“ ว้าแดง “ หนาม..ยอก..อก ไทย

ท่ามกลางการประกาศสงครามกับยาเสพติดของรัฐบาลไทย โดยพุ่งเป้าไปที่ภายในเดือนเมษายน 2546..? ต้องการกวาดล้างให้สิ้นซาก เป็นที่ทราบกันดีว่า ฐานผลิตยาเสพติดแหล่งใหญ่ที่สุดอยู่ที่เมืองยอน จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ภายใต้การนำของ "เหว่ย เซียะ กัง" กองกำลังว้าแดงมีประวัติความเป็นมาอย่างไร และเหตุใดจึงก้าวเข้ามาสู่แถวหน้าในฐานะผู้ผลิตยาเสพติดรายใหญ่ของโลกเช่นทุกวันนี้  ชนชาติว้า หรือที่รู้จักกันดีในนาม "ว้าแดง" นั้นเป็นชนชาติเก่าแก่อาศัยอยู่ในพม่า ไทย ลาว เวียดนาม และจีน มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ละว้า, ละวะ, วะ, ลัวะ และไตหลอย สามารถแบ่งได้เป็น 7 พวก คือ ว้าฮ้าย, ว้าแต๊บ, ว้าปุ๊ด, ว้าโป๋ย, ว้าล่อน, ว้าอ้ายสอย และว้าสั้นทุ่ง ในอดีตชนชาติว้าส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพาะปลูก มีนิสัยอดทน ขยัน และดุร้าย นับถือผี และโชคลาง

ถึงแม้ว้าจะอาศัยอยู่ในหลายประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ แต่ดูเหมือนว่าส่วนใหญ่แล้วจะอาศัยอยู่ในประเทศพม่ามากที่สุด โดยตั้งรกรากอยู่ตอนเหนือของรัฐฉานติดกับพรมแดนจีน ประกอบด้วยหัวเมืองสำคัญๆ คือ เมืองปางซาง, เมืองเลิน, เมืองมดไฮ,เมืองหม่อฟ้า, เมืองมัวแสง และเมืองแวกทิง  โดยมีเมืองหลวงคือเมืองปางซาง ตั้งอยู่ใจกลางหุบเขาเลียบฝั่งแม่น้ำเหลย มีอาณาเขตติดต่อกับเมืองอ่า มณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีประชากรมากถึง 750,000 คน ผู้นำคนปัจจุบันคือ "เป่าโยซัง"

สำหรับความเป็นมาของชนชาติว้าในอดีตนั้น ก่อนหน้าที่จะย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองปางซาง "ว้า" เป็นชนชาติเก่าแก่ชนเผ่าหนึ่ง เดิมมีเมืองหลวงอยู่ที่ "เมืองเลิน" เมื่ออังกฤษเข้าปกครองพม่า ว้าถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ราชอาณาจักร ด้านตะวันออกแม่น้ำสาละวินมีเมืองเลินเป็นเมืองหลวง มี "ขุนทุ้งจั้ง" เป็นผู้นำ ส่วนด้านตะวันตกของแม่น้ำสาละวินมีเมืองนาเลาเป็นเมืองหลวง มี "ขุนมหา" ซึ่งเป็นน้องชายของขุนทุ้งจั้งเป็นผู้นำ  ต่อมาในปี พ..2431 เซอร์ ฮิลดี แบนด์ ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำรัฐฉานเจรจาให้ขุนทุ้งจั้งและขุนมหายอมอ่อนข้อต่ออังกฤษ ขุนทุ้งจั้งยินยอมแต่โดยดี แต่ทว่าขุนมหานั้นหายอมไม่ ปี พ..2434 ขุนมหาจึงนำกำลังข้ามแม่น้ำสาละวินบุกยึดเมืองเลิน ต่อมา เซอร์ ยอร์ช สก็อต ได้รับคำสั่งให้นำกำลังทหารอังกฤษเข้าโจมตี เพียงแค่ปีเศษเมืองเลินก็ตกมาอยู่ในการปกครองของขุนทุ้งจั้งเช่นเดิม

การปกครองของชนชาติว้าโดยกลุ่มผู้นำดำเนินเรื่อยมากระทั่งปี 2502 ว้าแดงจึงได้ก่อตั้งขบวนการกู้ชาติเพื่อปลดปล่อยจากการปกครองของรัฐบาลพม่า โดยมี "โปหม่องและโปเตหวิ่น" เป็นหัวหน้าทำการสู้รบกับรัฐบาลพม่าตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

กองกำลังว้าแดง หรือ UWSA (UNITED WA STAGE ARMY) มีกำลังพลประมาณ 150,000 คน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเหว่ยเสี่ยวหลง เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดทางตอนเหนือติดกับประเทศจีน กลุ่มเหว่ยเสี่ยวกัง น้องชายของเหว่ยเสี่ยวหลง เป็นฐานกำลังใหญ่อยู่เมืองยอน และพื้นที่ตรงข้ามอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย กลุ่มโกกั้ง เป็นชนว้าอิสระปกครองตนเองอยู่ที่เมืองลาติดเขตสิบสองปันนาของจีน และกลุ่มว้าตอนเหนือ มีนายอูซอนลู เป็นผู้นำและนาลพลต้าไหลเป็นกำลังหลัก

ที่ผ่านมาชนชาติว้าต้องมีชีวิตอยู่กับการต่อสู้แยกตัวออกเป็นอิสระ โดยปี 2532-2539 ต้องทำสงครามกับกองทัพเมืองไตของขุนส่า อดีตราชายาเสพติดโลก เพื่อชิงดอยลาง ตรงข้ามอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ผลการสู้รบตลอด 8 ปีครานั้นกองกำลังว้าได้รับชัยชนะ ขุนส่าชิงเข้ามอบตัวกับรัฐบาลพม่า เพื่อแลกกับข้อตกลงไม่ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปให้สหรัฐ และหลังจากเมืองไตล่มสลาย "เจ้ายอดศึก" ได้แยกตัวออกมาตั้งกลุ่มเป็น "กองกำลังรัฐฉาน (SHAN STAGE ARMY)"

ถึงแม้กองทัพเมืองไตจะถึงคราวล่มสลาย แต่โครงข่ายยาเสพติดที่ขุนส่าได้ก่อร่างสร้างไว้ในอดีตสมัยเรืองอำนาจ ผลิตเฮโรอีนส่งขายกระจายไปทั่วโลก ใช่จะสูญสลายตามไปด้วย ตรงกันข้าม "เหว่ยเสี่ยวกัง" ซึ่งคุมกำลังฐานใหญ่เมืองยอน เคยทำงานให้ขุนส่ากลับใช้โอกาสนี้เข้าครอบคลุมกิจการยาเสพติดแทน ส่งผลให้กองกำลังว้าแดงภาคใต้มีแสนยานุภาพสูงสุด ขยายอาณาเขตไปยังเมืองสาด เมืองโตน และเมืองตูน ตามรอยตะเข็บชายแดนไทย-พม่า

รายได้ส่วนหนึ่งจากการค้าขายยาเสพติดถูกส่งไปบรรณาการเมืองหลวงปางซาง ของว้าแดงตอนเหนือ จน เหว่ยเสี่ยวกัง ได้รับการแต่งตั้งจาก UWSA ให้เป็นแม่ทัพใหญ่ของว้าแดงภาคใต้ ต่อมายิ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในการผลิตและจำหน่ายยาบ้ามายังฝั่งไทย สร้างความเจริญในพื้นที่ครอบครอง ทำให้ว้าแดงตอนเหนืออพยพลงใต้นับแสนคน

ตรงจุดนี้เองที่ตรงกับความต้องการของสภาเพื่อการพัฒนาและสันติภาพแห่งชาติพม่า (SPDC) ที่พยายามทำให้ชาวโลกเห็นว่าปี พ..2548 พม่าตอนเหนือจะปลอดยาเสพติด

อย่างไรก็ตามกองกำลังว้าแดงเองก็มีความขัดแย้งภายในเกิดขึ้นเช่นกัน เมื่อเป่าโยซังผู้นำว้าแดงภาคเหนือไม่สามารถส่งเฮโรอีนผ่านเข้าไปในประเทศจีนได้ ทำให้ขาดรายได้มหาศาล ตรงกันข้ามกับว้าแดงตอนใต้กลับมีรายได้จากการส่งยาบ้าเข้าไทยจำนวนมหาศาล แต่ไม่ส่งรายได้เข้าเมืองปางซางเท่าที่ควร จึงเกิดความขัดแย้งภายในกันขึ้น

หลังจากเมื่อวานนี้ได้กล่าวถึงประวัติ ความเป็นมาของ "ชนชาติว้า" หรือว้าแดง ซึ่งวิถีความเป็นอยู่เต็มไปด้วยการต่อสู้เพื่อปลดแอก เป็นรัฐอิสระจากรัฐบาลทหารพม่า กระทั่งก้าวเข้ามาดำเนินธุรกิจผลิตยาเสพติดส่งขาย ไปทั่วโลกแทนขุนส่า โดยเฉพาะการผลิตยาบ้ามอมเมาคนไทย กลายเป็นปัญหาระดับประเทศที่ต้องเร่งแก้ไข ตรงกันข้ามกลับสร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับว้าแดง นำมาใช้พัฒนาเมืองยอนให้เจริญได้ชนิดข้ามคืน

ธุรกิจค้ายาเสพติดของว้าแดงมีเครือข่ายโยงใย กับบุคคลหลายกลุ่ม หลายสถานะในประเทศไทย มีการก่อตั้งบริษัทขึ้นมาบังหน้า แต่แท้ที่จริงเป็นแหล่งฟอกเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติด ก่อนจะส่งกลับไปให้กลุ่มว้าแดงทั้งนี้จากข้อมูลที่มีอยู่ของหน่วยงานด้านการปราบปรามยาเสพติดพบว่า ในประเทศไทยมีเครือข่ายว้าแดงที่เข้ามา ประกอบธุรกิจบังหน้า เพื่อใช้เป็นแหล่งฟอกเงินอยู่หลายแห่ง และแต่ละแห่งมีผู้ถือหุ้นรวมทั้งความสืบสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุคคลระดับแนวหน้าของประเทศหลายคน โดยก่อนหน้าที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะจัดประชุมเวิร์คช็อปแก้ไขปัญหายาเสพติดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย ตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้กวาดล้างกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดขนานใหญ่ สามารถยึดเงินสด ทองรูปพรรณ อัญมณี และเครื่องประดับ รวมมูลค่าแล้วประมาณ 70 ล้านบาท ในจำนวนนี้ไม่รวมของกลางยาเสพติด บัญชีเงินฝากธนาคารอีกหลายสิบแห่ง บางบัญชีเพิ่งโอนเงินไปต่างประเทศสดๆ ถึง 30 ล้านบาท

กลุ่มของนายทวี ทวีอภิรดีโรจน์ ถูกจับกลางทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 ต่อมากลุ่มนายสุนันท์ เจนจบ ถูกจับที่บ้านย่านจรัญสนิทวงศ์ เขตบางพลัด เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ หลังจากนั้นเพียง 1 วัน กลุ่มของนายสุพจน์ ทองวิสัย ก็ถูกจับที่ตำบลช้างคลาน จังหวัดเชียงใหม่ แต่ตัวนายสุพจน์ไหวตัวทันหลบหนีไปได้

จากการตรวจสอบพบว่า นายสุนันท์เป็นหัวหน้าฝ่ายการเงินว้าแดง มีหน้าที่รวบรวมเงินยาบ้าจากแก๊งค้ายาภาคกลาง ส่งต่อให้นายสุพจน์ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายการเงินในภาคเหนือ แล้วส่งเงินต่อให้กลุ่มว้าแดงอีกทอดหนึ่ง ทั้งหมดทำงานกันเป็นเครือข่าย โดยเปิดบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ. ส่งออกสินค้าเกษตรบังหน้า แต่แท้ที่จริงนายสุพจน์เองเป็นตัวจักรสำคัญในการค้ายาและฟอกเงินให้กับว้าแดง

เนื่องจากบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ. จดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2536 มีหุ้นส่วน 3 คน มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างคลาน จังหวัดเชียงใหม่ แต่ปรากฏว่า ผลประกอบการตั้งแต่ปี 2540-2542 มีกำไรติดต่อกันเพียง 1.1 แสนบาทเท่านั้น โดยในปี 2540 กำไร 34,129.53 บาท ปี 2541 กำไร 11,759.53 บาท และปี 2542 กำไร 69,306.69 บาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับทรัพย์สินที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติดกับ ปปง. ยึดได้ก่อนหน้านี้มูลค่ากว่า 70 ล้านบาท ค่อนข้างห่างไกลกันมาก และเป็นสิ่งยืนยันพฤติกรรมการกระทำผิดได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ทำให้ทราบว่า นอกจากห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ. แล้ว ขบวนการค้ายาเสพติดรายนี้ยังมีกิจการอีก 3 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับนายสุพจน์ คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด อาร์. จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2535 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ประกอบธุรกิจให้เช่าและกิจการด้านอสังหาริมทรัพย์ อยู่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

กิจการแห่งนี้มีหุ้นส่วน 4 คน คือนายสุพจน์ นาง ร. นางสาว สุ. และนาง น. แต่เปิดทำการได้เพียงปีเดียวจากนั้นวันที่ 29 เมษายน 2536 ก็ปิดกิจการลง

ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. ตั้งเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2541 ร่วมลงทุนกับนางรัตน์ ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอื่นๆ เช่น งานคอนกรีต โครงเหล็กมุงหลังคา ทำฉนวน ติดบานกระจก อยู่ที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ แต่เปิดได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น ก็จดทะเบียนเลิกกิจการไปในวันที่ 2 เมษายน ปีเดียวกัน

สำหรับกิจการล่าสุดของนายสุพจน์ คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซี. ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 ร่วมกับนาย ส. และ นายโส. ประกอบธุรกิจให้เช่าและอสังหาริมทรัพย์ ตั้งอยู่ที่เดียวกับห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.

ทั้งนี้ตามข้อมูลที่ได้มาของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง นาง น. ที่เป็นหุ้นส่วนบริษัท เอ. กับนายสุพจน์นั้น ทั้งสองยังได้ร่วมทำธุรกิจร่วมกันอีกหลายบริษัท โดยเฉพาะ นาง น. เป็นกรรมการบริษัทอื่นๆ อีก 19 แห่ง และยังเป็นภรรยาของนายทหารระดับสูง ส่วน นาง ร.นั้น เคยเป็นอาจารย์สถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่

การทำธุรกิจร่วมกันระหว่างนายสุพจน์กับนาง น. ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบธุรกิจหลายอย่างของนาง น. จนกระทั่งพบว่ามีทั้งนายทหาร ยศ พล.. ไล่ไปจนถึง พล.. นักธุรกิจ ตลอดจนนักการเมืองระดับประเทศ หากเอ่ยชื่อเชื่อว่า มีหลายคนที่รู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี เช่น นาย ส. นักการเมืองระดับประเทศ นายทหารยศ พล.. 2 นาย, พล.. อีก 2 นาย และ นาย บ. อดีต ส..กรุงเทพฯ เข้าร่วมทำธุรกิจด้วย

ขณะที่นายประทีป ทวีอภิรดีโรจน์ ที่ถูกจับกลางทะเลอันดามันก็ใช่ย่อย จากการตรวจสอบข้อมูลทางธุรกิจพบว่า ได้จดทะเบียนบริษัท อาร์. ประกอบกิจการร้านอาหารญี่ปุ่นอยู่ในย่านสุขุมวิท หุ้นกับนางสาว ก. และชาวจีนอีก 5 คน นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจนี้ยังมีร้านอาหารอยู่ที่ย่านทาวน์อินทาวน์อีกแห่งหนึ่งด้วย

ขุมข่ายยาเสพติดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ร่วมขบวนการ ยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงอีกหลายคนมีชื่ออยู่ใน "บัญชีดำ" ที่ไม่อาจเปิดเผยได้ ข้อมูลลับเหล่านี้ถูกรายงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและเฝ้าติดตามพฤติกรรม แม้จะยังไม่มีหลักฐานในการดำเนินคดี แต่ทางการสืบสวนพบความเชื่อมโยงระหว่างกัน กลุ่มฟอกเงินเป็นใคร และเมืองยอนมีความเป็นมาอย่างไร

เหตุผลที่เพราะเหตุใด "ว้าแดง" จึงกลายเป็นผู้ผลิตยาเสพติดรายใหญ่ของโลก เครือข่ายโยงใยที่แฝงอยู่ในคราบนักการเมือง ทำธุรกิจประกอบการที่ตั้งบังหน้าเพื่อฟอกเงินที่ได้จากการค้ายา ให้กลายเป็นเงินบริสุทธิ์ ก่อนส่งกลับไปพัฒนาเมืองยอน ฐานที่มั่นใหญ่ ในเขตประเทศพม่า กลุ่มที่ฟอกเงินให้กับว้าแดงในประเทศไทย ซึ่งหลายคนเป็นคนที่มีหน้ามีตา ตลอดจนฐานะทางสังคมในระดับสูง รวมถึงธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จากข้อมูลที่หน่วยข่าวมีอยู่ในมือขณะนี้  โดยเฉพาะกลุ่มผู้จัดตั้งบริษัท แคน. ซึ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2525 อยู่ย่านพัฒนาการ เขตประเวศ กรุงเทพฯ เริ่มแรกมีผู้ถือหุ้น 9 ราย กระจายหุ้นที่มีอยู่ 40,000 หุ้น ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงกรรมการและแจ้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งแจ้งเพิ่มทุนจดทะเบียนควบคู่กันไป แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการเพิ่มกรรมการใหม่ 3 คน เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2530 ปรากฏชื่อของนายชาญชัย ชีวินนิติปัญญา หรือที่รู้จักกันดีในนาม "เหว่ย เซียะ กัง" เข้าร่วมเป็นกรรมการบริษัท แคน.ด้วย ซึ่งขณะนั้นทุนจดทะเบียนบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2533 แล้วบริษัทดังกล่าวไม่มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการและผลประกอบการของบริษัทอีกเลย ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าววิเคราะห์กันว่า เกิดจากนายเหว่ย เซียะ กัง ถูกตำรวจจับกุม และจากการตรวจสอบยอดเงินในบัญชีธนาคารกสิกรไทย บัญชีกระแสรายวัน พบว่า เหลือเงินอยู่เพียง 19,500 บาท เท่านั้น

บริษัทดังกล่าวนี้เจ้าหน้าที่เชื่อว่า เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ใช้ฟอกเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติดให้กับกลุ่มว้าแดง ซึ่งจากการตรวจสอบทำให้เจ้าหน้าที่มองเห็นเค้าโครงเครือข่ายได้กว้างมากยิ่งขึ้น และผู้ถือหุ้นหลายคนเป็นคนมีฐานะทางสังคมค่อนข้างดี ขณะเดียวกันก็มีสายสัมพันธ์กับนายเหว่ย เซียะ กัง เช่นกัน

จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ถือหุ้นบางคนเป็นถึงรองอธิการบดีสถาบันการศึกษาชื่อดังระดับประเทศ แถมพ่วงด้วยตำแหน่งที่ปรึกษาสมาคม และบริษัทเอกชนอีกหลายแห่ง ในจำนวนนี้ยังไม่นับรวมการเป็นหุ้นส่วนตามบริษัทเอกชนที่เขาผู้นี้ถือหุ้นรวมอยู่อีกหลายบริษัท นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นบางคนซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของนายเหว่ย เซียะ กัง ยังมีสายสัมพันธ์อันดีกับนักการเมืองภาคอีสานคนหนึ่ง ซึ่งเคยได้รับตำแหน่งทางการเมืองในระดับสูง ในเวลาต่อมาผู้ถือหุ้นคนนี้เองก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบสำคัญๆ ในกระทรวงพาณิชย์ หลายตำแหน่ง ซึ่งจากการตรวจสอบทางลึกทำให้เจ้าหน้าที่ทราบว่า ผู้ถือหุ้นคนนี้แท้ที่จริงแล้วเป็นการถือหุ้นแทน "นักการเมือง" คนดังกล่าวนั่นเอง เนื่องจากนักการเมืองคนนี้ต้องการสร้างความสัมพันธ์กับชนกลุ่มน้อยแถบชายแดนไทย-พม่า โดยเฉพาะกลุ่มว้าแดง เพราะมีวัตถุประสงค์ต้องการเข้าไปตั้งบ่อนกาสิโนที่เมืองยอน ประเทศพม่า

นอกจากนี้ ยังมีอีก 4 บริษัทที่ใช้ฟอกเงินค้ายาเสพติด ซึ่งได้กล่าวไปแล้วเมื่อฉบับที่แล้ว ประกอบด้วย บริษัท เอ. ส่งออกสินค้าทางการเกษตร บริษัท อาร์. ประกอบธุรกิจให้เช่าและอสังหาริมทรัพย์ บริษัท บ. ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และบริษัท ซี. ประกอบธุรกิจให้เช่าและอสังหาริมทรัพย์ โดยมีสำนักงานอยู่ทั้งกรุงเทพฯ และที่จังหวัดเชียงใหม่

บริษัททั้ง 4 แห่ง มีนายประทีป นายสุนันท์ และนายสุพจน์ เป็นหัวเรือใหญ่ โดยเฉพาะนายสุนันท์เป็นหัวหน้าฝ่ายการเงิน ดูแลรับผิดชอบรวบรวมเงินค้ายาเสพติดในภาคกลางส่งให้นายสุพจน์ ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายการเงินภาคเหนือ เพื่อส่งต่อให้กลุ่มว้าแดงอีกทอดหนึ่ง

ในจำนวนผู้ถือหุ้นใน 4 บริษัทข้างต้น มีนาง น. ซึ่งเธอผู้นี้นอกจากจะถือหุ้นอยู่ใน 4 บริษัทแล้ว ยังเป็นกรรมการบริษัทเอกชนอีก 19 แห่ง โดย 1 ในนั้นเป็นบริษัทค้าพลอยรวมอยู่ด้วย ขณะที่ นาง ร. ซึ่งเคยเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชื่อดังในภาคเหนือตอนบน มีหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทส่งออกสินค้าเกษตร และอีก 3 บริษัทดำเนินธุรกิจร่วมกับ นาง น. อย่างไรก็ตาม ยังมีบริษัทเอกชนอย่างน้อย 11 แห่ง ที่เจ้าหน้าที่มีข้อมูลว่าอยู่ในเครือข่ายของกลุ่มว้าแดงใช้เป็นแหล่งฟอกเงิน เช่น ธุรกิจส่งออกไม้แกะสลัก ร้านประกอบแว่นสายตา ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารจีน ร้านถ่ายรูป บริษัทผลิตอาหารน้ำสลัดและผงฟู บริษัทนำเข้าน้ำผึ้ง เห็นหอม ยาจีน บริษัทขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป บริษัททำกล่องกระดาษ ฯลฯ โดยผู้ถือหุ้นในบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็คือผู้ถือหุ้นในบริษัท แคน.นั่นเอง โดยธุรกิจดังกล่าวจะเชื่อมโยงกันเหมือนใยแมงมุม มีการยักย้ายถ่ายเทเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติด หลังจากส่งขายให้กับกลุ่มเอเย่นต์ตามภาคต่างๆ แล้ว มาดำเนินธุรกิจเหล่านี้ หมุนเวียนไปตามระบบเศรษฐกิจพื้นฐาน โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่นายสุนันท์และนายสุพจน์ ในที่สุดผลกำไรส่วนหนึ่งจากการดำเนินธุรกิจข้างต้น จะถูกแบ่งเป็นค่ายาเสพติดส่งกลับไปให้ว้าแดง ซึ่งในที่สุดเงินจำนวนมหาศาลก็จะถูกนำไปพัฒนาเมืองยอน ฐานที่มั่นของว้าแดง จนเจริญเติบโตเป็นเมืองย่อยๆ ใจกลางหุบเขาริมแม่น้ำเหลย ฝั่งพม่า

จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่า ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ล้วนมีสายสัมพันธ์กับนายเหว่ย เซียะ กัง มีทั้งภรรยานายไถ่เซิง แซ่เว่ย พี่ชายนายเหว่ย เซียะ กัง และบางคนมีชื่อเป็นเจ้าของอาคารขนาดใหญ่ย่านเทียมร่วมมิตร ซึ่งใช้เป็นที่ตั้งบริษัทในเครือครอบครัวของนายเหว่ย เซียะ กัง หรือไม่บางคนก็พักอาศัยอยู่ที่บ้านของผู้ต้องหายาเสพติดคนสำคัญที่ทางการไทยต้องการตัวผู้นี้

เงินค้ายาเสพติดจำนวนมหาศาลที่ได้จากการมอมเมาเยาวชนไทยนั้น ได้ถูกนำไปพัฒนาเมืองยอนให้มีสภาพเป็นอย่างไร 

เปิดตำนานว้า "ราชาแห่งยาเสพติด"

ก่อนจะเอ่ยถึงโรงไฟฟ้าพลังความร้อนถ่านหินลิกไนต์ อำเภอท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ที่กองกำลังว้าแดงกำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ มาทำความเข้าใจถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของ "ชนชาติว้า" ในอดีตเสียก่อน หลังจาก 3 ตอนแรก ได้เกริ่นถึงประวัติความเป็นมา การผลิตยาเสพติด ตลอดจนกลุ่มธุรกิจฟอกเงินในเมืองไทย เพื่อนำรายได้จำนวนมหาศาลกลับไปพัฒนาเมืองยอนในปัจจุบันเพื่อให้เห็นถึงความแตกต่าง ปัจจุบันกองกำลังว้าเมืองปางซาง มีนายเป่า ยู่ ฉาง เป็นผู้นำสูงสุดปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกับว้าเมืองยอน ซึ่งมี ..เหว่ย ไซ ถัง เป็นผู้นำทางการทหาร นายเหว่ย เซียะ กัง เป็นรองผู้นำฝ่ายเศรษฐกิจ ก่อนหน้าที่ว้าเมืองยอนหรือว้าใต้จะเจริญอย่างเช่นทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จนกระทั่งเข้ามามีบทบาทในฐานะผู้ผลิตยาเสพติดส่งขายให้เอเย่นต์คนไทย ประมาณปี 2539 หลังจากรบชนะขุนส่าอดีตผู้นำกองกำลังรัฐฉาน

ด้วยรายได้ที่ทับทวีขึ้นทุกวันๆ ทำให้ว้าเมืองปางซางหรือว้าเหนือหลายหมื่นครัวเรือนอพยพถิ่นฐานลงมาอยู่เมืองยอนเพิ่มมากขึ้น นายเหว่ย เซียะ กัง ในฐานะรองผู้นำฝ่ายเศรษฐกิจจึงเริ่มพัฒนาบ้านฮุง หรือ บก.46 พัฒนาบ้านโฮ้ง เมืองสาด เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 2,000 ไร่ ปลูกผลไม้เมืองหนาวอย่างลิ้นจี่ ลำไย เลี้ยงฟาร์มไก่ และหมู โดยว่าจ้างนักวิชาการจากประเทศไต้หวัน หรือแม้แต่นักวิชาการการเกษตรของไทยบางคนเข้าไปแนะนำวิชาการด้านการเกษตรกรรมให้กับ ชาวว้า  นายเหว่ย เซียะ กัง ได้บริหารการเงินให้กับกองกำลังว้าแดง โดยแบ่งออกเป็น รายได้ที่ได้จากการผลิตยาเสพติด เช่น ยาบ้า และเฮโรอีน ซึ่งมีมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาได้แก่รายได้จากการค้าขายสินค้าหนีภาษี นำเข้าจากจีนแดงในนามบริษัทหงปัง ส่งขายประเทศไทย รายได้จากการค้าขายอัญมณี การเก็บภาษีเถื่อนในพื้นที่เขตอิทธิพล และรายได้จากการฟอกเงินในรูปแบบต่างๆ โดยมีตัวแทนนำเงินกองกำลังว้าเข้ามาลงทุนในไทย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วตอนก่อนหน้านี้

เดิมทีเมืองยอนเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมาจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีการพัฒนาถนนหนทางไปพร้อมๆ กับโครงการต่างๆ เช่น การสร้างโรงแรม บ่อนการพนัน เขื่อนกั้นน้ำผลิตกระแสไฟฟ้า การก่อสร้างสะพานคอนกรีต การปรับเส้นทางคมนาคมให้เชื่อมต่อกันได้ทุกพื้นที่ และยังเตรียมก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งที่ 2 บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองยอนเพิ่มอีกแห่ง รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนถ่านหินลิกไนต์  การพัฒนาชุมชนเมืองลักษณะนี้จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล แต่เนื่องจากเมืองยอนไม่มีงบประมาณ ภาคเอกชนกลุ่มอื่นของพม่าเองก็ไม่มีเงินทุน นอกจากนี้กลุ่มนักลงทุนต่างชาติก็ไม่มั่นใจในความปลอดภัยจึงยังไม่กล้าเข้าไปลงทุน ดังนั้นงบประมาณส่วนนี้จึงได้มาจากเงินทุนจากธุรกิจผิดกฎหมายเสียเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันกลุ่มว้าแดงยังได้พัฒนางานก่อสร้างตามแนวตะเข็บชายแดน ไทย-พม่า โดยก่อสร้างกองบังคับการ (บก.) ควบคุมทางทหารและเขตชุมชน 5 แห่ง ประกอบด้วย

1.บก.รัฐว้าภาคใต้บริเวณพื้นที่ดอยแหลม

2.บก.กรมคร.894 บนดอยสามเส้า

3.บก.46 บ้านเมืองใหม่ 

4.บก.พล..171 ที่บ้านโฮ้ง เมืองสาด    NC ------

 5.เมืองยอน

โดยกองกำลังว้าแดงได้ตั้งเป้าจะอพยพมวลชน 200,000 คน หรือประมาณ 50,000 ครัวเรือน ลงมาอยู่ในแนวชายแดนไทย-พม่า โดยเริ่มเคลื่อนย้ายมาบางส่วนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2542 เป็นต้นมา ประมาณ 50,000-55,000 คน และมีแผนจะอพยพลงมาเพิ่มอีก 50,000 คน ในปี 2544 ทำให้กองกำลังว้าต้องขยายการผลิตยาเสพติดเพิ่มขึ้นอีก เพื่อหารายได้มาเลี้ยงดูกองกำลังและชาวบ้านที่ลงมาสมทบ

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนถ่านหินลิกไนต์นั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2543 ซึ่งป็นวันวางศิลาฤกษ์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเบื้องต้นได้ 12 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 12,000 กิโลวัตต์ ระยะแรกนั้นอาจจะไม่สามารถสร้างได้เต็มกำลัง แต่จะติดตั้งเครื่องจักรผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 2 เมกะวัตต์ จ่ายกระแสไฟฟ้าเขตอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรและหน่วยราชการ ที่เคยซื้อไฟฟ้าจากฝั่งไทยมานานกว่า 10 ปีแล้ว

ระยะต่อมาจึงจะขยายการผลิตเพื่อป้อนกระแสไฟฟ้ากับโรงงานปูนซีเมนต์ที่พม่า ตลอดจนเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิขของอำเภอท่าขี้เหล็กที่มีขึ้นในอนาคต

การก่อสร้างโรงไฟฟ้าระยะแรก 2 เมกะวัตต์นั้นประเมินกันว่า ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี ก็คงแล้วเสร็จโดยใช้เงินลงทุนประมาณ 500-600 ล้านบาท แต่ถ้าจะขยายเป็น 12 เมกะวัตต์ จะต้องใช้เงินสูงถึง 3,000-3,600 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นเงินจำนวนมากเมื่อเทียบกับภาวะทางเศรษฐกิจของเมืองยอน หากไม่นับธุรกิจค้ายาเสพติดที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับกองกำลังว้าแดงแล้ว ฝ่ายความมั่นคงของไทยวิเคราะห์ว่า ไม่น่าจะสร้างขึ้นมาได้

โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนถ่านหินลิกไนต์ ก่อสร้างบนเนื้อที่กว่า 200 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านสันทรายไต อำเภอท่าขี้เหล็ก จังหวัดเชียงตุง ประเทศพม่า ห่างจากสะพานข้ามแม่น้ำแม่สาย จุดผ่านแดนถาวรไปด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ใกล้กับเจดีย์ชเวกากองจำลองและวัดครูบาแสงหล้า พื้นที่ใกล้เคียงถูกปรับแต่งให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เขตเมืองพง กินอาณาเขตกว้างขวางกว่า 1,500 ไร่ มีท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ไว้รองรับการขนส่งสินค้าทางลำน้ำโขงอีกด้วย และนี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ความเจริญทั้งมวลของเมืองยอน ล้วนได้มาจากเงินค้ายาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าที่ส่งเข้ามาขายในไทยและหากการพัฒนายังเป็นไปอย่างต่อเนื่องเชื่อว่า กองกำลังว้าจะต้องเร่งผลิตยาเพื่อนำออกขายเป็นทุนสร้างเมือง ขณะที่เมืองไทยจะตกเป็นเป้าหมายทางการตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากความเคลื่อนไหวของทหารไทยครั้งล่าสุดที่มีข่าวลือออกไปว่าจะมีการ บุกเข้าไปทำลายแหล่งผลิตยาเสพติดและ จับตัวเหวยเสียวกัง นั้น ความเคลื่อนไหวครั้งนั้นเป็นการเคลื่อนกำลังครั้งใหญ่ที่สุดของไทย จนทำให้เกิดกระแสข่าวดังกล่าว และเป็นไปได้ว่าทางฝ่ายทหารพร้อมที่จะปฏิบัติการดังกล่าวเพียงแต่ว่ารอคำสั่งจากทางผุ้มีอำนาจอนุมัติสั่งการ  แต่ผลที่ออกมาผิดคาดครั้งนั้นเป็นเพียงการซ้อมรบ ของทหารไทยครั้งใหญ่เท่านั้น

แต่จากการเคลื่อนกำลังครั้งนั้น ทางฝ่ายว้าแดงมีดารระดมพล เตรียมการ ตั้งรบ มีการประกาศว่าจะมีทหารไทยเข้ามาโจมตีให้ชาวว้าทุกคนร่วมมือกันต่อต้าน  มีการตั้งจุดตรวจตามถนนในเขตอิทธิพลของว้า มีการตรวจตรากวดขั้นผู้ทีทำธุรกิจ กับว้ามาขึ้น รวมทั้งทางการพม่ามีการเคลื่อนกำลังบางส่วน เข้ามาใกล้ กับพื้นที่ ตามแนวชายแดนไทย 

และที่เป็นที่สำคัญ คือ โรงงานผลิตตามแนวชายแดนหลายแห่งได้ย้ายตัวเองออกจากพื้นที่ แนวชายแดน บางส่วน ย้ายฐานการผลิตไปยังแนวชายแดนไทยลาว บางส่วน ต้องยุติการผลิตชั่วคราว หลายส่วนต้องหยุดเพื่อรอรับการตรวจสอบจาก องค์กรต่างๆ

      ในห้วงนั้น สามารถลดอัตราการผลิตและการนำเข้า ของ ยาบ้าได้เป็นจำนวนมหาศาล ยาบ้าบางส่วนต้องยายเส้นทางไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   บางส่วนย้าย ไปเข้าทางใต้ หรือไม่ก็ใช้เรือ ตามที่ทหารเรือสามารถจับกุมได้ หลายล้านเม็ด  

เป็นที่น่าสังเกตว่านายทหารระดับคุมกำลังที่เกี่ยวข้อง ในการซ้อมรบครั้นนั้น ถูกย้ายออกจากตำแหน่งคุมกำลังหลักๆ เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ตัวผู้บัญชาการทหารบก   หรืออาจจะเป็นผลจากแนวร่วมของฝั่งโน้นนั่งยิ้มอยู่ในที่ที่มีอำนาจเหนือกว่ากองทัพ ค่อยปกป้องผลประโยชน์มหาศาลที่เขาลงทุนไป

บทบาทของทางทหารในการใช้กำลังในการปราบปรามยังคงมีแต่ก็ไม่เข้มข้นเหมือนในห้วงที่ ผู้บัญชาการทหารบกมาจากทหารนักรบ

ในปัจจุบัน โรงงานผลิต ที่อยู่ในเขตอธิพลของว้า กลับมาผลิตยังที่เดิม เปิดเครื่องปั่นไฟเย้ย  โดยที่เจ้าหน้าที่ ได้แต่ทำตาปริบ รอว่าเมื่อไรการใช้ นโยบายทางการ ฑูต ในเศรษฐกิจนำดึงพม่าเข้าร่วมในการปราบปรามยาเสพติดจะสัมฤทธิ์ ผล ในห้วงที่รอ.... ยาบ้า ก็ผลิตออกมาวันละนับล้านเม็ด รอการเล็ดรอดเข้ามา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของไทยได้มีงานทำ  ในขณะนี้หวังแต่ว่ามาตรการเชิงรับ ทั้งการประชาสัมพันธ์ การอบรม ปฏิบัติการทั้งปวงคงจะพอช่วยบรรเทาเบาบางลงได้บ้าง

 

 

 

 

 

Hosted by www.Geocities.ws

1