การเมืองเรื่อง "สัญชาติ" : ทางออกในเขาวงกต

 

                                                                                      ศุภชัย  เจริญวงศ์

โครงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายคนชายขอบ

 

     
 
          หากบัตรประจำตัวประชาชนมีความหมายเพียงแค่เอกสารที่ราชการมอบให้แสดงตัว  ไม่เกี่ยวกับการได้หรือเสียสิทธิอย่างอื่น  การชุมนุมของตัวแทนชาวบ้านในนามสมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย  ในระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2542  ที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่  ก็คงไม่เกิดขึ้น  แต่บัตรประชาชนมีความหมายรวมถึงสิทธิ การเข้าถึงทรัพยากร และสถานะความมีตัวตนของคน   เหมือนที่ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวว่า "คนที่มีบัตรจะไม่รู้หรอกว่าสำคัญอย่างไร..บัตรหมายถึงชีวิตเราทั้งชีวิต..ถ้าไม่มีบัตรก็หมายถึงไม่มีใครรับรู้ว่าเรามีชีวิต.."   บัตรจึงสะท้อนทั้งประวัติศาสตร์และความเป็นคน  การเรียกร้องเรื่องสัญชาติจึงเป็นการเรียกร้องขอความมีตัวตนและการยอมรับให้มีชีวิตผ่านการมีบัตร  ซึ่งรัฐบาลก็ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาตามมติครม.11 พฤษภาคม 2542  ที่เสนอให้แก้ไขกฎระเบียบอันเป็นข้อติดขัดในการลงรายการสัญชาติ  แต่จากการพิจารณาพบว่ามีหลายประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจอย่างรอบคอบ  เพราะปัญหาสัญชาติเป็นประเด็นที่สลับซับซ้อน  การแก้กฎหมายก็อาจส่งผลในระยะยาว ยิ่งสังคมยังไม่เข้าใจความสลับซับซ้อนของนโยบายและประเภทของชาวเขา  การจัดการปัญหาก็อาจกลายเป็นทางออกที่วกวนและเจือปนด้วยอคติ

 

ปัญหา "สัญชาติ" : นโยบายที่กลายเป็นปัญหา

 

          หากจำแนกประเภทคนที่ยังไม่ได้รับสิทธิความเป็นไทย  ก็อาจพบว่ามีชนกลุ่มอื่น ทั้งคนไทยที่ตกหล่น เด็กเร่ร่อนกำพร้า และชนกลุ่มน้อยอีกหลายกลุ่มที่ไม่สามารถแสดงตัวทางกฎหมายหรือไม่มีบัตร  การเรียกร้องของชาวไทยภูเขาจึงไม่ใช่เพียงแก้ไขเฉพาะปัญหาของชาวไทยภูเขาที่ยังไม่ได้รับสิทธิ  แต่ยังรวมถึงการจุดประเด็นปัญหาของคนกลุ่มอื่นควบคู่กันด้วย  การเสนอให้แยกแยะคนไทยออกจากชาวเขาอพยพจึงเป็นการคลี่คลายความสับสนเบื้องต้นในเรื่องสถานะบุคคล  โดยเฉพาะความซับซ้อนอันมีที่มาเกี่ยวพันกับนโยบายและท่าทีที่รัฐมีต่อชาวบ้าน  นับแต่เริ่มให้ความสนใจกับชาวไทยภูเขา

          ในช่วงปีพ.ศ.2499 เมื่อรัฐบาลรับเอาแนวคิดจากประเทศตะวันตกมาพัฒนาประเทศ  สิ่งหนึ่งที่จะต้องดำเนินการคือสำรวจจำนวนประชากรเพื่อวางแผนและดำเนินโครงการ  จึงประกาศ พรบ.ทะเบียนราษฎรพร้อมกับจัดทำทะเบียนบ้านให้กับคนไทย  แต่ผลที่ตามมาคือสร้างสถานะทางกฎหมายที่แยกระหว่าง "คนไทย" และ "ไม่ใช่ไทย" ผ่านการใช้บัตรแสดงตัว  และเมื่อเกิดความขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  รัฐบาลก็ดำเนินโครงการสำรวจจำนวนประชากรชาวเขาในปีพ.ศ.2512-2513 เพื่อควบคุมความเคลื่อนไหว  โดยกอ.รมน.และกระทรวงมหาดไทยเร่งการจดทะเบียนชาวไทยภูเขา(ทร.ชข.)  และแจก "เหรียญที่ระลึกชาวเขา" พร้อมกับระบุเผ่าไว้ในส่วนที่เป็นสัญชาติ  ทำให้ชาวเขาที่ได้รับการจดทะเบียนมีสัญชาติตามเผ่า  และมีความสับสนในการแสดงตัวเนื่องจากไม่มีรูปถ่ายบนเหรียญ

          ในปีพ.ศ.2515 มีการอพยพของชาวเขาจากประเทศเพื่อนบ้าน  ผนวกกับภาวะสงครามในอินโดจีน  ทำให้รัฐกังวลกับความไม่มั่นคงที่มาจากชาวเวียดนามอพยพ  จึงออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ยกเว้นการให้สัญชาติโดยหลักดินแดนแก่บุคคลที่บิดามารดาเข้าเมืองโดยไม่ถูกต้องตามกฏหมาย  ชาวเขาจำนวนมากจึงได้รับผลกรรมจากมาตรการนี้ด้วย  เพราะพ่อแม่ยังเป็นบุคคลเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  แต่เมื่อสถานการณ์สงครามอินโดจีนคลี่คลาย  ผนวกกับการสิ้นสุดของรัฐบาลทหาร  กรมการปกครองโดยอนุกรรมการชาวเขา สาขาการปกครองก็มีความเห็นว่า "ชาวเขาเป็นพวกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยมานาน ตามหลักกฏหมายย่อมได้สัญชาติไทยอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีหน่วยราชการเข้าไปปกครองดูแลถึง  ชาวเขาจึงยังไม่มีทะเบียนบ้านและสัญชาติตามกฎหมาย การกรอกระเบียบเกี่ยวกับสัญชาติของชาวเขาจึงใช้คำว่า ลงรายการสัญชาติ  แทนคำว่า ให้สัญชาติ"  รัฐบาลจึงปรับแนวคิดว่าชาวเขาเป็นคนไทยและดำเนินโครงการลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน  โดยเร่งจัดทำทะเบียนประวัติตาม "โครงการสิงห์ภูเขา" และออก บัตรสีฟ้า กับทะเบียนบ้านชั่วคราวหรือ ทร.13 ให้  ซึ่งเป็นผลให้ชาวไทยภูเขาสามารถขอลงรายการสัญชาติตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางปีพ.ศ.2535 ได้  แต่ในทางเป็นจริงเงื่อนไขก็จำกัดและเปิดช่องให้เกิดการทุจจริตกันทุกท้องที่

          ในปีพ.ศ. 2538 รัฐบาลมีมติ ครม. เห็นชอบหลักการโครงการพิจารณาให้สถานะคนต่างด้าวแก่ชาวเขาที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย โดยมีเงื่อนไข 10 ประการให้สามารถขอสถานะบุคคลเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายประเภทคนไร้สัญชาตินอกกำหนดหรือ สถานะต่างด้าว ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2540 และในปีพ.ศ.2542 ยังมีโครงการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูงซึ่งรับการสนับสนุนจากโครงการเงินกู้พิเศษ Miyazawa โดยแจกบัตรสีเขียวขอบแดงให้ชาวเขาที่ผ่านการสำรวจ

          จากพัฒนาการของโครงการต่างๆของรัฐในการกำหนดสถานะบุคคลบนพื้นที่สูง  แม้จะมีเจตนาแก้ปัญหาความสับสนเรื่องสถานะของชาวเขา  โดยสำรวจ ตรวจสอบ หรือดำเนินโครงการพิสูจน์ทราบหลายครั้ง  แต่ในทางปฏิบัติกลับส่งผลให้เกิดความสับสน  เพราะทุกโครงการมีผู้ตกหล่นหรือมีผู้แสวงหาประโยชน์จากช่องทางในทุกโครงการ   บุคคลหลายกลุ่มก็ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าชาวเขากลุ่มไหนสมควรได้รับสถานะใด  ยิ่งก่อนการชุมนุมมีโครงการที่เกี่ยวข้องและแจกบัตรถึงสามโครงการพร้อมกัน คือ โครงการพิจารณาให้สถานะคนต่างด้าว โครงการ Miyazawa และการลงรายการสัญชาติ  ชาวเขาบางคนคิดว่า บัตร จะสามารถแสดงตัวได้อย่างมีสิทธิ  จึงร้องขอทั้งสามโครงการจนเกิดการเสียสิทธิ  ปัญหาความสับสนจึงยิ่งรุนแรงมากขึ้น

         

อุปสรรคและทางออก : ข้อเสนอจากชายขอบแผ่นดิน

 

          สมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทยพยายามเสนอให้แก้ปัญหาพร้อมกันทั้งกฎหมายและเร่งรัดการลงรายการสัญชาติ  เพราะการแก้ทั้งสองระดับจะทำให้เห็นมาตรการอันยืนอยู่บนฐานข้อเท็จจริง  ยิ่งกว่านั้นปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรที่ทวีความรุนแรงและกำลังขยายกลายเป็นความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติ  โดยเฉพาะการอ้างว่าผู้ที่เป็นไทยหรือมีบัตรประชาชนมีสิทธิใช้ทรัพยากร  ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวล่อแหลมต่อปัญหาที่อาจขยายเป็นความรุนแรงและไม่มั่นคงได้  ผู้อยู่ชายขอบจึงเรียกร้องให้แยกระหว่างชาวเขาที่เป็นคนไทยและผู้ที่อพยพเข้ามาใหม่  ด้วยการชะลอโครงการพิจารณาให้สถานะคนต่างด้าวแก่ชาวเขาที่อพยพไว้ก่อนเพื่อป้องกันความสับสน  หลังจากนั้นจึงเร่งรัดการลงรายการสัญชาติให้ชาวไทยภูเขา  ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดของกรมการปกครองพบว่า ชาวไทยภูเขาทั้งหมด 774,316 คน มีผู้ได้รับการลงรายการสัญชาติตั้งแต่ปีพ.ศ.2517 ถึงปัจจุบันแล้วจำนวน 214,127 คน  ที่เหลืออีก 560,189 คน ยังไม่มีสถานะเป็นคนไทยตามกฎหมาย  ในจำนวนนี้จึงต้องแก้ไขเป็นเบื้องต้น

          ปัญหาที่ชาวบ้านพบพอสรุปได้สามประการ คือ ปัญหาเรื่องหลักฐานการพิสูจน์ตน  ด้วยเหตุที่เอกสารบางอย่างที่กฎระเบียบระบุให้นำมาแสดง  เกิดการสูญหายหรือบางอย่างขัดกัน เช่น ในทร.ชข.ระบุว่าเกิดพม่าหรือเกิดลาว  กรณีนี้แม้นายอำเภอสามารถใช้ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎ์ 2535 แก้ไขเอกสารได้หากสอบพยานแล้วน่าเชื่อถือ  แต่ก็มีปัญหาอีกว่าพยานที่เรียกมาสอบหรือพยานบุคคลอาจเรียกเงินในอัตราสูงแลกกับการรับรองตัวบุคคล  ทำให้ชาวไทยภูเขาที่ยากจนหมดสิทธิ  ประการต่อมาแม้เอกสารทุกชนิดจะครบและถูกต้องตามหลักเกณฑ์  แต่ก็ถูกจำกัดด้วยข้อกฎหมาย เช่น ปว.337 ระบุไม่ให้สัญชาติแก่บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาหรือม

1
Hosted by www.Geocities.ws