มีบางคนกล่าวว่า การจัดการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญไม่เน้นการ
วัดผล ซึ่งอาจเป็นการกล่าวด้วยความหวังดี ไม่ต้องการให้นักศึกษาการศึกษา
นอกโรงเรียนซึ่งเป็นนักศึกษาผู้ใหญ่เคร่งเครียดกับการเรียนหนังสือมากเกินไป
แต่เป็นความไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดในข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อต่อไปนี้

     1. เข้าใจผิดว่าการวัดผลหมายถึงการสอบด้วยแบบทดสอบเท่านั้น และเป็น
การสอบที่ยากสำหรับนักศึกษานอกระบบโรงเรียน (การวัดผลมีหลายวิธี และ
แบบวัดผลการเรียนรู้ที่ดีต้องมีความยากง่ายพอเหมาะกับผู้เรียนหลักสูตรนั้น ๆ)

     2. ไม่เข้าใจว่าการวัดผลต้องวัดให้ตรงตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
และจุดประสงค์ของแต่ละวิชา เพื่อเป็นการประเมินผลว่าผู้เรียนได้พัฒนา
คุณลักษณะให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายหรือจุดประสงค์แล้วหรือไม่เพียงไร
การดำเนินงานทุกเรื่องทุกโครงการจะมีจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ ซึ่งการ
วัดผลและประเมินผลจะทำให้ทราบว่าการดำเนินงานนั้นบรรลุผลตาม
จุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์เพียงไร ถ้าจัดการเรียนรู้โดยไม่ให้ความสำคัญ
ในการวัดผลประเมินผลการเรียน แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ลงทุนไป
เช่น การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การ
พบกลุ่ม การจัดสื่อ การจัดการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม ฯลฯ เหล่านี้ มี
ประโยชน์หรือไม่ ควรพัฒนาอย่างไร หรือควรยกเลิกเพื่อประหยัดงบประมาณ
แผ่นดินหรือไม่ ผู้เรียนมีคุณธรรมความรู้ความสามารถเพียงพอหรือไม่ ต้อง
ปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทราบได้จากการ
วัดผลประเมินผล

     3. เข้าใจว่าการวัดผลมีความจำเป็นเพื่อการประเมินผลการเรียนตาม
จุดมุ่งหมายของหลักสูตร แต่ไม่เห็นประโยชน์หรือไม่เห็นด้วยกับจุดมุ่งหมาย
ของหลักสูตร โดยเข้าใจผิดว่าวิชาสามัญ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์
ภาษาไทย สังคมศึกษา ฯลฯ เหล่านี้ ไม่มีความสำคัญต่อนักศึกษานอกระบบ
โรงเรียน ทั้งที่ ถ้าวิเคราะห์หลักสูตรอย่างถ่องแท้แล้วจะเห็นว่าวิชาสามัญเหล่านี้
เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนทั้งในและนอกระบบโรงเรียน สามารถนำไปประยุกต์ใช้
ในชีวิตประจำวันได้ บางเนื้อหาอาจนำไปใช้น้อย แต่ก็ช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนา
สติปัญญาทำให้เกิดความฉลาด ผู้ที่สติปัญญาดีจะสามารถปรับตัวตามการ
เปลี่ยนแปลงได้ดี แม้แต่โรงเรียนกีฬา วิทยาลัยนาฏศิลป์ ก็กำหนดให้เรียนวิชา
สามัญเหล่านี้เพื่อพัฒนาคุณธรรมความรู้ความสามารถพื้นฐานให้พร้อมในการ
พัฒนาและการเรียนรู้ขั้นต่อไป ทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเองในชีวิตประจำวันและ
การเรียนรู้ในระบบโรงเรียน แต่จุดมุ่งหมายของการศึกษานอกระบบโรงเรียน
ย่อมมีส่วนแตกต่างจากการศึกษาในระบบโรงเรียน

     อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์จุดมุ่งหมายของหลักสูตรว่าเหมาะสมหรือไม่
ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของผู้สอน ผู้วัดผล หน้าที่โดยตรงของผู้สอน ผู้วัดผล คือจัด
การศึกษาและวัดผลให้ตรงตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร แต่ถ้าผู้สอนหรือผู้
เกี่ยวข้องพบว่าจุดมุ่งหมายของหลักสูตรเรื่องใดควรปรับปรุง ก็ควรเสนอให้
กรมวิชาการหรือผู้มีอำนาจ พิจารณาปรับปรุงหลักสูตร ไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วยกับ
จุดมุ่งหมายของหลักสูตรจึงไม่ให้ความสำคัญต่อการวัดผลประเมินผล
ปัจจุบันหลักสูตรและวิชาความรู้ วิทยาการต่าง ๆ พัฒนาเปลี่ยนแปลงไป
มาก การจัดการศึกษาและการวัดผลควรจะยึดสิ่งใดเป็นแนวทางในการจัดการ
คำตอบก็คือ ถ้าการจัดการศึกษาตามหลักสูตร ไม่ยึดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
เป็นแนวทางในการจัดแล้ว จะตั้งจุดมุ่งหมายของหลักสูตรไว้เพื่ออะไร
จุดมุ่งหมายของหลักสูตรอาจเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมในแต่ละยุคสมัยได้
แต่การจัดการศึกษาตามหลักสูตรก็ยังต้องจัดให้ตรงตามจุดมุ่งหมายของ
หลักสูตรที่เปลี่ยนแปลงไป การกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตรเป็นหน้าที่ของ
นักการศึกษาระดับสูงซึ่งมีขั้นตอนการพิจารณากำหนดที่รอบคอบถี่ถ้วน หน้าที่
ของผู้สอนคือจัดการศึกษาให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรที่กำหนดไว้
อย่างรอบคอบแล้วนั้น

     การจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการวัดผลให้ตรงตามจุดมุ่งหมายของ
หลักสูตร นอกจากจะเป็นความจำเป็นเพื่อให้บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายแล้ว
ยังเป็นหลักให้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้กับการวัดผลมีความสอดคล้องกัน
เพราะยึดหลักเดียวกัน และทำให้การจัดการศึกษาในทุกกลุ่มทุก
สถานศึกษา ทุกจังหวัด ที่ใช้หลักสูตรเดียวกัน เป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย

     ผู้สอนกับนักศึกษาควรปรึกษาหารือกันตามหลักการการยึดผู้เรียนเป็น
สำคัญ ช่วยกันกำหนดว่าจะวัดผลประเมินผลระหว่างภาคโดยวิธีใดบ้าง แต่การ
ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญนี้คงไม่ได้หมายความว่าต้องทำตามความพึงพอใจของ
นักศึกษาทุกเรื่อง นักศึกษาการศึกษานอกโรงเรียนส่วนใหญ่จะพึงพอใจกับการ
วัดผลด้วยแบบทดสอบแบบเลือกตอบ ถ้าเลือกได้จะไม่เลือกการทำแฟ้ม
สะสมงาน การทำโครงงาน หรือการวัดผลวิธีอื่น จะเห็นได้จากในระดับมัธยม
ศึกษาตอนปลาย นักศึกษาการศึกษานอกโรงเรียนจะไม่เลือกเรียนในแผน ข
(เรียนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต) หรือแผน ค (เรียนเพื่อการประกอบอาชีพ)
ซึ่งเหมาะกับนักศึกษาผู้ใหญ่มากกว่า แต่เกือบทั้งหมดจะเลือกเรียนในแผน ก
(เรียนเพื่อการศึกษาต่อ) ที่เน้นการเรียนหนังสือวิชาสามัญเพื่อการศึกษาต่อ ซึ่ง
ตามโครงสร้างแผน ก ต้องเรียนวิชาภาษาอังกฤษและวิชาสามาญที่บางคนว่า
เป็นวิชาที่ไม่เหมาะกับนักศึกษาการศึกษานอกโรงเรียน แต่เกือบทุกคนก็เลือก
แผน ก เพราะสาเหตุสำคัญคือการเรียนวิชาเลือกในแผน ข และ ค มีระเบียบ
กำหนดให้ต้องทำโครงงานด้วย (คำสั่งกรมการศึกษานอกโรงเรียน ที่
245/2541) แต่การเรียนแผน ก ไม่จำเป็นต้องทำโครงงาน

     ในเรื่องของการทำแฟ้มสะสมงานก็เช่นกัน ถึงแม้ว่านักการศึกษา
นอกโรงเรียนโดยตรงจะกล่าวว่า การประเมินโดยการใช้แฟ้มสะสมงานเป็นสิ่งที่
เหมาะสมกับผู้เรียนที่เป็นนักศึกษาการศึกษานอกโรงเรียน เพราะเป็นการ
ประเมินผลการปฏิบัติงานจริง สอดคล้องกับปรัชญาในการจัดการศึกษา
นอกโรงเรียนที่เน้นให้ผู้เรียน "คิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น" นักศึกษา
การศึกษานอกโรงเรียนเป็นผู้ใหญ่ บรรลุนิติภาวะ มีประสบการณ์และความ
รับผิดชอบ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยให้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง
จะทำให้นักศึกษาเลือกกิจกรรมที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิต สามารถนำไปใช้ประโยชน์
ในชีวิตจริงได้ ทำให้นักศึกษาเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและเข้าใจตนเองดีขึ้น
แต่ การจัดทำแฟ้มสะสมงานก็ต้องใช้เวลาและความรู้ความสามารถมาก ถ้าเลือกได้นักศึกษาส่วนใหญ่ก็จะเลือกที่จะไม่ทำแฟ้มสะสมงาน

     การลงมติตามระบอบประชาธิปไตยจึงต้องระมัดระวัง เช่น ไม่ควรลงมติว่า
ควรเพิ่มหรือลดค่าจ้าง ถ้าผู้ลงมติส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง การทำตามความพึงพอใจ
ของผู้เรียนส่วนใหญ่ ก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน

     ในการวัดผลด้วยแบบทดสอบนั้น เรื่องความยากง่ายของข้อสอบมีความ
สำคัญกับการทดสอบของนักศึกษาการศึกษานอกโรงเรียนมาก เนื่องจากมี
ผู้เกี่ยวข้องทั้งนักศึกษารวมทั้งผู้สอน กล่าวกันว่า ข้อสอบจากคลังข้อสอบยาก
เกินไป ไม่เหมาะสมกับการศึกษานอกโรงเรียนซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่
เรื่องนี้ประเด็นสำคัญที่จะตัดสินได้ว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมจริงตามที่
กล่าวกันหรือไม่ มี 2 ประเด็น คือ

     ประเด็นแรก ข้อสอบวัดตรงตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรหรือไม่

     ประเด็นที่สอง คือความยากง่ายของข้อสอบเมื่อทดสอบกับกลุ่มนักศึกษา
การศึกษานอกโรงเรียนโดยเฉพาะ มีข้อสอบที่ยากหรือไม่

     เท่าที่ทราบ ในประเด็นแรก การออกข้อสอบเพื่อรวบรวมไว้ในคลังข้อสอบ
ได้ออกตามจุดประสงค์การเรียนรู้ซึ่งวิเคราะห์มาจากจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
อยู่แล้ว จึงถือว่าวัดตรงตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร อย่างไรก็ตามฝ่ายที่
เกี่ยวข้องกับคลังข้อสอบควรจะได้มีการตรวจสอบว่าข้อสอบแต่ละข้อตรงตาม
จุดประสงค์การเรียนรู้จริงหรือไม่ ถึงแม้จะออกข้อสอบตามจุดประสงค์การ
เรียนรู้ แต่ข้อสอบที่ออกมาบางข้ออาจไม่ตรงตามจุดประสงค์การเรียนรู้จริงก็ได้
ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญช่วยกันพิจารณาลงมติในแต่ละข้อว่าตรงจุดประสงค์การ
เรียนรู้หรือไม่ ส่วนในประเด็นที่สอง ถึงจะมีคลังข้อสอบ แต่ก็ทราบว่ายังไม่มี
การวิเคราะห์ความยากง่ายของข้อสอบแต่ละข้ออย่างจริงจัง ทั้งที่มีการนำข้อสอบ
ไปทดสอบกับนักศึกษาการศึกษานอกโรงเรียนบ่อยครั้งแล้ว เมื่อยังไม่ทราบค่า
ความยากง่ายของข้อสอบแต่ละข้อ จึงมีความเป็นไปได้มากที่ข้อสอบจำนวน
ไม่น้อยจะยากเกินไปสำหรับนักศึกษาการศึกษานอกโรงเรียน เราสามารถสร้าง
ข้อสอบให้วัดตรงกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตรด้วยและมีความยากง่ายปานกลาง
ด้วย ผู้เกี่ยวข้องกับคลังข้อสอบควรให้ความสำคัญต่อการวิเคราะห์ความยากง่าย
ของข้อสอบและการคัดเลือกข้อสอบเข้าคลังข้อสอบ ซึ่งจะช่วยให้การจัด
การศึกษานอกโรงเรียนเป็นไปตามหลักการที่เหมาะสม

จากคู่มือการวัดผลและประเมินผลหมวดวิชาคณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
ของ นายเอกชัย ยุติศรี ศบอ.ผักไห่
กลับหน้าหัวข้อ สรรสาระ
Hosted by www.Geocities.ws