งูดินโมรีโมท Futaba Skysport4 เป็น 7 ch

ผมมีรีโมท Futaba Skysport4 รุ่นหน้าดำมีเข็ม อยู่ตัวหนึ่ง ซื้อมาตั้งแต่เริ่มเล่นเครื่องบินไฟฟ้าใหม่ ๆ ตอนซื้อมาราคาชุดละ 5,000 บาท อายุอานามเกือบ 4 ปี แล้วครับ ผมใช้กับเครื่องบินไฟฟ้าในระยะแรก ๆ ต่อมาพอเริ่มเล่น ฮ ก็เอามาใช้กับ ฮ โดยบังคับแบบ 4 ช่อง ใช้สาย Y ต่อกับช่องคันเร่งและเซอร์โวยก pitch ก็ยังสามารถใช้ได้ดี ปัจจุบันราคารีโมทมือสองเหลือแค่ 1,200-1,500 บาท รีโมทตัวนี้สามารถดัดแปลงเพิ่มช่องเป็น 5 ช่องได้ง่าย ๆ ด้วยการเพิ่มสวิตช์ หรือถ้ามีฝีมืออีกหน่อยก็สามารถเพิ่มเป็น 7 ช่องได้ครับ จากการศึกษาข้อมูลในเวป และร่วมกันทดลองกับเพื่อน ๆ ในเวปหลายท่านเช่นคุณ Domino คุณ wit คุณ Noneam คุณ pstp โดยได้รับคำแนะนำจากคุณ TNP ทำให้ผมสามารถดัดแปลงเพิ่มเป็น 7 ช่องได้สำเร็จ (ดูรายละเอียดใน เวปบอร์ดของ Weekendhobby.com)

ผมจึงขอถ่ายทอดประสบการณ์การโม Futaba Skysport4 หน้าดำของผมให้เพื่อนๆ เป็นแนวทางให้ผู้ที่ต้องการดัดแปลงได้มีข้อมูลครับ

อุปกรณ์ที่ควรมี ในการโม Futaba Skysport4

1.มีดคัตเตอร์คม ๆ สำหรับการตัดลายวงจร

2.หัวแร้งขนาด 20-30 วัตต์ ปลายแหลมๆ เพราะจุดบัดกรีเล็กมาก ๆ

3.ที่ดูดตะกั่ว เผื่อว่าบัดกรีพลาดไปโดนจุดอื่น

4.ดิจิตอลมัลติมิเตอร์ จำเป็นมาก เพื่อจะวัดว่ามีการลัดวงจรหรือไม่ ตัดลายวงจรขาดดีแล้วหรือไม่ ไฟเข้าวงจรหรือไม่ ฯลฯ

5.ออสซิลโลสโคป หรือโปรแกรมออสซิลโลสโคป เพื่อวัดสัญญาณ pulse ว่าออกมาถูกต้องหรือไม่ ผมใช้โปรแกรม Zelscope เป็น shareware ใช้ได้ 30 วัน สามารถใช้การได้ดี

แนวความคิดในการโม

ก่อนจะเริ่มลงโม ผมขอเล่าถึงแนวคิดทางทฤษฎีสักเล็กน้อย เพื่อจะได้มีความเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังจะทำลงไปครับ

รีโมท Futaba Skysport4 นี้ มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ ไมโครคอนโทรลเลอร์ เบอร์ FP6335 ซึ่งเป็นมันสมองสั่งการในการรับสัญญาณแรงดันไฟฟ้าจากสติ๊กทั้ง 4 ช่อง ซึ่งมี Variable Resister ขนาด 5K หรือที่เราเรียกว่าโวลลุมทำหน้าที่เป็นตัวแบ่งแรงดันให้มีขนาด 0-5V. ก่อนป้อนเข้า FP6335 จากนั้น FP6335 จะสร้าง pulse จำนวน 5 ลูก โดยลูกที่ 1-4 จะเป็นสัญญาณช่องที่ 1-4 ที่มีความกว้างของ pulse ประมาณ 0.5-1.5ms ตามสัดส่วนแรงดันที่ได้รับจากสติ๊กแต่ละช่อง ส่งออกไปยังภาคส่ง RF เพื่อส่งคลื่นวิทยุออกไป สำหรับ pulse ลูกที่ 5 จะเป็นสัญญาณช่องที่ 5 แต่ยังไม่สามารถควบคุมได้เนื่องจากทาง Futaba ไม่ได้ต่อสวิตช์ควบคุมมาให้

การเพิ่มเป็น 5 ช่อง จึงสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการซื้อสวิตช์เปิดปิดมา 1 ตัว แล้วต่อกับช่องสัญญาณ ขาเข้าของช่องที่ 5 ก็สามารถควบคุมช่องที่ 5 ได้แล้ว โดยช่องที่ 5 นี้ จะมีสถานะแค่ on/off เท่านั้น ไม่สามารถควบคุมด้วยโวลลุมเหมือนช่องที่ 1-4 อันนี้เป็นการออกแบบ Futaba Skysport4 แบบเดิม ๆ ครับ

คราวนี้ถ้าอยากจะโมเป็น 7 ช่องมีแนวทางอย่างไร

เนื่องจาก FP6335 นอกจากจะใช้ใน Futaba Skysport4 แล้ว ยังใช้ใน Futaba Skysport6 ซึ่งเป็นรีโมท 6 ช่อง ในคลาสเดียวกันด้วย แสดงว่า หากจัดสัญญาณของ FP6335 และเพิ่มอุปกรณ์เลียนแบบ Futaba Skysport6 ก็สามารถ เพิ่มเป็น 6 ช่องได้ ซึ่ง Futaba Skysport6 เอง ก็สามารถโมเพิ่มเป็น 7 ช่องได้อีกด้วย ดังนั้นหากนำวิธีดังกล่าวทั้งหมดมาโมกับ Futaba Skysport4 ของเราก็สามารถโมให้เป็น 7 ช่องได้

มาเริ่มลงมือกันดีกว่าครับ

ใช้ไขควงหัวแฉก ไขสกรูจำนวน 4 ตัว ที่ฝาหลังของรีโมทออก จะเห็นแผงวงจรทั้งหมด โดยจะเห็นขาด้านล่างของ FP6335 จำนวน 32 ขา บัดกรีอยู่กับแผงวงจร การอ้างอิงเลขขาในที่นี้จะอ้างอิงจากด้านล่างเพื่อความสะดวก แต่จะกลับกับขาจริงซึ่งอ้างอิงจากด้านบนนะครับ

เพื่อความเข้าใจที่ดี ขอให้เพื่อน ๆ เปิดรีโมท แล้วใช้ Scope วัดสัญญาณจากขา 29 ซึ่งเป็นขาที่ส่ง pulse ไปยังภาค RF เทียบกับกราวด์ จะเห็นว่ามี pulse ออกมา 5 ลูก

 

จากนั้นลองโยกสติ๊กทั้งหมดไปมา จะเห็นความกว้างของ pulse ลูกที่ 1-4 มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนลูกที่ 5 ยังคงที่

เรามาเพิ่มสวิตช์ช่องที่ 5 กันก่อน

อุปกรณ์ที่ใช้มีดังนี้

สวิตช์โยกปิดเปิด 1 ตัว

คาปาซิเตอร์ 22nf 1 ตัว

ติดตั้งสวิตช์ที่มุมบนด้านซ้ายของรีโมท หรือที่อื่นตามสะดวก สำหรับควบคุมช่องที่ 5

ต่อสายไฟจากสวิตช์เส้นหนึ่งมาเข้าที่ขา 3 ของ FP6335 อีกเส้นหนึ่งลงจุด กราวด์ที่แผงวงจร แล้วต่อคาปาซิเตอร์คร่อมระหว่างขา 3 กับกราวด์เพื่อป้องกันสัญญาณรบกวน

ลองใช้ scope วัดสัญญาณจากขา 29 แล้วลองเปิดปิดสวิตช์ช่องที่ 5 จะเห็น pulse ลูกที่ 5 มีการเปลี่ยนแปลง แสดงว่าเราเพิ่มช่องที่ 5 ได้สำเร็จแล้ว ง่ายจัง

การเพิ่มช่องที่ 6-7 ออกจะยุ่งหน่อยนะครับ

การเพิ่มช่องที่ 6-7 ค่อนข้างวุ่นวายและละเอียดอ่อนครับ เพราะต้องจัดขาสัญญาณของ FP6335 ใหม่ ตัดต่อลายวงจรและเพิ่มอุปกรณ์อีกเล็กน้อย ลองมาดูวงจรของ Skysport7 แบบสมบูรณ์กันเลย ต้องขออนุญาตนำภาพสมบูรณ์ของคุณ wit จากเวปของ Weekendhobby.com ครับ

อุปกรณ์ที่ต้องใช้มีดังนี้

ไอซี เบอร์ cd4051 จำนวน 1 ตัว สำหรับถอดรหัส

ซอกเก็ตไอซีขนาด 16 ขา ผมใช้ขาซอกเก็ตแทนแผ่นปริ๊นต์สำหรับเชื่อมอุปกรณ์ทั้งหมด เพื่อให้มีขนาดกะทัดรัด

โวลลุม 5KB จำนวน 2 ตัว สำหรับควบคุมช่องที่ 6,7

รีซิสเตอร์ 10k 1/4W จำนวน 5 ตัว สำหรับ pull ไฟเข้าไอซี

สวิตช์ปิดเปิด จำนวน 2 ตัว สำหรับเป็นสวิตช์ reverse ของ ช่องที่ 5,6 ส่วนช่องที่ 7 ไม่สามารถต่อสวิตช์ reverse ได้ครับ

ก่อนจะเพิ่มอุปกรณ์เราต้องตัดต่อลายวงจรที่สำคัญหลายจุดครับ เตรียมคัตเตอร์กับมัลติมิเตอร์และ scope ให้พร้อม

ขั้นแรก ดูลายวงจรที่ขา 22 และ 23 จะเห็นว่าทั้งสองขาเชื่อมกันลงกราวด์อยู่ ให้ตัดลายวงจรแยกขา 22 ออกมาให้ลอยไว้ ส่วนขา 23 คงต่อลงกราวด์เหมือนปกติ

จากนั้นมองถัดไปทางขวาเล็กน้อยจะเห็นบนแผงวงจรมีไอซีเร็กกูเลเตอร์แปลงไฟจาก 12V. ของแบตเตอรี่เป็น 5V. ให้ต่อสายไฟจากขา 22 เข้าสู่จุดไฟบวก 5 V.

หลังจากนั้นใช้ scope วัดสัญญาณที่ขา 29 จะเห็นว่ามีสัญญาณ pulse ออกมา 7 ลูกแล้วครับ

ลองโยกสติ๊กทั้งสองข้าง และสับสวิตช์ช่องที่ 5 จะเห็นว่า สัญญาณช่องที่ 1-4 มันรวมกันอยู่ แต่ช่องที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 สามารถใช้ได้ปกติ จึงต้องมีการถอดรหัสสัญญาณช่องที่ 1-4 ต่อไปครับ

ขอให้สนุกครับ

[email protected]

4 ธันวาคม 2549

มาเริ่มต่อวงจรถอดรหัสได้แล้วครับ

สำหรับวงจรถอดรหัส ใช้ไอซีเบอร์ cd4051 รับสัญญาณ C,B,A จาก FP6335 เพื่อจะแยกช่องสัญญาณ ch1-4 เพื่อความสะดวกกะทัดรัดผมจึงใช้ซ็อกเกตไอซีเป็นตัวโยงอุปกรณ์ต่าง ๆ แทนการใช้แผ่นปริ๊นต์ ทำให้ประหยัดเนื้อที่และสะดวกมาก

ขั้นตอนแรก คือต่อตัวต้านทานขนาด 10k ทั้งห้าตัวลงบนขาของ socket IC ก่อนตามวงจรครับ

การอ้างอิงขาของไอซี cd4051 ในที่นี้ใช้การอ้างอิงแบบมาตรฐานนะครับ คือมองตำแหน่งขาจากด้านบน ไม่ใช่มองจากด้านล่างเหมือน FP6335 ระวังจะสับสนกันนะครับ

ขา 1,4,5,16 ต่อรวมกัน แล้วต่อสายไฟโยงออกมาเพื่อจะไปเข้าไฟบวก 5V. ของแผงในรีโมท

ขา 9,10,11 แต่ละขาต่อกับขา ตัวต้านทาน 10K แล้วขาอีกด้านหนึ่งของตัวต้านทานก็รวมกันไปเข้าไฟบวกที่ขา 1,4,5,16 นอกจากนี้ที่ขา 9,10,11 จะต้องต่อสายไฟโยงออกมาเป็น 3 เส้น เพื่อจะต่อเข้าขา 30,31,32 ของ FP6335 ด้วย

ขา 3 ต่อสายไฟโยงออกมาเพื่อจะไปเข้าจุดต่อตัวต้านทาน 100 โอห์มของแผงในรีโมท ซึ่งมีลายวงจรไปเข้าขา 11 ของ FP6335

ขา 6,7,8 ต่อรวมกัน แล้วต่อสายไฟโยงออกมาเพื่อจะไปเข้าจุดกราวด์ของแผงในรีโมท

ขา 2 ต่อกับ ตัวต้านทาน 10K จำนวน 2 ตัว ตัวหนึ่งแยกไปเข้าไฟบวกที่ขา 1,4,5,16 อีกตัวหนึ่งแยกไปต่อกับขา 6,7,8 เพื่อลงจุดกราวด์

ขา 12,13,14,15 แต่ละขา ต่อสายไฟโยงออกมาเป็น 4 เส้น เพื่อจะไปเข้าขากลางของโวลลุม 4 ตัว ในสติ๊กทั้งซ้ายและขวา เป็นการแยกการควบคุมช่องที่ 1-4

การต่อจุดต่าง ๆ ควรสวมท่อหดลงไปด้วยเพื่อป้องกันการลัดวงจรครับ

เมื่อทำเสร็จแล้วจะเห็นเป็นโมดุลของวงจรถอดรหัส ที่มีสายไฟโยงออกมา 10 เส้น เพื่อนำไปต่อเข้าจุดต่าง ๆ บนแผงวงจรครับ โดยสายไฟทั้ง 10 เส้นไปต่อจุดต่าง ๆ คือ

  1. ไฟบวก 5v.
  2. กราวด์
  3. ขา 30 FP6335
  4. ขา 31 FP6335
  5. ขา 32 FP6335
  6. ตัวต้านทาน 100 โอห์ม แล้วไปเข้าขา 11 FP6335
  7. ขากลางโวลลุม ch1
  8. ขากลางโวลลุม ch2
  9. ขากลางโวลลุม ch3
  10. ขากลางโวลลุม ch4

ลองเสียบไอซี cd4051 ลงในโมดุลแล้ว ดูเท่ไม่หยอก

เสร็จแล้วเอาโมดุลวางไว้ก่อนครับ

มาตัดต่อลายวงจรกันอีกสักหน่อย

เนื่องจากโวลลุมทั้งสี่ตัวของสติ๊กซ้ายขวา จะต้องย้ายขากลางมาเข้าที่โมดุลถอดรหัส ดังนั้นจึงต้องตัดลายวงจรที่ไปเข้าขากลางของโวลลุมทั้งหมดออก ผมไม่อยากตัดลายวงจรที่แผงวงจรใหญ่ จึงใช้วิธีตัดลายวงจรบนแผ่นปริ๊นต์เล็ก ๆ ที่ติดอยู่ตรงขาโวลลุมแทนครับ ใช้มีดกรีดลายวงจรที่เข้าขาตรงกลางของโวลลุมทั้งสี่ตัวให้ขาดออกจากกัน

 

มาดูที่แผงวงจรใหญ่ ดูขา 30,31,32 ของ FP6335 เดิมจะต่อร่วมกันลงกราวด์อยู่ เราต้องใช้มีดคัตเตอร์กรีดแยกแต่ละขาให้ลอยออกจากกราวด์ ตรงนี้ต้องใจเย็น ๆ ค่อย ๆ กรีด แล้วใช้มัลติมิเตอร์วัดความต้านทานดูให้แน่ใจว่าแต่ละขาได้แยกจากกันและแยกจากกราวด์เป็นอิสระ

เพื่อความมั่นใจ ลองใช้ scope วัดสัญญาณที่ขา 30,31,32 ดูจะได้ดังนี้

สัญญาณ C ขา 30

สัญญาณ B ขา 31

สัญญาณ A ขา 32

เมื่อทำเสร็จแล้ว ลองชำเลืองดูที่ขา 2 สักหน่อย ดูว่าขา 2 มีการเชื่อมลงกราวด์หรือว่าปล่อยลอยไว้ ถ้ายังปล่อยลอยไว้อยู่ก็จัดการเชื่อมลงกราวด์เสียด้วยครับ ขา 2 นี้ เป็นขาเลือกระหว่าง mode 1 และ mode 2 ปกติจะต้องเชื่อมลงกราวด์คือเป็น mode 2 แต่รีโมทบางตัวเช่นของผม เดิมเป็น mode 1 แต่ร้านที่นำเข้าได้แปลงย้ายเฉพาะสติ๊กคันเร่งมาด้านซ้าย โดยไม่ได้แก้ไขที่ขา 2 ทำให้ ch3 ที่ควรเป็นคันเร่ง ไปสลับกับ ch2 เมื่อผมจัดการเชื่อมขา 2 ลงกราวด์แล้ว ทำให้รีโมทกลายเป็น mode 2 อย่างสมบูรณ์ครับ

แค่นี้ละครับ สำหรับการตัดต่อลายวงจร

ต่อไปเป็นการติดตั้งโวลลุมสำหรับ ch6,7

ใช้โวลลุมขนาด 5KB ตัวเล็ก จำนวน 2 ตัวครับ ต่อสายเข้าแทนจุดต่อโวลลุมที่เคยเป็นช่อง elevator และ aileron เพื่อใช้ควบคุมช่องที่ 6 และ 7

จากนั้นก็เอาโวลลุมที่เพิ่มขึ้นมานี้ไปติดตั้งบนจุดที่สะดวกแก่การใช้งานบนตัวถังรีโมท ของผมติดโวลลุม ch6 ไว้ที่มุมบนขวา ส่วน ch7 อยู่ที่ด้านข้างซ้าย

ลองใช้ scope จับสัญญาณที่ขา 29 อีกทีหนึ่ง ลองหมุนโวลลุมทั้งสองตัวดู จะเห็นว่า pulse ลูกที่ 6,7 มีการเปลี่ยนแปลงความกว้างตามการปรับโวลลุม

เป็นอันสำเร็จการติดตั้ง ch 6 ,7 แล้วครับ

ต่อไปก็นำโมดุลถอดรหัสมาติดตั้งครับ

โดยการนำสายไฟทั้งสิบเส้นของโมดุลถอดรหัสมาเชื่อมกับจุดต่าง ๆ บนแผงวงจรและโวลลุมทั้งสี่ตัวของสติ๊กซ้ายขวาครับ ทบทวนกันหน่อย สายไฟทั้งสิบเส้นของโมดุลมีดังนี้

เส้นที่ 1 เข้าไฟบวก 5v.

เส้นที่ 2 เข้ากราวด์

เส้นที่ 3 เข้าขา 30 FP6335

เส้นที่ 4 เข้าขา 31 FP6335

เส้นที่ 5 เข้าขา 32 FP6335

เส้นที่ 6 เข้าตัวต้านทาน 100 โอห์ม(ซึ่งมีอยู่บนแผงวงจรใหญ่อยู่แล้ว)ที่ต่อไปเข้าขา 11 FP6335

เส้นที่ 7 เข้าขากลางโวลลุม ch1

เส้นที่ 8 เข้าขากลางโวลลุม ch2

เส้นที่ 9 เข้าขากลางโวลลุม ch3

เส้นที่ 10 เข้าขากลางโวลลุม ch4

ในส่วนของผมเอง จะเชื่อมเฉพาะสายสัญญาณ A,B,C คือสายไฟจากโมดุลเส้นที่ 3, 4, 5 ลงขา 30,31 และ 32 ของ FP6335 บนแผงวงจรใหญ่ ส่วนสายไฟจากโมดุลถอดรหัสเส้นอื่น ๆ ที่เหลือ ผมหาจุดเชื่อมจากแผงวงจรเล็กที่ขาของโวลลุมทั้งสี่ตัว เพราะมีจุดบัดกรีที่ใหญ่กว่า สามารถบัดกรีได้ง่ายกว่าการบัดกรีลงบนแผงวงจรใหญ่ซึ่งบัดกรียากเพราะจุดเชื่อมเล็กมาก วิธีนี้นอกจากบัดกรีสะดวกแล้วยังไม่ทำให้แผงวงจรใหญ่ช้ำมากด้วยครับ

ติดตั้งเสร็จแล้วก็ลองใช้ scope จับสัญญาณจากขา 29 ของ FP6335 ดูครับ จะเห็นว่าทั้งเจ็ดช่องสามารถใช้งานได้ครบถ้วนโดยช่องที่ 1-4 รับสัญญาณจากสติ๊กทั้งสองข้าง ช่อง 5 เป็นสวิตช์ ช่อง 6 และ 7 รับสัญญาณจากโวลลุมที่ติดตั้งเพิ่ม

สำหรับโมดุลถอดรหัสผมใช้ท่อหดหุ้มให้เรียบร้อยแล้วสอดซ่อนไว้ใต้เสาอากาศใกล้ ๆ มิเตอร์วัดไฟด้านหน้ารีโมทครับ

จากนั้นลองหารีซีฟ e-sky 6ch มาทดสอบการทำงานดูครับ รีซีฟ e-sky นี้ แม้จะเป็นรุ่น 6ch แต่ความจริงเป็นรีซีฟ 7ch ครับ โดย ch 7 คือช่อง B นั่นเองครับ ลองเอาเซอร์โวมาต่อตามช่องต่าง ๆ ทดสอบการทำงานดูครับ

หากเพื่อน ๆ ต้องการติดสวิตช์ reverse สำหรับช่อง 5 และ 6 ก็สามารถนำสวิตช์โยกปิดเปิดมาเชื่อมที่ขา 5 และขา 4 ของ FP6335 โดยต้องใช้คัตเตอร์กรีดให้ขาทั้งสองแยกจากกราวด์ก่อน แล้วเอาสวิตช์มาติดตั้งโดยต้องมีคาปาซิเตอร์ขนาด 22nF คร่อมระหว่างขา 5 และ 4 กับกราวด์ด้วย เพื่อป้องกันสัญญาณรบกวนครับ

จะเห็นว่าในที่สุด ผมก็ได้รีโมท 7 ch จากการโม Futaba Skysport4 ด้วยเงินลงทุนไม่ถึง 100 บาทครับ ขอบคุณเพื่อน ๆ ที่ใจดีทุกท่านใน Weekendhobby.com ครับ

ขอให้สนุกครับ

[email protected]

6 ธันวาคม 2549

 

 

Hosted by www.Geocities.ws

1