เมื่อประมาณพุทธศักราช 1500 เป็นสมัยแห่งอาณาจักรโยนกนคร ซึ่งมี " นครนาคพันธ์สิงหนวัติโยนกชัยบุรีเชียงแสน"  เป็นราชธานี คือ
           อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน   เกิดสงครามรบพุ่งกันเนืองๆ และมีโรคระบาดเกิดขึ้น จึงมีราษฏรประมาณ 20 ครอบครัวเกิดความเบื่อ-
  หน่ายและประสงค์จะทำมาหากินทำเลแห่งใหม่ จึงได้ยกให้ หนานคำลือ กับ หนานคำแสน เป็นหัวหน้าอพยพครอบครัว ลูกเด็กเล็กแดง ทรัพย์สมบัติ
  ทรัพย์สมบัติเท่าที่พอจะนำไปได้บรรทุกเกวียน มุ่งเดินทางล่องใต้ โดยได้รับคำบอกเล่าจากวิญญาณ "เจ้าปู่พญาแก้ววงษ์เมือง" (อดีตกษัตริย์องค์ที่ 13
  แห่งโยนกนคร) ว่ามีแหล่งทำมาหากินอันอุดมสมบรูณ์ มีน้ำตกและธารน้ำไหลตลอดฤดูกาล ดินฟ้าอากาศร่มเย็น ไม่หนาวไม่ร้อน ชาวบ้านจึงอัญเชิญ
  วิญญาณของปู่พญาแก้ว วงษ์เมืองไปด้วยเพื่อเสาะหาแหล่งหากินในความฝันนั้น 
          การเดินทางได้ใช้เวลาอันยาวนานผ่านจังหวัดลำปาง จังหวัดแพร่ ยังไม่พบแหล่งทำกินตามที่กล่าวไว้  จนในที่สุดก็บรรลุถึงหุบเขาลับแล เห็นว่ามี  
ภูมิประเทศถูกต้องตามความฝันทุกประการ คือประกอบด้วยน้ำตก ธารน้ำไหล ดินฟ้าอากาศชุ่มชื้น มีภูเขาเตี้ย อุดมไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด แสงแดด
ส่องถึงพื้นดิน เพียงครึ่งวัน จึงตกลงใจปักหลักสร้างบ้านเมืองครั้งแรกขึ้นที่บ้าน "เชียงแสน" ช้าง ม้า วัว ควาย ที่นำมาด้วยก็ให้อยู่ที่บ้านคอกควาย
บ้านคอกช้าง (ยังมีชื่ออยู่ที่ตำบลฝายหลวง และตำบลศรีพนมมาศจนถึงปัจจุบัน) 
          เมื่อตั้งบ้านเรือนได้แล้ว ก็มีการเลือกผู้ปกครองขึ้นที่ประชุมมีมติยกให้หนานคำลือ เป็นเจ้าแคว้น (เทียบเท่า กำนัน) ยกหนานคำแสนเป็นเจ้าหลัก
 (เทียบเท่าผู้ใหญ่บ้าน) เจ้าหนานทั้งสอง ได้ปกครองลูกบ้าน ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข แบ่งปันพื้นที่ ทำมาหากิน ทำสวน ทำนา เลี้ยงสัตว์ เจริญก้าวหน้าได้
7 ปีแล้ว บัดนี้ เราได้ลงหลักปักรากมั่นคงแล้วสมควรกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอน นำข่าวความสำเร็จไปรายงาน ให้ญาติพี่น้องทราบเถิด และเนื่องจาก
เมืองลับแล ขาดพระภิกษุสงฆ์ จะเทศนาอบรมสั่งสอน ประชาชน และประกอบพิธีกรรทางศาสนา ก็ยังขัดข้องทั้งพระธรรมและพระไตรปิฏก ก็ยังไม่มี
สมควร ไปนิมนต์ พระมาอยู่สัก 6 รูป ที่ประชุมตกลงกันว่าจะไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนเดิม โดยมอบหมายให้หนานคำลือ เป็นหัวหน้านำราษฏร 10  กว่า
คน บรรทุกของกินของใช้ ของแปลกๆ ต่างนำไปฝากญาติพี่น้องของต้น ได้ออกเดินทางรอนแรมจากเมืองลับแล มุ่งสู่โยนกนคร คราวนั้น
          กำเนิดวัดเจ้าเง้ามูลศรัทธา วัดแห่งแรก
          เมื่อเจ้าแคว้นและราษฏร เดินทางมาถึงเชียงแสนแล้ว ก็ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าเรืองธิราช กษัตริย์องค์ที่ 21 แห่งโยนกนคร ได้กราบทูลถึงความเป็ฯมา
ในการอพยพและความเป็นอยู่ของราษฏร ที่ไปตั้งถิ่นฐานให้ทรงทราบ พร้อมกับไปถวายของต่างๆ ที่นำมาด้วยแด่พระองค์ และขอพระราชทานพระสงฆ์
และพระไตรปิฏกกลับไปเมืองลับแลด้วย
          พระเจ้าเรืองธิราช ทรงสนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงให้ศลีให้พร ขอให้ราษฏรของเจ้าแคว้นอยู่เป็นสุข พร้อมกันนั้น ได้พระราชทานพระสงฆ์จำนวน
6 รูป พระธรรม พระไตรปิฏกและเครื่องใช้สอยเกี่ยวกับศาสนพิธี มอบให้หนานคำลือ เจ้าแคว้นนำกลับไปเมืองลับแลต่อไป
          หนานคำลือกราบขอบพระทัยและนำพระสงฆ์ และราษฏรกลับไป ครั้นถึงเมืองลับแลราษฏรก็ดีใจ ช่วยกันสร้างวัดขึ้นเป็นแห่งแรก
ชื่อว่า " วัดเจ้าเง้ามูลศรัทธา"  ( คือวัดใหม่ ตำบลฝายหลวง ในปัจจุบัน) อาคารวัดเดิมอยู่ตรงบริเวณสนามโรงเรียน ซึ่งชำรุดหักพังลงหมดแล้ว ให้เป็นที่
พำนักแก่พระสงฆ์ และเป็ฯที่ประกอบศาสนกิจ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
          กำเนิดซิ่นตีนจก และงานประดิษฐ์ฝีมือ
          ต่อมาเจ้าแคว้นได้กำเนิดบุตรธิดา คนหนึ่งชื่อว่า "สุมาลี" เจ้าหลักก็ให้กำเนิดธิดาเช่นกันชื่อว่า " สุมาลา" ทั้งสองมีรูปร่างหน้าตาสวยงามกิริยา
มารยาทเรียบร้อยเข้าลักษณะเบญจกัลยาณี สติปัญญาเ)ลียวฉลาดมีอุปนิสัย ชอบในทางเย็บปักถุกร้อย ประดิษฐ์งานฝีมือต่างๆ สามารถคิดค้นและริ่เริ่ม
ประดิษฐ์ทอหูก พิศดารขึ้น คือ ทอผ้าซิ่นตีนจก ซิ่นมุกไหม หน้าหมอนหก หน้าหมอนแปด ถึงกุลา ผ้าห่มหัวเก็บผ้าเสื้อติดกระดุม ฯลฯ และยังชักชวน
อบรมสั่งสอนให้หญิงสาวทั่วไปรู้จักทำกันให้แพร่หลายทั่วงไปด้วย ยังความปลาบปลื้มใจแก่เจ้าแคว้นและเจ้าหลักเมืองเป็นอันมาก
          ชื่อเสียงประดิษฐ์ เช่น ซิ่นตีนจก ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ เจ้าแคว้นและเจ้าหลักประสงค์จะนำสิ่งประดิษฐ์ ไปถวายแก่พระเจ้าเรืองธิราช เจ้าแคว้น
จึงรวบรวมสิ่งประดิษฐ์ที่งดงามทุกชนิด พร้อมด้วยนางสุมาลี นางสุมาลา ธิดาทั้งสองอออกเดินทางไปยังโยนกนครอีกครั้งหนึ่ง เมื่อถึงราชธานี จึงได้นำ
สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เข้าเฝ้าถวายต่อพระเจ้าเรืองธราชพระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรแล้ว ทรงพอพระทัยเป็นอันมาก ตรัสชมเชยในฝีมือ และสอบถามถึง
ช่างประดิษฐ์ เจ้าแคว้นกราบทูลความจริงว่า เป็นฝีมือของข้าพระพุทธเจ้ากับธิดาของเจ้าหลัก พระองค์จึงรับสั่งให้นำช่างทั้งสอง คือ นางสุมาลีและ
นางสุมาลา เข้าเฝ้าเพื่อดูตัว เจ้าแคว้นดีใจที่สุดรับปากว่า จะพาเข้าเฝ้าในวันรุ่งขึ้น
          เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารครองเมือง
          เมื่อเจ้าแคว้นได้นำตัวนางสุมาลี และนางสุมาลา เข้าเฝ้าพระเจ้าเรืองธราชตามรับสั่ง พระองค์พิเคราะห์ดูแล้วเห็นว่า หญิงสาวทั้งสองคนมีลักษณะ
รูปพรรณผิดแผกจากสามัญชนทั่วไป คือ มีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการที่จะเป็นชายาาแห่งราชบุตรของพระองค์ได้ จึงเอ่ยปากขอนางทั้งสองต่อ
เจ้าแคว้น และเจ้าหลัก เพื่ออภิเษกให้เป็ฯชายาของเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารราชบุตรจะขัดข้องหรือไม่ เจ้าแคว้นก็ตอบว่า "เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น
เป็นวาสนา แก่ธิดาของข้าพระพุทธเจ้าและเจ้าหลักอย่างหาที่เปรียบมิได้ แล้วแต่จะทรงพระกรุณา ข้าพระพุทธเจ้าไม่ขัดข้องประการใด เจ้าหลักก็ไม่
ขัดขัอง" พระองค์ก็พอพระทัยยิ่งนัก จึงประกาศกำหนดให้มีพิธีอภิเษกสมรสพระราชบุตรภายใน 6 เดือน ครั้งถึงกำหนด 6 เดือนแล้วเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร
พร้อมด้วยพระญาติ สมณชีพราหม์ จากโยนกนคร เดินทางมุ่งยังเมืองลับแลครั้นถึงก็ได้ประกอบพิธีอภืเษกสมรสตามพระราชประเพณีเป็นที่เอิกเกริก
          อภิเษกสมรสแล้ว ก็แต่งตั้งให้นางสุมาลีและนางสุมาลาเป็นพระชายาขวาและได้สร้างวังขึ้นใกล้เคียงกับวัดป่าแก้วเรไร
(คือบริเวณวัดเจดีย์คีรีวิหาร ยังมีซาก คูเวีงปรากฏอยู่ ) และเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ก็ได้ขึ้นครองเมืองลับแลเป็นปฐมตั้งแต่ พ.ศ. 1513 เป็นต้นมา
          เมื่อเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารได้ขึ้นครองเมืองลับแลแล้ว ก็มีราษฏรอพยพมาอยู่เพิ่มาากขึ้น พระองค์จัดแบ่งปันที่อยู่ให้ คือ ราษฏรเชื้อสายเชียงแสน
ตั้งบ้านเรือนอยู่ตั้งแต่ บ้านคอกช้าง บ้านต้นเกลือถึงบ้านท้องลับแล  พวกเชื้อสายจากเวียงจันทร์ ซึ่งอพยพอยอู่ด้วยให้ตั้งบ้านเรือนออยู่ที่บ้านกระดาน
บ้านนาแต้ว บ้านนาทะเล และบ้านปากฝาง
          พระองค์ดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม ทรงปกครองแบบบิดาปกครองบุตรโดยใช้หลักคุณธรมใช้ พระคุณ ไม่ใช้พระเดช ตัดสินคดีด้วยความ
มีพระเมตตาอบรมสั่งสอนให้ราษฏรเป็นพลเมืองดี คราใดที่เกิดแผ่นดินแห้งแล้งพืชผลไม่อุดมสมบูรณ์ ข้าวยากหมากแพงหรือเกิดโรคระบาด พระองค์
จะเสด็จไป " ม่อนจำศีล " เพื่อถือศีลภาวนาอธิษฐานขอให้เหตุร้ายของบ้านเมืองจงสงบระงับลง ก็จะสำเร็จลงตามความปรารถนา เสมอมา ยังความรัก
และเคารพศรัทธาจากราษฏรเป็ฯอันมาก
          ด้านศาสนา
          พระองค์ทรงมีจิตใจฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อ พ.ศ. 1519 พระองค์มีพระดำริ จะสร้างสถูปเจดีย์เพื่อประกาศพระศาสนา
จึงได้เสด็จไปยังโยนกนคร เพื่อขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุจากพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงรายอัญเชิญมาบรรจุที่สถูปนี้ เจดีย์วัดป่าแก้วเรไร
( วัดเจดีย์คีรีวิหารปัจจุบัน) เจดีย์นี้จึงเป็ฯเจดีย์แห่งแรกของเมืองลับแลที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้) และมีผู้เฒ่า
ผู้แก่เล่าให้ฟังว่า " ถึงสันศีลวันธรรม จะมีดวงไฟสุกสว่าง ลอยขึ้นเหนือพระเจดีย์อยู่เป็นประจำ และใน พ.ศ. 1525 หลังจากปราบพวกขอมแล้วพระองค์
เสด็จไปโยนกนครอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุจากพระธาตุ จำนวน 32 องค์ เพื่อมาบรรจุไว้ที่สถูปเจดีย์ม่อนธาตุ ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ และ
ยังได้ทรงสร้างวัดชัยจุมพล และสร้างวัดดอนชัยขึ้นอีกด้วย
           ด้านการทหาร
           เดิมมีชาวขอมตั้งเมืองอยู่ที่บริเวณบ้านทุ่งยั้งในปัจจุบัน มีชื่อว่า " กัมโพชนคร " ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของขอม มีทหารและมีป้อมปราการ คือ
เวียงเจ้าเงาะ ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ เจ้าผู้ครองนครกัมโพธนคร ปรารถนาจะได้เมืองลับแลเป็นเมืองขึ้นต่อขอม จึงยกกองทัพมาเพื่อจะบังคับให้เมือง
ลับแลตกเป็นเมืองขึ้น แต่เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารไม่ยอมกลับยกกองทัพไปชุมพลเพื่อต่อสู้บ้านชุมพล ต่อมาเรียกบ้าน " ชัยจุมพล " เจ้าฟ้าฮ่ามได้นำทัพหน้า
เดินทางไปถึงหน้าบ้านเกาะกลาง ก็ปะทะทัพขอม จึงเกิดการรบพุ่งกันขึ้น เจ้าฟ้าฮ่ามก็ทรงบวงสรวงเทพยดาให้ช่วยคุ้มครองบ้านเมือง ก็เกิดขึ้นนิมิต
มหัศจรรย์ บังเกิดฝนตกลงท่ามกลางทหารขอม อย่างหนัก จนเกิดน้ำท่วมประดุจทะเล ( ซึ่งต่อมาเรียกบ้านนาทะเล ) กองทัพขอมถูกฝนตกน้ำท่วมติด
ต่อกันหลายวัน ทำให้ไพร่พลระส่ำระสาย เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารก็เข้ารบพุ่งจนได้ชัยชนะและได้ฉลองชัยชนะกันที่บานดอนชัย ต่อมาเรียว่า " บ้านดอนชัย "
 ซึ่งทั้งบ้านดอนชัย และบ้านชุมพล พระองค์ได้ทรงสร้างวัดไว้เป็นที่ระลึกทั้งสองแห่ง กองทัพขอมหลังจากพ่ายแพ้ต่อเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ในครั้งนั้นแล้วก็
สภาพอ่อนแอ ไม่สามารถคิดอ่านจะไปทำศึกรบกวนอาณาจักรเมืองลับแลอีกต่อไป
            เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ได้ครองเมือง ลับแลอยู่อย่างเย็นเป็นสุขเป็นระยะเวลายาวนาน ทำนุบำรุงบ้านเมืองเจริญก้าวหน้าทั้งฝ่ายอาณาจักร และ
พุทธจักรราษฏร์มีความร่มเย็นเป็นสุขทั่วหน้า จนชราภาพลงและสวรรคต ยังความโศกเศร้าอาลัยรักของ อาณาประชาราษฏร์ เป็นอันมากจึงได้พร้อม
กันนำอัฐิของพระองค์ท่านประดิษฐาานไว้ ณ ม่อนอารักษ์ เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนทั่วไป ประชาชนเมื่อมีความทุกข์เดือดร้อนประการใด
กราบไหว้ บอกกล่าวก็มักสำเร็จผลตามประสงค์ ยังคงความเชื่อกันมาจนทุกวันนี้
 
 

อ้างอิงจาก       ฟู บุญถึง และคณะ . ( ม.ป.ป.) . ลับแลหรือจะแลลับ , สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอลับแล

คุณเข้ามาเป็นคนที่...Counter

Hosted by www.Geocities.ws

1