Elf เอลฟ์

 

เอลฟ์ Elf

ในบรรดาเรื่องเล่าเทพนิยายทั้งหลาย เอล์ฟมักจะเป็นเผ่าพันธุ์หนึ่งที่ถูกพูดถึงเสมอ โดยมักจะยึดติดกับเอล์ฟในภาพลักษณ์ที่งดงาม สง่าผ่าเผย อาศัยอยู่ในดินแดนที่มีอารยะสูงส่ง วันนี้ผมเลยขอพูดถึงเอล์ฟในตำนานเก่าแก่ในตำนานยุโรปเหนือครับ
เอล์ฟในตำนานยุโรปเหนือ
ตำนานยุโรปเหนือหรือ North mythologyนั้น เป็นตำนานพวกสแกนดิเวเนีย(ได้แก่ ไอซ์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก และนอร์เวย์) ซึ่งเอล์ฟของชาวยุโรปเหนือจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่งมหนึ่งเรียกว่า "เอล์ฟสว่าง" กับอีกกลุ่มเรียกว่า "เอล์ฟมืด" ซึ่งพวกเอล์ฟมืดจะอยู่ใต้ดินและมีความชำนาญด้านโลหะ
โลกแห่งเอล์ฟสว่าง
ตามความเชื่อของชาวยุโรปเหนือนั้น โลกจะแบ่งออกเป็น 9โลกโดยทั้ง 9โลก จะเชื่อมต่อกันด้วยพฤกษาขนาดใหญ่ที่มีนามว่า"อิกก์ดราซิลล์" โลกของเอล์ฟสว่างมีชื่อว่า "อัลฟ์ไฮม์" ซึ่งอยู่สูงกว่า "มิดโกร์ด" กรือฏลกมนุษย์ ว่ากันว่าอัลฟ์ไฮม์อยู่ใกล้เคียงกับ "อัสโกร์ด" หรือดินแดนเทพของ"แอร์ซิร์" ซึ่งเป็นเผ่าเทพที่ทรงอำนาจที่สุด ถ้าจะให้สรุปก็คือเอล์ฟสว่างน่าจะมีระดับที่สูงรองลงมาจากระดับเทพนั่นเอง
เกร็ดอื่นๆเกี่ยวกับเอล์ฟสว่าง
เอล์ฟสว่างมีรูปร่างคล้ายคลึงกับมนุษย์ มีความสวยงามทั้งชายหญิง แต่เอล์ฟสว่างบทบาทในตำนานยุโรปเหนือนั้นแทบไม่ได้รับการใส่รายละเอียดเท่าไหร่เลย
รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ก็ไม่มีระบุว่าเชี่ยวชาญด้านใดเป็นพิเศษ ในวันสำคุญอย่างวัน Ragnarok ซึ่งเป็นวันสงครามวันล้างโลกของชาวยุโรปเหนือ เรื่องราวส่วนใหญ่ไปจับอยู่กับการสู้กันระหว่างเทพกับมารมากกว่าจะเจาะลึกไปถึงพวกเอล์ฟด้วย

โลกของเอล์ฟมืด
โลกของเอล์ฟมืดนั้นมีชื่อว่า "สวาร์ทัลฟ์ไฮม์" ซึ่งอย่างที่กล่าวไว้ในเบื้องต้นแล้วว่าโลกของเอล์ฟมืดอยู่ใต้ดิน ซึ่งอยู๋ใต้โลกมนุษย์ แต่ยังไปไม่ถึง "นิฟล์ไฮม์" หรือโลกแห่งนรก บางครั้งพวกเอล์ฟมืดก็ถูกระบุว่ามีลักษณ์คล้ายคนแคระ ตรงส่วนนี้ยังเป็นที่สับสนค่อนข้างมาก เพราะตำนานทางยุโรปเหนือก็มีการรุบุถึงคนแคระไว้อยู่แล้ว โดยโลกของคนแคระนั้นมีชื่อว่า "นิดาเวลลิร์" ซึ่งน่าจะอยู่ใกล้กับ "สวาร์ทัลฟ์ไฮม์" ของพวกเอล์ฟมืดของตำนานยุโรปเหนือครับ ซึ่งแสงแดด สำหรับพวกเอล์ฟมืดแล้วถือเป็นสิ่งมีพิษมีภัยทีเดียวเลยล่ะครับ เพราะจะทำให้มันทรมานและกลายเป็นหินได้

เอลฟ์[Elf] ในแบบอัลดูริน

ตำนานเกี่ยวกับเอลฟ์มีอยู่มากมาย แต่จะเล่าตำนานเรื่อง "การกำเนิดของเอลฟ์ ในแบบอัลดูริน"

เวลาผ่านไปเนิ่นนาน เหล่าวาลาร์ได้อาศัยอยู่ภายใต้แสงแห่งพฤกษาบนเทือกเขาแห่งอามัน ขณะที่มัชฌิมโลกทอดตัวเงียบเชียบภายใต้แสงประกายของดวงดาว สรรพสิ่งนิ่งสงบอยู่ในความมืด แต่มีชีวิตที่เก่าแก่ได้บังเกิดขึ้นแล้ว นั่นคือพืชบางชนิดในทะเลและต้นไม้ใหญ่ในเงาแห่งป่าเขา

ในที่แห่งนั้นเหล่าวาลาร์มิใคร่จักมา เว้นแต่เพียงเทพียาวานนา (Yavanna) และเทพโอโรเม (Orome) เท่านั้น ยาวานนามักจะเดินอยู่ในความมืดอย่างเหงาหงอย ด้วยเวลาแห่งยามวสันต์ของอาร์ดายังมาไม่ถึง พระนางจะบรรทมอยู่ท่ามกลางสรรพสิ่งเพื่อชะลออายุของสิ่งเหล่านั้น และเฝ้ารอเวลาที่จะตื่น

แต่ในทางเหนือ เมลคอร์สร้างสมฐานกำลังของเขาโดยมิได้หลับนอนเลย สิ่งชั่วร้ายที่เขาสร้างขึ้นออกขวักไขว่ทั่วไป ในความมืดของพงไพรมีแต่ปีศาจแลความสยดสยองสิงสู่ ในอุทุมโน (Utumno) เขาได้รวบรวมสิ่งที่เขาสร้างขึ้น และบรรจุจิตวิญญาณให้แก่พวกมัน ดวงใจบรรจุด้วยเพลิงกาฬ ปกคลุมกายด้วยความมืดมน มีอาวุธเป็นเปลวไฟ ชื่อของมันถูกเรียกขานกันในมัชฌิมโลกในกาลต่อมาว่าบัลรอก (Balrog) และในช่วงเวลาแห่งความอนธการนั้น เมลคอร์ได้สร้างสิ่งมีชีวิตประหลาดขึ้นมากมาย ซึ่งได้ก่อให้เกิดภัยพิบัติแก่มัชฌิมโลกในกาลต่อมา

เมลคอร์ยังได้สร้างป้อมปราการขึ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือไม่ห่างจากทะเลนัก เพื่อป้องกันการจู่โจมใดๆ ที่อาจมาจากอามัน ผู้รับผิดชอบดูแลการป้องกันคือเซารอน บริวารของเมลคอร์ ที่แห่งนั้นมีชื่อว่า อังบันด์ (Angband)

ไม่นานเหล่าวาลาร์ก็ได้จัดประชุมขึ้น เนื่องจากข่าวที่ได้รับจากยาวานนาและโอโรเมที่มาจากดินแดนภายนอกนั้น ยาวานนาเตือนให้เหล่าเทพระลึกถึงพันธกิจที่อิลูวาตาร์ทรงประทานไว้ ว่าไม่นานนักบุตรแห่งอิลูวาตาร์จักตื่นขึ้น เหล่าเทพจักปล่อยให้พวกเขาอยู่ในความมืดหรือ? จักปล่อยให้พวกเขาใช้ชีวิตในแผ่นดินที่มีแต่ปีศาจหรือ? และจักให้พวกเขาเคารพเมลคอร์เป็นลอร์ด ขณะที่เทพราชันย์มานเวทรงประทับอยู่แต่ที่ทานิเควทิล (Taniquetil) ละหรือ?

เทพทุลคัสตรัสด้วยพระทัยอันร้อน ชักชวนให้ไปทำลายสิ่งชั่วร้ายเสียให้สิ้น แต่เทพมานดอสตรัสว่า มันเป็นลิขิตที่เหล่าปฐมชน (The Firstborn) จักต้องตื่นขึ้นในความมืด และได้เห็นดวงดาวเป็นปฐมทัศน์ เว้นแต่เทพราชินีวาร์ดาจะทรงเมตตา โปรดให้ฟากฟ้าสว่างขึ้นสักเล็กน้อยก็เห็นสมควร

ดังนั้นวาร์ดาจึงได้เสด็จจากที่เทพชุมนุม ประทับบนยอดเขาแห่งทานิเควทิล ทอดพระเนตรฟากฟ้าที่พร่างพราวด้วยดวงดารา ครั้นแล้วจึงได้สร้างสรรค์งานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับแต่เหล่าวาลาร์ได้มาถึงอาร์ดา ทรงนำละอองไอน้ำจากพฤกษาเทลเพริออน (Telperion) ประดิษฐ์เป็นดวงดาราสว่างสดใสนาม ทินทาลเล (Tintalle) ซึ่งเหล่าเอล์ฟขนานนามในภายหลังว่า เอเลนทาริ (Elentari) ราชินีแห่งดวงดาว และทรงประดิษฐ์คาร์นิล (Carnil) และลูอินิล (Luinil) เนนาร์ (Nenar) และลุมบาร์ (Lumbar) อัลคารินเคว (Alcarinque) และเอเลมมิเร (Elemmire)

พระองค์ทรงรวบรวมดวงดาวโบราณมาจัดกลุ่มเข้าด้วยกัน ให้เป็นภาพสัญลักษณ์แห่งสรวงสวรรค์ของอาร์ดา ได้แก่วิลวาริน (Wilwarin) เทลูเมนดิล (Telumendil) โซโรนูเม (Soronume) อนาร์ริมา (Anarrima) และเมเนลมาคาร์ (Menelmacar) กับเข็มขัดอันส่องสว่าง เป็นสัญลักษณ์ของสงครามครั้งสุดท้ายอันเป็นกาลสิ้นยุค ในทิศอุดรทรงประดับมงกุฎดาราเจ็ดดวงเป็นการเย้ยหยันแก่เมลคอร์ วาลาเคียร์คา (Valacirca) หรือคมเคียวแห่งวาลาร์ สัญลักษณ์แห่งความพินาศ

วาร์ดาทรงสร้างสรรค์เหล่าดาราเป็นเวลาเนิ่นนาน ครั้นแล้วเมื่อทรงสำเร็จผล ยามที่เมเนลมาคาร์ก้าวย่างขึ้นสู่ท้องฟ้า และเฮลลูอิน (Helluin : ดาวซีรีอุส) เปล่งประกายแสงสีน้ำเงินส่องผ่านเมฆหมอกมายังพื้นโลก ยามนั้นเองเหล่าปฐมชนก็ตื่นขึ้น ที่ริมทะเลสาบคุยวิเอเนน (Cuivienen) หรือทะเลสาบชาคริต (Water of Awakening) ปฐมทัศน์ของพวกเขาคือดวงดาวแห่งสรวงสวรรค์ และพวกเขาก็หลงรักแสงดารา และเคารพยกย่องเทพีวาร์ดาเอเลนทาริ เหนือกว่าเหล่าวาลาร์ทั้งปวง

ครั้งนั้นพื้นผิวโลกยังมีการเปลี่ยนแปลง แผ่นดินและทะเลบ้างแยกออกบ้างเข้ารวมกัน แม่น้ำยังเปลี่ยนแปลงเส้นทางและขุนเขาไม่ยั่งยืน แม้คุยวิเอเนนก็เปลี่ยนแปลงไป เล่าขานกันในหมู่เอล์ฟว่า ทะเลสาบนี้อยู่ทางตะวันออก ค่อนไปทางด้านเหนือ เป็นอ่าวส่วนหนึ่งของทะเลในแผ่นดินชื่อ เฮลคาร์ (Helcar) ทะเลนี้อยู่ที่เชิงเขาอิลลูอิน (Illuin) โดยที่แม่น้ำทั้งปวงมีต้นน้ำมาจากภูเขาในทางตะวันออกของมัชฌิมโลก เสียงแรกที่สัมผัสโสตของเหล่าเอล์ฟจึงเป็นเสียงสายน้ำไหล และเสียงน้ำตกที่หลั่งกระทบหิน

เหล่าปฐมชนอาศัยอยู่ริมทะเลสาบนั้นเป็นเวลานาน แล้วพวกเขาก็เริ่มพูด และตั้งชื่อให้แก่สรรพสิ่ง เขาเรียกตัวเองว่าเควนดิ (Quendi) ซึ่งหมายถึงผู้ที่สามารถเปล่งเสียง ด้วยพวกเขามิได้พบใครหรือสิ่งใดที่สามารถพูดหรือร้องเพลงได้เลย

ครานั้น เทพโอโรเมทรงท่องเที่ยวล่า!มาทางตะวันออก เลียบชายฝั่งทะเลเฮลคาร์ขึ้นมาทางเหนือ ตามแนวเงาของขุนเขาแห่งบูรพา โอโรคาร์นิ (Orocarni) ในทันใดนั้นนาฮาร์ (Nahar) อาชาของพระองค์ก็ส่งเสียงร้องแล้วหยุดวิ่ง โอโรเมแปลกพระทัยนัก ประทับนั่งอยู่เงียบๆ เฝ้าสังเกตการณ์ ครั้นแล้วภายใต้แสงแห่งดวงดาวในดินแดนอันมืดมิด พระองค์ทรงยินเสียงร้องเพลงแผ่วหวานแว่วมา

และนั่นเป็นสิ่งที่เหล่าวาลาร์ได้พบโดยความบังเอิญ ทั้งที่ได้เฝ้ารอการตื่นขึ้นของปฐมชนมาเป็นเวลานาน เทพโอโรเมทอดพระเนตรเหล่าปฐมชนด้วยความพิศวง และด้วยความรัก ทรงเรียกพวกเขาว่าเอลดาร์ (Eldar) ซึ่งหมายถึงประชากรแห่งแสงดาว แต่ในภายหลังกลับหมายเฉพาะเหล่าเอล์ฟที่ได้ติดตามพระองค์ไปยังตะวันตกเท่านั้น

แต่เหล่าเอล์ฟพากันเกรงกลัวการปรากฏตัวของพระองค์ เพราะผลจากการกระทำของเมลคอร์ ซึ่งได้สำเหนียกถึงการตื่นขึ้นของเหล่าปฐมชนก่อนวาลาร์ใดๆ เมลคอร์คอยสอดส่องการใช้ชีวิตของเหล่าเอล์ฟ และส่งจิตวิญญาณร้ายคอยสอดแนมพวกเขา เมื่อใดที่มีผู้ใดผู้หนึ่งอยู่ตามลำพัง หรืออยู่แต่เพียงน้อยคน คนเหล่านั้นจักหายสาบสูญไป แลเกิดการโจษขานในหมู่เอล์ฟว่าพวกล่า!จับตัวคนของเขาไป ซึ่งพวกเขาเกรงกลัวเหลือเกิน ยังมีบทเพลงโบราณที่ยังหลงเหลือขับขานอยู่ในทางตะวันตก กล่าวถึงความมืดมนที่ท่องเที่ยวอยู่บนเนินเขาแห่งคุยวิเอเนน และกล่าวถึงผู้ขับขี่อาชาแห่งความมืดที่ท่องเที่ยวมาพรากพวกเขาไป ซึ่งเมลคอร์ได้จัดให้สมุนของเขาขับม้ามาสร้างความหวาดกลัวแก่เหล่าปฐมชน เพื่อป้องกันมิให้พวกเขาเข้าใกล้โอโรเม ที่มักขี่ม้ามาท่องเที่ยวอยู่เสมอ

ผู้ที่ถูกจับไปนั้นยากจะทราบได้ว่าพวกเขามีชะตาไปเช่นใด แต่ปราชญ์แห่งเอเรสเซอา (Eressea) กล่าวว่า พวกเขาถูกขังในคุกแห่งอุทุมโน และถูกทรมาน และเมลคอร์ได้สร้างสายพันธุ์ใหม่ที่มีแต่ความน่าเกลียดและความสยดสยองในจิตใจ นั่นคือพวกออร์ค (Orcs) ทั้งนี้ด้วยความอิจฉาที่มีต่อพวกเอล์ฟ, ซึ่งภายหลังได้เป็นศัตรูที่ยิ่งใหญ่ของเมลคอร์

ดังนั้นเมื่อเทพโอโรเมปรากฏองค์ขึ้น เหล่าเอล์ฟบ้างก็หลบซ่อน บ้างก็หนีไปและหลงทางหายไป แต่ยังมีบางพวกที่กล้าหาญ มิได้หลบหนี แต่กลับกล้าเผชิญหน้ากับพระองค์ ทั้งนี้เพราะพวกเขารู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างผู้ขับขี่อาชาดำ ส่วนพระองค์โอโรเมนั้นมีแสงสว่างในพระพักตร์

โอโรเมทรงเที่ยวเยี่ยมเหล่าเอล์ฟ แล้วก็เร่งรุดกลับไปยังนครวาลมาร์ (Valmar) เพื่อแจ้งข่าวปฐมชนและความชั่วร้ายที่คุกคามคุยวิเอเนน เหล่าวาลาร์เมื่อทราบข่าวก็ยินดีนัก ขณะเดียวกันก็ข้องกังวลใจ ได้จัดประชุมเทพขึ้นเพื่อหาข้อยุติในการนำเหล่าปฐมชนให้รอดพ้นจากเมลคอร์ แต่ฝ่ายโอโรเมนั้นมิได้อยู่รอ เมื่อแจ้งข่าวแล้วก็ทรงกลับมายังมัชฌิมโลก และประทับอยู่กับเหล่าเอล์ฟ

เทพมานเวประทับนิ่งอยู่ในห้วงความคิด รับฟังพระวินิจฉัยจากมหาเทพอิลูวาตาร์ที่ปรากฏขึ้นในพระหทัย ครั้นแล้วพระองค์ก็กำหนดคณะมนตรีแห่งการพิพากษา (The Ring of Doom) ซึ่งมีเทพอุลโมแห่งห้วงสมุทรรวมอยู่ด้วย มานเวตรัสว่า มหาเทพอิลูวาตาร์โปรดให้เหล่าวาลาร์เข้าปกครองอาร์ดาในทุกทาง และคุ้มครองเหล่าเควนดิให้พ้นจากเมลคอร์ให้จงได้ เทพทุลคัสได้ฟังก็ยินดีนัก แต่เทพอาวเล (Aule) กลับทรงปริวิตก ด้วยตระหนักถึงความสูญเสียใหญ่หลวงแก่แผ่นดินอันจะเกิดขึ้นจากการณ์นี้

ครั้นแล้วเหล่าวาลาร์ก็กรีธาทัพออกจากอามัน และโจมตีที่มั่นของเมลคอร์อย่างรวดเร็วประดุจสายฟ้า และมีชัยชำนะอย่างเด็ดขาด เมลคอร์ไม่เคยลืมความล่มสลายของตนในครั้งนี้เลย ว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นในนามของเหล่าปฐมชนเหล่านั้น แม้ว่าพวกเอล์ฟจักมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยุทธครั้งนี้เลย และในเวลานั้นพวกเขาไม่รู้แม้ว่าการโจมตีจากทางประจิมต่อนครทางเหนือของแผ่นดินนั้นเกิดขึ้นจากสิ่งใด

การโจมตีอย่างฉับพลันเกิดขึ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือของแผ่นดิน และปราการในภูมิภาคนั้นก็แตกพ่าย บรรดาบริวารของเมลคอร์ต่างแตกตื่นหนีไปทางอุทุมโน เหล่าวาลาร์ทรงแผ่กำลังไปยังทุกส่วนของมัชฌิมโลก และจัดผู้คุ้มครองบริเวณคุยวิเอเนนไว้อย่างแข็งแรง มีการยุทธใหญ่ที่หน้าทวารแห่งอุทุมโน ซึ่งเหล่าเควนดิได้เห็นเพียงสายฟ้าและแสงเพลิงมากมายจากทางเหนือ กับความครืนครั่นลั่นเลื่อนอันบังเกิดขึ้นจากพระกำลังของเหล่าวาลาร์เท่านั้น แต่มิได้ประจักษ์ว่าสงครามนั้นเป็นฉันใด

วาระนั้น แผ่นดินและผืนน้ำก็ได้เปลี่ยนแปลง มหาสมุทรใหญ่ (The Great Sea) ได้ขยายกว้างขึ้น และดิ่งลึกมากขึ้น แยกให้อามันออกห่างจากมัชฌิมโลก เกิดอ่าวขนาดใหญ่ขึ้นทางตอนใต้ มีอ่าวเล็กอ่าวน้อยอีกมากมายระหว่างอ่าวใหญ่ (The Great Gulf) กับช่องแคบเฮลคารักเซ (Helcaraxe) ทางด้านเหนือ โดยมีอ่าวบาลาร์ (Balar) เป็นอ่าวใหญ่ที่สุด เป็นจุดปลายสุดของมหานทีซิริออน (Sirion) ที่ไหลมาจากดินแดนที่ราบสูงตอนเหนือที่บังเกิดขึ้นใหม่ คือแผ่นดินดอร์โธนิออน (Dorthonion) และเทือกเขาฮิธลุม (Hithlum) ไกลออกไปทางเหนือ อุทุมโนได้กลายเป็นหุบเหวลึกสุดพรรณนา ทับถมด้วยเปลวเพลิงและร่างของบรรดาบริวารแห่งเมลคอร์

มิช้านาน ทวารแห่งอุทุมโนก็แตก เมลคอร์หลบหนีไปยังหลุมลึกเพื่อซ่อนตัว แต่ก็ไม่อาจพ้นการจับกุมของเทพทุลคัสได้ พระองค์ล่ามเมลคอร์ไว้ด้วยตรวนอันกายนอร์ (Angainor) ซึ่งประดิษฐ์โดยเทพอาวเล และโลกก็ได้บังเกิดสันติสุขนับแต่นั้น

แต่อย่างไรก็ดี เหล่าวาลาร์มิได้ค้นพบห้องใต้ดินและช่องลับมากมายภายใต้อังบันด์และอุทุมโน ที่ซึ่งยังมีปีศาจร้ายอีกจำนวนมากหลบหนีและซ่อนตัวอยู่เพื่อรอเวลาแห่งความชั่วร้ายมาเยือนอีกครั้ง และที่สำคัญคือพวกเขาไม่พบว่าเซารอนอยู่ที่ใด

เมื่อสงครามสิ้นสุด ได้เกิดฝุ่นควันคละคลุ้งบดบังแสงดาวสิ้น เหล่าวาลาร์นำตัวเมลคอร์ใส่จองจำกลับไปยังวาลินอร์ เพื่อรอคำตัดสินจากคณะมนตรีแห่งการพิพากษา เมลคอร์หมอบกราบอยู่ต่อหน้าองค์มานเววิงวอนขอการอภัยโทษ แต่คำตัดสินมีให้เทพมานดอสนำตัวไปจองจำ โดยสร้างที่คุมขังไว้ทางตะวันตกของอามัน และให้จองจำไว้นานสามชั่วยุค (Three ages long) จากนั้นจึงจะพิจารณาการอภัยโทษภายหลัง

ครั้นแล้วเหล่าเทพจึงได้ชุมนุมกันอีกครั้ง เพื่อหารือถึงอนาคตของเหล่าเควนดิ เทพจำนวนหนึ่งโดยมีอุลโมเป็นแกนนำ เห็นว่าควรให้เหล่าเควนดิอยู่ในมัชฌิมโลกต่อไป ด้วยพรสวรรค์ของพวกเขาจักได้ทำหน้าที่พิทักษ์และเยียวยาสรรพสิ่งรวมถึงพวกเขาเองได้ด้วย แต่เทพอีกกลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนมากกว่า เห็นว่าควรให้เควนดิมายังวาลินอร์ เพื่อให้พ้นจากภัยอันอาจเกิดจากการที่หมอกควันคละคลุ้งคลุมผืนฟ้า แต่เหตุผลที่สำคัญคือพวกเขาหลงรักเหล่าเควนดิและปรารถนาจะให้มาอยู่ใกล้ ในที่สุด ที่ประชุมสรุปให้นำพาเหล่าเควนดิมาอาศัยอยู่ภายใต้แสงแห่งพฤกษาตลอดกาล ดังนั้นมานดอสจึงได้เอ่ยขึ้นว่า ‘นี่เป็นชะตากำหนด’ และแล้วจากการตัดสินใจครั้งนี้ ก็บังเกิดเป็นโศกนาฏกรรมอีกมากมายที่จักตามมา

แต่เหล่าเอล์ฟไม่ยินดีกับการตัดสินใจนี้ เพราะพวกเขาได้เห็นเทพวาลาร์จากการยุทธ และบังเกิดความหวาดกลัวกันมาก เว้นแต่เพียงเทพโอโรเมที่พวกเขาให้ความไว้ใจเท่านั้น ดังนั้นเทพโอโรเมจึงถูกส่งมายังพวกเขาอีกครั้ง พระองค์ได้คัดเลือกผู้แทนจากเหล่าเอล์ฟ เพื่อทำหน้าที่เป็นทูตไปเยือนวาลินอร์ และจะได้กลับมาเล่าขานชักชวนประชาชนของพวกเขา ผู้แทนที่เทพโอโรเมทรงเลือกได้แก่ อิงเว (Ingwe) ฟินเว (Finwe) และเอลเว (Elwe) ผู้ซึ่งภายหลังได้เป็นกษัตริย์ของเหล่าเอล์ฟ เมื่อทั้งสามได้ยลพฤกษาแห่งวาลินอร์ และได้ประสบความรุ่งโรจน์และสง่างามของเหล่าวาลาร์ ก็บังเกิดความปิติโสมนัสนัก ได้กลับมากล่าวชักชวนเหล่าเอล์ฟให้ยินดีเดินทางไปยังตะวันตกด้วยกัน

ดังนั้นเหล่าเอล์ฟในเชื้อสายตระผมลของอิงเว และเอล์ฟส่วนใหญ่ในตระผมลของฟินเวและเอลเว ก็ยินดีจะเดินทางไปยังตะวันตกกับโอโรเม เอล์ฟเหล่านี้จึงถูกขานว่า เอลดาร์ ตามคำที่โอโรเมได้ตั้งชื่อพวกเขาไว้เป็นครั้งแรก แต่ยังมีเอล์ฟอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เชื่อในคำร่ำลือนั้น และยินดีจะอยู่กับแสงดาวและแผ่นดินกว้างใหญ่ของมัชฌิมโลกต่อไป เอล์ฟเหล่านี้ถูกขานว่า อาวารี (Avari) พวกเขาไม่ได้พบกับเอลดาร์อีกเลย จนกระทั่งเวลาผ่านไปนานนับยุค

จากนั้นเหล่าเอล์ฟจึงได้จัดเตรียมการเดินทาง โดยแบ่งออกเป็นสามกลุ่มตามสายตระผมล กลุ่มที่เล็กที่สุด และเดินทางล่วงหน้าไปก่อนกลุ่มอื่น คือกลุ่มของพวกวานยาร์ (Vanyar) ภายใต้การนำของอิงเวผู้สูงศักดิ์ วานยาร์ เอล์ฟแห่งความสง่างาม (The Fair Elves) ได้กลายเป็นที่โปรดปรานยิ่งของเทพราชันย์มานเวและเทพราชินีวาร์ดา ชื่อของอิงเวได้รับการยกย่องอย่างสูงในบรรดาเอล์ฟทั้งปวง แต่เขามิได้กลับมายังมัชฌิมโลกอีกเลย และชื่อของพวกเขาก็เป็นที่รู้จักน้อยมากในมัชฌิมโลก

กลุ่มที่สองภายใต้การนำของฟินเว คือพวกโนลดอร์ (Noldor) เอล์ฟแห่งภูมิปัญญา (The Deep Elves) ผู้เป็นที่สนิทสนมรักใคร่ของเทพอาวเล ชื่อของพวกเขาปรากฏกำจายในบทเพลงและลำนำจำนวนมาก ถึงการต่อสู้และโศกนาฏกรรมมากมายในแผ่นดินเหนือเมื่อยุคโบราณ

กลุ่มที่สามอันเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด และเดินทางล่าช้าที่สุด เนื่องจากพวกเขามัวเดินทางโอ้เอ้อยู่ มิได้มีใจเห็นชอบกับการเดินทางอย่างสุดจิตสุดใจนัก คือพวกเทเลรี (Teleri) เอล์ฟแห่งสายธาร (The Sea Elves) เนื่องจากพวกเขารักสายน้ำยิ่งนัก จึงเมื่อพวกเขาเดินทางมาถึงชายฝั่งทะเลตะวันตก ก็ตื่นตาตื่นใจกับภาพมหาสมุทรใหญ่ตรงหน้า เมื่อได้ไปถึงอามัน พวกเขาได้ชื่อว่าฟาลมารี (Falmari) เนื่องจากได้สร้างสรรค์เสียงเพลงขึ้นจากเสียงคลื่น เอล์ฟกลุ่มนี้มีผู้นำถึงสองคนเนื่องจากมีจำนวนมาก คือ เอลเว ซิงโกลโล (Elwe Singollo) และน้องชายของเขา โอลเว (Olwe)

ทั้งหมดนี้คือเหล่าเอล์ฟที่ได้เดินทางไปยังตะวันตก มีชื่อเรียกรวมว่า คาลาเควนดิ (Calaquendi) อันหมายถึงเอล์ฟแห่งแสงสว่าง (Elves of the Light) แต่ยังมีเอล์ฟจำนวนหนึ่งที่พลัดหลงไประหว่างทาง หรือแยกทางไป หรือละความตั้งใจและตั้งถิ่นฐานขึ้น พวกนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกเทเลรี พวกเขาอาศัยอยู่ตามริมชายฝั่ง หรือตามป่าต่างๆ หรือตามภูเขาในมัชฌิมโลก พวกคาลาเควนดิเรียกเอล์ฟกลุ่มนี้ว่า อูมานยาร์ (Umanyar) เพราะพวกเขาไม่อาจไปถึงอามันและแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ทั้งอูมานยาร์และอาวารี ถูกเรียกรวมกันว่า โมริเควนดิ (Moriquendi) หรือเอล์ฟแห่งความมืด (Elves of the Darkness) เนื่องจากพวกเขาไม่เคยเห็นแสงสว่างอันมีมาก่อนแสงอาทิตย์และแสงจันทร์

เมื่อพวกเอล์ฟเริ่มออกเดินทางจากควิวิเอเนน เทพโอโรเมทรงม้านาฮาร์สีขาวปลอดเกือกทองนำหน้าขบวนเอล์ฟเหล่านั้น การเดินทางเป็นไปอย่างเชื่องช้า เพราะพวกเอล์ฟต่างตื่นตาตื่นใจกับสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาได้พบเห็นในระหว่างทาง บ้างก็รื่นเริงกับแมกไม้และสายธารที่ได้พบ พวกเขาเกรงว่าการเดินทางจะสิ้นสุดมากกว่า ดังนั้นเมื่อใดที่เทพโอโรเมต้องผละจากขบวนไปด้วยมีภารกิจอื่นต้องปฏิบัติ ขบวนก็จะหยุดพัก จนกว่าพระองค์จะกลับมาทรงนำการเดินทางอีกครั้ง เป็นเวลาหลายปีกว่าที่พวกเขาจะมาถึงแม่น้ำใหญ่สายหนึ่ง ที่นั้นมีเทือกเขาใหญ่ที่มียอดเขาสูงแหลมเสียดฟ้า แม่น้ำนั้นคือมหานทีอันดูอิน (Anduin the Great) และเทือกเขานั้นก็คือ ฮิธายเกลียร์ (Hithaeglir) หรือปราการแห่งหมอก (The Towers of Mist) เป็นชายอาณาเขตของแผ่นดินเอเรียดอร์ (Eriador) เวลานั้น เทือกเขายังสูงกว่าทุกวันนี้ และมีภยันตรายมากกว่าทุกวันนี้

ขณะนั้น พวกเทเลรียังอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ ขณะที่พวกวานยาร์และพวกโนลดอร์ได้ข้ามไปแล้ว เทพโอโรเมทรงนำพวกเอล์ฟข้ามเทือกเขาฮิธายเกลียร์ไป ครั้นเมื่อเทพโอโรเมลับสายตา พวกเทเลรีที่ยังตกค้างอยู่ก็ได้แต่มองเงาสูงทะมึนของฮิธายเกลียร์ด้วยความพรั่นพรึง

ครั้นแล้ว เอล์ฟคนหนึ่งในกลุ่มของโอลเว มีชื่อว่า เลนเว (Lenwe) ก็ได้แยกตัวออกจากกลุ่มไป เขาพาพรรคพวกจำนวนหนึ่งออกเดินทางลงมาทางใต้ และพวกที่เหลือก็ไม่ทราบเรื่องราวของพวกเขาอีกจนอีกหลายปีผ่านไป พวกเขามีชื่อเรียกว่า นานดอร์ (Nandor) ได้ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ตามน้ำตกและลำธารสายต่างๆ เพราะมีใจรักในสายธารอยู่ พวกเขามีความรู้เพิ่มพูนขึ้นจากแผ่นดินของเขา ชำนาญในพฤกษ์พงและสมุนไพร มีความรู้เกี่ยวกับนกและ!ป่าทั้งหลายมากยิ่งกว่าพวกเอล์ฟกลุ่มใดๆ เป็นเวลาหลายปีผ่านไป เดเนธอร์ (Denethor) บุตรแห่งเลนเว ก็ได้มุ่งหน้าไปยังตะวันตกในที่สุด โดยพาพวกเอล์ฟจำนวนหนึ่งข้ามเทือกเขาไปจนถึงแผ่นดินเบเลเรียนด์ (Beleriand) จนได้ก่อนที่พระจันทร์จะบังเกิดขึ้น

ฝ่ายพวกวานยาร์และโนลดอร์ได้เดินทางข้ามเทือกเขาเอเรด ลูอิน (Ered Luin) หรือเทือกเขาสีน้ำเงิน (The Blue Mountains) ซึ่งอยู่ระหว่างแผ่นดินเอเรียดอร์กับดินแดนตะวันตก ซึ่งพวกเอล์ฟตั้งชื่อแผ่นดินนี้ต่อมาว่าเบเลเรียนด์ พวกเขาได้เดินทางผ่านหุบผาแห่งซิริออน และเดินทางลงมาถึงชายฝั่งทะเลช่วงระหว่างร่องทะเลเดรนกิสต์ (Drengist) กับอ่าวบาลาร์ เมื่อพวกเขาได้มาถึง ก็บังเกิดความกลัวขึ้น บางส่วนก็หลบไปอาศัยอยู่ในป่าและแผ่นดินอื่นในเบเลเรียนด์นั้น ครั้งนั้นเทพโอโรเมได้ละพวกเขาไว้ตามลำพัง และกลับไปทูลขอคำปรึกษาจากเทพราชันย์มานเว

ส่วนพวกเทเลรีนั้นได้หาทางข้ามเทือกเขาแห่งหมอกมาจนได้ และเร่งรุดเดินทางข้ามแผ่นดินกว้างใหญ่ของเอเรียดอร์ ด้วยเอลเวนั้นปรารถนาจะได้กลับไปเห็นแสงแห่งวาลินอร์อีกครั้งโดยเร็ว และไม่ต้องการถูกแยกห่างจากพวกโนลดอร์ เพราะเอลเวและฟินเวนั้นเป็นสหายสนิทต่อกัน เป็นเวลาอีกหลายปี พวกเทเลริจึงเดินทางมาถึงทางตะวันออกของแผ่นดินเบเลเรียนด์ และพวกเขาได้หยุดพักกันอยู่บริเวณแม่น้ำเกลิออน (Gelion)

ขอเครดิตหั้ยบทความของ ฮอบบิตัม แห่งบอร์ดพราย
_________________
ในพระนามแห่งองค์อิรูวาตาร์
พรแห่งวาลาร์โปรดคุ้มครองสรรพชีวิต

 

Back

 

 

 


 
 
BY ขจรศักดิ์ เลาห์สัฒนะ
Hosted by www.Geocities.ws

1