ระบบนิเวศปากแม่น้ำหรือระบบนิเวศป่าชายเลน (Estuary and Mangrove forest)


บริเวณปากแม่น้ำหรือบริเวณน้ำกร่อย เป็นบริเวณที่น้ำจืดจากแม่น้ำไหลมาบรรจบกับทะเล ทำให้น้ำบริเวณนี้มีการเปลี่ยนแปลงของความเค็มอยู่ตลอดเวลา แต่อย่างไรก็ตามบริเวณนี้นับว่ามีความอุดมสมบูรณ์มาก เนื่องจากแม่น้ำได้พัดพาเอาตะกอนแร่ธาตุ สารอาหารต่างๆ จากต้นน้ำลงมาด้วย ทำให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตต่างๆมากมาย นอกจากนี้แล้ว ในบริเวณนี้เรายัง พบป่าชายเลนซึ่งมีพรรณไม้ต่างๆ เช่น ต้นโกงกาง แสม ลำพู ลำแพน เป็นต้น ซึ่งเป็นต้นไม้ที่อาศัยอยู่บริเวณน้ำกร่อย และเป็นดินเลน ได้เป็นอย่างดี ป่าชายเลนนี้นับว่ามีคุณประโยชน์มากมายต่อระบบนิเวศทางทะเล รากของต้นโกงกาง และแสมจะรุงรังซับซ้อนเพื่อช่วยยึดลำต้นที่เจริญอยู่บนดินเลน ทำให้มีช่องเล็กช่องน้อย เหมาะสมสำหรับการหลบซ่อนของสัตว์น้ำวัยอ่อน บริเวณนี้จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเป็นจำนวนมาก รากของต้นไม้ยังช่วยดักดินตะกอนไม่ให้พัดพาลงสู่ทะเลมากนัก และเกิดเป็นแผ่นดินใหม่เพิ่มขึ้น อยู่ตลอดเวลา ป่าชายเลนยังช่วยกำบังคลื่นลมได้เป็นอย่างดี ตัวต้นไม้ยังมีคุณค่าสูง โดยนำไปเผาถ่านที่มีคุณภาพ และสารสกัดทางเคมีสามารถนำไปใช้อุตสาหกรรมได้ เช่น แทนนิน ชาโปนิน เป็นต้น แต่เป็นที่น่าวิตกอย่างยิ่งที่ในปัจจุบันบริเวณปากแม่น้ำและป่าชายเลนกำลังสูญเสียและเสื่อมโทรมลง โดยปัญหามลพิษต่างๆ จากแม่น้ำและการเปลี่ยนแปลงไปเป็นพื้นที่สำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงควรที่จะช่วยป้องกันรักษาเอาไว้ให้ดำรงอยู่ตลอดไป
สัตว์ที่พบในบริเวณปากแม่น้ำและป่าชายเลน มีความหลากหลายมาก ทั้งจำนวนชนิดและความหนาแน่นของประชากร โดยที่ทั้งพวกที่อยู่อย่างถาวรและที่อยู่ชั่วคราว การที่มีสัตว์อาศัยอยู่มากนั้น เนื่องจากบริเวณนี้มีแหล่งที่อยู่อาศัยมากมาย เช่น
พวกที่อยู่อาศัยตามพื้นผิวดิน ได้แก่ ปลาตีน ปูเสฉวน หอยทะเลบางชนิด ฯลฯ
พวกที่อยู่ตามใต้ผิวดิน รวมทั้งที่ขุดรูอยู่ ได้แก่ ไส้เดือนทะเล ปูแสม ปูก้ามดาบ กุ้งดีดขัน ฯลฯ
พวกที่อาศัยอยู่ในน้ำ ได้แก่ กุ้งชนิดต่างๆ เช่น กุ้งตาแดง กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ ปลานวลจันทร์ทะเล ปลากะพงขาว ปลาเก๋า ปลากระบอก เป็นต้น รวมทั้งพวกที่อยู่ตามร่องน้ำ เช่น ปู ปลา กุ้ง งู จระเข้และกบ เป็นต้น
พวกที่อยู่อาศัยตามต้นไม้ ใบไม้ รากโกงกาง ได้แก่ หอยนางรม ทากทะเล หอยขี้นก ปูแสม เพรียงหิน แมลง นกชนิดต่างๆ ตลอดจนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมบางชนิด เช่น ลิงแสม ค่าง อาศัยอยู่เพื่อใช้เป็นแหล่งผสมพันธุ์หรือวางไข่ และเป็นแหล่งอาหาร

 

Home

Hosted by www.Geocities.ws

1