การจัดองค์ประกอบของชั้นสื่อสาร


ชั้นสื่อสารทั้งเจ็ดบนแบบจำลอง OSI ยังแบ่งการทำงานออกเป็น 3 กลุ่มย่อยด้วยกันคือ

กลุ่มย่อยที่ 1 : ชั้นสื่อสารที่สนับสนุนด้านเครือข่าย (Network Support Layers) ประกอบด้วยชั้นสื่อสารชั้นที่ 1, 2 และ 3 ซึ่งก็คือชั้นสื่อสารฟิสิคัล ดาต้าลิงก์ และเน็ตเวิร์ก ทำหน้าที่ เคลื่อนย้ายข้อมูลจากอุปกรณ์หนึ่งไปยังอุปกรณ์หนึ่ง ซึ่งอาจจำเป็นต้องเดินทางผ่านโหนดต่างๆ มากมายใน ระหว่างทาง สำหรับกลุ่มย่อยส่วนนี้จะทำงานเกี่ยวข้องกับรายละเอียดทางไฟฟ้า การเชื่อมต่อทางกายภาพ ฟิสิคัล แอดเดรส และเวลาที่ใช้ในการขนส่งข้อมูล ซึ่งต้องมีความแน่นอนและเชื่อถือได้
กลุ่มย่อยที่ 2 : ชั้นสื่อสารเคลื่อนย้ายข้อมูล (Transport Layers) ประกอบด้วยชั้นสื่อสารที่ 4 ซึ่งก็คือชั้นสื่อสารทรานสปอร์ต ทำหน้าที่เชื่อมโยงกลุ่มย่อยที่ 1 กับกลุ่มย่อย ที่ 3 ด้วยการสร้างความมั่นใจในการส่งผ่านข้อมูลแบบ End-to-End ไปยังจุดหมายปลายทาง (กรณีขั้นสื่อสาร ดาต้าลิงก์จะส่งผ่านข้อมูลแบบ Single Link)
กลุ่มย่อยที่ 3 : ชั้นสื่อสารสนับสนุนงานผู้ใช้ (User Support Layers) ประกอบด้วยชั้นสื่อสารที่ 5, 6 และ 7 ซึ่งก็คือชั้นสื่อสารเซสชั่น พรีเซ็นเตชัน และแอปพลิเคชัน ในกลุ่ม นี้จะอนุญาตให้ระบบซอฟต์แวร์ที่มีความแตกต่างกันสามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา


และจากรูปที่ 2.5 เป็นภาพรวมของการทำงานบนแบบจำลอง OSI โดยที่ D7 คือหน่วยข้อมูลบนเลเยอร์ 7 (ชั้นสื่อสารแอปพลิเคชัน) และ D6 คือหน่วยข้อมูลบนเลเยอร์ 6 (ชั้นสื่อสารพรีเซ็นเตชัน) ในขณะที่ D5 D4 D3 D2 และ D1 ก็เป็นไปตามทำนองเดียวกัน กระบวนการสื่อสารจะเริ่มต้นจากชั้นสื่อสารแอปพลิเคชัน แล้วค่อยๆ เคลื่อนย้ายจากเลเยอร์หนึ่งไปยังเลเยอร์ถัดไปในรูปแบบ 7-6-5-4-3-2-1 ตามลำดับ โดยแต่ละเลเยอร์จะเตรียม ส่วนหัวที่เรียกว่า เฮดเดอร์ (Header) หรือกรณีมีส่วนหางก็จะเรียกว่า เทรลเลอร์ (Trailer) เพื่อปะเพิ่มเข้าไป กับหน่วยข้อมูล (ปกติเทรลเลอร์มักจะถูกปะเพิ่มเข้าไปบนชั้นสื่อสารดาต้าลิงก์) พึงสังเกตว่า เมื่อหน่วยข้อมูลถูก ส่งผ่านลงไปในแต่ละเลเยอร์ หน่วยข้อมูลเหล่านั้นจะถูกปะส่วนหัวเพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ เราจะเรียกกระบวนการนี้ว่า เอ็นแคปซูเลชัน (Encapsulation) ครั้นเมื่อหน่วยข้อมูลส่งมาถึงชั้นสื่อสารฟิสิคัล หน่วยข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูก เปลี่ยนรูปเป็นสัญญาณไฟฟ้าเพื่อส่งผ่านไปยังลิงก์ต่อไป
เมื่อสัญญาณถูกส่งผ่านลิงก์และไปถึงจุดหมายปลายทางแล้ว หน่วยข้อมูลก็จะถูกเคลื่อนย้ายย้อนกลับขึ้น ไปในทิศทางตรงกันข้ามคือ 1-2-3-4-5-6-7 ตามลำดับ จากนั้นแต่ละเลเยอร์ก็จะถอดเฮดเดอร์เฉพาะส่วนที่เป็น ของตนออก (เฉพาะเลเยอร์ที่ 2 จะถอดทั้งเฮดเดอร์และเทรลเลอร์) กระบวนการนี้จะดำเนินต่อไปจนกระทั่งถึง เลเยอร์บนสุด ซึ่งก็คือชั้นสื่อสารแอปพลิเคชัน (จะได้ส่วนของข้อมูลจริงๆ ที่สามารถนำไปใช้งาน) เราจะเรียก กระบวนการนี้ว่า ดีแคปซูเลชัน (Decapsulation)