่น นำสีที่ต้องการลงละลายในน้ำต้มผสมผงมันคนให้ละเอียด น้ำเส้นไหมที่เปียกอยู่ลงย้อม ใช้มือนวดจนทั่วแล้วต้มต่อไปจนน้ำเดือด หมั่นพลิกเส้นไหมไปมาเพื่อให้สีเสมอกันใช้เวลาต้มประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วจึงนำปอยไหมออกมาปล่อยให้เย็น จึงนำไปล้างน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง นำไปตากลมให้แห้ง นำมาปั่นเข้าหลอดสำหรับทอผ้า

4. การทอผ้า หลังจากปั่นเส้นไหมทำเป็นเส้นยืน (เคือไหม) แล้วนำมาทอเป็นผ้าสะไบผืนเล็กขนาด กว้าง 40 ซ.ม. ยาว 170 ซ.ม. ซึ่งคล้ายลักษณะทอผ้าธรรมดาแต่ผสมด้วยศิลปะการขิดไขว้ลายตรงเชิงของผ้าสะไบ

5. นำผ้าไหมที่ได้ไปจำหน่าย โดยคิดกำไรผืนละ 50 บาท

 

การประเมินผล

1. สังเกตความสนใจ ความตั้งใจ ความกระตือรือร้น และความร่วมมือในการปฏิบัติงานกลุ่ม

2. สังเกตการใช้เครื่องมือ นิสัยในการทำงาน และการทำงานตามขั้นตอน

3. ตรวจผลงานสำเร็จ

4. สอบถามความคิดเห็นของผู้เรียน ผู้ปกครอง ผู้บริหาร และผู้ซื้อผลงาน

สรุป

การพัฒนาหลักสูตรในระดับโรงเรียนให้สอดคล้องกับสภาพ ปัญหา และความต้องการของชุมชนหรือท้องถิ่นที่โรงเรียนตั้งอยู่ จะเอื้ออำนวยให้ผู้เรียนดำรงชีวิตอยู่ในท้องถิ่นได้อย่างมีความสุข มีความรัก ความผูกพันกับท้องถิ่น ช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้า เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เป็นการดำเนินงานด้านการศึกษา ที่สนองแนวคิดของการศึกษาเพื่อทุกคนและการระดมสรรพกำลัง ทรัพยากร ปัจจัยเกื้อหนุนต่าง ๆ ทั้งสิ้นทั้งมวลเพื่อประโยชน์ต่อการศึกษา นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในมาตรา 27 อีกด้วย

บุคลากรหลักที่จะพัฒนาหลักสูตรในระดับโรงเรียน ได้แก่ ผู้บริหารและครูในโรงเรียน โดยประสานกับผู้ปกครอง คณะกรรมการการศึกษาของโรงเรียน ผู้นำท้องถิ่นและนักเรียน เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพ ปัญหา ความต้องการ ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรต่อไป

โดยสรุป การพัฒนาหลักสูตรในระดับโรงเรียน มี 3 แนวทางใหญ่ ๆ ดังนี้

1. การจัดทำหรือสร้างหลักสูตรรายวิชาใหม่ที่ไม่ได้ปรากฏในหลักสูตรแม่บท ให้สอดคล้องกับ

สภาพ ปัญหา และความต้องการของท้องถิ่น

2. การปรับหลักสูตรแม่บทให้สอดคล้องกับสภาพ ปัญหา และความต้องการของท้องถิ่น ซึ่งทำได้หลายวิธี ดังนี้

2.1 การปรับหรือขยายเนื้อหาสาระของรายวิชาต่าง ๆในหลักสูตรแม่บท

    1. 2.2 การปรับหรือขยายกิจกรรมการเรียนการสอนและกิจกรรมเสริม
    2. 2.3 การปรับหรือผลิตสื่อการเรียนการสอนและเอกสารประกอบหลักสูตร ได้แก่ หนังสือเรียน คู่มือครู หนังสืออ่านเพิ่มเติม หนังสือเสริมประสบการณ์ แผนการสอน แบบฝึกหัด ฯลฯ

 

3. การจัดทำหลักสูตรเฉพาะกิจ เป็นหลักสูตรระยะสั้นที่ใช้ในโรงเรียน หรือท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งโดยเฉพาะ โดยไม่มีหลักสูตรแม่บทเป็นกรอบในการจัดทำ

 


 

 

บรรณานุกรม

คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542.

กรุงเทพมหานคร : พริกหวานกราฟฟิค, ม.ป.ป.

ใจทิพย์ เชื้อรัตนพงษ์. การพัฒนาหลักสูตร : หลักการและแนวปฏิบัติ. กรุงเทพมหานคร :

อลีน เพรส, 2539.

บ้านทุ่งมนธาตุวิทยา, โรงเรียน. โครงงานเรื่อง การทอผ้าไหม. สกลนคร : โรงเรียนบ้านทุ่งมนธาตุวิทยา,

2543. (อัดสำเนา)

ระวิวรรณ ศรีคร้ามครัน. เอกสารการสอนชุดวิชา วิทยาการการสอน หน่วยที่ 6. กรุงเทพมหานคร :

รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2525.

วัลลภ กันทรัพย์. “หลักสูตรท้องถิ่นมีทางเลือกที่หลากหลาย,” สารพัฒนาหลักสูตร.

15 (กรกฎาคม – กันยายน 2539) : 18 – 19.

วิชัย ประสิทธิ์วุฒิเวชช์. การพัฒนาหลักสูตร สานต่อที่ท้องถิ่น. กรุงเทพมหานคร :

เลิฟแอนด์ลิพ เพรส, 2542.

สำลี ทองธิว. หลักการและกระบวนการพัฒนาหลักสูตรงานอาชีพ. กรุงเทพมหานคร :

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ม.ป.ป.

อำภา บุญช่วย. การบริหารงานวิชาการในโรงเรียน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร :

โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮาส์, 2537.

Saylor, J. Galen and Alexander, William M. Planning Curriculum for School. New York :

Holt, Rinehart and Winston, 1974.

 

BACK

 

 

Hosted by www.Geocities.ws

1