พระบรมราโชวาท รัชกาลปัจจุบัน


" ... ความรู้ความเข้าใจที่ได้จากตำรา กับที่ได้จากการ
ปฏิบัติ นั้น อาจไม่ตรงกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม
และเหตุประกอบอีกหลายอย่าง ต่อเมื่อใดเราได้เรียนรู้
และลงมือปฏิบัติ ครบทั้งสองอย่างแล้ว ความรู้อันแจ้งชัด
ที่จะถือเป็นครูหรือเป็นแบบอย่างได้ จึงจะเกิดขึ้น ...

ขอให้ถือว่าตำรากับการปฏิบัตินั้นเป็นสิ่งสำคัญทั้งคู่
เราต้องอาศัยตำราเป็นหลักปฏิบัติ และต้องอาศัยการ
ปฏิบัติเป็นเครื่องสนับสนุนตำรา เพื่อให้การงานที่ทำ
สัมฤทธิ์ผลสมบูรณ์ ..."

(28 กันยายน 2521)



"... เมื่อเวลาศึกษาอยู่นั้น วิชาการย่อมมีความสำคัญ
เป็นเอก เพราะเป็นทั้งตัวงานทั้งจุดมุ่งหมายของทุกคน.
แต่เมื่อออกไปประกอบอาชีพการงานแล้ว จุดหมายสำคัญ
จะไปอยู่ที่งานกับผลสำเร็จของงาน วิชาการนั้นต้องถือเป็น
ปัจจัยหรืออุปกรณ์สำหรับจะใช้ปฏิบัติ.
แต่ละคนจึงควรจะเข้าใจให้ชัดว่า การที่ได้อุตสาหะศึกษา
วิชาความรู้ต่าง ๆ มาเป็นอันมาก ทั้งในหลักสูตรและ
นอกหลักสูตร แท้จริงคือการสะสมรวบรวมอุปกรณ์และ
ความชำนิชำนาญในการใช้อุปกรณ์นานาชนิดนั้น ๆ ไว้
สำหรับนำออกใช้ปฏิบัติงานเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว
นั่นเอง. ..."

(19 ธันวาคม 2534)



" ...
ความรู้ที่ศึกษามา ซึ่งเป็นความรู้ทางทฤษฎี นั้น คือ
รากฐานและต้นทุนสำคัญสำหรับที่จะนำไปปฏิบัติงานการ
ความรู้ทางทฤษฎีนี้จำเป็นที่จะต้องทบทวนเสริมสร้าง
อยู่เสมอ และนำมาประกอบการปฏิบัติ เมื่อเอาความรู้ทาง
ทฤษฎีมาประสมประสานปรุงแต่งกับความรู้จากการปฏิบัติ
อย่างสอดคล้องเหมาะสมแล้ว งานที่ทำก็จะบรรลุผลที่จะ
พึงภาคภูมิใจได้สมปรารถนา ..."

(23 มิถุนายน 2519)



"...ข้าพเจ้าขอฝากคติไว้เป็นเครื่องกำกับใจ มีคุณธรรม
ข้อหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งท่านต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ
คือ ความสัตย์สุจริต
ประเทศบ้านเมืองจะวัฒนาถาวรอยู่ได้ ก็ย่อมอาศัยความ
สัตย์สุจริตเป็นพื้นฐาน ท่านทั้งหลายจะ...รับราชการก็ดี
หรือประกอบกิจการงานส่วนตัวก็ดี  ขอให้มั่นอยู่ใน
คุณธรรมทั้ง 3 ประการคือ สุจริตต่อบ้างเมือง สุจริตต่อ
ประชาชน และสุจริตต่อหน้าที่  ท่านจึงจะเป็นผู้ที่ควร
แก่การสรรเสริญของมวลชนทั่วไป
..."

(12 มิถุนายน 2497)



" ...คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคงชอบแต่
มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญ
อันใดได้  ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้นจึงจะ
ทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณประโยชน์แท้จริง
ได้สำเร็จ
..."

(12 กรกฎาคม 2522)



"...ในเมื่อต้องตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือภาวะที่
แปลกเปลี่ยนไป อาจคลายจากอุดมคติและความสุจริต
ไปได้ไม่ยากนัก ฉะนั้น ทุกคนจำเป็นต้องหมั่นใช้ปัญญา
พิจารณาการกระทำของตนให้รอบคอบอยู่เสมอ ระมัดระวัง
ทำการทุกอย่างด้วยเหตุผล ด้วยความมีสติ และด้วยความ
รู้ตัว เพื่อเอาชนะความชั่วร้ายทั้งมวลให้ได้โดยตลอด
และสามารถก้าวไปถึงความสำเร็จที่แท้จริง ทั้งในการงาน
และการครองชีพ
..."

(13 กรกฎาคม 2516)



" ...
ความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไม่ว่าจะเป็นด้าน
เศรษฐกิจหรือสังคมก็ตาม ย่อมขึ้นอยู่กับฐานะความเจริญ
มั่นคงของบุคคลในชาติเป็นสำคัญ  และความเจริญของ
คนทั้งหลายนั้น จะเกิดมีได้ก็ด้วยการประพฤติชอบ และ
การหาเลี้ยงชีพชอบ  ผู้ที่จะสามารถประพฤติปฏิบัติ
ได้ดังนี้ จำเป็นต้องมีทั้งวิชาความรู้ ทั้งหลักธรรมทาง
ศาสนา เพราะสิ่งแรกเป็นปัจจัยสำหรับใช้กระทำการงาน
สิ่งหลังเป็นปัจจัยสำหรับส่งเสริมความประพฤติและการ
ปฏิบัติการงานให้ชอบ ให้ถูกต้องและเป็นธรรม
วิชาการกับหลักธรรมนี้มีประกอบกันพร้อมในผู้ใด ผู้นั้น
ย่อมจะประสบความสุขและความสำเร็จทั้งในชีวิตและ
กิจการงาน ซึ่งย่อมจะส่งผลสะท้อนถึงส่วนรวมต่อไป
คือทำให้บ้านเมืองมีความเจริญมั่นคง ทำให้สังคมเป็น
สังคมที่ผาสุขสงบ น่าอยู่น่าอาศัย ..."

(1 พฤศจิกายน 2540)



"...วิธีที่จะทำให้คนเป็นคนดีนั้น ก็มีเช่น การศึกษา.
เมื่อก่อนนี้ด้านการศึกษา คนในเมืองไทยนี่มีความรู้
การอ่านหนังสือเป็นเขียนหนังสือเป็นมีมาก เปรียบเทียบ
กับประเทศอื่นค่อนข้างจะสูง คือมีการอ่านเขียนได้
เปอร์เซ็นต์สูง แต่มาปัจจุบันนี้น้อยลงเพราะว่าคนเพิ่ม
โรงเรียนหรือผู้ที่มีหน้าที่สอนน้อยลง เปรียบเทียบกัน.
อาจจะแย้งว่าสมัยนี้มีเทคโนโลยีสูง ทำให้สามารถที่จะทำ
กิจการโรงเรียน กิจการสั่งสอน แพร่ออกไปได้มากกว่า.
แต่ไม่มีอะไรแทนการอบรม ไม่มีผู้ที่บ่มนิสัย.
คือการสอนนี่มีแบ่งเป็นอบรมแล้วก็บ่มนิสัย แต่ถ้าไม่มี
ผู้ที่อบรมไม่มีผู้ที่บ่มนิสัย หรือผู้ที่อบรมหรือผู้ที่บ่มนิสัย
เป็นคนมีคุณภาพต่ำ ผู้ที่ได้รับอบรมบ่มนิสัยย่อม
คุณภาพต่ำเหมือนกัน อาจจะยิ่งร้ายกว่าแม้จะมี
เทคโนโลยีชั้นสูง

เทคโนโลยีชั้นสูงนี้ คนส่วนมากเดี๋ยวนี้ก็เข้าใจว่ามี
โทรทัศน์มีดาวเทียมมีเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ว่าเครื่อง
เหล่านี้หรือสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต ดูรูปร่างท่าทาง
เหมือนมีชีวิต แต่อาจจะไม่มีชีวิต มีสีก็มีสีได้แต่ว่า
ไม่มีสัน. คือสีสันนั้นรวมแล้วมันครบถ้วน และยังไม่ครบ
ยังไม่มีจิตใจ. อาจจะทำให้คนที่มีจิตใจอ่อนเปลี่ยนเป็น
คนละคนก็ได้ แต่ว่าที่จะอบรมโดยใช้สื่อที่ก้าวหน้าที่มี
เทคโนโลยีสูงนี่ยากที่สุดที่จะอบรมบ่มนิสัยด้วยเครื่อง
เหล่านี้ ฉะนั้นไม่มีอะไรแทนคนสอนคน..."

(4 ธันวาคม 2539)



" ...โดยมากการเสพยาเสพติดเริ่มด้วยความกดดันหรือ
ความท้อใจ และบังเอิญมีผู้ที่แนะทางบอกว่าลองเสพ
เสียนิดหน่อยทำให้สบายดี ผู้ที่ฟังก็บอกว่าเราเป็นผู้ที่
มีความรู้เราเป็นคนฉลาดเราก็ทดลอง ถ้าใช้ได้ก็ลองใช้ไป
ถ้าใช้ไม่ได้ก็เลิกได้ แต่ข้อสำคัญหารู้ไม่ว่าเลิก
ลำบากเหมือนกัน แล้วก็ติดจริง ๆ และจะทำให้เกิด
ผลไม่ดีสำหรับร่างกายของตน สำหรับสังคมของตน และ
สถาบันของตน
..."

(20 กันยายน 2514)



"...คนเราเมื่อมีความรู้ความสามารถที่ดีเป็นทุนรอนอยู่
จะไม่มีวันอับจน ย่อมหาทางสร้างตัวสร้างฐานะให้ก้าวหน้า
ได้เสมอ... เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว
จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญก้าวหน้าในระดับที่สูงขึ้น
ตามต่อกันไปเป็นลำดับ. ผลที่เกิดขึ้นจึงจะแน่นอน
มีหลักเกณฑ์ เป็นประโยชน์แท้และยั่งยืน
..."

(18 ธันวาคม 2540)



" ...วิทยาการแต่ละสาขา มีคุณค่ามาก เพราะหากได้นำ
ออกใช้ด้วยความฉลาดไตร่ตรอง ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์
และจุดหมายแล้ว อาจยังประโยชน์อันพึงประสงค์แก่ตน
และบ้านเมืองได้ไม่มีจำกัด. จึงเป็นการสมควรยิ่งที่
แต่ละคนจะพยายามปฏิบัติฝึกฝนให้สามารถใช้วิทยาการ
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ. ปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิด
ความสามารถดังนั้น ได้แก่ความสุจริตหนักแน่นและเป็น
ระเบียบในการกระทำความประพฤติอย่างหนึ่ง
ในความคิดจิตใจอีกอย่างหนึ่ง.
ความสุจริตหนักแน่น
และเป็นระเบียบทั้งสองอย่างนี้ ต่างอาศัยกันและประกอบ
เกื้อกูลกันตลอดเวลา. จำเป็นต้องอบรมบำรุงให้เจริญมั่นคง
ขึ้นด้วยกัน. เมื่อจัดระเบียบในการกระทำและในความคิด
ได้พร้อมแล้ว ปัญญาหรือความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนถ่องแท้
ตรงเป้าหมายตรงความจริง ก็จะเกิดขึ้น. จะพิจารณา
เรื่องราวหรือปัญหาใด ๆ ก็สามารถเข้าถึงแก่นแท้ของ
เรื่องนั้นปัญหานั้นได้ทันทีโดยปราศจากความลังเลสับสน
ช่วยให้สามารถใช้วิทยาการสร้างสรรค์งานต่าง ๆ
ได้ถูกต้องพอเหมาะพอดีไม่มีติดขัด และสัมฤทธิ์ผลที่
มุ่งหมายสมบูรณ์บริบูรณ์ทุกส่วน ..."

(24 มกราคม 2533)



"...การที่บุคคลจะพัฒนาได้ ก็ด้วยปัจจัยประการเดียวคือ
การศึกษา  การศึกษานั้นแบ่งเป็นสองส่วน คือการศึกษา
ด้านวิชาการส่วนหนึ่ง กับการอบรมบ่มนิสัยให้เป็นผู้มี
จิตใจใฝ่ดีใฝ่เจริญ มีปรกติละอายชั่วกลัวบาป ส่วนหนึ่ง
การพัฒนาบุคคลจะต้องพัฒนาให้ครบถ้วนทั้งสองส่วน
เพื่อให้บุคคลได้มีความรู้ไว้ใช้ประกอบการ และมีความดี
ไว้เกื้อหนุนการประพฤติปฏิบัติทุกอย่างให้เป็นไปในทาง
ที่ถูกที่ควร และอำนวยผลเป็นประโยชน์ที่พึงประสงค์
..."

(24 มกราคม 2540)



" ...การศึกษานี้ ถ้าดูกว้าง ๆ ก็มีความสำคัญอย่างยอดยิ่ง
ทำให้รู้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในทางการศึกษาเป็นผู้ที่
มีความสำคัญมากแก่ชีวิตของมนุษย์ทั่ว ๆ ไป และถ้าโดยเฉพาะสำหรับบ้านเมือง ก็เป็นผู้ที่สร้างความ
มั่นคงของบ้านเมืองได้ด้วยความตั้งใจที่จะปฏิบัติงาน
หน้าที่ของตน ความสำคัญนี้ก็มีมากและก็คงตระหนัก
อยู่แล้ว ขอให้ตระหนักด้วยว่าจะต้องพยายามที่จะหาวิธี
ที่จะสั่งสอนอนุชนทั้งในด้านวิชาการทั้งในด้านความรู้
เบื้องต้น เพื่อให้สามารถที่จะมีชีวิตต่อไปได้ จึงขอร้องให้สนใจเกี่ยวข้องกับเรื่องความรู้ ตั้งแต่ความรู้
เบื้องต้นขั้นอนุบาล จนกระทั่งเป็นความรู้ขั้นประถม
ขั้นมัธยม ขั้นอุดมศึกษา และขั้นค้นคว้าอย่างสูง
และทุกความรู้มีความสำคัญทั้งนั้น ไม่ยิ่งหย่อนกัน
..."

(18 มีนาคม 2515)



"...ความรู้นี้เป็นสิ่งสำคัญ จะติดตัวไปสำหรับอนาคต
ถ้าผู้ที่มีความรู้ในด้านวิชาการพยายามที่จะฝึกฝนตนเอง
ให้มีความรู้ในชีวิต ในสิ่งที่ดีที่งามที่ควร ให้สามารถที่จะ
ปฏิบัติตนวางตัวให้ดีในสังคมได้เพียงไร
ก็เป็นกำไรเพียงนั้น  กำไรนั้นจะเป็นสิ่งที่จะทำให้ชีวิต
และอนาคตมีความรุ่งเรืองได้  รวมทั้งจะทำให้บ้านเมือง
อยู่ได้ เพราะว่าพลเมืองมีความรู้ พลเมืองสามารถที่จะ
เข้าหากันและกันได้เพื่อสร้างสังคมที่แข็งแรง สังคมที่มี
ระเบียบเรียบร้อยและมีความมั่นคง
..."

(11 กันยายน 2516)



" ...เราจะต้องขวนขวายเปิดตาเปิดใจให้เรียนรู้อยู่เสมอ
ทั้งโดยทางกว้างและทางลึก คือเมื่อจะศึกษาเรื่องใดก็ให้
พยายามจับเค้าโครงของเรื่องนั้นให้ได้ก่อน แล้วจึง
พยายามมองลงไปในส่วนละเอียดทีละส่วน ให้เห็นชัดโดย
ถ้วนถี่ เมื่อรู้แล้วก็นำมาคิดพิจารณาให้เห็นประเด็น
ให้เห็นส่วนที่เป็นเหตุ ส่วนที่เป็นผล ให้เห็นลำดับความ
เกาะเกี่ยวต่อเนื่องแห่งเหตุและผลนั้น ๆ ไปจนตลอด ให้
เข้าใจโดยชัดเจนแน่นอน เพื่อให้สามารถสำเหนียก
กำหนดและจดจำไว้ได้ ทั้งส่วนที่เป็นหลักเป็นทฤษฎี
ทั้งส่วนเรื่องราวหรือรายละเอียด จักได้สามารถนำไป
สั่งสอนผู้อื่น และนำไปเทียบเคียงใช้ให้เป็นประโยชน์
ในการงาน หรือการคิดอ่านแก้ปัญหาต่าง ๆ
ในชีวิตต่อไป
..."

(26 มิถุนายน 2523)



"...ถ้าครูไม่ห่วงประโยชน์ที่ควรจะห่วง หันไปห่วงอำนาจ
ห่วงตำแหน่ง ห่วงสิทธิ และห่วงรายได้กันมากเข้า ๆ
แล้วจะเอาจิตเอาใจที่ไหนมาห่วงความรู้ ความดี
ความเจริญของเด็ก ความห่วงในสิ่งเหล่านั้น ก็จะค่อย ๆ
บั่นทอนทำลายความเป็นครูไปจนหมดสิ้น จะไม่มีอะไรดี
เหลือไว้ พอที่ตัวเองจะภาคภูมิใจหรือผูกใจใครไว้ได้
ความเป็นครูก็จะไม่มีค่า เหลืออยู่ให้เป็นที่เคารพบูชา
อีกต่อไป..."

(21 ตุลาคม 2521)



" ...ความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา เพราะว่า
เราจะทำอะไรก็ต้องประกอบด้วยความรู้ เมื่อได้มาเห็น
สิ่งใดแล้ว ก็ต้องใช้สติพิจารณาเหมือนกัน หมายความว่า
ถ้าเราได้ฟังจากใครก็ตาม หรือแม้จะได้เห็นด้วยตาของ
ตนเองก็ตาม เราต้องใช้การพิจารณาทั้งสิ้น คำว่าพิจารณา
นี้ต้องให้เข้าใจว่าหมายถึงว่าเห็นอะไร ได้ฟังได้ยิน
อะไร แล้วนำมาคิด คิดว่าถูกหลักของเหตุผลไหม..."

(6 เมษายน 2512)


"...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความ
ฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษา
กันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว
การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้
ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้
จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษา
เพื่อให้เกิด "ความฉลาดรู้" คือรู้แล้วสามารถนำมาใช้
ประโยชน์ได้จริง ๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษา
เพื่อความฉลาดรู้มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดเป็นหลักอย่างน้อย
สองประการ ประการแรกเมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง
ควรจะศึกษาให้ตลอดครบทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่
เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่
บางมุม อีกประการหนึ่งซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกัน
ไปด้วยเสมอ คือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้น ๆ ด้วยความ
คิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติและเที่ยงตรงเป็นกลาง ไม่ยอม
ให้รู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ
ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่
เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูก
อำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่าง ๆ จะนำไปใช้
ให้เป็นประโยชน์จริง ๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้..."

(22 มิถุนายน 2524)


" ...หนังสือนี้ ถ้าดูในทางพัฒนา ในทางความก้าวหน้า
ของ มนุษย์ เพื่อให้ชีวิตของตนสามารถที่จะมีความ
มั่นคงนั้น จึงมีความสำคัญไม่ใช่น้อย เพราะว่าเป็นแหล่ง
ของความรู้ที่จะค้ำจุนเราให้มีชีวิตได้ ให้มีความสุขได้ อันนี้ก็พูดถึงหนังสือทั่วไปทุกอย่างทุกชนิด และโดยเฉพาะทางวิชาการ..."

(25 พฤศจิกายน 2514)


"...หนังสือ เป็นการสะสมความรู้และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้างมา ทำมา คิดมา แต่โบราณกาลจนทุกวันนี้ หนังสือจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นคล้าย ๆ ธนาคารความรู้และเป็นออมสิน เป็นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้..."

(25 พฤศจิกายน 2514)

" ...การสร้างคนดีนั้น ก็คือการให้ความรู้ ความคิด ความ
สามารถ และความดี แก่เขา ด้วยการให้การศึกษาอบรม
วิชาความรู้ต่าง ๆ ไม่ว่าวิชาสามัญ วิชาชีพ หรือวิชา
ศาสนา ล้วนเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับแต่ละคนจะนำไปสร้าง
อนาคตที่มั่นคงแจ่มใส ถ้าสอนวิชาการได้ดี ฝึกหัดให้
รู้จักหน้าที่และความเป็นพลเมืองดีให้ได้ผลจริง ๆ
พร้อมทั้งอบรมให้เข้าใจในศาสนาด้วย ก็นับว่าให้
การศึกษาอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะความรู้วิชาการนั้น
นอกจากจะทำให้บุคคลเฉลียวฉลาด มีโอกาสที่เปิดกว้าง
แล้ว ยังจะช่วยให้ศึกษาศาสนาได้เข้าใจชัดเจนและ
กว้างขวาง เกื้อกูลการประพฤติปฏิบัติตามศาสนาให้
ถูกต้องมั่นคง..."

(8 ตุลาคม 2531)

"...การที่เด็กสมัยนี้ ที่เรียกว่าเด็ก ๆ มีความเป็นผู้ใหญ่
มากกว่าผู้ใหญ่บางคน ก็มาจากการที่มีโอกาส
ได้เล่าได้เรียนในวิชาการมากขึ้น ถ้าเรียนในทางวิชาการ
มาก คือทางวิทยาศาสตร์หรือทางวิทยาการต่าง ๆ ย่อมมี
ความคิดเกิดปัญญาขึ้นมา สามารถที่จะคิดในทางธรรมะ
มากขึ้น เมื่อคิดในทางธรรมะมากขึ้น คือมีความเข้มงวด
มากขึ้นกว่าผู้ใหญ่ที่ผ่านชีวิตมาแต่ก่อนนี้ ย่อมเป็น
ผู้ใหญ่มาก..."

(4 ธันวาคม 2513)

" ...การศึกษาที่ดี ด้านวิชาการเป็นทั้งรากฐานและปัจจัย
สำหรับการสร้างสรรค์ แต่การที่จะนำเอาวิชาการมา
สร้างสรรค์ให้สำเร็จได้นั้น จำเป็นที่สุดที่จะต้องอาศัย
การศึกษาที่ดีด้านอื่น ๆ เข้าประกอบอุดหนุนด้วย
การศึกษาด้านอื่น ๆ นั้น หมายถึงการศึกษาอบรมทุก ๆ
อย่าง ทั้งทางความคิดจิตใจและความประพฤติปฏิบัติ
อันเป็นตัวสำคัญในการฝึกฝนขัดเกลาให้บุคคลมี
ความคิดความฉลาด หนักแน่นในเหตุผลและความสุจริต
ละเอียดรอบคอบ รู้จักรับผิดชอบ รู้จักตัดสินใจตามทาง
ที่ถูกต้องเป็นธรรม และสำคัญอย่างยิ่งก็คือมีความขยัน
หมั่นเพียรอุตสาหะขวนขวายที่จะลงมือทำการทุกอย่าง
ไม่ว่าเล็กใหญ่ง่ายยาก ด้วยตนเอง..."

(11 กรกฎาคม 2522)

" สิ่งที่สำคัญยิ่งในการที่จะทำให้เราก้าวหน้า
คือ หนังสือ "

" ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติของเรานั้น
ขึ้นอยู่กับการศึกษาของคนในชาติเป็นหลักใหญ่
ดังนั้นการศึกษาและการพัฒนาของคนในชาติในวันนี้
จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของชาติ "
" ในบ้านเมืองเรานั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี
ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนดีได้ทั้งหมด
การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย
จึงไม่ใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี
หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง
และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ
ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ "
" คนทำงานดี คือคนมีระเบียบ
ได้แก่ระเบียบในการคิดและในการทำ
ผู้ไม่ฝึกระเบียบไว้ ถึงจะมีวิชา มีเรี่ยวแรง
มีความกระตือรือร้นอยู่เพียงไร
ก็มักทำงานให้สำเร็จดีไม่ได้ "
( พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ข้าราชการ
เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน 1 เมษายน 2527 )

วันที่ 14 พฤษภาคม 2539 ณ บริเวณทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ทรงเกี่ยวข้าวด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง
กลับหน้าหัวข้อ สรรสาระ
Hosted by www.Geocities.ws