WACC และ target price = ROE * book value /WACC

    พอดีผมเคยใช้สูตรนี้หา target price ของ PL และมี่เพื่อนถามมาทั้งใน e-mail และกระทู้ข้างล่าง ก็เลยขออธิบายรวบยอดทีเดียวนะครับ ค่อนข้างยาว save เก็บไว้ก่อนก็ได้จะได้ไม่เปลืองชั่วโมงอินเตอร์เน็ตครับ

    อาจจะมีคลาดเคลื่อนบ้าง รบกวนเพื่อนๆ ช่วยเสริมนะครับหากมีอะไรตกหล่นหรือผิดพลาด ขอบคุณครับ

    WACC (Weighted average cost of capital ) คือ ต้นทุนเฉลี่ยของเงินทุนในการดำเนินธุรกิจต่างๆ ครับ โดยที่เงินทุนในการทำธุรกิจจะมาจาก 2 ทาง คือ เงินของตัวเองคือทุน และเงินกู้ ดังนั้น

    WACC = a * ต้นทุนเงินทุน + b * ต้นทุนเงินกู้

    เมื่อ a = ร้อยละของส่วนของเงินของตัวเองที่ใช้ในกิจการ
    b = ร้อยละของส่วนของเงินกู้ที่ใช้ในกิจการ

    ต้นทุนเงินทุนจะคือ อัตราผลตอบแทนต่ำสุดที่เราพอใจในการทำธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมากต้นทุนเงินทุนจะแปรผันตามความเสี่ยง นั่นคือ ถ้ากิจการความเสี่ยงยิ่งสูง อัตราผลตอบแทนที่เราจะพอใจก็ยิ่งสูง เช่น หากเราจะซื้อเปิดร้านขายเสื้อผ้า อาจจะต้องการผลตอบแทนซัก 20% ต่อปี แต่ถ้าเราจะเปิดผับที่สุขุมวิท อาจจะต้องการผลตอบแทน 50% ต่อปี เพราะความเสี่ยงมากกว่า

    ต้นทุนเงินทุน ( cost of equity ) ที่เราใช้ในการวิเคราะห์หุ้น จะเท่ากับ

    Risk free rate + beta * expect return over risk free rate

    Risk free rate คือ อัตราผลตอบแทนในการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำสุด ปกติตัวนี้เราจะใช้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล

    ดังนั้น cost of equity ยังไงก็ต้องมากกว่า risk free rate แน่ๆ เพราะถ้าเราจะลงทุนอะไรแล้วผลตอบแทนยังต่ำกว่าพันธบัตรรัฐบาล ถ้างั้นซื้อพันธบัตรแล้วนอนอยู่บ้านดีกว่า

    ส่วน beta* expected return over risk free rate จะเป็นตัวบอกความเสี่ยงของธุรกิจและหุ้นตัวนั้นๆ beta บอกถึงความผันผวนของราคาหุ้นซึ่งจะสะท้อนถึงความเสี่ยงของธุรกิจต่อภาวะต่างๆ เช่น beta ของ KK ย่อมสูงกว่า EGCOMP ส่วน expected return over risk free rate เป็นการบอกว่าเราคาดหวังผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำสุดเท่าไหร่ เช่น ถ้าผมลงในหุ้น EGCOMP คงจะอยากได้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรซัก 5-10% แต่ถ้าลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงกว่าเช่น PSL ก็ต้องต้องการผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรประมาณ 15-25%

    ส่วนต้นทุนของเงินกู้ คือ ( 1- tax rate ) * อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่บริษัทจ่ายให้กับเจ้าหนี้

    สาเหตุที่เอา ( 1-tax rate ) ไปคูณก็เพราะว่าการกู้เงินนั้น อัตราดอกเบี้ยถือเป็นค่าใช้จ่าย และการเสียดอกเบี้ยทำให้บริษัทจ่ายภาษีน้อยลง ส่วนตัวคูณ คือ “ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จ่ายให้กับเจ้าหนี้ " จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการระดมเงินกู้ให้ได้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เช่น ADVANC ปัจจุบันมีอัตราดอกเบี้ยเพียง 5-6% เท่านั้นเพราะบริษัทมีเครดิตดีและสามารถออกหุ้นกู้ได้ ส่วนบริษัททั่วๆ ไปที่เครดิตกลางๆ ก็คงจะใช้ MLR หรือ MRR ส่วนบางบริษัทที่ชอบมีปัญหากับเจ้าหนี้ ก็ต้องสูงหน่อยครับอาจจะเป็น MLR + 1-2%

    ถึงตรงนี้พอแทนค่าเข้าไปในสูตรแล้วเราก็จะสามารถหา WACC ได้แล้วใช่มั้ยครับ

    WACC เอาไปใช้ทำอะไรบ้าง?

    อันแรกเลย คือเอาไปใช้เป็น discount rate ในการหา Net present value ( NPV ) หรือ DCF ( Discounted cash flow ) valuation ( 2 ตัวนี้คืออันเดียวกันครับ ) โดยเป็นการใช้ discount cash flow to firm ครับ ตรงนี้อาจจะต้องเรียนด้าน finance หรือ take course ด้านการประเมินราคาหุ้นถึงจะได้ แต่ผมคิดว่าศึกษาเองก็ได้ครับเพราะผมเองก็ไม่ได้เรียนมาเหมือนกัน

    อันที่ 2 เอาไปใช้ประมาณการราคาเป้าหมายแบบหยาบ คือ

    Target price = ( ROE / cost of equity ) * Book value
    หรือ Target price = ( ROCE / WACC ) * book value

    แต่จริงๆ แล้วที่ผมใช้ target price = ( ROE / WACC ) * book value ก็ไม่ถึงกับถูกนัก ถ้าเอาไปทำข้อสอบก็จะผิด เพราะเป็นการนำ 2 ตัวมายำรวมกัน แต่พอดีผมมักจะกำหนด wacc กับ cost of equity ไว้ไม่ต่างกันนัก เลยขออนุญาตมาใช้แทนกันได้บ้าง

    ROE = return on equity = กำไรก่อนรายการพิเศษ / ส่วนของผู้ถือหุ้น

    ROCE = return on captital employed = กำไรต่อหุ้นก่อนอัตราดอกเบี้ย / ( หนี้ระยะยาว + ส่วนของผู้ถือหุ้น )

    ตรงนี้ถ้าจะให้อธิบายความแตกต่างของ 2 สูตรนี้คงจะต้องอธิบายอีกพอสมควรกลัวจะเบื่อกันก่อน ผมก็เลยขอดึงเอาสูตร Target price = ( ROE / cost of equity ) * Book value มาใช้เลยแล้วกันครับ

    Concept มีอยู่ว่า กิจการที่มีผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ ROE สูงกว่าต้นทุนเงินทุน ราคาหุ้นควรจะสูงกว่า book value
    เช่น ถ้าผมมีกิจการหนึ่ง มูลค่าตามบัญชีอยู่ที่ 1,000,000 บาท และมีกำไรปีละ 150,000 บาท หรือ ROE = 150,000 / 1,000,000 = 15%

    ในขณะที่ต้นทุนของเงินทุน Cost of equity = risk free rate + expected return over risk free


    ถ้าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอยู่ที่ 5% และผมคาดหมายผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล 7% ดังนั้น cost of equity ผมคือ 5+7 = 12%

    ดังนั้น ROE 15% ที่ผมได้รับนั้นสูงกว่าต้นทุนเงินทุนผมที่ 12% หากจะมีคนมาขอซื้อกิจการต่อจากผมที่ book value คือ 1,000,000 บาท ผมก็จะไม่ขาย เพราะกิจการที่มีอยู่ ได้ผลตอบแทนดีกว่าต้นทุนของเงินลงทุนของผม

    แต่ถ้า ROE ผมแค่ 5% ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนเงินทุนผม หากมีคนมาขอซื้อที่ 1 ล้าน ผมขายให้ทันทีครับ เพราะผมจะเอาเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลและได้ดอกเบี้ย 5% ซึ่งเท่ากับผลตอบแทนของกิจการนี้ และการถือพันธบัตรยังมีความเสี่ยงน้อยกว่าและไม่ต้องเหนื่อยด้วย

    ดังนั้น หากหุ้นตัวไหน ROE สูงมากๆ ราคาจะ trade ที่มากกว่า 1 เท่าของ book value
    หากหุ้นตัวไหน ROE ต่ำ หรือติดลบ ( ขาดทุนจากการดำเนินงาน ) ราคาจะ trade ที่ต่ำกว่า book value

    ดังนั้นจึงมี่การนำมาใช้คำนวณราคาเป้าหมายแบบหยาบๆ ว่า
    Target price = ( ROE / cost of equity ) * Book value ครับ
    ดังนั้น หุ้นที่ ROE สูงๆ แต่ราคาต่ำกว่า book value เป็นหุ้นที่ undervalue ตามทฤษฎีนี้ครับ แต่อย่างไรก็ตาม ควรจะใช้การวิเคราะห์ด้านอื่นๆ ประกอบด้วยเช่น business outlook , cooperate governance and management vision เช่น หุ้น SSF หรือ CHOTI ปีที่แล้ว ROE อาจจะสูงมาก แต่ถ้า business outlook ปีนี้ไม่ดี ก็ควรหลีกเลี่ยงไปก่อนครับ บางครั้งเราไม่ควรใช้ ROE ปีใดปีหนึ่งสำหรับ
    ธุรกิจที่ผันผวน เช่น ธุรกิจที่อิงกับราคา comodity หรือวัฏจักรเศรษฐกิจ เช่น เกษตร ปิโตรเคมี อิเลคทรอนิกส์ อสังหาฯ เป็นต้น แต่เราควรใช้ค่าเฉลี่ยในอดีต หรือ forecast long term average ROE ครับ








    จากคุณ : Invisible hand - [1 มิ.ย. 45 22:44:31 A:203.155.234.99 X:]


 
 



ความคิดเห็น :
ชื่อ / e-mail : ตรวจสอบสถานะของ member ที่นี่
ไฟล์ประกอบ : ( gif, jpg, png, mid, wav, mp3, swf )
 
PANTIP Toys
 
 
Hosted by www.Geocities.ws

1