ถ่ายคล่อง ๆ ด้วยแกงขี้เหล็ก


ตำรับยาแผนโบราณของ " หมอพร " หรือกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กล่าวว่า ให้เอาแก่ขี้เหล็ก แก่นฝาง ใบมะกา ใบมะขาม ใบส้มป่อย ฯลฯ รวม 24 สิ่ง หนักเท่ากัน ใส่หม้อดินต้มน้ำพอควร รับประทานครั้งละ 1 ถ้วย วันละ 2 เวลา บรรเทาเครียด แก้โรคประสาท ได้ผลชะงักนักแล

ตำราแผนไทยฉบับอื่นๆ กล่าวถึงสรรพคุณขี้เหล็กไว้ตรงกันว่า ใบขี้เหล็กแก้นอนไม่หลับ เป็นยาระบายอย่างอ่อน ดอกแก้รังแค แก้หืด และอาการนอนไม่หลับ ส่วนขี้เหล็กทั้งห้า (คือเอาทั้งใบ ดอก ผล ต้น ราก) ช่วยถ่ายพิษกระษัย พิษไข้ ฯลฯ

เอ…ขี้เหล็กมีดีอะไรหนอ ?

ขี้เหล็กเป็นพืชพื้นเมืองในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบทั่วไปในประเทศไทย ศรีลังกา มาเลเซีย และเพื่อนบ้านใกล้เคียง

ดอกขี้เหล็กเป็นช่อสีเหลือง คนชนบทนิยมเก็บใบอ่อนและดอกมาทำแกงขี้เหล็ก อร่อยอย่าบอกใคร

เมื่อราว 60 ปีมาแล้ว ในช่วงสงครามโลก ประเทศไทยขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์ จำเป็นอย่างมาก ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ได้พยายามศึกษาค้นคว้าตำรายาไทย เพื่อหาว่าพืชสมุนไพรตัวใดที่อาจนำมาใช้แทนยาแผนปัจจุบันได้

ในราวปี พ.ศ.2485 คุณหมออวยได้พบว่า สมุนไพรหลายชนิดมีฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะขี้เหล็กตำรับยาไทยหลายเล่มระบุสรรพคุณตรงกันในด้านคลายเครียด บรรเทาอาการจิตฟุ้งซ่าน ขี้เหล็กเป็นอาหารพื้นบ้านชาวไทยมานานหลายร้อยปีแล้ว ความปลอดภัยอยู่ในระดับที่มั่นใจได้

ห้าปีต่อมา แพทย์หญิงอุไร อรุณลักษณ์ แผนกสรีรวิทยา โรงพยาบาลศิริราช ได้ทำการศึกษาอย่างจริงจัง โดยกระทำการสะกัดสารสำคัญจากใบขี้เหล็กด้วยแอลกอฮอล์ แล้วนำสารที่ได้ฉีดใส่สัตว์ทดลอง เพื่อดูว่ามันจะมีฤทธิ์อย่างที่คนโบราณบันทึกได้หรือไม่

ฮู เร!

สัตว์ทดลองที่ได้กินหรือฉีดสารสะกัดจากใบขี้เหล็ก จะมีอาการซึม เคลื่อนไหวช้าลง ชอบอยู่เฉยๆ ซุกหน้าแต่ไม่ถึงกับหลับ

คุณหมออุไร ได้ทดลองใช้สารสะกัดขี้เหล็กกับผู้ป่วยที่มีปัญหานอนไม่หลับ 8 คน พบว่า ขี้เหล็กช่วยให้หลับได้ดีตลอดคืน จึงสรุปว่าขี้เหล็กมีฤทธิ์เป็นยาสงบระงับ (Sedative) ได้

แสดงว่าสารสำคัญในขี้เหล็กออกฤทธิ์ได้จริงและไม่รุนแรง

นั่นเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของขี้เหล็กที่จะอวดโฉมในวงการแพทย์ไทย และวงการแพทย์โลก

ในเมืองนอก คณะผู้วิจัยในมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม ประเทศอังกฤษได้ศึกษาหาว่า สารสำคัญตัวนี้คืออะไร และพบในเวลาต่อมาว่า มันคือสารพวกโครโมน (Chromone) พวกเขาตั้งชื่อมันว่า บาราคอล (Barakol) หรือแอนไฮโดรเจนบาราคอล

นานถึง 30 ปีเต็มที่ขี้เหล็กไทยถูกทอดทิ้งในวงการแพทย์ จนถึงปี 2521 เภสัชกร ชัยโย ชัยชาญทิพย์ยุทธ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ของผู้เขียน สามารถสะกัดสารบริสุทธิ์สีเหลืองออกมาได้ ในปริมาณความเข้มข้น 0.1%

เภสัชกรชื่อดังของประเทศอีกท่านหนึ่งคือ รองศาสตราจารย์ภาวิช ทองโรจน์ แห่งคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยพบว่าบาราคอลมีฤทธิ์สงบประสาทจริง และทดสอบหาความเป็นพิษ พบว่าบาราคอลมีพิษน้อย

มงคล โมกขสมิตร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า แม้ใช้ 5,000 เท่าของขนาด ในตำรายาแผนโบราณ ก็ยังไม่ก่อพิษ

นายแพทย์ดำรงศักดิ์ บุญเลิศ คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาใบอ่อนขี้เหล็ก พบว่า สารบาราคอลทั้งในขนาดต่ำและสูงสามารถแสดงฤทธิ์ทำให้หนูขาวนอนหลับใน 15-20 นาที และหลับนานนับชั่วโมง

อาจารย์วัชรีวรรณ ทองสะอาด และคณะ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์ ทดลองเปรียบเทียบสารบาราคอลจากใบขี้เหล็กกับยาคลายเครียด Diazepam หรือที่รู้จักกันดี ในนามแวเลียม พบว่ามีฤทธิ์คลายเครียดคล้ายกัน

ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมได้พัฒนาขี้เหล็กไทยให้เป็นยาคลายเครียด ช่วยให้นอนหลับ อย่างเป็นธรรมชาติ แต่ยังติดขัดเรื่องความเป็นพิษต่อตับ ทำให้การพัฒนาประสบอุปสรรค

นอกจากฤทธิ์คลายเครียด หนังสือยาสมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน กระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2537 กล่าวว่า แอนทราควิโนน ในใบและดอกตูมของขี้เหล็ก ยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ และช่วยแก้อาการท้องผูกได้

น่าสนใจนะครับ เมืองไทยมีอะไรดีๆ ที่คนรุ่นใหม่ยังไม่รู้อีกแยะ

แหม…หลับง่าย ถ่ายคล่องอย่างนี้ หิ้วแกงขี้เหล็กกลับบ้านสักถุง ทานเป็นกับข้าวมื้อเย็น ดีไหมครับ ?


(update 19 ตุลาคม 2001)
[ที่มา..หนังสือ นิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 25 ฉบับที่ 6 มิถุนายน 2544 ]


[ BACK TO LIST]

Hosted by www.Geocities.ws

1