ข้อมูล ประวัติ และผลการดำเนินงานโรงเรียนบ้านแม่โต๋

หมู่ที่ 2 ตำบลบ่อแก้ว อำเภอ สะเมิง  จังหวัด เชียงใหม่

1.

เริ่มเปิดเมื่อป ีพ.ศ.2524(1981)โดยเปิดเป็นโรงเรียนสาขา ชื่อว่า โรงเรียนบ้านแม่ขาน-สาขาบ้านแม่โต๋ มีอาจารย์  อาจินต์  ไชยชนะ ครูจากโรงเรียนบ้านแม่ขาน มาช่วยสอนเป็นคนแรก มีนักเรียน  24 คน  อีก 2ปี ต่อมาในปี 2526 นาย ประยูร  คำชัย (ครูใหญ่คนปัจจุบัน) ได้ย้ายมาเป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนนี้    ได้เริ่มมีการปรับปรุงพัฒนากันอย่างใหญ่โตเมื่อปี พ.ศ.2527(1984)จนเปิดเป็นโรงเรียนบ้านแม่โต๋ แยกเป็นเอกเทศจากโรงเรียนบ้านแม่ขาน  เปิดสอนชั้น ป.1-ป.6

2.

เนื่องจากสภาพหมู่บ้านกะเหรี่ยงบ้านแม่โต๋ ตั้งอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆตามฝั่งแม่น้ำ มีหลายกลุ่มเคลื่อนย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ตามบริเวณที่ใกล้ลำน้ำแม่โต๋ จะมีกลุ่มที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างจากโรงเรียนมากอยู่ 1 กลุ่ม คือกลุ่มบ้านขุนโต๋ ห่างจากโรงเรียน 12 กิโลเมตร (โดยทางเท้า) มีเด็กจำนวนมากที่ไม่มาเรียนหนังสือได้เพราะบ้านอยู่ห่างไกล ครูใหญ่จึงอยากให้เด็กเหล่านั้นได้เรียนหนังสือ จึงชักชวนผู้ปกครองของเด็กให้ส่งเด็กมาพักค้างในโรงเรียนและครูช่วยดูแลความเป็นอยู่ให้ เราเรียกงานนี้ว่า “Candle on the hills” ปีแรกมีเด็กตัวเล็กระดับประถมศึกษา 14 คน มาอาศัยอยู่ในโรงเรียนงาน Candle on the hills มีการพัฒนามาเรื่อยๆ โดยมีจุดเน้นที่จะช่วยแก้ปัญหาเด็กด้อยโอกาทางการศึกษาในเขตหมู่บ้านแม่โต๋ กลุ่มที่ห่างไกล และก็สามารถลดปัญหานี้ลงได้มาก เด็กได้เรียนอย่างมีความสุข ได้กินข้าวครบ 3 มื้อ ได้ใช้ภาษาไทยและได้เรียนหนังสืออย่างต่อเนื่อง จนมาถึง พ.ศ.2537(1994) ได้ขยายการจัดการศึกษา จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นปีแรก มีเด็กชาวเขาด้อยโอกาสจากตำบล และหมู่บ้านต่างๆในอำเภอ สะเมิง มาเข้าเรียนมากขึ้น และได้รับการสนับสนุนด้านการก่อสร้างอาคารเรียนและหอพักนักเรียนแบบกึ่งถาวรจากทางประเทศญี่ปุ่น โรงเรียนมีการขยายพื้นที่และขยายชั้นเรียนมากขึ้น จนถือได้ว่า”ครูใหญ่”เป็นผู้ก่อตั้งงานนี้ขึ้นในโรงเรียนแม่โต๋แห่งนี้ เพื่อช่วยเด็กที่ยากจนได้พัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น

3.

มีนักเรียนชาวเขาที่ยากจนจากต่างอำเภอและต่างจังหวัด เริ่มมาขอเข้าเรียนมากขึ้น และทางโรงเรียนจะคัดเลือกเด็กที่มีปัญหาจริงๆ เช่น ยากจน กำพร้า  ถูกทอดทิ้ง เด็กชาวเขาตามหมู่บ้านที่ไม่มีโรงเรียนหรืออยู่ห่างจากโรงเรียนอื่นมาก ปัจจุบันมีเด็กที่ขอพักค้างในโรงเรียน จำนวน 222 คน เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง 184 คน,ลีซอ 8 คน,ม้ง 119 คน,มูเซอ 2 คนและคนไทยพื้นราบ 12 คน  โดยมีภูมิลำเนาจากอำเภอใกล้เคียง และอำเภอที่ห่างไกล จนถึงต่างจังหวัด เช่น จังหวัด แม่ฮ่องสอน  และจังหวัดเชียงราย รวมนักเรียนทั้งหมดในโรงเรียนมีจำนวน 325 คน

4.

เพื่อเป็นการวางแผนแก้ปัญหาหลายอย่าง ที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีเด็กด้อยโอกาสจำนวนมากขึ้น ทางโรงเรียนจึงได้จัดให้เป็นโรงเรียนแบบโรงเรียนหอพักพึ่งตนเอง คือ การเรียนหนังสือ ยังคงมีตามปรกติตลอดวันเหมือนโรงเรียนต่างๆทั่วประเทศไทย แต่เวลา เช้า-เย็น โรงเรียนจะจัดการฝึกให้มีการปลูกผักสวนครัว การเลี้ยงไก่ไข่ ฟาร์มหมู   ไก่เนื้อ เลี้ยงปลา เพื่อนำผลผลิตที่ได้นำมาเป็นอาหารนักเรียนในโรงเรียน โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนในโครงการพิเศษของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นโรงเรียนหอพักพึ่งตนเอง ได้รับงบประมาณค่าอาหารกลางวันคนละ 6บาท ต่อเด็กนักเรียนที่พักในโรงเรียน 1 คน แต่โรงเรียนต้องดูแลอาหารนักเรียนทั้งหมดวันละ 3มื้อ แม้ว่าจะมีผลผลิตทางการเกษตรเข้ามาช่วยแต่ก็ยังไม่พอ จึงต้องมีการขอบริจาค จากผู้มีจิตใจเป็นกุศลทั่วไป

5.

นอกจากจะจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรปรกติ ของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ทางโรงเรียนต้องปรับหลักสูตรการสอนที่สอดคล้องกับสภาพของโรงเรียนและที่สำคัญให้สอดคล้องกับคำขวัญของโรงเรียนที่ว่า “เพิ่มโอกาสทางการเรียน เพียรปลูกฝังความขยัน-ซื่อสัตย์ จัดสภาพแวดล้อม พร้อมนำพัฒนา” เช่น จัดกิจกรรมตอนเช้าตรู่  หลังตื่นนอน  และหลังเลิกเรียน นักเรียนทุกคนต้องมาเข้าแถว เพื่อเช็คจำนวน เวลา 05.30 น. และเวลา16.00 น.หลังจากนั้นก็จะให้นักเรียนปฏิบัติกิจกรรมที่กำหนด และแบ่งหมุนเวียนกัน เช่น ทำอาหาร กำจัดขยะ ดูแลไม้ดอกไม้ประดับ ปลูกผักสวนครัว  และงานโยธาทั่วไป  ซึ่งเป็นการฝึกให้นักเรียนรู้จักทำงาน ฝึกการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ฝึกการพึ่งตนเอง และการเอื้ออาทรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และกิจกรรมพิเศษอื่นๆทั้ง เช้า-เย็น ทุกวัน

6.

นอกจากการจัดการเรียนการสอนตามปรกติเหมือนโรงเรียนทั่วไปแล้ว คือ เข้าเรียนภาคเช้า           เวลา 8.00 น. เลิกเรียน เวลา 15.30 น. หลังจากนั้นครูก็ปฏิบัติงานภาคตอนเย็น คือดูแลกิจกรรมของนักเรียนหลังเลิกเรียน เช่น งานปลูกไม้ดอก-ไม้ประดับ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่  งานประกอบอาหาร และงานพัฒนาอื่นๆ ซึ่งโรงเรียนมีนักเรียน 212 คน ที่พักอาศัยอยู่ในโรงเรียนตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ครูต้องช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด อบรมสั่งสอนกันบ่อยๆ โรงเรียนมีสภาพคล้ายกับชุมชนเล็กๆในป่าใหญ่ที่ห่างไกลจากความเจริญของเมืองใหญ่ๆ ครูต้องเริ่มงานตั้งแต่เวลา 05.00 น.-22.00 น. และในวันหยุดจะมีครูเวรมาปฏิบัติงานด้วย ซึ่งหากจะเปรียบเทียบกับโรงเรียนทั่วไป ครูที่ปฏิบัติงานโรงเรียนบ้านแม่โต๋ จะต้องมีภารกิจที่ค่อนข้างหนักมากกว่า รูต้องมีการประชุมวางแผนกันเสมอ เพราะเด็กมีจำนวนมาก หากดูแลไม่ทั่วถึง อาจเกิดปัญหาต่างๆได้

7.

ผลการดำเนินงานโรงเรียนหอพักพึ่งตนเองที่ผ่านมา ช่วยลดปัญหาการขาดโอกาสทางการเรียนของเด็กด้อยโอกาสเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กชาวเขา ในหมู่บ้านที่ไม่มีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา บ้านอยู่ห่างไกลโรงเรียน ไม่สามารถเดินทางไป-กลับ ในวันเดียวได้ พ่อแม่มีฐานะยากจน เด็กที่มีปัญหาทางครอบครัว ถูกทอดทิ้ง และกำพร้า ก็สามารถศึกษาเล่าเรียนได้ มีที่พักหลับนอน มีที่เล่น มีโรงเรียนที่สะอาดสวยงาม ใหญ่โต และมีครูที่รักใคร่ เมตตาต่อนักเรียน ตั้งใจปฏิบัติงาน การสอน การอบรมบ่มนิสัย และที่สำคัญครูมีความเสียสละเป็นอย่างมาก ในการดูแลนักเรียนในโรงเรียน นักเรียนมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนได้อย่างต่อเนื่องเพราะอาศัยอยู่ในโรงเรียนตลอดเวลา มีโอกาสใช้ภาษาไทยมากขึ้น และได้พบปะกับเพื่อนจากหลายเผ่าพันธุ์พบกับความหลากหลายในชีวิตของสังคม  ได้กินข้าวครบ 3 มื้อ ที่สำคัญได้รับการอบรมงานวิชาชีพ งานฝึกฝน การพึ่งตนเอง ช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือสังคม  ช่วยเหลือส่วนรวม และปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้

8.

งานในการสงเคราะห์ทางการศึกษา  

ที่โรงเรียนจัดทำขึ้นได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาล  เป็นค่าหนังสือแบบเรียน  สมุด ปากกา ของนักเรียนทั้งหมด  เสื้อผ้าชุดยูนิฟอร์ม  20% ของจำนวนนักเรียน  งบประมาณค่าอาหารนักเรียนหัวละ 6บาท/วัน  นอกจากนั้น เป็นเรื่องที่ทางโรงเรียนต้องบริหารเอง ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการศึกษามีประสิทธิภาพ เด็กนักเรียนได้เรียนอย่างมีความสุข   สิ่งที่โรงเรียนจัดหามาเองโดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆอย่างเพียงพอ  คือ อาคารเรียน  ห้องปฏิบัติการต่างๆ เช่น ได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น บ้านพักนักเรียนหลายหลัง พร้อมทั้งเครื่องนอนครบครัน และจากภาคเอกชนหลายแห่ง เช่น จากสมาคมเพื่อนชาวโลกประเทศญี่ปุ่น จากโรตารี่ บูกีส จังชั่น ประเทศสิงคโปร์ แต่โรงเรียนต้องการวัสดุ อาหารเข้ามาเสริมอีกมาก โดยเฉพาะข้าวสาร (ข้าวเจ้าหัก) ลำพังงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ไม่เพียงพอ  ต้องให้นักเรียนทำการเกษตร ปลูกพืชผักเสริม ข้าวที่ใช้บริโภควันละ 130 กิโลกรัม ยังขาดแคลน ต้องขอบริจาคจากหน่วยงานและภาคเอกชนทั่วไป ซึ่งพอจะลำดับความขาดแคลนตามลำดับดังนี้

                                1.ข้าวสารจ้าว(หัก ท่อน) วันละ 130 กก./ปี เปิดสอน 220 วัน

                                2.ทุนการศึกษานักเรียนหลังจากจบการศึกษาจากระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนเพื่อศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น เช่น สายสามัญ และสายอาชีพ  ในจังหวัดเชียงใหม่ และต่างจังหวัด เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กสนใจในการเรียนมากขึ้น

                                3.การสนับสนุนทางการใช้เทคโนโลยีระดับสูง เพื่อปรับโรงเรียนให้ทันโลก ในยุคโลกาภิวัฒน์เช่นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์

Hosted by www.Geocities.ws

1