pic_langsrad.jpg (69194 bytes)

                                                  
                                                            ลางสาด

                             
                ลางสาดเป็นพืชพื้นเมืองเขตร้อน มีถิ่นกำเนิดตามหมู่เกาะมาลายู ชวา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์  และไทยเป็นต้นซึ่งเป็นเขตที่มีอากาศร้อน
      และชุ่มชื้นได้รับมรสุม  ฝนตกชุกติดต่อกันเป็นเวลานาน ประมาณ 180 - 200 วันเป็นไม้ผลเมืองร้อนที่มีลักษณะเด่นหลายประการ
      เช่น   มีผลสีเหลืองนวล  ออกเป็นพวงใหญ่ เนื้อของผลมีลักษณะใส รสชาติดีและอยู่ในความนิยมของผู้บริโภค แต่การปลูกลางสาดในประเทศไทยนั้น
      ขาดการดูแลเอาใจใส่ และปลูกขยายเท่าที่ควร ทำให้ความสำคัญของลางสาดลดลงไปมากทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมอย่างยิ่ง
     ต่อการเจริญเติบโตและการให้ผล ผิดกับประเทศในเขตหนาวซึ่งแม้จะต้องการปลูกเพียงไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ
      ดังนั้นจึงควรที่จะหันมาพิจารณาและให้ความสนใจในเรื่องราวของลางสาด   เช่นการคัดพันธุ์การขยายพันธุ์รวมทั้งการปฏิบัติบำรุงรักษาให้มากขึ้น 
      

                                   ชื่อของลางสาด

               ลางสาดมีชื่อสามัญเรียกกันหลายชื่อด้วยกัน เช่น  Langsat , Lansa , Lanseh , Lanzame , และ Lanzon คำว่าลางสาดของไทยก็คงจะมาจากคำว่า Langsat  ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากภาษามลายู  ชื่อวิทยาศาสตร์ของลางสาดก็คือLonsium domesticum  Corr. เป็นพืชในตระกูลMeliaceae
 
                                   
       ลักษณะทางพฤกษศาสตร
      ลำต้น

              มีความสูงปานกลาง ประมาณ 15 - 20 เมตร  เปลือกสีน้ำตาลอมเขียวและมีร่องริ้วเล็ก ๆ เป็นรอยแตก  เมื่อถูกทำให้เป็นแผลจะมียางสีขาวคล้ายน้ำนม เนื้อไม่แก่นแข็งพอควร มีกิ่งเหยียดตรงขึ้นไป กิ่งก้านแตกเป็นสาขาระเกะระกะรอบต้น  ทรงพุ่มเป็นรูปกรวยแหลมหรือมัน  มีเส้นผ่าศูนย์กลาง     ประมาณ 30-40เมตร ใบ เป็นใบรวม (Compound leaf )  ส่วนมากมีใบย่อย 3 คู่ หรือ มากกว่านั้น     ก้านใบรวม เหนียวแข็งแรง ยาวประมาณ     1 – 1.5 ฟุต การเรียงตัวของใบบนก้านใบเป็นแบบสลับใบย่อยมีความกว้างประมาณ 2 – 3 นิ้ว ยาว 4 - 6 นิ้ว มีลักษณะยาวรี  (elliptical )หรือป้อมรูปไข่    (Obovate) มีขนอ่อนปกคลุมโดยเฉพาะทางด้านล่างมีขนอ่อนปกคลุมอยู่หนาแน่น ปลายใบแหลมสั้นแผ่นใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย มีสีเขียวเข้มด้านบน    เป็นมันด้านล่างสีเขียวจาง เส้นใบที่แยกออกจากเส้นกลางใบมี10–15คู่ เรียงตัวแบบขนนกแต่ละเส้นโค้งไปทางด้านปลายใบปลายสุด ของเส้นใบเกือบ    ถึงขอบริมใบ เส้นใบย่อยสานกันคล้ายตาข่ายเห็นได้ชัดเจน  ก้านใบของแต่ละใบย่อยยาว0.8–1.2เซนติเมตร

    ดอก 

           โดยทั่วไปแล้วดอกจะออกจากตาตามลำต้นและกิ่งใหญ่ แต่ก็มีบ้างที่พบตามกิ่งเล็ก ๆ ซึ่งเป็นกิ่งแก่ ดอกจะออกเป็นเส้น ๆ หนึ่ง ๆ คือ
    1 ช่อดอก (inflorescence) บริเวณที่เกิดช่อดอกนี้มักจะมีปลายช่อเป็นกระจุก ช่อดอกนี้มีความยาวตั้งแต่ 6 –12 นิ้ว การจัดเรียงตัวจองดอกในช่อ
    เป็นแบบ spike   คือ  ดอกแต่ละดอกเรียงติดกับก้านซึ่งเป็นแกนกลางสลับกันไปมา ก้านดอกอวบเหนียว ดอกเป็นดอกเดี่ยวชนิดสมบูรณ์  (hermaphroditic)    มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน  ไม่มีก้านเกสร หรือถ้ามีก็จะสั้น มีกลิ่นหอม และมีน้ำหวาน กลีบรองอวบ มีลักษณะคล้ายถ้วย มีอยู่ 5 กลีบ
   แต่ละกลีบยาว 0.15 เซนติเมตร กว้าง 0.15 – 0.20  ซม.สีเหลืองอมเขียว   หรือเหลืองอ่อน ปกคลุมด้วยขนอ่อน ๆ เมื่อแห้งจะเป็นสีน้ำตาลและติดแน่นอยู่กับผลไม่ร่วงหลุดไป กลีบดอกอยู่ถัดเข้าไปจากกลีบรอง  มีลักษณะเหยียดตรงอวบ รูปไข่มีขนอ่อนปกคลุมเช่นเดียวกัน มีสีขาว หรือเหลืองจาง แต่ละกลีบกว้าง 0.2 – 0.3 เซนติเมตร ยาว 0.4–0.5 เซนติเมตร ถัดเข้าไปเป็นเกสรตัวผู้มีลักษณะคล้ายลูกบอล อวบ สั้นกว่ากลีบดอก อับละออง (anther )  เรียงเป็นชั้นเดียว ยาว 0.1 เซนติเมตร ตอนกลางของดอกเป็นรังไข่ (ovary ) กลม ปกคลุมด้วยขนอ่อน ทึบ ภายในแบ่งออกเป็น 4 – 5 ช่อง  ยอดเกสรตัวเมียสั้นแข็งแรงและเป็นร่องริ้วหรือเป็นเหลี่ยม 4 – 5เหลี่ยม

ผล  

เป็นพวงแน่นติดอยู่กับก้านพวง ช่อสั้นกะทัดรัด (ไม่ยาวแบบพวงองุ่น ) ผลจะสุกในราวเดือนกันยายน ลักษณะของผลกลมหรือกลมยาว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 – 2.5 เซนติเมตร ยาว 2 – 4  เซนติเมตร สีเหลืองนวล หรือ เหลืองปนน้ำตาล หรือสีฟางอ่อน เปลือกบางคล้ายแผ่นหนังผิวเรียบ มีขนอ่อนสั้น ๆ แน่นทึบคล้ายกำมะหยี่ ปกคลุมอยู่ ที่เปลือกมียางสีขาวคล้ายน้ำนมเหนียวในผลหนึ่งปกติแล้วจะมีเมล็ดสมบูรณ์พียง 1 - 2 เมล็ด นอกนั้นจะลีบเสียไป  แต่ละเมล็ดถูหุ้มด้วยเนื้อสีขาวขุ่น (opague ) สีขาวใส (tranlucent ) มีน้ำอยู่ภายใน ภายในผลจึงเห็นเป็นกลีบ ๆ  (segments ) ประมาณ 5 กลีบ แต่ละ กลีบมีขนาดไม่เท่ากัน มีผนังบาง ๆ กั้น  และมีกลิ่นของ turpentine อยู่ด้วย เนื้อของลางสาดมีรสชาติแตกต่างกันออกไป เช่น หวานสนิท หวานอมเปรี้ยว และเปรี้ยว เป็นต้น

เมล็ด

 มีลักษณะกลมแบนสีเขียวสด ขนาดยาวประมาณ  1.25 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.6 เซนติเมตร มีรสขม ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง (cotyledon ) หนาสีเขียว ภายในมีจุดกำเนิด (embryo ) 2 จุด  จุดกำเนิดนี้มีอายุอยู่ไม่นานวันนัก  จากการทดลองโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บเมล็ดไว้ในระยะเวลานานต่างกัน พบว่า เมื่อเก็บไว้นาน 1 - 5 วัน ในฤดูฝนมีเปอร์เซนต์ความงอก 90 เปอร์เซ็นต์ ในฤดูหนาว 0 เปอร์เซ็นต์ คือไม่งอกเลย ถ้านำเมล็ดมาเก็บไว้ในขวดปิดผาแน่น เก็บไว้ในตู้เย็น  อุณหภูมิ 15 องค์ศาเชลเชียส นาน 40 วัน มีความงอก 95 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเก็บใส่ขวดที่มีถ่านปนบรรจุอยู่ แล้วปิดฝาให้แน่นเก็บรักษาในตู้เย็นอุณหภูมิ 30 องค์ศาเชลเชียส นาน 5 วัน เปอร์เซนต์ความงอกจะเท่ากับ 0 คือไม่งอกเลย แต่ถ้าเก็บไว้ในขวดทีมีถ่านป่นปิดฝาแน่นในห้องปรับอากาศอุณหภูมิ 22 องค์ศาเชล-เชียส นาน 5 วัน จะมีความงอกดีกว่าที่เก็บไว้ในอุณหภูมิปรกติ 

พันธุ์
 ถ้าแบ่งตามหลักพฤกษศาสตร์ สามารถแบ่งได้เป็น 2 พันธุ์ คือ 

     1. พันธุ์ Typica Backer พันธุ์นี้ ตามกิ่งเล็ก ๆ ที่ยังอ่อนอยู่หรือใต้ใบ กลีบรองก้านดอก จะมีขนอ่อน ๆ ปกคลุมอยู่ ผลมีลักษณะกลมยาวหรือค่อนข้างยาว เปลือกบาง ยางน้อยเมล็ดเล็ก เนื้อละเอียดหนา
     2. พันธุ์ Pubescens kds & Val  เป็นพันธุ์ทีมีขนดก มีขนอ่อนปกคลุมอยู่หนาแน่น  ผลมีลักษณะกลม เปลือกหนา ยางมาก เมล็ดใหญ่ เนื้อบาง และมีรสเปรี้ยว  

ประโยชน์ของลางสาด
 ลางสาด เป็นผลไม้ที่มีกลิ่นหอม รสชาติดี และยังมีคุณค่าทางอาหารสูง เนื้อของลางสาดประกอบด้วย
 

 น้ำ 84.1 กรัม
 คาร์โบไฮเดรต 14.3 กรัม
 กาก 1.0 กรัม
 แคลเซียม 1.4 มิลลิกรัม
 เหล็ก 1.1 มิลลิกรัม
 ไวตามิน B2 0.04 มิลลิกรัม
 ไวตามิน C 3.0 มิลลิกรัม
 ไขมัน 0.2 กรัม
 โปรตีน 0.9 กรัม
 พลังงาน 56 หน่วย
 ฟอสฟอรัส 24 หน่วย
 ไวตามิน B1 0.07 มิลลิกรัม
 ไนอาซิน 1.0 มิลลิกรัม

ส่วนต่าง ๆ ของลางสาดยังมีประโยชน์ในทางยา

 -
เมล็ด มีรสขม ชาวซาไกนำไปบดและใช้รับประทานรักษาไข้ สำหรับประเทศไทยนั้น เคยทราบว่าใช้รักษาฝีที่เกิดขึ้นในหู
 -
เปลือกของต้นและเปลือกของผลมีวัตถุเป็นพิษ ซึ่งเรียกว่า กรดแลนเซียม (Lansium)  เมื่อฉีดเข้าไปในกบแล้วทำให้หัวใจหยุดเต้นได้
 -
เปลือกของผล ขณะเผาจะมีกลิ่นเหม็น ชาวชวาใช้ไล่ยุง
 
 
ทำไมลางสาดเมืองลับแลจึงหวานและอร่อยหนักหนา
 ชาวอุตรดิตถ์ ล้วนแต่ภาคภูมิใจ “ลางสาดหวาน บ้านพระยาพิชัย” ซึ่งปลูกกันที่ลับแลและอำเภอเมือง  กล่าวกันว่า ลางสาดที่นั่นงามไปหมดทั้งช่อที่งาม  ผิวเปลือกสีเหลืองนวล เนื้อในสดใส กลิ่นหอม และรสชาติก็หวานจัด ชวนรับประทานยิ่งนักทางสำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ก็ได้พิจารณาจากเหตุผลหลายประการแล้ว มีความเห็นว่าลางสาดลับแลอร่อยและหวานกว่าที่อื่นน่าจะมาจากเหตุผลดังนี้
 
1. สภาพแวดล้อม เหมาะสมแก่การปลูกลางสาดมาก เนื่องจากมีอากาศร้อน และความชื้นสูงตลอดปี นอกจากนี้บริเวณรอบ ๆ ก็เป็นป่าโดยธรรมชาติ ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง ไม่ถูกทำลายโดยคนหรือฝน
 
2. สวนลางสาดที่นี่เป็นลักษณะแบบสวนป่า  คือปลูกแซมในสวนทุเรียน หรือต้นไม้อื่นนอกจากนี้ต้นลางสาดที่ปลูกยังได้จากการเพาะเมล็ดโดยตรง ทำให้ระบบรากหยั่งลึก ดูดน้ำและอาหารได้เต็มที่ ต้นจึงมีความสมบูรณ์ แข็งแรง
 
3. ลางสาดที่นี่โดยทั่วไปมีอายุมาก เก่าแก่ มีมานาน บางต้นมีอายุมากถึง 200 ปี ผลผลิตที่ได้จึงดีกว่าต้นที่เพิ่งออกผลใหม่ ๆ 
 
4.เนื่องจากการปลูกลางสาดในพื้นที่นี้มีพื้นที่จำกัด เกษตรกรเป็นเกษตรกรดั้งเดิมซึ่งสมัยก่อนนั้น ลางสาดราคาไม่แพงและมีผู้ซื้อน้อย ชาวสวนจึงเลือกตัดเฉพาะลางสาดที่แก่จัดเท่านั้นซึ่งลางสาดที่แก่จัดจะมีคุณภาพดีที่สุด รสหวานจัด กลิ่นหอม ปัจจุบันนี้แม้ว่าความต้องการซื้อและราคาจะเปลี่ยนไป  แต่ชาวสวนเก่า ๆ ก็ยังติดนิสัยเดิมที่ว่า จะตัดลางสาดเมื่อแก่จัดเท่านั้น


 

เรียบเรียงโดย  นู๋ทิพย์

เอกสารอ้างอิง
     เล็ก ชาติเจริญ.2507.ลางสาด.พืชสวน.1(1):69-89
     วิทยา สุริยาภนานนท์.2528.ฐานเกษตรกรรม,ขยายพันธุ์ ลองกอง - ลางสาด 2(25) : 17 - 28
     สมพงษ์ ทะทา.2527.ลางสาดและลองกอง . ชุมทางเกษตรฉบับข่าวและเทคโนโลยี  1 (41) : 650 - 658

Hosted by www.Geocities.ws

1