P/BV บอกอะไรบ้าง ( บทความเกี่ยวกับการวิเคราะห์หุ้นครับ )

    หลังจากที่เราได้ศึกษาเกี่ยวกับการอ่านงบการเงินจนจบแล้ว คิดว่าถ้ามาต่อที่การวิเคราะห์ ratio ต่างๆ สำหรับ ratio ที่จะพูดถึงในครั้งนี้คือ P/BV ครับ
    P คือ ราคาปิดของหุ้นที่เราจะทำการวิเคราะห์

    BV ( book value ) หรือ มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น หาได้จาก ส่วนของผู้ถือหุ้น หารด้วยจำนวนหุ้นจดทะเบียนชำระแล้ว
    มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น


    P/BV = ส่วนของผู้ถือหุ้น / จำนวนหุ้นจดทะเบียน
    = มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ / จำนวนหุ้นจดทะเบียน
    = ( สินทรัพย์รวม - หนี้สินรวม ) / จำนวนหุ้นจดทะเบียน
    = ราคาหุ้น / มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น


    มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้นจะบอกว่าหากนำสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทเปลี่ยนเป็นเงินสด จากนั้นนำไปชำระหนี้ทั้งหมดที่บริษัทมีอยู่ และนำเงินที่เหลือจากการชำระหนี้ไปจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นจะได้เงินเท่าไหร่ต่อ 1 หุ้นที่ถืออยู่ ดังนั้น หากเราซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชี หากบริษัทปิดกิจการไป และทำการขายสินทรัพย์ทั้งหมดไปชำระหนี้ เราจะได้เงินกลับมามากกว่าราคาทุนของหุ้นที่เราซื้อไป

    ยิ่งเราซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชีเท่าไหร่ ก็หมายความว่าเราซื้อหุ้นที่ราคาถูกกว่ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิของบริษัท หากเราซื้อแพงกว่ามูลค่าตามบัญชี แสดงว่าเราซื้อหุ้นที่ราคาแพงกว่ามูลค่าสินทรัพย์ของบริษัท ดังนั้น หุ้นที่ P/BV ต่ำๆ น่าจะมีแนวโน้มที่เป็นหุ้นราคาถูก และหุ้นที่มี P/BV สูงๆ ก็น่าจะมีแนวโน้มที่เป็นหุ้นราคาแพง และการซื้อหุ้นที่ P/BV ต่ำมากๆ น่าจะทำกำไรได้

    แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การใช้ P/BV ในการตัดสินใจซื้อหุ้น โดยเฉพาะการเลือกหุ้นที่มี P/BV ต่ำๆ มากๆ นั้นอาจจะไม่ได้กำไรเสมอไป เพราะในความเป็นจริงแทบจะไม่มีบริษัทไหนที่ขายสินทรัพย์ทั้งหมดมาจ่ายหนี้ และนำเงินมาจ่ายผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ตาม การซื้อหุ้นที่ P/BV ต่ำมากๆ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดทุนมากๆ ได้เพราะหากหุ้นมีราคาถูกกว่าสินทรัพย์สุทธิมากๆ จะมีโอกาสถูกซื้อกิจการได้ ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นได้
    การใช้ P/BV เพียงอย่างเดียวในการวิเคราะห์หุ้นมีข้อเสียคือ
    สินทรัพย์บางอย่างของบริษัทมีสภาพคล่องในการซื้อขายต่ำหรือเป็นสินค้าที่ถ้าจะขายจะต้อง ขายต่ำกว่าราคาตลาด เช่น ที่ดิน เครื่องจักร ดังนั้นมูลค่าสินทรัพย์ดังกล่าวหากมีการนำไปขายจะได้ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่อยู่ในงบดุล

    บริษัทจำนวนไม่น้อยที่บันทึกรายการสินทรัพย์สูงเกินจริง เช่น อาจมีลูกหนี้สูญ แต่ยังไม่ได้ตัดออกจากบัญชีรายการสินทรัพย์ไม่มีการตั้งการด้อยค่าของการลงทุนต่างๆ ที่มีความเสียหาย ไม่มีการตั้งการด้อยค่าของที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การที่บริษัทบันทึกมูลค่าสินทรัพย์สูงเกินจริงจะทำให้ผู้ใช้ P/BV เข้าใจผิดได้

    บางบริษัทอาจมีรายการหนี้สินที่อยู่นอกงบดุล เช่น มีการค้ำประกันหนี้สินให้บริษัทอื่นๆ

    การใช้ P/BV ในการวิเคราะห์ทำให้ไม่ได้พิจารณาว่าบริษัทมีประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์เพียงใด เนื่องจาก BV จะบอกถึง สินทรัพย์สุทธิของบริษัท จากการที่บริษัทต่างๆ มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์ต่างกัน เช่น บริษัท ก และ ข ผลิตสินค้าแบบเดียวกัน และมีเครื่องจักรแบบเดียวกัน ราคา 100 ล้านบาท เท่ากัน แต่บริษัท ก มียอดขายมากกว่า และสามารถขายสินค้าได้ราคาที่สูงกว่าบริษัท ข ดังนั้น บริษัท ก ที่มีประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ที่สูงกว่า ควรจะมีราคาหุ้นที่สูงกว่าบริษัท ข ดังนั้น การที่บริษัท ก มี P/BV ที่สูงกว่าบริษัท ข ก็ไม่ได้หมายความว่า หุ้นบริษัท ก จะแพงกว่าบริษัท ข เสมอไป

    มูลค่าตามบัญชีเป็นการพิจารณาเฉพาะสินทรัพย์ที่มีตัวตน แต่ไม่ได้พิจารณาสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน เช่น ค่าความนิยมในตัวกิจการ ยี่ห้อสินค้า ลิขสิทธิ์ เนื่องจากบริษัทจำนวนมากมีผลิตภัณฑ์ และบริการที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ทำให้มีความสามารถในการใช้สินทรัพย์สูงกว่าบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน ดังนั้น หุ้นที่มีค่าความนิยมในตัวกิจการ มักจะมี P/BV สูงกว่ากว่าหุ้นที่ไม่มีค่าความนิยมในตัวกิจการ


    ค่าความนิยมอาจจะเกิดได้หลายทาง ได้แก่
    1. จากการขายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณภาพ และเป็นที่เชื่อถือของลูกค้าอย่างยาวนาน เช่น บ้านของแลนด์ แอนด์ เฮาส์ หรือควอลิตี้ เฮาส์ ที่ได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพ และไม่เคยผิดสัญญากับลูกค้าแม้ในช่วงวิกฤติ

    2. การที่สามารถทำให้สินค้ามีจุดเด่นที่ไม่สามารถมีสินค้าอื่นๆ มาทดแทนได้ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ GSM Advance ซึ่งแม้ว่าจะมีคู่แข่งที่มีอัตราค่าใช้บริการที่ต่ำกว่า ก็ไม่สามารถแย่งลูกค้าไปได้มากนัก ถ้าในต่าง ประเทศก็เช่น สินค้าของบริษัท Coca Cola Microsoft Intel หรือยิลเล็ตต์ เป็นต้น

    3. การโฆษณาจนสินค้าติดอยู่ในใจของผู้บริโภค ทำให้ลูกค้าจดจำชื่อสินค้าได้ดี และจะนึกถึงผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นอันดับแรกในการเลือกซื้อ เช่น มาม่า หรือ 1112 ของ The Pizza เป็นต้น

    4.การมีเครือข่ายการตลาดที่เข้มแข็ง บางครั้งการมีเครือข่ายการตลาดที่เข้มแข็งก็สำคัญไม่แพ้การโฆษณา เพราะจะทำให้สินค้าของบริษัทมีโอกาสในการขายที่ดีกว่าคู่แข่ง เช่น การที่กลุ่ม เซ็นทรัลเป็นเจ้าของ KFC จึงทำให้ KFC มีโอกาสที่จะเลือกพื้นที่ตั้งร้านที่ดีที่สุดของห้างเซ็นทรัล เป็นต้น หรือการมีเครือข่ายการตลาดที่เข้มแข็งทั่วประเทศของเครือซีเมนต์ไทย ก็ทำให้เกิดความได้เปรียบคู่แข่ง


    หุ้นประเภทที่มีค่าความนิยมของกิจการ เช่น

    1. กลุ่มธุรกิจการเกษตร ผมคิดว่าตัวที่มีค่าความนิยมคือ CPF เพราะสินค้าของ CPF คือ ไก่ และกุ้งมีคุณภาพที่โดดเด่นกว่าคู่แข่ง จึงสามารถเอาตัวรอดได้แม้ว่าธุรกิจจะตกต่ำ

    2. กลุ่มธนาคารและสถาบันการเงิน ผมคิดว่าสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงน่าจะมีความได้เปรียบในเรื่องค่าความนิยม เช่น ธ. กรุงเทพ ธ. กสิกรไทย ธ. ไทยพาณิชย์ เป็นต้น หรือ บ. อิออน ธนสินทรัพย์ ที่เป็นผู้นำในด้านสินเชื่อเพื่อการบริโภค

    3. กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ผมคิดว่าตัวที่น่าจะมีค่าความนิยม ได้แก่ ปูนซิเมนต์ไทย เนื่องจากเป็นบริษัทที่ทำวัสดุก่อสร้างแทบทุกประเภท และมีเครือข่ายการตลาดที่แข็งแรง ส่วนบริษัทอื่นๆ ที่มีค่านิยมรองลงมา เช่น ปูนซิเมนต์นครหลวง อเมริกันสแตนดาร์ด กะรัต เป็นต้น

    4. กลุ่มสื่อสาร ผมคิดว่าตัวที่น่าจะมีค่าความนิยมเด่นชัดที่สุดคือ บ. AIS เนื่องจากผมคิดว่าผู้บริโภคยอมที่จะจ่ายแพงกว่าเพื่อคุณภาพของระบบ และบริการของ AIS ครับ

    5. กลุ่มบันเทิง ผมคิดว่าตัวที่มีค่าความนิยมได้แก่ BEC GRAMMY และ MAJOR โดยเฉพาะ GRAMMY นั้นเค้ามีสินทรัพย์ที่ไม่ได้อยู่ในงบดุลคือ ความสามารถในการนำเพลงเก่าๆ มารวมเป็นอัลบั้มได้ตลอดเวลา รวมถึงความนิยมของนักร้องในสังกัด ถ้าไม่ติดประเด็นเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง ผมคิดว่าหุ้น GRAMMY จะเป็นหุ้นที่น่าสนใจมากทีเดียวครับ สำหรับ MAJOR ก็สามารถสร้างความรู้สึกในกับคนดูหนังว่า MAJOR เป็นหนึ่งในโรงหนังที่เค้าจะเลือกดู จะเห็นว่าไม่ว่า MAJOR ไปเปิดโรงหนังที่ไหนก็มักจะประสบความสำเร็จอยู่เสมอ

    6. กลุ่มอาหาร ผมคิดว่าหุ้นที่มีค่าความนิยม ได้แก่ S&P ที่ทำร้านอาหารไทยที่ได้รับความนิยมพอสมควร หรือ MFG ที่มีร้านอาหารในเครือที่ได้รับความนิยมสูง ได้แก่ The Pizza , Sizzler และร้านไอศกรีม Swensen ก็เป็นของ MFG รวมทั้งไทย เพรสซิเด้นท์ฟูดส์ ที่ทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า บ..เสริมสุข ที่เป็นผู้ผลิต และจำหน่ายเป๊ปซี่ในประเทศไทย ส่วนตัวอื่นๆ ที่มีความนิยมรองมาได้แก่ บ. ไทยเทพรสฯ ที่ทำซอสภูเขาทอง และซอสพริกศรีราชา บริษัทน้ำมันพืชไทยที่ทำน้ำมันพืชตราองุ่น บริษัทเพรสซิเดนส์ไรซ์ที่ทำขนมปังฟาร์มเฮาส์ครับ

    7. กลุ่มโรงแรม ผมคิดว่าโรงแรมเป็นธุรกิจที่คนไทยทำได้ดีกว่าทุกๆ ชาติด้วยซ้ำเพราะคนไทยมี service mind ที่ดีมาก และประเทศไทยก็มีความปลอดภัยรวมทั้งมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม ผมคิดว่าหุ้นที่มีค่าความนิยมที่ดีในกลุ่มนี้ได้แก่ โอเร็นเต็ล RGR ( รอยัล การ์เด้น รีสอร์ท ) CENTRAL ( โรงแรมเซ็นทรัล ) และ LRH ( Laguna ) ครับ

    8. กลุ่มสิ่งพิมพ์ ผมคิดว่าหุ้นที่มีค่าความนิยมได้แก่ MATI NATION ครับ ผมคิดว่าหากผู้บริหารมติชนจะหยุดทำหนังสือพิมพ์ในเครือทั้งหมด ได้แก่ มติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ คงจะมีคนแย่งกันเสนอเงินเพื่อขอใช้ชื่อหนังสือพิมพ์เหล่านี้ไปทำต่อครับ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ยาก และเสี่ยงมากพอสมควรที่จะทำให้หนังสือพิมพ์แต่ละเล่มได้รับความนิยมครับ จนในวง การหนังสือพิมพ์ได้เปรียบเทียบว่า “การทำหนังสือพิมพ์ใหม่ๆ คือการนำธนบัตรมาพิมพ์” นอกจากนี้ หุ้น SE-ED ก็ถือว่ามีค่าความนิยม เพราะการมีร้านหนังสือทั่วประเทศ และมีหนังสือในสำนักพิมพ์ของตัวเองทำให้ค่อนข้างจะได้เปรียบคู่แข่งครับ ส่วน APRINT ก็มีค่าความนิยมรองมา จากการมีนิตยสารในมือที่ได้รับความนิยม เช่น แพรว บ้าน และสวน เป็นต้น

    9. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ผมคิดว่าหุ้นที่มีค่าความนิยม ได้แก่ LH QH และเอเชียน พรอพเพอร์ตี้ และ CPN ที่ทำศูนย์การค้าเซ็นทรัล สำหรับตัวอื่นๆ ผมคิดว่าพอจะมีค่าความนิยมอยู่บ้างแต่ก็ไม่มากครับ


    สำหรับหุ้นกลุ่มอี่นๆ ที่มีค่าความนิยม เช่น

    - SITHAI หรือ ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ เป็นผู้ผลิตสินค้าเมลามีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถือว่ามีค่าความนิยมตรง knowhow ในการผลิตภาชนะเมลามีนครับ

    - แบตเตอรี่ 3k และกู๊ดเยียร์ ก็ถือว่าเป็นเจ้าของยี่ห้อสินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักในระดับหนึ่ง แม้ว่าส่วนแบ่งการตลาดจะไม่ใช่อันดับ 1 แต่ก็ถือว่ามีค่าความนิยมในระดับหนึ่ง

    ในความคิดผม ผมยังชอบหุ้นที่มี P/BV ต่ำๆ เพราะถือว่าเป็นหุ้นที่ราคาถูก แต่ผมคิดว่าเราควรจะดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น สินทรัพย์ที่บันทึกในงบดุลมีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริงหรือเปล่า รวมทั้งควรจะดูอัตราส่วนอื่นๆ เช่น P/E ratio หรือพิจารณาแนวโน้มของธุรกิจประกอบด้วย นอกจากนี้ สำหรับหุ้นที่มีค่าความนิยมในตัวกิจการสูงๆ แต่ P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า ถือว่าเป็นหุ้นที่น่าสนใจมากครับ


    จากคุณ : Invisible hand - [1 ส.ค. 45 12:59:05 A:203.146.10.253 X:]


 
 



ความคิดเห็น :
ชื่อ / e-mail : ตรวจสอบสถานะของ member ที่นี่
ไฟล์ประกอบ : ( gif, jpg, png, mid, wav, mp3, swf )
 
PANTIP Toys
 
 
Hosted by www.Geocities.ws

1