เรื่องของหนู ๆ 

การจำแนกชนิดของหนู

การสำรวจที่อาศัยของหนู

การป้องกันและกำจัดหน

สัตว์เลี้ยงชนิดต่าง ๆ

การป้องกันและกำจัดหนูและสัตว์เลี้ยง

สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขาภิบาลในโรงงานที่สำคัญอีกสาเหตุหนึ่งก็คือ การปล่อยให้มีหนูและสัตว์เลี้ยงเข้ามาเพ่นพ่านในโรงงาน ซึ่งหนูและสัตว์เลี้ยงที่เข้ามาเพ่นพ่านในโรงงานนี้ นอกจากจะแทะหรือกัดกินวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆแล้ว ยังอาจกัดและทำลายอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆตลอดจนพื้นฝาผนังหรือเพดานของโรงงานด้วย และยังพบว่าหนูหรือสัตว์เลี้ยงดังกล่าวนี้ จะเป็นแหล่งพาหนะในการแพร่เชื้อโรคที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากหนูเป็นสัตว์ที่กินทุกอย่าง รวมถึงอาหารประเภทถั่วต่างๆ ข้าวเจ้าข้าวโพดข้าวสาลีและอาหารจำพวกแป้งและผลิตภัณฑ์อาหารของพวกนี้ด้วย ฉะนั้นหากมีหนูเข้ามาในโรงงาน โอกาสที่ผลิตภัณฑ์วัตถุดิบตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆจะถูกทำลายย่อมมีสูง และหลังจากกัดกินอาหารดังกล่าวแล้วมักจะถ่ายอุจาระและทิ้งขนไว้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการปนเปื้อนและแพร่เชื้อโรคได้ ตัวอย่างของโรคต่างๆที่พบได้แก่ Amoebic dysentery, Bubonic plague, Hemorrhages jaundice, Leptospirosis (โรคฉี่หนู) เป็นต้นรวมทั้งพยาธิต่างๆเช่น Trichinosis เป็นต้น

การจำแนกชนิดของหน

หนูแบ่งออกเป็นชนิดต่างๆได้ดังนี้ คือ

    1. Domestic Rat เป็นหนูชนิดที่มีอยู่ทั่วไปตามที่อยู่อาศัย บ้านเรือนโรงงานและกุดังเก็บของเป็นต้น
    2. Jumping Mice เป็นหนูที่มีลักษณะตัวเล็ก มีหางยาวและมีขนยาว
    3. Kangaroo Rat and Mice เป็นหนูที่มีลักษณะขาหลังยาวกว่าขาหน้า มีหางเป็นปุยและตัวเล็ก รูปร่างคล้ายจิงโจ้
    4. New world Rat & Mice เป็นหนูที่มีลักษณะรูปร่างเพรียวเล็กและมีขนค่อนข้างมาก
    5. Voles and Lemmings Rat มีลักษณะลำตัวอ้วนสั้น หางยาวและมีขนเป็นปุย

ในบรรดาหนูที่กล่าวมานี้นับว่า Domestic Rat เป็นหนูประเภทที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขาภิบาลมากที่สุด หนูที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ที่สำคัญและพบมากที่สุดได้แก่

1.หนูนอร์เวย์ (Norway Rat ) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rattus norwaegicus เป็นหนูที่พบทั่วไป มีขนาดตัวใหญ่ปานกลางยาวประมาณ 10-15 ซม. มีขนสีน้ำตาลแดงส่วนหางนั้นด้านบนจะมีสีดำและด้านล่างจะจางกว่า เป็นหนูที่สายตาสั้นแต่จะมีความสามารถในการรับรสและกลิ่นได้ดีมาก ลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของหนูชนิดนี้คือมักอยู่ตามรูหรือระดับที่ไม่สูงกว่าพื้นดินมาก เช่นตามท่อน้ำ ใต้ถุนอาคารบ้านเรือนหรือขุดรูอยู่ หรือบริเวณกองขยะ เนื่องจากหนูชนิดนี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ฉะนั้นในบริเวณที่พบหนูชนิดนี้จะไม่มีหนู Roof Rat อยู่ด้วยเลยและไม่สามารถใช้แมวกำจัดได้

2.หนูท้องขาว(Roof Rat) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Rattus rattus เป็นหนูที่ปีนป่ายเก่งมาก ชอบอาศัยอยู่บริเวณที่สูงกว่าพื้นดินเช่นตามหลังคา เพดาน กินอาหารทุกประเภทรวมถึงผักผลไม้และเม็ดธัญพืชต่างๆ หนูชนิดนี้ตัวใหญ่ปานกลาง ประมาณ 14-29 ซม. หนูท้องขาวที่พบมีอยู่ 3 สีคือ

2.1 The black rat (Rattus rattus rattus) มีสีตั้งแต่ดำจนถึงเทา

2.2 The Alexandrine rat (Rattus rattus alexandrinus) มีสีน้ำตาลอ่อนและสีเทาที่บริเวณท้อง

2.3 The Fruit rat (Rattus rattus frugivorus) มีสีน้ำตาลอ่อนที่ลำตัว ส่วนท้องจะมีสีขาวหรือสีมะนาว

3.หนูหริ่ง(House mouse) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mus musculus เป็นหนูที่มีลำตัวขนาดเล็กประมาณ 6-9 ซม. มีขนและหางสีเทา เนื่องจากเป็นหนูที่มีขนาดเล็กมาก จึงสามารถก่อให้เกิดความเสียหายได้มากที่สุด สามารถที่จะมุดเข้าตามซอกที่แตกตามผนังอาคารหรือซอกประตูหน้าต่างได้ ทำให้สามารถเข้าไปกัดแทะหรือทำลายวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆได้

4.หนูจิ๊ด (Rattus exulans) เป็นหนูที่ปีนป่ายเก่ง ชอบอาศัยอยู่ตามบ้าน ตามซอก ตามเพดาน เวลากลางคืนจะได้ยินเสียงร้องมีขนาดใหญ่กว่าหนูหริ่ง ยาวประมาณ 10-12 ซม. ขนด้านหลังจะมีสีน้ำตาล ด้านท้องสีเทา หางสีดำ กินอาหารทุกอย่าง กัดกระดาษเพื่อนำไปทำรัง กัดโต๊ะ ตู้ ตลอดจนภาชนะอุปกรณ์ต่างๆด้วย

วิธีการสำรวจลักษณะที่แสดงให้ทราบว่ามีหนูเข้ามาอาศัยอยู่ในอาคารโรงงาน

ปรกติแล้วหนูจะออกหากินตอนกลางคืน ยกเว้นบริเวณที่หนูเข้ามาอาศัยอยู่เป็นประจำจำนวนมาก วิธีสังเกตง่ายๆคือดูรอยแทะ รอยถู รูหรือโพรง มูลหนูกลิ่นสาปหนูเป็นต้น

1.รอยแทะ ฟันหนูจะมีการเจริญเติบโตได้รวดเร็วมาก(ประมาณ 5 นิ้ว/ปี) ดังนั้นจึงต้องมีการกัดแทะอยู่ตลอดเวลา เพื่อแต่งฟันให้สั้นและคมอยู่เสมอ ปรกติแล้วหนูจะแทะของทุกชนิด ตั้งแต่อาหารไปจนถึงอิฐ คอนกรีต ยาง ไม้และพลาสติกเป็นต้น โดยจะเริ่มจากบริเวณขอบๆเข้าไปและมักจะมีเศษเล็กๆของสิ่งที่มันแทะตกหล่นอยู่ที่ฟัน ฉะนั้นบริเวณที่ควรสำรวจรอยแทะบ่อยๆคือบริเวณประตู หน้าต่าง พื้นฝาผนังสายไฟหรือภาชนะบรรจุอาหาร หากพบรอยแทะใหม่ๆแสดงว่ามีหนูเข้ามาอาศัยอยู่อย่างแน่นอน

2. รอยถูหรือรอยคราบหรือรอยเท้า ปกติหนูจะเดินหรือวิ่งบนพื้นราบเรียบ แต่ถ้าหากจำเป็นมันสามารถไต่ขึ้นตามฝาผนัง ท่อน้ำได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดรอยคราบสกปรกติดอยู่ที่ฝาผนังหรือท่อน้ำได้ ทั้งนี้เนื่องจากสิ่งสกปรกและน้ำมันจากตัวมันเองที่ก่อให้เกิดรอยเปรอะเปื้อน ขึ้นเพราะเมื่อหนูผ่านกันจะแกว่งหางและลำตัวเพื่อช่วยในการผ่านสะดวกยิ่งขึ้น ทำให้เกิดรอยถูบริเวณที่ผ่าน และธรรมชาติของหนูอีกอย่างคือจะใช้เส้นทางเดิมดังนั้นจึงง่ายที่จะสังเกตุรอยต่างๆได้ และจะสังเกตได้ง่ายๆอีกวิธีหนึ่งคือใช้แป้งโรยตามรอยที่พบ และมาสังเกตดูอีกครั้งหลังจาก 2-3 วันต่อมา

3. รูหรือโพรงที่หนูอาศัย มักจะพบตามใต้ถุนอาคารบ้านเรือนหรือขอบรั้วบ้าน หรือบริเวณใกล้ๆที่เก็บขยะ ซึ่งถ้าพบรูหรือโพรงนี้จะทำให้ทราบว่ามีหนูอาศัยอยู่ที่ใด และทำการกำจัดได้ง่าย

4. มูลหนู การพบมูลหนูในบริเวณไหน แสดงให้ทราบว่าบริเวณนั้นมีหนูอยู่ มูลหนูที่ใหม่จะมีลักษณะมันเลื่อมและมีสีดำ แต่หลังจากผ่านไป 2-3 วัน จะมีลักษณะแห้งและแข็ง มูลของหนูนอร์เวย์จะมีลักษณะคล้ายเม็ดแคปซูลขนาดยาว ¾ นิ้ว ส่วนหนูท้องขาวนั้นจะมีลักษณะคล้ายกระสวย มีความยาวประมาณ ½ นิ้ว ส่วนหนูหริ่ง จะมีลักษณะเป็นท่อน มีความยาวประมาณ 1/8 นิ้ว ซึ่งการสังเกตมูลจะทราบว่ามีหนูชนิดใดอาศัยอยู่

5. กลิ่นสาปหนู กลิ่นสาปหนูใช้เป็นเครื่องแสดงว่าหนูอาจมาอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นแต่จะไม่แม่นยำเท่าที่ควร เพราะอาจเป้นกลิ่นเก่าตกค้างหลังจากหนุอพยพไปแล้วก็ได้เนื่องจากกลิ่นสาปหนูจะติดทนนาน

6.คราบปัสสาวะ อาจสังเกตได้ตามฝาผนังตามทางเดินของหนู โดยอาศัยแสงUltra violet ซึ่งหากพบได้ว่ามีคราบเรืองแสงอยู่ แต่ต้องวิเคราะห์อย่างระมัดระวังเพราะอาจเป็นสิ่งอื่นได้

การป้องกันและกำจัดหนู

เนื่องจากหนูทำให้เกิดความเสียหายทางวัตถุดิบ อาหารและผลิตภัณฑ์อาหารไปเป็นจำนวนมาก และยังเป็นตัวแพร่เชื้อโรคต่างๆ จึงต้องมีการป้องกันและกำจัด ซึ่งอาจทำได้โดย

1.การป้องกันและกำจัดหนูทางเคมี ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้สารประกอบเคมีชนิดต่างๆมาช่วยกำจัดหนู บางชนิดพบว่ามีอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์เลี้ยงสูง ซึ่งสารประกอบเคมีเหล่านี้ไม่ควรนำมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารโดยเด็ดขาด เพราะอาจปนเปื้อนไปในอาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารได้ ปัญหาที่พบในการกำจัดหนูโดยใช้สารเคมีคือ หนูมักจะตายในที่ลับตามองไม่เห็น ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นและแพร่เชื้อโรคได้

คุณสมบัติของสารเคมีที่ใช้ในการเบื่อหนู

ซึ่งเท่าที่พบมายังไม่มีสารเบื่อหนูชนิดใดมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กล่าวไว้

    1. การใช้สารเคมีผสมกับเหยื่อ
      1. Red Squill เป็นพืชที่ชอบขึ้นอยู่ตามฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือชนิดขาวใช้ในทางอายุรแพทย์ โดยใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ยาทำให้อาเจียน และยาขับปัสสาวะ ส่วนชนิดสีแดงนั้นใช้เป็นยาเบื่อหนู เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นพิษ การใช้ Red squill เป้นยาเบื่อหนูนั้นมีข้อดีคือเป็นอันตรายค่อนข้างน้อยต่อมนุษย์และสัตว์ ทั้งนี้เป็นเพราะรสเปรี้ยวของมันที่สัตว์มักไม่ชอบ นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติทำให้อาเจียนอีกด้วย หากบริโภคเข้าไปจำนวนมาก Red squill จะสามารถฆ่าหนูได้โดยทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเป็นอัมพาต ยาเบื่อหนูชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพสูงเฉพาะการกำจัดหนูนอร์เวย์ และหนูท้องขาวเท่านั้น แต่ไม่สามารถกำจัดหนูหริ่งได้ ปริมาณที่ใช้คือ Red squill 1 ส่วน ต่อเหยื่อ 9 ส่วน
      2. Anticoagulants สารประกอบนี้เป็นสารเบื่อหนูที่นิยมใช้กันมาก ซึ่งมีผลไปลดการแข็งตัวของเลือดทำให้หนูตายโดยการเลือดไหลไม่หยุด สารเบื่อหนูชนิดนี้ ต่างจากสารเบื่อหนูชนิดอื่นๆ คือไม่ทำให้หนูเกิดการปฏิเสธสารเบื่อหนูชนิดนี้ และอาจทำให้หนูตายหลังบริโภคสารนี้เข้าไปเพียงครั้งเดียวหรือหลังจากบริโภคซ้ำๆกันหลายครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของสารประกอบ ตัวอย่างของสารประกอบ Anticoagulants ที่นิยมใช้ได้แก่
      1. ANTU (Alpha-naphthyl thiourea ) เป็นสารประกอบเคมีที่ทีพิษสูงต่อหนูนอร์เวย์ แต่ต่ำสำหรับหนูท้องขาวและหนูหริ่ง มีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำ ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวมนุษย์ ทำให้เกิดน้ำท่วมปอดในหนูและตายในที่สุด ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากสารประกอบนี้จะเร็วมาก แต่มีข้อเสียคือหลังจากหนูบริโภคสารนี้เข้าไปแล้ว มักไม่ยอมบริโภคซ้ำ จึงไม่สามารถใช้สารประกอบนี้กำจัดหนูกลุ่มเดิมซ้ำได้ จะใช้ได้อย่างมากปีละครั้งเท่านั้น นอกจากนี้หากหนูบริโภคเข้าไปน้อยจะสามารถสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาเองได้ สำหรับสัตว์เลี้ยงเช่น สุนัข แมว ถ้าบริโภคสารนี้เข้าไป จะตายทันที ปริมาณที่นิยมใช้คือความเข้มข้นร้อยละ 3 ของเหยื่อ และไม่ควรใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร
      2. Zinc phosphide เป็นสารประกอบที่มีความเป็นพิษสูงมากต่อหนูทุกชนิดและสัตว์เลี้ยงอื่นๆด้วย มักนิยมใช้กับหนูที่มีไขมันสูง โดยใช้ความเข้มข้นร้อยละ 1 ของเหยื่อ แต่เนื่องจากสารประกอบชนิดนี้มีความเป็นพิษสูง จึงไม่ควรใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ควรใช้กับบริเวณรอบนอกโรงงานจะเหมาะสมกว่า เพราะป้องกันการปนเปื้อนที่จะเกิดขึ้น
      3. Sodium fluoroacetate หรือ 1080 ไม่มีสารประกอบใดที่จะมีพิษต่อหนูและมนุษย์สูงกว่า Sodium fluoroacetate สารประกอบเคมีชนิดนี้ จะมีปฏิกิริยาเป็น Metabolic inhibitor ปฏิกิริยาหลังจากหนูบริโภคสารนี้เข้าไปแล้ว จะเกิดขึ้นเร็วมากและหนูจะถูกบังคับให้ออกมาตายข้างนอกด้วย สำหรับสุนัขและแมวก็ตายได้เช่นเดียวกันถ้าบริโภคสารนี้ สารประกอบนี้ไม่ควรใช้กับดรงานอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อป้องกันการปนเปื้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
      4. Thallium sulfate สารพิษนี้ แม้จะไม่มีพิษเท่า Sodium fluoroacetate แต่พบว่ามีพิษต่อทั้งมนุษย์และสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกันและยังเป็นสารประกอบที่มีการสะสมในร่างกายได้ สามารถเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังได้ โดยทั่วไปการใช้สารประกอบนี้เบื่อหนูจะใช้อัตราส่วน 1 ต่อ 198 ส่วนและ Tartar emetic 1 ส่วน ไม่ควรใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและใช้โดยนักเบื่อหนูอาชีพเท่านั้นเพราะมีความเป็นพิษสูง
      5. สารเบื่อหนูชนิดอื่นๆ เช่น Arsenic trioxide ได้มีการนำมาใช้เป็นสารเบื่อหนูเช่นกัน ซึ่งพบว่าสามารถกำจัดหนูนอร์เวย์และหนูท้องขาว ได้แต่มีข้อเสียคือถ้าใช้ในปริมาณที่น้อยเกินไปจะทำให้หนูสร้างภูมิต้านทานได้ ส่วน Strychnine และ strychnine sulfate นั้น สามารถกำจักหนูหริ่งได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และก็เช่นเดียวกับ Arsenic trioxide คือหนูจะสร้างภูมิต้านทานเองได้
    1. การใช้แก๊สพิษรม

การกำจัดหนูนอกจากจะใช้สารเคมีต่างๆแล้ว ยังมีการใช้แก๊สพิษช่วยในการป้องกันและกำจัดหนูด้วย ตัวอย่างแก๊สพิษที่นำมาใช้คือ Calcium cyanide ซึ่งจะมีปฏิกิริยากับความชื้นในอากาศ ทำให้เกิด Hydrogen cyanide แก๊สที่เกิดขึ้นนี้ไม่เพียงแต่เป็นพิษต่อหนูและมนุษย์เท่านั้น ยังพบว่าเป็นพิษต่อแมลงและสัตว์อื่นด้วย แก๊สพิษที่ใช้กำจัดหนูนี้นอกจากจะมีHydrogen cyanide แล้ว ยังอาจใช้ Methyl bromide sulfur dioxide และ carbon monoxide ได้ด้วย การใช้แก๊สพิษนี้จะได้ผลต่อเมื่อเป็นห้องปิดสนิทแก๊สรั่วไม่ได้ และในการกำจัดหนูด้วยการรมแก๊สพิษนี้ควรดำเนินการโดยนักกำจัดหนูอาชีพเท่านั้น เพราะมีอันตรายมาก

2.การป้องกันและกำจัดหนุโดยทางฟิสิกส์

ทำได้หลายวิธีเช่น

2.1 โดยการกำจัดแหล่งอาหารหนู ซึ่งเท่ากับเป็นการกำจัดหนูไปในตัว วิธีการอาจทำได้โดยการหมั่นปัดกวาดตามพื้นผนัง เพดานและตัวอาคารของโรงงานให้สะอาดอยู่เสมอ อย่าให้มีเศษอาหารหรือวัตถุดิบผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆตกอยู่ ซึ่งจะเป็นอาหารของหนูได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้โรงงานจะต้องมีการจัดเก็บวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์อาหารอย่างดี ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้กลายเป็นแหล่งอาหารหนู ส่วนเศษขยะมูลฝอยต่างๆจะต้องมีการกำจัดให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล เช่นถ้าใส่ถังก็ต้องมีฝาปิด ถ้าจะทำลายต้องฝังหรือเผาเป็นต้น การเก็บวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์อาหารควรเก็บให้สูงกว่าพื้นอย่าให้ชิดผนังและอย่าให้ติดเพดานเป็นต้น

2.2 การใช้กับดัก เป็นวิธีที่ถูกและมีประสิทธิภาพดี การจะใช้กับดักนั้นจะต้องมีการศึกษาอุปนิสัยของหนูให้ดี กับดักที่นิยมใช้ได้แก่กับตีและกับกรง ส่วนเหยื่อที่ใช้ล่อนั้นอาจเป็นพวกเนื้อหรือปลาหรืออาหารอะไรก็ได้ ควรจะมีการเปลี่ยนบ่อยๆ เพื่อป้องกันมิให้หนูเกิดความคุ้นเคย นอกจากนี้ผู้ดักควรใช้มือจับกับดักน้อยที่สุดทั้งนี้เพราะหนูจะมีจมูกไวมาก ถ้าได้กลิ่นคนมันจะไม่กินเหยื่อ การวางกับดักหนู ควรวางให้ชิดฝาผนังหรือในมุมมืด หรือหลังกองอาหาร หรือในบริเวณใดก็ตามที่คิดว่าเป็นทางผ่านของหนู การวางกับดักให้ต่ำกว่ากว่าระดับพื้นเล็กน้อยอาจทำให้สามารถดักหนูได้ดีขึ้นหรืออาจจะเอากับดักไว้ในที่ราบและไม่ลึกนัก และที่ผิวหน้ามีขี้เลื่อยหรือเมล็ดพันธ์พืชวางทับอยู่กับดักจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น การใช้เหยื่อที่มีปริมาณมากจะทำให้ดักหนูยากยิ่งขึ้นและหนูที่รอดจากกับดักไปจะเข็ดและไม่กล้ามาอีก ทำให้กำจัดได้ยาก หากหนูมีจำนวนมากให้ใช้กับดักจำนวนมากช่วยเพื่อป้องกันหนูที่จะหลุดรอดไปได้และเกิดความกลัวเข็ดกับการดักหนูวิธีนี้

2.3 การใช้กาว เป็นวิธีที่นิยมกันมาก การดักทำได้โดยเอาเหยื่อวางบนแผ่นโลหะหรือบนจานแบนๆ แล้วเอากาวป้ายเป็นวงกลมรอบเหยื่อ เมื่อหนูมากินจะเหยียบถูกกาวและถูกยึดเอาไว้ ไม่สามารถหนีได้ วิธีนี้เป็นการกำจักนูที่มีประสิทธิภาพดีมากและสามารถนำหนูไปทิ้งได้ทันทีด้วย ไม่ทำให้เกิดการเน่าเหม็นของหนูตายและเป็นวิธีที่ไม่ต้องใช้สารเคมีเบื่อหนูด้วย ทำให้ป้องกันการปนเปื้อนสารเคมีกับผลิตภัณฑ์ได้

2.4 การทำให้เกิดการสั่นสะเทือน เป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผลดี โดยการใช้เครื่องทำให้ผนังหรือพื้นสั่นสะเทือน ช่วยป้องกันไม่ให้หนูเข้ามาในโรงงานได้

2.5 การปิดทางเข้าออกของหนู เป็นวิธีการที่ป้องกันและกำจัดหนูได้จริงๆ ไม่มีการซ่อนตัวอยู่ในรัง ทำได้โดยการออกแบบอาคารให้สามารถป้องกันมิให้หนูเข้าไปได้ และวัสดุที่ใช้ควรจะเป็นวัสดุที่สามารถป้องกันการกัดแทะของหนูได้ เช่นคอนกรีต อิฐ กระเบื้องชนิดหนาหรือเหล็กเป็นต้น แต่ถ้าเป็นไม้ เช่นประตูไม้ ขอบประตูควรหุ้มด้วยโลหะ ทั้งนี้เพื่อป้องกันหนูแทะ หน้าต่างก็เช่นเดียวกันและควรบุด้วยตาข่าย เพื่อป้องกันหนูเข้าได้ ส่วนที่เปิดของท่อระบายน้ำก็เช่นเดียวกัน ควรจะมีตะแกรงหรือเหล็กปิด เพื่อป้องกันมิให้หนูขึ้นมาหรือเข้ามาในโรงงานได้

การป้องกันมิให้หนูขุดรูหรือทำโพรงเข้ามาในโรงงานนั้นอาจทำได้โดยการทำผนังรากตึกเป้นรูปตัว L คือให้มีรากตึกฝังลึกลงไปในดินอย่างน้อย 2 ฟุต และมีปลายออกมาทางแนวนอนอีก 1 ฟุต ส่วนขอบผนังตึกควรก่อให้สูงกว่าพื้นดินอย่างน้อย 1 ฟุต

สัตว์เลี้ยงต่างๆ

นอกจากหนูแล้วยังพบว่าสัตว์เลี้ยงบางชนิดก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับด้านสุขาภิบาลในโรงงานด้วยเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น นกพิราบหรือนกเขาที่เลี้ยงไว้รอบๆบริเวณโรงงาน ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มักเกิดจากมูลนก ฝุ่นที่กระจกจากการกระพือปีก นอกจากนี้รังนกยังมีพวกแมลงต่างๆเข้าไปอาศัยอยู่ด้วยซึ่งอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคเข้าสู่โรงงาน เช่นห้องเก็บวัตถุดิบผลิตภัณฑ์อาหาร หรือห้องเก็บอาหารที่ผลิตสำเร็จแล้ว อาจจะถูกปนเปื้อนด้วยขนนก มูลนกได้ ที่พบว่านกเป็นพาหะของโรคต่างๆได้เช่น Psittacosis Histoplasmosis Encephalitis และ Samonellosis เป็นต้น นอกจากนี้ยังเกิดมลภาวะด้านกลิ่นอีกด้วย

การป้องกันและกำจัดนก

หากเป็นนกที่มีเจ้าของที่ทางโรงงานเลี้ยงไว้ก็อาจเคลื่อนย้ายไปอยู่ยังที่ที่ห่างไกล แต่ถ้าเป็นนกที่มาทำรังอยู่เองก็อาจป้องกันและกำจัดโดยใช้กับดักหรือทำลายรังและไข่นกซึ่งจะต้องทำบ่อยๆ การทำลายด้วยสารพิษนั้นควรเป็นวิธีสุดท้ายที่เลือกทำ เพราะมีอันตรายค่อนข้างมากในกรณีใช้กับดักอาจใช้เหยื่อซึ่งมี Strychnine alkaloid อยู่ 1 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจใช้ 4- amino pyridine เป็นส่วนผสมในเหยื่อ ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้ Azaco sterol ซึ่งเป็นสารทำให้นกพิราบเป็นหมันผสมในแป้ง เพื่อช่วยลดปริมาณนกพิราบ สำหรับตัวอาคารโรงงานนั้นอาจป้องกันด้วยการมุงตาข่ายมุ้งลวดตามหน้าต่างหรือช่องลม ทั้งนี้เพื่อป้องกันนกพิราบบินเข้าไปในโรงงาน หรืออาจทำเสียงไล่ก็ได้ แต่ไม่ค่อยได้ผล เพราะนกจะชินกับเสียงดังกล่าว

แมวและสุนัข

เป็นสัตว์สำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขาภิบาลด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแมวและสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ ที่หลงเข้ามาเดินเพ่นพ่านในโรงงานหรือถ่ายมูลไว้ในโรงงาน เพราะเมื่อสัตว์เหล่านี้มีโอกาสัมผัสหรือกัดกินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์อาหาร หรือสัมผัสกับอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อโรคได้อย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารและพยาธิต่างๆ นอกจากนี้หากแมวและสุนัขที่เข้ามาเพ่นพ่านเป็นโรคกลัวน้ำคนงานหรือผู้ที่อยู่ในโรงงานอาจติดเชื้อนี้ได้

จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าหนูและสัตว์เลี้ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนก สุนัขและแมว มีส่วนทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขาภิบาลในโรงงานได้ จึงควรมีการควบคุมและป้องกันกำจัดให้ถูกวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้น และทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยต่อผู้บริโภคด้วย

กลับสู่รายการ

Hosted by www.Geocities.ws

1