ศูนย์การเรียนรู้อาชีพ การทำงอบ

 

1. ประวัติความเป็นมา / ความสำคัญของอาชีพ

         งานจักสานงอบนับว่าเป็นที่รู้จักกันมาช้านาน เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่
ทำขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพของชาวไทยโดยตรง ฉะนั้นงอบจึง
นับว่าเป็นงานที่ควบคู่กับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมจนถึงปัจจจุบัน ศิลปะการ
ทำงอบต้องใช้ความชำนิชำนาญ และความประณีตละเอียดอ่อนเป็นอย่างสูงไม่แพ้
งานจักสานประเภทอื่น ๆ
         สำหรับการทำงอบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็นับได้ว่าเป็นที่นิยม
และทำกันเป็นอาชีพอย่างกว้างขวาง แหล่งผลิตงอบที่สำคัญที่สุดในจังหวัด
พระนครศรีอยุธยา เห็นจะไม่มีที่ใดผลิตได้มาตราฐานเท่ากับอำเภอบางปะหัน
ชาวบางปะหันประกอบอาชีพนี้กันมากจึงถือได้ว่าอาชีพทำงอบมีความสำคัญทาง
เศรษกิจของชาวบางปะหันเป็นอย่างมาก
         นายธาราวุฒิ จุลวงศ์ ชาวตำบลบางนางร้า อำเภอบางปะหันเป็นผู้หนึ่งที่
มีผลงานประดิษฐ์งอบที่สวยงาม เริ่มการทำงอบตั้งแต่วัยเด็ก และมารดาประกอบ
อาชีพทำงอบตั้งแต่บรรพบุรุษ ฉะนั้น มารดาจึงเป็นผู้ถ่ายทอดและฝึกฝนงานฝีมือ
นี้ให้อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เมื่อจบการศึกษาได้เห็นคุณค่าของงานในอาชีพนี้
ว่าสามารถใช้เลี้ยงตัวเองได้เป็นอย่างดี จึงทุ่มเทพลังกายและพลังสติปัญญาเพื่อ
งานอย่างเต็มที่มาจนทุกวันนี้ อีกทั้งยังตระหนักถึงอนาคตว่าอาชีพการทำงอบ
จะสูญไปหากไม่มีการถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลัง สำหรับผู้มีใจรักศิลปะคงทำได้
ไม่เกินความสามารถ ถ้ามีความพยายามมากพอ ผลงานจะสำเร็จสมบูรณ์อยู่ใน
ขั้นมาตราฐาน


2. วัสดุ/อุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดทำ
         1. ไม้ไผ่
         2. ใบลาน
         3. มีดบาง
         4. เข็มใหญ่
         5. เอ็น
         6. ด้ายเย็บผ้า
         7. เหล็กหมาด
         8. กระดาษสี


3. วิธีทำ

    3.1 ขั้นเตรียม
         การทำงอบเริ่มจากขั้นแรกคือการจัดเตรียมวัสดุในการทำงอบ ตาม
รายละเอียดดังนี้
         3.1.1 ไม้ไผ่ จักให้เป็นเส้นบางตามต้องการ (กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร)
         3.1.2 ใบลาน ตัดเอาแกนกลางออกโดยใช้มีดกรีด เช็ดให้แห้งแล้ว
นำมารีดด้วยเตารีดถ่านให้เรียบ จากนั้นนำมาเจียนหรือกรีดออกเป็นเส้น ๆ บน
กระจกที่รอง ถ้างอบถี่ก็เจียนให้เส้นเล็ก



          3.1.3 การเหลาไพร ใช้ไม้ไผ่นำมาเหลาให้กลม, แบนขนาดตามต้องการ

    3.2 ขั้นขึ้นโครงรูป และส่วนประกอบ
         3.2.1 การทำโครงงอบ
               1. จักตอกข้าง ข้างละ 2 เส้น จักเป็น 6 ขา ขาละ 6 เส้น
งอบ 1 ใบ ใช้ 36 เส้น
               2. นำไพรหัวละ 4 วง 4 เส้น ใส่ไล่ตั้งแต่วงเล็กไปหาวงใหญ่
               3. ไพรใหญ่เป็นซีกนำมาทำเป็นวง
               4. ใช้ตอก 6 ขา 6 เส้น นำมาขัด หรือสานให้เป็นหกเหลี่ยม
เรียกว่าเก็บหัว สาน 1 รอบและใส่ไพรเล็กรอบที่ 2 ใส่ไพรใหญ่รองลงมา
รอบที่ 3 ใส่ไพรใหญ่ขึ้น รอบที่ 4 ใส่ตอกตะแคง
               5. ใส่หัวงอบลงไปในแบบโดยการหงายหัวขึ้น
               6. สานด้วยตอกสาน 12 ตา ตาแต่ละตาจะเป็นหกเหลี่ยม ลูกหนึ่งมี
12-14 ตา สานตามแบบพิมพ์จนเสร็จ
               7. ใส่ตอกทึบ 4 เส้น แล้วม้วนริมโดยการสานตอกหักโค้งลง


          3.2.2 การทำรังงอบ
               1. นำไม้ไผ่มาจักตอกเป็นเส้นเล็กๆ (กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร)
สานให้มีลักษณะเป็นทรงกระบอกสำหรับสวมศรีษะ
               2. โน้มให้เป็นกลีบมีดตอก
               3. นำมาโค้งขัด ถ้า 6 เสาก็ใช้ 6 ปื้น 7 เสาก็ใช้ 7 ปื้น
               4. โค้งให้เป็นรังโดยใส่กับหัวเข่า แล้วสานหัวโดยใช้ไพรกลม
จนรอบ แล้วใส่รังแบบอีกชั้นหนึ่ง
               (* ไพรกลม คือ ไม้ไผ่เหลากลม)


          3.2.3 การทำจอมหรือกระหม่อม
               1. ตัดลานเส้นประมาณ 1 นิ้ว
               2. เย็บซ้อนกับเป็น 6 เกล็ดหรือ 7 เกล็ด
               3. ใช้มือดุน โดยใช้นิ้วกลางดุนให้เป็นรูปกรวย แล้วเย็บตาม
วงเวียนจนครบรอบ
               4. พอเย็บเสร็จตัดใบลานด้านในส่วนที่เกินทิ้ง


    3.3 ขั้นการประกอบ และการตกแต่ง
         3.3.1 การเย็บงอบ
               1. นำใบลานที่เตรียมแล้วติดกับโครงโดยการเย็บ เย็บ 1 ตา เว้น 1 ตา


                2. งอบลูกหนึ่งมี 7 เข็ม (เย็บข้าง) หรือ 7 เลียด เกล็ดรอบงอบ
งอบ 1 ใบ มีหลายเกล็ด


                3. เย็บไปรอบ ๆ งอบ แล้วเย็บคอโดยการเย็บ 1 เข็ม แล้วแทง
ข้าง 1 เข็ม
               4. แล้วล้มหัวอีก 1 เข็มจนรอบลูก


          3.3.2 การใส่รังงอบ
               1. นำรังที่เสร็จมาสวมที่หัวงอบใช้ไม้ขัดเหลาแบนๆ 2 อัน ปลายแหลม
เพื่อให้แทงเข้ากับโครงงอบ หรือจะใช้ลวดลายมัดก็ได้ ใช้ไม้แทงทั้ง 4 ด้าน


               2. ใส่รังงอบให้ขัดทีละข้าง พอขัดรังงอบเสร็จแล้วเป็นอันว่า
ประกอบเป็นตัวงอบสมบูรณ์แบบ
          3.3.3 การใส่จอมหรือกระหม่อม
               นำเอาจอมหรือกระหม่อมที่เย็บเสร็จแล้วมาติดกับตัวงอบโดยการเย็บติด



4. ผลการดำเนินงาน / ผลผลิต

         ผลิตภัณฑ์งอบนอกจากจะได้รับความนิยมจากคนอำเภอเดียวกันแล้ว
ยังมีผู้ติดต่อมารับไปขายในอำเภออื่นๆ และในจังหวัดต่าง ๆ อีกหลายแห่ง
รายได้เฉลี่ยเดือนละ 2,000-3,000 บาท

5. ปัญหา/อุปสรรค/แนวทางแก้ไข

         ปัญหาและอุปสรรค
         1. บางครั้งมีผู้ต้องการในปริมาณมากแต่ผู้ที่ผลิตได้มีจำนวนจำกัด
ทำให้ผลิตได้ไม่ทันกับความต้องการของผู้บริโภค
         2. ต้นทุนวัตถุดิบไม่คงที่ และไม่มีวัตถุดิบในท้องถิ่น
         3. ความต้องการของตลาดไม่แน่นอน

         แนวทางการแก้ไข
         1. สอนศิลปะการจักสานกับคนรุ่นใหม่ และบุคคลที่สนใจ
         2. หาแหล่งวัตถุดิบเพิ่ม

6. การจัดการด้านการตลาด

         ขอให้หน่วยงานราชการช่วยจัดหาตลาดให้

7. ชื่อผู้เขียน/ผู้เรียบเรียง ที่อยู่ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์

         1. นางสาวประภารัสมิ์ พจนพิมล
         2. นางนฤมล วัฒนวิกกิจ
         3. นางจุรีรัตน์ อยู่สมบูรณ์
         4. นางสาวหทัยกาญจน์ พวงอ่อน
         5. นายวุฒิชัย บางประทุม
         6. นางสาววิลาสินี ดอนเงิน

         ที่อยู่ ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบางปะหัน
หมู่ 1 ตำบลขวัญเมือง อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โทร./โทรสาร 0-3538-1629


กลับหน้าหัวข้อ อาชีพเด่นของแต่ละอำเภอในอยุธยา
Hosted by www.Geocities.ws