Chapter 4
นกพิราบและพระจิตเจ้า

ภาพสัญลักษณ์ที่ 3 ของพระจิตเจ้า คือ นกพิราบ

บรรทัดแรกของพระคัมภีร์ เราอ่านพบว่า พระจิตของพระเจ้าทรงลอยอยู่เหนือน้ำ (ปฐม.1,2) หลังจากเกิดน้ำมหาวินาศ มีนกพิราบตัวหนึ่งบินเหนือแผ่นดิน และได้คาบกิ่งมะกอกมาให้โนอาห์ ซึ่งเป็นความหมายว่า น้ำได้ลดแล้ว น้ำมหาวินาศได้สิ้นสุดลงแล้ว (ปฐม.8.8-12)

ภายใต้รูปปรากฏของนกพิราบ พระจิตเจ้าได้เสด็จลงเหนือพระเยซูเจ้า ขณะที่พระองค์ทรงรับพิธีล้าง ณ แม่น้ำจอร์แดน (มธ.3,16; มก.1,10:ลก.3,22)

นกพิราบเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ ภาพวาดของเปาโล ปีคัสโซ เป็นภาพนกพิราบแห่งสันติภาพ ที่ใช้ในการชุมนุมสันติภาพสากลระดับโลกที่ปารีส ในปี 1949

นี่คือเหตุผลที่พระศาสนจักรวอนขอองค์พระจิตเจ้าว่า "โปรดเสด็จมาเถิดพระผู้บรรเทา และโปรดเทน้ำมันและเหล้าองุ่น เพื่อรักษาบาดแผลเก่า ให้ประสานกัน (เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้เกิดความยินดีที่เต็มเปี่ยม) ตลอดไปเทอญ โปรดประทานสันติภาพและความยุติธรรมแก่โลกที่สับสนวุ่นวาย"

นอกจากเป็นเครื่องหมายแห่งสันติภาพ นกพิราบยังเป็นเครื่องหมายแห่งความรักและความงดงามของเจ้าสาว

เห็นว่า นกพิราบตัวผู้และตัวเมียคลอเคลียกันไปมา ปากทั้งสองจิกกัน เป็นเครื่องหมายแห่งความรัก ในเพลงซาโลมอน เจ้าสาวได้รับการเปรียบเทียบเป็นดังนกพิราบตัวหนึ่ง "สายตาของเจ้าเปรียบดังนกพิราบน้อย" (เพลงซาโลมอน 1,15) โอ...นกพิราบที่รักของข้าฯ ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในซอกหิน เชิญออกมาให้ข้าฯ ได้ชมใบหน้าของเจ้า (เพลงซาโลมอน 2,14) เธอเป็นดังนกพิราบงดงาม ที่ครบครันของฉัน (เพลงซาโลมอน6,9)

ดังนั้น นกพิราบจึงเป็นเครื่องหมายของสิ่งมหัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ เช่นสันติภาพ ความรัก และความงดงาม ซึ่งเป็นภาพลักษณ์พิเศษของพระจิตเจ้า

ในอดีต นกพิราบได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ลองสังเกตดูท่าทีของพระเยซูเจ้าตอนขับไล่พ่อค้าที่พระวิหาร พระเยซูเจ้าทรงขับไล่พ่อค้าที่ขายสัตว์ด้วยแส้ แต่พ่อค้าที่ขายนกพิราบ พระเยซูเจ้าขับไล่ด้วยพระวาจา (ยน.2,14)

ลม ไฟ นกพิราบ เป็นภาพลักษณ์ 3 ประการ ซึ่งเราพอจะกล่าวอ้างได้เกี่ยวกับพระจิตเจ้า
เป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า พระบุคคลที่สามในพระตรีเอกภาพได้รับภาพลักษณ์ที่ดี ที่เหมาะสมที่สุด แต่อย่าลืมว่าพระจิตเจ้ามิได้เป็นสิ่งของ แต่เป็นพระบุคคลที่แท้จริง

พระจิตเจ้าทรงเป็นพระบุคคลหนึ่ง ที่เราสามารถพูดได้ว่า เป็นเหวลึกที่เปี่ยมด้วยความรัก ความปิติยินดี สันติภาพ ปรีชาญาณและชีวิต เมื่อนักบุญแบร์นาร์ด ต้องการอธิบายให้มนุษย์เข้าใจว่าพระจิตเจ้าคือใครนั้น ได้กล่าวว่า หากเราวาดภาพพระบิดาจุมพิศพระบุตร และพระบุตรรับการจุมพิศนั้นได้ เราก็สามารถบอกได้ว่า พระจิตก็คือการจุมพิศนั้นเอง เป็นการจุมพิศแห่งความรัก

นักบุญแบร์นาร์ด ต้องการอธิบายว่า ความรักของพระบิดาและพระบุตรนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนกัน และกลมกลืนกัน ความกลมกลืนนี้แหละคือ องค์พระจิตเจ้า กล่าวโดยสรุปก็คือ พระจิตเจ้าทรงเป็นองค์ความรัก เป็นความรักที่เอ่อล้น ท่วมท้นจิตใจมนุษย์ (รม.5,5)แท้จริงแล้ว พระจิตเจ้าประทับในตัวเรา เป็นลมหายใจลึกๆ ของเรา และที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น พระองค์ทรงเป็นของขวัญล้ำค่าซึ่งพระเยซูเจ้าทรงประทานให้แก่เรามนุษย์บนแผ่นดินนี้

การเปิดใจรับพระจิตเจ้า

การดำเนินชีวิตที่เปิดรับองค์พระจิตเจ้านั้นหมายความว่า เราต้องมีอุดมคติในชีวิต ดังต่อไปนี้
"ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ โปรดส่องแสงสว่างของพระองค์มาเถิด" หมายความว่า เราพร้อมที่จะรับแสงสว่าง เพราะไม่มีอะไรที่ดีเท่ากับแสงสว่าง ครั้งหนึ่งพระจักรพรรดิ์อเลกซันเดอร์มหาราช ถามนักปรัชญา ดีโอเยเน ซึ่งนั่งอยู่ที่กำแพงเตี้ยๆ "เจ้าต้องการอะไร "ดีโอเยเน ตอบอย่างซื่อๆ ว่า" ข้าแต่พระองค์โปรดหลบไปหน่อย เพราะพระองค์กำลังบังแสงแดดอยู่"

การเจริญชีวิตเปิดใจรับองค์พระจิตเจ้า เป็นการปล่อยให้พระจิตเจ้าเผาผลาญจิตใจของเราด้วยไฟของพระองค์ เครื่องจักรที่เปิด แล้วติดก็สามารถทำงานได้ แต่เครื่องจักรที่เปิดแล้วไม่ติด ก็จะไม่สามารถทำงานได้เลย

ข้าพเจ้าต้องการพระองค์

      โปรดเสด็จมาเถิด พระจิตเจ้าข้า
ข้าพเจ้าต้องการผู้ที่ทำให้ข้าพเจ้ายืนตรง
โปรดผลักดันข้าพเจ้าเหมือนที่พระองค์ทรงเคยผลักดันบรรดาอัครสาวก
ข้าพเจ้าต้องการพละกำลัง
ข้าพเจ้าต้องการพระองค์

     ข้าแต่พระจิตเจ้า โปรดเสด็จมาเถิด
ข้าพเจ้าต้องการที่จะแยกแยะว่า
สิ่งใดเป็นหน้าที่และสิ่งใดเป็นการทำตามใจตนเอง
ข้าพเจ้าปรารถนาจะเข้าใจว่า สิ่งใดเยี่ยวยารักษาได้ และสิ่งใดเป็นพิษ
ข้าพเจ้าต้องการแสงสว่าง
ข้าพเจ้าต้องการพระองค์

     ข้าแต่พระจิตเจ้า โปรดเสด็จมาเถิด
ข้าพเจ้าต้องการให้พระองค์จุดไฟในดวงใจข้าพเจ้า
โปรดจุดไฟในใจข้าพเจ้า และโปรดให้ข้าพเจ้าเร่าร้อน
ข้าพเจ้าต้องการความรัก
ข้าพเจ้าต้องการพระองค์

     ข้าแต่พระจิตเจ้าโปรดเสด็จมาเถิด
ข้าพเจ้าต้องการให้จิตวิญญาณของข้าพเจ้า กว้างใหญ่ไพศาล
ข้าพเจ้าต้องการขยายห้องฝ่ายจิต เพื่อต้อนรับพระองค์
ข้าพเจ้าต้องการองค์พระจิตเจ้า
โปรดเสด็จมาเถิด พระเจ้าข้า

 

 

Hosted by www.Geocities.ws

1