เขียนโปรแกรมบนปาล์มใช้เองด้วย HB++ 1.04 ตอนที่ 1

เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2548 [8:51]

ทำไมต้องเขียนโปรแกรมเอง ทำไมต้อง HB++

สืบเนื่องมาจากช่วงที่ผมเปลี่ยนพีดีเอส่วนตัวจากค่าย PocketPC กลับมาใช้ปาล์มใหม่ๆ แรกๆ นั้นผมพยายามอย่างมากที่จะหาโปรแกรมที่ใช้งานได้ทดแทนหรือใกล้เคียงกับโปรแกรม SprintDB, abcDB ซึ่งเป็นโปรแกรมจัดการฐานข้อมูลบน PPC แต่ทำอย่างไรก็ไม่พบโปรแกรมในลักษณะดังกล่าวเลย ที่พอหาได้ก็มีความสามารถจำกัด บางโปรแกรมมีชนิดของฟิลด์ข้อมูล (field type) น้อยเกินไป บางโปรแกรมไม่รองรับ relational database บางโปรแกรมไม่สามารถออกแบบ GUI ได้อย่างอิสระ

HB++ คือคำตอบ

จากจุดอ่อนของโปรแกรมหลายๆ ตัวบนปาล์ม กับประสบการณ์ที่เคยใช้โปรแกรมจัดการข้อมูลบน PPC มาหลายตัวเช่นกัน ทำให้ผมพบคำตอบว่าการเขียนโปรแกรมเองเท่านั้นที่จะตอบสนองความต้องการของตัวเองได้ เมื่อตั้งใจเช่นนั้นแล้ว ผมจึงได้เริ่มมองหา Compiler ที่จะใช้มาทำงานนี้ อาทิ Code Warrior, Satellite Forms, NS BASIC รวมทั้งพวกที่ใช้งานแบบ command line อย่าง Pocket Pascal ฯลฯ ผมต้องตัดตัวเลือกเหล่านี้ออกไปเนื่องจาก
- ผมไม่มีพื้นฐานภาษา C, C++ จึงต้องข้าม CCode Warrior
- ไม่สามารถหา Satellite Forms ที่ใช้งานไดด้นานๆ ได้ ที่เจอก็มีแต่รุ่น 4.0 ซึ่งรองรับแค่ OS4.x เท่านั้น
- NS BASIC ต้องการ Runtime เพื่อใช้งาน แตต่ผมต้องการโปรแกรมที่เป็น Executeable ไฟล์เดียวโดดๆ
- การเขียนโปรแกรมที่ไม่ใช่แบบ Visual นั้นนยากและกินเวลามากเกินไป อาจจะทำให้ท้อเสียก่อนสำเร็จได้

ผมมาพบ Handheld Basic++ จากในเว็บ google นี่เอง โดยเป็นผลจากการพยายามลองค้นหาโปรแกรมแบบ Visual และอิงกับภาษาเบสิคเนื่องจากเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายที่สุด ซึ่งผมมั่นใจว่าท่านที่ไม่มีพื้นฐานการเขียนโปรแกรมเลยก็ยังสามารถทำความรู้จักและพัฒนาโปรแกรมได้โดยง่ายเช่นเดียวกันครับ

จุดแข็งของ HB++

จากการที่ได้พัฒนาโปรแกรมบน HB++ มาระยะหนึ่งทำให้พบว่า Compiler ตัวนี้เองที่มีครบตามที่ต้องการ โดยมีจุดเด่นหลายอย่างดังนี้
1. ภาษาโปรแกรมเข้าใจง่ายเพราะใช้โครงสร้างแบบเดียวกับภาษาเบสิค
2. การเขียนโปรแกรมใช้ระบบ Visual ลากแล้ววาง Control กำหนด Properties และกำหนด Event ให้กับคอนโทรลได้เลย
3. มีชุดคำสั่งจำนวนมาก โดยเฉพาะชุดคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการฐานข้อมูลจำพวกการจัดกลุ่มข้อมูลทั้งแบบ High Level และ Low Level
4. สามารถโอนข้อมูลไปกลับ กับฐานข้อมูล Microsoft Access ได้อย่างง่ายดาย
5. รองรับชุดคำสั่งที่เรียกว่า ARMlet ซึ่งเป็นชุดคำสั่งที่ใช้สั่งงานซีพียูที่สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรม arm-based CPU ซึ่งใช้งานบนปาล์มโอเอสห้าทั้งหมด
6. สามารถเพิ่มเติมความสามารถด้วยไลบลารีที่เขียนด้วยภาษาอื่นๆ ได้ เช่น Zlib ที่ใช้ในการ compress, decompress ไฟล์ก็สามารถเอามาใช้งานได้เช่นกัน
7. มีฟอรั่มที่ดีมากๆ ในการตอบปัญหาและยกตัวอย่าง Code โปรแกรมทำให้เริ่ม Project ได้อย่างรวดเร็ว

บทความชุดนี้เหมาะกับใคร?

บทความชุดนี้ตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อเป็นวิทยาทานให้กับท่านที่สนใจการเขียนโปรแกรมบนปาล์มใช้เอง ผู้เขียนหวังว่าส่วนหนึ่งส่วนใดในบทความนี้จะช่วยทำให้เกิดโปรแกรมตัวใหม่ๆ ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และนำไปแจกจ่ายให้เพื่อนผู้ใช้ปาล์มได้ใช้งานกันโดยกว้างขวางต่อไป ท่านไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานในการเขียนภาษาโปรแกรมมาก่อนก็ได้ เพราะผมเองก็ไม่เคยเขียนโปรแกรมภาษาเบสิคมาก่อนเช่นกัน แต่ท่านต้องใช้เวลาและตั้งใจกับงานให้มาก รวมทั้งหมั่นค้นคว้า หาความรู้จากการอ่านทั้ง Help และใน Forum ของเว็บไซต์ผู้พัฒนาก็จะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ไม่ยากครับ นอกจากนั้นการเขียนโปรแกรมยังฝึกให้เรารู้จักคิดอย่างเป็นลำดับขั้น อันจะเป็นผลดีต่อการทำงานประจำของท่านได้ด้วยครับ ท่านที่กำลังมองหาเครื่องมือเขียนโปรแกรมสักตัวที่จะตอบสนองงานของท่านได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะงานด้านฐานข้อมูล ก็นับว่าท่านได้ก้าวมาถูกทางแล้วล่ะครับ ..

ทำความรู้จักกับ HB++

โปรแกรม Compiler ที่ชื่อ HB++ นี้ เป็นลักษณะ Shareware ครับ ท่านสามารถออกแบบโปรแกรมแล้วแจกจ่ายให้กับเพื่อนๆ ใช้งานฟรีๆ ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ว่าโปรแกรมที่คอมไพล์ด้วย HB++ ที่ไม่ได้รับการลงทะเบียนนั้นจะมี nag screen ปรากฏทุกครั้งที่เปิดใช้งานดังรูป

ดังนั้นการพัฒนาโปรแกรมแล้วแจกฟรีให้กับเพื่อนๆ หรือผู้ใช้งานปาล์มคนอื่นๆ ใช้งานนั้นจึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แต่ท่านห้ามคิดค่าใช้จ่ายในโปรแกรมนั้นๆ เท่านั้นเองครับ

ท่านสามารถดาวน์โหลดโปรแกรม HB++ ได้ฟรีที่เว็บไซค์ http://www.handheld-basic.com/

โดยนอกจากโปรแกรมแล้วที่นี่ยังมีให้ดาวน์โหลดคู่มือโปรแกรมและยังมีฟอรั่มให้ไปร่วมแสดงความคิดเห็นได้ด้วยครับ สำหรับท่านที่สนใจคู่มือโปรแกรมในแบบ isilo เพื่อเอาไว้อ่านในพีดีเอ ก็สามารถขอมาที่ผมได้ครับ โดยผมได้นำต้นฉบับที่เป็นแบบ *.chm มาแปลงเป็น isilo อีกทีหนึ่งครับ

มารู้จักส่วนต่างๆ ของ HB++

หลังจากที่ท่านได้ดาวน์โหลดโปรแกรม HB++ และทำการติดตั้งเรียบร้อยแล้ว เมื่อเปิดใช้งานครั้งแรกจะได้พบหน้าจอโปรแกรมว่างๆ ดังรูป ซึ่งเราจะมาทำความรู้จักกันในแต่ละส่วนครับ

คำอธิบาย
1. Toobar เช่นเดียวกับโปรแกรมบน Windows อื่นๆ ตำแหน่งนี้เป็นที่เก็บเครื่องมือที่ใช้งานบ่อยๆ เช่น คำสั่งค้นหา คำสั่งย้อนกลับ คำสั่ง Built, Run, Pause, Stop ซึ่งท่านจะได้ใช้งานในบทความตอนต่อไป
2. Toobox เป็นกล่องเครื่องมือที่บรรจุ Control ต่างๆ โดยจะมีหน้าตาและวิธีการใช้งานเป็นมาตรฐานเหมือนที่มีใน Visual Basic และโปรแกรมอื่นๆ เมื่อท่านเขียนโปรแกรมบน HB++ ไปได้ระยะหนึ่งแล้วพบว่าเครื่องมือที่มีให้นั้นไม่พอใช้งาน ก็สามารถหา Control มาใส่เพิ่มเติมได้ แม้กระทั่งจะสร้าง Custom Control ขึ้นมาเองก็สามารถทำได้ไม่ยากนักครับ
3. Output หน้าจอแสดงผล ส่วนนี้เอาไว้แสดงคำเตือน (Warning) และความผิดพลาด (Error) และยังเอาไว้ใช้ในการค้นหาจุดบกพร่อง (BUG) ในโปรแกรมได้ด้วย
4. Properties ส่วนนี้ใช้ในการกำหนดค่าพื้นฐาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลักษณะที่มองเห็นเช่น ขนาด ตำแหน่ง จำนวนแถว ฯลฯ
5. Project ส่วนนี้ใช้ในการแสดงรายละเอียดของโปรแกรม ว่าประกอบไปด้วย Form ใดบ้าง มี Modules, Class, User Control (ucDraw), Image Families (ภาพที่แสดงในโปรแกรม), Binaries Resource (กำหนด resource ของโปรแกรม เช่นกำหนดให้เพิ่ม Categories ที่เก็บโปรแกรมก็ได้), Table (ตารางข้อมูล สำหรับโปรแกรมที่มีไฟล์ Database แยกออกมาจากตัวโปรแกรม เช่น โปรแกรมจัดการฐานข้อมูลต่างๆ)
6. Work Space สำหรับแสดงฟอร์มที่กำลังสร้าง และหน้าต่างสำหรับ Code โปรแกรม

สำหรับท่านที่สนใจก็แวะไปดาวน์โหลดโปรแกรมมาเตรียมเอาไว้ได้เลยครับ ตอนต่อไปก็จะเริ่มเขียนโปรแกรมเล็กๆ กันสักอันหนึ่งจะได้รู้ว่าเขียนโปรแกรมบนปาล์มไม่ได้ยากอย่างที่คิดครับ

สำหรับท่านที่อยากรู้ว่า HB++ มีความสามารถเพียงใด แนะนำให้ลองดาวน์โหลดโปรแกรม nStock ที่อยู่ในเว็บไซต์นี้ไปทดลองเล่นดูน่าจะทำให้รู้จักกับ Compiler ตัวนี้ได้ดียิ่งขึ้นครับ ^_^


o present by neko [ [email protected] ]
Hosted by www.Geocities.ws

1