จดหมายติดต่อหน่วยงาน
โดย : เครือข่ายแก้ไขปัญหาพิษสารตะกั่วต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม บริเวณแม่น้ำแม่กลองตอนบน


วันที่ 08/06/42 เรื่อง : ขอเสนอความเห็นต่อการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้


ที่ พิเศษ / 2542
ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา
137/55 ซอยจามจุรี 3 ถนนรามอินทรา 39 บางเขน
กทม. 10220 โทร./โทรสาร 9730069





8 มิถุนายน 2542


เรื่อง ขอเสนอความเห็นต่อการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้

เรียน อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

........... ตามที่โรงแต่งแร่บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์(ประเทศไทย) จำกัด ได้ปล่อยให้มีการรั่วไหลของตะกอนหางแร่ตะกั่วลงสู่ลำห้วยคลิตี้ จนพบสารตะกั่วในลำน้ำและตะกอนตะกั่วจำนวนมากในลำห้วยนั้น บริษัทฯ ได้เสนอแผนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้แก่กรมควบคุมมลพิษ และเริ่มดำเนินการฟื้นฟูบางส่วนแล้วนั้น
........... ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนาซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่ ได้รับการร้องขอจากชาวบ้านในการแจ้งข่าวแก่กรมควบคุมมลพิษเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว มีความเป็นห่วงต่อสภาพธรรมชาติและผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น จึงใคร่ขอเสนอความเห็นต่อการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ดังนี้คือ
........... 1. การปฏิบัติการฟื้นฟูจะต้องกระทำอย่างระมัดระวังยิ่งยวด การขุดและขนย้ายต้องไม่มีการร่วงหล่นออกสู่ภายนอก เจ้าหน้าที่หรือคนงานที่ดำเนินการต้องมีการป้องกันพิษสารตะกั่วอย่างปลอดภัย ดังนั้นจึงต้องกระทำการฟื้นฟูในฤดูแล้ง มิฉะนั้นน้ำฝนจะทำให้สารตะกั่วไหลซึมออกสู่ภายนอก เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมและผู้ปฏิบัติงาน
........... 2. ตะกอนตะกั่วในธารน้ำมีอยู่เป็นจำนวนมาก จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษพบว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีผ่านไป 1 ฤดูฝน ตะกอนเหล่านี้ลดลงไปน้อยมาก จึงต้องนำตะกอนอันตรายมากเหล่านี้ออกจากลำน้ำด้วย เพราะธรรมชาติไม่สามารถฟื้นฟูสภาพตนเองได้ในระยะเวลาอันสั้น
........... 3. บ่อกักเก็บของโรงแต่งแร่ที่ปรับปรุงใหม่ เพียงขุดลอกนำตะกอนตะกั่วขึ้นมาไว้บนคันบ่อ และยังใช้ระบบบำบัดเช่นเดิมที่มีการรั่วไหลออกสู่ภายนอกตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ดำเนินการแต่งแร่ ปัจจุบันแม้โรงแต่งแร่ไม่ได้ดำเนินการมากว่าปี ก็ปรากฏมีน้ำในบ่อเกือบเต็มทุกบ่อ ทั้งนี้เป็นเพราะบ่อบำบัดขุดขวางทางน้ำไหลธรรมชาติ และมีฝนตก นอกจากนี้สภาพทางธรณีวิทยาแถบนั้นมีหลุมยุบ(Sink hole) และรอยแยก(Fault) ในสภาพพื้นที่เป็นหินปูน ทำให้น้ำตะกอนตะกั่วซึมไหลลงสู่น้ำใต้ดิน แล้วเล็ดลอดออกสู่ภายนอก
........... 4. การขุดหลุมและฝังกลบด้วยดินอัด ก็จะทำให้ตะกอนตะกั่วได้รับน้ำและซึมออกสู่ภายนอกด้วยเช่นกัน จึงควรมีกระบวนการป้องกันการซึมออกสู่ภายนอกอย่างมั่นคงปลอดภัย และสถานที่ฝังกลบต้องเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์เอกชน ไม่ใช่ที่สาธารณะ(เช่น เขตป่าไม้ เขตสัมปทานหรือประทานบัตร) หรือไม่ใช่ที่ของทางราชการ ตะกอนตะกั่วเป็นของบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์(ประเทศไทย)จำกัด บริษัทฯจึงต้องหาสถานที่ฝังกลบที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯเอง
........... 5. ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนในการกำกับดูแลการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในพื้นที่ อาทิ ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา กรรมการหมู่บ้านคลิตี้ล่าง เพราะเป็นผู้เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบโดยตรง
........... 6. แผนการฟื้นฟูและข้อเสนอในการปรับปรุงระบบบำบัดในโรงแต่งแร่ ควรมีการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางและโปร่งใส เพื่อได้กระบวนการที่ดีที่สุด อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งกรมควบคุมมลพิษและบริษัทฯเอง

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ

(นายสุรพงษ์ กองจันทึก)
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา

© 2000-2001 by Karen Studies and Development Centre. Report technical problems to [email protected]. This document was build on: 22/06/2001 . Best view in IE4x or higher,800x600 pix.Font Medium.
Hosted by www.Geocities.ws

1