พัดสานบ้านแพรก

 

         พัดสาน เป็นพัดสำหรับพัดโบกเตาไฟของคนไทยสมัยก่อน หรือใช้พัดโบก
ร่างกายให้คลายร้อนได้ สามารถที่จะนำติดตัวไปไหนมาไหนได้สะดวก วัสดุที่ใช้สานพัด
เป็นผลผลิตจากพืชพรรณธรรมชาติในท้องถิ่นคือไม้ไผ่
         การสานพัด ผู้สานนิยมสานเป็น รูปร่างต่าง ๆ มุ่งเน้นประโยชน์การใช้งาน
มีการปรับปรุงพัฒนารูปแบบให้มีความสวยงามประณีต เช่นพัดสานห้าเหลี่ยม
เหมาะสำหรับพัดโบกเตาไฟ พัดยกลายดอกสานเป็นลวดลายต่าง ๆ พัดละเอียดรูป
ใบโพธิ์หรือรูปหัวใจ และรูปตาลปัตร
         พัดสานบ้านแพรกเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านอันทรงคุณค่า ที่เกิดจาก
ภูมิปัญญา ชาวบ้าน อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชาวอำเภอบ้านแพรก
ริเริ่มการสานพัดมาเป็นเวลานับ 40 ปี มีการประยุกต์ปรับปรุงตลอดเวลา การสานพัด
เป็นอาชีพเสริมทำรายได้ดีภายในครัวเรือน ชาวบ้านจะสานพัดในช่วงว่างเว้นจากการ
ทำนา เป็นสินค้าสำคัญอย่างหนึ่งของชาวอำเภอบ้านแพรก เป็นหัตถกรรมพื้นบ้าน
ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องให้เป็นเอกลัษณ์ของอำเภอบ้านแพรก ดังปรากฎใน
คำขวัญที่ว่า "หลวงพ่อเขียวหลวงพ่อขาว หลวงพ่อเภาคู่บ้าน พัดสานคู่เมือง
พิพิธภัณฑ์ลือเลื่อง รุ่งเรืองเกษตรกรรม เลิศล้ำหัตถศิลป์ แดนดินถิ่นลิเก"

 

วัสดุอุปกรณ์

  1. ไม้ไผ่สีสุก
2. มีดจักตอก
3. สีย้อมผ้า
4. กระทะ
5. เตาถ่าน
6. แบบพิมพ์รูปพัด
7. ดินสอ
8. กรรไกร
9. กิ๊บติดผมสีดำ
10. เป็กตอกเย็บพัด
11. ฆ้อน
12. เลื่อย
13. สว่านเจาะด้ามพัด
14. จักรเย็บพัด
15. ด้าย
16. น้ำมันสน
17. เกลือ
18. สารส้ม
19. ฟืน
20. ไม้ขีดไฟ
21. กะละมัง
22. แปรงทาสี
23. ถ้วย
24. ผ้าตาดทอง
25. ผ้าลูกไม้
26. ผ้าดิบ

 

วิธีทำ
      1. การเลือกไม้สานพัด
         เลือกลำไผ่ยาวตรง ๆ ดูสีผิวของลำไม้ไผ่ ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป ไม้ไผ่ที่
กำลังพอดีผิวไม้ไผ่เป็นมัดปลากด ถ้าไม้แก่ผิวจะออกเขียวเข้มไปทางแดงหรือน้ำตาล

 

      2. การจักตอก
         เมื่อตัดไม้ไผ่สีสุกมาเป็นลำแล้ว นำมาทอนหรือตัดเป็นปล้อง ๆ โดยใช้เลื่อย
มือเดียว หรือเลื่อยลันดา โดยตัดข้อทิ้งไปด้วย พยายามตัดให้ตรง ๆ ลงไป ระวังอย่าให้
ไม้แตก ความยาวแต่ละปล้องยาวประมาณ 1 ฟุต แล้วจักเป็นตอก



      3. การย้อมสีตอก (สีที่ใช้เป็นสีย้อมผ้า อาจจะเป็นสีซองหรือกระป๋องก็ได้)
         3.1 ก่อเตาถ่านหรือเตาฟืน เตาแก๊ส แล้วแต่สะดวก ใช้กระทะที่ใช้สำหรับย้อมสี
ใส่น้ำพอสมควร ตั้งไฟให้เดือด
         3.2 เมื่อน้ำ สี เกลือ สารส้ม เข้ากันดี นำตอกประมาณ 20 เส้น จุ่มลงในกระทะ
เพื่อทดสอบความเข้ม ของสีก่อนว่าใช้ได้หรือไม่ เมื่อใช้ได้แล้ว ก็นำตอกมาหยิบมือ
ค่อย ๆ จุ่มลงไปในกระทะที่กำลังเดือด โดยให้น้ำสีทั่วตอกจนเห็นว่าเกาะเส้นตอก จนทั่ว
จึงเอาตอกออก
         3.3 รีบนำตอกที่ย้อมสีแล้ว ไปล้างน้ำสะอาดเพื่อไม่ให้สีจับที่ตอกหนาเกินไป
เวลา สานสีตอกจะได้ไม่ติดมือ
         3.4 นำตอกที่ล้างน้ำแล้วไปผึ่งแดดจนแห้ง ก็นำไปสานพัดได้


      4. การสานก่อเป็นแผง
         นำตอกที่ย้อมสีแล้วมาสานก่อ โดยมากนิยมสานเป็นลาย 3 หมายถึง ยกตอก
3 เส้น ขัดตอก 3 เส้น หรือเรียกว่ายก 3 ข่ม 3 เป็นขั้นบันได แต่ถ้าจะให้เป็นลาย
เป็นดอกหรือเป็นรูปทรงอะไรนั้น อยู่ที่เทคนิคของผู้สาน


      5. การตัดพัดให้เป็นรูปเล่มตามแบบ
         เมื่อสานพัดเป็นแผงเสร็จขนาดประมาณ 1 ฟุต แล้วนำแบบไม้หรือแบบ
กระดาษที่ทำเป็นรูปใบโพธิ์ หรือรูปตาลปัตร ที่นิยมกัน มาทาบแล้วตัดตามแบบ (สำหรับ
พัดหยาบนั้นนิยมทำเป็นรูปตาลปัตร เพราะใหญ่ใช้งานได้ดีกว่า)


      6. การทำลายขอบพัด หลังจากตัดพัดเป็นรูปที่ต้องการแล้ว จึงนำผ้าตาดทอง หรือ
ผ้าดิบสีขาว มาฉีกเพื่อทำขอบพัด ขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร นำมาพับเข้า
ทั้งสองข้าง ให้เหลือ 1 เซนติเมตร แล้วดึงผ้าดิบกับขอบโลหะแข็ง ๆ เช่น ขอบ ปิ๊บ ยาว
ประมาณ 3 ฟุต แล้วนำมาหุ้มขอบพัดที่ตัดแล้ว ตามรูปพัดโดยเริ่มจากด้านล่าง ที่จะ ใส่
ด้ามพัด ใช้กิ๊บดำเสียบผมเสียบผ้ากับพัดไว้ หุ้มจนมาชนกัน เสียบกิ๊บอีก 1 ตัว เมื่อนำ ผ้า
มาทำขอบเสร็จแล้ว นำไปเย็บขอบพัด เพื่อยึดผ้ากับตอกให้แน่นต่อไป โดยใช้จักรเย็บผ้า
เข็มใหญ่ ใช้ด้ายตามสีของพัด

       7.การทำด้ามพัด
         7.1 เลือกไม้ไผ่สีสุกเช่นเดียวกับที่ใช้จักตอกสานพัด ตัดเป็นปล้อง ๆ ตัดข้อทิ้ง
ยาวประมาณ 1 ฟุต ใช้ไม้ค่อนข้างแก่
         7.2 ผ่าไม้ออกเป็นส่วน ๆ ขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร
         7.3 เกลาให้เรียวปลายแหลม โดยผ่าจากปลายไปหาโคน ด้ามประมาณ 20
เซนติเมตร เพื่อนำพัดสอดเข้าไประหว่างด้ามที่ผ่า
         7.4 เกลาด้ามให้เรียบร้อย ขูดผิวออก
         7.5 นำด้ามที่เกลาเรียบร้อย ไปผึ่งแดดเพื่อให้ไม้แห้ง
         7.6 ใช้น้ำมันเคลือบเงา ทาเพื่อความสวยงามดูเป็นมันน่าใช้

      8. การประกอบพัดเป็นเล่ม
         8.1 เมื่อได้ด้ามพัดและพัดที่สานมีขอบเสร็จแล้ว นำด้ามสอดตรงปลายที่ผ่าไว้
โดยให้พัดอยู่กึ่งกลางพอดี เสียบพัดทะลุหน้าพัดและหลังพัด
         8.2 ใช้สว่านเจาะด้ามพัด กะให้อยู่ระหว่างปลายด้ามกับขอบ
         8.3 ใช้ค้อนตอกเป๊กหัวใหญ่ที่เตรียมไว้ตอกด้านหน้าให้ทะลุไปอีกด้าน แล้ว
ตอกทับตรงปลายเป๊กให้ยึดด้ามพัดให้แน่น
         8.4 นำพัดไปทาด้วยน้ำมันสน โดยทาให้ทั่วทั้งด้านหน้าและด้านหลังของตัวพัด
         8.5 เมื่อเสร็จแล้วนำไปใช้งานได้ เช่น นำไปโบกเวลาร้อน ใช้โบกเตาถ่าน
ใช้เป็นของชำร่วยของที่ระลึก

 

ผลผลิต

         - พัดสานตัวหนังสือ    ขนาด 4.5 นิ้ว  ราคา 10 บาท
         - พัดสานตัวหนังสือ    ขนาด   7 นิ้ว  ราคา 20 บาท
         - พัดสานตัวหนังสือ    ขนาด   9 นิ้ว  ราคา 25 บาท
         - พัดสานตัวหนังสือ    ขนาด  11 นิ้ว  ราคา 30 บาท
         - พัดสานแบบหยาบ   ขนาด 9.5 นิ้ว  ราคา  5 บาท
         - พัดสานแบบละเอียด ขนาด 4.5 นิ้ว  ราคา 10 บาท

 

ปัญหา / อุปสรรค

         - ตลาดไม่แน่นอน ส่วนใหญ่จะทำตามที่ลูกค้าสั่งเข้ามา ลูกค้าส่วนใหญ่จะนำไป
เป็นของที่ระลึกของชำร่วยงานต่าง ๆ

 

ชื่อผู้เขียน / ผู้เรียบเรียง ที่อยู่พร้อมหมายเลขโทรศัพท์

         ชื่อผู้เขียน อาจารย์ประสาน เสถียรพันธุ์ โรงเรียนบ้านแพรกประชาสรรค์
ตำบลสำพะเนียง อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13240
เบอร์โทร. 0-3538-6120

         ผู้เรียบเรียง นางสาววัชรา ชูชีพชัย ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ
บ้านแพรก ตำบลบ้านแพรก อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์
13240 เบอร์โทร. 0-3538-6842


กลับหน้าหัวข้อ อาชีพเด่นของแต่ละอำเภอในอยุธยา
Hosted by www.Geocities.ws