จุดเริ่มต้นของพยาบาลชาย
         สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งโรงเรียนผดุงครรภ์ขึ้นในโรงพยาบาลศิริราช มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำการคลอดบุตรทั้งภายในและนอกโรงพยาบาล และเน้นถึงการพยาบาลมารดาและทารกแผนใหม่ ทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างยิ่ง เมื่อสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทรเข้ารับราชการเป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงธรรมการ ทรงมีหน้าที่พิเศษเป็นผู้ตรวจการโรงเรียนฝึกหัดครูและโรงเรียนราชแพทยาลัย พ.ศ. 2458 จึงทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการราชแพทยาลัยที่ตั้งขึ้นใหม่ มีอำนาจเต็มที่เกี่ยวกับโรงเรียนแพทย์พยาบาลและโรงพยาบาลทรงขยายการสอนให้มีการพยาบาลผู้ป่วยไข้ทั่วไปด้วย สมเด็จพระศรีพัชรินทรบรมราชินีนาถก็ทรงสนับสนุนทุกๆ ด้าน แต่ในขณะนั้นมีการทักท้วงว่าเป็นการไม่สมควรที่จะให้ผู้หญิงสาวไปทำการพยาบาลผู้ชาย ดังนั้นในปี พ.ศ. 2449 จึงได้เปิดสอนหลักสูตรพยาบาลชายขึ้น ระยะเวลาการเรียน 1 ปี เรียกว่าบุรุษพยาบาล มีผู้สำเร็จการศึกษารุ่นแรกเมื่อปี พ.ศ. 2450 ได้รับประกาศนียบัตรวิชาการพยาบาล ผู้รับการอบรมเหล่านี้ได้ทำประโยชน์อย่างมากในกิจการฝ่ายการพยาบาลของกองทัพต่างๆ

         พ.ศ. 2467 งดการผลิตพยาบาลชาย รวมเวลาที่ผลิตพยาบาลชายทั้งสิ้น 18 ปี มีพยาบาลชายสำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรทั้งหมด 9 รุ่น จำนวน 41 คน รุนแรกหลักสูตร 1 ปี รุ่นที่ 2 หลักสูตร 2 ปี ในระยะนั้นกองทัพบกจัดตั้งกองการพยาบาลโรงเรียนทหารบกขึ้น มีการอบรมพยาบาลชาย (ทหาร) โดยสภากาชาดเป็นผู้ทำการอบรมให้ชั่วระยะหนึ่ง และประมาณ พ.ศ. 2459 กองทัพเรือได้ตั้งโรงเรียนพยาบาลชายขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เรียกพยาบาลชายเหล่านั้นว่า "พลพยาบาล"

           ต่อมาเมื่อโรงพยาบาลของสภากาชาด ทดลองให้พยาบาลหญิงทำการพยาบาลผู้ชายได้สำเร็จและเป็นที่ยอมรับของสังคม การเลือกผลิตเฉพาะพยาบาลชายจึงน้อยลง

         ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 เป็นต้นมา มีการผลิตพยาบาลชายในหลักสูตรต่างๆ ทั้งของมหาวิทยาลัยและกระทรวงสาธารณสุข การรับผู้ชายเข้าศึกษาวิชาชีพพยาบาลปรากฎเด่นชัดขึ้นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้ขยายทั่วไปในวงการศึกษาแต่ผู้ชายไม่นิยมการศึกษาวิชาพยาบาลเท่าที่ควร เนื่องจากลักษณะการปฏิบัติงานเป็นของสตรี ในปี พ.ศ. 2523 กระทรวงสาธารณสุขเห็นความจำเป็นที่ต้องมีพยาบาลชายไปทำงานในท้องที่ทุรกันดาร เสี่ยงอันตรายสำหรับสตรี  จึงรับผู้ชายเข้าศึกษาวิชาพยาบาลในวิทยาลัยพยาบาลต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อจบการศึกษาแล้วจะส่งกลับไปบรรจุเข้ารับราชการในท้องที่ที่ได้รับทุนการศึกษา ทุนส่วนใหญ่จะเป็นทุนของโรงพยาบาลอำเภอ (ปัจจุบันเรียกโรงพยาบาลชุมชน) ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

ที่มา: ผกา เศรษฐจันทรและคณะ. ประวัติการพยาบาลในประเทศไทย. (2529). กรุงเทพฯ: องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.
Hosted by www.Geocities.ws

1 1