สอศ. ประกาศนโยบายรับนักเรียนปีการศึกษา 2547
ยกเครื่องใหม่ – รับปวช., ปวส. โดยไม่มีการสอบคัดเลือก


สอศ. ประกาศนโยบายรับนักเรียนปีการศึกษา 2547
ยกเครื่องใหม่ – รับปวช., ปวส. โดยไม่มีการสอบคัดเลือก

นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ประกาศนำร่องจะใช้นโยบายรับนักศึกษาโดยไม่สอบคัดเลือกนั้น ขณะนี้ สอศ. ได้ประกาศนโยบายการรับนักเรียนนักศึกษา ปีการศึกษา 2547 โดยกำหนดหลักเกณฑ์การรับ นักเรียนที่จบ ชั้น ม.3 เข้าศึกษาต่อระดับ ปวช. และนักศึกษาที่จบชั้นปวช. หรือ ม.6 เข้าศึกษาต่อระดับ ปวส. โดยไม่มีการสอบคัดเลือกแล้ว โดยให้สถาบันการอาชีวศึกษา และอาชีวศึกษาจังหวัด สร้างเครือข่ายการรับนักศึกษาเข้าเรียนร่วมกัน พร้อมทั้งให้แต่ละแห่งกำหนดวันรับสมัคร และวิธีการคัดเลือกให้เหมาะสมได้เอง โดยกำหนดแผนรับในระดับ ปวช. จำนวน 179,000 คน ระดับ ปวส. จำนวน 126,160 คน

นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เปิดเผยถึงนโยบายการรับนักเรียน นักศึกษาว่าจะเน้นความเป็นธรรมและโปร่งใสให้แก่ผู้สมัครเรียน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเสมอภาคในการเข้ารับการศึกษาตามความสนใจและตามความถนัดของแต่ละบุคคล และเพิ่มโอกาสที่จะได้เข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาตามภูมิลำเนา เพื่อตอบสนองการประกอบอาชีพในท้องถิ่นตามแนวทางการสร้างความเป็นเลิศในอาชีพของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสนับสนุนให้มีความร่วมมือในการรับนักเรียน นักศึกษา ระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน

เลขาธิการ สอศ. ชี้แจงถึงวิธีการรับสมัครว่า ในการรับสมัครนักเรียนระบบปกติ ให้ทุกสถานศึกษาดำเนินการรับนักเรียนนักศึกษา ในรูปแบบคณะกรรมการสถาบันการอาชีวศึกษาและหรือคณะกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัด เน้นการช่วยเหลือเกื้อกูลการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการเรียนของนักเรียนทุกคน เมื่ออยากเรียนสาขาใดต้องได้เรียนสาขานั้น โดยสมัครเรียนได้ที่สถานศึกษาอาชีวศึกษาสังกัด สอศ. ได้ทุกแห่ง และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักเรียนและผู้ปกครอง สถานศึกษาอาจจะใช้สถานที่อื่นๆ ในการ รับสมัครได้ตามความเหมาะสม เช่น สถานศึกษาสังกัด สพฐ. สถานประกอบการ หรือจะดำเนินการรับสมัครทางไปรษณีย์ก็ได้ ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการรับนักเรียนนักศึกษาในแต่ละจังหวัด

ส่วนการรับนักเรียนระบบทวิภาคี ให้สถานศึกษาจัดให้นักเรียนทุกคนมีสิทธิ์เลือกเรียนในระบบทวิภาคีอย่างเท่าเทียมกัน ไม่จำกัดสิทธิเฉพาะผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ นักเรียนมีช่องทางในการฝึกและพัฒนาสมรรถนะทางอาชีพให้ทันกับเทคโนโลยีของสถานประกอบการและส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียนมากขึ้น ขณะเดียวกันได้มอบให้สถานประกอบการที่เข้าร่วมจัดการศึกษาโครงการทวิภาคี ประกาศรับสมัครและคัดเลือกนักเรียนได้เองอีกส่วนหนึ่ง โดยดำเนินการร่วมกับสถานศึกษา และใช้ระเบียบหรือเกณฑ์การรับเดียวกัน

การรับนักเรียนนักศึกษาทั้งระดับ ปวช. และ ปวส. ให้สถาบันการอาชีวศึกษา หรืออาชีวศึกษาจังหวัด ดำเนินการกำหนดวันรับสมัคร วิธีการรับเข้าเรียนได้เองตามความเหมาะสม ในกรณีที่มีผู้มาสมัครเกินจำนวนที่สถานศึกษาจะรับได้ หรือมีผู้สมัครมากในบางประเภทวิชา ให้มีคณะกรรมการจัดกลุ่มให้นักเรียนเข้าเรียนโดยพิจารณาผลการเรียนเดิมของนักเรียน วัดแวววิชาชีพ สัมภาษณ์ หรือจัดหาสถานศึกษาอื่นที่เหมาะสมให้โดยการเกลี่ยจำนวนนักเรียน ระหว่างสถานศึกษาในสถาบันการอาชีวศึกษานั้นๆ ทั้งนี้ให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้น ภายใน 2 สัปดาห์หลังการเปิดภาคเรียน

ส่วนการรับนักเรียนระดับ ปวช. สาขาวิชาเกษตรและเทคโนโลยี ในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ทั่วประเทศ 45 แห่ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของโครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต ซึ่งผู้เรียนจะได้รับยกเว้นค่าเล่าเรียน 3 ปี จัดให้พักอาศัยในบ้านพักระบบนักเรียนประจำ และได้รับทุนอุดหนุนการเรียนคนละ 5,000 บาทต่อปี เพื่อสร้างผลผลิตทางการเกษตรระหว่างเรียนด้วย

นักเรียนนักศึกษาที่สนใจจะศึกษาต่อให้ยื่นสมัครเข้าเรียนกับวิทยาลัยหรือ สถาบันอาชีวศึกษาได้ตั้งแต่บัดนี้ หรือเข้าไปศึกษารายละเอียดได้ที่ www.vec.go.th หรือติดต่อโดยตรงยังศูนย์แนะแนวอาชีพและจัดหางานของ สอศ.
ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2281-5555
และ 0-2281-6450 ต่อ 1593

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สอศ.
12 มกราคม 2547



Hosted by www.Geocities.ws

1