ตำนานบาบิลอน

 

ตำนานบาบิลอน



ในเอ็นนุมา เอลิช เทพอุบัติเกิดขึ้นจากสภาวะอันหนึ่งซึ่งแยกดินแยกน้ำไม่ออก สภาวะนี้ดำรงมาอยู่ชั่วกาลนานก่อนหน้านี้และมันมีส่วนคล้ายคลึงกับความเป็นเทพค่อนข้างมาก (แต่ไม่ใช่เทพ) อาร์มสตรองบอกว่าไม่มีอะไรในโลกโบราณที่เกิดขึ้นจากความว่างเปล่า เพราะพวกเขาไม่รู้จักแนวคิดอันนี้ ทุกอย่างต้องมีที่ก่อกำเนิด ดังนั้นเทพผู้สร้างจึงต้องก่อกำเนิดจากสภาวะอึมครึมที่อยู่มาแสนนานดังกล่าวนี้ เทพที่อุบัติขึ้นมีสามองค์คือ อัปซู (น้ำจากแม่น้ำ) พระมเหสีของพระองค์ ทิอามัต (ทะเลเค็ม) และมัมมู ซึ่งก็คือภาวะอันสับสนยุ่งเหยิงแยกดินแยกน้ำไม่ได้นี้ เทพทั้งสามนี้ยังไม่มีรูปที่ชัดเจนนัก และควาามยุ่งเหยิงสับสนนี้ยังดำเนินต่อไป แต่ไม่นานนักเทพอื่น ๆก็อุบัติขึ้นจากเทพหลักทั้งสาม คู่แรกคือลาห์มูและลาฮามน์ น้ำและดินยังรวมกับเป็นหนึ่ง คู่ต่อมาคืออันเวอร์และคิชาร์ หมายถึงขอบแห่งฟ้าและทะเล คู่ที่สามคืออานู (สวรรค์) และอีอา (โลก) อย่างไรก็ตามภาวะความยุ่งเหยิงสับสนนั้นก็ยังไม่หมดไป เทพรุ่นใหม่ต่อสู้กับเทพรุ่นเก่าเพื่อหยุดภาวะนั้นและสร้างโลก อีอานั้นสามารถเอาชนะอัปซูและมัมมูได้ แต่ทิอามัตยังคงแข็งแกร่ง พระนางสร้างอสูรกายมารบแทนได้เสมอ แต่ไม่น่าอีอาก็แบ่งตัวเป็นเทพอีกองค์คือ มาร์ดุ๊ก เทพอาทิตย์ ในการประชุมเพื่อกำจัดทิอามัต มาร์ดุ๊กบอกว่าจะรบกับพระนางแต่ว่าตนจะต้องได้เป็นใหญ่ ทุกคนตกลง เทพอาทิตย์รบกับทิอามัตเนิ่นนานและเหนื่อยยากยิ่ง แต่ในที่สุดก็ได้ชัยชนะ มาร์ดุ๊กแบ่งร่างของทิอามัตเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งคือโค้งฟ้า อีกส่วนหนึ่งคือโลกและมนุษย์ จากนั้นมาร์ดุ๊กก็สถาปนาบาบิลอนขึ้นเป็นศูนย์กลางของโลกและสร้างหอคอยเพื่อบูชาพระองค์ที่นั่น พิธีกรรมจักต้องดำเนินไป มนุษย์จักต้องเชื่อฟังกฏเกณฑ์แห่งพระองค์ มาร์ดุ๊กได้สร้างมนุษย์ขึ้นมาโดยเอาเลือดของเทพนั้นผสมกับธุลีดิน สารที่ส่งออกมาก็คือ มนุษย์นั้นมีส่วนประกอบของเทพแม้ว่าจะมีในคุณภาพต่ำ แต่เราคือสายเลือดอันเดียวกัน

ตำนานเรื่องนี้ถูกส่งผ่านไปยังดินแดนคานาอัน การรบระหว่างมาร์ดุ๊กกับทิอามัตนั้นกลายเป็นการรบระหว่างบาอัล-ฮาบัด เทพแห่งลมพายุและความอุดมสมบูรณ์(บางตำราว่า บาอัล เป็นสุริยเทพ ของฟิลินิเชียน) กับ แยม-นาฮาร์ เทพแห่งทะเลและแม่น้ำ ตำนานนี้น่าจะมีอายุประมาณ 1,400 ก่อนคริสตกาล แนวความคิดอันนี้ก็ได้ส่งผ่านไปทั่วดินแดนในบริเวณใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นคะนาอันหรือกรีก ที่คะนาอัน แนวคิดเรื่องมหาสงครามระหว่างสองเทพได้ส่งผลต่อความคิดอย่างลึกซึ้ง บาอัล-ฮาบัดและแยม-นาฮาร์ก็รบกันด้วยลักษณะการคล้ายคลึงกัน ทั้งสองต่างเป็นลูกของเอล เทพสูงสุดของพวกคะนาอัน บาอัลและแยมรบกันในที่สุดบาอัลก็เป็นฝ่ายชนะ เพราะมนุษย์อยากให้เป็นเช่นนั้น บาอัลเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์และพายุฝนที่นำมาความอุดมสมบูรณ์มาสู่ ในขณะที่แยมคือเทพแห่งทะเลร้ายและแม่น้ำยามคลุ้มคลั่งที่กลืนกินทุกสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นในพริบตายามที่แยมพิโรธ ในอีกตำนานหนึ่งนั้นว่าบาอัลรบชนะมังกรเจ็ดหัว อันเป็นสัญญลักษณ์ของความไร้ระเบียบ การที่บาอัลรบชนะก็หมายถึงการที่พระองค์รักษาโลกเอาไว้มิให้ถอยหลังเข้าสู่สภาวะดังกล่าวอีกครั้ง หรือ เราอาจ เรียกในปัจจุบันนี้ได้ว่าเป็น การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ในโลกโบราณนั้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆขึ้นมาของมนุษย์มักจะถูกมองว่าเป็นฝีมือของเทพเสมอที่สร้างแรงดลใจขึ้น ดังนั้นแม้ในปัจจุบัน เราก็ยังคงคำว่าแรงดลใจ inspiration เอาไว้ นับเนื่องจากความหมายทางศาสนานี้เอง …. หลังจากได้รับชัยชนะไม่เท่าไร บาอัลก็สิ้นพระชนม์ทิ้งโลกไว้ในการปกครองของม็อท เทพแห่งความตายและsterility แปลว่าอะไรวุ้ยนึกศัพท์ไม่ทัน ความเฉื่อยเนือยหรือเปล่า ดูไม่น่าใช่เลยนิ ใครก็ได้ช่วยที…. ผู้ที่มาทำให้บาอัลฟื้นคืนชีพอีกครั้งก็คืออานัต ผู้เป็นทั้งน้องสาวและคู่รัก อานัตพบร่างบาอัลและจัดงานศพให้ทางพิธีทางศาสนา และพระนางก็รบกับม็อต เมื่อชนะก็สับม้อตเป็นชิ้นเล็ก เผาและโปรยลงทั่วแผ่นดิน ตำนานที่คล้ายคลึงกันนี้มีอยู่ในแทบทุกศาสนาในโลกเก่าในแถบเอเชียกลาง ไอซิส อิชตาร์หรืออินนานาล้วนแล้วม ีประสบการณ์เช่นนี้ทั้งสิ้น ในที่สุดอานัตก็ทำให้บาอัลฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง และสองพระองค์ก็ปกครองโลกร่วมกัน แนวคิดนี้บ่งบอกถึงเชื่อถือที่ว่าโลกนั้นต้องดำรงอยู่ด้วยสิ่งที่ตรงกันข้ามกันคือชายกับหญิง การร่วมเพศ การก่อกำเนิดบุตรได้ถูกยกย่องให้เป็นพฤติกรรมในครรลองของพระเจ้า ดังนั้นมีเทพหลายองค์ที่ได้รับเครื่องบัดพลีเป็นการร่วมเพศระหว่างชายหญิงในโลกแห่งศาสนาโบราณนี้เองกระมัง ที่เป็นบ่อเกิดของหญิงงามเมือง เพราะในโลกโบราณที่รังสรรค์เทพขึ้นมานั้น เป็นโลกที่ชายเป็นใหญ่ ชายผู้มีหญิงเป็นทรัพย์สมบัติ ย่อมไม่ค่อยอยากให้ใครมาหยิบยืมหญิงของตนไปร่วมมือถวายสักการต่อเทพ หรือมีอำนาจสั่งว่าหญิงใดควรค่าเป็นแก่การสิ่งสาธารณะ หญิงใดควรอยู่แต่เพียงในบ้านเป็นแรงงาน ดังนั้นจึงมีผู้หญิงพิเศษจำพวกหนึ่งขึ้นเพื่อทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ และก็สืบทอดต่อ ๆกันมาโดยส่วนที่เกี่ยวกับเทพถูกละทิ้งไป

 

 

 


 
 
BY ขจรศักดิ์ เลาห์สัฒนะ
Hosted by www.Geocities.ws

1